Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทความนี้เป็นการเผยแพร่เนื้อหาบางส่วนจากบทความชื่อเดียวกันที่คณะผู้เขียนปรับปรุงจากผลงานในรายวิชา สว.456 สังคมวิทยาการพัฒนา และได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในคอลัมน์ “เลียบเลาะห้องเรียน” ของ วารสารสังคมวิทยามานุษยวิทยา ปีที่ 38 ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน 2562) ผู้สนใจสามารถอ่านและดาวน์โหลดบทความฉบับสมบูรณ์ ที่เผยแพร่ให้เข้าถึงได้โดยเสรี (open access) ได้ที่ https://www.tci-thaijo.org/index.php/JSA/article/view/210836/148510 

ที่มาและความสำคัญ

ตั้งแต่ 2556 ประเทศไทยเกิดเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองของ “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (กปปส.) ภายใต้การนำของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เพื่อต่อต้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมหรือ “พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย/เหมาเข่ง” ของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในนามของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อรัฐประหารและปกครองประเทศด้วยระบอบเผด็จการทหารที่จำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการเคลื่อนไหวทางการเมืองในหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะสื่อและประชาชนที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากอุดมการณ์ของรัฐบาลทหาร [1]

แม้ว่าตั้งแต่ 2557-2562 คสช. ได้ใช้อำนาจทางการเมืองเพื่อให้ประชาชนอยู่ภายใต้อาณัติของรัฐบาลทหาร แต่ก็มีการเคลื่อนไหวเพื่อแสดงจุดยืนในการต่อต้านรัฐประหารและการปกครองในระบอบเผด็จการทหารด้วยการชุมนุมในรูปแบบต่างๆ เช่น กิจกรรม “ชูสามนิ้ว” เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 และวันที่ 1 มิถุนายน 2557 ในหลายสถานที่ เช่น ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 และ สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสนามกีฬาแห่งชาติ กิจกรรม “อ่านหนังสือ 1984” ซึ่งจัดขึ้น 4 ครั้ง ในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2557 บริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสนามกีฬาแห่งชาติ สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสช่องนนทรี วัดปทุมวนาราม และบนรถไฟฟ้าบีทีเอส ตามลำดับ และกิจกรรม “รับประทานแซนด์วิช” เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2557 ที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน [2]

(ภาพจากมติชน ขวา: เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล
ภาพจากเดอะโมเมนตัม ซ้าย: พริษฐ์ ชีวารักษ์ หรือ เพนกวิ้น)

นอกจากกิจกรรมข้างต้น ยังมีกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกหลากหลายรูปแบบที่จัดโดยประชาชนและปัญญาชน ซึ่งกลุ่มนักศึกษาที่เคลื่อนไหวและได้รับความสนใจจากสาธารณชน คือ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ (เพนกวิน) นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ดำรงตำแหน่งประธานสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) และนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล (แฟรงค์) นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ขับเคลื่อนเครือข่ายสมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติระบบการศึกษาไทย งานศึกษานี้เลือกพริษฐ์และเนติวิทย์เป็นกรณีศึกษา [3] เนื่องจากบุคคลทั้งสองกำลังศึกษาอยู่ในระบบการศึกษาไทยและเป็นนิสิต/นักศึกษาที่กำลังเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีชื่อเสียง รวมถึงคำถามวิจัยที่มุ่งเน้นไปที่การเปรียบเทียบรูปแบบและเนื้อหาของนักเคลื่อนไหว โดยพริษฐ์และเนติวิทย์มีจุดเริ่มต้นจากการเรียกร้องประเด็นด้านการศึกษา ก่อนจะขยายมาสู่การเคลื่อนไหวทางการเมืองในรูปแบบที่หลากหลาย

แม้จะดูราวกับว่าทั้งคู่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในลักษณะที่เหมือนกัน แต่คณะผู้ศึกษาเห็นว่าสาเหตุ เป้าหมาย และอุดมการณ์ที่อยู่เบื้องหลังของทั้งคู่นั้นมีส่วนที่แตกต่างอยู่ด้วย จึงน่าสนใจที่จะทำความเข้าใจสาเหตุ รูปแบบ อุดมการณ์ทางความคิด และเป้าหมายการเคลื่อนไหวทางสังคมของพริษฐ์และเนติวิทย์ ในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 

งานศึกษานี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นผ่านสื่อออนไลน์และการสัมภาษณ์เชิงลึก (in-depth interview) [4] ผนวกกับทฤษฎีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ (new social movement: NSM) มาวิเคราะห์ เพื่อเปรียบเทียบรูปแบบและเนื้อหาของการเคลื่อนไหวระหว่างพริษฐ์และเนติวิทย์ ว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างอย่างไร และสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์และความเกี่ยวเนื่องกันระหว่างประเด็นด้านการศึกษา และสิทธิเสรีภาพในการเมืองระบอบประชาธิปไตยอย่างไร

ผลการศึกษาสามารถแบ่งออกเป็น 5 ประเด็นย่อย คือ 1) หัวเกรียนสู่เส้นทางการเมือง ว่าด้วยก้าวแรกสู่การเคลื่อนไหวทางสังคมของเพนกวิน (พริษฐ์) และเนติวิทย์ [5]   2) “สิทธิ” และ “เสรีภาพ” ณ ทางแยกประชาธิปไตย ว่าด้วยความแตกต่างทางอุดมการณ์ของทั้งคู่ 3) เพนกวิน: ชวนไปใช้สิทธิ มันผิดตรงไหน(?) ว่าด้วยการเคลื่อนไหวทางสังคมของเพนกวิน 4) เนติวิทย์: เส้นทางการต่อสู้ บนถนนสายเสรีภาพ ว่าด้วยการเคลื่อนไหวทางสังคมของเนติวิทย์ 5) เพนกวินและเนติวิทย์: กลยุทธ์ของสองนักเคลื่อนไหว ว่าด้วยความแตกต่างแต่คล้ายคลึงกันของทั้งคู่ โดยประเด็นย่อยเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ที่สอดแทรกตั้งแต่จุดเริ่มต้น รูปแบบและเนื้อหาของการเคลื่อนไหว รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างประเด็นด้านการศึกษา และสิทธิเสรีภาพในการเมืองระบอบประชาธิปไตย


หัวเกรียนสู่เส้นทางการเมือง

การศึกษาการเคลื่อนไหวทางสังคมของเพนกวินและเนติวิทย์ทำให้ผู้วิจัยเห็นถึงขบวนการการเคลื่อนไหวรูปแบบใหม่ของนักเรียน นิสิตและนักศึกษาในช่วงการปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (พ.ศ.2557-2562) ซึ่งทั้งคู่มีการเริ่มต้นเคลื่อนไหวตั้งแต่พวกเขากำลังศึกษาชั้นมัธยมศึกษาจนถึงปัจจุบัน พวกเขามีจุดเริ่มต้นและเนื้อหาในการต่อสู้ที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งมีการต่อสู้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงมีรูปแบบการเคลื่อนไหวที่หลากหลายและแตกต่างกัน ถึงแม้ว่าบางเรื่องที่พวกเขาเรียกร้องจะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองโดยตรง แต่พวกเขามักเรียกร้องในเรื่องที่เป็นปัญหาของคนส่วนใหญ่ของประเทศ ส่วนใหญ่เป็นเรื่องทางสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการบริหารงานล้มเหลวของรัฐบาลทหาร กล่าวได้ว่าพวกเขามักต่อสู้กับชนชั้นนำ เพื่อนำผลประโยชน์ที่ควรได้รับกลับคืนสู่คนส่วนใหญ่ของประเทศ 

เพนกวิน นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มก้าวสู่เส้นทางการเมืองในช่วงการชุมนุมของ กปปส. เหตุการณ์ดังกล่าวจุดประกายให้เขาลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวทางการเมือง เข้าร่วมกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท เรียกร้องและต่อสู้ผลักดันโครงการเรียนฟรีจาก 12 ปี เป็น 15 ปี จนกระทั่งสำเร็จ สำหรับจุดยืนทางการเมืองของเพนกวิน เขานิยามว่าตนเองเป็น “ฝ่ายซ้าย” เพราะเชื่อว่ามีการขูดรีดภายในสังคม ดังนั้นเราจึงต้องทำให้เกิดความเท่าเทียมกันภายในสังคม

เนติวิทย์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก้าวเข้าสู่เส้นทางการเคลื่อนไหวทางการเมืองเมื่ออายุ 18 ปี เริ่มต้นจากการเขียนหนังสือ ให้เธอไว้อ่านเล่น: คำประกาศความเป็นไทในโรงเรียน [6]  โดยการเคลื่อนไหวในช่วงแรกเขามุ่งเปลี่ยนแปลงเรื่องทรงผมนักเรียน ปฏิรูปหลักสูตรการศึกษา วิจารณ์พิธีกรรมหน้าเสาธงในโรงเรียน และเป็นผู้ร่วมขับเคลื่อนสมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติระบบการศึกษาไทย รวมทั้งเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท โดยเนติวิทย์นิยามตัวเองว่า “เป็นฝ่ายซ้ายที่ค่อนข้างลิเบอรัล (liberal) ไม่ใช่นีโอลิเบอรัล (neo-liberal)” 

เขาทั้งสองนิยามตนเองว่าเป็นฝ่ายซ้ายที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมจากกลุ่มอนุรักษนิยมขั้วอำนาจเก่า เนื่องจากกลุ่มนี้มักเอื้อประโยชน์ต่อชนชั้นของตน และก่อให้เกิดความอยุติธรรมและปิดกั้นเสรีภาพในสังคม ด้วยเหตุนี้ทำให้ทั้งสองเข้าสู่เส้นทางการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง จากนั้นพวกเขาลุกขึ้นมาต่อสู้กับกลุ่มอนุรักษนิยม เพื่อเรียกร้องความเสมอภาคและเสรีภาพแก่ประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งเพนกวินเริ่มเคลื่อนไหวจากการเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองและเน้นไปที่เรื่องการศึกษาเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในสังคมไทย ในขณะเดียวกันเนติวิทย์เริ่มต้นเคลื่อนไหวจากความต้องการที่จะยกเลิกวาทกรรมความเป็นไทยที่ผลิตซ้ำจากรุ่นสู่รุ่นและคอยกดทับเสรีภาพของประชาชนไทยอยู่ในปัจจุบัน มากไปกว่านั้น เพนกวินและเนติวิทย์มีการกระทำเชิงสัญลักษณ์โดยไม่ใช้ความรุนแรงในการแย่งชิงอำนาจ ยืนยันอิสรภาพในการจัดการตนเอง กำหนดอนาคตตนเอง ให้ความสำคัญกับเครือข่าย

อาจกล่าวได้ว่า จุดเริ่มต้นของทั้งสองล้วนเป็นกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ร่วมในการเป็นนักเคลื่อนไหวซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของบึคชเลอร์ (Buechler 1995, 442) ทั้งสองเริ่มต้นการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมืองตั้งแต่เรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษา โดยมีจุดเริ่มต้นการต่อสู้เรียกร้องจากการคับข้องใจในระบบการศึกษาไทย เพนกวินเริ่มต้นจากเรียกร้องสิทธิการเรียนฟรี ส่วนเนติวิทย์เริ่มต้นจากการวิจารณ์วาทกรรมความเป็นไทยที่ฝังรากลึกในระบบการศึกษา

ทั้งคู่นิยามตนเองว่าเป็น “ฝ่ายซ้าย” แต่ในคำนิยามฝ่ายซ้ายที่ทั้งสองเชื่อแตกต่างกัน 


“สิทธิ” และ “เสรีภาพ” ณ ทางแยกประชาธิปไตย

เพนกวินและเนติวิทย์แสดงให้เห็นถึงจุดเริ่มต้นที่มาจากการมองเห็นความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำภายในโรงเรียนในลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่ทั้งสองกลับมีมุมมองต่อสถานศึกษาค่อนข้างแตกต่างกัน เพราะความแตกต่างของสถาบันการศึกษา โดยเพนกวินให้ความสนใจเกี่ยวกับโครงสร้าง ชนชั้น และการจัดช่วงลำดับชั้น ขณะที่เนติวิทย์มองปัญหาจากปัจเจกบุคคล


(ภาพจากประชาไท: เพนกวิ้น ปราศรัยในหัวข้อ “ขอทวงคืนอนาคต” ในงาน “ปากปราศรัย น้ำใจเชือดเผด็จการ” ที่หน้าหอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2561)

เพนกวินมองว่าประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากโครงสร้างทางสังคม เพราะโครงสร้างทำให้ประชาชนมีความเหลื่อมล้ำและถูกลิดรอนสิทธิ เขาจึงให้ความสำคัญกับสิทธิของประชาชนมากที่สุด โดยเฉพาะประเด็นสิทธิด้านการศึกษา ส่งผลให้เขาลุกขึ้นมาต่อสู้เคลื่อนไหวด้านสิทธิ ดังที่เพนกวินให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “การเคลื่อนไหวของนักศึกษามันควรจะเคลื่อนไหวบนฐานสิทธิ ฐานของความเท่าเทียม ความเสมอภาค” และเขามีความคิดเห็นว่าประเทศไทยควรปกครองในระบอบสังคมประชาธิปไตย [7]  กับ สังคมนิยมประชาธิปไตย [8]  สอดคล้องกับข้อเสนอของทิลลีที่กล่าวว่าการเคลื่อนไหวทางสังคมสามารถต่อสู้เรียกร้องได้หลายวิธี ทั้งนี้เพื่อรักษาผล ประโยชน์แก่ส่วนรวม ซึ่งการต่อสู้ของเพนกวินเป็นการปกป้องและเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนไทยพึงมีด้วยวิธีการที่หลากหลายดังที่จะกล่าวถึงในลำดับต่อไป ถือเป็นการสร้างประโยชน์แก่พลเมืองส่วนใหญ่ของชาติ โดยที่ผู้เคลื่อนไหวเองก็ได้รับผลประโยชน์จากข้อเรียกร้องเช่นเดียวกัน (Tilly 1995, 13-15)


(ภาพ เนติวิทย์ ขณะพูดคุยเรื่องทรงผมนักเรียน ออกรายการเรื่องเด่นเย็นนี้ https://www.youtube.com/watch?v=E50y8TwTVdg) 

ในทางกลับกัน จุดเริ่มต้นของเนติวิทย์ เกิดจากความคับข้องใจจากกฎระเบียบของโรงเรียน ทำให้เขาเขียนเกี่ยวกับปัญหาของนักเรียนภายในโรงเรียน คือเรื่องทรงผม ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการต่อสู้และเคลื่อนไหวด้านเสรีภาพ เพื่อปกป้องตัวเองและผลประโยชน์ของสังคม โดยเขาอธิบายว่า “เพราะมันเป็นประเด็นใกล้ตัวเลยสำคัญที่สุด” และท้ายที่สุด การเคลื่อนไหวของเขาได้กลายเป็นกระแสสังคม สอดคล้องกับฮาเบอร์มาสที่กล่าวว่า จากเดิมรัฐจำกัดและควบคุมเสรีภาพของประชาชนทุกแง่มุมของชีวิต ส่งผลให้ประชาชนลุกขึ้นมาปลดแอกและต่อสู้กับรัฐในวิถีประชาธิปไตย ทั้งนี้เพื่อรักษาชีวิตทางสังคม และสร้างนิยามแบบใหม่แก่ปัจเจกบุคคล รวมถึงสร้างประโยชน์แก่ส่วนร่วม (Habermas 1987, 392) ซึ่งการเคลื่อนไหวทางสังคมของเนติวิทย์เกิดจากการถูกจำกัดเสรีภาพจากการใช้ชีวิตประจำวันภายในโรงเรียนทำให้เกิดความคับข้องใจ เพราะเนติวิทย์รู้สึกถูกควบคุมและถูกคุกคามจากกฎระเบียบของโรงเรียนที่ลดทอนเสรีภาพของเขา เขาจึงลุกขึ้นมาปกป้องและเรียกร้องเสรีภาพของตนเองตามวิถีแบบประชาธิปไตย รวมถึงเขาพยายามเปลี่ยนแปลงวาทกรรมความเป็นไทยที่ลิดรอนเสรีภาพของประชาชน ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่น โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียน นิสิต และนักศึกษาที่ประสบปัญหาเดียวกันกับเขาด้วย ดังที่เนติวิทย์กล่าวไว้ว่า “ผมว่าเปลี่ยนการศึกษา ก็คือต้องให้ทุกคนได้มีเสรีภาพ ที่จะเป็นประชาธิปไตย”

การลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวของทั้งสองคนสอดคล้องกับข้อเสนอของฮาเบอร์มาส (Habermas 1987, 33-34) ที่กล่าวถึงการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ ว่ามักเป็นการเรียกร้องผลประโยชน์จากกลุ่มชนชั้นกลางใหม่ที่มีการศึกษาและให้ความสำคัญกับชีวิตประจำวัน ส่งผลให้กลุ่มนี้ออกมาเรียกร้องในเรื่องสิทธิเสรีภาพทางการเมืองและเรื่องรอบตัวในชีวิตประจำวัน

ความแตกต่างของการเคลื่อนไหวของทั้งสองคนคือฐานการเคลื่อนไหว โดยเพนกวินจะเคลื่อนไหวอยู่บนหลักของสิทธิ ขณะที่เนติวิทย์เคลื่อนไหวอยู่บนฐานของเสรีภาพเป็นหลัก

เพนกวินและเนติวิทย์ให้ความสำคัญกับประเด็นการเคลื่อนไหวแตกต่างกัน เพนกวินให้ความสำคัญกับสิทธิมากกว่า เนื่องจากเขามองว่าสังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำ จึงเกิดความไม่เท่าเทียมกัน ทำให้เขาเน้นเคลื่อนไหวในประเด็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในสังคม ในทางกลับกันเนติวิทย์ให้ความสำคัญกับเสรีภาพมากกว่า เนื่องจากเขาเกิดความรู้สึกคับข้องใจเกี่ยวกับกฎภายในโรงเรียนและระบบการศึกษาไทย รวมถึงวาทกรรมความเป็นไทยที่ลิดรอนเสรีภาพของประชาชน เขาจึงเน้นการเคลื่อนไหวในประเด็นเสรีภาพของปัจเจกบุคคล เพื่อให้ประชาชนมีเสรีภาพในทุกด้านของชีวิตมากยิ่งขึ้น

ถึงแม้ทั้งสองให้ความสำคัญประเด็นการเคลื่อนไหวต่างกัน แต่ทั้งคู่ทำเพื่อประโยชน์ต่อตนเองและส่วนรวมเป็นหลักเช่นเดียวกัน


เพนกวิน: ชวนไปใช้สิทธิ มันผิดตรงไหน


(ภาพจากมติชน: เพนกวิ้น ปราศรัยในหัวข้อ “ขอทวงคืนอนาคต” ในงาน “ปากปราศรัย น้ำใจเชือดเผด็จการ” ที่หน้าหอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ วันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2561)

เพนกวินให้ความสำคัญในประเด็นของสิทธิ และเคลื่อนไหวในประเด็นนี้เป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการไปปราศรัยในวันแรงงานและปลอมตัวเป็นแรงงาน เขาเรียกร้องโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรคให้กับแรงงาน เพนกวินอธิบายการเคลื่อนไหวในครั้งนี้ว่าเป็นรูปแบบ “จรยุทธ์”[9] มีความเรียบง่ายและมุ่งเข้าประชิดตัว ในฐานะแนวร่วมกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เพนกวินมีการดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เช่นการขึ้นปราศรัยในงาน “ปากปราศรัย น้ำใจเชือดเผด็จการ: 3-2-1 ถึงเวลาเปลี่ยน” จัดขึ้นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2561 บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ การขึ้นปราศรัยในครั้งนี้เป็นการประกาศสงครามต่อกลุ่มอำนาจเก่าที่มีวิธีคิดแบบเก่า แต่มากำหนดชีวิตและเส้นทางของคนรุ่นใหม่ อีกทั้งยังเป็นการเชิญชวนให้คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่ออนาคตของตัวเอง รวมถึงเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งที่เป็นสิทธิของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย [10]


(ภาพจากประชาไท: เพนกวิ้นแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ผ่านการรับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป)

ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2561 เพนกวินแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ผ่านการรับประทานบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป บริเวณสกายวอล์ก ห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง เพื่อสื่อว่าประชาชนยากไร้ เพราะรัฐบาลไม่มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ และหากรัฐบาลยังจะเลื่อนการเลือกตั้งออกไป ประชาชนจะอดอยากและแร้นแค้นมากขึ้น รวมถึงการเคลื่อนไหวเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2562 ด้วยการอ่านแถลงการณ์หน้าทำเนียบรัฐบาล และการแขวนกระเทียมบริเวณริมรั้วทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวในเชิงสัญลักษณ์ เพื่อเป็นการเปรียบเปรยรัฐบาลในฐานะผีดิบที่คอยดูดกินภาษีของประชาชนเป็นอาหาร การแขวนกระเทียมจึงเป็นไปเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดใช้ภาษีของประชาชนโดยปราศจากความชอบธรรมและใช้อย่างสุรุ่ยสุร่าย

การเคลื่อนไหวของเพนกวินตั้งอยู่บนหลักของสิทธิพลเมืองโดยเฉพาะประเด็นด้านการศึกษาและการเลือกตั้ง ถือเป็นเรื่องสำคัญในการต่อสู้เรียกร้องที่ปัจเจกบุคคลเห็นว่า เราทุกคนต้องเรียกร้องสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ประชาชนควรได้รับอย่างเป็นธรรม สอดคล้องกับข้อเสนอของฮาเบอร์มาสที่กล่าวถึงประเด็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับคุณภาพชีวิต ความเสมอภาคในสิทธิของประชาชน (Habermas 1987, 392)

การเคลื่อนไหวของเพนกวินให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิทธิเป็นหลัก และมักใช้วิธีการที่หลากหลายในการเคลื่อนไหวระยะสั้น ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ จรยุทธ์ การปราศรัย และการเสียดสีประชดประชัน ส่วนใหญ่มักเป็นการเผชิญหน้ากับรัฐ ซึ่งการจัดกิจกรรมหรือการปราศรัยของเพนกวินมักเป็นการชิงพื้นที่สื่อ กล่าวได้ว่าเพนกวินสามารถชิงพื้นที่สื่อได้ค่อนข้างมาก ส่งผลให้การเคลื่อนไหวของเขาประสบความสำเร็จ โดยรูปแบบการเคลื่อนไหวของเพนกวินนั้นสอดคล้องกับข้อเสนอของบึคช์เลอร์ที่กล่าวถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านการใช้สัญลักษณ์ เพื่อต้องการเสียดสีศัตรูและเป็นที่สนใจในสังคม (Buechler 1995, 442-446) ทำให้เพนกวินกลายเป็นแรงบันดาลใจและแนวทางแก่บุคคลอื่นในสังคมไทยให้ออกมาต่อสู้เรียกร้องกับรัฐ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง และทำให้เกิดความเท่าเทียมในสังคม


เนติวิทย์: เส้นทางการต่อสู้ บนถนนสายเสรีภาพ 


(ภาพจากมติชน: เนติวิทย์ ปราศรัยในงาน Oslo Freedom Forum ปี 2018)

เนติวิทย์เคลื่อนไหวบนฐานของเสรีภาพ โดยการเคลื่อนไหวของเนติวิทย์เริ่มต้นจากการเขียนและแปลอย่างต่อเนื่อง กระทั่งปัจจุบันเขายังคงเขียนหนังสือ จุลสาร และแปลหนังสือ อาทิ นักเรียนเลวในระบบการศึกษาแสนดี [11] งานแปลและเรียบเรียงหนังสือ เวลาอยู่ข้างเรา: หนังสือวันเกิดโจชัว หว่อง [12] และ ประเทศไทยเปลี่ยน เกณฑ์ทหารต้องเปลี่ยน [13] วิธีการต่อสู้รูปแบบนี้เป็นการต่อสู้ในระยะยาว และงานเขียนอาจสร้างประโยชน์ให้กับกลุ่มคนรุ่นหลัง เขาเล่าให้คณะผู้ศึกษาฟังว่า “สิ่งที่ผมเขียนมันจะเป็นเรื่องคำถามที่คนเขาจะคิดต่อไปในอนาคต” สอดคล้องกับงานของสก็อตต์ที่กล่าวถึงการต่อสู้โดยไม่เผชิญหน้า และมุ่งเปลี่ยนแปลง
ค่านิยมมากกว่าที่จะสนใจในเรื่องสิทธิ (Scott 1990, 16-17)

การชูสามนิ้วของเนติวิทย์ในงาน “Oslo Freedom Forum” ที่กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ระหว่างวันที่ 28-30 พฤษภาคม 2561 กลายเป็นปรากฏการณ์ในสังคมไทยขณะที่อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร และเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงการต่อต้านรัฐบาลทหารและต้องการให้ประเทศไทยกลับมาปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของเนติวิทย์ในครั้งนี้ทำให้สื่อมวลชนเกิดความสนใจ และทำให้ประชาชนตระหนักถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่เพียงเท่านั้นเนติวิทย์ยังให้ความสำคัญกับเสรีภาพของพลเมืองไทยเช่นเดียวกัน เห็นได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง อาทิ กิจกรรม “นัดรวมพลประชาชนอยากเลือกตั้ง แสดงพลังต้านสืบทอดอำนาจ คสช.” เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2561 บริเวณสกายวอล์กแยกปทุมวัน 


(ภาพจากเดอะโมเมนตัม: งานศิลปะ “สหบาทา กกต” จัดโดยเนติวิทย์และเพื่อนๆ)

ในเวลาต่อมาวันที่ 7 เมษายน 2562 เนติวิทย์และกลุ่มเพื่อนร่วมกันจัดแสดงงานศิลปะที่มีชื่อว่า “สหบาทา กกต.” บริเวณหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเป็นการนำรองเท้าที่มีรูปแบบและขนาดต่างๆ จำนวน 100 คู่ มาเรียงกันเป็นอักษรย่อ “กกต” โดยใช้สื่อสัญญะ และย้ำว่าหอศิลปฯ เป็นพื้นที่สาธารณะที่ใช้จัดแสดงศิลปะของประชาชน ดังนั้นประชาชนสามารถแสดงออกทางความคิดได้อย่างเสรีภาพในบริเวณนี้ อย่างไรก็ตาม เนติวิทย์ต้องการให้ประชาชนตีความความหมายของการใช้รองเท้าในการเรียงเป็นคำว่า กกต. เอง [14]

เนติวิทย์มักจะไม่มีการจำกัดนิยามหรือความหมายของการเคลื่อนไหว เพราะเขาเชื่อว่าทุกคนมีเสรีภาพทางความคิด สามารถคิดและตีความอย่างไรก็ได้ กล่าวได้ว่าเนติวิทย์มีการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์โดยไม่ใช้ความรุนแรงในการแย่งชิงอำนาจ ยืนยันอิสรภาพในการจัดการตนเอง กำหนดอนาคตตนเอง ให้ความสำคัญกับเครือข่าย และสร้างอัตลักษณ์ของกลุ่มกับนักเคลื่อนไหวที่อยู่ภายในกลุ่มของเขา (Buechler 1995, 442-444)

นอกจากนี้ เนติวิทย์ยังให้ความสำคัญเรื่องเกณฑ์ทหาร เพราะการเกณฑ์ทหารเป็นเสรีภาพส่วนบุคคล และการเป็น “พลเมืองดี” รับใช้ชาติเพื่อสาธารณประโยชน์สามารถทำได้หลายรูปแบบ ไม่จำเป็นต้องเกณฑ์ทหารเพียงเท่านั้น โดยการเคลื่อนไหวในประเด็นนี้ เขาเลือกใช้รูปแบบการเคลื่อนไหวเชิงสัญญะ โดยเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2562 เนติวิทย์ได้ดำเนินการผ่อนผันการเกณฑ์ทหารเป็นปีที่ 3 และแขวนป้ายที่เป็นรูปคล้ายบัตรเลือกตั้ง สื่อสัญญะว่าเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นส่วนตัว ส่วนรูปที่คล้ายบัตรเลือกตั้งหมายถึงความไม่โปร่งใสของการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ในป้ายมีข้อความว่า “นายสั่งมา” สื่อถึงการเลือกตั้งที่มีบัตรเกิน อีกใบหนึ่งเขียนว่า “เกณฑ์กองทัพออกจากการเมืองหยุดสร้างวาทกรรมแบ่งแยกคนไทย” สื่อถึงการผลิตซ้ำวาทกรรมว่าการเกณฑ์ทหารเป็นหน้าที่ของชายไทยที่ต้องรับใช้ชาติ จึงเกิดแบ่งแยกกันระหว่างผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการเกณฑ์ทหาร และ “เกณฑ์ทหารนายพลกลับกรมกอง” สื่อว่าต้องการให้ทหารเป็นทหารอาชีพเท่านั้น ไม่ต้องการให้ทหารยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเพราะปัจจุบันทหารยศสูงมักได้รับผลประโยชน์ส่วนได้ส่วนเสียทางการเมือง [15]


 

(ภาพ: สำนักพิมพ์สำนักนิสิตสามย่าน ที่ผลิตผลงานเขียนแปลของเนติวิทย์และเพื่อนๆ: www.samyanpress.org) 

 

คณะผู้ศึกษาพบว่าการเคลื่อนไหวของเนติวิทย์มีรูปแบบที่สอดคล้องกับข้อเสนอของสก็อตต์ กล่าวคือ การเคลื่อนไหวของเนติวิทย์เป็นแบบไม่เผชิญหน้าหรือเลี่ยงรัฐ ซึ่งเป็นการพยายามเปลี่ยนแปลงค่านิยมหรือการเปลี่ยนแปลงระยะยาว เห็นได้จากการแปลหนังสือ และการเคลื่อนไหวที่มีความเลื่อนไหล สามารถใช้วิธีการใดวิธีการหนึ่งหรือหลากหลายวิธีร่วมกัน โดยมีผลประโยชน์ส่วนตัวรวมของกลุ่มคนเป็นส่วนสำคัญในการเรียกร้อง (Scott 1990, 16-17)

การเคลื่อนไหวของเนติวิทย์ส่วนใหญ่มักเป็นการเคลื่อนไหวในระยะยาว และรูปแบบการเคลื่อนไหวมักเป็นการเคลื่อนไหวโดยการใช้การแปลหนังสือต่างประเทศ และเขียนหนังสือของตนเอง รวมถึงการเคลื่อนไหวโดยใช้สัญลักษณ์ ถือเป็นการหลีกเลี่ยงการปะทะหรือการเผชิญหน้าโดยตรง และเขาให้ความสำคัญกับประเด็นเสรีภาพเป็นหลัก โดยเฉพาะการเกณฑ์ทหาร ซึ่งการเคลื่อนไหวของเขามีเป้าหมายเพื่อปลดแอกประชาชนให้เป็นอิสระจากการถูกควบคุมและถูกบังคับผ่านวาทกรรมความเป็นไทยที่ถูกสร้างขึ้นโดยชนชั้นนำ ส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมให้มีเสรีภาพในการดำเนินชีวิตประจำวันทุกด้านของชีวิตมากยิ่งขึ้น


เพนกวินและเนติวิทย์: กลยุทธ์ของสองนักเคลื่อนไหว


(ภาพจากไทยรัฐ: การประชุมก่อตั้ง สหภาพนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2561)

การเคลื่อนไหวรูปแบบกลุ่มของเพนกวินเป็นการสร้างเครือข่ายจากต่างมหาวิทยาลัย ภายใต้โครงสร้างของสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) [16] เพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองและการศึกษา ดำเนินงานผ่านการตัดสินใจร่วมกันของสมาชิกจากแต่ละมหาวิทยาลัย ระบุว่า “เราพยายามจะทำให้มีการทำงานข้าม ม.” โดยภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เขาก็มีพรรคโดมปฏิวัติ ซึ่งก่อตั้งในปี 2561 เป็นเครือข่ายของสนท. ขณะที่เนติวิทย์เข้ารับตำแหน่งประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี 2559 เพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นว่าสภานิสิตจุฬาฯ สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีในขณะที่รัฐบาล (คสช.) ทำไม่ได้ สอดคล้องกับข้อเสนอของทิลลีที่อธิบายเกี่ยวกับลักษณะของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่มีลักษณะเป็นสากล เป็นการรวมตัวกันของปัจเจกในการก่อสร้างหน่วยงานหนึ่งขึ้นมา เพื่อเป็นพื้นที่ในการต่อรองอำนาจที่ประกอบด้วยกลุ่มต่างๆ ไม่ผูกขาดกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง (Tilly 1995) นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับข้อเสนอของบึคชเลอร์ว่าด้วยขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ ซึ่งให้ความสำคัญเกี่ยวกับเครือข่ายชั่วคราวหรือเครือข่ายที่เพิ่งสร้างขึ้นเช่นกัน (Buechler 1995, 442-443)

นอกจากนี้ พื้นที่ที่ใช้ในการเคลื่อนไหวก็มีผลกระทบที่สำคัญต่อรูปแบบและเนื้อหาการเคลื่อนไหว กล่าวคือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งอยู่ในย่านรังสิต ทำให้การเคลื่อนไหวมักไม่ได้รับความสนใจมากเท่าที่ควร เพราะห่างไกลจากใจกลางเมืองกรุงเทพมหานคร สังเกตได้ว่าหากอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลเท่าไหร่ ยิ่งลดทอนพลังในการเคลื่อนไหว อย่างไรก็ดี ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยก็มีส่วนทำให้ทั้งสองคนเป็นที่สนใจและถูกจับตามอง เนื่องจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงและประวัติศาสตร์การเมืองที่ยาวนาน รวมทั้งชื่อเสียงของพวกเขาก็มีผลต่อการเคลื่อนไหวเช่นเดียวกัน อาทิ การใช้พื้นที่สื่อ ซึ่งพวกเขามักจะคาดคะเนการตอบรับจากสื่อและสาธารณชนภายหลังจากการเคลื่อนไหวอยู่เสมอ เนติวิทย์บอกคณะผู้ศึกษาว่า “สื่อไม่เคยอยู่ในมือเรานะ สื่อพร้อมที่จะทำร้ายเราตลอดเวลา สื่อเนี่ยอันตราย” 

แม้ว่าเพนกวินและเนติวิทย์จะเรียกร้องประเด็นที่คล้ายคลึงกันและไปในทิศทางเดียวกันในประเด็นการศึกษา ประชาธิปไตย สิทธิและเสรีภาพ แต่ประสบการณ์ วิธีคิด และอุดมการณ์ของพวกเขากลับปรากฏความแตกต่างที่สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน โดยเพนกวิน ให้ความสำคัญกับสิทธิเป็นหลักจึงให้ความสนใจเกี่ยวกับโครงสร้าง ชนชั้น และการจัดช่วงลำดับชั้น ในทางกลับกัน เนติวิทย์ให้ความสำคัญกับเสรีภาพเป็นหลักจึงให้ความสนใจกับเรื่องของเสรีภาพของประชาชนในด้านสังคมและการเมืองเป็นหลัก เช่น เรื่องการเกณฑ์ทหาร เรียกร้องประชาธิปไตย เป็นต้น นอกจากนี้ วิธีการเคลื่อนไหวทางการเมืองของพวกเขามีความแตกต่างกันอย่างยิ่ง กรณีเพนกวินเป็นการเผชิญหน้ากับรัฐโดยตรงผ่านการขึ้นปราศรัย การประท้วง และจรยุทธ์ ขณะที่เนติวิทย์มักไม่เผชิญหน้ากับรัฐโดยตรง แต่ก็มีการเผชิญหน้ากับรัฐบ้างในบางครั้ง ผ่านการแปลหนังสือ เขียนหนังสือ และมีส่วนร่วมในการชุมนุม


สรุป

งานศึกษาเรื่อง “นักเรียนขบถสู่นักเคลื่อนไหว: กรณีศึกษาเปรียบเทียบการเคลื่อนไหวทางสังคมของนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ และนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล” พบว่าทั้งสองคนมีรูปแบบการเคลื่อนไหวและเนื้อหาที่แตกต่างกัน คือ เพนกวินมีรูปแบบการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์และการเผชิญหน้ากับรัฐโดยตรง และต่อสู้บนหลักสิทธิ ขณะที่เนติวิทย์เคลื่อนไหวผ่านการเขียนหนังสือ การเเปลหนังสือ การมีส่วนร่วมทางการเมืองและต่อสู้อยู่บนหลักของเสรีภาพ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน รวมทั้งปัญหารอบตัว 

จากการศึกษายังพบว่าประเด็นด้านการศึกษาที่เพนกวินและเนติวิทย์เคลื่อนไหว ล้วนมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพภายใต้การเมืองระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากการสัมภาษณ์เพนกวินและเนติวิทย์ ทำให้ผู้วิจัยสามารถอธิบายได้ว่า เราไม่สามารถแยกการศึกษาออกจากประเด็นเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และการเมืองได้ เพราะการศึกษาเป็นสิ่งที่ถูกระบุในกฎหมายของสังคมไทยว่าทุกคนต้องจบการศึกษาขั้นพื้นฐานตามที่กฎหมายได้ระบุไว้ อย่างไรก็ตาม ระบบการศึกษายังคงมีความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจให้เห็นอย่างสม่ำเสมอ แม้จะเป็นสิทธิที่ประชาชนทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียมก็ตาม 

กล่าวได้ว่าแม้รูปแบบและเนื้อหาการเคลื่อนไหวทางสังคมของเพนกวินและเนติวิทย์จะมีความแตกต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันของทั้งสองคนคือพวกเขาเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อเรียกร้องสิ่งที่ประชาชนควรจะได้รับ ไม่ว่าจะเป็นสิทธิที่ประชาชนพึงได้รับหรือเสรีภาพที่ประชาชนสามารถเลือกได้ และที่สำคัญประเด็นด้านการศึกษาที่มีการเรียกร้องในประเด็นที่ใกล้เคียงกันที่สุด พวกเขาแสดงให้เห็นว่าการศึกษา สิทธิ และเสรีภาพภายใต้ระบอบประชาธิปไตย มีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร และชี้ให้เห็นว่า “สิทธิและเสรีภาพทางด้านการศึกษา” เป็นสิ่งสำคัญและเป็นสิ่งที่ทุกคนควรได้รับ ท้ายที่สุด สิ่งที่พวกเขาต่อสู้แล้วประสบความสำเร็จได้สร้างคุณูปการต่อสังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้ว่าบางครั้งจะล้มเหลวกับการต่อสู้ และได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากผู้คนในสังคมที่ไม่เห็นด้วยกับอุดมการณ์ แต่กลับกลายเป็นแรงผลักดันให้พวกเขาไม่ท้อถอยและมีแรงที่จะเคลื่อนไหวต่อไปในอนาคต


อ้างอิง

[1] ดูเพิ่มเติม รายงานของ ประชาไท  เรื่อง “สรุปสถานการณ์ 2557: การขัดขวางการใช้สิทธิโดยภาคประชาชนที่ปูทางสู่การยึดอำนาจ.” ที่ลิงก์ https://prachatai.com/journal/2015/02/57742.
[2] ดูเพิ่มเติม รายงานของศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ (ไอลอว์) “สี่ปีคสช.: สัญลักษณ์และประดิษฐกรรมแห่งการท้าทายอำนาจรัฐทหาร.” เผยแพร่เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ได้ที่ลิงก์ https://freedom.ilaw.or.th/en/node/574
[3] ดู บทสัมภาษณ์เนติวิทย์ในฐานะเลขาธิการสมาพันธ์นักเรียนไทยเพื่อการปฏิวัติระบบการศึกษาไทย ที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ ประชาไท เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2556 ได้ที่ลิงก์ https://prachatai.com/journal/2013/06/47448. 
[4] คณะผู้ศึกษาได้ทำการสัมภาษณ์พริษฐ์เมื่อวันที่ 29-30 มกราคม 2562 และ สัมภาษณ์เนติวิทย์เมื่อวันทืี่ 1 กุมภาพันธ์ 2562.
[5] ในเนื้อหาส่วนต่อจากนี้ ผู้เขียนจะเรียกพริษฐ์ว่า “เพนกวิน” และเรียกเนติวิทย์ว่า “เนติวิทย์” เนื่องจากเป็นชื่อที่สาธารณชนรู้จักพวกเขาในฐานะนักเคลื่อนไหว.
[6] เป็นหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับปัญหาของระบบการศึกษาไทยจากประสบการณ์จริงและมุมมองของเนติวิทย์ (เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล 2557).
[7] สังคมประชาธิปไตย (social democracy) เป็นอุดมการณ์ทางการเมืองรูปแบบหนึ่งในระบอบประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับการเติมเต็มสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนอย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะการจัดการสวัสดิการรัฐแก่ประชาชนทุกคนให้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม และให้ความสำคัญกับสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองการปกครอง (ดู โทมัส ไมเออร์ และนิโคล ไบรเออร์ 2548, 14-19; โทเบียส กอมแบร์ท และคณะ 2560, 108-111).
[8] สังคมนิยมประชาธิปไตย (democratic socialism) คืออุดมการณ์ทางการเมืองที่มีจุดประสงค์ให้สังคมปราศจากชนชั้น รวมถึงมีแนวคิดให้รัฐมีหน้าที่จัดสรรและจัดการทรัพยากร สาธารณูปโภค และสาธารณูปการให้ประชาชนอย่างเสมอภาคกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีความยืดหยุ่น ไม่บังคับ และไม่เข้มงวดต่อประชาชนในทุกด้านของชีวิต (Sankhdher 1965, 16-20).
[9] เพนกวินนิยามว่าการเคลื่อนไหวแบบ “จรยุทธ์” คือ การทำสงครามกองโจรผ่านการเข้าไปมีส่วนร่วมกับชาวบ้านและทำการเคลื่อนไหวด้วยกัน. 
[10] ดู สรุปเนื้อหาจากการปราศรัยครั้งดังกล่าวได้จากรายงาน “พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษา มธ. ชี้คนรุ่นใหม่มีหัวใจเป็นอาวุธ พร้อมประกาศสงครามกับความล้าหลัง” เผยแพร่ทาง เว็บไซต์ ประชาไท เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 ได้ที่ลิงก์ https://prachatai.com/journal/2018/02/75633.
[11] เป็นหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเส้นทางการต่อสู้กับระบบการศึกษาไทยในช่วงมัธยมศึกษาของเนติวิทย์ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล 2559).
[12] หรือชื่อในภาษาอังกฤษว่า Time is on Our Side: A book for Joshua Wong’s 21st birthday เป็นหนังสือรวมข้อเขียนและบทสัมภาษณ์บุคคลที่มีชื่อเสียงเพื่อการเปลี่ยนแปลงระบบสังคมผ่านสันติวิธี เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และ ภวัตร อัครพิพัฒนา 2560).
[13] เป็นหนังสือที่แสดงถึงวิธีคิดในการต่อต้านการเกณฑ์ทหารที่นำมาซึ่งการต่อสู้ในเวลาต่อมาของเนติวิทย์ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล 2556).
[14] เก็บความจากรายงานของ ไทยรัฐ เกี่ยวกับกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2562 ดู https://www.thairath.co.th/news/politic/1539448.
[15] เก็บความจากรายงานข่าวหัวข้อ “ ‘เนติวิทย์’ ผ่อนผันปีที่ 3 ยืนกรานค้าน ‘เกณฑ์ทหาร’ ” โดย สุทธินันท์ คงสินธุ์ ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2562 ดู https://bit.ly/2ZpdbRM
[16] เป้าหมายหลักของ สนท. ในช่วงที่พริษฐ์ดำรงตำแหน่งประธานฯ นับตั้งแต่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2561 จนถึงปัจจุบัน คือ เป็นพื้นที่กลางสำหรับนิสิตนักศึกษาที่มียุทธศาสตร์และจัดกิจกรรมร่วมกันโดยเน้นเรื่องของสังคมและการเมือง ดู “คำประกาศของ สนท.” ได้จากรายงานของ ประชาไท  ที่ลิงก์่ https://prachatai.com/journal/2018/06/77496.

รายการอ้างอิง

เอกสารภาษาไทย
ไชยรัตน์ ปาวะกะนันท์. 2553. “ข้อพิจารณาทางกฎหมายเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม: ศึกษากรณี นิรโทษกรรมความผิดที่มีลักษณะทางการเมือง.” วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต (สาขากฎหมายมหาชน), มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
โทเบียส กอมแบร์ท และคณะ. 2560. ความคิดพื้นฐานว่าด้วยสังคมประชาธิปไตย. แปลโดย กรพินธุ์ พัวพันสวัสดิ์. กรุงเทพฯ: มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท.
โทมัส ไมเออร์ และ นิโคล ไบรเออร์. 2548. อนาคตของสังคมประชาธิปไตย. แปลโดย สมบัติ เบญจศิริมงคล. กรุงเทพฯ: มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท.
เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล. 2556. ประเทศไทยเปลี่ยน เกณฑ์ทหารต้องเปลี่ยน. กรุงเทพฯ: สำนักนิสิตสามย่าน.
เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล. 2557. ให้เธอไว้อ่านเล่น: คำประกาศความเป็นไทในโรงเรียน. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ภาพพิมพ์.
เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล. 2559. นักเรียนเลวในระบบการศึกษาแสนดี. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เจ้าชายน้อย.
เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล และ ภวัตร อัครพิพัฒนา (แปล). 2560. เวลาอยู่ข้างเรา: หนังสือวันเกิดโจชัว หว่อง (Time Is on Our Side: A book for Joshua Wong’s 21st birthday). กรุงเทพฯ: มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป.
สมชัย ภัทรธนานันท์. 2559. ทฤษฎีขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมและการประท้วงทางการเมือง. กรุงเทพฯ: อินทนิล. 

เอกสารภาษาอังกฤษ
Buechler, Steven M. 1995. “New Social Movement Theories.” Sociological Quarterly 36(3): 441-464.
Eder, Klaus. 1985. “The ‘New Social Movement’: Moral Crusades, political pressure groups, or social movement?” Social Research 52(4): 869-890.
Habermas, Jürgen. 1987. The Philosophical Discourse of Modernity. Cambridge: Mass.MIT Press.
Kaldor, Mary. 2003. Global Civil Society: An answer to war. Cambridge: Polity Press.
Melucci, Alberto. 1995. “The New Social Movements Revisited: Reflections on a sociological misunderstanding.” In Social Movements and Social Classes: The future of collective action, edited by Louis Maheu, 107-119. London: Sage.
Scott, Alan. 1990. Ideology and the New Social Movements. London: Routledge.
Tilly, Charles. 1995. Popular Contention in Great Britain, 1758-1834. Oxford: Oxford University Press.
Touraine, Alain. 1981. The Voice and the Eye: An analysis of social movements. Cambridge: Cambridge University Press.
Touraine, Alain. 1985. “An Introduction to the Study of Social Movements.” Social Research 52(4): 749-787.
Sankhdher, M. M. 1965. “Democratic Socialism: Its Fabian version.” The Indian Journal of Political Science 26(4): 16-20.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net