Skip to main content
sharethis

คนไร้บ้านเชียงใหม่ร่วมกันถกปัญหาสุขภาพคนไร้บ้าน การเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพ การใช้สิทธิบัตรทองและความยากลำบากของชีวิตคนไร้บ้านที่เป็นผู้ป่วยเรื้อรัง สะท้อนเรื่องราวชีวิตกลุ่มเปราะบางในเขตเมืองที่ต้องร่วมกันหาทางออก

3 พ.ย. 2562 นางสาวรัชนี ประดับ ผู้จัดการโครงการพัฒนาข้อเสนอและขับเคลื่อนสิทธิสาธารณสุขของกลุ่มประชากรแฝงในเขตเมือง สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่าเมื่อเร็วๆ นี้ โครงการฯ ได้ร่วมกับ ศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านจังหวัดเชียงใหม่ เครือข่ายคนไร้บ้านผู้เป็นสมาชิกบ้านเตี่ยมฝัน บ้านของคนไร้บ้านในเชียงใหม่ ได้มารวมตัวกันแลกเปลี่ยนและนำเสนอข้อมูลเพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายร่วมกับโครงการพัฒนาข้อเสนอและขับเคลื่อนการเข้าถึงสิทธิสาธารณสุขของกลุ่มประชากรแฝงในเขตเมือง สนับสนุนโดย สสส. วงประชุมหารือสะท้อนว่าปัญหาสุขภาพคนไร้บ้านมีเหมือนคนทั่วไป แต่เผชิญความเสี่ยงมากกว่าจากการใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะทั้งการติดเชื้อและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ คนไร้บ้านหลายคนยังเป็นผู้ป่วยทางจิต สิ่งที่คนไร้บ้านสะท้อนเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพคือหากพวกเขาไม่เจ็บป่วยร้ายแรงมากพวกเขาไม่ต้องการไปโรงพยาบาล คนไร้บ้านที่เจ็บป่วยและต้องไปโรงพยาบาลคือการขาดรายได้และมีค่าใช้จ่ายจากการเดินทาง

ขณะเดียวกัน คนไร้บ้านที่ใช้สิทธิบัตรทองยังสะท้อนว่าเวลาต้องไปรับบริการที่โรงพยาบาลทุกครั้งพวกเขาหนักใจเรื่องค่าใช้จ่าย แม้จะถูกเรียกเก็บเพียง 30 บาท เพราะสำหรับคนไร้บ้านแต่ละบาทเขาหามาจากกองขยะ การกลายมาเป็นคนไร้บ้าน เท่าที่พบเห็นคือคนที่กำลังเข้าสู่วัยสูงอายุและเตรียมพบกับความเจ็บป่วย ปัญหาสุขภาพในสภาพและบริบทที่ไม่เอื้อต่อการรักษาสุขภาพ ไม่มีบ้านสำหรับพักฟื้น ไม่มีคนดูแลเยียวยา แต่คนไร้บ้านก็ยังเป็นกลุ่มคนที่เข้ารับบริการสาธารณสุขและใช้สิทธิบัตรทองเพราะเจ็บป่วย

นางสาวรัชนี กล่าวต่อว่า การเข้าถึงสิทธิสาธารณสุขของคนไร้บ้านจึงไม่เพียงแค่ได้สิทธิบัตรทอง พวกเขายังต้องการระบบบริการสุขภาพที่เอื้อต่อวิถีชีวิตในเมืองแต่ไร้ญาติมิตร ไร้บ้าน บ้านเตี่ยมฝัน ศูนย์ฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพคนไร้บ้านจังหวัดเชียงใหม่จึงเป็นเหมือนบ้านของคนไร้บ้าน เป็นชุมชนคนไร้บ้านที่พวกเขาต้องมาช่วยเหลือซึ่งกันและกันในยามทุกข์และยามเจ็บป่วย ณ ที่แห่งนี้ มีผู้ป่วยติดเตียงและชราภาพขาดคนดูแลจำนวนหนึ่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net