Skip to main content
sharethis

เปิดประเด็นการพัฒนาเมืองที่คนต้องสามารถเถียงได้ ฟังเสียงตัวแทนชุมชนในกรุงเทพฯ ที่ตกเป็นเหยื่อของการพัฒนาเมืองแบบไม่มีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ ตั้งคำถามใหม่ว่า "เมือง" คืออะไรกันแน่ ตัวแทนชุมชนป้อมมหากาฬเล่าเส้นทางชีวิตหลังถูกไล่รื้อ นางเลิ้งภายใต้แรงกดดันและความไม่แน่นอนเรื่องที่อยู่อาศัย และชุมชนคลองเตยที่เสียงสลัมไม่ดังเท่า "สมาร์ทคอมมิวนิตี้"

ซ้ายไปขวา: กฤษณะพล วัฒนวันยู นิตยา พร้อมพอชื่นบุญ สุวัน แววพลอยงาม ธวัชชัย วรมหาคุณ

4 พ.ย. 2562 เมื่อเสาร์ที่ 26 ต.ค. ที่ผ่านมา กลุ่ม Urban Jam (ภายใต้โครงการ MIDL for Inclusive City : สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน) สำนักข่าวประชาไท สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) School of Architecture and Design (SoA+D) และพรรคโดมปฏิวัติ มธ. ร่วมจัดเวทีเสวนาสาธารณะ (Urban Forum) ในหัวข้อ ‘เมืองเถียงได้’ ณ ห้องประชุมคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

เวทีเสวนาในช่วงแรกมีชื่อว่า 'จับเข่านั่งคุย' มีธวัชชัย วรมหาคุณ ตัวแทนจากชุมชนป้อมมหากาฬ สุวัน แววพลอยงาม ชุมชนวัดแคนางเลิ้ง นิตยา พร้อมพอชื่นบุญ ตัวแทนชุมชนคลองเตย มาเป็นตัวแทนบอกเล่าและชวนสะท้อนคิดถึงผลกระทบของชุมชนตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันที่ชุมชนจะต้องถูกไล่รื้อภายใต้การพัฒนาโดยรัฐ รวมไปถึงความไม่แน่นอนภายใต้โครงการบ้านมั่นคง อันเป็นโครงการที่เข้ามาจัดระเบียบต่อชุมชนและส่งผลกระทบต่อการดำเนินวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนอย่างต่อเนื่อง

เมืองคืออะไร? บทเรียนจากชุมชนป้อมมหากาฬที่ถูกไล่รื้อ

ธวัชชัย วรมหาคุณ อดีตประธานชุมชนป้อมมหากาฬ ชวนกลับไปตั้งคำถามของคำว่า เมือง ซึ่งเมื่อพิจารณาความเป็นเมืองตามบริบทของประวัติศาสตร์แล้วก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นจากกการใช้แรงงานของไพร่ กลุ่มเชลยศึก กลุ่มที่ถูกวาดต้อนให้มาก่อกำแพง มาสร้างวัด ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดจากน้ำมือของคน ดังนั้นเมืองจึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดวิถีชีวิตของผู้คน และทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า ชุมชน

ธวัชชัย กล่าวถึงความจำเป็นที่ทำให้ตนและครอบครัวจะต้องย้ายออกจากชุมชนป้อมมหากาฬซึ่งเป็นครอบครัวสุดท้ายก่อนที่ชุมชนจะถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นสวนสาธารณะ โดยมีปัจจัยที่เข้ามาคุกคามการตัดสินใจและการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของผู้อาศัยในชุมชนคืออำนาจรัฐ ที่นำกองกำลังทหารเข้ามาจัดระเบียบในชุมชน

เปิดสวน ‘ป้อมมหากาฬ’ ชาวชุมชนเผยหลังย้ายวิถีชีวิตเปลี่ยน ตกงาน ค่าใช้จ่ายเพิ่ม

กอ.รมน.มาจากไหน ทำไมถึงไปกางเต็นท์นอนในชุมชนป้อมมหากาฬ

อดีตประธานชุมชนป้อมมหากาฬกลาวถึงพื้นที่สวนสาธารณะที่เข้ามาแทนที่ชุมชนป้อมมหากาฬว่า เป็นพื้นที่ที่ยังไม่ตอบโจทย์ผู้คนตามแนวคิดของความเป็นสาธารณะ และอาจยังมีปัญหาเรื่องการคอรัปชั่นของภาครัฐที่ยังไม่ได้ถูกตรวจสอบ โดยก่อนหน้านี้ที่ตนและผู้ที่อยู่อาศัยในชุมชนป้อมมหากาฬได้พยายามออกมาเคลื่อนไหวเพื่อที่จะเรียกร้องสิทธิให้แก่ชุมชน แต่ตนก็ได้ถูกดำเนินคดีในมาตราที่ 44 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าเป็นผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 26 ปี โจทย์ใหญ่ที่รัฐต้องการคือการมีสวนธารณะ

ทางเข้าชุมชนป้อมมหากาฬทางประตูตรอกพระยาเพชรปาณีในสมัยที่ยังมีชุมชนอยู่ (แฟ้มภาพ)

ธวัชชัยกล่าวถึงกรณีการถูกไล่รื้อของชุมชนป้อมมหากาฬ ผ่านมาแล้ว 1 ปี 5 เดือน 22 วัน ยังไม่มีการได้รับดูแลจาก กทม. มีแต่น้ำใจของพี่น้องที่ทำงานในเครือข่ายรถไฟสายสีแดง ที่ได้เอื้ออำนวยที่นอน ที่พักพิงให้กับพี่น้องส่วนหนึ่งจากชุมชนป้อมมหากาฬ และพี่น้องชุมชนป้อมหากาฬอีกส่วนหนึ่งที่ได้ย้ายไปอาศัยอยู่ที่การประปาแม้นศรี ซึ่งอยู่ภายการดูแลของรัฐที่สะท้อนถึงการที่เอาคนมีรากมีเหง้า เข้าไปอยู่ในโครงการคนไร้บ้าน และปัจจุบันก็จำเป็นต้องถูกให้ย้ายออก เนื่องจากที่บริเวรนั้นต้องถูกเวนคืนกลับไปยังสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

ธวัชชัย ร่วมสะท้อนว่า วิถีของชุมชนถูกทำให้ล่มสลาย ซึ่งชุมชนมีความพยายามที่จะเถียงกับรัฐมาโดยตลอดแต่ไม่มีสิทธิ์ที่จะได้ทำ ทั้งนี้ตนยืนยันว่า หากด้วยอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐโดยปกติ ยังไงก็ไม่สามารถตีป้อมแตกได้ เพราะที่ผ่านมาชุมชนมีการจัดกิจกรรมและเปิดพื้นที่ให้คนภายนอกและคนภายในได้เรียนรู้และตระหนักถึงความสำคัญของชุมชน หรือเรียกได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต แต่เนื่องจากมีการแทรกแซงจากชายในเครื่องแบบ ที่พยายามจะทำลายความเชื่อมั่นที่ทุกคนอยู่อาศัยร่วมกันอย่างฉันท์พี่น้อง และทำให้ป้อมแตกความสามัคคีโดยการใช้เงินเป็นยุทธปัจจัย

ธวัชชัย กล่าวว่า สิ่งที่ตามมาคือความเจ็บปวดของการถูกทำลายความสัมพันธ์กับพี่น้องในชุมชนที่ไม่เหลือเลย ในวันที่บ้านของตนถูกรื้อ แต่กลับมีเสียงปรบมือชอบใจและเสียงเป่านกหวีดที่มาจากกลุ่มคนที่เรียกว่าเป็นพี่น้องเป็นผู้ที่ร่วมต่อสู้ด้วยกันมาตลอดหลายปี โดยอยากจะให้สิ่งนี้เกิดขึ้นกับชุมชนใดหรือใครคนใดซึ่งเป็นสิ่งสาหัสเกินไป

ธวัชชัยชวนตั้งคำถามถึงคำว่า เมืองน่าอยู่ ท้ายที่สุดแล้วใครที่เป็นผู้อยู่ ทั้งที่สุดท้ายแล้วคนที่อยู่กลับถูกไล่เสียเอง และอำนาจในมือประชาชนเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงหรือไม่ทั้งที่อำนาจเป็นของเรา ซึ่งเมืองที่ควรจะเป็นนั้น ควรเป็นเมืองที่สามารถพัฒนาไปพร้อมกับวิถีชีวิตของชุมชนและผู้คนให้ได้มากที่สุด และยังกล่าวด้วยว่า เมืองจะเป็นไปไม่ได้ ถ้าจะเนรมิตขึ้นมาโดยปราศจากลมหายใจของเมือง การทำลายวิถีชีวิตที่เคยอยู่คู่กับเมืองกำลังจะถูกทำลายลงและมีความร้ายแรงขึ้นเรื่อยๆ

เสียงที่นางเลิ้งอยากส่งถึงสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์

สุวัน แววพลอยงาม รองประธานชุมชนวัดแคนางเลิ้ง ที่มีพื้นที่จำนวนมากเป็นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ปัจจุบันเป็นพื้นที่ที่จะมีรถไฟฟ้าสายสีส้ม สถานีหลานหลวงผุดขึ้นมา กล่าวว่า สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์มีเจตนาที่ดีต่อชุมชนที่อยู่ภายใต้พื้นที่ของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ให้ความมั่นคงและเข็มแข็ง โดยการพยายามให้มีการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ขึ้นมาภายใต้สัญญาเช่าของโครงการบ้านมั่นคง โดยมีสัญญาเช่าเป็นระยะเวลาประมาณ 30 ปี ก่อนหน้านี้ก็มีการเรียกประชุมกันเดือนละครั้งระหว่างผู้ที่อยู่อาศัยในชุมชนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีทีท่าว่าน่าจะไปได้ด้วยดี แต่ภายในระยะหลังตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในองค์กรก็เหมือนทุกอย่างที่มีการดำเนินกิจการไปก่อนหน้านี้ก็ถูกล้มเลิกไป

เดินดูนางเลิ้งเมื่อวัฒนธรรมถูกใช้รองรับการพัฒนา สู่คำถามสิทธิในเมืองที่เท่าเทียม

ต่อประเด็นโครงการบ้านมั่นคง สุวันตั้งคำถามว่ามีความเป็นไปได้แค่ไหนที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) จะสามารถสอบถามความคืบหน้าในการดำเนินการไปยังผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินอย่างไรต่อไปหรือไม่ ชุมชนได้มีการขอความชัดเจนไปยังหน่วยงานหลายครั้งเกี่ยวกับโครงการบ้านมั่นคง แต่ก็ยังคงไม่มีการตอบกลับอย่างตรงไปตรงมา นอกจากนี้พื้นที่บางส่วนในชุมชนนางเลิ้งก็จะได้รับผลกระทบจากการมีโครงการรถไฟสายสีส้มเป็นกิจจการที่ดำเนินโดย รฟม. อีกด้วย

สุวัน กล่าวว่า ชุมชนนางเลิ้งได้พยายามที่จะปรับตัวโดยหยิบประเด็นเรื่องการท่องเที่ยวเข้ามาเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ในการแก้ปัญหาและขับเคลื่อนชุมชน แต่ก็ยังคงเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่รู้สึกได้ชัดเจนคือ ผู้ที่อยู่อาศัยเหมือนไม่ได้มีความชอบธรรมต่อการเป็นผู้ใช้พื้นที่โดยแท้จริง ดังจะเห็นได้จากการมีป้ายติดว่า ยินดีต้อนรับ แต่ไม่สามารถมารถถ่ายรูปในพื้นที่ได้หากไม่ได้รับอนุญาต รวมไปถึงการค้าขายหน้าบ้านตนเองก็จะต้องเสียค่าเช่าเดือนละ 900 บาท ทุกสิ่งกลายเป็นเรื่องของทุนทั้งหมด

