Skip to main content
sharethis

ภาคประชาสังคมจี้รัฐเร่งแก้ปัญหาสิทธิแรงงาน หลังสหรัฐตัดสิทธิ GSP รมว.แรงงาน อ้างประเทศใครประเทศมัน กม.ไทยไม่จำเป็นต้องเป็นสากล ปีกแรงงาน 'อนาคตใหม่' เผย 3 ปัญหาหลักละเมิดสิทธิแรงงาน แนะ 6 มาตรการแก้ อัด 'หม่อมเต่า' ใช้ทัศนอภิสิทธิ์ชนมองไม่เห็นนายทุนเอาเปรียบ

ซ้าย : ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล, ขวา สุเทพ อู่อ้น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่

30 ต.ค.2562 ภายหลัง โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ลงนามในคำประกาศเมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา ระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) สินค้าส่งออกบางประเภทจากไทย คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท) หรือราว 1 ใน 3 ของสินค้าส่งออกที่ได้รับสิทธิ GSP ซึ่งรวมถึงสินค้าประมงและอาหารทะเลส่งออกของไทยทั้งหมดโดยอ้างเหตุผลเรื่อง “ปัญหาด้านสิทธิแรงงานที่ยืดเยื้อมายาวนานในอุตสาหกรรมอาหารทะเลและการเดินเรือ” ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ภายใน 6 เดือน ซึ่งต่อมากระทรวงพาณิชย์ได้ออกมาแถลงว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นคิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 1,800 ล้านบาท จากรายการสินค้าที่ถูกระงับสิทธิ GSP จำนวน 573 รายการ ที่ต้องเสียภาษีในอัตราปกติประมาณร้อยละ 4.5 นั้น

สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากสมาพันธ์แรงงานและสภาอุตสาหกรรมแรงงานสหรัฐฯ (American Federation Labor & Congress of Industrial Organization: AFL-CIO) ยื่นคำร้องให้ตัดสิทธิ GSP ไทย เมื่อวันที่ 4 ต.ค.2556 และวันที่ 16 ต.ค. 2558 เนื่องจากเห็นว่าไทยมิได้คุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานระหว่างประเทศ แม้ที่ผ่านมากระทรวงแรงงาน มีความพยายามจะแก้ไขและจัดทำร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฉบับใหม่  แต่เนื้อหาใน พ.ร.บ.ดังกล่าวยังไม่สอดคล้องกับหลักการและมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ ส่งผลให้สหรัฐฯ มองว่าไทยยังมิได้ดำเนินการตามข้อเรียกร้องของสหรัฐ

ภาคประชาสังคมจี้รัฐเร่งแก้ปัญหาสิทธิแรงงาน หลังสหรัฐตัดสิทธิ GSP

กลุ่มประมงพื้นบ้านและองค์กรภาคประชาสังคมได้ออกมาเคลื่อนไหวกับกรณีที่เกิดขึ้นโดยแถลงร่วมกันในนามภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่นยืน 14 องค์กร ระบุว่าสิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า แม้จะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาสิทธิแรงงานมาต่อเนื่องแต่ยังมีช่องโหว่ที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

จักรชัย โฉมทองดี ผู้จัดการด้านนโยบายและรณรงค์ องค์การอ็อกแฟม กล่าวว่า การส่งออกเป็นแกนหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยที่เรามีแรงงานข้ามชาติเป็นกำลังการผลิตสำคัญ ดังนั้นตราบใดที่เรายังไม่ปรับปรุงประเด็นสิทธิแรงงานให้มีความเสมอภาคและเป็นสากล ตราบนั้นเสถียรภาพในการส่งออกรวมถึงเศรษฐกิจในภาพรวมก็เกิดยาก ต้องไม่ลืมนะครับว่าคู่ค้าต่างๆของเราต่างมีความต้องการปกป้องการผลิตภายในประเทศของเขาทั้งนั้น แต่หากประเทศไทยไม่มีจุดอ่อน ก็จะไม่มีใครจะมาดำเนินมาตรการอะไรกับเราได้ง่ายๆ ที่จริงมีเครื่องมือซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลอยู่แล้ว คืออนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบัน  ถึงที่สุด นี่เป็นเรื่องวิสัยทัศน์ ทั้งเรื่องการเข้าสู่เศรษฐกิจมาตรฐานสูง และเรื่องการเข้าใจความมั่นคงที่สอดคล้องกับโครงสร้างการผลิตที่เป็นจริงของประเทศ การกีดกันแรงงานในระบบการผลิตของไทยมิให้มีสิทธิที่เท่าเทียมในการรวมตัวหรือเจรจา​ ถึงที่สุดแล้ว ไม่ใช่การป้องกันปัญหาแต่เป็นการกดซ่อนความเสี่ยงที่รอวันระเบิด ดังเช่นการผละงานที่เกิดถี่ขึ้นเรื่อยๆโดยไม่มีช่องทางการสื่อสารระหว่างนายจ้างและคนงานที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งส่งผลลบทั้งต่อชีวิตแรงงานไม่ว่าชนชาติใด และต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้ ช่วงหลายปีที่ผ่านมา องค์กรภาคประชาสังคมและกลุ่มแรงงานพยายามผลักดันให้มีการรับรองอนุสัญญาแต่ยังไม่มีความเคลื่อนไหวจากรัฐบาล โดยที่รัฐบาลอ้างว่าการอนุญาตให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ  ขณะที่ สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติกล่าวถึงจุดยืนสำคัญของภาคีเครือข่ายฯคือการสนับสนุนให้ประเทศไทยรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ 2 ฉบับนี้ คือ อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98  (ILO ฉ.87 และ ฉ.98)

