Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ใน กทม.มีถนนใจกลางเมืองอยู่เส้นหนึ่งที่ผู้เขียนคิดว่ามีความพิเศษในการสะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างน่าสนใจ นั่นคือ ถนนพญาไท โดยเฉพาะช่วงตอนที่เริ่มมาจากสี่แยกสามย่านจนถึงสี่แยกพญาไท เหตุผลที่ว่าพิเศษนั่นก็เพราะตั้งแต่หัวถนนจากสามย่าน สองข้างทาง ไปจนถึงแยกพญาไท เต็มไปด้วยโรงเรียน สถาบันศึกษา อาคารพาณิชย์ที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับการศึกษา จนถึงหน่วยงานรัฐ และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการศึกษา

ช่วงตอนแรกของถนน จากสามย่านถึงแยกปทุมวันมีโรงเรียน 5 แห่ง และมหาวิทยาลัย 2 แห่ง ซึ่งแม้จะต่างสังกัดแต่ก็ทำหน้าที่ร่วมกันในการพัฒนาเด็กและเยาวชนของชาติให้เติบใหญ่เป็นกำลังสำคัญของสังคมไทย ทว่าชื่อชั้น พื้นเพที่มา ความแตกต่างอย่างมากนี้มีผลทำให้โรงเรียนวัดหัวลำโพง ซึ่งเป็นโรงเรียนประถมศึกษาสังกัดกรุงเทพมหานครและโรงเรียนพุทธจักรวิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนมัธยมศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่หัวถนน ไม่ได้อยู่ในความสนใจอันดับแรกๆ ของพ่อแม่ผู้ปกครองจนต้องดิ้นรนพาลูกหลานมาสอบแข่งขัน ต่างไปจากโรงเรียนอีก 2 แห่ง ที่ตั้งอยู่สองฝั่งของถนนพญาไท ได้แก่ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งฝ่ายประถมและฝ่ายมัธยม และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งต่างก็ได้รับความนิยมเชื่อถือจากผู้ปกครองในการส่งบุตรหลานเข้าเรียน และมีอัตราการแข่งขันในการสอบคัดเลือกเข้าเรียนสูงเป็นอันดับต้นๆ ของไทย 

ความแตกต่างประการที่สอง คือ นักเรียนของโรงเรียนวัดหัวลำโพงเกือบทั้งหมดมาจากครอบครัวที่อาศัยอยู่ใกล้โรงเรียน ทั้งที่อาศัยอยู่ถาวรและโยกย้ายตามครอบครัวมา ส่วนโรงเรียนพุทธจักรวิทยา นักเรียนจำนวนหนึ่งมาจากครอบครัวในพื้นที่ และอีกจำนวนหนึ่งมาจากชุมชนอื่นๆ พื้นเพเฉลี่ยของครอบครัวนักเรียนทั้งสองโรงอยู่ในระดับชนชั้นกลางล่าง และพบว่ามีนักเรียนสัดส่วนมากพอสมควรต้องทำงานพิเศษ หรือช่วยงานครอบครัวเพื่อหารายได้ระหว่างเรียน ขณะที่อีก 3 โรงเรียนที่เหลือ นักเรียนเกือบทั้งหมดไม่ได้มีภูมิลำเนาในพื้นที่ใกล้เคียง ส่วนมากอาศัยอยู่ย่านชานเมืองที่ต้องใช้เวลาในการเดินทาง ชุมชนรอบพื้นที่จึงไม่ใช่ชุมชนของพวกเขา นอกจากจะมีบางส่วนที่ครอบครัวมาจับจองซื้อหาและเช่าคอนโดใกล้โรงเรียนเป็นที่พักอาศัยเพื่อเอื้อให้นักเรียนเดินทางมาเรียนสะดวก หากพิจารณาจากพื้นเพทางเศรษฐกิจสังคม นักเรียนส่วนใหญ่มาจากครอบครัวชนชั้นกลาง ระดับปานกลางไปจนถึงชนชั้นกลางระดับบน ที่ครอบครัวมีศักยภาพในการหนุนเสริมโอกาสทางการศึกษาได้อยู่ระดับดีถึงดีมาก 

