เผยอาเซียนเดินหน้า 'แผนประชาคมการเมือง-ความมั่นคง' ไปกว่า 94% แล้ว

รมว.ต่างประเทศ เผยที่ประชุมคณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนเดินหน้าแผนประชาคมการเมืองและความมั่นคงไปกว่า 94% แล้ว สำนักเลขาฯ อาเซียนจัดทำบัญชีรายชื่อโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน 'บาห์เรน-เยอรมนี' ลงนามสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย

2 พ.ย. 2562 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานการประชุมคณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ครั้งที่ 20 (20th APSC Council Meeting) โดยที่ประชุมได้หารือความคืบหน้าในการขับเคลื่อนความร่วมมือ ภายใต้แนวคิด “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” โดยเฉพาะในมิติความมั่นคงอย่างยั่งยืน และติดตามความคืบหน้าของการดำเนินงานในประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน อาทิ สถานะการดำเนินงานขององค์กรอาเซียนเฉพาะสาขา (ASEAN Sectoral Bodies) และกลไกการประชุมภายใต้เสาการเมืองและความมั่นคง รวมถึงความคืบหน้าของแผนงานประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ค.ศ.2025 (APSC Blueprint 2025)

นายดอน กล่าวว่า การประชุมคณะมนตรีประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน เป็นโอกาสดีที่ให้มีการเดินหน้าความร่วมมือในการสร้างสันติภาพและความมั่นคงที่ยั่งยืนในภูมิยุทธศาสตร์ที่กำลังเปลี่ยนแปลง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เร่งด่วนท่ามกลางความไม่แน่นอน เทคโนโลยีก้าวกระโดด และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว อาเซียนได้ดำเนินกิจกรรมตามมาตรการยุทธศาสตร์ (action line) ที่ระบุในแผนงานประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ค.ศ.2025 (APSC Blueprint 2025) ไปแล้วกว่าร้อยละ 94 ซึ่งต้องมีการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกันในภูมิภาค สร้างความร่วมมือที่เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย เพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ การลักลอบค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ การจัดตั้งกลไกความร่วมมือด้านการบริหารจัดการชายแดนในอาเซียน (ASEAN-wide Border Management Cooperation Arrangement) จะช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ และส่งเสริมความเชื่อมโยงอาเซียน

นอกจากนี้ นายดอน ยังเป็นประธานการประชุมคณะมนตรีประสานงานอาเซียน ครั้งที่ 24 (24th ASEAN Coordinating Council - ACC) เพื่อเตรียมการสำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ติดตามผลการดำเนินงานจากการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 และหารือเรื่องการเสริมสร้างประสิทธิภาพสำนักเลขาธิการอาเซียน การส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างวิสัยทัศน์อาเซียน ค.ศ.2025 และวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืน ค.ศ.2030 ของสหประชาชาติ ตลอดจนการเสริมสร้างทุนมนุษย์และความเชื่อมโยงในอาเซียนมากยิ่งขึ้น

'ประยุทธ์' เปิดงาน ASEAN Business 2019 เตรียมรับมือความท้าทายใหม่ในยุคดิจิทัล

สำนักเลขาฯ อาเซียนจัดทำ 'บัญชีรายชื่อโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐาน'

2 พ.ย. 2562 สำนักเลขาธิการอาเซียนได้จัดทำ 'บัญชีรายชื่อโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่มีศักยภาพของอาเซียน' ภายใต้แผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ค.ศ. 2025 เพื่อเสริมสร้างเครือข่ายความเชื่อมโยงในอาเซียนและเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจ โดยได้รับการสนับสนุนจากธนาคารโลกและออสเตรเลีย มีทั้งหมด 19 โครงการ ซึ่งสามารถเพิ่มเติมหรือตัดออกได้ ประกอบด้วยโครงการด้านการขนส่ง พลังงาน และเทคโนโลยีสารสนเทศ มีโครงการในไทย 3 โครงการ คือ ศูนย์ดิจิทัลอาเซียน (ASEAN Digital Hub) ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหาดใหญ่-สะเดา และรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย ทั้งนี้ นาย Simon Birmingham รัฐมนตรีการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุนของออสเตรเลีย ได้เข้าร่วมพิธีประกาศบัญชีรายชื่อโครงการด้วย

'บาห์เรน-เยอรมนี' ลงนามสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย พร้อมด้วย รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซีย ร่วมลงนามสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับ เชค คาหลิด บิน อาเหม็ด บิน โมฮัมเหม็ด อัล คอลิฟะห์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศราชอาณาจักรบาห์เรน ซึ่งการเข้าร่วมเป็นอัครภาคีของสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเพิ่มพูนปฏิสัมพันธ์ระหว่างบาห์เรนกับอาเซียนในมิติต่าง ๆ ให้มีพัฒนาการมากยิ่งขึ้น ซึ่งบาห์เรน ถือเป็นผู้นำในการหารือทางยุทธศาสตร์และส่งเสริมความมือระหว่างอาเซียนกับกลุ่มประเทศคณะมนตรีความร่วมมือแห่งอ่าวอาหรับ หรือ Gulf Cooperation Council (GCC)

โดยนายดอน กล่าวว่า สนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นกลไกพื้นฐานสร้างสันติภาพ ความมั่นคง และความมั่นคั่งในภูมิภาค ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่สำคัญ ตั้งแต่เริ่มบังคับใช้ในปี 2519 ซึ่ง บาห์เรนในฐานะที่เป็นสมาชิก GCC มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์ของสองภูมิภาค

โดยสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ แท็ค จัดทำขึ้นโดยประเทศสมาชิกอาเซียน 5 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย ทำหน้าที่กำหนดหลักการในการดำเนินความสัมพันธ์ในภูมิภาค 5 ประการ ได้แก่ การเคารพในอำนาจอธิปไตย ความเสมอภาคและบูรณภาพแห่งดินแดน การไม่แทรกแซงกิจการภายใน การแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี การไม่ใช้หรือขู่ว่าจะใช้กำลัง และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกัน รวมทั้งมีมาตรเกี่ยวกับแนวทางการยุติข้อพิพาทโดยสันติวิธีโดยอาศัยกลไกคณะอัครมนตรี เพื่อเป็นการเสริมสร้างความมั่นใจในภูมิภาค

นอกจากนี้เยอรมนีได้ส่งทูตประจำอาเซียน เป็นผู้แทนรัฐมนตรีต่างประเทศ ร่วมลงนามเป็นอัครภาคีของสนธิสัญญาไมตรีฯ ด้วย

เปิดการประชุมสุดยอดอาเซียนเต็มคณะ-ย้ำยกระดับความร่วมมืออาเซียน 4 ด้าน

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 แบบเต็มคณะ ซึ่งมี ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศเข้าร่วม โดยระบุว่า การประชุมนี้เกิดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองวิสัยทัศน์ร่วมกัน ตลอดจนติดตามการดำเนินการเพื่อกำหนดเป้าหมายและทิศทางของอาเซียนร่วมกัน

โดยหลังการประชุม อาเซียนครั้งที่ 34 ที่ผ่านมา ไทยได้นำผลประชุมของสมาชิกไปเข้าสู่การประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ และ ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ หรือ จี 20  ที่นครโอชาก้า ประเทศญี่ปุ่น โดยได้นำเสนอประเด็นความร่วมมือที่สำคัญ 4 ด้าน ระหว่างอาเซียน กับประเทศสมาชิกจี 20 เพื่อต่อยอด เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม ประกอบด้วยการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การพัฒนาทุนมนุษย์ และ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึงการแก้ไขปัญหาขยะทะเล 

นอกจากนั้น ยังได้นำประเด็นความร่วมมือที่ส่งเสริมความยั่งยืนในมิติต่าง ๆ ไปหารือต่อในเวทีสมัชชาสหประชาติ และได้เป็นตัวแทนอาเซียนในการประชุมผู้นำว่าด้วยการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Action Summit) การประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Summit) พร้อมย้ำความมุ่งมั่นของอาเซียนในการร่วมมือทำงานกับประชาคมโลก เพื่อความยั่งยืนและรับมือกับความท้าทายต่างๆที่มีผลกระทบต่อมนุษยชาติ

“ในการดำเนินการต่าง ๆ นี้ก็เพื่อสนับสนุนประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังและมองไปข้างหน้า เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้เราให้ความสำคัญกับการสร้างความเป็นหุ้นส่วนกับภาคีภายนอกและองค์กรต่าง ๆ เพราะอาเซียนไม่สามารถดำเนินการได้โดยลำพัง เราเชื่อว่าความเป็นหุ้นส่วนและมิตรภาพกับภาคีภายนอกเป็นเครื่องมือสำคัญช่วยให้ประชาคมอาเซียน ได้บรรลุผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน” นายกรัฐมนตรี กล่าว    

นายกรัฐมนตรียังเปิดเผยว่า นายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ได้ฝากความปราถนาดีมายังผู้นำอาเซียน และขอให้การประชุมครั้งนี้ประสบผลสำเร็จด้วย

ที่มาเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย [1] [2] [3] [4]

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท