รอบโลกแรงงาน ตุลาคม 2019

ITF เรียกร้องช่วยเหลือพนักงานที่ได้รับผลกระทบจาก 'โทมัส คุก' ล้มละลาย

จากกรณีที่โทมัส คุก (Thomas Cook) บริษัทท่องเที่ยวเก่าแก่อายุ 178 ปีของสหราชอาณาจักร ประกาศล้มละลายเมื่อช่วงปลายเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา หลังจากการพยายามเจรจาเพื่อรักษาบริษัทไว้ล้มเหลว ส่งผลให้นักท่องเที่ยวจากสหราชอาณาจักรตกค้าง อยู่ต่างประเทศมากกว่า 1.5 แสนคน มีพนักงาน 22,000 ตำแหน่งทั่วโลก เสี่ยงตกงาน รวมถึง 9,000 ตำแหน่งในสหราชอาณาจักร ซึ่งกระบวนการจากนี้ไป บริษัทต้องระดมเงินสดให้ได้ 200 ล้านปอนด์ (ประมาณ 7,525 ล้านบาท) เพื่อใช้ในการฟื้นฟูกิจการ ทั้งนี้บริษัทมีหนี้สินสะสมมากถึง 1.7 พันล้านปอนด์ (ประมาณ 63,965 ล้านบาท)

การท่าอากาศยานพลเรือนอังกฤษระบุว่าเที่ยวบินและการเดินทางที่มีการจองเอาไว้กับโทมัส คุก ได้ถูกยกเลิกทั้งหมดทันทีที่บริษัทประกาศล้มละลาย สถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารทั่วโลกราว 600,000 คน ซึ่งทำให้รัฐบาลอังกฤษต้องร่วมมือกับบรรดาบริษัทประกันและสายการบินรายอื่นๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนในการเดินทางกลับประเทศ

นอกจากนี้รัฐบาลอังกฤษประกาศจุดยืนที่ชัดเจนว่า จะยื่นมือช่วยเหลือโทมัส คุก ได้เฉพาะในกรณีการนำประชาชนสหราชอาณาจักรกลับประเทศเท่านั้น แต่จะไม่มีการดึงงบประมาณรัฐออกมาช่วยอุ้มกิจการ โดยนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ให้เหตุผลว่าการที่รัฐบาลไม่ได้ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่โทมัส คุก ก็เพราะไม่ต้องการสร้างบรรทัดฐานที่ไม่ดีให้กับบริษัทอื่นๆ

ต่อมาเมื่อวันที่ 1 ต.ค. สหพันธ์แรงงานการขนส่งระหว่างประเทศ (ITF) ได้ออกมาแสดงความห่วงใยต่อพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากการล้มละลายของบริษัทนำเที่ยว Thomas Cook ว่าจะต้องได้รับการเยียวยาอย่างเท่าเทียม มีมาตรฐานเดียวกันกับที่ปฏิบัติต่อลูกค้าของบริษัทฯ

ITF ระบุว่าขั้นตอนการล้มละลายมักจะจัดลำดับความสำคัญต่อผลประโยชน์ของเจ้าหนี้และนักลงทุนมากกว่าผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ที่รวมถึงลูกค้าผู้เสียภาษีและพนักงาน ก่อนหน้านี้แม้บริษัทฯ จะอยู่ในภาวะวิกฤต แต่ผู้บริหารระดับสูงของโทมัส คุก ยังคงได้รับแพคเกจค่าตอบแทนเมื่อปีที่แล้วถึง 1.02 ล้านปอนด์ (ประมาณ 38.38 ล้านบาท)

เลขาธิการฝ่ายบินพลเรือนของ ITF ระบุว่าภาครัฐและผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องไม่ลืมพนักงาน เพราะขณะนี้อดีตพนักงานของโทมัส คุก จำนวนมากยังคงให้บริการลูกค้าโดยไม่ทราบชะตากรรมว่าพวกเขาจะได้รับเงินเมื่อไร และจะกลับบ้านได้อย่างไร

"พนักงานของโทมัส คุก กำลังเผชิญกับการสูญเสียงานในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกกำลังถดถอย อย่างน้อยที่สุดกระบวนการจากนี้ไปควรทำให้พนักงานทุกคนมั่นใจว่าพวกเขาจะเดินทางกลับบ้านได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเอง และได้รับค่าจ้างเต็มจำนวน" เลขาธิการฝ่ายบินพลเรือนของ ITF กล่าว

ที่มา: ITF, 1/10/2019

กระทรวงแรงงานไต้หวัน จัดทำรายการวิทยุภาคภาษาต่างๆ แก่แรงงานชาวต่างชาติ เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารและรู้สิทธิประโยชน์ของตนเอง

นอกจากมีกฎหมายและมาตรการที่ดีในการคุ้มครองแรงงานต่างชาติแล้ว ในแต่ละปี กระทรวงแรงงานไต้หวันยังจัดสรรงบประมาณให้กองแรงงานท้องที่จัดกิจกรรมสันทนาการให้แก่แรงงานต่างชาติเป็นประจำ และที่พิเศษกว่าประเทศผู้นำเข้าแรงงานต่างชาติอื่นๆ ก็คือ ให้งบประมาณจัดทำรายการวิทยุภาคภาษาต่างๆ เพื่อให้แรงงานต่างชาติ นายจ้างและบริษัทจัดหางานได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารและระเบียบกฎหมายในการทำงานและการจ้างงานที่ถูกต้องด้วย

แรงงานต่างชาติที่เดินทางมาทำงานในไต้หวันมีจำนวนมากกว่า 700,000 คนแล้ว เนื่องจากอุปสรรคในด้านการสื่อสารและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดความเข้าใจผิดและฝ่าฝืนระเบียบกฎหมายได้ง่าย กรมพัฒนากำลังแรงงาน กระทรวงแรงงาน จึงจัดสรรงบประมาณ มอบหมายให้สถานีวิทยุต่างๆ จัดทำรายการวิทยุภาคภาษาไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย เพื่อให้แรงงานต่างชาติได้รับรู้ข้อมูลข่าวสาร ระเบียบข้อบังคับ รวมถึงภาษาจีนและประเพณีวัฒนธรรม ทำให้ปรับตัวเข้ากับสังคมของไต้หวันได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ ยังมีรายการวิทยุภาคภาษาจีนสำหรับนายจ้าง บริษัทจัดหางานและชาวไต้หวัน เพื่อให้ทราบถึงระเบียบกฎหมาย วัฒนธรรมและวิธีการบริหารดูแลแรงงานต่างชาติด้วย

