ปมถูกระงับ GSP 'เครือข่ายประชากรข้ามชาติ' จี้ รบ.แก้ไขปัญหาคุ้มครองแรงงาน ชี้บิดเบือน-ยื้อ ส่งผลกระทบระยะยาว

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ แนะรัฐบาลรับรองอนุสัญญา ILO ฉ. 87 และ ฉ.98 คุ้มครองแรงงาน แก้ไขปัญหาการถูกระงับ GSP ชี้การบิดเบือน และใช้มาตรการในการยื้อการแก้ไขปัญหาการคุ้มครองแรงงานไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องในการแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าว และอาจจะนำไปสู่ผลกระทบทั้งต่อประเทศไทยและแรงงานในระยะยาว

ที่มาภาพประกอบ: Joko_Narimo (CC0)

1 พ.ย.2562 เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ออกแถลงการณ์ กรณีรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ดำเนินการระงับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GPS )  โดยมีรายละเอียดดังนี้

แถลงการณ์กรณีรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ดำเนินการระงับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GPS ) 

จากกรณีการที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ดำเนินการระงับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preference - GPS ) โดยให้สาเหตุจากการที่ประเทศไทยไม่สามารถยกระดับสิทธิแรงงานให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล ตามรายงานของสมาพันธ์แรงงานและสภาอุตสาหกรรมแรงงานสหรัฐฯ (American Federation Labor & Congress of Industrial Organization: AFL-CIO) ยื่นคำร้องให้ตัดสิทธิ GSP ไทย เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2556 และวันที่ 16 ตุลาคม 2558 เนื่องจากเห็นว่าไทยมิได้คุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานระหว่างประเทศ โดยในแถลงการณ์ของ AFL-CIO อธิบายถึงการร้องเรียนต่อ USTR ว่าไทยในฐานะประเทศที่ได้รับสิทธิ GSP เป็นอันดับสองที่มีการปล่อยให้ละเมิดสิทธิแรงงาน องค์กรได้ทำการร้องเรียนเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานมาตั้งแต่ปี 2013 โดยไม่ได้ระบุแค่ปัญหาแรงงานประมงและแรงงานข้ามชาติอย่างที่ทางการไทยอธิบาย แต่เหตุการณ์ละเมิดสิทธิแรงงานมีอย่างมากมายในระบบเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่องการคุ้มครองในประเด็นเรื่องสิทธิในการรวมตัวต่อรอง และการคุ้มครองสหภาพแรงงานของไทย โดยได้ยกสถานการณ์สำคัญ เช่น การดำเนินคดีและลงโทษปรับแกนนำสหภาพแรงงานการรถไฟกว่า 760,000 USD กี่กดดันให้แกนนำสหภาพแรงงานรับข้อเสนอที่ไม่เป็นธรรมเมื่อนายจ้างกลั่นแกล้งไล่ออกหากแกนนำยื่นข้อเรียกร้องเพื่อเจรจาต่อรองร่วมในการปรับสภาพการจ้าง กรณีมิตซูบิชิอิเล็กทรินิกส์ จะใช้สิทธ์ปิดงานตามข้อพิพาท เป็นสิทธิตามกฎหมายทำได้ โดยกลั่นแกล้งคนงานไม่รับกลับ ด้วยข้ออ้างว่า ยังไม่พร้อม ขณะที่ประกาศรับคนใหม่เข้าทำงาน และส่งแกนนำสหภาพแรงงานเข้าอบรมทำกิจกรรมกับทางทหาร เพื่อเป็นการกดดันให้คนงานที่เป็นแกนนำสหภาพแรงงานลาออก และกรณีการดำเนินการฟ้องคดีเพื่อปิดปากกดดันแกนนำแรงงานที่ออกมาเรียกร้องให้มีการดำเนินการตามกฎหมายในกรณีฟาร์มไก่ ซึ่งสิ่งที่ AFL-ICO เน้นย้ำและต้องการคือ การให้การคุ้มครองสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานแก่แรงงานทุกคน

ทางเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติเห็นว่า กรณีการระงับ GSP ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้เป็นภาพสะท้อนของการกำหนดบรรทัดฐานของการค้าระหว่างประเทศที่วางบนฐานของการให้เกิดการเคารพในสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน และประเด็นอื่น ๆ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่มีเพียงประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่มีการกำหนดมาตรการในลักษณะดังกล่าว ประเทศคู่ค้าของไทยอื่น ๆ เช่น สหภาพยุโรปต่างก็ให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องสิทธิแรงงานไม่ต่างกัน ข้อสังเกตประการต่อมาคือ การระงับ GSP ในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงในการ

เรื่องการขาดการคุ้มครองสิทธิแรงงานของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองของประเทศไทย อันเป็นมาตรฐานแรงงานขั้นพื้นฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ซึ่งเกิดกับแรงงานทุกกลุ่ม ความล่าช้า การขาดการตระหนักและมีมาตรการอย่างจริงจังในเชิงกฎหมายและนโยบายได้รับการจับตามองจากประชาคมโลกอย่างใกล้ชิด การให้ข่าวที่บิดเบือนและนำเสนอว่าเป็นเรื่องของการตั้งสหภาพของแรงงานข้ามชาติ จึงไม่ใช่แนวทางการแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าวและจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยในการค้าโลกในระยะยาวต่อไป

ทางเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติมีข้อกังวลต่อการดำเนินการดังกล่าว โดยเฉพาะในเรื่องการคุ้มครองแรงงานตามมาตรฐานแรงงาน จึงมีข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อรัฐบาลและกระทรวงแรงงานดังนี้

1. รัฐบาลควรจะต้องพิจารณารับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ในเรื่องเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และ ฉบับที่ 98 การรวมตัวและร่วมเจรจาต่อรอง ทั้งสองฉบับ เพื่อให้เกิดมาตรฐานในการคุ้มครองสิทธิของแรงงานทุกคนในประเทศไทย รวมทั้งควรจะต้องดำเนินการแก้ไข พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ให้สอดคล้องกับมาตรฐานการคุ้มครองแรงงานขั้นพื้นฐานตามอนุสัญญาทั้งสองฉบับด้วย

2. รัฐบาลและกระทรวงแรงงานควรจะต้องมีมาตรการในทางกฎหมายและนโยบายที่จะคุ้มครองแรงงานที่ใช้กลไกในทางกฎหมายเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิของตนเองตามกฎหมาย และเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงาน โดยมีมาตรการในการป้องกันการฟ้องแกนนำแรงงานกลับในลักษณะเป็นการฟ้องเพื่อปิดปากหรือการฟ้องเพื่อให้เกิดการยุติการเรียกร้องของแรงงานตามกฎหมาย

3.  รัฐบาลและกระทรวงแรงงานควรกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหาการถูกระงับ GSP และมาตรการทางการค้ากับประเทศคู่ค้าที่เนื่องมาจากการขาดการคุ้มครองแรงงานตามมาตรฐาน โดยการจัดตั้งคณะทำงานร่วมทั้งหน่วยงานภาค นายจ้าง แรงงาน ภาควิชาการและภาคประชาสังคม เพื่อวางแผนในการพัฒนากลไกทางกฎหมายนโยบายเพื่อยกระดับการคุ้มครองแรงงานทุกคนในประเทศไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างในภาครัฐและเอกชนอย่างเท่าเทียมกันต่อไป

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติเห็นว่า การบิดเบือน และใช้มาตรการในการยื้อการแก้ไขปัญหาการคุ้มครองแรงงานไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องในการแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าว และอาจจะนำไปสู่ผลกระทบทั้งต่อประเทศไทยและแรงงานในระยะยาว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท