Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 1 ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) ในวันพุธที่ 6 พ.ย. ที่จะถึงนี้ มีประเด็นที่น่าสนใจสำหรับผู้ติดตามเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 ก็คือ ญัตติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ถูกบรรจุอยู่ในวาระการประชุมซึ่งมี 4 ญัตติด้วยกัน โดยเป็นของพรรคร่วมฝ่ายค้านหนึ่งญัตติ และเป็นของพรรคร่วมรัฐบาลสามญัตติ ซึ่งโดยรวมแล้วก็คือการผลักดันให้เกิดการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และวิธีการ/แนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 รวมทั้งกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม ในญัตติดังกล่าวทั้งของพรรคร่วมฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาลก็มีความน่าสนใจอยู่ที่สาระสำคัญที่นำมาใช้อ้างอิงและจุดเน้นซึ่งมีทั้งที่มีร่วมกันและแตกต่างกัน ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้

ในญัตติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 แรกเป็นของ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน เสนอเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 62 ซึ่งมีเพียงญัตติเดียว และญัตตินี้ได้เลื่อนมาจากการประชุมสมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง เสนอโดย สุทิน คลังแสง และปิยบุตร แสงกนกกุล มีเนื้อหาสำคัญคือ รัฐธรรมนูญฉบับปี 60 นั้นมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีปัญหาในเรื่องความเป็นประชาธิปไตย ความเหมาะสมของยุทธศาสตร์ชาติ และความชอบด้วยหลักนิธิธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นและการดำเนินคดีกับผู้แสดงความคิดเห็นไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว และนอกจากนี้ ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ผ่านมาก็ยังแสดงให้เห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 60 ได้ก่อให้เกิดปัญหาหลายประการ เช่น วิธีการเลือกตั้งและการนับคะแนน การทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ และการทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพ มิได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน ซึ่งอย่างหลังยังส่งผลต่อเรื่องของความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาลในการแก้ปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเศรษฐกิจ

สำหรับญัตติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 ของพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งแยกเป็นสามญัตติ ได้แก่ ญัตติของพรรคประชาธิปัตย์ เสนอเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 62 โดยมี เทพไท เสนพงศ์ เป็นผู้เสนอ มีสาระสำคัญก็คือ รัฐธรรมนูญฉบับปี 60 มีปัญหาในทางปฏิบัติหลายมาตรา และมีหลายประเด็นที่จำต้องแก้ไขให้เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยสากล ขณะที่ญัตติของพรรคชาติไทยพัฒนา เสนอเมื่อวันที่ 10 ก.ย. 62 โดยมี นิกร จำนง เป็นผู้เสนอ ได้ให้เหตุผลถึงกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 60 นั้นมีปัญหาในเรื่องความเป็นประชาธิปไตย และความเหมาะสมของรัฐธรรมนูญ รวมทั้งขาดการยอมรับจากประชาชนอยู่พอสมควรถึงแม้ว่าจะผ่านประชามติมาก็ตาม อีกทั้งในหลาย ๆ ประเด็นก็ยังเป็นปัญหาในทางปฏิบัติด้วย ขณะที่ญัตติของพรรคพลังประชารัฐ เสนอเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 62 โดยมี วิเชียร ชวลิต เป็นผู้เสนอนั้น ได้เน้นปัญหาสำคัญถึงผลการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 60 นี้ ที่ต้องใช้เวลาในรอประกาศผลอย่างเป็นทางการค่อนข้างนาน และการคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่ยังเป็นประเด็นซึ่งมีความเห็นแตกต่างกันออกไปหลายทาง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พรรคร่วมฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาลอ้างถึงเหมือนกันก็คือ นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ได้มีการแถลงต่อรัฐสภาไปเมื่อวันที่ 25 ก.ค. 62 ในข้อที่ 12 ที่จะการสนับสนุนให้มีการศึกษา การรับฟังความเห็นของประชาชน และการดำเนินการเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในส่วนที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งในความเห็นของพรรคร่วมฝ่ายค้านแล้ว ความเร่งด่วนของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้ก็เพื่อบรรเทาหรือป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสิทธิเสรีภาพ สวัสดิภาพ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประชาชน ขณะที่ในความเห็นของพรรคพลังประชารัฐ ความเร่งด่วนของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้ก็เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีของประชาชน และความมั่นคงของประเทศ ไม่ว่าจะทางเศรษฐกิจหรือทางอื่นใดก็ตาม รวมทั้งเป็นการขจัดเหตุอันอาจกระทบกระเทือนต่อเสรีภาพของประชาชน

ขณะที่พรรคชาติไทยพัฒนาเอง ยังได้ยกความสำเร็จของการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 ที่มีการประกาศเป็นนโยบายรัฐบาล มีการจัดตั้งกรรมการ และการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนภาคส่วนต่าง ๆ จนกระทั่งได้ข้อสรุปร่วมกันเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ทั้งนี้ ด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 นั้นเป็นไปได้ยากและแตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับผ่าน ๆ มา จึงมีความจำเป็นที่จะต้องรับฟังความคิดเห็นจากหลายภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน พรรคการเมือง และวุฒิสภา เพื่อให้เกิดความเป็นประชาธิปไตยและการได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายด้วย


อ้างอิง

  • ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (นายสุทิน คลังแสง และนายปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นผู้เสนอ) (เลื่อนตามที่ที่ประชุมเห็นชอบในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ปีที่ 1 ครั้งที่ 23 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เป็นพิเศษ วันศุกร์ที่ 13 กันยายน 2562)
  • ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 (นายเทพไท เสนพงศ์ เป็นผู้เสนอ)
  • ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาศึกษาแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (นายนิกร จำนง และนายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ เป็นผู้เสนอ)
  • ญัตติ เรื่อง ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ รวมกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (นายวิเชียร ชวลิต เป็นผู้เสนอ)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net