Skip to main content
sharethis

กลุ่มค้านโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล จ.ร้อยเอ็ด ถูกตำรวจกันห้ามร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่สองในวันแรก แต่ทางกลุ่มยังยืนยันจะเข้าร่วมแสดงความเห็นในเวทีวันที่สอง ตัดสินใจปักหลักค้างคืนที่หอประชุมอำเภอปทุมรัตต์ แต่ถูกตัดน้ำตัดไฟ ด้านกำนันขู่ช่าวบ้านอาจโดนฟ้องข้อหาบุกรุกสถานที่ราชการ ด้านนายอำเภอปฏิเสธให้สัมภาษณ์

ภาพจากเพจสามัญชนอีสาน

29 ต.ค. 2562 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ได้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนครั้งที่ 2 ของโครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ของบริษัท น้ำตาลบ้านโป่ง จำกัด ที่หอประชุม อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด โดยประชาชนเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลาในพื้นที่ ต.โนนสวรรค์ และ ต.สระบัว อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด โดยเข้าไปปักหลักค้างคืนที่หอประชุมตั้งแต่เมื่อคืนที่ผ่านมา ทางบริษัทจึงได้ย้ายสถานที่ประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนออกมาอยู่บริเวณลานกว้างด้านหน้าที่ว่าการอำเภอแทน

สำหรับการประชุมเพื่อรับความคิดเห็นของประชาชนครั้งนี้ ประกอบด้วย การรับฟังความเห็นกรณีการก่อสร้างโรงงานน้ำตาล และกรณีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 เพื่อนำรายชื่อประชาชนที่เข้าร่วมการประชุม และรายงานการประชุมไปยื่นประกอบการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA จากนั้น บริษัทจึงจะสามารถเอกสารเพื่อขอสร้างโรงงานได้

ทั้งนี้การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งแรกได้จัดขึ้นเมื่อปี 2561 แต่ในครั้งนั้นเวทีได้ถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากมีประชาชนไปรวมตัวกันคัดค้าน จากนั้นได้มีการจัดเวทีอีกครั้งช่วงเดือน ม.ค. 2562 ซึ่งในครั้งนั้นได้มีการกันไม่ให้ประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการทั้งสองเข้าไปร่วมในเวที และล่าสุดเกิดขึ้นอีกครั้งในวันนี้

ระหว่างเวทีรับฟังความคิดเห็นในวันนี้ดำเนินไป เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชน ได้ร่วมกับประชาชนคัดค้านการดำเนินเวทีซึ่งไม่อนุญาตให้กลุ่มที่คัดค้านเข้าไปแสดงความคิดเห็น โดยเลิศศักดิ์ กล่าวปราศรัยว่า จะปักหลักรวมตัวกันที่หน้าที่ว่าการอำเภอจนกว่าเวทีจะเลิก เพื่อที่จะให้ได้รู้ว่าวันนี้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าวไม่สามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็นได้ จากนั้นประชาชนได้พยายามผลักดันแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนเพื่อที่จะเข้าไปบริเวณเวทีรับฟังความคิดเห็น แต่ก็ไม่สามารถฝ่าแนวกั้นไปได้

“ถ้าพ่อแม่สูต้องเสียต้องสูญเสียแผ่นดินเกิด อย่ามานั่งร้องไห้เช็ดน้ำตาให้เห็น คุณเป็นตำรวจหรือพนักงานบริษัท” หัวหน้าพรรคสามัญชนกล่าว หลังฝ่าแนวกั้นไม่สำเร็จ

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าตลอดทั้งวันซึ่งกลุ่มคัดค้านโรงงานปัหหลักอยู่นั้น ไม่มีการเข้ามาเจรจาใดๆ จากทางบริษัท รวมทั้งไม่มีการชี้แจงเหตุผลว่า เพราะเหตุใดจึงไม่อนุญาตให้ทางกลุ่มเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้

อย่างไรก็ตามเมื่อจบเวทีรับฟังความคิดเห็นในวันแรก กลุ่มคัดค้านได้ตัสินใจปักหลักรวมตัวค้างคืนกันที่หอประชุมอำเภอปุทมรัตน์ แต่จากนั้นไม่นานทางอำเภอก็ได้ตัดน้ำและไฟ เพื่อเป็นการกดดันให้ทางกลุ่มออกจากพื้นที่ ขณะเดียวกันมีรายงานด้วยว่า มีกำนันในพื้นที่ได้เข้ามาแจงกับชาวบ้านว่า หากไม่ออกจากพื้นที่จะมีการดำเนินการแจ้งความข้อหาบุกลุกสถานที่ราชการ ทั้งนี้ทางกลุ่มคัดค้านยังยืนยันว่า จะค้างคืนเช่นเดิม โดยจะทำหนังสือขออนุญาตย้อนหลังไปที่นายอำเภอในวันรุ่งขึ้น

ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อไปยัง คงคา ชื่นจิต นายอำเภอปทุมรัตต์ เพื่อขอสัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีประชาชนเข้าไปปักหลักค้างคืนในหอประชุม แต่ได้รับการปฏิเสธให้สัมภาษณ์ โดยให้เหตุผลว่า เวลานี้ยังไม่สะดวก เนื่องจากติดธุระ

การปรองดองของทุน-ชุมชน (1): ทบทวนการละเมิด-การต่อสู้ในอีสานหลัง รปห.2557

การปรองดองของทุน-ชุมชน(จบ): แผนธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ความหวังหรือกระดาษเปล่า

สำหรับแผนการก่อสร้างโรงงานน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวลแห่งนี้ เป็นผลจากการที่ คณะกรรมการคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลซึ่งผูกขาดด้วยผู้ประกอบการรายใหญ่ 6 กลุ่ม สามารถตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ หรือย้ายหรือขยายกำลังผลิตไปตั้งยังที่แห่งใหม่ ในปี 2558 เมื่อรวมกับโรงงานที่ได้รับอนุญาตตามมติ ครม. ปี 2554 ทำให้ภาคอีสานกำลังจะมีโรงงานน้ำตาลซึ่งขยายกำลังผลิต และโรงงานน้ำตาลเกิดใหม่เพิ่มขึ้น 29 แห่ง ทุกโครงการมาพร้อมกับโรงไฟฟ้าชีวมวล นอกจากนี้ในสมัยการปกครองโดยคณะรัฐประหาร คสช. ยังมีการออกคำสั่ง คสช. ที่ 4/2559 เรื่องการยกเว้นการบังคับใช้กฎกระทรวงผังเมืองและกฎหมายควบคุมอาคาร สำหรับการประกอบกิจการบางประเภท ซึ่งสาระสำคัญคือการ ยกเลิกการบังคับใช้ผังเมืองกับการประกอบกิจการพลังงานและการจัดการขยะ เช่น โรงไฟฟ้าพลังงานขยะ, โรงไฟฟ้าชีวมวล, โรงงานผลิตก๊าซชีวภาพ, โรงงานบำบัดน้ำเสีย และเตาเผาขยะ ซึ่งเป็นการเปิดทางให้รัฐและเอกชนสามารถประกอบกิจการในพื้นที่สีเขียวตามกฎหมายผังเมืองได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net