“รัฐควรรับรองอนุสัญญาฉบับที่ 87 และ 98 ตั้งนานแล้ว ไม่ต้องรอให้สหรัฐฯ หรือประชาคมโลก ต้องมากดดันเรา เพราะการรวมกลุ่มเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษยตั้งแต่เกิด ภาครัฐไม่ควรกังกลเรื่องเศรษฐกิจหรือความมั่นคง เนื่องจากคนงานเหล่านี้ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสร้างประโยชน์ต่อประเทศมหาศาล” สุธาสินี กล่าว

ขณะที่ ชลธิชา ตั้งวรมงคล ตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) กล่าวว่า ทางองค์กรให้ความช่วยเหลือแรงงานที่โดนละเมิดสิทธิ เราก็เลยพบว่า แม้ว่าประเทศไทยจะมีการปรับปรุงกฎหมายในการคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติก้าวหน้าไปมาก โดยเฉพาะในบริบทประมง แต่สิ่งที่เรายังเจอคือ แรงงานไม่กล้าจะลุกขึ้นมาร้องเรียนกับหน่วยงานรัฐโดยตรง ยังเลือกที่จะไม่ร้องเรียนถ้าทนได้หรือถ้าทนไม่ได้ก็ไปร้องเรียนกับเอ็นจีโอ แรงงานยังกังวลว่าถ้าหน่วยงานรัฐเอาไปพูดกับนายจ้างแล้วตัวคนร้องจะโดนอะไรบ้าง ดังนั้นการให้สิทธิในการรวมกลุ่มและเจรจาต่อรองจะทำให้แรงงานรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้อยู่คนเดียวโดดเดี่ยว นอกจากนี้กรณีที่รัฐบาลไทยปล่อยให้บริษัทเอกชน ฟ้องคดีเพื่อปิดปากแรงงานหรือสมาชิกสหภาพแรงงาน ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ทาง AFL-CIO ระบุชัดว่าเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข ซึ่งในเอกสารเผยแพร่สาธารณะได้ชี้ถึงประเด็นบริษัทหนึ่งในประเทศไทยฟ้องร้องแรงงานเพื่อตอบโต้แรงงานที่ลุกขึ้นมาร้องเรียน มีการฟ้องร้องแรงงานทั้งข้อหาแจ้งความเท็จ หมิ่นประมาท ลักทรัพย์ และฟ้องร้องบุคคลอื่นทั้งนักข่าว เอ็นจีโอ การที่ไล่ฟ้องคดีได้แบบนี้น่าจะแสดงให้เห็นว่ากรอบกฎหมายไทยมีปัญหา หากเรื่องเหล่านี้ยังเกิดขึ้นในประเทศไทย แรงงานที่ไหนจะกล้าร้องเรียน ภาพลักษณ์ของเอกชนในเมืองไทยก็ยังคงดูแย่ในสายตาประชาคมโลก

รมว.แรงงาน อ้างประเทศใครประเทศมัน กม.ไทยไม่จำเป็นต้องเป็นสากล

มาที่ปฏิกิริยาของ รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​แรงงาน โดย ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หรือ 'หม่อมเต่า' กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไว้วานนี้ (29 ต.ค.62) ว่า การประชุม ครม. เศรษฐกิจเมื่อช่วงเช้าได้หารือเรื่องจีเอสพีซึ่งมีความสำคัญมากกว่าเรื่องของแรงงาน โดยกระทรวงพาณิชย์มีหน้าที่ไปเจรจาเรื่องจีเอสพี ขณะที่เรื่องแรงงานไม่ค่อยมีอะไร โดยเรื่องที่สหรัฐฯต้องการให้มีการตั้งสหภาพแรงงานต่างด้าวในไทยนั้น เวลานี้เราให้คนต่างด้าวด้อยกว่าคนไทย เพราะหากให้คนไทยเท่ากับต่างด้าวอย่างนี้ ก็จะยุ่ง กระบวนการของประเทศไทยไม่ได้มาอย่างนั้น เราไม่ได้เป็นประเทศที่เสรีภาพมากมาย กฎหมายของเราไม่ได้เป็นสากล และคิดว่าไม่จำเป็นต้องเป็นสากล ประเทศใครประเทศมัน ถ้าให้ตั้งแรงงานต่างด้าวเป็นสหภาพแรงงาน เราก็เหนื่อย คนต่างด้าวพูดภาษาไทยไม่ได้ แล้วแบบนี้มันจะเป็นไปได้อย่างไร แม้กระทั่งกรณีสหภาพแรงงานที่เป็นคนไทยก็ยังทะเลาะกันเอง และอยู่ดีๆจะมีต่างชาติล้านคนมาเป็นสหภาพกลุ่มใหญ่ซึ่งเราผลักดันให้ไม่ได้ แต่ตอนนี้ไม่ได้คิดอะไร จึงได้ตอบยาก อย่างไรก็ตามต้อง เราดูก่อนว่ากระทรวงพาณิชย์ของไทยกับสหรัฐฯจะเจรจาตกลงเรื่องจีเอสพีได้หรือไม่ ถ้าตกลงได้ แต่มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับแรงงานแล้วมาถามเราว่าทำอะไรได้บ้าง เราจึงจะได้ลงแรงคิดต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดว่าเรื่องแรงงานเป็นข้ออ้างในการใช้ตัดจีเอสพีหรือไม่ ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวว่า ไม่ถึงขนาดนั้น เขามีเงื่อนไขเช่นนี้ 11 ข้อ ซึ่งสหรัฐฯยังไม่รับเรื่องการให้สิทธิ์แก่แรงงานต่างด้าว เพราะให้สิทธิคนต่างด้าวดีกว่านั้นอยู่แล้ว ตนก็ไม่รู้ เพราะไม่เคยไปเป็นคนต่างด้าวที่นั่น และ 2 ข้อที่เขาจะให้เรารับ เราก็รับไม่ค่อยได้ เพราะมันมากกว่าสิทธิ์ของคนไทย

(ที่มา  : มติชนสุดสัปดาห์ออนไลน์)

'อนาคตใหม่' เผย 3 ปัญหาหลักละเมิดสิทธิแรงงาน แนะ 6 มาตรการแก้ อัด 'หม่อมเต่า' ใช้ทัศนอภิสิทธิ์ชนมองไม่เห็นนายทุนเอาเปรียบ

มาด้านฝ่ายค้านและในฐานะประธานคณะกรรมธิการแรงงาน สุเทพ อู่อ้น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ นั้น ทีมสื่อของพรรคฯ รายงาน ว่า สุเทพ กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ปีกแรงงานพรรคอนาคตใหม่อยากจะสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย รัฐบาลไทยล้มเหลวในการคุ้มครองสิทธิแรงงาน กฎหมายแรงงานไทยยังล้าหลังกว่ามาตรฐานแรงงานที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล แรงงานจำนวนมากไม่สามารถรวมตัวกันเพื่อต่อรองได้อย่างเสรี ไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญา ILO ที่ 87และ98 เพื่อรับรองสิทธิการรวมตัวว่าเป็นสิทธิพื้นฐาน แม้จะมีการรณรงค์มาอย่างยาวนานโดยขบวนการแรงงาน รวมถึงรณรงค์ให้กฎหมายไทยสอดคล้องกับอนุสัญญาดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องที่กดทับแรงงานมาโดยตลอด อนุสัญญา ILO ที่ 87 คือเรื่องของการให้สิทธิและเสรีภาพในการรวมตัวกัน และ 98คือการเจรจาต่อรองของแรงงาน การนิ่งเฉยของรัฐบาลไทยที่รับฟังแต่กลุ่มนายทุนขนาดใหญ่ในประเทศ และเมินเฉยต่อผู้ใช้แรงงาน ผลก็คือ ไทยมีอัตราการรวมตัวของแรงงานอยู่ที่ 1.6% ต่ำที่สุดในอาเซียน ซึ่งตัวอย่างการละเมิดสิทธิแรงงานแต่ละรูปแบบคือ

1. แรงงานขาดเสรีภาพในการรวมตัวต่อรอง กล่าวคือกฎหมายไทยและการตีความของศาล (court interpretation) จำกัดสิทธิการรวมตัวของแรงงานชั่วคราวหรือแรงงานสัญญาจ้าง(subcontracted workers) แรงงานสัญญาจ้างไม่นับเป็นลูกจ้างของบริษัทที่ทำงานให้ แต่นับเป็นลูกจ้างของบริษัทที่จัดหางานมาให้แรงงานเหล่านี้ ทำให้แรงงานสัญญาจ้างไม่สามารถเข้าร่วมสหภาพแรงงานได้ อีกทั้งนายจ้างนิยมเพิ่มจำนวนแรงงานสัญญาจ้าง เพื่อลดกิจกรรมในสหภาพแรงงาน

2. สิทธิในการรวมตัวหยุดงานและเสรีภาพในการแสดงออก ตามมาตรา 33 ของ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ห้ามลูกจ้างของรัฐวิสาหกิจในการรวมตัวหยุดงาน มาตรา 77 กำหนดโทษอย่างรุนแรงแก่ผู้ฝ่าฝืน และสมาชิกสหภาพแรงงาน,นักสิทธิมนุษยชนมักถูกฟ้องอาญา เมื่อเปิดเผยข้อมูลการละเมิดแรงงาน ทั้ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์และแรงงานวิสาหกิจสัมพันธ์ ระบุข้อยกเว้นอย่างกว้างๆไว้ ให้นายจ้างสามารถฟ้องได้ หากการกระทำนั้นเป็นการทำให้ชื่อเสียงของนายจ้างเสื่อมเสีย

3. การเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติและแรงงานบังคับ กล่าวคือการละเมิดสิทธิแรงงานและการบังคับใช้แรงงานถูกเปิดเผยอย่างต่อเนื่อง มีแรงกดดันจากทั้งภายในและภายนอกประเทศให้รัฐบาลออกกฎหมายและรับสนธิสัญญาเพื่อคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยยกเลิกการให้สัตยาบันสนธิสัญญา ILO C188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง และ ILO 98 ว่าด้วยสิทธิการรวมตัวต่อรอง อีกทั้งยกเลิกการแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ เพื่อให้แรงงานข้ามชาติไม่สามารถต่อรองกับนายจ้าง 

สุเทพ กล่าวต่อว่า ในฐานะตัวแทนของชนชั้นแรงงานเสนอว่า การแก้ปัญหาด้านสิทธิแรงงานข้างต้นอย่างเป็นระบบเท่านั้นจึงจะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตคนทำงานให้มีชีวิตที่มั่นคงปลอดภัยได้ ซึ่งพรรคอนาคตใหม่เสนอกฎหมายคุ้มครองแรงงาน 6 ข้อ เพื่อแก้ระยะแรก 

1. รัฐต้องรับ อนุสัญญา ILO 87 , 98 ว่าด้วยเรื่องการรวมตัวเจรจาต่อรอง เพื่อสนับสนุนเพิ่มอำนาจให้คนทำงานทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถต่อรองกับนายจ้างได้ จะไม่นำมาสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการจ้างงานในที่ทำงานเดียวกัน

2. การต้องปรับเปลี่ยนพนักงานรายวันสู่การเป็นพนักงานรายเดือนเพื่อเพิ่มความมั่นคงให้กับชีวิตของคนทำงาน ที่ปัจจุบันในสายการผลิตเดียวกันทำงานเดียวกัน แต่คนนึงเป็นพนักงานรายเดือนที่ได้เงินที่มั่นคงทุกเดือน อีกคนเป็นพนักงานรายวันที่หากวันไหนเกิดป่วยหรือวันหยุดที่ไม่ได้มาทำงานก็จะขาดรายได้ไปชีวิตไม่มั่นคงรายได้ไม่แน่นอน เหตุการณ์เช่นนี้เกิดมาเป็นทศวรรษ 

3. ต้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติอย่างต่อเนื่องตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรืออัตราเงินเฟ้อตามแต่ค่าใดสูงกว่า เพื่อให้รายได้ของผู้ใช้แรงงานสอดรับกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ

4. ต้องลดชั่วโมงการทำงานรายสัปดาห์ เป็น 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เพื่อเพิ่มเวลาพักผ่อนให้กับคนทำงานให้คนทำงานได้มีเวลาใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวมากขึ้น เพิ่มวันหยุดพักร้อนเป็น 10 วันต่อปีและสามารถสะสมได้ 

5. การเพิ่มสิทธิการลาคลอดและการเลี้ยงดูบุตรโดยได้รับค่าจ้างเป็น 180 วัน เพื่อให้สอดรับกับสังคมผู้สูงอายุที่มีประชากรรุ่นใหม่จำนวนน้อยลง 

6. การกำหนดค่าจ้างตามประสบการณ์และมาตรฐานแรงงานเพื่อป้องกันการที่ผู้ใช้แรงงาน ต้องอยู่กับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตลอดชีวิต

"สิ่งต่างๆเหล่านี้พรรคอนาคตใหม่มีความพยายามเป็นอย่างยิ่ง เพราะสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรส่วนหนึ่งของพรรคมาจากคนงาน มาจากผู้ใช้แรงงาน เพื่อสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นจริง และอยากให้ภาคสังคมรวมไปถึงผู้บริหารประเทศ เข้าใจถึงปัญหาที่แท้จริงของผู้ใช้แรงงาน เพื่อนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง มิเช่นนั้นจะโดนบิดเบือนอยู่อย่างนี้ ซึ่งเรื่องของวัฒนธรรมไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม และยกระดับมาตรฐานสากล ประชาชนต้องตื่นตัวกับปัญหา GSP นี้ ที่จะต้องแก้ไขโดยด่วน โดยอาจจะส่งผลต่อไปกับภาคธุรกิจ และพี่น้องผู้ใช้แรงงาน" สุเทพ กล่าว

สุเทพ กล่าวด้วยว่า คำให้สัมภาษณ์ของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สะท้อนถึงการไม่ทำความเข้าใจปัญหารากลึกของการละเมิดสิทธิแรงงาน อันเป็นทัศนะของอภิสิทธิ์ชนที่ไม่มองว่การละเมิดสิทธิโดยนายทุนไทยถูกละเลยจากรัฐบาลอย่างกว้างขวางและเป็นระบบ 

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า กรรมาธิการแรงงานภายใต้การนำของสุเทพ อู่อ้น ได้ผลักดันให้รัฐบาลยกระดับการบังคับใช้กฎหมายแรงงานให้ครอบคลุมกำลังแรงงานทั้งระบบอย่างไม่เลือกปฏิบัติ ยกระดับประกันสังคมสำหรับแรงงานนอกระบบ รวมถึงการขึ้นบัญชีดำบริษัทที่มีการละเมิดสิทธิแรงงาน การยกระดับกฎหมายแรงงานและรับอนุสัญญา ILO 87-98 คือทางรอดของทุกคน

"แรงงานข้ามชาติ แรงงานสัญญาจ้างชั่วคราว ก็เป็นคนเท่าเทียมกับเรา เขาทำงานให้เรา ทำงานแบบเดียวกับเรา งานก่อสร้าง งานประมง งานที่คนไทยไม่ทำ พวกเขาก็มาเติมเต็มให้เศรษฐกิจเราเดินไปข้างหน้า แต่ทำไมถึงไม่มีสิทธิ์เท่ากับเรา?

อย่าว่าแต่แรงงานข้ามชาติเลย แรงงานไทยก็ไม่มีสิทธิ์รวมตัว ข้อยกเว้นเยอะมาก ทั้งๆที่เคลื่อนไหวเรียกร้อง ให้รัฐบาลไทยรับอนุสัญญา ILO 87, 98 มานานมาก ถูกกลั่นแกล้งต่างๆนาๆจากทั้งนายจ้างและภาครัฐ

ทุกวันนี้ทั้งโลกค้าขายกันเยอะขึ้น ห่วงโซ่อุปทานเศรษฐกิจโลกซับซ้อนขึ้นตลอดเวลา ไม่มีประเทศไหนจะโตด้วยตัวเองได้อย่างเดียว แต่ท่านรมต.แรงงานกลับมาพูดว่า "ประเทศใครประเทศมัน" อย่างไร้ความรับผิดชอบแบบนี้ ไทยก็ต้องการเป็นสากล สิทธิแรงงานต้องการเป็นสากล ต่างชาติเขาถึงจะอยากค้าขายกับเรา

และไทยฐานะประธานกรรมาธิการแรงงาน บ่ายวันนี้ผมจะหารือเรื่องนี้ จะเชิญฑูตสหรัฐ เชิญรัฐมนตรีแรงงานมาชี้แจง แล้วจะแจ้งให้พี่น้องแรงงานทราบต่อไป" สุเทพ โพสต์ผ่านเฟสบุ๊ค

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net