Skip to main content
sharethis

 

ประชาไทเพิ่งเผยแพร่บทความ ‘นักเรียนขบถสู่นักเคลื่อนไหว: กรณีศึกษาเปรียบเทียบการเคลื่อนไหวทางสังคม ของพริษฐ์ ชิวารักษ์ และเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล’ ไปไม่นาน เป็นจังหวะที่ดีที่จะยังสนทนาเรื่องคล้ายๆ กันต่อไป บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ไม่ใช่การถกเถียงอะไรต่อบทความก่อน เราน่าจะเป็นนิยายเล่มเดียวกันที่กลายเป็นภาพยนตร์คนละเรื่อง ผู้สัมภาษณ์จำไม่ได้ว่าตั้งแต่เมื่อไรที่บทสนทนาโต้ตอบระหว่างข้อเขียนในยุคนี้ได้มีแต่การ ‘เถียง’ ไปเรียบร้อยเสียแล้ว บทสัมภาษณ์นี้ไม่ได้เถียง ผู้สัมภาษณ์อยากชวนคุณค้นหารอยต่อหนึ่งที่หายไประหว่างเนติวิทย์กับเพนกวิน พริษฐ์

เมื่อ 4-5 ปีแล้ว ‘ไนซ์’ ณัฐนันท์ วรินทรเวช เป็นที่รู้จักในแวดวงที่กว้างขึ้นหลังเธอปฏิเสธการถูกผูกขาดทางศีลธรรม ด้วยการส่งกระดาษข้อสอบเปล่าคืนครู ในเวลานั้น เธอและเพื่อนปรากฏตัวในประเด็นสังคมการศึกษาอย่างต่อเนื่องในนาม ‘กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท’ แต่ต่างจากเนติวิทย์และเพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์) ที่เติบโตมาในกลุ่มเดียวกัน ไนซ์หายออกไปจากแสงไฟของการเคลื่อนไหว

ปัจจุบันเธอเรียนอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ใกล้เต็มทีที่จะจบจากสาขาเศรษฐศาสตร์และธุรกิจระหว่างประเทศ ความสนใจของเธอวันนี้ปักหลักอยู่ที่ Data Science หรือวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Machine Learning/Artificial Intelligence) และกำลังฝึกงานตามที่สนใจ

นี่คือเธอ อยู่ที่อื่น ในวันที่ไม่เคลื่อนไหว

‘ไนซ์’ ณัฐนันท์ วรินทรเวช

มองกลับมาในประเทศไทย เห็นอะไรบ้าง?

จริงๆ อยากเท้าความถึงตอนที่เลือกออกมาจากประเทศไทยก่อน ตอนนั้นค่อนข้างรู้สึกผิดหวังที่ประเทศย่ำอยู่กับที่ บรรยากาศรอบตัวส่วนใหญ่ก็เห็นอกเห็นใจทหาร บอกว่าให้อดทนรอให้เค้าปฏิรูปประเทศให้เสร็จก่อน ทั้งที่ทั่วโลกเขาเถียงกันไปไกลกว่าเรื่องเลือกตั้งไม่เลือกตั้งกันมากแล้ว เราก็เลยรู้สึกว่า ไม่ได้แล้ว ถ้าเรียนอยู่ที่ไทยต่อ ตัวเราเองก็คงไม่ได้คิดอะไรไปไกลกว่าดราม่าการเมืองรายวัน ก็เลยตัดสินใจดิ้นรนหาทุนแล้วก็ออกมา ทีนี้ ตอนนี้ออกมาเกือบสามปีแล้ว ความคิดความอ่านอะไรก็เปลี่ยนไปมาก พอมองกลับมาที่เมืองไทยเรา ก็ยังเห็นความสิ้นหวังอยู่ แต่ครั้งนี้มันต่างจากความสิ้นหวังครั้งก่อน เราเห็นความสิ้นหวังแบบเป็นรูปเป็นร่าง ทั้งความสิ้นหวังจากเศรษฐกิจที่ทำให้คนออกมาฆ่าตัวตาย เพื่อนๆ รุ่นเดียวกันต้องแบกรับความกดดัน ความหวังของครอบครัวในยุคที่ค่าแรงปริญญาตรีเริ่มที่หมื่นห้า เราเห็นความสิ้นหวังทางการเมืองจากรัฐบาลเลือกตั้งปลอมๆ ที่ไม่มีศักยภาพพอจะทำอะไรนอกจากแจกเงินคนไปช้อปปิ้ง แต่ในขณะเดียวกันเราก็เห็นความสิ้นหวังของระบอบเก่าที่พยายามจะดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของตัวเองด้วย แน่นอนว่าพอมองจากมุมคนนอกที่ไม่ได้รับผลกระทบ เราอาจรู้สึกเหมือนกำลังดูละครโศกนาฏกรรมสักเรื่อง แต่ทีนี้เมื่อตัวละครเหล่านั้นมีชีวิต มีเลือดเนื้ออยู่จริงๆ บางครั้งเราก็รู้สึกเหมือนตัวเองหนีออกมารอดอยู่คนเดียว แต่ก็สารภาพแบบไม่อายเลยว่าถึงเราอยู่ไทยตอนนี้ก็ทำอะไรไม่ได้อยู่ดี เรารู้ตัวตั้งแต่ช่วงเคลื่อนไหวตอน ม.ปลายว่าตัวเราในตอนนั้นเปลี่ยนอะไรได้น้อยมาก ด้วยปัจจัยทางสังคมต่างๆ ด้วย

