สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 27 ต.ค.-2 พ.ย. 2562

จับผู้หลอกลวงแรงงานอ้างส่งไปทำงานโรมาเนียได้ เก็บค่าสมัครคนละ 60,000-185,000 บาท

มื่อวันที่ 1 พ.ย. 2562 ที่ กองปราบปราม พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช ผบก.ป. สั่งการให้ พ.ต.อ.อรุณ วชิรศรีสุกัญยา ผกก.2 บก.ป. พ.ต.ต.เอกพล ปัญจมานนท์ สว.กก.2 บก.ป. นำกำลังจับกุม นายสันติ วรรณประภา อายุ 72 ปี บ้านพักอยู่ในซอยสวนหลวง 2 แขวงวัดพระยาไกร เขตบางคอแหลม กทม. ตามหมายจับศาลหมายจับศาลจังหวัดอุดรธานี ที่ จ.57/2562 ลงวันที่ 7 มีนาคม 2562 ข้อหา “ฉ้อโกง ,หลอกลวงคนหางานให้ไปทำงานในต่างประเทศและได้ไปซึ่งเงินและทรัพย์สินของผู้ถูกหลอกลวง” และหมายจับในคดีลักษณะเดียวกันรวม 4 หมายจับ โดยจับกุมได้บริเวณริมถนนรัชดาภิเษก แขวงจอมพล เขตจตุจักร กทม.

ทั้งนี้ นายสันติ ผู้ต้องหาร่วมกับพวกอีก 2 รายที่ยังหลบหนี ก่อเหตุหลอกผู้เสียหายว่า เป็นเจ้าของบริษัทจัดหางาน สามารถพาคนไปทำงานที่ประเทศโรมาเนียได้ อีกทั้งยังรู้จักกับเพื่อนซึ่งเป็นคนจัดหางานที่อยู่ในประเทศดังกล่าว มีสัญญาจ้าง 3 ปี มีรายได้เดือนละประมาณ 31,000 บาท แต่จะมีค่าใช้จ่ายในการสมัครคนละ 60,000-185,000 บาท เหยื่อหลงเชื่อส่งมอบเงินให้ นายสันติ จะได้ส่วนแบ่ง 20,000- 30,000 บาทต่อคน มูลค่าความเสียหายกว่าล้านบาท

ต่อมานายสันติ ไม่สามารถพาผู้เสียหายไปทำงานต่างประเทศตามที่ตกลงกันได้ ผู้เสียหายจึงเข้าแจ้งความพนักงานสอบสวน สภ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี กระทั่งศาลออกหมายจับไว้ จากนั้นเจ้าหน้าที่สืบทราบว่าผู้ต้องหาจะมาทำธุระย่านรัชดาฯ จึงนำกำลังจับกุมได้ดังกล่าว

ทั้งนี้นายสันติ ให้การว่าทำธุรกิจเกี่ยวกับจัดหาแรงงานไปทำงานในต่างประเทศมากว่า 20 ปีแล้ว และปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบประวัติพบว่า นายสันติเคยถูกจับกุมในความผิดตาม พ.ร.บ.จัดหางานฯและฉ้อโกง มาแล้วจำนวน 2 คดี ซึ่งคดีอยู่ระหว่างพิจารณาคดีในชั้นศาล แต่ได้รับปล่อยตัวชั่วคราวในขณะพิจารณาคดีเบื้องต้นได้แจ้งข้อหาตามหมายจับก่อนนำตัวส่ง สภ.หนองวัวซอ ดำเนินคดีต่อไป

ที่มา: ข่าวสด, 1/11/5262 

ก.คมนาคม ให้ 'การบินไทย' หาแนวทางลดรายจ่ายด้านพนักงาน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่ากระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ไปดำเนินการแผนลดค่าใช้จ่ายและการเพิ่มรายได้

สำหรับแผนลดค่าใช้จ่ายนั้นได้มอบหมายให้ไปหาแนวทางลดรายจ่ายด้านพนักงาน ซึ่งถือว่าเป็นภาระค่าใช้จ่ายหลักในบัญชีทางการเงิน ด้วยปริมาณบุคลากรที่มีจำนวนมาก ทำให้ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่ในแต่ละปีไปกองอยู่ที่ค่าตอบแทนพนักงานตลอดจนบริหารอัตรากำลังพลพนักงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ปัจจุบันการบินไทยมีพนักงานต้อนรับ 6,000 คน ขณะที่จำนวนเครื่องบินที่ใช้ได้มี 80 ลำ หรือเฉลี่ยพนักงาน 75 คนต่อลำ ซึ่งพนักงานทุกคนไม่สามารถบริการในเครื่องบินทุกประเภทได้

ดังนั้นจึงทำให้เกิดช่องโหว่ในเรื่องค่าใช้จ่ายที่มากกว่างานปฏิบัติจริง จึงเสนอแนะให้ทยอยฝึกพนักงานทุกคนให้สามารถบริการได้ในทุกประเภทเครื่องบิน ตลอดจนหมุนเวียนพนักงานไปทำหน้าที่อื่นเพื่อให้พนักงานทุกคนได้ทำหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ ตลอดจนนำเทคโนโลยีเข้ามาทดแทนการทำงานของบุคลากร เพื่อนำงบประมาณไปพัฒนาด้านอื่นต่อไป

อย่างไรก็ตาม ท่านรมช.คมนาคมได้มอบนโยบายให้ชะลอการรับพนักงานใหม่เพิ่มทั้งบุคลากรทั่วไปและผู้บริหาร เพื่อกลับไปทบทวนให้รอบคอบอีกครั้ง

"มีบางคนบอกว่าสถานะการเงินของการบินไทยแย่ขนาดนี้ ทำไมไม่ทำเหมือนสายการบินแห่งชาติญี่ปุ่น คือ ยุบทิ้งไปเลย คงทำแบบนั้นไม่ได้เพราะการบินไทยเป็นสมบัติของชาติ การซื้อเครื่องบินใหม่ก็เป็นเรื่องต้องลงทุน แต่ลงทุนอย่างไรให้มีความคุ้มค่า ซึ่งมั่นใจว่าการบินไทยสามารถกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง ขอเวลาหน่อย ถ้าทุกคนมีความตั้งใจเชื่อว่าจะต้องสำเร็จได้" นายศักดิ์สยามกล่าว

นายถาววร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า นอกจากการลดรายจ่ายแล้ว ความอยู่รอดขององค์กรต้องให้ความสำคัญการเพิ่มรายได้ ซึ่งตนได้มอบนโยบายให้การบินไทยไปเพิ่มรายได้ในทุกเส้นทางการบินทั้งเอเซียและยุโรปซึ่งขณะนี้แทบทุกเส้นทางบินรายได้ลดลงอย่างมาก จากการแข่งขันรุนแรงและการทำตลาดของสายการบินต้นทุนต่ำ โดยให้กลับไปดูทั้งระบบว่าจะเพิ่มรายได้กลับมาอย่างไร

สำหรับเครื่องบินที่จอดทิ้งไว้ 19 ลำ แบ่งเป็น A 340-500 จำนวน 13 ลำ และ A340-600 จำนวน 6 ลำ ซึ่งเป็นภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมากในแต่ละปีนั้น การบินไทยมีแผนที่จะขายเครื่องบิน A340-500 ส่วนด้านเครื่องบิน A340-600 นั้น ได้มอบนโยบายให้นำเครื่องบินดังกล่าวไปปรับปรุงภายใน (Renovate) เพื่อนำเครื่องดังกล่าวกลับมาบินสร้างรายได้อีกครั้ง เนื่องจากมีอายุเพียง 5 ปีและเป็นเครื่องบินขนาดใหญ่มากกว่า 300 ที่นั่ง

ทั้งยังสามารถบินในเส้นทางระยะไกลได้อีกด้วย จึงมีศักยภาพในการสร้างรายได้ให้กับองค์กร ควบคู่ไปกับการพิจารณาเรื่องสินทรัพย์ที่ไม่มีการใช้ประโยชน์เช่น อาการเก่าขนาดใหญ่ ต้องนำไปเอปิดให้เอกชนเช่าระยะยาว คาดว่าจะเพิ่มรายได้ให้กับองค์กรนับพันล้านบาท อาทิ อาคารครัวการบินไทย ตรงถนน วิภาวดี

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 1/11/2562 

เศรษฐกิจโลกทุบอุตฯยานยนต์ไทย เม็ดเงินหายแสนล้าน-ชิ้นส่วนเริ่มหยุดงาน

ปัจจัยลบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลกส่งผลกระทบต่อทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศไทยซึ่งพึ่งพิงตลาดส่งออกมากถึง 50% กำลังพลิกเกมรับมือกับสถานการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า สภาอุตสาหกรรมฯและสมาชิกผู้ผลิตยานยนต์ในประเทศไทยได้ปรับลดเป้าผลิตรถยนต์ปีพ.ศ. 2562 เหลือ 2,000,000 คัน จากเป้าเดิม2,150,000 คัน แบ่งเป็น ผลิตส่งออก 1,000,000 คัน และผลิตเพื่อขายในประเทศ 1,000,000 คัน

“การส่งออกกระทบอย่างเห็นได้ชัดจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ขณะที่ในประเทศไทยเจอสถานการณ์น้ำท่วม และความเข้มงวดที่มากขึ้นในการอนุมัติสินเชื่อรถยนต์ของสถาบันการเงินการลดเป้าผลิตครั้งนี้น่าจะทำให้มูลค่าในอุตสาหกรรมยานยนต์หดหายไปราว 1.5 แสนล้านบาท”

นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าปัจจัยลบข้างต้นทำให้ฮอนด้านั้นมีการปรับปรุงเเละบริหารจัดการกำลังผลิตในเเต่ละเดือน และจะเห็นได้ว่า ฮอนด้าสามารถทำได้ดีกว่าตลาด เนื่องจากมีการปรับกำลังผลิตให้สอดคล้องความต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง และขณะนี้สถานการณ์ต่างยังไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานและธุรกิจ รวมทั้งพนักงานของฮอนด้าแต่อย่างใด

“ปัจจัยจากเศรษฐกิจโดยรวมที่มีทิศทางอยู่ในขาลง ตั้งแต่ต้นปีที่เป็นต้นมาแต่สามารถประคองมาได้จนถึงกลางปีถือว่าทำได้ดี วันนี้ดัชนีทุกอย่างอยู่ในช่วงขาลง ทั้งความเชื่อมั่น การลงทุน การส่งออก ค่าเงินบาท สงครามการค้า และเบร็กซิต ปัจจัยลบเหล่านี้ยังต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด”

สำหรับตลาดรถยนต์ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มียอดขายรวม 761,000 คัน ส่วนฮอนด้าโตสูงกว่าตลาด คือโต 5% และมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นจาก 26.6% เป็น 27.5% ส่วนทั้งปียอดขายรถยนต์โดยรวมจะใกล้เคียงกับปีก่อนหรือไม่นั้นยังเป็นเรื่องต้องน่าจับตา เเต่จะสูงกว่านั้นเป็นเรื่องที่ถือว่ายาก แม้ว่าจะมีค่ายรถส่งรุ่นใหม่ ๆ ออกสู่ตลาด ซึ่งก็เป็นสถานการณ์ที่คล้ายคลึงกับปีก่อน

นายชาญชัย ตระการอุดมสุข ประธานบริหาร บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ความผันผวนของสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย จำเป็นต้องวางแผนการดำเนินธุรกิจอย่างรัดกุมและสอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นซึ่งก่อนนั้นมาสด้าระบุว่ายอดขายมีอัตราการเติบโตลดลง จำเป็นต้องลดเป้าการขายลงจากเป้าทั้งปี 7.2 หมื่นคัน เหลือแค่ 6.5 หมื่นคัน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า กำลังการผลิตของค่ายรถยนต์หลายยี่ห้อที่ลดลงเป็นผลกระทบมาจากตลาดส่งออกที่หดตัวอย่างรุนแรง โดยเฉพาะค่ายรถยนต์สัญชาติอเมริกันทั้งฟอร์ด และจีเอ็มประสบปัญหา ต้องปรับลดกำลังผลิตของตลาดส่งออกลงถึง 1 ใน 3 จากเดิมที่เคยให้พนักงานทำงานเต็มเวลาครบตลอดทั้งเดือน แต่ในช่วง 2 เดือน (ส.ค.-ก.ย.) ที่ผ่านมา กำหนดให้ทำงานแค่

เดือนละ 3 สัปดาห์ หรือทำงาน 3 สัปดาห์ หยุด 1 สัปดาห์ ซึ่งค่ายมิตซูบิชิก็เช่นเดียวกัน เนื่องจากตลาดหลักยังคงเป็นตลาดส่งออกซึ่งได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะตลาดประเทศในแถบตะวันออกกลาง

แหล่งข่าวจากสมาคมอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทยกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์เริ่มประสบปัญหาหนักออร์เดอร์จากค่ายรถยนต์ลดลง ตอนนี้มีบางบริษัทได้เริ่มประกาศลดโอที หยุดการทำงานเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมาก็มีรายงานข่าวผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายกลางและเล็กที่ได้หยุดการผลิตชั่วคราวเช่นกัน อาทิ บริษัท วาลีโอ คอมฟอร์ท แอนด์ ไดร์ฟวิ่ง แอสซิสแทนซ์ ซิสเต็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ประกาศหยุดกิจการชั่วคราวในไตรมาส 3/2562 โดยไม่มีการทำงานล่วงเวลา (โอที) และหยุดงานเพิ่มประมาณ 2-3 วันต่อสัปดาห์ของวันทำงานปกติ โดยบริษัทให้หยุดงานและจ่ายค่าจ้าง 75%

ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2562 บริษัท ไทยซัมมิท แหลมฉบัง ออโตพาร์ท จำกัด ตั้งอยู่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ผลิตอุปกรณ์ประเภทชิ้นส่วนเหล็ก ชิ้นส่วนพลาสติก, ไส้กรองน้ำมันเครื่อง และไส้กรองอากาศ ฯลฯ ได้มีประกาศที่ TSLA. HRM 019/2562 เรื่อง กำหนดหยุดการทำงานในวันที่ 26 ตุลาคม ถึง 25 ธันวาคม 2562 เนื่องจากลูกค้ามีคำสั่งซื้อสินค้าลดลง โดยระหว่างหยุดทำงานชั่วคราวตามประกาศ บริษัทพร้อมจ่ายเงินค่าจ้างให้กับพนักงานทุกระดับในอัตราร้อยละ 75 ของค่าจ้างปกติ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน และการหยุดจะไม่มีผลใด ๆ กับการคำนวณเบี้ยขยัน หรือการประเมินผลงาน

นอกจากนี้ ยังมีบริษัท เอสอาร์เอฟ อินดัสตรี้ส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ทำส่วนผสมของยางรถยนต์ ตั้งอยู่ที่นิคมมาบตาพุด จ.ระยอง โดยบริษัทได้ส่งหนังสือเลิกจ้างพนักงานตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา และให้มีผลในวันที่ 25 ตุลาคม 2562 นี้ โดยบริษัทจะจ่ายค่าแรง และค่าสินไหมทั้งหมดที่อยู่ในความรับผิดชอบของบริษัท ตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย

นางสาวชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการอาวุโส กลุ่มบริษัทไทยซัมมิท ยักษ์ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีที่บริษัท ไทยซัมมิท แหลมฉบัง ออโตพาร์ท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ประกาศกำหนดหยุดการทำงานวันที่ 26 ตุลาคม ถึง 25 ธันวาคม 2562 นั้นเป็นการหยุดทำงานชั่วคราวและบางส่วน เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์ลดกำลังการผลิต และลดการสั่งซื้อชิ้นส่วน ดังนั้น ในส่วนโรงงานก็ต้องปรับลดกำลังผลิตตามคำสั่งซื้อ ทั้งนี้ โรงงานยังเปิดดำเนินการผลิต แต่ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีนี้จะมีการให้พนักงานมีวันหยุดเพิ่ม โดยสลับหยุดตามไลน์การผลิต ประมาณ 10-15% จากจำนวนพนักงานทั้งหมดประมาณ 800 คน คือ โดยเฉลี่ยแต่ละวันจะมีพนักงานหยุดงานประมาณ 100 คน

โดยที่บริษัทจ่ายเงินค่าจ้างให้กับพนักงานในอัตราร้อยละ 75 ของค่าจ้างปกติ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน เนื่องจากการผลิตของไทยซัมมิทฯเป็นการผลิตตามออร์เดอร์ของลูกค้า โดยเป็นแบบ just in time คือ ผลิตและส่งมอบให้ลูกค้าทันที จะมีการส่งชิ้นส่วนให้ลูกค้าทุกวัน และวันละ 3-4 รอบ ดังนั้นเมื่อโรงงานผลิตรถยนต์หยุดผลิต ในส่วนของชิ้นส่วนก็จำเป็นต้องหยุดด้วย ส่วนหนึ่งอาจประหยัดค่าแรงได้ 25% (จ่ายค่าแรง 75% ตามกฎหมาย) แต่สิ่งที่สำคัญกว่า คือ โรงงานไม่สามารถผลิตชิ้นส่วนมาสต๊อกได้ เพราะไม่มีที่จัดเก็บ ทุกอย่างเราวางแผนและบริหารแบบ just in time

นางสาวชนาพรรณกล่าวว่า สำหรับในส่วนของโรงงานชิ้นส่วนอื่น ๆ ก็มีการปรับลดเวลาทำงานบ้าง แต่ส่วนใหญ่เป็นลักษณะลดการทำงานล่วงเวลา (โอที) กรณีการหยุดงานชั่วคราวบางส่วนนั้นถือว่าเป็นมาตรการปกติของอุตสาหกรรมยานยนต์ในภาวะที่ต้องลดกำลังการผลิต ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว และปีนี้อุตสาหกรรมยานยนต์ก็ชะลอตัว จากเดิมที่ตั้งเป้ายอดผลิตรวมที่ 2.15 ล้านคัน แต่เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าต่าง ๆ ทำให้ตัวเลขส่งออกรถยนต์ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ทำให้ค่ายรถยนต์ที่เน้นตลาดส่งออกได้รับผลกระทบ ขณะที่กำลังซื้อในประเทศก็ไม่ค่อยดี ทำให้ล่าสุดมีการปรับลดเป้าผลิตรถยนต์ปีนี้เหลือ 2 ล้านคัน ซึ่งยอดผลิตหายไป 1.5 แสนคัน ก็ถือว่าไม่น้อยย่อมกระทบต่อภาพรวมอุตสาหกรรมรถยนต์พอสมควร

ขณะที่นายกรกฤช จุฬางกูร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี จำกัด หรือ SAB และบริษัท ซัมมิท โอโตซีท จำกัด (SAS) ในเครือกลุ่มซัมมิท กรุ๊ป ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ กล่าวกับ”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ยังไม่มีการหยุดงาน หรือลดโอที ทุกอย่างยังอยู่ในสถานการณ์ที่คาดการณ์ไว้ และแน่นอนที่สุดจะไม่มีการปลดคนงาน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 31/10/2562 

ภาคประชาชนเรียกร้องภาครัฐเร่งแก้ปัญหาสิทธิแรงงาน หลังสหรัฐตัดสิทธิ GSP

จากกรณี นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ลงนามในคำประกาศเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2562 ระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) สินค้าส่งออกบางประเภทจากไทย โดยอ้างเหตุผลเรื่อง “ปัญหาด้านสิทธิแรงงานที่ยืดเยื้อมายาวนานในอุตสาหกรรมอาหารทะเลและการเดินเรือ” ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ภายใน 6 เดือน กลุ่มประมงพื้นบ้านและองค์กรภาคประชาสังคมได้ออกมาเคลื่อนไหวกับกรณีที่เกิดขึ้นโดยแถลงร่วมกันในนามภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่นยืน 14 องค์กร ระบุว่าสิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า แม้จะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาสิทธิแรงงานมาต่อเนื่องแต่ยังมีช่องโหว่ที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

นายจักรชัย โฉมทองดี ผู้จัดการด้านนโยบายและรณรงค์ องค์การอ็อกแฟม กล่าวว่า การส่งออกเป็นแกนหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ซึ่งมีแรงงานข้ามชาติเป็นกำลังการผลิตสำคัญ ดังนั้นตราบใดที่ประเทศไทยยังไม่ปรับปรุงประเด็นสิทธิแรงงานให้มีความเสมอภาคและเป็นสากล ตราบนั้นเสถียรภาพในการส่งออก รวมถึงเศรษฐกิจในภาพรวมก็เกิดยาก

“ต้องไม่ลืมว่าคู่ค้าต่างๆ ของเรา ต่างมีความต้องการปกป้องการผลิตภายในประเทศของเขา หากประเทศไทยไม่มีจุดอ่อนก็จะไม่มีใครจะมาดำเนินมาตรการอะไรกับเราได้ง่ายๆ ที่จริงมีเครื่องมือซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลอยู่แล้ว คืออนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันถึงที่สุด”

สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของวิสัยทัศน์ ทั้งเรื่องการเข้าสู่เศรษฐกิจมาตรฐานสูง และเรื่องการเข้าใจความมั่นคงที่สอดคล้องกับโครงสร้างการผลิตที่เป็นจริงของประเทศ การกีดกันแรงงานในระบบการผลิตของไทยมิให้มีสิทธิที่เท่าเทียมในการรวมตัวหรือเจรจา ถึงที่สุดแล้ว ไม่ใช่การป้องกันปัญหาแต่เป็นการกดซ่อนความเสี่ยงที่รอวันระเบิด ดังเช่นการหยุดงานที่เกิดถี่ขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มีช่องทางการสื่อสารระหว่างนายจ้างและคนงานที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งส่งผลลบทั้งต่อชีวิตแรงงานไม่ว่าชนชาติใด และต่อเศรษฐกิจไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา องค์กรภาคประชาสังคมและกลุ่มแรงงานพยายามผลักดันให้มีการรับรองอนุสัญญาแต่ยังไม่มีความเคลื่อนไหวจากรัฐบาล โดยที่รัฐบาลอ้างว่าการอนุญาตให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ

ขณะที่นางสาวสุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติกล่าวถึงจุดยืนสำคัญของภาคีเครือข่ายฯ คือการสนับสนุนให้ประเทศไทยรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ 2 ฉบับนี้ “รัฐควรรับรองอนุสัญญาฉบับที่ 87 และ 98 นานแล้ว ไม่ต้องรอให้สหรัฐฯ หรือประชาคมโลก ต้องมากดดัน เพราะการรวมกลุ่มเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษยตั้งแต่เกิด ภาครัฐไม่ควรกังกลเรื่องเศรษฐกิจหรือความมั่นคง เนื่องจากคนงานเหล่านี้ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสร้างประโยชน์ต่อประเทศมหาศาล” นางสาวสุธาสินีกล่าว

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 31/10/2562 

สภาองค์การลูกจ้างฯ ขอเข้าพบ รมว.แรงงาน เพิ่มอัตราจ่ายเงินทดแทนการว่างงาน หลังสถานการณ์คนตกงานน่าเป็นห่วง ขอเพิ่มเป็น 75% ของค่าจ้างทุกเงื่อนไข ทั้งลาออก เลิกจ้าง หรือไล่ออก ได้เงินทุกกรณี

นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการผลักดันกฎหมายเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างตกงาน ว่า ปัจจุบันต้องยอมรับว่า สถานการณ์การเลิกจ้าง บริษัทหลายแห่งปิดกิจการ ลูกจ้างตกงาน ว่างงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สิ่งสำคัญ คือ ต้องมีมาตรการหรือกฎหมายมารองรับช่วยเหลือ ซึ่งที่ผ่านมาลูกจ้าง หรือผู้ประกันตนที่มีการสมทบเงินร่วมกับนายจ้างและภาครัฐเข้ากองทุนประกันสังคม หากตกงานก็จะได้รับเงินกรณีว่างงานจากกองทุนทดแทนการว่างงาน โดยจะแบ่งเงื่อนไขเป็น 3 กรณี คือ 1.ลาออกจากงานจะได้รับเงินทดแทนการว่างงาน 30 % จากค่าจ้างเป็นเวลา 90 วัน 2.กรณีถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด จะได้รับเงินทดแทนว่างงาน 50 %ของค่าจ้างเป็นเวลา 180 วัน และ3.กรณีถูกไล่ออกมีความผิด จะไม่ได้รับอะไรเลย

“ประเด็นอยู่ที่ว่า การเลิกจ้างหลายครั้งก็ไม่ชัดเจนว่า มีความผิดจริงหรือไม่มีความผิด อย่างหลายเคสก็ต้องไปฟ้องร้องกันยาวนาน แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบทันที คือ ลูกจ้าง เพราะเมื่อถูกเลิกจ้าง ตกงาน หลายคนว่างงานหางานไม่ได้ แต่ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันยังจำเป็นต้องมี ขณะที่เงินทดแทนการว่างงานไม่เพียงพอ บางรายไม่ได้อีกเพราะติดเงื่อนไข ดังนั้น ทางสภาองค์การลูกจ้างฯ จึงเดินหน้าเพื่อผลักดันในการปรับแก้กฎหมายให้จ่ายเงินกรณีว่างงานแก่ลูกจ้างที่ตกงานทุกกรณีในอัตรา 75%ของค่าจ้าง เป็นเวลา 6 เดือน เนื่องจากเงินที่นำมาให้ลูกจ้างก็เป็นเงินที่ได้จากการสมทบในกองทุนประกันสังคมทั้งสิ้น ” นายมนัส กล่าว

นายมนัส กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ได้ทำหนังสือถึง ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อขอปรับแก้อัตราการจ่ายเงินทดแทนการว่างงาน และล่าสุดวันนี้ (31 ต.ค.) ตนได้ทำเรื่องสอบถามไปยังกระทรวงแรงงานถึงความคืบหน้าเรื่องนี้ว่า จะมีแนวทางช่วยเหลือลูกจ้าง ผู้ประกันตนอย่างไร ซึ่งคาดว่าจะขอเข้าพบท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เกี่ยวกับเรื่องนี้ภายในสัปดาห์หน้า

เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ เนื่องจากหากเพิ่มอัตราเงินทดแทนว่างงาน จะมีเงินเพียงพอหรือไม่ ประธานสภาองค์การลูกจ้างฯ กล่าวว่า เพียงพออยู่แล้ว เนื่องจากกองทุนว่างงานมีถึง 2 แสนล้านบาท และที่ผ่านมามีลูกจ้างที่ใช้สิทธินี้ประมาณ 30-50 % เท่านั้น

“กองทุนประกันสังคม นับเป็นกองทุนที่มีเงินมหาศาลรวมแล้วมีเงินถึง 1.9 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น 3 กองทุน คือ 1.กองทุนเจ็บป่วย เสียชีวิต ทุพพลภาพ ลาคลอด กองทุนนี้มีประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ผู้ประกันตนสมทบ 1.5% นายจ้างและรัฐบาลสมทบอีกฝ่ายละ 1.5% 2.กองทุนบำเหน็จบำนาญชราภาพ มีเงิน 1.8 ล้านล้านบาท ผู้ประกันตนสมทบ 3% นายจ้าง 3% แต่รัฐบาลไม่ได้สมทบ และ3.กองุทนว่างงาน มี 2 แสนล้านบาท ผู้ประกันตน นายจ้างสมทบฝ่ายละ0.50% ส่วนรัฐบาลสมทบ 0.25% เห็นชัดว่า ผู้ประกันตนได้จ่ายสมทบหมด จึงมีสิทธิที่จะขอเพิ่มส่วนนี้ได้ เพราะที่ผ่านมากลุ่มลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง และบริษัทบอกว่ามีความผิดก็ไม่สามารถใช้ได้เลย ทั้งๆที่มีเงินตัวเองอยู่ด้วย” นายมนัส กล่าว

ที่มา: PPTV, 31/10/2562 

คนไทยฝากเงินลดหันเล่นหุ้นแทน ห่วงสูงวัยเงินไม่พอใช้หลังเกษียณ

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยผลการศึกษาของศูนย์วิจัยธนาคารออมสินว่า ภาพรวมการออมของประเทศไทยยังคงเติบโตแบบชะลอตัวลง โดยเฉพาะยอดเงินฝากในสถาบันการเงินที่มี 18 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพียง 3.4% จากปีก่อน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับการออมประเภทอื่น เช่น การออมเพื่อการลงทุนที่ขยายตัวสูงถึง 9% และเงินสำรองประกันภัยก็เติบโต 7.4%

“เงินฝากเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง เพราะผลตอบแทนเงินฝาก หรือ ดอกเบี้ย อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งดอกเบี้ยออมทรัพย์อยู่ที่ 0.5% ดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1% และ คนหันไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กองทุนรวม กองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพราะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝาก ประกอบกับ เศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐจึงทำให้เงินออมในระบบชะลอตัวลง”

นอกจากนี้ ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายจากการที่ประเทศเป็นสังคมผู้สูงอายุ เนื่องจากมีประชากร ที่มีอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปสูงถึง 9.9 ล้านคน คิดเป็น 14.9% ซึ่งภาวะสังคมนี้จะส่งผลกระทบให้กำลังแรงงานลดลง การบริโภคลดลง และข้อเท็จจริงพบว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ของไทยมีเงินออมไม่เพียงพอต่อการดำเนินชีวิตหลังการเกษียณอายุ ซึ่งจะทำให้ประสบปัญหาคุณภาพชีวิตที่ด้อยลง และต้องพึ่งพาการเลี้ยงดูจากลูกหลาน ซึ่งประเมินว่าต่อไปคนในวัยทำงาน 3 คน จะต้องเลี้ยงดูผู้สูงวัยถึง 5 คน ดังนั้น จำเป็นต้องมีการส่งเสริมการออมและการวางแผนการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน

ที่มา: เดลินิวส์, 31/10/2562 

กระทรวงแรงงานลงพื้นที่สมุทรปราการ บริษัท บอดี้ แฟชั่น หลังเจรจานายจ้างเลิกจ้างจริง แต่ไม่จ่ายชดเชย เร่งตรวจสอบสาเหตุ

31 ต.ค. 2562 ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา ได้มีผู้แทนลูกจ้างบริษัท บอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด สาขาบางพลี จ.สมุทรปราการ จำนวนประมาณ 100 คน เดินทางมาที่กระทรวงแรงงานเพื่อยื่นร้องเรียนกรณีนายจ้างไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เนื่องจากบริษัทดังกล่าวได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงนายจ้างโดยโอนลูกจ้างของบริษัทฯ ไปเป็นพนักงานบริษัทบริลเลียนท์ อัลไลแอนซ์ ไทย โกลบอล จำกัด แต่มีลูกจ้างจำนวน 333 คน ไม่ประสงค์โอนย้ายไปเป็นลูกจ้างของนายจ้างรายใหม่ จึงยื่นหนังสือร้องเรียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานขอความช่วยเหลือให้บริษัท บอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด เลิกจ้างและจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน

“รู้สึกห่วงใยพี่น้องแรงงานทั้ง 333 คน ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการจ้างแรงงาน จึงได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เร่งดำเนินการไปพบนายจ้างและหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาทันที พร้อมทั้งให้กรมการจัดหางานจัดหาตำแหน่งงานว่างซึ่งมีตำแหน่งงานว่างในจังหวัดสมุทรปราการ 4,246 ตำแหน่ง และอีก 76,000 ตำแหน่งทั่วประเทศ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้การฝึกอาชีพให้กับลูกจ้างที่สนใจที่จะพัฒนาฝีมือแรงงานหรือเปลี่ยนอาชีพใหม่ และให้สำนักงานประกันสังคมดูแลในเรื่องสิทธิประโยชน์ในฐานะเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายประกันสังคมด้วย” ม.ร.ว.จัตุมงคง กล่าว

นายสมบูรณ์ ตรัยศิลานันท์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า ทันทีที่ได้รับคำสั่งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้นำเจ้าหน้าที่พร้อมตัวแทนลูกจ้างลงพื้นที่เพื่อพบกับนายจ้าง ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งจากการพูดคุยนายจ้างได้แจ้งว่าได้เลิกจ้างลูกจ้างตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2562 และจะไม่จ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้าง โดยได้แจ้งเป็นหนังสือและส่งให้ลูกจ้างเป็นรายบุคคลเรียบร้อยแล้ว ซึ่งทางนายจ้างได้ให้เหตุผลว่า ลูกจ้างทำผิด แต่ทางเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน เพราะหากไม่พบความผิด ทางนายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชยค่าจ้างตามกฎหมาย แต่หากไม่จ่ายก็ต้องเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้อง

“เราได้ชี้แจงสิทธิตามกฎหมายและขั้นตอนในการใช้สิทธิเรียกร้องค่าชดเชยจากนายจ้างโดยลูกจ้างสามารถใช้สิทธิได้ 2 ช่องทาง คือ 1.ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน หรือยื่นคำฟ้องต่อศาลแรงงาน ซึ่งลูกจ้างประสงค์จะใช้สิทธิ ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานในวันนี้ (31 ต.ค.) ซึ่งกสร. ได้ส่งเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางไปร่วมกับพนักงานตรวจแรงงานของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อรับคำร้องจากลูกจ้าง และได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้เร่งให้ดำเนินการวินิจฉัยโดยเร็วที่สุด ซึ่งกรอบดำเนินการอยู่ที่ 60 วัน” นายสมบูรณ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าช่วงที่ผ่านมามีข่าวผู้ประกอบการเลิกกิจการ ทำให้ลูกจ้างตกงานมากขึ้น ทางภาครัฐจะมีการช่วยเหลืออย่างไร นายสมบูรณ์ กล่าวว่า จริงๆ หากพิจารณาตามสถิติการเลิกจ้างของประกันสังคม กับการรับเข้างานของนายจ้างก็ไม่แตกต่างกัน ซึ่งตัวเลขสามารถขอไปได้ที่สำนักงานประกันสังคม อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้ที่เห็นข่าวอาจเพราะเกิดปัญหาระหว่างสหรัฐอเมริกา กับจีนในเรื่องทางการค้า เมื่อจีนส่งออกสหรัฐไม่ได้ ก็ต้องลดออเดอร์สินค้าจากทางไทย ก็ทำให้บริษัทมีปัญหา แต่ก็ยังมีบริษัทอื่นๆ ที่รับลูกจ้างเข้าทำงานอยู่ อย่างไรก็ตาม ช่องทางการสมัครงานก็จะมีทางการจัดหางาน หรือติดต่อสายด่วนประกันสังคม โทร 1506 ได้

ที่มา: PPTV, 31/10/2562 

ลูกจ้างกว่า 350 ชีวิตถูกลอยแพ ไม่ให้เข้าโรงงาน นายจ้างไม่มาเจรจา

วรรณวิภา ไม้สน ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ โพสต์เฟซบุ๊กว่า ช่วงเช้าวันที่ 30 ต.ค. 2562 เวลาประมาณ 08.30 น. ที่กระทรวงแรงงาน ลูกจ้างบริษัท บอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด สาขาบางพลี ได้รวมตัวกันยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หลังจากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน 2541 (ฉบับแก้ไขปรับปรุง 2562) ว่าด้วยเรื่องการเปลี่ยนแปลงนายจ้าง

เมื่อสอบถามลูกจ้างทราบว่า บริษัท บอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ได้โอนย้ายลูกจ้างที่บางพลีไปยังบริษัทใหม่ รวมถึงให้บริษัทใหม่เป็นผู้เช่าสถานที่ มีลูกจ้างบางส่วนยินดีโอนย้ายไปทำงานกับบริษัทใหม่ ส่วนพนักงานอีก 300 กว่าคนไม่ประสงค์ที่จะย้าย และยังยืนยันที่จะทำงานกับบริษัทเดิม ฝ่ายลูกจ้างได้ทวงถามความชัดเจนมาโดยตลอดตั้งแต่มีการเริ่มโอนย้าย แต่ไร้วี่แววความชัดเจนจากนายจ้างว่าจะให้ปฏิบัติงานที่ไหนและสภาพการจ้างอย่างไร นัดไกล่เกลี่ยกันหลายครั้งแต่นายจ้างไม่มา

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2562 โรงงานบางพลีไม่ยอมให้เข้าโรงงาน เนื่องจากเป็นพื้นที่ของบริษัทใหม่ อีกทั้งยังห้ามไม่ให้ขึ้นรถรับส่ง นายจ้างแจ้งผ่านเจ้าหน้าที่รัฐว่าจะติดต่อกลับมาในวันที่ 29 ต.ค. 2562 แต่ก็ไร้วี่แวว จนลูกจ้างทุกคนที่ไม่ได้โอนย้าย ไม่มีที่ทำงาน หาตัวนายจ้างไม่เจอ จึงต้องมาที่กระทรวงแรงงานในวันนี้ เพื่อยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานให้รีบแก้ไขโดยเร่งด่วน โดยให้นายจ้างปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เนื่องจากทุกคนกำลังเดือดร้อนอย่างหนัก ไม่มีที่ทำงาน แล้วจะนำเงินที่ไหนไปดูแลครอบครัว

นี่เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างที่ลูกจ้างโดนละเมิดสิทธิแรงงาน จนนำมาสู่การโดนยกเลิกสิทธิทางภาษี GSP ที่เป็นข่าวอยู่ปัจจุบัน วอนรัฐบาลแก้ไขปัญหาของพี่น้องแรงงานโดยเร่งด่วน ก่อนที่จะเสียหายและลุกลามไปมากกว่านี้

อย่าปล่อยให้พี่น้องแรงงานทุกคนที่อดทนทำงานหนักมาทั้งชีวิตแต่กลับต้องแบกรับการกดขี่ละเมิดสิทธิอีกต่อไป เพราะรัฐบาลมีหน้าที่ทำให้ชีวิตพวกเขาดีขึ้น ไม่ใช่นิ่งเฉย

ที่มา: The Standard, 30/10/2562 

ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงให้นายจ้างดูแลสุขภาพและความปลอดภัยลูกจ้าง จัดตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

นายสมบูรณ์ ตรัยศิลานันท์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ครม. ได้มีมติเห็นชอบผ่านร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับการจัดให้มีการตรวจสุขภาพลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ซึ่งสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงดังกล่าวกำหนดให้นายจ้างต้องจัดให้มีการตรวจสุขภาพลูกจ้างครั้งแรกภายใน 30 วัน นับแต่รับลูกจ้างเข้าทำงาน และครั้งต่อไปอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และในกรณีที่ลูกจ้างหยุดงาน 3 วันทำงานติดต่อกันเนื่องจากประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้นายจ้างขอความเห็นจากแพทย์หรือจัดให้มีการตรวจสุขภาพก่อนให้ลูกจ้างกลับเข้าทำงาน โดยนายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการตรวจสุขภาพให้แก่ลูกจ้าง

ทั้งนี้กฎกระทรวงดังกล่าว ยังได้กำหนดให้นายจ้างจะต้องจัดให้มีสมุดสุขภาพประจำตัวของลูกจ้าง และให้บันทึกผลการตรวจสุขภาพ พร้อมแจ้งผลการตรวจให้ลูกจ้างภายใน 7 วัน แต่หากพบว่าผลการตรวจสุขภาพผิดปกติให้แจ้งลูกจ้างภายใน 3 วัน และเมื่อสิ้นสุดการจ้างให้มอบสมุดสุขภาพประจำตัวให้แก่ลูกจ้าง ทั้งนี้ สำหรับลูกจ้างที่มีหลักฐานทางการแพทย์แสดงว่าไม่อาจทำงานในหน้าที่เดิมได้ให้นายจ้างเปลี่ยนงานให้ตามสมควรโดยคำนึงถึงสุขภาพและความปลอดภัยของลูกจ้างด้วย ซึ่งกฎกระทรวงดังกล่าวอยู่ระหว่างการเตรียมประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

ที่มา: ไอเอ็นเอ็น, 30/10/2562 

'วิษณุ' เผยแก้กฎหมายตั้งสหภาพแรงงานต่างด้าว ไม่ทันเส้นตายสหรัฐตัดสิทธิ GSP

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์กรณีสหรัฐอเมริกาตัดสิทธิพิเศษทางการศุลกากร (GSP) สินค้าส่งออกไทย 573 รายการว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจให้คณะรัฐมนตรีฟัง โดยกฎหมายในเวลานี้ทำไม่ได้ เพราะม.ร.ว.จตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานบอกว่าทำไม่ได้ และหลายประเทศไม่เปิดโอกาสให้ทำ ซึ่งในสหรัฐฯก็ไม่อนุญาตให้ทำ

“ปัญหานี้คงยากที่จะทำ และแม้จะแก้กฎหมายก็จะใช้เวลายาวนาน หรือ นานกว่า 6 เดือน ซึ่งเป็นวันครบกำหนดตัดสิทธิ GSP คือ วันที่ 25 เมษายน 2563 เพราะฉะนั้นคงต้องใช้วิธีอื่นในการเจรจา เพราะมีช่องทางที่จะเจรจาหลายเรื่อง เขาอาจจะหยิบยกเรื่องแรงงานมาเป็นเรื่องแรก แต่เราอาจจะหยิบเรื่องอื่นขึ้นมาเจรจาได้”

นายวิษณุกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่น่าจะไม่เกี่ยวอะไรโดยตรงกรณีห้ามใช้ 3 สารเคมี แต่อาจเป็นเพราะเรามีจุดอ่อนหลายเรื่อง จึงขึ้นอยู่กับสหรัฐ ฯ ว่าจะหยิบจุดอ่อนเรื่องใดขึ้นมาเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งวันนี้หยิบเรื่องแรงงานมาเป็นเรื่องใหญ่

“หากไม่หยิบเรื่องนี้ (แรงงาน) อาจจะหยิบเรื่องอื่นขึ้นมาเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งเราก็ต้องพยามยามแก้ในเรื่องอื่น ใช้เรื่องอื่นขึ้นมาเจรจากับเขา ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ในวิสัยที่เราอาจจะปรับแก้ได้ ไม่ยากเหมือนสหภาพแรงงาน”

ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องการตั้งสหภาพแรงงานปิดประตูไปเลยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า “ผมไม่อยากพูดอย่างนั้น เพราะเป็นเรื่องของกระทรวงแรงงานที่จะไปหารือกับสหรัฐ ฯ จะมีวิธีอย่างอื่น ใกล้เคียง หรือ คล้ายคลึงอย่างไร”

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 30/10/2562 

สรส.เตือนอย่าตื่นตระหนก สหรัฐอเมริกาตัด GSP ย้ำต้องเร่งแก้ไข

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)ส่งจดหมายเปิดผนึก ถึงรัฐบาล พี่น้องประชาชน สื่อมวลชน และ พี่น้องผู้ใช้แรงงาน ผู้ประกอบการ เรื่อง”อย่าตื่นตระหนก!..สหรัฐอเมริกาตัด GSP ประเทศไทย แต่..ต้องเร่งแก้ไข” วันที่ 29 ตุลาคม 2562 โดยมีเนื้อหา ดังนี้

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2562 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกาได้ประกาศระงับระบบการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP: Generalized System of Preferences) กับสินค้าไทย ด้วยเหตุผลว่า ไทยล้มเหลวในเรื่องการให้สิทธิแรงงานภายในประเทศตามหลักสากล โดยสิทธิ GSP นี้ ถือเป็นการให้ฝ่ายเดียว (unilateral) โดยประเทศที่ให้สิทธิ GSP นั้น ไม่ได้เรียกร้องผลประโยชน์ใด ๆ ตอบแทนจากประเทศผู้รับ แต่การให้สิทธิ GSP นั้นเป็นการให้แบบมีเงื่อนไข กล่าวคือ ประเทศผู้รับจะต้องมีคุณสมบัติเข้าเงื่อนไขต่าง ๆ ตามที่ประเทศผู้ให้สิทธิกำหนด เช่น ในกรณีของสิทธิ GSP จากสหรัฐฯ จะมอบให้กับประเทศที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติต่อหัว (GNP) ไม่เกิน 12,735 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น โดยล่าสุดในปี 2018 ของไทยอยู่ที่ประมาณ 7,200 ดอลลาร์สหรัฐฯ จึงยังเข้าเงื่อนไขดังกล่าวนี้ในการรับสิทธิ GSP จากสหรัฐฯ นอกจากนี้ สำหรับการรับสิทธิจากสหรัฐฯ ยังมีเงื่อนไขอื่น ๆ กำหนดไว้อีก เช่น จะต้องมีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่ดีพอ มีการคุ้มครองแรงงานในระดับที่นานาชาติยอมรับ มีการเปิดตลาดสินค้าและบริการอย่างสมเหตุผล รวมถึงหากเป็นประเทศที่มีการก่อการร้ายสากล ก็จะต้องเป็นประเทศที่ให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ ในการต่อต้านการก่อการร้ายด้วย

ก่อนหน้านี้ หากจำกันได้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเคยส่งสัญญาณและเตือนประเทศไทยเกี่ยวกับความล้มเหลวในการแก้ปัญหาเรื่องค้ามนุษย์และจัดลำดับให้ประเทศไทยซึ่งอยู่ในฐานะประเทศที่ต้องจับตามอง(Tier 2 Watch List) ตกชั้นไปอยู่ในระดับ Tier 3 ในปี 2559 หมายถึง เป็นประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายด้านการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ และไม่ได้ใช้ความพยายามอย่างมีนัยสำคัญที่จะแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ต่อมากระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาได้เลื่อนสถานะของไทยในรายงานการค้ามนุษย์จากเทียร์ 3 ขึ้นมาเป็นเทียร์ 2 ที่ต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) ในปี 2560 และในปี 2561 เลื่อนขึ้นมาเป็นเทียร์ 2 หลังจากประเทศไทยได้ใช้ความพยายามในการแก้ปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติอย่างจริงจัง โดยยึดหลักสิทธิมนุษยชนและสิทธิอันเท่าเทียมของความเป็นมนุษย์ การแก้ปัญหาการประมงผิดกฎหมาย IUU Fishing การขึ้นทะเบียนแรงงานและเรือประมง มีมาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดและเป็นรูปธรรม การตรวจคนเข้าเมือง การขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว การปราบปราม จับกุมผู้กระทำความผิด การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัย ครอบคลุมและตรงต่อการแก้ปัญหามีการจัดตั้งหน่วยงานพิเศษ ดำเนินคดีการค้ามนุษย์เป็นการเฉพาะเพื่อลดระยะเวลาดำเนินคดีจากการที่รัฐบาลมุ่งมั่นและตั้งใจแก้ไขปัญหาในทุกมิติอย่างเป็นระบบ

เช่นเดียวกันก่อนหน้านี้ ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ได้ประกาศให้ใบเหลืองแก่ประเทศไทยหรือ IUU (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing) ซึ่งหมายถึงการที่ประเทศไทยปล่อยให้มีการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ใช้แรงงานผิดกฎหมาย แรงงานทาส และคนงานภาคการประมงไร้สิทธิการคุ้มครองทางกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม สหภาพยุโรปกำหนดให้ไทยเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงที่จะถูกจัดให้เป็นประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือ (possibility of identifying as non-cooperating country) ภายใต้กฎระเบียบ IUU ของสหภาพยุโรป ซึ่งใบเหลืองถือเป็นเพียงการประกาศเตือนในเบื้องต้น แต่เปิดโอกาสให้มีการเจรจาและแก้ไขปรับปรุงได้ แต่หลังจากประเทศไทยได้ดำเนินการอย่างจริงจังทั้งเรื่องการรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 188 รวมทั้งมีการแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการค้ามนุษย์ จนในที่สุดสหภาพยุโรปก็ยกเลิกการให้ใบเหลือง (IUU Fishing) กับประเทศไทย กลับสู่ภาวะปกติ

ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน การที่ประเทศสหรัฐอเมริกาโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ก็อย่าตระหนกตกใจ ตีโพยตีพายเกินเหตุสิ่งที่สำคัญคือต้องใช้สติ ใช้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาจากภาคีหลายฝ่ายในประเทศเช่นก่อนนี้ทั้งรัฐบาล ผู้ประกอบการ สหภาพแรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชนได้ผนึกกำลังบูรณาการกันทำงาน จนสามารถก้าวพ้นจุดวิกฤติมาได้ การที่สหรัฐอเมริกาตัดสิทธิ GSP ประเทศไทยในครั้งนี้นั้น ได้รับการยืนยันจากสหรัฐอเมริกาและกระทรวงพาณิชย์ของไทยแล้วว่า “เกี่ยวข้องกับประเด็นการละเมิดสิทธิแรงงาน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเด็นอื่น” จึงไม่ควรนำไปผูกโยงจนเกิดความไขว้เขวเพราะจะทำให้แก้ปัญหาไม่ถูกทาง จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก

ต้องยอมรับความจริง การที่สหรัฐอเมริกาตัดสินใจตัดสิทธิพิเศษทางศุลกากรแก่ประเทศไทยนั้นเขาคงมีข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจ เพราะกระบวนการข่าวกรองของเขาก็เป็นที่ทราบกันว่าลึกล้ำแค่ไหนและที่สำคัญเมื่อเราต้องการค้าขายกับเขา และเขาเป็นเจ้าของตลาด เราจึงจำเป็นต้องแก้ไขจุดบกพร่องของเราเพื่อได้สิทธินั้นกลับคืนมา และความจริงอีกประการหนึ่งที่ต้องยอมรับ คือ สถานการณ์แรงงานในประเทศไทย อยู่ในสภาวะที่น่าห่วงใย ทั้งเรื่องสิทธิ โอกาส คุณภาพชีวิต และความมั่นคงในการทำงาน กล่าวคือ ประชากรในวัยทำงานในขณะนี้ประมาณ 40 ล้านคน แต่มีสถานะเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเพียง 600,000 คนเท่านั้น เพราะกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ที่มีอยู่ไม่เอื้อต่อการรวมตัว ล้าหลังไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และยังมีกฎหมายแรงงานหลายฉบับที่จำแนกแยกคนงานออกจากกันทั้งรัฐวิสาหกิจ เอกชน คนทำงานบ้าน ผู้รับงานไปทำที่บ้าน มีการทำลายผู้นำแรงงาน ทำลายสหภาพแรงงาน เช่น กรณีผู้นำสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) 13 คนที่รณรงค์เรื่องความปลอดภัยเพียงเพื่อให้ประชาชนได้ใช้บริการอย่างมั่นใจ ปลอดภัย เมื่อปี 2552 หลังรถไฟประสบอุบัติเหตุตกรางที่สถานีเขาเต่าอันเนื่องมาจากอุปกรณ์ของรถจักรไม่สมบูรณ์ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 7 ราย บาดเจ็บนับร้อยแต่ผู้นำสหภาพกลับถูกเลิกจ้างแม้การเจรจาภายในจะจบลงด้วยการรับกลับเข้าทำงานโดยไม่มีความผิดแต่ถูกการรถไฟฯ เรียกร้องค่าเสียในมูลค่าที่สูงและได้อายัดเงินจนแทบไม่มีเหลือให้ยังชีพ และการรถไฟฯ ร้องเรียนไปยังสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวหาว่าละทิ้งหน้าที่ ทำให้รัฐเสียหาย ทุจริตประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงและอยู่ระหว่างดำเนินคดีทางศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง กรณีสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย ที่ถูกบริษัทกล่าวหาทำให้ภาพลักษณ์ของบริษัทเสียหายเรียกร้องค่าเสียหายสูงถึง 326 ล้านบาท เพียงเพราะสหภาพเข้าไปเจรจาหาข้อยุติกรณีที่พนักงานได้ประท้วงเรียกร้องเรื่องค่าจ้าง กรณีสหภาพแรงงานมิตซูบิชิ อีเล็คทริค ประเทศไทย ที่บริษัทได้สั่งปิดงาน เลิกจ้างแกนนำสหภาพเพียงเพราะสหภาพได้พยายามทำหน้าที่ยื่นข้อเรียกร้องปกป้องสิทธิ ให้แก่สมาชิก บีบบังคับให้ไปทำกิจกรรมอบรมนิสัย และเขียนจดหมายขอโทษต่อบริษัท

ในสิ่งที่ทำไปร่วมกับสหภาพ เป็นต้น ในส่วนข้าราชการ ลูกจ้างภาครัฐ ก็ไม่สามารถรวมกลุ่มกันจัดตั้งสหภาพแรงงานเพื่อปกป้องสิทธิของพวกเขาได้ ดังที่เห็นได้จากเมื่อไม่นานมานี้ กรณีลูกจ้างชั่วคราว จ้างเหมารายวันนอกงบประมาณในกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข ที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องเพื่อความเป็นธรรมในการจ้างงาน แม้กระทั่งแรงงานข้ามชาติซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยไม่น้อย ก็ยังถูกกีดกัน ถูกเอาเปรียบและไม่สามารถจัดตั้งองค์กรเพื่อปกป้องสิทธิของตนเองได้ ซึ่งโดยหลักการทางสากลสิทธิเหล่านี้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามหลักปฏิญญาสากลขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชนสากลและหลักการขั้นพื้นฐานขององค์การแรงงานระหว่าประเทศ (ILO) โดยเฉพาะอนุสัญญาฉบับที่ 87 ที่ว่าด้วยสิทธิ เสรีภาพในการสมาคม รวมกลุ่ม และฉบับที่ 98 ว่าด้วย สิทธิ เสรีภาพในการเจรจาต่อรอง ซึ่งรัฐบาลไทยยังไม่รับรอง

ในเรื่องโอกาสและคุณภาพชีวิต คนงานจำนวนไม่น้อยไม่สามารถเข้าถึงหลักประกันทางสังคมได้ อันเนื่องมาจากเงื่อนไขการทำงาน การจ้างงาน เป็นแรงงานในระบบ นอกระบบ แรงงานภาคเกษตร แรงงานภาคบริการ คนรับงานไปทำที่บ้าน คนทำงานบ้าน คนงานเหมาช่วง เหมาค่าแรง นักศึกษาฝึกงาน การจ้างงานแยกย่อยเหล่านี้ ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้คนงานไม่สามารถเข้าถึงหลักประกันทางสังคมได้ แม้บางส่วนจะเข้าถึงได้แต่ก็เป็นไปด้วยความยากลำบากด้วยเงื่อนไขที่มากมาย ซ้ำค่าจ้างที่แลกมาด้วยหยาดเหงื่อแรงงานก็ต่ำ
ไม่สอดคล้องกับราคาสินค้าที่ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่เป็นไปตามหลักกติกาสากล จนไม่สามารถดำรงชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้

ส่วนเรื่องความมั่นคงในการทำงานในสถานการณ์ปัจจุบัน ก็ล้วนแต่มีการจ้างงานตามสัญญาจ้าง ระยะสั้น หลากหลายรูปแบบดังที่กล่าวมาที่ได้แพร่ระบาด ทั้งในภาครัฐ เอกชน คนงานหวาดผวากับความเสี่ยงในเรื่องการตกงาน ว่างงาน เกิดภาวะหนี้สินทั้งส่วนตัวและครัวเรือนสูง เป็นเหตุให้ความเหลื่อมล้ำในทุกด้านสูงเป็นลำดับต้นของโลก คนงานไม่สามารถวางแผนชีวิตอนาคตในการสร้างหลักประกัน สร้างความมั่นคงให้ตนเองและครอบครัวได้ ยิ่งในยุคการจ้างงานที่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี แขนกล หุ่นยนต์ ระบบ Automation ระบบ AI ที่จะมาทำงานแทนคน ในขณะที่มาตรการรองรับทางสังคมแทบจะไม่มี

สิ่งที่กล่าวมา ล้วนแต่เป็นความจริงที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในสังคมไทยในปัจจุบัน ดังนั้น เมื่อเขาอ้างเหตุเรื่องมาตรฐานแรงงานที่ไม่เป็นไปตามหลักสากล การแสวงหาความจริงและการร่วมกันแก้ไขปัญหาร่วมกันจึงเป็นเรื่องสำคัญ อย่าพยายามบิดเบือนประเด็นให้บิดเบี้ยว แต่ควรต้องเร่งแก้ไข และใช่ว่าเขาจะตัดสิทธิในทันทีทันใดเขาให้เวลาถึง 6 เดือน ที่ประกาศออกมาเป็นเพียงสัญญาณเตือน ดังที่กล่าวมาข้างต้นว่าเขาเป็นเจ้าของตลาดเราเป็นผู้นำสินค้าไปขายในตลาดของเขา เราก็จึงจำเป็นต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขตลาดของเขา เว้นไว้แต่ว่าเราไม่ต้องการค้าขายกับเขา เราก็ไม่ต้องไปแก้ไขอะไรใด ๆ ทั้งสิ้น แต่ก็ต้องไม่ลืมว่ายุโรปและทั่วทุกภูมิภาคของโลกโดยองค์การสหประชาชาติ (UN) ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาโลกอย่างยั่งยืน (Sustainable-Development-Goals-SDGs) 17 ด้าน ได้กำหนดเรื่องธุรกิจการค้าทุกระดับต้องยึดถือเอาเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องสิทธิแรงงานเป็นสำคัญและได้กำหนดงานที่มีคุณค่าไว้ใน SDGs ลำดับที่ 8 แม้กระทั่งล่าสุดอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 190 ว่าด้วย “การขจัดความรุนแรงและการล่วงละเมิดในโลกแห่งการทำงาน” ที่ออกในวาระครบรอบ 100 ปีองค์การแรงงานระหว่างประเทศ รวมทั้งหลักการ Future of Works ก็ล้วนบัญญัติในเรื่องสิทธิแรงงาน สิทธิมนุษยชนที่ไปผูกโยงเรื่องการค้าทั้งสิ้น ซึ่งยังไม่รู้ว่าจากกรณี
ที่สหรัฐอเมริกาแล้วจะมีประเทศไหนจะประกาศอีก เพราะเรื่องให้สิทธิ GSP มิได้มีเพียงประเทศเดียวยังมีประเทศอื่นที่ให้สิทธิแก่ไทย เช่น ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ สหภาพยุโรป ตุรกี แคนาดา รวมไปถึงรัสเซียและเครือรัฐเอกราช

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) จึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยให้รีบเร่งแก้ไขปัญหาดังเช่นกรณีก่อนหน้านี้ที่สามารถก้าวผ่านวิกฤติมาได้ภายใต้ความร่วมมือของทุกฝ่าย ซึ่ง สรส. ก็เป็นองค์กรหนึ่งที่เข้าร่วมกิจกรรมร่วมกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) สภาองค์การลูกจ้าง นายจ้าง กระทรวงแรงงานและหน่วยงานภาครัฐและองค์กรระหว่างประเทศ เช่น สหภาพยุโรป OECD ในโครงการต่าง ๆ เช่น GLP (Good Labour Practices) / Ship to Shore Rights / โครงการ “งานที่มีคุณค่าเพื่อธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน” (Supply Chains) / แผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่า (Decent Work Country Program: DWCP) เป็นต้น และที่สำคัญอย่าตีโจทย์แตกประเด็นให้สับสน และ สรส. พร้อมที่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ดังเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา

ที่มา: voicelabour.org, 29/10/2562 

พนักงานร้านอะโกโก้แจ้งความ เจ้าของร้านชาวต่างชาติไม่จ่ายค่าแรงให้

เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2562 พ.ต.ต.ธานินทร์ กันภัย สารวัตรสอบสวน สภ.พัทยา จ.ชลบุรี เปิดเผยว่า ช่วงกลางดึกคืนที่ผ่านมา ได้มีกลุ่มหญิงสาวไทยกว่า 40 คน อาชีพนักเต้นอะโกโก้ ร้านชื่อดังในย่านถนนวอล์คกิ้ง สตรีท พัทยาใต้ ทยอยขึ้นโรงพักมาแจ้งความร้องทุกข์เอาผิดกับ นายจ้างชาวต่างชาติที่เบี้ยวค่าแรง โดยทั้งหมดให้การอ้างทำนองว่า แต่เดิม นายเอ (นามสมมุติ) เจ้าของร้านชาวต่างชาติจะจ่ายค่าแรงรายวันตรงต่อเวลาเสมอ แต่ระยะหลังมักจะเลื่อนการจ่ายค่าแรงออกไปเรื่อย ๆ โดยอ้างว่าเศรษฐกิจไม่ดี มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาดื่มกินน้อยลง แม้พนักงานในร้านทุกคนจะเห็นใจและพยายามอดทน เชื่อว่าเดือนตุลาคมนี้จะเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวหรือไฮซีซั่น แต่กลับตาลปัตร แนวโน้มชาวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาพักผ่อนในเมืองพัทยากลับลดน้อยลง จึงส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่จากผู้ประกอบการจนถึงลูกจ้าง

ด้าน น.ส.เจน (นามสมมุติ) อายุ 29 ปี ตัวแทนของพนักงานร้านที่ถูกเบี้ยวนัดจ่ายค่าแรง เปิดเผยกับว่า ผู้เสียหายที่มาวันนี้ได้เข้ามาทำงานที่อะโกโก้แห่งนี้ เมื่อวันที่ 14 ต.ค ที่ผ่านมา โดยสมัครเข้าทำงานเป็นแทรคๆละ 10 วัน แต่พอครบกำหนดจ่ายค่าแรง ทางเจ้าของร้านกลับขอเลื่อนวันจ่ายออกไป มาเป็นเวลา 21.00 น.วันที่ 28 แต่เมื่อถึงกำหนดกลับติดต่อตัวเจ้าของร้านไม่ได้ ซึ่งส่อให้เห็นว่ามีเจตนาเบี้ยวค่าแรงทั้งหมดราว 4 แสนบาท ซึ่งหลังจากแจ้งความร้องทุกข์ไปแล้วพวกตนอยากให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาช่วยเหลือช่วยติดตามตัวเจ้าของร้านมาดำเนินคดี หรือยอมชดใช้ค่าแรง ซึ่งทุกคนทำงานเหนื่อยมาก ต้องใส่รองเท้าส้นสูงยืนทำงาน 7-8 ชั่วโมง และทุกคนก็ต้องมีค่าใช้จ่ายส่งให้พ่อแม่และลูก รวมไปถึงค่าเช่าห้องและค่าใช้จ่ายส่วนตัว ยอมรับว่ามีความหวังน้อยมากที่จะได้เงินเดือนจากนายจ้างรายนี้ เพราะไม่รู้ว่าจะมีใครติดตามให้หรือป่าว หลังจากนี้คงต้องไปร้องเรียนหน่วยงานอื่น ๆ จนกว่าจะได้รับค่าแรงที่ทุกคนต้องได้

เบื้องต้น พ.ต.ต.ธานินทร์ กันภัย สว.สอบสวน เจ้าของคดี ได้ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน พร้อมให้คำแนะนำเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวจะต้องเดินทางร้องทุกข์ไปยังกรมแรงงานจังหวัดชลบุรีต่อไป

ที่มา: เดลินิวส์, 29/10/2562 

ส.อ.ท. ย้ำอุตสาหกรรมรถยนต์ยังไม่ปลดแรงงาน แต่เริ่มลด-ยกเลิกโอที

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. กล่าวว่า จากการปรับลดประมาณการผลิตรถยนต์ปี 2562 ใหม่อยู่ที่ 2 ล้านคัน ลดลง 1.5 แสนคัน จากเป้าหมายเดิมอยู่ที่ 2.15 ล้านคัน ต่ำกว่ายอดผลิตรถยนต์ปี 2561 ที่ผลิตได้ 2.16 ล้านคัน ยอมรับว่าจะมีผลกระทบต่อคำสั่งซื้อชิ้นส่วนรถยนต์ฯ ให้ลดลงตามไปด้วย แต่ส่วนหนึ่งผู้ผลิตชิ้น

ส่วนยานยนต์เองก็ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการส่งออกที่ลดต่ำตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยในส่วนของผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศยังไม่มีแผนเลิกจ้างแต่อย่างใด โดยมีเพียงแต่เลิกการทำงานล่วงเวลาหรือโอทีเท่านั้น

ด้าน นายพินัย ศิรินคร ประธานกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์และอะไหล่ยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวว่า ขณะนี้คำสั่งซื้อชิ้นส่วนฯ ลดลง 5-10% ลดลงต่ำสุดในรอบ 10 ปี ซึ่งปัจจัยหลักมาจากคำสั่งซื้อและยอดขายในอุตสาหกรรมยานยนต์ลดลงจากผลกระทบสงครามการค้า ซึ่งหากสงครามการค้าคลี่คลายลงก็มั่นใจว่าสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องจะดีขึ้น ก็จะช่วยประคองสถานการณ์ในช่วงนี้ไปได้

ขณะที่ นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.อยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมปี 2562 และแนวโน้มปี 2563 เพื่อให้ทุกภาคส่วนนำข้อมูลไปปรับทิศทางการดำเนินงาน นโยบาย เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากขณะนี้มีสัญญาณของภาคอุตสาหกรรมที่เป็นห่วงโซ่การผลิต (ซัปพลายเชน) ที่ได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่หดตัว เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนรถยนต์ ฯลฯ ที่เริ่มทยอยปิดโรงงานและบางส่วนเริ่มให้พนักงานหยุดงานชั่วคราวเพื่อรอประเมินสถานการณ์คำสั่งซื้อบ้างแล้ว

ที่มา: PPTV, 28/10/2562 

เล็งเพิ่มข้าราชการครู ‘กศน.’ 891 คน

นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมประชุมมอบนโยบายการขับเคลื่อนงานของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ประจำปี 2563 ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ ให้แก่กศน.จังหวัดทั่วประเทศว่า ตนได้ประชุมติดตามนโยบายต่างๆของรัฐบาลและนโยบายของตนว่าติดปัญหาและอุปสรรคใดบ้าง และมีการดำเนินการคืบหน้าไปถึงไหนบ้างแล้ว พร้อมรับฟังปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดการทำงานที่ไปในทิศทางเดียวกัน โดยพื้นที่ได้สะท้อนปัญหาการทำงาน เช่น รถโมบายเคลื่อนที่ของกศน.มีการใช้งานมานานแล้วจึงอยากได้รับงบประมาณปรับปรุงให้มีความทันสมัย รวมถึงรถโมบายบางคันมีขนาดใหญ่จนทำให้เข้าพื้นที่บริการในชุมชนได้ไม่สะดวก ซึ่งตนพร้อมรับเสียงสะท้อนในประเด็นเหล่านี้มาแก้ไขให้ เป็นต้น

รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ในส่วนของการพัฒนาครูกศน.นั้นตนรับปากที่จะสร้างขวัญกำลังใจให้ด้วยการเร่งดำเนินการเรื่องการหาอัตราตำแหน่งการสรรหา บรรจุ และแต่งตั้ง ข้าราชการครูกศน.ใน จำนวน 891 อัตราให้ได้ โดยแบ่งสัดส่วนให้กลุ่มลูกจ้างกศน.มีสิทธิ์สอบ จำนวน ร้อยละ 80 เพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่กลุ่มลูกจ้างก่อน และเปิดให้บุคคลทั่วไปได้เข้ามาสอบอีก ร้อยละ 20 แต่ในกลุ่มนี้จะมีเกณฑ์คัดเลือกสูงและเข้มข้นทั้งวิชาการและภาษาอังกฤษ และภาษาที่สาม เช่น บรรจุในพื้นที่ใกล้ชายแดนประเทศเพื่อนบ้านใดก็ต้องสามารถใช้ภาษาเหล่านั้นได้ด้วย เป็นต้น ขณะเดียวกันครูกศน.เองก็ต้องมีการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษด้วย เพราะถือเป็นนโยบายหลักของรมว.ศธ.ที่ต้องการให้ครูทุกสังกัดของศธ.มีทักษภาษาที่เข้มข้น นอกจากนี้จะพัฒนากศน.ตำบลให้มีบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ โดยยกระดับกศน.ตำบล 928 แห่ง อำเภอละ 1 แห่ง เป็นกศน.ตำบล 5 พรีเมี่ยม และส่งเสริมการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ พัฒนาการจัดการศึกษาออนไลน์กศน. มีหลักสูตรลูกเสือมัคคุเทศก์ และปรับหลักสูตรการจัดการศึกษาอาชีพ รวมถึงเสริมสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายจัดทำภูมิปัญญาท้องถิ่นและส่งเสริมภูมิปัญญาสู่การจัดการเรียนรู้ชุมชน ขณะเดียวกันจะพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษาเพื่อประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาและกลุ่มเป้าหมาย

ที่มา: เดลินิวส์, 28/10/2562 

สภาองค์การลูกจ้างค้านแรงงานข้ามชาติตั้งสหภาพฯ ชงลูกจ้างไทยกลุ่มเหมาบริการ 4 แสนคนให้ได้สิทธิแทน

วันที่ 28 ต.ค. 2562 นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีสหรัฐอเมริกาจะตัดสิทธิพิเศษภาษีศุลกากรสินค้า หรือจีเอสพี (GSP) ของไทย โดยให้เหตุผลประเด็นสิทธิแรงงาน ว่า จริงๆผลกระทบจากกรณีนี้จะไปที่กลุ่มการประมง อาหารทะเล ซึ่งในเรื่องที่เกิดขึ้น แม้จะมีผลกระทบแต่ยังไม่มาก และรัฐก็มีมาตรการอยู่ แต่ที่ตนสงสัยว่า ทำไมมาเกิดตอนนี้ ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าเกี่ยวข้องกับมติการแบนสารเคมีทางการเกษตรของไทยในช่วงที่ผ่านมาหรือไม่ เพราะจริงๆ การตัดสิทธิจีเอสพี โดยให้เหตุผลว่ามาจากเรื่องสิทธิแรงงาน ซึ่งเดิมสหรัฐอเมริกา เรียกร้องให้ประเทศไทยรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 เรื่องแรงงานสัมพันธ์ และ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการเจรจาต่อรอง กรณีนี้ประเทศไทยได้มีการทำประชาพิจารณ์ไปเมื่อกลางปี 2561 ที่ผ่านมา

นายมนัส กล่าวอีกว่า ช่วงกลางปี 2561 ที่ผ่านมา ภาคอุตสาหกรรมและภาคแรงงานได้มีการประชาพิจารณ์เพื่อหามติเกี่ยวกับประเด็นอนุสัญญาฯ ILO ทั้ง 2 ฉบับ โดยเบื้องต้นกำลังเดินหน้าเกี่ยวกับอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการเจรจาต่อรอง เพียงแต่ในประเด็นอนุสัญญาฯ ILO ฉบับที่ 87 เรื่องแรงงานสัมพันธ์ ผลการประชุมมีมติว่า หากจะให้มีการระบุว่า การตั้งสมาคม หรือสหภาพแรงงาน สามารถดำเนินการได้ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวด้วยนั้น ก็เห็นกันว่า ยังไม่ควร แต่ควรให้กับแรงงานไทยที่ยังขาดสิทธิสวัสดิการอยู่อีกมาก

“แรงงานไทยที่ยังขาดสิทธิสวัสดิการอยู่มาก และเห็นชัดคือ กลุ่มลูกจ้างเหมาบริการ หรือจ้างเหมาทำของในส่วนราชการ ซึ่งมีประมาณ 400,000 คนกระจายในกระทรวงต่างๆทั่วประเทศ กลุ่มนี้สิทธิสวัสดิการน้อยกว่าแรงงานต่างด้าวด้วยซ้ำ เพราะแรงงานต่างด้าวยังมีกฎหมายคอยคุ้มครอง แต่กลุ่มลูกจ้างส่วนราชการกลุ่มจ้างเหมา กลุ่มนี้ไม่มีสิทธิอะไรเลย เราจึงควรดันให้ลูกจ้างไทยกลุ่มนี้ได้มีสิทธิมีเสียง มีโอกาสในการตั้งสหภาพเพื่อเรียกร้องให้ตนเองไม่ดีกว่าหรืออย่างไร” นายมนัส กล่าว

นายมนัส กล่าวว่า ตนกำลังเดินหน้าในเรื่องการให้สิทธิสวัสดิการกลุ่มลูกจ้างส่วนราชการ ที่เป็นสัญญาจ้างเหมา เพราะกลุ่มนี้มีนายจ้าง ก็คือ ส่วนราชการนั้นๆ แต่ใช้วิธีการจ้างเหมาแทน ทำให้เลี่ยงไม่ต้องให้สิทธิสวัสดิการ แม้แต่สิทธิจากประกันสังคมก็ไม่ได้รับ

ที่มา: PPTV, 28/10/2562 https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/112962

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท