'ศูนย์ทนายสิทธิ' เปิดรายงาน 'กตัญญูคลับ' เมื่อกองทัพรุกคืบสู่พื้นที่ชมรมนักศึกษาในมหา'ลัย

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดรายงานส่องโครงการ “กตัญญูคลับ” ชี้ให้เห็นรุกคืบสู่พื้นที่ชมรมนักศึกษาในมหาวิทยาลัยของกองทัพ พร้อมคำถามสำคัญการสร้างมวลชน-นำอุดมการณ์แบบของกองทัพเข้าไปในพื้นที่มหาวิทยาลัย สมควรในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่

ภาพ เมื่อวันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา ชมรม "กตัญญูคลับ" โดย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ร่วมกับ นฝ.นศท.มทบ.37 จัดพิธีเปิดและปฐมนิเทศชมรมกตัญญูคลับ โดยมี พล.ต. สัชฌาการ คุณยศยิ่ง ผบ.มทบ.37 เป็นประธานพิธีเปิด พร้อมด้วย ผศ.สุทัศน์ คล้ายสุวรรณ รองอธิการบดี มร.ชร. ในการนี้ได้จัดการบรรยายพิเศษเรื่องความกตัญญูโดย ศาสตรเมธี ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ พร้อมได้มอบแนวทางการดำเนินงานให้แก่นักศึกษาสมาชิกเครือข่าย "กตัญญูคลับ"และมอบเสื้อกตัญญูคลับให้แก่ประธานชมรมฯ โดยมีชุดปฏิบัติการ กกร.มทบ.37 (ขุนภักดี 37) สนับสนุนการแสดงร่วมในกิจกรรม และสมาชิกชมรมฯเครือข่ายเข้าร่วมกิจกรรม ที่ หอประชุมกาสะลองคำ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดรายงาน โครงการ “กตัญญูคลับ” ในฐานะการจัดตั้งมวลชนที่เน้นไปที่กลุ่มนิสิตนักศึกษาโดยตรง ผ่านเจ้าหน้าที่ทหารในแต่ละพื้นที่กำลังดำเนินการในการจัดตั้งกลุ่มชมรมในมหาวิทยาลัยขึ้น ภายใต้งบประมาณของงานด้านกิจการพลเรือนของกองทัพบก ซึ่งรายงานของศูนย์ทนายฯ เป็นการประมวลจากรายงานข่าวที่ปรากฏออกมา เพื่อชี้ให้เห็นปฏิบัติการรุกคืบของกองทัพที่กำลังดำเนินอยู่ในพื้นที่ของสถาบันอุดมศึกษา

ศูนย์ทนายฯ ชี้ให้เห็นว่า “โครงการกตัญญูคลับ” นี้ เริ่มปรากฏเป็นข่าวตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมที่ผ่านมา และมีมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการป้องกันการล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ภายใต้กรมกิจการพลเรือนทหารบก งบประมาณการดำเนินโครงการจึงมาจากกองทัพบกเป็นหลัก ให้มีการจัดตั้ง “ชมรมกตัญญูคลับ” ขึ้นในมหาวิทยาลัยที่อยู่ในพื้นที่ของมณฑลทหารบกนั้นๆ และยังสร้างให้เกิด “เครือข่ายกตัญญูคลับ” ที่เชื่อมโยงนักศึกษาในสถาบันการศึกษาต่างๆ เข้าด้วยกัน มีเป้าหมายจำนวน 35 สถานศึกษาอุดมศึกษาทั่วประเทศ และบางมหาวิทยาลัยมีการรายงานถึงการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ที่เป็นทางการระหว่างมณฑลทหารบกกับมหาวิทยาลัยด้วย