ณัฐนันท์ คนที่ 2 จาก ขวามือ ในฐานะเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท จัดกิจกรรมต้านค่านิยม 12 ประการ ที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ เมื่อปี 2557

กลายเป็นว่าการออกไป ทำให้ความรู้สึกที่เคยมีกับประเทศไทยชัดเจนขึ้น?

ใช่ คือเรารู้สึกว่าตัดสินใจถูกแล้ว และพอเราได้โอกาสไปคลุกคลีกับคนเก่งๆ หลายแวดวงที่นี่ เราก็ได้วิธีคิดของเขากลับมาด้วย ตอนนี้พอมองสังคมไทย เราเลยมานั่งคิดเล่นๆว่า ถ้าเรามีรัฐบาลจากประชาธิปไตย เปิดโอกาสให้ประเทศพัฒนาจริงๆ มันจะมีตรงไหนที่ถูก disrupt ได้บ้าง

ซึ่งก็มีอยู่เต็มไปหมดเลย แต่มันเศร้ามากที่ความจริงคือ ประเทศไทยถูกบริหารโดยคนสูงอายุที่เพิ่งจะเปิดกูเกิ้ลเป็นในวัยเกษียน ดังนั้นการจะหวังให้ประเทศพัฒนาให้ทันโลก โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี มันยากมากในสภาพแบบนี้

เหมือนกับว่าจินตนาการของเราจะมีข้อจำกัดน้อยลงในที่ที่ไม่ได้จำกัดเท่าไทย แต่นั่นก็ยังเกิดขึ้นได้แม้เราจะจินตนาการด้วยสายตาของ ‘นักศึกษาต่างชาติ’ ที่ค่อนข้างมีสิทธิจำกัดต่างจากพลเมืองชั้นหนึ่ง?

อันนี้ไม่แน่ใจว่าที่อื่นเป็นเหมือนกันไหม แต่ที่ญี่ปุ่น เราว่าสิทธิเดียวที่ต่างจากพลเมืองที่นี่คือสิทธิเลือกตั้งนะ สวัสดิการต่างๆ ที่ได้รับก็เป็นมาตรฐานเดียวกับพลเมืองทั่วไป ค่าเทอมมหาวิทยาลัยก็ออกให้หมด คือเราคิดไม่ออกว่าเราถูกทรีตให้เป็นพลเมืองชั้นสองตอนไหน กลับกัน ตอนเราอยู่กรุงเทพฯ จะเดินออกจากคอนโดไปหน้าปากซอยยังเดินไม่ได้ เพราะติดต้นไม้บนฟุตบาท ตอนกลับไปเยี่ยมที่บ้านก็ต้องซื้อหน้ากาก N95 ไปเป็นของฝาก เราไม่เข้าใจว่านี่คือสถานะพลเมืองชั้นหนึ่งตรงไหน แน่นอนว่าการเหยียดเพศ เหยียดผิวมีอยู่จริง แต่วาทะจำพวกพลเมืองชั้นสอง เราคิดว่ามันไม่ได้แบ่งแยกกันถึงขั้นนั้น จริงๆ การเป็นคนต่างชาติที่พูดอังกฤษได้ในญี่ปุ่นนี่เรียกได้ว่าเป็นข้อดีด้วยซ้ำ ที่นี่มีชุมชนชาวต่างชาติที่น่ารักมาก โดยเฉพาะในแวดวงไอที ดังนั้นเราไม่ได้มองว่าการเป็นนักเรียนต่างชาติที่นี่มันเป็นอุปสรรคเลย เรามองว่ามันเป็นอภิสิทธิ์ด้วยซ้ำ ด้วยปัจจัยเหล่านี้ เราเลยรู้สึกว่าเราได้รับโอกาสอะไรเยอะมาก ที่นึกไม่ออกเลยว่าถ้าอยู่ที่ไทยจะมีโอกาสทำได้ยังไง

เคยรู้สึกว่าตัวเอง "รอดแล้ว" ไหม?

เคย (หัวเราะ)

อย่างไรบ้าง?

อย่างล่าสุดนี่มีปัญหาฝุ่นควันใช่ไหม แล้วเราตื่นขึ้นมา เปิดหน้าต่างมีอากาศเย็นสบายต้นฤดูใบใม้ร่วง แล้วเราก็รู้สึกว่า เออ ขอบคุณชีวิตที่ไม่ต้องไปสูดควันพิษแบบนั้น หรือตอนที่เห็นหลายๆ คนบ่นลงเฟสบุ๊กเรื่องเศรษฐกิจแย่ เราก็รู้สึกว่า โอโห ทำไมปัญหามันไกลตัวจังเลย ทั้งๆ ที่คนบ่นเป็นเพื่อน พี่ น้อง คนที่อยู่ในสังคมของเราเมื่อไม่กี่ปีที่แล้วเอง แต่ก็อย่างที่บอกนั่นแหละ มันรู้สึกดีอยู่สักพักหนึ่ง แต่อีกสักพักเราก็คิดว่า จะอยู่แบบนี้จริงๆ หรอวะ

รู้สึกอะไรเวลานึกถึงคนเหล่านั้น คนที่อยู่ในสังคมของไนซ์เมื่อไม่กี่ปีที่แล้ว?

พูดตรงๆ คือเรารู้สึกแย่ เพราะโอกาสที่คนคนหนึ่งจะเลือกหนีออกมาต่างประเทศแบบที่เราทำอยู่มันน้อยมากๆ ยิ่งอยู่ที่นี่ยิ่งทำให้เรารู้ว่าการจะถีบตัวเองในสังคมไทยมันแทบจะเป็นไปไม่ได้ อย่าว่าแต่ออกนอกประเทศเลย ใช้ชีวิตรอดเดือนชนเดือนด้วยค่าแรงวันละสามร้อยได้ก็เก่งแล้ว คือเล่าให้เพื่อนคนญี่ปุ่นฟังว่า รู้ไหมว่าคนไทยทำงานได้แค่วันละสามร้อย เขางง ถามย้ำว่าชั่วโมงละสามร้อยเหรอ เราบอกไม่ใช่ หนึ่งวันเต็ม เป็นบทสนทนาสั้นๆ ที่ทำให้เรารู้สึกหดหู่กับประเทศมาก นอกเรื่องนิดนึง เมืองไทยไม่ได้ถูกนะ คือบางคนชอบแก้ต่างว่า ค่าแรงน้อยกว่าเพราะของถูก ถ้าคุณมาอยู่ต่างประเทศจริงๆ โดยที่ไม่ได้เป็นนักท่องเที่ยว จะรู้เลยว่ามันไม่ได้แพงกว่ากันขนาดนั้น เข้าเรื่องๆ คือพอมองเห็นเพื่อนๆ เจนวาย ‘เจนแซด’ สิ้นหวังกับอนาคต ด้วยความที่เคยเป็นนักเคลื่อนไหว มันก็มีบางครั้งที่เราคิดว่าอยากกลับไปเปลี่ยนอะไรด้วยตัวเองอยู่เหมือนกัน

มี ‘แต่’ ไหม?

เยอะมาก

เช่น?

อย่างแรกเลย ครอบครัว พ่อแม่จะทำยังไง เราเคยรบเร้าแม่หลายครั้งมาก ว่าถ้าเราเรียนจบแล้วให้มาอยู่ที่นี่ด้วยกันทั้งบ้านเลย แต่เขาไม่มา

ไปก็ไม่มีเพื่อน ต้องปรับตัวมหาศาล?

ใช่ ภาษาด้วย แม่พูดอังกฤษไม่ได้เลย อย่าว่าแต่จะเรียนภาษาที่สามเลย ดังนั้นถ้าครอบครัวยังอยู่ไทย ในวันที่คนถูกอุ้มฆ่ากันเป็นว่าเล่น เรารู้สึกว่าเราไม่พร้อมเอาครอบครัวมาเสี่ยง

บรรยากาศของการเคลื่อนไหวในไทยเป็นหนึ่งใน ‘แต่’ ด้วยไหม?

ตอนแรกก็ใช่นะ แต่ตอนนี้ไม่ได้ขนาดนั้น เรารู้สึกว่าเราไปต่อจากความเป็นแอคติวิสต์ตั้งแต่มาเรียนต่อแล้ว ลึกๆ เรารู้สึกว่าเราไม่ได้มีความเป็นนักรณรงค์ขนาดนั้น เราเป็นนักเทคนิกมากกว่า แต่ด้วยความที่ตอนนั้นเราอยู่แค่ ม.ปลาย เราก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากเคลื่อนกลุ่ม (กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท) ทำให้เสียงของนักเรียนดูมีพลังมากขึ้น ไม่ใช่เพราะเป็นนาย A นาย B แต่เพราะเป็นนักเรียนคนหนึ่ง เข้าใจใช่ไหม คือตอนนั้นเราต้องการ institutionalise เสียงของนักเรียน (ทำเสียงของนักเรียนให้มีน้ำหนักแบบเดียวกับเสียงของสถาบันต่างๆ) เราก็รู้สึกว่าเราทำสำเร็จแล้ว ไม่ต้องมีเราเป็นส่วนหนึ่งระบบมันก็รันต่อได้อยู่ดี

คุยเรื่องอดีตกันหน่อย เหมือนกับว่าตอนนั้นไนซ์ก็ดูไม่ได้ตั้งใจจะรณรงค์อะไรตั้งแต่แรก แค่ทำในสิ่งที่เชื่อ เช่น ปล่อยกระดาษข้อสอบเปล่า หรือทำงานกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท แต่สักพักก็เหมือนจะถูกสื่อหรือแวดวงนักเคลื่อนไหวคาดหวังให้เป็นตัวละครนักเคลื่อนไหวไปด้วย เข้าใจถูกไหม?

ใช่ คือเราจำได้เลยว่าตอนนั้นเราพูดบ่อยมาก ว่าเราไม่ได้อยากเป็นฮีโร่ หรือความหวังของใคร

 ณัฐนันท์ คนที่ 2 จากซ้ายมือ ขณะร่วมกิจกรรมเสวนา "ประชาธิปไตยไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ2559" ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2559 

เหมือนบ้านเราจะไม่เข้าใจอะไรแบบนี้ ในขณะที่เกรต้า (Greta Thunberg) พูดว่าทุกคนขี้ขลาดที่ส่งเธอไปอยู่แถวหน้า เธอถูกขโมยความฝันเพราะผู้ใหญ่พวกนี้ แต่กลายเป็นว่ายิ่งพูดแบบนี้ ผู้ใหญ่พวกเดิมก็ยิ่งตามอวย และเหมือนจะยังส่งเธอไปอยู่แถวหน้า ขโมยความฝันของเธอต่อไป

จริงมาก คือเราาเกรต้าเป็นนักกิจกรรมคนเดียวที่เรารู้สึกเป็นหัวอกเดียวกันมากที่สุด คือเราเข้าใจว่าการโกรธจนตัวสั่น เสียงสั่น แต่ก็ยังอยากพูดสื่อสารออกไปมันเป็นยังไง คือบางคนมันไม่ได้เกิดมาเพื่ออยู่ในสปอตไลท์น่ะ เรารู้สึกไม่สบายใจมากๆ เวลามีคนมาให้ความสนใจจนเกินเหตุ แต่ในบางครั้งมันไม่มีคนพูดสิ่งที่เราคิด เราก็ต้องเริ่มพูดมันก่อน แต่ทีนี้สังคมไทยเป็นสังคมที่เห็นการเอาหน้าเป็นเรื่องปกติ เรื่องที่หลายคนทำกัน ก็มองไปว่าคนที่ออกมาเคลื่อนไหนคือพวกอยากดัง อยากได้ซีน

ซึ่งจู่ๆ ก็ดูเหมือนว่าสังคมไทยจะถือว่าให้เป็นความรับผิดชอบของเราไปเลย?

ใช่ ออกมาพูดปุ๊บ ส่งกระดาษเปล่าปุ๊บ กลายเป็นความหวังของประเทศเฉยเลย

ในความรู้สึกของไนซ์ มันเป็นความรับผิดชอบของไนซ์ไหม?

อันนี้เราค่อนข้างอิหลักอิเหลื่อนะ

อยากฟังความอิหลักอิเหลื่อนี้?

คือ เราเคยเป็นคน perfectionist (ผู้นิยมความสมบูรณ์แบบ)มาก จนบางทีกดดันตัวเอง จนเราทำบางอย่างให้เสร็จไม่ได้ ทีนี้มันเลยเป็นการตบตีกับตัวเองอยู่ตลอดว่าถ้าจะทำอะไรต้องทำให้เสร็จ ซึ่งก็ทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง (หัวเราะ) ทีนี้เวลาเราจะล้มเลิกอะไรกลางคัน หรือจะเบนเข็ม เราจะสับสนกับตัวเองตลอด ว่าที่ล้มเลิกเป็นเพราะความ perfectionist มันกำเริบ หรือที่เลิกเพราะอยากเลิกจริงๆ เป็นการตัดสินใจที่สมเหตุสมผลจริงๆ ทีนี้พอเริ่มเคลื่อนไหวไปแล้ว ได้ผลตอบรับมาแบบนี้ เราก็รู้สึกว่าอาจเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องทำมันให้เต็มที่หรือเปล่า ผลตอบรับในตอนนั้นมันเกินคาดมาก เราเลยคิดว่าจังหวะแบบนั้นมันไม่ได้มาง่ายๆ ในเมื่อคนอยากฝากความหวังให้เราควรจะทิ้งมันไปจริงๆ เหรอ แต่อีกด้านหนึ่งก็คือ เรารู้สึกว่ามันโคตรจะไม่ใช่หน้าที่ของเราเลย สิ่งที่เราอยากทำจริงๆ ในตอนนั้นคือไปเรียนต่อ เขียนโค้ด ทำโปรเจกต์ส่วนตัวล้านแปดที่อยากทำ เราไม่อยากให้ชีวิตของเราต้องถูกลากไปในทางที่เราไม่อยากไป แค่เพราะใครหลายคนมองว่าเราเป็นความหวัง เพราะสุดท้ายเวลาเรามองย้อนกลับมาดูชีวิตตัวเอง เราอยากให้เรากลับย้อนดูแล้วมองว่า เออ นี่ชีวิตกูว่ะ

มองไปข้างหน้า เห็นอะไรในอนาคตของตัวเองบ้าง มีประเทศไทยอยู่ในนั้นบ้างไหม?

ในช่วงเร็วๆ นี้เราน่าจะยังไม่กลับไทย ยังอยากออกไปท่องโลก เปิดหูเปิดตา สนุกกับการทำงานแล้วก็หาที่เรียนต่ออยู่ คือเรารู้สึกว่างานสายที่เราทำ (Data Science) มันยังไม่ค่อยมีที่ทางในไทยเท่าไหร่ แล้วก็เอ็นจอยวัฒนธรรมองค์กรของบริษัทที่นี่มากกว่าด้วย แต่ในระยะยาวมีประเทศไทยอยู่แน่นอน เรามองว่าชีวิตมันเหมือนเล่นเกมเก็บเควสต์น่ะ มันมีมิชชั่นในระยาวอยู่ ซึ่งมิชชั่นของเราก็คือการไปแก้อะไรที่อยากแก้ การไปเปลี่ยนหลายๆ ส่วนที่เห็นแล้วคันไม้คันมืออยากทำ แต่จะไปในฐานะอะไรคงเป็นเรื่องของอนาคต

ถึงตรงนี้ มีอะไรที่อยากตอบแต่คนถามไม่ได้ถามไหม?

มี

มาเลย?

อยากบอกคนไทยว่า ตามดราม่าการเมืองไทยได้ แต่อย่าอินมาก เรารู้สึกว่าข่าวของไทยมีความ sensational (เต็มไปด้วยการกระตุ้นเร้าความรู้สึก) สูงมาก จนทำให้คนอินเว่อๆ กับประเด็นหยุมหยิม เช่นวันนี้มีข่าวพริตตี้ วันนี้มีข่าวนายกพูดอะไร ไม่ได้หมายความว่ามันไม่สำคัญ แต่อยากให้มองด้วยว่าต่างประเทศเขาไปถึงไหนกันแล้ว จะเอายังไงกับการว่างงานในยุคที่งานหลายๆ อย่างถูกแทนที่ด้วยเอไอ จะเอายังไงกับระบบนิเวศทะเลที่กำลังจะตายเพราะโลกร้อนขึ้น เราอยากให้คนมองในมุมใหญ่ ว่าทุกอย่างสัมพันธ์กันหมด ไม่สักแต่โทษตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่รู้สึกสิ้นหวังกับระบบจนไม่มีอันทำอะไรด้วย คือเราเคยอยู่จุดนั้นน่ะ จนสุดท้ายเราก็คิดได้ว่ามันโคตรจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์เลย ส่วนหนึ่งที่ออกมาจากลูปนั้นได้ก็เพราะอยู่ต่างประเทศด้วยแหละ แต่ก็อยากให้คนที่ยังอยู่ไทยลองทำดู รับข่าวสารให้กว้าง สนุกไปกับการอ่านข่าว สุขภาพจิตเราจะดีขึ้นเยอะ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net