กล่าวคือหากหลังเลิกเรียนนักเรียนของโรงเรียนกลุ่มแรกจะต้องรีบกลับไปช่วยทำงานที่บ้าน หรือข้ามถนนมาทำงานพิเศษที่ร้านรวงในจามจุรีสแควร์หรือสามย่านมิตรทาวน์ ซึ่งมีพื้นที่มอลล์เล็กๆ ฝั่งตรงข้าม เด็กนักเรียนกลุ่มที่สองก็จะใช้เวลาอยู่กับโรงเรียนกวดวิชา ทำกิจกรรมพิเศษรอเวลาคนในครอบครัวขับรถมารับกลับบ้าน หรือกระทั่งแวะทานอาหารในร้านค้าที่นักเรียนกลุ่มแรกทำงานพิเศษอยู่ 

ภาพดังกล่าวจึงสะท้อนความเป็นสังคมเชิงซ้อนที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำทางโอกาส เมื่อโรงเรียนบางแห่งรองรับเด็กที่มาจากครอบครัวกลุ่มกลางถึงบน ขณะที่โรงเรียนบางแห่งกลายเป็นพื้นที่รองรับนักเรียนอีกกลุ่ม ทั้งที่โรงเรียนสองกลุ่มนี้ตั้งอยู่ห่างกันไม่ถึงสองป้ายรถเมล์ 

นักเรียนของโรงเรียนทั้งสองกลุ่ม คือ เด็กๆ และคนหนุ่มสาวรุ่นราวคราวเดียวกัน ครูผู้สอนในโรงเรียนทั้งสองกลุ่มก็คือคุณครูรุ่นราวคราวเดียวกัน แต่พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมการเรียน การทำงาน และผู้คนแวดล้อมที่แตกต่างกัน เหนืออื่นใดพวกเขามีโอกาสที่จะเข้าถึงการทุ่มเทจากรัฐและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาในการสร้างคุณภาพโรงเรียนที่แตกต่างกันอย่างมาก ไม่ว่าจะด้วยเงินงบประมาณอุดหนุนรายหัวที่จัดสรรมาตามจำนวนนักเรียน การได้รับสนับสนุนจากเครือข่ายผู้ปกครองและศิษย์เก่า การให้โอกาสได้เข้าร่วมในสารพัดโครงการเพื่อสร้างความเข้มแข็งเชิงวิชาการและความเป็นเลิศด้านต่างๆ ให้กับครูและนักเรียน ฯลฯ

ประเด็นที่น่าสนใจคือความเหลื่อมล้ำที่ว่านี้ไม่ใช่เป็นสิ่งที่บังเอิญเกิดขึ้น แต่ค่อยๆ ถูกทำให้เกิดขึ้น และถูกทำให้ผู้คนในสังคมมองว่าเรื่องปกติที่ยอมรับได้ จนดูเหมือนโลกสองใบของเด็กสองกลุ่มที่เหลื่อมซ้อนกันอยู่หาร่องรอยให้มีพื้นที่ที่จะแบ่งปันร่วมกันแทบไม่ได้เลย 

พวกเขาต่างกันตั้งแต่พื้นเพของครอบครัว ก่อนจะได้รับการสนับสนุนให้เข้าถึงโรงเรียน ซึ่งนอกจากไม่ได้ช่วยให้พวกเขาได้มีโอกาสขยับเพดานของตนเองขึ้นไป ยังแทบจะกลายเป็นการจับแยกให้ชัดเจนมากขึ้นว่า “ใครควรมี่ตำแหน่งแห่งอยู่ที่ใดในสังคมนี้” แม้จะไม่ได้ปรากฎเป็นกติกาทางการที่บังคับให้ทุกอย่างต้องเป็นไปตามเส้นที่ถูกขีดไว้ แต่วิถีดังกล่าวก็ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องและดูทีท่าว่าจะยังดำเนินต่อไปตราบเท่าที่ผู้คนในสังคม “ยังยอมรับมันได้” น่าสนใจว่ากติกาเหล่านี้ย้อนแย้งกับตัวบทกฎหมายทางการศึกษา และกฎหมายรัฐธรรมนูญที่พยายามพูดถึงความเสมอภาค เท่าเทียม เป็นธรรม แต่ในภาคปฏิบัตินั้นกลับกลายเป็นคนละเรื่อง

ภาพเหลื่อมซ้อนและการแบ่งแยกด้วยเครื่องมือที่ชื่อว่าการศึกษานี้ ยังถูกตอกย้ำด้วยการดำรงอยู่ของมหาวิทยาลัยสองแห่งบนถนนสายเดียวกัน นั่นคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย ซึ่งเป็นเหมือนภาพแทนของสถาบันอุดมศึกษาที่มีที่มาต่างกัน นั่นคือ สถาบันอุดมศึกษาสายสามัญที่เน้นการเตรียมบัณฑิตในสายวิชาการและวิชาชีพ และสถาบันอุดมศึกษาที่ต่อยอดขึ้นมาจากสถาบันอาชีวศึกษาที่เน้นการเตรียมบุคลากรสายอาชีพ แม้ปัจจุบันจะได้รับคำเรียกขานมหาวิทยาลัยเสมอกัน แต่ในทัศนะของผู้คนทั่วไปก็ยังคงติดกับภาพทรงจำเดิมๆ ของความแตกต่างระหว่างโรงเรียนฝึกหัดข้าราชการกับโรงเรียนช่าง และความแตกต่างนี้ก็ฝังรากลึกลงในชุดความคิดและค่านิยมในการจัดการศึกษาอย่างเป็นทางการ (Formal Education) ทั้งระบบของสังคมไทย

นอกจากการพิจารณาการศึกษาที่จัดเป็นทางการผ่านโรงเรียน และมหาวิทยาลัยแล้ว ณ มุมหนึ่งของแยกปทุมวัน ยังเป็นที่ตั้งของหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ตามอัธยาศัยสำคัญกลางเมืองใหญ่ ด้วยความโอ่อ่าของสถานที่ หน้าตาของร้านอาหารกาแฟ ร้านหนังสือ ร้านขายสินค้าศิลปะและการออกแบบ ไปจนถึงนิทรรศการหมุนเวียน และคอลเลคชั่นศิลปะที่จัดแสดงอยู่ชั้นบนสุดของตัวอาคาร ผู้เขียนจึงเต็มไปด้วยคำถามอึงอลวนอยู่ในความคิดว่าจะมีเด็กๆ และเยาวชนที่พักอาศัยในชุมชนละแวกใกล้เคียง เช่น ชุมชนสองฝั่งของคลองแสนแสบย่านสะพานหัวช้าง ชุมชนหลังวัดปทุมวนาราม ฯลฯ สักกี่รายที่จะหาญกล้าพอจะเดินเข้าไปนั่งเล่นนอนเล่นอ่านหนังสือที่ห้องสมุดชั้นล่าง และจะมีสักกี่คนที่มีเงินในกระเป๋ามากพอจะจ่ายค่าอาหารเครื่องดื่มหลายร้อยบาท เดินฝ่าร้านรวงสุดทันสมัยขึ้นไปชมงานศิลปะ ณ ชั้นบนสุดที่จัดแสดงงานอยู่

ผู้เขียนอยากทิ้งท้ายความเรียงชิ้นนี้ด้วยการกล่าวถึงสี่แยกพญาไทอันเป็นหมุดหมายปลายสุดของการบอกเล่าอย่างย่นย่อถึงความเหลื่อมล้ำที่จับต้องได้ในการเข้าถึงการศึกษา เรื่องย้อนแย้งที่ชวนทบทวนก็คือในละแวกใกล้เคียงกัน เราสามารถพบเจออาคารที่ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับโรงเรียนกวดวิชานับสิบแห่งสำหรับเด็กและเยาวชนทุกช่วงวัย อาคารที่ว่านั้นอยู่ห่างจากสำนักงานของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ที่รับผิดชอบการจัดสอบระดับชาติในชุดวิชาต่างๆ เพียงการเดินเท้า 5-10 นาที เท่านั้นเอง เด็กและเยาวชนจากครอบครัวแบบใดกันที่พร้อมจ่ายเงินนับพันนับหมื่นต่อเดือนในการส่งบุตรหลานมาใช้เวลาเย็นย่ำค่ำคืนและวันหยุดสุดสัปดาห์อยู่กับห้องเรียนกวดวิชาเพื่อเป้าหมายในการเข้าเรียนต่อในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงยิ่งๆ ขึ้นไป และใช่หรือไม่ว่า ขณะที่มีคนพร้อมจ่ายอยู่จำนวนหนึ่ง ยังผู้ปกครองอีกจำนวนมากที่สาละวนดิ้นรนทำงานหารายได้ชักหน้าไม่ถึงหลัง 

ขณะที่เราออกแบบการวัดระดับชาติด้วยข้อสอบชุดเดียวกัน แต่โอกาสที่จะพ่อแม่ผู้ปกครองจะสนับสนุนและเตรียมบุตรหลานให้พร้อมที่สุดสำหรับการตัดสินเส้นทางโอกาสในการศึกษาต่อกลับยิ่งต่างกันด้วยความสามารถที่จะจ่าย ทั้งการจ่ายผ่านการส่งลูกหลานเข้าเรียนในระบบการศึกษาของโรงเรียนที่มีชื่อเสียง และการ “จ่ายเพิ่ม” ให้กับการกวดวิชาตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กจนถึงระดับหลังปริญญา จะหวังให้โรงเรียนช่วยลดความเหลื่อมล้ำ โรงเรียนก็กลายเป็นพื้นที่ของความเหลื่อมล้ำเสียเอง และหาอยากจะใช้กลไกอื่นๆ เพิ่มเติม “คุณต้องจ่าย” จ่ายเพื่ออนาคตที่ดีกว่า และแพงกว่า

เรากำลังออกแบบการศึกษาแบบไหนเพื่อเตรียมคนรุ่นใหม่ของเรา เรากำลังสร้างความเชื่อ ค่านิยมแบบไหนให้ติดตัวเขาไป เมื่อบางคนบางกลุ่มเข้าถึงทุกโอกาสและทุกความเป็นไปได้ แต่บางคนบางกลุ่มต้องดิ้นรนขวนขวายเพื่อให้พออยู่ได้ และมีโอกาสจำกัดเต็มทีที่จะเข้าถึงความหวัง ความใฝ่ฝัน และคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าด้วยการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง และเท่าเทียม 

ถนนสายหนึ่งจากแยกสามย่านถึงแยกพญาไทบอกเล่าเรื่องราวให้เราได้เห็นมากเพียงนี้ แต่จริงหรือไม่ว่าในสังคมไทยยังมีถนนอีกหลายสายที่ทอดยาวจากเมืองสู่ชนบท จากหมู่บ้านอันห่างไกลสู่เขตเทศบาล จากเทศบาลเล็กๆ สู่เมืองอันพลุกพล่าน และตลอดสองข้างทาง จากต้นทางสู่ปลายทาง ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายังดำรงอยู่เสมอมาและไม่ได้รับความใส่ใจมากพอจากผู้คนในสังคมที่จะหาทางจัดการแก้ไขและออกแบบกลไกใหม่ที่จะนำมาซึ่งสังคมอีกแบบที่เกื้อกูลและไม่ทอดทิ้งกัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net