สุรพศ ทวีศักดิ์: พุทธธรรมในโครงสร้างอยุติธรรม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ความพยายามที่จะแยกว่าตัวคำสอนของพุทธศาสนาจริงๆ นั้น ไม่เกี่ยวอะไรกับอุดมการณ์และโครงสร้างทางสังคมและการเมืองเลย ถ้าหากจะเกี่ยวก็เพราะชนชั้นปกครองใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมืองเท่านั้น ประเด็นนี้พูดอีกก็ถูกอีก แต่เป็นการมองอะไรที่ “ง่าย” เกินไป จนละเลย “ความซับซ้อน” ของประเด็น ทำให้มุมมองเช่นนี้กลายเป็นการ “แก้ต่าง” ให้กับพุทธศาสนามากเกินจนทำให้พุทธศาสนากลายเป็นศาสนา “ลอยนวลพ้นผิด” จากความรับผิดชอบในการเป็นส่วนหนึ่งของอุดมการณ์และโครงสร้างทางสังคมการเมืองที่อยุติธรรมและครอบงำสังคมมายาวนาน 

คำถามตรงไปตรงมาก็คือ หากคำสอนพุทธศาสนาไม่เกี่ยวอะไรกับอุดมการณ์และโครงสร้างอันอยุติธรรมทางสังคมและการเมือง เป็นเพียงชนชั้นปกครองใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเท่านั้น แล้วเหตุใดบรรดาพระสงฆ์และชาวพุทธจึงยินยอมให้ชนชั้นปกครองทำเช่นนั้นมาตลอดประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน จะไม่มีบรรดาพระสงฆ์หรือปราชญ์ผู้รู้พุทธและชาวพุทธเคลื่อนไหวต่อต้านการใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างขัดกับสาระแก่นสารของพุทธธรรมกันบ้างเลยหรือ (ขณะที่คริสต์ศาสนามีประวัติศาสตร์ต่อต้านอำนาจอยุติธรรมที่ขัดกับหลักคำสอนของเยซู)

พูดให้ตรงกว่านั้นคือ บรรดาพระสงฆ์และปราชญ์ผู้พุทธศาสนาอย่างแตกฉานนั่นเองที่ให้ความร่วมมือกับชนชั้นปกครองอย่างเข้มแข็งในการใช้หรือตีความคำสอนพุทธศาสนาสนับสนุนสถานะและอำนาจที่ชอบธรรมของชนชั้นปกครอง และสนับสนุนความเชื่อในระบบชนชั้นศักดินา เจ้าขุนมูลนาย ไพร่ ทาส แม้โดยข้อเท็จจริงแล้วระบบอำนาจเด็ดขาด (despotism) ของเจ้าผู้ปกครองขึ้นอยู่กับกองทัพที่เข้มแข็ง เครือข่ายอำนาจและสรรพกำลังอื่นๆ แต่เจ้าผู้ปกครองในยุคสังคมจารีตก็ไม่สามารถจะเป็นเจ้าผู้ปกครองที่ทรงอำนาจเด็ดขาดศักดิ์สิทธิ์และชอบธรรมได้เลย หากไม่อาศัยการสถาปนาสถานะและอำนาจเช่นนั้นผ่านความเชื่อทางศาสนาในนามเทวสิทธิ์, เทวโองการ, โอรสสวรรค์, ธรรมราชา, โพธิสัตว์, สมมติเทพ ฯลฯ

ภายใต้ระบบอำนาจเด็ดขาดดังกล่าว ความยุติธรรมทางสังคมย่อมถูกกำหนดขึ้นโดยอำนาจผูกขาด, สติปัญญา และคุณธรรมของชนชั้นปกครองตามคำสอนศาสนา ไม่ใช่กำหนดขึ้นจากเสรีภาพในการต่อรองของประชาชนที่เสมอภาคกัน ดังนั้น ความยิ่งใหญ่ อลังการ ฟุ่มเฟือยคือความจำเป็นของคนข้างบน ขณะที่คนข้างล่างที่เป็นชาวนา คนยากจน ก็ยังคงเป็นเช่นนั้นยาวนานเป็นพันๆ ปี 

หลักฐานเชิงประจักษ์ที่แสดงถึงความรุ่งเรืองของสังคมภายใต้ระบบใช้อำนาจเด็ดขาดจึงได้แก่ ความอลังการของวังกับวัด และศาสนสถานต่างๆ นี่คือความยุติธรรมและความรุ่งเรืองที่ถูกสถาปนาขึ้นผ่านคุณธรรมผู้ปกครองตามหลักคำสอนศาสนา ผ่านความเชื่อทางศาสนาที่กลายเป็นอุดมการณ์ทางการเมือง วัฒนธรรมทางสังคม และพิธีกรรมต่างๆ  

แล้วพุทธศาสนาส่วนที่เป็นคำสอนที่เรียกว่า “แก่นแท้” หรือ “พุทธปรัชญา” ทำงานอย่างไรภายใต้โครงสร้างทางสังคมดังกล่าว คำตอบคือ คำสอนเรื่องอุดมคติโพธิสัตว์ก็ยังทำหน้าที่อย่างเข้มข้นโดยถือว่ากษัตริย์เป็นโพธิสัตว์โดยกำเนิด (เป็น “หน่อพระพุทธเจ้า” ตั้งแต่อยู่ในครรภ์) คำสอนเรื่องธรรมราชา ทศพิธราชธรรม จักกวรรดิวัตร ราชสังคหวัตถุ ก็ยังถูกสอน ถูกใช้อ้างอิงมาตลอดยุคสังคมศักดินา ขณะเดียวกันคำสอนเรื่องกรรม ความหลุดพ้น อริยสัจจ์ เมตตากรุณา ฯลฯ ก็ยังสอนกันมาตลอด

ปัจจุบันมีการตีความกันว่า หลักคำสอนของพุทธศาสนามีสาระของ “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” เช่น การตีความของ ดร.อัมเบ็ดการ์ ดังที่อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์เห็นด้วยและนำมาอ้างอิงเสมอๆ แต่อย่างไรก็ตาม ความหมายของเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพอันเป็นคำขวัญในการปฏิวัติฝรั่งเศส (เป็นต้น) นั้นคือไอเดียของปรัชญาเสรีนิยม (liberalism) ที่ยืนยันเสรีภาพของปัจเจกบุคคล และเสรีภาพทางสังคมและการเมือง ยืนยันความเสมอภาคของความเป็นมนุษย์ในฐานะทุกคนเป็นเจ้าของสิทธิอำนาจต่างๆ เท่าเทียมกัน และยืนยันภราดรภาพบนรากฐานของเสรีภาพและความเสมอภาคทางสังคมและการเมืองดังกล่าว

พูดให้ชัด ถ้ายืนยันว่าหลักคำสอนของพุทธศาสนาตั้งแต่ยุคแรกเริ่มมีสาระของเสรีภาพ ก็ย่อมจะเป็นเสรีภาพทางจิตใจ ไม่ใช่เสรีภาพทางสังคมและการเมือง ส่วนความเสมอภาคที่ยืนยันว่ามนุษย์ทุกคนมีพุทธภาวะหรือโพธิปัญญาที่จะบรรลุธรรมได้เหมือนกันนั้น ก็ไม่เกี่ยวกับความเสมอภาคทางสังคมและการเมือง ส่วนที่ว่าพุทธศาสนามีภราดรภาพ เพราะสอนให้มองเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ควรมีเมตตากรุณาต่อกันและกันนั้น ก็สอนกันมาตลอดว่า ไม่ว่าจะเป็นคนวรรณะไหน จะเป็นชนชั้นศักดินา เจ้าขุนมูลนาย ไพร่ ทาส ก็คือเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายเหมือนกัน ควรเมตตากรุณาต่อกัน ซึ่งเป็นเรื่องของคุณธรรมทางใจของแต่ละบุคคล ไม่เกี่ยวใดๆ กับสำนึกเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ดังนั้น คำสอนพุทธศาสนาที่ว่ามีความหมายของเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพดังกล่าว จึงเจริญได้เป็นอย่างดีในสังคมระบบวรรณะสี่ และสังคมศักดินา เพราะไม่ใช่เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพในทางสังคมและการเมือง

เมื่อเสรีภาพทางใจ เสมอภาคในฐานะมีพุทธภาวะเหมือนกัน และภราดรภาพแบบมองคนทุกชนชั้นและสรรพสัตว์เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ ไม่ได้ขัดแย้งอย่างมีนัยสำคัญต่อระบบโครงสร้างทางสังคมและการเมืองแบบวรรณะสี่และระบบศักดินา ดังนั้น คำสอนเช่นนี้จึงรุ่งเรืองมาได้ควบคู่กับความรุ่งเรืองของวังกับวัดมายาวนาน 

ขอแทรกไว้ตรงนี้ว่า ไอเดีย “ความเสมอภาคในสายตาของพระเจ้า” ที่พูดกันก่อนและในยุคกลาง ก็หมายถึงความเสมอภาคที่จะได้รับความรักจากพระเจ้า และความยุติธรรมในการพิพากษาของพระองค์ให้ขึ้นสวรรค์หรือลงนรกเท่านั้น ไม่เกี่ยวใดๆ กับความเสมอภาคทางสังคมและการเมือง ต่อเมื่อเกิดแนวคิดเสรีนิยม (liberalism) และโลกวิสัย (secularism) มาท้าทายคริสต์ศาสนาแล้วจึงกลายเป็นอุดมคติอ้างอิงในการยืนยัน เรียกร้องและต่อสู้เพื่อสถาปนาเสรีภาพและความเสมอภาคทางสังคมและการเมือง

อย่างไก็ตาม คำสอนเรื่องเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพแบบพุทธดังกล่าว จะตีความสนับสนุนไอเดียเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพแบบเสรีนิยม อย่างที่ ดร.อัมเบ็ดการ์ทำก็ได้เช่นกัน แต่ต้องตีความบนจุดยืนที่ปฏิเสธระบบวรรณะสี่และระบบอำนาจเด็จขาดทุกรูปแบบดังที่ ดร.อัมเบ็ดการ์ทำควบคู่กับยืนยันระบอบประชาธิปไตยและการแยกศาสนาจากรัฐด้วย ทว่าชาวพุทธไทยกลับตีความคำสอนพุทธว่ามีความหมายของเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพไปพร้อมๆ กับเชียร์เจ้าไป และไม่ยืนยันการแยกศาสนาจากรัฐ จึงทำให้สับสนหรือมั่วๆ กันไปหมด

หรืออย่างที่วงวิชาการบ้านเราตีความว่า การที่รัชกาลที่ 4 กลับไปหาคำสอนในพระไตรปิฎกเป็นฐานในการปฏิรูปธรรมยุติกนิกายนั้นได้ทำให้เกิด “พุทธศาสนาแบบเหตุผลนิยม” ซึ่งการตีความเช่นนี้ ก็ไม่ตรงกับสาระคำสอนในพระไตรปิฎก เพราะแม้คำสอนในพระไตรปิฎกจะเน้นความมีเหตุผลแต่ก็ถือว่าการใช้เหตุผลเป็นเพียง “เครื่องมือ” ในการอธิบายความจริง แต่การเข้าถึงความจริงหรือตรัสรู้สัจธรรมเกิดจากปัญญาญาณที่พ้นไปจากการใช้เหตุผล ดังนั้น พุทธศาสนาในไตรปิฎกจึงไม่ใช่เหตุผลนิยม (rationalism) ที่ถือว่าเหตุผลคือสิ่งตัดสินความจริง หรือเหตุผลทำให้รู้ความจริงที่ถูกต้องอย่างที่เข้าใจกันในปรัชญาตะวันตก 

ยิ่งกว่านั้น เมื่อตีความว่าสมัยรัชกาลที่ 4 เกิดพุทธแบบเหตุผลนิยมแล้วพุทธแบบนี้เองที่ลดทอนหรือขจัดความหลากหลายของพุทธแบบบ้านๆ ก็ทำให้ “เหตุผลนิยม” ซึ่งเป็นคำที่ยืมภูมิปัญญาตะวันตกมาใช้กลายเป็นจำเลยไปโดยปริยาย แต่ที่จริงแล้วเหตุผลนิยมในประเพณีทางปัญญาแบบตะวันตกเชื่อมโยงกับ “เสรีภาพ” ในการอภิปรายถกเถียงด้วยเหตุด้วยผลอย่าง “คนเท่ากัน” ด้วย แต่พุทธแบบเหตุผลนิยมแบบที่ว่ารัชกาลที่ 4 สถาปนาขึ้น ไม่ได้เชื่อมโยงกับเสรีภาพในความหมายดังกล่าว ซ้ำต่อมายังกลายเป็นพุทธแบบอำนาจนิยมที่ลดทอนและขจัดความหลากหลายของพุทธแบบบ้านๆ อีกด้วย

ถึงที่สุดแล้ว การมองว่าคำสอนที่เป็นแก่น เป็นพุทธปรัชญา เช่น เสรีภาพทางใจ เสมอภาคในแง่ที่ทุกคนมีพุทธภาวะเหมือนกัน ภราดรภาพบนฐานการมองเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ หรือเป็นเหตุผลนิยม กระทั่งเป็นมนุษยนิยมในฐานะยืนยันศักยภาพความสามารถของมนุษย์ในการปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมนั้น แม้ว่าจะพบความหมายดังกล่าวอยู่ในพระไตริฎกจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่หากเป็นเพียงการตีความ และยืนยันความคิดเหล่านี้อย่างไม่เชื่อมโยงกับการปฏิเสธโครงสร้างระบบอำนาจเด็ดขาดในนามธรรมราชา สมมติเทพ พระพุทธเจ้าอยู่หัว พ่อปกครองลูก (เป็นต้น) และไม่ยืนยันเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพทางสังคมและการเมืองแบบที่ถกเถียงกันในกรอบคิดสมัยใหม่ การยืนยันเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพแบบที่ชาวพุทธทำตามๆ กันเช่นนั้น ย่อมไม่ได้มีความหมายใดๆ ต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคม ปัญหานี้จิตร ภูมิศักดิ์มองชัดเจนตั้งแต่เป็นนิสิตปี 3 ที่เขียนบทความเรื่อง “ผีตองเหลือง” แล้วว่า ความคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยการแก้กิเลสในใจคนแบบพุทธนั้น ในที่สุดก็เข้าทางชนชั้นปกครองผู้กดขี่เสมอไป

ถึงที่สุด จนแม้ปัจจุบันที่มีการศึกษาพุทธศาสนาในเชิงวิชาการเจริญมากในมหาวิทยาลัยสงฆ์และมหาวิทยาลัยของรัฐ ก็ยิ่งเกิดคำถามมากขึ้นว่า คำสอนที่ถือกันว่าเป็นแก่นแท้หรือพุทธปรัชญานั้น ทำงานอย๋างไรในสภาวะการณ์แห่งความขัดแย้งระหว่างเผด็จการกับประชาธิปไตย อะไรคือไอเดียเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ เหตุผลนิยม มนุษยนิยมแบบพุทธที่ไปกันได้หรือสนับสนุนกันกับเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพทางสังคมและการเมืองในโลกสมัยใหม่ 

วาทกรรมเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพแบบพุทธใช้เพื่อโฆษณาชวนเชื่อพุทธศาสนาไป พร้อมๆ กับเชียร์เจ้าไป ไม่สนใจด้วยซ้ำว่า “การไม่แยกศาสนาจากรัฐ” ทำให้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือทางทางเมืองของชนชั้นปกครองอย่างขัดกับหลักเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพทางสังคมและการเมืองอย่างไร และไม่สนในแม้กระทั่งว่าการไม่แยกศาสนาจากรัฐทำให้พระสงฆ์ไม่มีแม้แต่อิสรภาพในการปกครองตนเอง ไม่มีสิทธิ์ตัดสินใจใดๆ ในการเลือกประมุขสงฆ์ และคณะผู้บริหารองค์กรปกครองสงฆ์ 

แล้วจะโฆษณาชวนเชื่อวาทกรรมเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพแบบพุทธไปทำไม จะอวดเรื่องความก้าวหน้าของการศึกษาพุทธปรัชญาในมหาวิทยาลัยสงฆ์ไปเพื่ออะไร พุทธศาสนาเป็น “นาบุญ” ของใคร เป็นแหล่งผูกขาดอำนาจ ผลประโยชน์ การทำมาหากินของคนกลุ่มไหน การยืนยันไอเดียเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพแบบพุทธ จะไม่ตั้งคำถามกับปัญหาเหล่านี้ที่พวกตนมีส่วนก่อขึ้นกันบ้างเลยหรือ

 

ที่มาภาพ: https://www.twipu.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท