'มหาเธร์' แนะอาเซียนจับมือเพิ่มอำนาจต่อรอง-อาเซียนลงนามเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2034

'มหาเธร์ โมฮาหมัด' นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย แนะอาเซียนจับมือเสริมความแข็งแกร่ง เพิ่มอำนาจต่อรองใช้ตลาด 650 ล้านคนให้เกิดประโยชน์ อาเซียนลงนามเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2034

มหาเธร์ โมฮาหมัด (Mahathir Bin Mohamad) นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่มาภาพ: เพจ ASEAN2019

เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2562 มหาเธร์ โมฮาหมัด (Mahathir Bin Mohamad) นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวบนเวทีการประชุมสุดยอดผู้นำธุรกิจ ASEAN Business and Investment Summit 2019 หรือ ABIS 2019 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ว่าอาเซียนเป็นตลาดขนาดใหญ่ระดับโลก มีประชากรกว่า 650 ล้านคน มีความหลากหลายทางชีวภาพและอยู่ในตำแหน่งยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศสำคัญ ๆ ซึ่งมีโอกาสอย่างมากที่จะพัฒนาศักยภาพของอาเซียนในการเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่ใหญ่ รวมถึงมีอำนาจการต่อรองของภูมิภาคที่จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย จึงต้องร่วมมือกัน โดยเริ่มจากสร้างตลาดภายในภูมิภาคอาเซียนให้เข้มแข็งก่อนจะเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือที่เรียกว่า 4IR (The Fourth Industrial Revolution) ซึ่งก็คือ ยุคแห่งดิจิทัลและนวัตกรรม เป็นยุคที่สามารถเข้าถึงข้อมูลขนาดมหาศาล (Big Data) และเร่งให้การศึกษาและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชากรในประเทศ เพื่อสร้างความเข้าใจเทคโนโลยีและดิจิทัลได้มากขึ้น ช่วยผลักดันการส่งออกของประเทศในภูมิภาคอาเซียนไปยังตลาดอื่นๆ เช่น ยุโรป สหรัฐฯ เป็นต้น พร้อมทั้งลดปัญหาเรื่องกำแพงภาษีระหว่างกัน ขณะที่ ภาครัฐก็ควรจะประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและภาคธุรกิจได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัล

มหาเธร์ ชี้ว่าภูมิภาคอาเซียนจำเป็นต้องร่วมมือกันให้มากขึ้นเพื่อลดผลกระทบจากสงครามเศรษฐกิจระหว่างจีนกับสหรัฐฯ พร้อมยกตัวอย่างว่ามาเลเซียกำลังถูกชาติมหาอำนาจ “กดขี่” โดยอ้างถึงกรณีที่สหภาพยุโรประงับนำเข้าน้ำมันปาล์มจากมาเลเซีย ซึ่งรายได้จากการส่งออกน้ำมันปาล์มคิดเป็น 2.8% ของจีดีพีมาเลเซียในปีที่แล้ว และประมาณ 4.5% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด พร้อมย้ำจุดยืนว่า มาเลเซียก็พร้อมโต้ตอบด้วยยกเลิกการนำเข้าสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯและสหภาพยุโรปเช่นเดียวกัน

'ประยุทธ์' เปิดงาน ASEAN Business 2019 เตรียมรับมือความท้าทายใหม่ในยุคดิจิทัล
เผยอาเซียนเดินหน้า 'แผนประชาคมการเมือง-ความมั่นคง' ไปกว่า 94% แล้ว

นายกฯ ยันไทยและอาเซียน พร้อมร่วมมือกับ UN ผลักดันการพัฒนาที่ยั่งยืน

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้พบหารือกับนาย António Guterres (นายอันโตนิอู กุแตเรช) เลขาธิการสหประชาชาติ ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ที่อาคารอิมแพค ฟอรั่ม

โดยภายหลังเสร็จสิ้น นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี ยินดีที่ได้พบกับเลขาธิการสหประชาชาติอีกครั้ง ภายหลังจากที่พบเมื่อเดือนกันยายนในช่วงการประชุม UNGA 74 ขอบคุณที่เดินทางมาร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหประชาชาติ ครั้งที่10 นี้ พร้อมยืนยันว่าไทยให้ความสำคัญกับการสร้างหุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืนระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และระหว่างอาเซียนกับกลุ่มภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งอาเซียนพร้อมร่วมมือกับสหประชาชาติเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับกลุ่มต่าง ๆ เกี่ยวกับแนวทาง องค์ความรู้ และประสบการณ์ เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมาย SDGs ไปด้วยกัน ทั้งนี้ ไทยยินดีเพิ่มบทบาท และมีส่วนร่วมในกรอบสหประชาชาติมากขึ้น ในการจัดกิจกรรมต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นท้าทายที่สืบเนื่องจากการประชุม UNGA74 

เลขาธิการสหประชาชาติชื่นชมไทย และนายกรัฐมนตรีที่มีบทบาทในเวทีระหว่างอย่างกระตือรือร้น ทั้งการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน และการแสดงวิสัยทัศน์ในประเด็นท้าทายต่าง ๆ ในโลก ชื่นชมบทบาทของไทยที่โดดเด่นในเรื่องการดำเนินการเพื่อบรรลุ SDGs และยืนยันว่าองค์การสหประชาชาติให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม โดยขอให้ไทยช่วยเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันเพื่อแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้พลังงานหมุนเวียน ตลอดจนชื่นชมความริเริ่มของไทยในการประชุมเกี่ยวกับการลดขยะในทะเล

ทั้งสองฝ่ายเชื่อมั่นในความร่วมมือร่วมกันทั้งระหว่างไทยกับสหประชาชาติ และระหว่างอาเซียนกับสหประชาชาติ โดยเชื่อมั่นว่าความเข้าใจในระดับพหุภาคีเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีย้ำนโยบายของไทย ที่สอดคล้องกับแนวทางความร่วมมือกับสหประชาชาติ อาทิ การแก้ไขปัญหาการประมง IUU การต่อต้านการค้ามนุษย์ การป้องกันการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ และสิทธิมนุษยชน โดยในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรียินดีสนับสนุน ESCAP และทีมงานสหประชาชาติในการจัดงานครบรอบ 75 ปี ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในตอนท้าย เลขาธิการสหประชาชาติอวยพรให้นายกรัฐมนตรี และประเทศไทยประสบความสำเร็จในการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนในครั้งนี้

นายกฯ เปิดการประชุมสุดยอดอาเซียนเต็มคณะ-ย้ำยกระดับความร่วมมืออาเซียน 4 ด้าน

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 35 แบบเต็มคณะ ซึ่งมี ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศเข้าร่วม โดยระบุว่า การประชุมนี้เกิดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองวิสัยทัศน์ร่วมกัน ตลอดจนติดตามการดำเนินการเพื่อกำหนดเป้าหมายและทิศทางของอาเซียนร่วมกัน 

โดยหลังการประชุม อาเซียนครั้งที่ 34 ที่ผ่านมา ไทยได้นำผลประชุมของสมาชิกไปเข้าสู่การประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ และ ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ หรือ จี 20  ที่นครโอชาก้า ประเทศญี่ปุ่น โดยได้นำเสนอประเด็นความร่วมมือที่สำคัญ 4 ด้าน ระหว่างอาเซียน กับประเทศสมาชิกจี 20 เพื่อต่อยอด เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม ประกอบด้วยการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน การพัฒนาทุนมนุษย์ และ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึงการแก้ไขปัญหาขยะทะเล

นอกจากนั้น ยังได้นำประเด็นความร่วมมือที่ส่งเสริมความยั่งยืนในมิติต่าง ๆ ไปหารือต่อในเวทีสมัชชาสหประชาติ และได้เป็นตัวแทนอาเซียนในการประชุมผู้นำว่าด้วยการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Action Summit) การประชุมระดับผู้นำว่าด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Summit) พร้อมย้ำความมุ่งมั่นของอาเซียนในการร่วมมือทำงานกับประชาคมโลก เพื่อความยั่งยืนและรับมือกับความท้าทายต่างๆที่มีผลกระทบต่อมนุษยชาติ

“ในการดำเนินการต่าง ๆ นี้ก็เพื่อสนับสนุนประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังและมองไปข้างหน้า เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้เราให้ความสำคัญกับการสร้างความเป็นหุ้นส่วนกับภาคีภายนอกและองค์กรต่าง ๆ เพราะอาเซียนไม่สามารถดำเนินการได้โดยลำพัง เราเชื่อว่าความเป็นหุ้นส่วนและมิตรภาพกับภาคีภายนอกเป็นเครื่องมือสำคัญช่วยให้ประชาคมอาเซียน ได้บรรลุผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน” นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรียังเปิดเผยว่า นายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ได้ฝากความปราถนาดีมายังผู้นำอาเซียน และขอให้การประชุมครั้งนี้ประสบผลสำเร็จด้วย

อาเซียนลงนามเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2034

ไฮไลท์สำคัญของวันนี้คือการประชุมสุดยอดอาเซียนแบบเต็มคณะ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอาเซียน นั่งหัวโต๊ะ ทำหน้าที่เป็นประธาน โดยนายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีที่ได้พบกับผู้นำอาเซียนทุกประเทศ และใช้โอกาสนี้ในการแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ระหว่างกัน ซึ่งข้อเสนอการประชุมอาเซียน ครั้งที่ 34 ถูกนำไปหารือในเวทีจี 20 ใน 4 ประเด็น คือการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ การเข้าถึงแหล่งทุน การพัฒนาทุนมนุษย์ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาขยะทะเล

นอกจากนี้ยังนำความมุ่งมั่นของอาเซียนไปเสนอในเวทีสหประชาชาติ ทั้งหมดนี้เพื่อการก้าวเดินไปพร้อมกัน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ขณะที่ในช่วงเย็นนายกรัฐมนตรีได้หารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ประเด็นสำคัญคือไทยขอบคุณมาเลเซียที่เชิญคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขในจังหวัดชายแดนใต้ หารือและสนับสนุนแนวทางการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้โดยสันติวิธี ซึ่งมาเลเซียเห็นพ้องว่าการแบ่งแยกดินแดนจะต้องไม่เกิดขึ้น และพร้อมสนับสนุนการนำเข้าสินค้าจากไทย เพื่อเพิ่มรายได้แก่ประชาภาคใต้ และผลักดันการขนส่งสินค้าข้ามพรมแดน จากมาเลเซียไปยังสิงคโปร์

นอกจากนี้ยังมีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านกีฬาฟุตบอล ระหว่างเลขาธิการอาเซียน และประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่า

นายกฯ จีน เยือนไทยอย่างเป็นทางการ

ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 2 พ.ย. 2562 นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ เตรียมเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน วันพรุ่งนี้ ขณะเดียวกันยังมีกำหนดหารือข้อราชการกับนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 5 พ.ย. 2562

นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมคณะ เดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิโดยเที่ยวบินพิเศษ เมื่อเวลา 20.45 น. ในโอกาสเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาล ระหว่างวันที่ 2-5 พ.ย. 2562 โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในฐานะผู้แทนรัฐบาลไทยให้การต้อนรับ พร้อมทหารกองเกียรติยศ

โดย นายหลี่ เค่อเฉียง มีกำหนดเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และในวันที่ 5 พ.ย. จะเดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือข้อราชการกับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก่อนที่รัฐบาลไทยจะเป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงอาหารกลางวันเพื่อเป็นเกียรติแก่นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน

สำหรับการเยือนครั้งนี้ เป็นการยืนยันความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ที่ใกล้ชิดระหว่างไทย-จีน และกำหนดทิศทางพัฒนาความสัมพันธ์ รวมถึงแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศร่วมกัน ขณะเดียวกัน ผู้นำทั้ง 2 ประเทศ จะร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามความตกลงและบันทึกความเข้าใจด้านต่างๆ อาทิ การค้า อิเล็กทรอนิกส์ วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม การแลกเปลี่ยนด้านสื่อมวลชน

นอกจากนี้ นายหลี่ เค่อเฉียง ยังมีกำหนดเข้าเยี่ยมคาราวะประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎรที่อาการรัฐสภาในโอกาสการเยือนครั้งนี้ด้วย ทั้งนี้ นายหลี่ เค่อเฉียง เดินทางเยือนประเทศไทยครั้งล่าสุดเมื่อปี 2557 ซึ่งครั้งนั้นเป็นการเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 5

ที่มาเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย [1] [2] [3] [4] [5]

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท