Skip to main content
sharethis

ไต้หวันเปิดนำเข้าครบ 30 ปี แรงงานต่างชาติชุดแรกที่เดินทางมาทำงานในไต้หวันเป็นคนงานไทย ปัจจุบันแรงงานต่างชาติกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในสังคมไต้หวันไปแล้ว นักวิชาการเรียกร้องรัฐบาลเปลี่ยนแนวความคิดจากสกัดกั้น อนุญาตให้ย้ายถิ่นเพื่อดึงดูดให้แรงงานต่างชาติทำงานในไต้หวันได้อย่างถาวรต่อไป

โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ในไต้หวัน ส่วนใหญ่ว่าจ้างแรงงานไทย ที่มาภาพ: Radio Taiwan International

Radio Taiwan International รายงานเมื่อปลายเดือน ต.ค. 2562 ว่าไต้หวันเปิดให้นำเข้าแรงงานต่างชาติอย่างถูกกฎหมายเมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2532 แรงงานต่างชาติชุดแรกที่เดินทางมาทำงานในไต้หวันเป็นคนงานไทย ทำงานในไซต์งานก่อสร้างทางด่วนสาย 3 ระยะเวลาผ่านไป 30 ปี ยอดจำนวนแรงงานต่างชาติกว่า 710,000 คน กระจายทำงานในภาคส่วนต่างๆ ของไต้หวัน อาทิ ภาคการผลิต ก่อสร้าง ประมง และภาคสวัสดิการสังคม กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ขาดเสียมิได้ของสังคมไต้หวันไปแล้ว นักวิชาการด้านแรงงานกล่าวเรียกร้องรัฐบาลทบทวนนโยบายของเมื่อ 30 ปีที่แล้ว จากการนำเข้าเพื่อทดแทนภาวะขาดแคลนแรงงานและพยายามสกัดกั้นไม่ให้แรงงานต่างชาติย้ายถิ่น มาเป็นแรงงานต่างชาติช่วยสร้างโอกาสทำงานให้กับแรงงานท้องถิ่น และภายใต้สถานการณ์ที่อัตราการเกิดตกต่ำ ภาวะขาดแคลนแรงงานไม่สามารถจะแก้ไขได้ รัฐบาลควรจะมองการณ์ไกล พิจารณาให้มีการย้ายถิ่น เพื่อดึงดูดให้แรงงานต่างชาติที่มีทักษะฝีมืออยู่ทำงานในไต้หวันตลอดไป แน่นอน นี่ไม่ใช่เป็นประเด็นของกระทรวงแรงงานแต่เพียงกระทรวงเดียว แต่เป็นปัญหาที่รัฐบาลต้องนำมาขบคิด

นอกจากอุตสาหกรรมการผลิตแล้ว เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2535 อนุญาตให้องค์กรหรือครอบครัวที่มีผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุที่ช่วยตนเองไม่ได้ นำเข้าผู้อนุบาลต่างชาติได้ รวมถึงผู้ช่วยงานบ้าน และลูกเรือประมงต่างชาติ ส่วนทางด้านภาคการผลิตก็ขยายประเภทอุตสาหกรรมที่ขาดแคลนแรงงานและสามารถยื่นขอนำเข้าแรงงานต่างชาติได้จากเดิม 6 ประเภท 15 ตำแหน่งงานมาเป็น 68 ประเภทอุตสาหกรรม

เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2535 คณะกรรมการการแรงงานในสมัยนั้น ประกาศเกณฑ์การจัดเก็บค่าบริการจัดหางานและค่าบริการดูแลของบริษัทจัดหางานที่เป็นผู้จัดส่งและดูแลแรงงานต่างชาติ ประกาศนี้ เป็นที่มาของการอนุญาตให้บริษัทจัดหางานเรียกเก็บค่าบริการดูแลจากแรงงานต่างชาติได้ จากนั้นมีการปรับประเภทกิจการที่อนุญาตให้นำเข้าแรงงานต่างชาติได้ โดยเพิ่มกิจการชำแหละเนื้อสัตว์และภาคการเกษตร จนกระทั่งยอดจำนวนแรงงานต่างชาติเพิ่มมากขึ้น ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2562 แรงงานต่างชาติในไต้หวันมีจำนวน 711,001 คน ทำงานในภาคการผลิต 452,412 คน ภาคสวัสดิการสังคม 258,589 คน ในจำนวนนี้ เป็นผู้อนุบาลในองค์กร 15,200 คน ผู้อนุบาลในครัวเรือน 241,562 คน และผู้ช่วยงานบ้าน 1,826 คน

ด้านประเทศผู้ส่งออกจากที่อนุญาตให้ส่งออกแรงงานมาทำงานที่ไต้หวันได้ 6 ประเทศ แต่ปัจจุบันส่งออกจริง 4 ประเทศ ได้แก่ไทย อินโดนีเซีย เวียดนามและฟิลิปปินส์ ส่วนมองโกเลียและมาเลเซียไม่มีการส่งออกแรงงานมายังไต้หวันเลย และในจำนวน 4 ประเทศที่ส่งออกแรงงานมายังไต้หวัน อินโดนีเซียส่งออกมากที่สุด 271,583 คน ซึ่งส่วนใหญทำงานในตำแหน่งผู้อนุบาลในครัวเรือน เวียดนามอยู่อันดับ 2 มีจำนวน 223,433 คน ตามด้วยฟิลิปปินส์ 155,560 คน ส่วนแรงงานไทยจากแรกเริ่มครองแชมป์มีจำนวนมากเป็นอันดับหนึ่งมาโดยตลอด จนถึงปี 2549 ถูกอินโดนีเซียเบียดตกลงมา จนปัจจุบันเหลือจำนวนเพียง 60,423 คน

ศจ.เฉิงจือเยว จากสถาบันวิจัยแรงงาน มหาวิทยาลัยแห่งชาติเจิ้งจื้อ (NCU) กล่าวว่า นโยบายด้านแรงงานควรมองการณ์ไกลไปถึง 10-20 ปีข้างหน้าว่า ความพึ่งพิงแรงงานต่างชาติของไต้หวันเป็นเช่นไร ปัจจุบัน ไต้หวันไม่เพียงแต่ประสบปัญหาอัตราการเกิดที่ตกต่ำและภาวะขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรงเท่านั้น ยังต้องแข่งขันกับประเทศอื่นๆ เช่นญี่ปุ่นเป็นต้น ให้เงื่อนไขที่ดีกว่าเพื่อดึงดูดแรงงานต่างชาติไปทำงาน ไต้หวันนอกจากได้เปรียบในเรื่องความเคารพด้านสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังควรพิจารณาในแง่มุมให้สิทธิ์แก่แรงงานต่างชาติที่มีทักษะสามารถย้ายถิ่นเพื่อดึงดูดให้อยู่ทำงานในไต้หวันตลอดไป และแน่นอน คงไม่ใช่เป็นภาระหน้าที่ของกระทรวงแรงงานเพียงหน่วยงานเดียวเท่านั้น

ด้าน รศ. ซินปิ่งหลงจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันชี้ว่า ในอดีต ไต้หวันจะใช้นโยบายสกัดกั้น เกรงว่าการนำเข้าแรงงานต่างชาติในจำนวนที่มากเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อโอกาสทำงานของแรงงานท้องถิ่น โดยเฉพาะแรงงานสูงอายุอาจตกงาน แต่ปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิต โดยเฉพาะกิจการที่เป็นงานหนัก มีความเสี่ยงสูงและอันตราย ไม่สามารถหาแรงงานท้องถิ่นเข้าทำงานได้ ส่งผลให้ขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก โครงสร้างแรงงานเกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก นโยบายด้านแรงงานก็ควรเปลี่ยนตามไปด้วย ไม่ควรมองจากจำนวนแรงงานต่างชาติ แต่ควรจะพิจารณาจากมุมมองการนำเข้าแรงงานต่างชาติ จะช่วยสร้างโอกาสการทำงานให้แก่แรงงานท้องถิ่นมากน้อยเท่าไหร่ อย่างไร?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net