Skip to main content
sharethis


ที่มาภาพประกอบ: Hossam el-Hamalawy (CC BY-SA 2.0)

ในยุคสมัยที่ผู้คนกังวลว่าหลายประเทศรวมถึงสหรัฐฯ และประเทศแถบยุโรปจะเริ่มเผชิญปัญหาประชาธิปไตยถดถอยซึ่งมีข้อถกเถียงว่ามาจากการที่กลุ่มชนชั้นล่างสนับสนุนนักการเมืองที่อำนาจนิยม แต่ผลการวิจัยล่าสุดจากสถาบันวิจัยสันติภาพออสโล มหาวิทยาลัยแห่งออสโล ระบุว่าข้อถกเถียงดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะกลุ่มคนทำงานภาคอุตสาหกรรมมีส่วนในการสนับสนุนประชาธิปไตย และมีความสำคัญในแง่นี้มากยิ่งกว่าชนชั้นกลางในเมือง

สถาบันวิจัยสันติภาพออสโล แห่งมหาวิทยาลัยแห่งออสโล ทำการสำรวจในเรื่องที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างไรบ้างในการส่งเสริมประชาธิปไตยโดยสำรวจจากประเทศราว 150 ประเทศทั่วโลก จากการสำรวจพบว่ากลุ่มคนงานภาคอุตสาหกรรมเป็นกุญแจสำคัญในการเรียกร้องประชาธิปไตยมากยิ่งกว่าชนชั้นกลางในเมือง เมื่อกลุ่มคนทำงานภาคุตสาหกรรมเป็นผู้ขับเคลื่อนการประท้วงต่อต้านเผด็จการก็จะมีความเป็นไปได้สูงที่จะทำให้การเกิดการทำให้เป็นประชาธิปไตยตามมา

มีการเผยแพร่งานวิจัยชิ้นนี้ในช่วงที่ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองหลายคนกังวลว่าประชาธิปไตยโลกกำลังอยู่ภายใต้ความเสี่ยงจะถดถอย โดยที่นักวิจารณ์การเมืองส่วนหนึ่งมักจะสร้างภาพเหมารวมว่ากลุ่มคนจนหรือชนชั้นแรงงานเป็นคนที่เชื่อในเรื่องการต่อต้านโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ ต่อต้านผู้อพยพ และมักจะสนับสนุนพรรคหรือนักการเมืองอำนาจนิยมที่มีนโยบายเอาใจคนส่วนใหญ่ ขณะเดียวกันก็มีกจะมองว่าชนชั้นกลางในเมืองเป็นผู้สนับสนุนแระชาธิปไตย แต่งานวิจัยฉบับนี้ก็แสดงให้เห็นว่าภาพเหมารวมนี้ไม่เป็นความจริง

ถึงแม้ว่าตลอคริสตศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันมีการประท้วงเรียกร้องให้เกิดประชาธิปไตยและเสรีภาพทางการเมืองทั่วโลก เช่น ล่าสุดเกิดขึ้นในฮ่องกง แต่ผลที่เกิดตามมาก็มักจะแตกต่างกัน โดยยกตัวอย่างกรณีของสองประเทศมนภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างตูนีเซียและอียิปต์ ที่ถึงแม้ว่าจะมีการลุกฮือครั้งใหญ่ที่เรียกว่า "อาหรับสปริง" ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน แต่ตูนีเซียมีผลออกมาในทางกลายเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ขณะที่อียิปต์กลายเป็นเผด็จการ หรือการประท้วงในบางแห่งเช่นขบวนการสีเขียวในอิหร่านเมื่อปี 2552 ก็ไม่ทำให้ระบอบเดิมสิ้นสุดลงได้

อะไรที่ทำให้ขบวนการเหล่านี้ประสบความสำเร็จขณะที่บางส่วนล้มเหลว? งานวิจัยจากออสโลสำรวจพบว่าการมีส่วนร่วมของกลุ่มคนงานอุตสาหกรรม มีส่วนในการทำให้เกิดผลลัพธ์เปลี่ยนแปลงไปในทางเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

งานวิจัยดังกล่าวนี้ทำการศึกษาเปรียบเทียบการประท้วงต่อต้านรัฐบาลทั่วโลกตั้งแต่ปี 2453 จนถึงปัจจุบัน โดยเปรียบเทียบภูมิหลังของผู้ชุมนุมว่ามาจากชนชั้นกลาง คนทำงานภาคอุตสาหกรรม คนทำงานภาครัฐ หรือเกษตรกร

ถึงแม้ว่าขบวนการประท้วงนั้นจะดึงดูดคนจากหลายภาคส่วนมาร่วมชุมนุม แต่ก็มีข้อแตกต่างกันระหว่างประท้วงอาหรับปริงในตูนีเซีย กับอาหรับสปริงในอิยิปต์ ตรงที่ในตูนีเซียนั้นมีความร่วมมือจากผู้คนข้ามชนชั้นมากกว่าซึ่งรวมถึงกลุ่มแรงงานจัดตั้ง เมื่อเทียบกับอียิปต์ที่มีกลุ่มชนชั้นทางสังคมแคบกว่าและส่วนใหญ่มักจะเป็นชนชั้นกลางจากในเมือง

ทั้งนี้ ในข้อมูลงานวิจัยเดียวกันยังระบุอีกว่า ช่วงยุคคริสตศตวรรษที่ 20 นั้นมีการประท้วงและการปฏิวัติจำนวนมากที่นำโดยกลุ่มเกษตรกรแทบทั้งหมดในขบวนการนั้น แต่การปฏิวัติเกษตรกรเหล่านี้มีน้อยมากที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงไปเป็นประชาธิปไตย อาจจะเป็นไปได้เพราะว่าประชากรกลุ่มนี้ขาดพลังในการเปลี่ยนแปลงระบอบหรือไม่มีแรงจูงใจที่จะเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตามงานวิจัยดังกล่าวระบุว่าทั้งกลุ่มชนชั้นกลางในเมืองและกลุ่มคนทำงานอุตสาหกรรมต่างก็มีเจตจำนงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยมากกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มประชากรอื่นๆ แต่การประท้วงจะประสบความสำเร็จมากกว่าถ้าหากมีกลุ่มคนงานอุตสาหกรรมเข้าร่วมด้วยเพราะจะทำให้มีประสิทธิภาพในการผลักดันการเปลี่ยนแปลงไปเป็นประชาธิปไตย

ก่อนหน้านี้เคยมีงานวิจัยที่คล้ายกันแต่เป็นการสำรวจการเคลื่อนไหวในยุโรปและลาตินอเมริกาในเชิงลึก แต่งานวิจัยล่าสุดนี้ทำการสำรวจข้อมูลการประท้วงทั่วโลก ทั้งนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะเป็นเพราะกลุ่มแรงงานอุตสาหกรรมมีเครือข่ายแรงงานและพรรคสายสังคมนิยมประชาธิปไตยรวมถึงสหภาพแรงงานในการประสานงานแบบที่สร้างความท้าทายต่อรัฐบาลเผด็จการได้


เรียบเรียงจาก
We checked 100 years of protests in 150 countries. Here’s what we learned about the working class and democracy., Washington Post, 24-10-2019
https://www.washingtonpost.com/politics/2019/10/24/we-checked-years-protests-countries-heres-what-we-learned-about-working-class-democracy/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net