บรรยากาศตลาดนางเลิ้ง ยังคงมีการเปิดขายของขึ้นชื่อแม้จะไม่เฟื่องฟูเหมือนในอดีต ในภาพคือร้านขายไส้กรอกปลาแนม อาหารขึ้นชื่อของตลาดนางเลิ้ง (แฟ้มภาพ)

ต่อกรณีที่ชุมชนได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น รองประธานชุมชนวัดแคนางเลิ้งกล่าวว่ามีผู้ได้รับผลกระทบ 2 กลุ่ม โดยชุมชนเป็นผู้ดำเนินการประสานงานด้วยชุมชนกับ รฟม. ทั้งหมด สำนักงานทรัพย์สินฯ ไม่เคยเข้ามาประสานหรือติดตามเลยว่ากระบวนการขั้นตอนต่างๆ ทั้งจำนวนพื้นที่ที่จะต้องถูกไล่รื้อ รวมไปถึงเรื่องของการเยียวยา

สุวันกล่าวว่า ชุมชนมีการประสานกับ รฟม. และได้จัดทำแผนพัฒนาที่จะทำให้โครงการรถไฟฟ้าสามารถที่จะอยู่ควบคู่ไปกับวิถีชีวิตชุมชนได้ ซึ่งในอดีตก็เคยมีการออกแบบเมืองร่วมกันระหว่างชุมชนและหน่วยการที่เกี่ยวข้องซึ่งมีสำนักทรัพย์สินฯเข้ามาร่วมด้วย แต่ใน 5 ปีที่ผ่านมากลับไม่มีสัญญาณของผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินเลย ซึ่งโดยความรู้สึกของเธอแล้วเป็นสิ่งที่น่ากลัวสำหรับผู้อยู่อาศัยในชุมชน ท่าทีของผู้เป็นเจ้าของที่ที่มีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนในตอนนี้ จึงดูเหมือนพูดกันคนละเรื่องแต่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน

สุวัน กล่าวถึงเรื่องการเตรียมความพร้อมของชุมชนต่อสถานการณ์ที่จะต้องรับมือกับการพัฒนา โดยยกตัวอย่างในกรณีของสนามม้าย่านนางเลิ้ง ที่สะท้อนกลับมาว่าเพื่อนบริเวณรอบชุมชนวัดแคก็เริ่มโดนไล่รื้อที่กันหมดแล้ว สิ่งตนและชาวชุมชนที่ทำได้ในตอนนี้คือพยายามส่งเสียงผ่านมิติด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ที่จะต้องถูกการพัฒนาเข้ามาจัดการในอนาคต

สุวันได้ขอความคิดเห็นจากวงเสวนาและผู้เขาร่วมว่า ควรจะทำอย่างไรให้อยู่กันได้อย่างมีความสุขโดยที่ไม่ต้องมีข้อพิพาทระหว่างชุมชนกับเจ้าของที่ดิน และ ความคาดหวังที่อยากจะมีการพูดคุยกันอย่างจริงใจและจริงจังระหว่างชุมชนและองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

คลองเตย ชุมชนขนาดใหญ่ที่ "สมาร์ทคอมมิวนิตี้" พยายามมองไม่เห็น

นิตยา พร้อมพอชื่นบุญ ตัวแทนจากชุมชนย่านคลองเตย ที่อาจจะต้องถูกไล่รื้อไปเพื่อแทนที่ด้วยโครงการสมาร์ท ซิตี้ กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ชุมชนคลองเตยพยายามจัดทำทีมที่ทำงานร่วมกันภายในชุมชนในทุกมิติให้เกิดการพัฒนาที่สามารถตอบโจทย์กับชุมชนได้ เนื่องจากว่าในปัจจุบันนี้ผู้บริหารประเทศเห็นเงินสำคัญกว่าคน พยายามที่จะหยิบเอาพื้นที่ที่สามารถหาเงินได้เยอะเพื่อที่จะได้กินเงินเดือนมากๆ แต่ชีวิตของคนไร้ค่าราวกับว่าจะจับคนไปอยู่ที่ไหนก็ได้ ไม่ให้อยู่ในพื้นที่ที่เขาจะใช้หาเงิน

นิตยา กล่าวย้อนไปถึง ปี 2493 ในสมัยสิ้นสุดสงคราม เกิดสิ่งที่เรียกว่าเมืองและการพัฒนา รัฐใช้คนยากคนจนให้มาสร้างเมือง ตนในฐานะที่เป็นคนคลองเตยเนื่องจากบรรพบุรุษเป็นคนสร้างเมืองตั้งแต่สมัยสงครามเลิก สมัยนั้น แรงงานที่ใช้แรงงานได้รับอนุญาตให้อยู่ได้เลย แต่กลับกันในวันนี้ที่ดินราคาเป็นหลายแสนหลายล้านบาท คนเริ่มที่จะอยู่ไม่ได้เพราะเทคโนโลยีที่เข้ามาเพิ่มมูลค่า

ในปี 2559 การท่าเรือได้ประกาศให้พื้นที่ในชุมชนคลองเตยเป็นพื้นที่แพงและเหมาะสมในการทำธุรกิจทางเศรษฐกิจเพื่อประเทศชาติ และการท่าเรือได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 4 ชุด หนึ่งในนั้นมีตัวแทนชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการออกแบบที่อยู่อาศัย แต่ก็ประชุมกันครั้งเดียวแล้วก็เงียบหายไป

จนเมื่อในวันที่ 9 ม.ค. 2562  มีพิธีเปิดงาน Smart Community ซึ่งไม่มีการปรึกษาคณะกรรมการแบบบ้านที่เป็นตัวแทนจากชุมชนคลองเตย แต่กลับมีแบบอาคาร 30 ชั้น และถูกตีกรอบให้อยู่ในพื้นที่ที่จำกัดซึ่งไม่ตอบโจทย์ต่อจำนวนประชากรในแต่ละครัวเรือน นิตยากล่าว

ในประเด็นเรื่องกฎหมายผังเมือง นิตยากล่าวว่า เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ลูกหลานคนสร้างเมืองไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริงแต่คนที่เป็นเจ้าของที่กลับเป็นผู้กำกับและขีดเส้นโดยไม่เห็นความเป็นมนุษย์ ผู้อยู่อาศัยอยากจะมีส่วนร่วมในการสร้างเมืองก็ยังไม่สามารถทำได้

นิตยาเชิญชวนให้ทุกคนเข้ามาเถียงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่อย่างมีเหตุมีผล โดยกล่าวว่า หากแบ่งที่ดินคืนการท่าเรือส่วนหนึ่ง และอีกส่วนให้กับชาวบ้านมีโอกาสได้พัฒนาเมือง ผู้ที่เป็นเจ้าของที่ก็จะได้ที่ดินไปใช้ในการหารายได้ให้ประเทศ โดยเฉพาะการทำแบบสำรวจที่จะเกี่ยวข้องการการที่คนในชุมชนจะต้องย้ายที่อยู่อาศัย จะต้องเป็นแบบสำรวจที่มาจากความพอใจของคนในพื้นที่ไม่ใช่การที่รัฐคิดเองคนเดียว

นิตยาได้กล่าวถึงเจตนาของคนที่อยากให้ชีวิตของมนุษย์ คนยากจนที่อยู่ในเมืองต้องสามารถที่จะออกมาพูด ไม่ถูกเบียดเบียน คนสามารถอยู่ได้ไร้ปาศจากความเหลื่อมล้ำ รัฐไม่ควรมองว่าเงินสำคัญกว่าชีวิตมนุษย์ ทุกคนเกิดมามีศักดิ์ศรี คนจะมีความสุขคือการมีบ้านอยู่ และบ้านที่มีความสุขคือบ้านคนในบ้านที่มีส่วนคิดส่วนทำแล้วอยู่ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net