การเปิดตัวชมรมในแต่ละมหาวิทยาลัย ทางเจ้าหน้าที่ทหาร นำโดยผู้บัญชาการหรือรองผู้บัญชาการของมณฑลทหารบกในพื้นที่ จะเป็นผู้เดินทางมาเป็นประธาน พร้อมกับผู้บริหารของสถาบันการศึกษานั้นๆ ถึงในมหาวิทยาลัย และมีการจัดการอบรมเรื่องความกตัญญูต่อสถาบันทั้งสี่ดังกล่าว รวมทั้งถ่ายทอดความรู้ด้านจิตอาสา 904 วปร. ให้กับกลุ่มนิสิตนักศึกษาที่เข้าฟัง โดยวิทยากรอาจเป็นทั้งเจ้าหน้าที่ทหารเอง หรือนักพูด/วิทยากรอบรมในเครือข่ายของกองทัพ จากรายงานข่าวของกิจกรรมในแต่ละมหาวิทยาลัย มีนิสิตนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมการเปิดตัวดังกล่าวราว 100-200 คน โดยมีการแจกจ่ายเสื้อที่มีตราสัญลักษณ์ของชมรม

นอกจากการจัดเปิดตัวชมรมแล้ว มณฑลทหารบกและชมรมกตัญญูคลับในมหาวิทยาลัยต่างๆ ยังมีการทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยชมรมของบางมหาวิทยาลัยระบุว่าจะจัดให้มีกิจกรรมทุกๆ เดือน เดือนละ 1-2 ครั้ง โดยลักษณะเป็นการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างนิสิตนักศึกษากับเจ้าหน้าที่ทหาร มีการระบุวัตถุประสงค์ของการดำเนินการลักษณะนี้ ว่า “นอกจากจะเป็นการปลูกฝังเรื่องของความกตัญญูแล้ว ยังทำให้สมาชิกชมรมมีความสมัครสมานสามัคคี รวมถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างทหารกับเยาวชน”

ในส่วนท้ายของรายงาน ศูนย์ทนายฯ ชี้ว่า กระบวนการดังกล่าว เป็นการดำเนินการของกองทัพในการพยายามจัดตั้งกลุ่มนิสิตนักศึกษา รวมทั้งความพยายามปลูกฝังความคิดหรืออุดมการณ์แบบของกองทัพ ต่อเยาวชนคนรุ่นใหม่ในพื้นที่อย่างมหาวิทยาลัยอย่างเป็นระบบ ซึ่งการดำเนินการจัดตั้งมวลชนฝ่ายพลเรือนของกองทัพนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นมรดกสำคัญที่ดำเนินต่อเนื่องมาจากการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ ตั้งแต่ในยุคสงครามเย็น โดยนอกจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ที่มีบทบาทในการจัดตั้งมวลชนของตนเอง ให้กลายมาเป็นกลไกที่ทำงานให้กับรัฐแล้ว  ภายในกองทัพบกเอง งานด้านกิจการพลเรือนก็ค่อยๆ ถูกสถาปนาอย่างเป็นระบบนับแต่ยุคสงครามเย็นเป็นต้นมาเช่นกัน

"..การดำเนินในลักษณะโครงการกตัญญูคลับนี้ได้ชี้ให้เห็นความพยายามจัดตั้งกลุ่มมวลชน ในลักษณะเป็นกลุ่มชมรมภายในมหาวิทยาลัย แต่อยู่ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยงานของทหารเอง และมีการผลักดันให้มีการร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ กับทางทหารและเจ้าหน้าที่รัฐ

คำถามสำคัญคือการดำเนินการในลักษณะการสร้างมวลชนของตนเอง และการนำเอาอุดมการณ์แบบของกองทัพเข้าไปในพื้นที่ที่อย่างมหาวิทยาลัย สมควรเป็นบทบาทของกองทัพในระบอบประชาธิปไตยหรือไม่ และในทางกลับกัน พื้นที่อย่างมหาวิทยาลัย ซึ่งมีคุณค่าสำคัญเรื่องเสรีภาพทางความคิด และความมีอิสระในการเรียนรู้ สมควรให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปดำเนินโครงการในลักษณะนี้หรือไม่" ศูนย์ทนายฯ ระบุไว้ท้ายรายงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท