Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

" สังคมนิยมประชาธิปไตยสำหรับผมคือการสร้างรัฐบาล สร้างระบบเศรษฐกิจและสังคมที่ใช้การได้สำหรับทุกคน แทนที่จะเอื้อต่อคนระดับบนสุดร้อยละ 1 เท่านั้น "

Bernie Sanders กล่าวในรายการโทรทัศน์ของช่องฟ็อกซ์นิวส์ 15 เม.ย. 2562

ผ่านไปแล้วกับการเห็นชอบรับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 วงเงิน 3.2 ล้านล้านบาท ที่ทำงบขาดดุลไว้ถึง 4.69 แสนล้านบาท  ฝ่ายค้านได้ตำหนิการใช้เงินงบประมาณของรัฐอย่างไม่มีประสิทธิภาพ และการจัดทำงบประมาณที่ไม่สามารถแก้ไขความยากจนและความเหลื่อมล้ำกับประชาชนได้ รวมทั้งการจัดงบประมาณก็มิได้เป็นไปอย่างที่รัฐบาลได้หาเสียงไว้เลย

ผมฟังแล้วมีคำถามขึ้นมาในใจว่า ถึงแม้จะจัดทำงบประมาณตามที่ฝ่ายค้านเสนอ ประเทศไทยจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้จริงหรือ ในเมื่อการเลือกตั้งที่ผ่านมา ไม่มีพรรคการเมืองใดเลยที่ “กล้า“ เสนอนโยบายจัดเก็บภาษีแบบก้าวหน้า เพื่อนำเงินมาจัดทำสวัสดิการต่างๆตามที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชนด้วยซ้ำ นโยบายต่างๆที่เคยหาเสียงไว้ตอนเลือกตั้ง จะมีความเป็นไปได้อย่างไร หากไม่มีความกล้าในการหารายได้ใหม่เข้ารัฐบาล และการหารายได้นั้น จะมีพรรคการเมืองใด “กล้า“ ที่จะเก็บภาษีจากกลุ่มคนที่ร่ำรวย เพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่สูงปรี๊ดในตอนนี้ ในการอภิปรายที่ผ่านมา ก็มีแต่อดีตรัฐมนตรีคลังโลกอย่าง กรณ์ จาติกวณิช ที่ได้เสนอแนวคิดลดความเหลื่อมล้ำด้วยภาษีกำไรจากการขายที่ดิน(Capital Gain Tax), ภาษีตลาดทุน (Transaction Tax) และภาษีบริษัท Big Tech ข้ามชาติ แต่ก็เป็นที่น่าสงสัยว่า เหตุใดอดีตรัฐมนตรีคลังผู้นี้ ถึงไม่ได้ทำการปฏิรูปภาษีที่เขาเสนอเลย ตลอดช่วงที่เขาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

จากข้อมูลความเหลื่อมล้ำของสหรัฐอเมริกา คนรวยจ่ายภาษีเป็นสัดส่วนน้อยกว่าชนชั้นกลางและคนมีรายได้น้อย เป็นการแสดงความไม่เท่าเทียมอย่างชัดเจน ประกอบกับเป็นช่วงใกล้เลือกตั้งของทางสหรัฐอเมริกาพอดี ผมได้สะดุดข้อเสนอของ Bernie Sanders ในการหาเงินมาเพื่อทำนโยบายสวัสดิการที่เขาเสนอ นโยบายนั้นคือการเก็บภาษีทรัพย์สิน หรือภาษีความร่ำรวย (wealth tax) ซึ่งมุ่งเน้นเก็บเฉพาะคนที่มีความร่ำรวยแบบมหาศาล [1]

ข้อเสนอของ Sanders คือการเก็บภาษีแบบขั้นบันใดสำหรับผู้ที่รวยมาก ซึ่งขั้นแรกคือผู้ที่มีทรัพย์สินมากกว่า 32.3 ล้าน USD หรือประมาณ 1 พันล้านบาทขึ้นไปเสียส่วนที่เกินส่วนนี้1% และหากทรัพย์สินเกิน 50 ล้าน USD จะเสียส่วนเกินที่ 2% ไปเรื่อยๆ ตามกราฟด้านล่าง

เมื่อเราดูตามนี้ กลุ่มคนที่จะได้รับผลกระทบโดนเก็บภาษีก็เฉพาะบุคคลที่มีความร่ำรวยเกิน 1 พันล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเราก็ต้องยอมรับว่า คนที่มีเงิน 1 พันล้านบาทนั้น เป็นจำนวนเงินที่เกินพอ ในการอยู่ดีกินดี ดังนั้นการเก็บภาษีลักษณะนี้ เป็นการเก็บภาษีผู้ที่มีความร่ำรวยเกินคน 1 รุ่นที่จะใช้

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำด้านการถือครองทรัพย์สินสูงเป็นอันดับต้นๆประเทศหนึ่ง โดยจากข้อมูลของ CS Global Wealth Report 2018 จัดให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำในการถือครองทรัพย์สินสูงที่สุดในโลก หรือจากข้อมูลจากสำนักข่าว Bloomberg พบว่า 1ใน 3 ของตลาดหุ้นไทย ถูกถือครองด้วยคนเพียง 500 คน เท่านั้น [2] การลดความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ไม่ใช่เป็นเพียงทางเลือกอีกต่อไป แต่กลายเป็นสิ่งที่ต้องทำไปเสียแล้ว

เนื่องจากประเทศไทยไม่มีข้อมูลความร่ำรวยของบุคคลเท่าใดนัก ผมก็เลยลองเอาข้อเสนอของ Sanders มาลองคำนวนดูว่า ถ้าใช้การเก็บภาษีแบบที่ Sanders เสนอกับกับคนไทยที่ติดอันดับความร่ำรวย 50 คนแรกของนิตยสาร Forbes โดยใช้ข้อมูลในปี 2018 [3] ลองดูว่ารัฐไทยน่าจะได้รายได้ประมาณเท่าใด

ผลปรากฎว่ารัฐไทยน่าจะได้รายได้จากการเก็บภาษีจากคนในกลุ่มนี้ เป็นจำนวนเงินถึง 3 แสนล้านบาทต่อปี ตัวอย่างบุคคลที่น่าสนใจที่จะโดยเก็บภาษีจากนโยบายนี้ เช่น

ธนินท์ เจียรวนนท์ 7 หมื่นล้านบาทต่อปี (กลุ่ม CP) เฉลิม อยู่วิทยา 4.6 หมื่นล้านบาทต่อปี (กลุ่ม กระทิงแดง) อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา 7.8 พันล้านบาทต่อปี (กลุ่ม king power) สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ 1.1 พันล้านบาทต่อปี (กลุ่ม ไทยซัมมิท)

หากคำนวนเพียงแค่ 50 อันดับแรกแล้วยังสามารถเก็บภาษีได้ถึง 3 แสนล้านบาทต่อปี เชื่อว่าหากได้มีการสำรวจเก็บกับบุคคลที่ร่ำรวยเกิน 1 พันล้านบาทจริงๆ แล้วนั้น รัฐไทยน่าจะสามารถเก็บภาษีที่สามารถใช้ลดความเหลื่อมล้ำ หรือสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้ประชาชน หรือแม้กระทั่งทำให้งบกลับไปเกือบจะไม่ขาดดุลได้ โดนที่ไม่ต้องไปขึ้นภาษีอื่นๆจากชาวบ้านเลยทีเดียว

เมื่อคิดมาถึงตรงนี้ ผมไม่ใช่แค่เห็นว่านโยบายภาษีนี้น่าสนใจอีกต่อไป แต่สมควรนำมาปรับใช้กับประเทศไทย และเสนอให้พรรคการเมืองที่มีแนวคิดจะลดความเหลื่อมล้ำ สร้างรัฐสวัสดิการ รับไปปรับใช้เป็นนโยบายต่อไป

 

 

อ้างอิง: 

[1] https://www.businessinsider.com/wealth-tax-bernie-sanders-elizabeth-warren-difference-explained-chart-2019-10

[2] Bloomberg : https://www.bloomberg.com/news/articles/2019-10-15/just-500-people-own-36-of-all-the-equity-in-thailand-s-firms?fbclid=IwAR0eyPormDxyh4m53gVYjb3yWlcGKG63G8uY4632C4Sh1BH0q4mnzEygOtc

[3] Forbes : https://www.forbes.com/thailand-billionaires/list/#tab:overall

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net