Skip to main content
sharethis

เปิดและอธิบาย 6 เหตุการณ์เดือนพฤศจิกายนทั้งไทยและต่างประเทศที่สำคัญแต่อาจหลงลืมกันไป แต่สำคัญกับชีวิตของเรา ไล่ตั้งแต่โค่นราชวงศ์โรมานอฟ ตั้งรัฐบาลคอมมิวนิสต์ หมุดหมายการสิ้นสุดสงครามเย็น รัฐประหารในไทยที่นำมาซึ่งระบอบประชาธิปไตย + อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สิทธิเด็ก-สตรี และสวัสดิภาพการขับถ่ายที่ทำให้เราย้ายก้นจากทุ่งนามาสู่โถสุขภัณฑ์ที่แต่เดิมผูกขาดไว้ให้แค่ชนชั้นนำ

(ดูภาพขนาดใหญ่)

ซีรีส์ปฏิทินสามัญชนของเดือน พ.ย. แม้ไม่มีหมุดหมายหลายวันเท่ากับเดือน ต.ค. ที่ประวัติศาสตร์ไทยบังเอิญเอาเหตุการณ์สารพัดไปรวมไว้ในเดือนนั้น แต่ในเดือนนี้ยังคงมีวันที่ควรค่าแก่การพูดถึงทั้งในประเทศและนอกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติคอมมิวนิสต์ในรัสเซีย กำแพงเบอร์ลินล่มสลาย การรัฐประหารครั้งสำคัญในไทย นอกจากนั้นยังมีเรื่องสิทธิเด็ก-สตรี สุขอนามัยของการขับถ่าย (ที่ไทยก็มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานก่อนที่เราท่านจะได้หย่อนก้นลงขับถ่ายในห้องน้ำแบบที่เป็นในวันนี้)

7 วันสำคัญเดือนตุลาคมที่ปฏิทินไทยไม่บันทึก ไม่รำลึก ไม่หยุดนักขัตฤกษ์

7 พ.ย. ปฏิวัติในรัสเซีย

102 ปีแล้ว ในระลอกการปฏิวัติในรัสเซียช่วง ก.พ.- พ.ย. ค.ศ. 1917 หรือ พ.ศ.2460 วันนี้ถือเป็นวันที่มีการปฏิวัติรัสเซียโดยพรรคบอลเชวิค ล้มเลิกรัฐบาลเฉพาะกาลของสภาดูมา เปลี่ยนระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชภายใต้การนำของราชวงศ์โรมานอฟไปเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ และตั้งสหภาพโซเวียต

อย่างไรก็ตามหลังจากนั้นด้วยสภาพปัญหาหลายด้าน บวกกับผู้นำอย่างวลาดิเมียร์ เลนิน เสียชีวิต เปิดทางให้ โจเซฟ สตาลิน สามารถยึดอำนาจและเดินหน้าทำลายรูปแบบเศรษฐกิจการเมืองที่เพิ่งก่อร่าง แม้จะอ้างว่ารัสเซียยังเป็นสังคมนิยม แต่ชนชั้นกรรมาชีพกลับถูกกดขี่ขูดรีดอย่างหนักในระบอบใหม่เป็นเผด็จการทุนนิยมโดยรัฐ

อ้างอิง เปิดแฟ้มประวัติศาสตร์ การปฏิวัติรัสเซียTURNLEFTTHAI, การปฏิวัติรัสเซีย 1917

8 พ.ย. 2490 ผิน ชุณหะวัณ ก่อการรัฐประหาร

เป็นรัฐประหารที่เป็นหมุดหมายสำคัญหนึ่งของการเมืองไทย ในแง่การดึงอำนาจกลับมาสู่ฝ่ายทหาร อนุรักษ์นิยมและฝ่ายนิยมเจ้า คณะทหารที่เรียกตัวเองว่า “กองบัญชาการทหารแห่งประเทศไทย” นำโดยจอมพลผิน ชุณหะวัณ รัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ โดยให้เหตุผลว่ารัฐประหารเพื่อประเทศชาติ สถาปนารัฐบาลใหม่ที่เทิดทูนชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และต้องการเชิดชูเกียรติของทหารที่ถูกเหยียบย่ำทำลายให้กลับมาดีดังเดิม หาผู้ร้ายกรณีการลอบปลงพระชนม์พระเจ้าอยู่หัว ร.8

รัฐประหารในปี 2490 นักประวัติศาสตร์หลายคนถือว่า นี่เป็นจุดสิ้นสุดของโมเดลประชาธิปไตยคณะราษฎร และเป็นจุดเริ่มต้นในการเพิ่มพูนพระราชอำนาจกษัตริย์ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย รัฐประหารครั้งนั้นตามมาด้วยการกวาดล้างจับกุมปีกคณะราษฎรฝ่ายพลเรือนและฝ่ายเสรีไทยที่นำโดยปรีดี พนมยงค์ แม้จอมพล ป.เป็นผู้นำรัฐประหารที่ร่วมคณะราษฎรด้วย แต่คณะทหารที่มีอำนาจแท้จริงนั้นไม่เกี่ยวพันกับการปฏิวัติ 2475 และคณะราษฎรแล้ว

หลังจากนั้นมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2492 และเป็นครั้งแรกที่ปรากฏคำว่า “ประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” อยู่ในมาตรา 2 นอกจากนั้นยังมีการใส่ข้อความว่า “ผู้ใดจะละเมิดมิได้” และ “ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้” อยู่ในมาตรา 5 และ 6 ตามลำดับ รวมถึงการรื้อฟื้นราชพิธีหลวงบางอย่างเพื่อส่งเสริมพระเกียรติในหลวง ร.9 ด้วย

รัฐธรรมนูญ 2492 นำมาซึ่งการมีวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งเป็นสภาสูง มีองคมนตรี การสร้างกลไกทางการเมืองทั้งหลายที่ยังมีการใช้งานเพื่อสืบอำนาจฝ่ายเผด็จการต่อมา

ประชาธิปไตย+อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มาจากไหน เกิดเมื่อไร ใครกำหนด

9 พ.ย. 2532 กำแพงเบอร์ลินล่มสลาย

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศเยอรมนีที่เป็นผู้แพ้สงครามครั้งนั้นถูกแบ่งเป็น 4 ส่วนให้สหภาพโซเวียต ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ แบ่งกันยึดครอง ทั้งนี้ กรุงเบอร์ลินอยู่ในส่วนที่โซเวียตถือครองอยู่ จึงมีการหารือกันและแบ่งเบอร์ลินออกเป็น 2 ซีก การแบ่งเค้กประเทศเยอรมนีถูกจัดทำอย่างเป็นทางการเมื่อประเทศผู้ชนะสงครามหารือกันที่เมืองพอตสดัม ประเทศเยอรมนี เมื่อ 17 ก.ค. - 2 ส.ค. 2488

ความพยายามแข่งขันเพื่อสร้างระเบียบโลกใหม่หลังสงครามระหว่างสหรัฐฯ และโซเวียต มีความเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ ในยุโรป โดยมีเยอรมนีที่ถูกแบ่งไปแล้วเป็นเหมือนเวทีที่สะท้อนให้เห็นถึงการแข่งขั้นนั้น ในปี 2492 เยอรมนีถูกแบ่งใหม่เป็น 2 ประเทศ ได้แก่สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี หรือเยอรมันตะวันตก (FDR or West Germany) ที่เป็นพันธมิตรกับประเทศค่ายประชาธิปไตยซีกโลกตะวันตก และอีกประเทศคือสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมัน (GDR or East Germany) เป็นพันธมิตรกับสหภาพโซเวียต ทั้ง 2 ประเทศต่อมาได้รับการรับรองโดยสหประชาชาติให้เป็นประเทศ ในปี 2495 เยอรมันตะวันออกปิดเขตแดนที่มีกับเยอรมันตะวันตก แต่ในกรุงเบอร์ลิน ผู้คนยังคงสามารถเดินทางข้ามไปมาได้

กำแพงเบอร์ลินเริ่มสร้างในวันที่ 12-13 ส.ค. 1961 หลังจากมีข่าวลือว่าจะมีการหยุดยั้งไม่ให้ชาวเบอร์ลินตะวันออกข้ามไปยังเบอร์ลินตะวันตกที่มีการกดขี่น้อยกว่า เริ่มแรกกำแพงเป็นเพียงรั้วลวดหนามเท่านั้น ก่อนจะมีการเสริมกำแพงคอนกรีตเข้าไปจนแยกฝั่งเบอร์ลินตะวันออก-ตะวันตกอย่างสิ้นเชิง
กำแพงเบอร์ลินมีความสูง 4 เมตร ยาวราว 155 กม. และมีกำแพง 2 ชั้น โดยมีพื้นที่ตรงกลางที่เต็มไปด้วยกับระเบิด ทหารยามเยอรมันตะวันออกเฝ้ายามที่กำแพงอย่างแข็งขัน ในปี 2504 ก่อนกำแพงถูกทำลาย มีหอคอยสังเกตการณ์ถึง 302 จุด ตลอดเวลา 28 ปีที่กำแพงทำหน้าที่ของมัน มีคนนับร้อยเสียชีวิตจากการพยายามฝ่าข้ามกำแพงไป

หลังค่ายประชาธิปไตยและคอมมิวนิสต์ปลุกปล้ำกันหลายยก ในที่สุดกำแพงเบอร์ลินก็ถูกทำลายในปี 2532 หลังมีแรงกดดันจากประชาชนในเยอรมันตะวันออกให้ลดความเข้มงวดในการผ่านแดนไปเยอรมันตะวันตก ท่ามกลางภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมืองในยุโรปตะวันออกหลายประเทศ กุนเทอร์ ชาบอฟสกี โฆษกรัฐบาลเยอรมันตะวันออกกล่าวในการแถลงข่าวในวันที่ 9 พ.ย. 2532 ว่าจะเปิดพรมแดนระหว่างเยอรมันตะวันตกและตะวันออก

ถึงแม้การรายงานข่าวและการแถลงข่าวในวันนั้นจะมีความคลาดเคลื่อนในเรื่องเวลาและกฎระเบียบในวันที่พรมแดนเปิด ชาวเบอร์ลินทั้งสองฝั่งต่างไปรอกันที่พรมแดนเพื่อจะข้ามแดนไปด้วยเหตุผลต่างๆ นานา จนในที่สุดการเปิดกำแพงก็เกิดขึ้น วันที่ 9 พ.ย. จึงเป็นหมุดหมายของการล่มสลายของกำแพงที่แบ่งเมืองหลวงออกเป็น 2 ฝั่ง รัฐบาลเยอรมันตะวันออกที่ขาดเสถียรภาพอยู่แล้วถูกปัจจัยทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองไหลเข้ามารุมเร้าหลังกำแพงล่มสลาย ท้ายที่สุด เยอรมันกลับมารวมเป็นประเทศเดียวในวันที่ 3 ต.ค. 2533

อ้างอิง UK Imperial War Museum 

19 พ.ย. วันสุขาโลก

มีคนนิยามคำว่า ‘บ้าน’ คือสถานที่ที่เรานั่งบนฝาส้วมได้อย่างอุ่นใจ วัน ‘สุขาโลก’ ก็เกิดขึ้นจากการเห็นความสำคัญของเรื่องดังกล่าว โดยมติในที่ประชุมของสมัชชาสหประชาชาติในปี 2556 กำหนดให้วันที่ 19 พ.ย. ของทุกปีเป็นวันสุขาโลก

จากสถิติพบว่า ประชากรกว่า 2.5 พันล้านคนยังไม่มีห้องน้ำขั้นพื้นฐาน และอีกกว่า 892 ล้านคนยังต้องขับถ่ายในพื้นที่เปิดโล่ง อันเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคท้องร่วง ที่ทำให้มีเด็กอายุไม่ถึง 5 ขวบ กว่า 750,000 คนเสียชีวิตในทุกปี และเด็กในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจำนวนกว่า 4,000 รายเสียชีวิต อันเนื่องมาจากความเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการขาดสุขอนามัยที่ดี

มนุษย์ทุกคนจำเป็นต้องมีสุขอนามัยที่ดี ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องของระบบสุขาภิบาลทั้งระบบตั้งแต่เรื่องความสะอาดของสุขาไปจนถึงระบบกักเก็บและกำจัดสิ่งปฏิกูลไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
สำหรับวิวัฒนาการส้วมในไทยนั้น ในอดีตมีเพียงกษัตริย์หรือเจ้านายที่มีอภิสิทธิ์ในการสร้างที่ขับถ่ายในที่พักอาศัย ส่วนคนทั่วไปขับถ่ายตามพื้นที่ลับตา ตามตรอกซอกซอย ถนนหนทาง ริมกำแพงวัด หรือริมน้ำคูคลองต่าง ๆ ทำให้ส่งกลิ่นเหม็นรุนแรงและเป็นสาเหตุของโรคระบาด

จนกระทั่งปี 2440 หรือปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ก็มีกฎหมายบังคับให้ทุกคนต้องขับถ่ายในส้วมเท่านั้น กรมสุขาภิบาลจึงก่อตั้งในปีเดียวกัน และได้จัดสร้างส้วมสาธารณะขึ้นตามตำบลต่างๆ ส้วมแบบถังเทในเขตเมือง และส้วมหลุมในเขตต่างจังหวัด และมีการออกกฎหมายควบคุมการขับถ่ายและทำลายส้วมริมแม่น้ำลำคลอง ในปี 2469 การควบคุมการใช้อุจจาระเป็นปุ๋ย ในปี 2480 และมีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลายครั้งจนได้ พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ที่ใช้จนถึงปัจจุบัน

ขณะที่พัฒนาการของส้วมนั้น คนไทยมีการประดิษฐ์คิดค้นส้วมรูปแบบต่าง ๆ ขึ้นเองที่เหมาะสมกับท้องถิ่นของไทย เช่น ‘ส้วมหลุมบุญสะอาด’ที่มีกลไกป้องกันปัญหาการลืมปิดฝาหลุมถ่าย และ ‘ส้วมคอห่าน’ ทำงานร่วมกับระบบบ่อเกรอะบ่อซึม แก้ปัญหาเรื่องแมลงวันและกลิ่นเหม็นย้อนกลับมาของส้วมหลุมแบบเก่า และยังคงได้รับความนิยมจนปัจจุบันนี้ หรือ ‘ส้วมชักโครก’ ที่แพร่หลายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

อ้างอิง วิกิพีเดีย, TERRABKK

20 พ.ย. วันเด็กสากล

ข้อมูลจากยูนิเซฟพบว่า ในประเทศไทย มีเด็กที่ถูกกระทำรุนแรงในรูปแบบต่างๆ อาทิ ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกทำร้ายทางกายหรือจิตใจ ถูกละเลยทอดทิ้ง หรือถูกแสวงประโยชน์ เฉลี่ย 52 คนต่อวัน หรือเฉลี่ย 2 คนในทุกๆ ชั่วโมง

  • เด็กอายุ 1-14 ปี ประมาณ 3 ใน 4 คน ถูกสมาชิกในครอบครัวลงโทษทางร่างกายหรือจิตใจ อย่างน้อยรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งในเดือนที่ผ่านมา ยิ่งไปกว่านั้น เด็กราว 4.2 คนในทุกๆ 100 คน มีแนวโน้มที่จะถูกลงโทษทางกายอย่างรุนแรง
  • พ่อแม่และผู้ดูและเด็กเกือบครึ่ง เชื่อว่าการลงโทษทางร่างกายเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเลี้ยงดูหรืออบรมเด็ก
  • มีเด็กมากกว่า 10,000 คน ถูกกระทำรุนแรง ส่วนใหญ่เป็นการกระทำรุนแรงทางเพศ

ในขณะเดียวกัน จำนวนเด็กที่ถูกกระทำรุนแรงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ข้อมูลจากศูนย์ช่วยเหลือสังคม (One-Stop Crisis Center - OSCC) เปิดเผยว่าในปี 2558 มีเด็กกว่า 10,000 คน เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลรัฐเนื่องจากความรุนแรง โดยประมาณสองในสามของเด็กเหล่านี้ถูกกระทำรุนแรงทางเพศ ส่วนใหญ่เป็นการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กหญิง และเนื่องจากการทำงานของระบบการคุ้มครองเด็กยังมีข้อจำกัด จึงเป็นไปได้ว่ายังมีการล่วงละเมิดอีกมากที่ไม่ได้รับรายงาน

นอกจากนี้ ปัญหาเด็กและเยาวชนที่กระทำผิดยังคงน่าเป็นห่วง กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนเปิดเผยว่า ใน พ.ศ. 2558 พบเด็กจำนวน 33,121 คน มีการกระทำที่ผิดกฎหมาย โดยส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด

วันเด็กสากล วันที่ 20 พ.ย. เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2497 โดยองค์กรสหประชาชาติ เพื่อกระตุ้นให้ทุกประเทศคุ้มครองสิทธิในชีวิต สุขภาพ และสิทธิด้านการศึกษาของเด็กและเป็นการเฉลิมฉลองให้แก่เด็กๆ ทั่วโลก เพื่อให้ตระหนักว่าเด็กทุกคนเกิดมาพร้อมสิทธิต่างๆ ตั้งแต่สิทธิที่จะมีชีวิตอยู่รอด ปลอดภัย มีสุขภาพแข็งแรง สมบูรณ์ ได้รับการศึกษาและพัฒนาตามวัย ตลอดจนได้รับการปกป้องคุ้มครองจากอันตราย การถูกละเมิดและถูกแสวงประโยชน์

อ้างอิง ยูนิเซฟ

25 พ.ย. วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล

สหประชาชาติชี้ว่า ความรุนแรงต่อผู้หญิงคือการละเมิดสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทั้งการปรากฏในข้อกฎหมาย และความเหลื่อมล้ำทางสังคมในความเท่าเทียมกันทั้งผู้ชายและผู้หญิง ทั้งยังส่งผลกระทบรุนแรงและเกี่ยวเนื่องไปถึงการต่อสู้กับความยากจน HIV รวมไปถึงสันติภาพและความมั่นคง ซึ่งความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิงยังคงมีอยู่ทั่วทุกมุมโลก

ในปี พ.ศ. 2542 องค์การสหประชาชาติได้รับรองให้วันที่ 25 พ.ย. ของทุกปีเป็น ‘วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล’ สำหรับประเทศไทยได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2542 กำหนดให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็น "เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี" เพื่อมุ่งเน้นที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงทั้งต่อเด็กและสตรี โดยดำเนินการรณรงค์ตลอดเดือนพฤศจิกายน ให้สังคมได้ตระหนักและร่วมป้องกันและขจัดความรุนแรงต่อเด็กและสตรีให้หมดสิ้นไป

จากการรวบรวมสถิติข่าวความรุนแรงทางเพศปี 2560 ในหนังสือพิมพ์ 13 ฉบับ โดยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พบว่าเกิดเหตุความรุนแรงทางเพศทั้งหมด 317 ข่าว ซึ่งช่วงอายุของผู้ถูกกระทำเกินครึ่งเป็น กลุ่มเด็กและเยาวชน อายุ 5-20 ปีถึงร้อยละ 60.6 รองลงมาอายุ 41-60 ปีร้อยละ 30.9 อายุของผู้ถูกกระทำน้อยที่สุดเป็นเด็กหญิง 5 ขวบถูกข่มขืน และมากที่สุด 90 ปี มีผู้เสียชีวิต 20 ราย ด้านกลุ่มอาชีพผู้ถูกกระทำมากที่สุดคือนักเรียน นักศึกษาถึงร้อยละ 60.9

ผู้กระทำความรุนแรงกว่าครึ่งเป็นคนรู้จักคุ้นเคยหรือบุคคลในครอบครัวกว่าร้อยละ 53 รองลงมาเป็นคนแปลกหน้า ไม่รู้จักกันร้อยละ 38.2 และคนที่รู้จักกันผ่านโซเชียลร้อยละ 8.8 โดยอายุของผู้กระทำที่น้อยที่สุดคือ 12 ปี ซึ่งปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรงทางเพศมากที่สุดคือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูงถึงร้อยละ 31.1 รองลงมาอ้างว่ามีอารมณ์ทางเพศร้อยละ 28 ส่วนสถานที่เกิดเหตุเกิดมักจะเป็นในที่พักของผู้ถูกกระทำฯ และในที่เปลี่ยว ถนนเปลี่ยว

ในส่วนกรณีที่เป็นคนใกล้ชิดหรือรู้จักคุ้นเคยกระทำ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเภทข่าวข่มขืน และมีหลายกรณีที่อาศัยความไว้ใจเชื่อใจ และล่อลวง ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อผู้ถูกกระทำให้หวาดผวา ระแวง และกลัว มากที่สุดร้อยละ 26.1 และยังถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์เป็นระยะเวลายาวนานและหลายครั้งร้อยละ 12.8

อ้างอิง สสส

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net