กรมพัฒนากำลังแรงงาน กระทรวงแรงงานแถลงว่า ปัจจุบัน ได้มอบหมายให้สถานีวิทยุต่างๆ จัดทำรายการวิทยุสำหรับแรงงานต่างชาติ นายจ้าง บริษัทจัดหางานและคนท้องถิ่น รวมทั้งหมด 13 รายการ ได้แก่ภาษาจีน 3 รายการ รายการวิทยุภาคภาษาอินโดนเซียและเวียดนาม ภาษาละ 3 รายการ ภาษาอังกฤษและไทย ภาษาละ 2 รายการ สำหรับรายการวิทยุภาคภาษาไทย ได้แก่รายการ Rti และรายการเพื่อนไทย นอกจากรับฟังผ่านเครื่องรับวิทยุได้แล้ว รายการวิทยุภาษาไทย ยังสามารถฟังรายการออนไลน์หรืออ่านข่าวสารผ่านเครื่องโทรศัพท์มือถือได้ด้วย ทำให้แรงงานไทยได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารและมาตรการใหม่ๆ ทันต่อสถานการณ์

กรมพัฒนากำลังแรงงานกล่าวว่า รายการวิทยุช่วยให้แรงงานต่างชาติบรรเทาความคิดถึงบ้านได้ นอกจากนี้ ยังสามารถเรียนรู้สิทธิประโยชน์ ตลอดจนวัฒนธรรมและภาษาจีน ทำให้ปรับตัวเข้ากัยสังคมไต้หวันได้ง่ายและรวดเร็วมากขึ้นในบรรดาประเทศผู้นำเข้าแรงงานต่างชาติ ไต้หวันถือว่าเอาใจใส่และมีระบบดูแลและคุ้มครองแรงงานต่างชาติค่อนข้างดี

ที่มา: Radio Taiwan International, 4/10/2019

สหภาพแรงงานภาคการดูแลด้านสุขภาพเรียกร้องสภาพการทำงานที่ดี

ในช่วงการรณรงค์ 'วันงานที่มีคุณค่าสากล' (World Day of Decent) เมื่อช่วงต้นเดือน ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา UNICARE สหภาพแรงงานภาคการดูแลด้านสุขภาพ ที่มีสมาชิกอยู่ทั่วโลก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรแรงงานนานาชาติอย่างสหพันธ์แรงงานฝีมือภาคบริการระหว่างประเทศ (UNI Global Union) ได้เรียกร้องให้รัฐบาลและบรรษัทข้ามชาติ ลงทุนในภาคสาธารณสุขเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับผู้ป่วยและให้สร้างสภาพการทำงานที่ดีให้กับบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมนี้

UNI ระบุว่ากำลังผลักดันให้นายจ้างตระหนักถึงสภาพการทำงานที่ดี ค่าจ้างที่ดี และการต่อรองร่วมกัน สำหรับคนทำงานในภาคนี้ UNI ต้องการให้นายจ้างจัดหาพนักงานและมีการฝึกอบรมที่เพียงพอ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ดูแลผู้ป่วยจะสามารถทำงานได้อย่างปลอดภัย

สำหรับการเรียกร้องต่อบรรษัทข้ามชาตินั้น UNI มุ่งเป้าการเรียกร้องไปที่ 2 ยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมอย่าง Fresenius (บรรษัทข้ามชาติด้านการดูแลรักษาสุขภาพ ที่เชี่ยวชาญด้านยาเพื่อช่วยชีวิตและเทคโนโลยีสำหรับการให้ยาทางหลอดเลือดดำ การถ่ายเลือด และโภชนาการทางคลินิก รวมทั้งให้บริการช่วยรักษาและดูแลผู้ป่วยวิกฤตและโรคเรื้อรัง) และ ORPEA (บรรษัทข้ามชาติด้านการให้ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ) โดย UNI ระบุว่าต้องการให้ 2 บรรษัทนี้รับประกันว่าคนทำงานหน้าผู้ดูแลทุกคนของบรรษัทและที่เกี่ยวข้องกับบรรษัท จะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างมีศักดิ์ศรีและความเคารพ

ส่วน UNICARE ระบุว่าอุตสาหกรรมภาคการดูแลคนในครอบครัว (Homecare) เป็นอุตสาหกรรมภาคที่เติบโตเร็วที่สุดในเศรษฐกิจโลก และเราต้องทำให้แน่ใจว่าคนที่ทำงานในภาคนี้ซึ่งกำลังดูแลผู้ที่อ่อนแอที่สุดในสังคม จะสามารถรักษาสภาพการทำงานที่เหมาะสมผ่านการรวมกลุ่มและการต่อรองกับนายจ้างได้

ทั้งนี้ UNI ระบุว่ามีการชุมนุมรณรงค์เรียกร้องโดยสหภาพแรงงานภาคการดูแลด้านสุขภาพต่างๆ ทั่วโลก เช่นที่แอฟริกาใต้ สหภาพแรงงาน UGTT ได้ออกมาเรียกร้องที่โรงพยาบาลและสถานพยาบาลหลายแห่งทั่วประเทศ, ในยุโรป กลุ่มสหภาพแรงงานในโปแลนด์ สาธารณรัฐเช็ก ออสเตรีย เบลเยียม และสเปน ได้ออกมารณรงค์เน้นย้ำถึงการทำงานที่มั่นคง, ที่อาร์เจนตินา กลุ่มสหภาพแรงงานได้ออกมาเรียกร้องให้มีการฝึกอบรมและสิทธิการต่อรองร่วม นอกจากนี้ยังการชุมนุมรณรงค์เรียกร้องโดยสหภาพแรงงานภาคการดูแลด้านสุขภาพใน นิวซีแลนด์ อินเดีย และเนปาล อีกด้วย

ที่มา: Uni Global Union, 4/10/2019

พนักงานส่งอาหาร Uber Eats ญี่ปุ่นจัดตั้งสหภาพแรงงาน

พนักงานจัดส่งอาหารของบริษัท Uber Technologies Inc. ในญี่ปุ่น ซึ่งให้บริการจัดส่งอาหาร ได้จัดตั้งสหภาพแรงงานแล้วเมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2019 เพื่อเจรจาข้อตกลงสัญญาจ้างกับบริษัทและปรับปรุงสภาพการทำงาน

บริษัทอูเบอร์และคู่แข่งอย่าง Lyft Inc. ถูกวิจารณ์อย่างหนักที่ไม่คุ้มครองประกันการชดเชยอุบัติเหตุและสิทธิประโยชน์อื่นๆ ให้แก่พนักงานสัญญาจ้าง (หรือที่เรียกว่า platformers)

"เราต้องการปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานของพนักงานจัดส่งอาหารบริษัท Uber Eats ผ่านการเจรจาต่อรอง" นาย Tomio Maeba ประธานสหภาพแรงงาน วัย 29 ปีกล่าวในงานแถลงข่าวในกรุงโตเกียว โดยมีพนักงานสัญญาจ้างจำนวนหนึ่งเข้าร่วม

สหภาพแรงงานต้องการให้บริษัทตระหนักถึงสภาพแวดล้อมการทำงานที่เอารัดเอาเปรียบพวกเขาและต้องการเงื่อนไขการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงยิ่งขึ้นให้แก่พนักงานทุกแพลตฟอร์มทุกแอพพลิเคชั่น" ประธานสหภาพแรงงานกล่าว

สหภาพฯ ก่อตั้งขึ้นโดยผู้ก่อการ 17 คนและได้วางแผนที่จะขอให้สาขาในญี่ปุ่นที่อยู่ภายใต้บริษัทสัญชาติสหรัฐอเมริกา ปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างเป็นธรรม และทบทวนการคำนวณค่าจ้างต่อระยะทางใหม่

มีพนักงานจัดส่งอาหารให้แก่บริษัท Uber Eats ในญี่ปุ่น ราว 15,000 คน พนักงานจัดส่งใช้จักรยานและจักรยานยนต์ของบริษัท รับอาหารและเครื่องดื่มผ่านแอพพลิเคชั่นของ Uber

นายโยชิฮิโกะ คาวาคามิ ทนายความผู้สนับสนุนสหภาพแรงงาน กล่าวว่าบริษัทควรยอมตามคำเรียกร้องของสหภาพแรงงานเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายสหภาพแรงงานของญี่ปุ่น

โฆษกหญิงของบริษัท Uber Eats ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Kyodo News ว่า "เราจะตอบสนองความต้องการของพนักงานจัดส่ง ในขณะเดียวกันก็แสวงหาวิธีการที่ดีกว่าเพื่อพวกเขา"

Uber ระบุว่าได้เริ่มใช้โปรแกรมการชดเชยการบาดเจ็บสำหรับพนักงานจัดส่งในญี่ปุ่นตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2019 โดยร่วมมือกับบริษัทประกันภัย Mitsui Sumitomo Insurance และจะจ่ายค่าเบี้ยประกันทั้งหมด ส่วนกรณีที่เสียชีวิต พนักงานจะได้รับค่าชดเชยสูงถึง 10 ล้านเยน (93,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ)

จากข้อมูลของรัฐบาลเมื่อไม่นานมานี้ ในญี่ปุ่นมีคนทำงานอิสระ (Freelancer) ราว 3 ล้านคน รวมผู้รับจ้างเหมา รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพิจารณาส่งร่างกฎหมายแก่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (Diet) ในปี 2020 เพื่อคุ้มครองคนทำงานรับจ้างอิสระจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ

ที่มา: Japan Today, 4/10/2019 

ผลการศึกษาพบว่าบัณฑิตชาวอเมริกันได้งานทำไม่ตรงกับสาขาวิชาที่เรียนมา

ผลการศึกษาชิ้นเเรกจัดทำโดยบริษัท Emsi ที่เชี่ยวชาญด้านการวิจัยตลาดเเรงงาน บริษัทนี้เปิดเผยผลการวิจัยเมื่อเดือนที่เเล้ว การวิจัยของ Emsi วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติการทำงานของชาวอเมริกันจำนวนเกือบ 125 ล้านคน

ทีมนักวิจัยได้วิเคราะห์งานสามตำเเหน่งเเรกของชาวอเมริกันเเต่ละคนที่เรียนจบระดับปริญญาตรีใน 6 สาขาวิชา ได้เเก่ สาขาภาษาเเละปรัชญา สาขาสังคมศาสตร์ สาขาธุรกิจ สาขาการสื่อสาร สาขาวิศวกรรมศาสตร์เเละสาขาเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสาร

การวิจัยชิ้นนี้พบว่าบัณฑิตอเมริกันเริ่มทำงานตำเเหน่งเเรกตรงกับสาขาวิชาที่เรียนจบมา ยกตัวอย่าง ร้อยละ 20 ของบัณฑิตที่เรียนจบวิศวกรรมศาสตร์ได้งานเเรกตรงตามสาขาที่เรียนมา เเต่เมื่อมาถึงงานที่สาม หลายคนทำงานในสาขาที่ต่างไปจากที่เรียนมาอย่างสิ้นเชิง ผลการศึกษาชี้ว่างานโฆษณา งานฝ่ายขายเเละงานวิจัยทางการเงินเป็นตำเเหน่งงานติดอันดับท็อปเทนสำหรับบัณฑิตจากทั้งหกสาขาวิชาเเละราวร้อยละ 54 ของตำเเหน่งงานสุดท้ายที่คนเหล่านี้ทำเกี่ยวข้องกับการประกอบการทางธุรกิจ

Clare Coffey นักวิจัยข้อมูลเเละนักเขียนเเห่งบริษัท Emsi เธอบอกกับวีโอเอว่าการวิจัยนี้ไม่สรุปรวมถึงตำเเหน่งงานของบัณฑิตจากทุกสาขาวิชา เเต่ผลการวิจัยที่ชี้ว่าบัณฑิตจากหกสาขาวิชาได้งานที่ต่างจากสาขาที่เรียนมาก็เเสดงให้เห็นว่าหนทางสู่อาชีพการงานในสหรัฐฯ ได้เปลี่ยนแปลงไป

เธอกล่าวว่าคนยังมองว่าสาขาอาชีพกับสาขาการศึกษาเกี่ยวข้องกันแบบแยกไม่ได้ เธอกล่าวว่าคนมองว่าหากเรียนวิทยาศาสตร์ก็จะต้องทำงานเป็นนักวิทยาศาสตร์ หากเรียนภาษามาก็ต้องเป็นนักเขียนหรือหากเรียนจบด้านการศึกษาก็ต้องเป็นครู เธอบอกว่ามีตำแหน่งงานมากมายที่ไม่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาใดวิชาหนึ่ง ปัจจุบันมีตำแหน่งงานมากมายที่อาจเป็นการแนะนำผลิตภัณฑ์ของบริษัทหรืองานดูแลการจัดส่งสินค้า เป็นต้น

ทางด้าน Edwin Koc แย้งว่านักศึกษามหาวิทยาลัยรุ่นปัจจุบันจะต้องรับมือกับการเปลี่ยนงานและการเปลี่ยนสาชาวิชาชีพมากกว่ารุ่นพ่อแม่ Koc เป็นผู้อำนวยการแห่งสมาคมมหาวิทยาลัยและผู้ว่าจ้างงานแห่งชาติ (National Association of Colleges and Employers) เขากล่าวว่าสาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าตลาดในสหรัฐกำลังเข้มแข็ง ทำให้คนที่ไม่ชอบงานที่ทำอยู่สามารถเปลี่ยนงานได้ง่ายขึ้นหรือหางานที่เงินเดือนสูงขึ้น

Hironao Okahana ประธานฝ่ายการวิจัยและการวิเคราะห์นโยบายที่สมาคม Council of Graduate Schools กล่าวว่าความไม่ชัดเจนของสายอาชีพนี้ไม่ได้กระทบกับคนที่เรียนจบระดับปริญญาตรีเท่านั้น

ในเดือน ก.ค. 2019 ทางสภาได้เปิดเผยผลการศึกษาเกี่ยวกับหน้าที่การงานของคนที่เรียนจบระดับปริญญาเอกจำนวนกว่า 4,700 คนในสหรัฐฯ คนทั้งหมดเรียนจบมาตั้งแต่ 3 ปี 8 ปีและ 15 ปีที่แล้ว โดยรวมมีคนที่เรียนจบปริญญาเอกไม่กี่คนที่จบเมื่อ 15 ปีที่แล้วเพิ่งเปลี่ยนงานใหม่เมื่อเร็วๆ นี้และส่วนใหญ่ได้งานที่ทำอยู่ในปัจจุบันภายใน 3 ปีหลังเรียนจบ

แต่สำหรับคนที่จบปริญญาเอกมาเมื่อ 8 ปีที่แล้วหางานที่ตรงสาขาได้ยากกว่าโดยเฉพาะที่เพิ่งจบมาเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ทำให้ส่วนมากเลือกไปทำงานในสาขาอาชีพอื่นแทน เช่น ในภาคธุรกิจ งานรัฐบาลและในหน่วยงานไม่หวังผลกำไร

ผู้เชี่ยวชาญการศึกษาทั้งหมดนี้ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าเห็นด้วยที่วิทยาลัยและมหาวิทยาลัยต้องส่งเสริมความสามารถนักศึกษาให้ก้าวหน้าในการงานและสามารถเปลี่ยนสายอาชีพได้ ด้วยการกระตุ้นให้นักศึกษาลงเรียนในวิชานอกหลักสูตรและเข้าฝึกงานในสาขาที่ตนสนใจ นอกจากนี้พวกเขายังแนะนำว่าผู้ว่าจ้างงานควรจ้างคนที่อาจไม่เรียนจบทางสาขานั้นๆ มาโดยตรง

ที่มา: VOA, 7/10/2019

UN เรียกร้องชาติสมาชิกจ่ายเงินสมทบ เพราะอาจจะไม่มีเงินเดือนจ่ายเจ้าหน้าที่

เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2019 นายอันโตนีโอ กูแตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวกับคณะกรรมการงบประมาณสมัชชาใหญ่ยูเอ็นว่า หากไม่หาทางลดค่าใช้จ่ายมาตั้งแต่เดือน ม.ค. 2019 UN จะไม่มีสภาพคล่องมากพอสำหรับจัดการประชุมเมื่อเดือนก่อน (ก.ย. 2019) ส่วนในเดือน (ต.ค. 2019) นี้ยูเอ็นจะขาดดุลหนักที่สุดในรอบทศวรรษ และเสี่ยงไม่มีเงินสดมากพอจ่ายเงินเดือนเจ้าหน้าที่ในเดือนหน้า (พ.ย. 2019) การทำงานและการปฏิรูปต่างๆ จะตกอยู่ในความเสี่ยง เขาได้เริ่มใช้มาตรการพิเศษตั้งแต่เดือนก่อน เช่น ไม่จ้างคนแทนตำแหน่งที่ว่างอยู่ อนุมัติการเดินทางเฉพาะที่จำเป็น เลื่อนหรือยกเลิกการประชุมบางนัด

สำนักข่าวรอยเตอร์เผยว่าสหรัฐอเมริกาเป็นผู้สมทบเงินรายใหญ่ที่สุดของ UN รับผิดชอบในสัดส่วนร้อยละ 22 ของงบประมาณปกติปี 2019 ที่ตั้งไว้กว่า 3,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับดำเนินงานทางการเมือง มนุษยธรรม ปลดอาวุธ เศรษฐกิจ สังคม และการสื่อสาร สหรัฐฯ ค้างชำระเงินสมทบงบประมาณปกติปีนี้ 674 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และหลายปีก่อนหน้านี้รวมกัน 381 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  คณะผู้แทนถาวรสหรัฐประจำ UN ยืนยันตัวเลขดังกล่าวว่าเป็นจริง โฆษก UN เผยว่าจนถึงขณะนี้มีสมาชิกที่ชำระเงินสมทบงบประมาณปกติปีนี้ครบแล้ว 129 ประเทศ รวมเป็นเงินเกือบ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา: The Asian Age, 8/10/2019

พบ ‘ฟรีแลนซ์ภาคสื่ออาร์เจนตินา’ ระบุมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน

จากผลสำรวจของสหภาพแรงงานสื่อมวลชนแห่งบัวโนสไอเรส (SiPreBA) ทำให้เกิดความกังวลใหม่เกี่ยวกับสถานะของ 'คนทำงานอิสระ' หรือ 'ฟรีแลนซ์' ภาคสื่อมวลชน ในเมืองหลวงของอาร์เจนตินา โดยฟรีแลนซ์ที่ตอบแบบสอบถามกว่า 9 ใน 10 ระบุว่าพวกเขาได้รับค่าตอบแทนจากการทำงานต่ำกว่าระดับเส้นความยากจนของประเทศอาร์เจนตินา

ร้อยละ 94 ของฟรีแลนซ์ระบุว่ารายได้ต่อเดือนของพวกเขาต่ำกว่าระดับเส้นความยากจนที่กำหนดโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติของอาร์เจนตินา (INDEC) อีกร้อยละ 62 ระบุว่าพวกเขามีรายได้น้อยกว่า 10,000 เปโซ (ประมาณ 5,200 บาท) ต่อเดือน และอีกร้อยละ 17 มีรายได้อยู่ระหว่าง 10,000-14,000 เปโซ (ประมาณ 5,200-7,300 บาท)

ปัจจุบัน INDEC กำหนดเส้นความยากจนของชาวอาร์เจนตินาไว้ที่ 31,908.33 เปโซ (ประมาณ 16,000 บาท) ต่อเดือน ซึ่งหมายถึงรายได้ขั้นต่ำที่จำเป็นสำหรับการซื้อสิ่งของจำเป็นขั้นพื้นฐาน และเป็นไปตามดัชนีราคาสินค้าเฉลี่ยตามที่กำหนดในเดือน พ.ค. 2562 สำหรับครอบครัวทั่วไปที่มีสมาชิก 5 คน

ในการสำรวจของ SiPreBA ที่ได้ทำการสำรวจคนทำงานในภาคสื่อมวลชน 300 คน ในบัวโนสไอเรสหลังจาก INDEC เปิดเผยว่าอัตราความยากจนของอาร์เจนตินาเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 35.4 ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 3 จากร้อยละ 32 เมื่อช่วงท้ายปี 2561 ที่ผ่านมา

การสำรวจยังพบอีกว่าร้อยละ 80 ของคนทำสื่อฟรีแลนซ์ต้องทำงานที่แตกต่างกันระหว่าง 1-3 แห่ง โดยร้อยละ 11 ต้องทำงานให้ 4-5 แห่ง เลยทีเดียว นอกเหนือจากนั้นมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าต้องทำงานหลายที่เพราะพวกเขาไม่สามารถดำรงชีพได้ด้วยการในการทำงานฟรีแลนซ์ให้กับสื่อเพียงแห่งเดียว

SiPreBA ยังเปิดเผยถึงความไม่เป็นธรรมในการทำงานของฟรีแลนซ์ภาคสื่อ ส่วนใหญ่ร้อยละ 61 ฟรีแลนซ์ภาคสื่อระบุว่าการจ่ายค่าจ้างจะถูกพิจารณาโดยบริษัทผู้ว่าจ้างฝ่ายเดียวเท่านั้น ไม่มีการเจรจาหรือการประเมินผลงาน มีเพียงร้อยละ 30 เท่านั้นที่ระบุว่าพวกเขาสามารถต่อรองค่าจ้างกับบริษัทผู้ว่าจ้างได้ นอกจากนี้ร้อยละ 83 ไม่ได้รับค่าตอบแทนสำหรับค่าใช้จ่ายรายวันรวมทั้งค่าขนส่งและค่าเดินทาง และกว่าร้อยละ 94 ได้รับค่าตอบแทนเฉพาะงานที่เสร็จสมบูรณ์เท่านั้น ส่วนร้อยละ 90 ของฟรีแลนซ์ที่ทำงานเกี่ยวกับภาพและเสียง พวกเขาต้องใช้อุปกรณ์ของตัวเอง และร้อยละ 62 ระบุว่าพวกเขาต้องเสียค่าบำรุงรักษาอุปกรณ์เอง

ที่มา: Buenos Aires Times, 9/10/2019

สหพันธ์นักข่าวนานาชาติห่วงพนักงานร่วม 800 คน หลังหนังสือพิมพ์มาเลย์ปิดตัวกะทันหัน

สืบเนื่องจากกรณีที่หนังสือพิมพ์อูตูซาน (Utusan) หนังสือพิมพ์ภาษามาเลย์เก่าแก่ที่สุดในมาเลเซียหยุดตีพิมพ์กะทันหันเมื่อวันที่ 9 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยฝ่ายบริหารของ Utusan Media Group ระบุว่าเนื่องจากมีคนอ่านและโฆษณาลดลง

นายอับดุล อาซิซ เชค ฟัดซีร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Utusan Media Group มีบันทึกภายในถึงพนักงานเมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2562 ว่าคณะกรรมการบริหารมีมติว่าจะดำเนินการขอชำระหนี้โดยสมัครใจ เพราะไม่สามารถจ่ายเงินเดือนหรือชำระหนี้ได้อีก และไม่มีเงินเพียงพอที่จะดำเนินธุรกิจได้ต่อไป จึงขอให้พนักงาน 800 คนลาหยุดไปจนถึงวันที่ 31 ต.ค. 2562 นี้ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของสัญญาจ้างพนักงานด้วยเช่นกัน ส่วนประธานสหภาพพนักงานยืนยันว่าฝ่ายบริหารไม่ได้แจ้งพนักงานล่วงหน้าเรื่องการปิดกิจการกะทันหัน โดยบอกว่าจะตอบคำถามเรื่องเงินเดือนและเงินชดเชยในวันที่ 30 ต.ค. เท่านั้น

ต่อกรณีนี้ สหพันธ์นักข่าวนานาชาติ หรือ IFJ ได้ออกมาแสดงความห่วงใยต่อพนักงานอูตูซาน แม้ฝ่ายบริหารระบุว่าจะปฏิบัติตามกฎหมายและจ่ายค่าชดเชยสิทธิ์ตามกฎหมายของแรงงานอย่างเต็มที่ ทั้งนี้สหภาพแรงงานของพนักงานอูตูซานยังเป็นสมาชิกของสหภาพนักข่าวแห่งชาติคาบสมุทรมาเลเซีย หรือ NUJM ซึ่งเป็นเครือข่ายของ IFJ

ด้าน NUJM ระบุว่าจะปกป้องสิทธิ์ของสมาชิกเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาได้รับเงินชดเชยที่พวกเขาสมควรได้รับ ส่วน IFJ ย้ำว่าขอประณามการกระทำของบริษัทที่แจ้งล่วงหน้าอย่างฉุกละหุกและไม่มีการพูดคุยกับสหภาพแรงงาน และยังเรียกร้องให้ Utusan Media Group ยืนยันว่าพนักงานทุกคนจะได้รับการชดเชยเต็มจำนวน

ที่มา: IFJ, 10/10/2019

สหรัฐฯ เริ่มใช้มาตรการลงโทษบริษัทถุงมือยางมาเลเซียที่บังคับใช้แรงงาน

สหรัฐฯ เริ่มใช้มาตรการลงโทษบริษัทถุงมือยางมาเลเซียรายใหญ่แห่งหนึ่งที่บังคับใช้แรงงาน นักวิเคราะห์กล่าวว่า หากมาเลเซียยังไม่เร่งแก้ไขบัญหาการบังคับใช้แรงงานต่างด้าว การห้ามนำเข้าของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ อาจจะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย

นักรณรงค์ด้านสิทธิแรงงานเตือนว่า มาเลเซียยังคงเสี่ยงต่อการถูกมาตรการลงโทษจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอีก หลังจากอเมริกาห้ามนำเข้าสินค้าจากบริษัทผลิตถุงมือยางรายหนึ่งที่ถูกพบว่ามีการบังคับใช้แรงงาน

ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2019 เป็นต้นมา บริษัทถุงมือยางของมาเลเซียที่ชื่อ WRP Asia Pacific ไม่สามารถส่งสินค้าของตนมาขายในสหรัฐฯ ได้ เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าบังคับใช้แรงงาน

สำหรับผู้นำเข้าในสหรัฐฯ ที่รับของมาจาก WRP แล้ว จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าไม่มีการบังคับใช้แรงงานในการผลิตสินค้าดังกล่าว ไม่เช่นนั้นจะต้องส่งสินค้าออกไปขายในประเทศอื่น

เบรนดา สมิธ (Brenda Smith) ผู้ช่วยผู้บังคับการฝ่ายบริหาร ของสำนักงานศุลกากร Customs and Border Protection’s Office of Trade ของสหรัฐฯ กล่าวว่า สัญญาณที่รัฐบาลอเมริกันส่งออกไปในเรื่องนี้ชัดเจนมาก

เธอกล่าวว่า “ถ้าประเทศใดเป็นคู่ค้าสหรัฐฯ แต่ไม่ทำตามคำมั่นที่จะกำจัดการบังคับใช้แรงงาน สหรัฐฯ จะทำทุกอย่างเพื่อที่จะปกป้องแรงงานจากการถูกเอาเปรียบ คุ้มครองตำแหน่งงานของคนอเมริกัน และสร้างการแข่งขันที่เท่าเทียม”

ขณะเดียวกัน แอนดี้ ฮอลล์ (Andy Hall) ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิแรงงานต่างด้าว กล่าวว่า ในประเทศมาเลเซียมีการบังคับใช้แรงงานอย่างแพร่หลาย และนอกจากบริษัท WRP ที่ถูกลงโทษทางการค้าแล้ว ยังมีอีกหลายบริษัทชาติเดียวกันที่กำลังถูกตรวจสอบ

ปัจจุบันมาเลเซียเป็นผู้ผลิตถุงมือยางที่ใช้ทางการแพทย์รายใหญ่ที่สุดของโลก โดยเป็นผู้ป้อนความต้องการมากกว่าครึ่งหนึ่งของตลาดโลก ตามสถิติของสมาคมผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ยางของมาเลเซีย (Malaysian Rubber Export Promotion Council)

นอกจากนี้สมาคมผู้ผลิตถุงมือยางของมาเลเซีย (MARGMA) กล่าวว่า ร้อยละ 65 ของถุงมือยางที่ผลิตโดยบริษัทสมาชิก ถูกส่งออกไปยังสหรัฐฯ

WRP Asia Pacific ซึ่งถูกห้ามขายสินค้าในอเมริกาเป็นบริษัทรายใหญ่ของมาเลเซีย เมื่อปีที่แล้ว WRP มีรายได้ 79 ล้าน 5 แสนดอลลาร์จากการส่งออกถุงมือยางมายังสหรัฐฯ

เช่นเดียวกับผู้ประกอบการภาคผลิตรายอื่นๆ บริษัทถุงมือยางในมาเลเซียใช้แรงงานจากประเทศเพื่อบ้านที่ยอมทำงานด้วยค่าแรงต่ำกว่าคนในประเทศ

รัฐบาลมาเลเซียเคยกล่าวว่า มีแรงงานต่างด้าวในประเทศ 1 ล้าน 7 แสนคน แต่องค์การแรงงานสากลหรือ International Labor Organization (ILO) ระบุว่าตัวเลขที่แท้จริงอาจสูงถึง 4 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนแรงงานทั้งหมดที่อยู่ในมาเลเซีย

แอนดี้ ฮอลล์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีบริษัทจำนวนหนึ่งที่ปรับปรุงตัวดีขึ้นเรื่องการใช้แรงงานต่างชาติ โดยคืนหนังสือเดินทางของคนงานที่เคยยึดไว้ และทำตามข้อกำหนดเรื่องการจ้างงานในกะพิเศษ หรือ overtime

อย่างไรก็ตาม นักรณรงค์ผู้นี้กล่าวว่า ปัญหาสำคัญที่ยังแทบไม่มีการแก้ไขคือการบังคับให้ลูกจ้างทำงานตามเงื่อนไขการปลดหนี้ คนงานที่เดินทางมาจากบังคลาเทศผ่านนายหน้า จ่ายเงินเพื่อให้ได้มาทำงานในมาเลเซีย บางรายยอมเป็นหนี้ เพื่อให้สามารถจ่ายเงินมากถึง 5,000 ดอลล่าร์ เหล่านี้ต้องทำงานเพื่อชดใช้หนี้ก้อนดังกล่าว บางครั้งคนงาน ที่ถูกกดดันมากๆ ถึงกับฆ่าตัวตาย

และเมื่อสหรัฐฯ ใช้มาตรการลงโทษต่อบริษัทที่บังคับใช้แรงงาน สื่อท้องถิ่นของมาเลเซียรายงานว่า รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานของมาเลเซียได้เสนอเพิ่มเติมเนื้อหาในกฎหมายเพื่อปกป้องแรงงาน และให้ความช่วยเหลือผู้ผลิตถุงมือในการตรวจสอบภายในเพื่อให้การประกอบกิจการเป็นไปตามมาตรฐานสากล

ที่มา: VOA, 14/10/2019

แรงงานต่างชาติในไต้หวันเกิดอุบัติเหตุจราจรปีละร่วม 5,000 คดี

แรงงานต่างชาติในไต้หวันเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ณ สิ้นเดือนสิงหาคมปีนี้ มีจำนวนมากกว่า 710,000 คนแล้ว เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่รู้จักกฎระเบียบด้านการจราจร และมีจำนวนไม่น้อยที่ขับขี่จักรยานยนต์หรือจักรยานไฟฟ้า ก่อให้เกิดอุบัติเหตุจำนวนมาก จากสถิติของกระทรวงคมนาคมและสำนักงานตำรวจย้อนหลัง 5 ปี พบว่า แต่ละปีมีชาวต่างชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างชาติประสบอุบัติเหตุปีละร่วม 5,000 คดี และเสียชีวิตสูงถึง 110 คน

ก่อนหน้านี้ มีแรงงานฟิลิปปินส์ในนิคมอุตสาหกรรมแปรรูปการส่งออกในนครเกาสง 2 คน ขี่มอเตอร์ไซค์คันเดียวกันออกเที่ยวในช่วงวันหยุด เนื่องจากไม่คุ้นกับสภาพถนนที่เป็นทางโค้ง พุ่งชนเสาร์ไฟฟ้า แรงงานฟิลิปปินส์ทั้ง 2 กระเด็นตกเหวลึก 10 เมตร เสียชีวิตทั้งคู่ กองจราจร สถานีตำรวจนครเกาสง จึงจัดส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ตระเวนไปตามโรงงานต่างๆ เพื่ออบรมและให้ความรู้เกี่ยวกับการจราจรแก่แรงงานต่างชาติ

ตำรวจนครเกาสงกล่าวเตือนว่าขณะจอดรอไฟแดงที่สีแยก ต้องระวังอย่ารีบร้อน มองเพียงสัญญาณไฟแดงของอีกฝั่งแล้วพุ่งออกตัวเร็วเกินไป รถอีกฝั่งยังไม่หยุดส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ง่าย เมื่อผ่านสี่แยก แม้จะไม่มีสัญญาณไฟ ก็ต้องชะลอความเร็ว มองให้ชัดเจน เมื่อไฟเขียวหรือไม่มีรถ ปลอดภัยแล้วค่อยผ่านไป นอกจากนี้ แรงงานต่างชาติมักจะทำงานในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งมีรถบรรทุกสินค้าเข้าออกมาก การปั่นจักรยาน ขี่จักรยานไฟฟ้าหรือรถมอเตอร์ไซค์ต้องระวัง อย่างเข้าใกล้รถขนาดใหญ่เหล่านี้ เนื่องจากรถบรรทุกขนาดใหญ่มีมุมอับ หากเข้าใกล้จะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย และที่ต้องเตือนเป็นพิเศษคือ ห้ามดื่มแล้วขับ นอกจากจะอันตรายแล้ว ยังมีสิทธิ์ถูกปรับหนักและถูกส่งกลับประเทศด้วย

ตำรวจนครเกาสงกล่าวว่า ระบบขนส่งมวลชนในไต้หวันค่อนข้างสะดวก ไม่ว่าจะรถโดยสารประจำทาง หรือรถไฟฟ้า แนะนำให้แรงงานต่างชาติใช้ระบบขนส่งมวลชนแทนการขับขี่รถมอเตอร์ไซค์ สะดวก ประหยัดและปลอดภัยกว่า

จากสถิติของกระทรวงคมนาคมและสำนักงานตำรวจย้อนหลัง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2013-2018 พบว่ามีชาวต่างชาติซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างชาติประสบอุบัติเหตุ รวม 24,526 คดี เสียชีวิตสูงถึง 110 คน บาดเจ็บ 26,891 คน หรือเฉลี่ยปีละร่วม 5,000 คดี ดังนั้น สมาชิกสภานิติบัญญัติได้เรียกร้องให้กระทรวงคมนาคม สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและสำนักงานตำรวจ จะต้องให้ความสำคัญและหามาตรการลดอุบัติเหตุให้ได้

ที่มา: Radio Taiwan International, 18/10/2019

พบ 'พนักงานชนกลุ่มน้อย' ธุรกิจค้าปลีกและฟาสต์ฟู้ด ต้องทำงานกะโหดมากกว่าลูกจ้างผิวขาว

เป็นที่ทราบกันดีว่า ลูกจ้างร้านอาหารฟาส์ต์ฟู้ดและธุรกิจค้าปลีกในสหรัฐฯ มีตารางเวลาการทำงานที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ แต่งานวิจัยชิ้นใหม่พบว่า ลูกจ้างที่ไม่ใช่คนผิวขาว หรือที่เรียกว่าเป็น “ชนกลุ่มน้อย” ในอเมริกา มีตารางเข้างานที่ไม่สามารถคาดเดาได้มากกว่าคนผิวขาว และมักได้รับมอบหมายกะทำงานอย่างกระชั้นชิด

นายจ้างมักมีวิธีปฏิบัติที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ต่อลูกจ้างที่เป็นคนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะลูกจ้างผิวสีเพศหญิง ตามรายงานของซีเอ็นเอ็น ที่อ้างอิงจากงานวิจัยของนักสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ภายใต้โครงการ The Shift Project รายงานชิ้นนี้สอบถามลูกจ้าง 30,000 คน ในธุรกิจฟาสต์ฟู้ดและค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุด 120 แห่งในอเมริกา ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่จ้างงานร้อยละ 17 ของแรงงานทั้งหมดในประเทศ

ลูกจ้างที่เป็นชนกลุ่มน้อย ที่ต้องรอสแตนด์บายเพื่อเข้างาน ถูกยกเลิกกะทำงานกระทันหัน หรือมีเวลาพักระหว่างกะทำงานน้อยกว่า 11 ชั่วโมง มีมากกว่าลูกจ้างผิวขาว 10 ถึง 20 เปอร์เซนต์ การเปลี่ยนเวลางานกระทันหัน ส่งผลกระทบต่อรายได้และชีวิตครอบครัวของพวกเขา โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีลูกเล็กหรือญาติผู้ใหญ่ที่พวกเขาต้องดูแลที่บ้าน

รายงานดังกล่าวมองว่าสาเหตุหนึ่งเกิดจากอคติของผู้จัดการที่มีต่อเชื้อชาติ ไม่ว่าจะเกิดโดยตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจก็ตาม ปัญหานี้ได้ทำให้จะมีการนำเสนอร่างกฎหมายสู่สภาฯ เพื่อบังคับให้ธุรกิจฟาสต์ฟู้ด ค้าปลีก โกดัง และธุรกิจงานบริการทั่วประเทศ แจ้งตารางเวลาทำงานให้ลูกจ้างล่วงหน้าสองอาทิตย์ และให้ลูกจ้างมีส่วนกำหนดตารางของตัวเองมากขึ้น หลังจากที่หลายเมืองใหญ่ เช่น ซานฟรานซิสโก นิวยอร์ก ชิคาโก ได้ผ่านกฎหมายลักษณะเดียวกันนี้เมื่อหลายปีก่อน

ที่มา: VOA, 18/10/2019

คนทำงานที่บ้านปากีสถาน ลงถนนต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงาน

เนื่องในโอกาสวันคนทำงานบ้านสากล คนทำงานที่บ้านจำนวนมากจัดชุมนุมใหญ่ที่เมืองการาจี ประเทศปากีสถาน เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2019 และเรียกร้องให้รัฐบาลจังหวัดสินธุ (Sindh) ประกาศออกกฎและขั้นตอนตามพระราชบัญญัติคนทำงานที่บ้านจังหวัดสิทธุ เพื่อเป็นการนำกฎหมายไปปฏิบัติจริง การเดินขบวนเริ่มจาก Fuwara Chowk ไปจนถึงสโมสรสื่อมวลชนเมืองการาจี  นำโดยสมาพันธ์แรงงานหญิงทำงานที่บ้าน (HBWWF) มีการถือธง ป้ายและแจกใบปลิว พร้อมกับตะโกนคำขวัญเพื่อสิทธิของพวกเขา

ในการชุมนุม เซห์รา ข่าน เลขานุการของ HBWWF กล่าวว่า แรงงานรับงานไปทำที่บ้าน โดยเฉพาะในจังหวัดสินธุ เป็นผลมาจากการต่อสู้ที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยมาเป็นเวลา 10 ปี จนพวกเธอได้รับการยอมรับสถานะทางกฎหมาย ซึ่งเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่แค่สำหรับคนทำงานที่บ้านของประเทศนี้ แต่สำคัญต่อภูมิภาคนี้ด้วย เธอกล่าวว่าสมาพันธ์ HBWWF ปลุกเสียงของคนงานหญิงมานานกว่าสามทศวรรษแล้ว รวมทั้งชาวนาหญิงแห่งโอการา คนทำงานด้านสุขภาพ ครูและพยาบาลหญิง เธอกล่าวว่า มันคือการต่อสู้ทางประวัติศาสตร์ และสร้างความเข้มแข็งให้ขบวนการแรงงานในปากีสถาน ที่ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อการปรับปรุงสถานะของคนทำงานที่บ้านเป็นจำนวนมาก แต่ยังเปลี่ยนกระบวนการทางความคิดของสังคมอีกด้วย

สหพันธ์แรงงานแห่งชาติ (NTUF) คุณ Nasir Mansoor กล่าวว่า การต่อสู้ของแรงงานหญิงที่รับงานไปทำที่บ้านนั้นเป็นเรื่องที่กล้าหาญและสร้างประวัติศาสตร์ ปัจจุบันนี้คนงานในโรงงานก็มาขอคำแนะนำจากพวกเธอในเรื่องการจัดตั้งสหภาพแรงงาน เขาบอกว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ตอนนี้มีคนทำงานที่บ้านจำนวนมากกำลังจัดตั้งสหภาพแรงงานและสะท้อนความโหดร้ายของระบบทุนนิยม

การชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลจังหวัดสินธุออกกฎระเบียบตามพระราชบัญญัติคนทำงานที่บ้านและออกประกาศให้เป็นไปตามกฎหมายด้วย

ที่มา: Labour Unity, 23/10/2019

หลังจากนัดหยุดงาน 500 วัน สหภาพแรงงาน Oracle เกาหลีใต้ ได้ข้อตกลงสภาพการจ้างแล้ว

หลังจากที่แรงงานนัดหยุดงานมาเป็นเวลาหนึ่งปีครึ่ง เพื่อเรียกร้องการเพิ่มค่าจ้างและการปฏิบัติที่เป็นธรรม สหภาพแรงงานออราเคิลประเทศเกาหลีใต้ก็สามารถทำข้อตกลงสภาพการจ้างกับ 'Oracle' บริษัทผลิตซอฟต์แวร์และคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่ของเกาหลี เมื่อต้นเดือน ต.ค. 2019

ก่อนหน้านี้ Oracle ไม่ยอมเจรจากับสหภาพแรงงานและไม่ยอมรับสถานะทางกฎหมายของผู้นำสหภาพแรงงานที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นตัวแทนของคนงาน ข้อตกลงสภาพการจ้างนี้ บริษัทฯ จะจัดหาทรัพยากรที่สำคัญให้แก่สหภาพฯ ซึ่งจะช่วยให้สหภาพฯ สนับสนุนสิทธิของคนงาน Oracle ได้เป็นอย่างดี เช่น สำนักงาน การปฏิบัติหน้าที่เป็นตัวแทนของคนงานในเวลาทำงาน โดยที่ผู้นำสหภาพฯ จะไม่ถูกหักค่าจ้าง

ในระหว่างการนัดหยุดงาน คนงานตั้งแคมป์หน้าบริษัท โดยใช้รถบัสเป็นสำนักงานชั่วคราว ข้อเรียกร้องของสหภาพฯ ยังไม่ได้สำเร็จทุกข้อ ยังมีบางข้อเป็นข้อพิพาทกันอยู่ แต่หวังว่าจะได้รับการแก้ไขในการเจรจาที่จะถึงนี้

Chris Ng เลขานุการระดับภูมิภาคของเครือข่ายสหภาพแรงงานระหว่างประเทศ (UNI APRO) ได้กล่าวชื่นชมความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าของคนงาน Oracle เกาหลี และแสดงความยินดีกับข้อตกลงพื้นฐานฉบับแรก เขากล่าวว่า

"การแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์ของสหภาพแรงงาน Oracle ที่แปลงรถบัสมือสองให้เป็นสำนักงานนั้นเป็นตัวอย่างที่ดีในการค้นหาวิธีแก้ปัญหาที่เป็นนวัตกรรมสำหรับความท้าทายที่กำลังเผชิญ รถบัสสหภาพฯ ที่จอดอยู่หน้าสำนักงานใหญ่ของ Oracle นั้น นักท่องเที่ยวและคนในชุมชนจำนวนมากมองเห็นได้ นี่กลายเป็นปัญหาใหญ่ของผู้บริหาร" Ng ได้พบปะผู้นำสหภาพแรงงานออราเคิลเกาหลีในระหว่างการเยือนกรุงโซลเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ซึ่งให้การสนับสนุนการต่อสู้ของคนงานกลุ่มนี้

Ahn Jong-Cheul ประธานสหภาพแรงงานออราเคิลกล่าวว่า "ความสมานฉันท์ที่ได้รับจากผู้เข้าร่วมประชุมระดับโลกของเครือข่ายสหภาพแรงงานระหว่างประเทศ (UNI ICTS) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์เมื่อเดือนสิงหาคมนั้นเสริมพลังให้เราต่อสู้ต่อไป”

Teresa Casertano ประธาน UNI Global ICTS กล่าวว่า "จากเกาหลีถึงแคลิฟอร์เนีย แรงงานด้านเทคโนโลยีกำลังรวมตัวจัดตั้งเพื่อต่อต้านการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมและเหมาะสม และเมื่อเราสามารถทำข้อตกลงได้เป็นครั้งแรกกับ Oracle เกาหลี มันจะเป็นขั้นตอนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของเทคโนโลยีสารสนเทศที่เสียงของคนงานจะได้ยิน

"ในระหว่างการเจรจา สหภาพแรงงานการเงินและธุรการแห่งเกาหลีและสหภาพแรงงานออราเคิลได้ร้องเรียนให้มีการตรวจสอบบัญชีของบริษัทเมื่อเดือน ก.ย. และ ต.ค. การไต่สวนคดีครั้งนี้มุ่งไปที่การไม่เห็นด้วยกับนาย Moon Gun ประธานกรรมการบริหารของ Oracle ในเรื่องความรับผิดชอบทางธุรกิจในเกาหลีและแรงงานสัมพันธ์

ในขณะที่นาย Lee Jae-Gap รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการจ้างงานและแรงงานมองว่า “นาย Moon มีความรับผิดชอบต่อการดำเนินธุรกิจในเกาหลีอย่างเต็มที่แล้ว" Ahn Jong-Cheul อธิบายถึงความรับผิดชอบทางกฎหมายของซีอีโอบริษัทจากต่างประเทศและดำเนินธุรกิจในเกาหลีเป็นเรื่องสำคัญสำหรับรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการทุจริตของบริษัทจากต่างประเทศที่ใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายในการดำเนินงานในประเทศ

สหภาพแรงงาน Oracle เกาหลีก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือน ต.ค. 2017 เพื่อแก้ไขระบบเงินเดือนและค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรมและโปร่งใสของบริษัท ชั่วโมงทำงานโดยเฉลี่ยของคนงานบริษัท อยู่ที่ประมาณ 80-100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ค่าจ้างของคนงานส่วนใหญ่ไม่ได้เพิ่มขึ้นเลยตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

ในเกาหลีใต้ พนักงาน Hewlett Packard และ Microsoft ได้รวมกันแล้ว และสหภาพแรงงานบริษัทด้านซอฟแวร์บริษัท SAP ยังอยู่ระหว่างการเจรจาข้อตกลงร่วมกับนายจ้างเป็นครั้งแรก

ที่มา: uniglobalunion.org, 23/10/2019

ครั้งแรกในประวัติศาสตร์การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติของไต้หวัน มีแรงงานต่างชาติขอใช้ข้อสอบภาษาแม่กำกับถึง 293 คน

การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติครั้งที่ 3 ประจำปี 2562 ได้จัดส่งใบอนุญาตสอบเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2019 ที่ผ่านมา โดยมีกำหนดจะจัดการสอบในวันที่ 3 พ.ย. 2019 นี้ โดยการทดสอบครั้งนี้ จัดเป็นครั้งแรกที่อนุญาตให้ผู้เข้าร่วมการทดสอบด้านการขับรถยกและควบคุมเครนรางเลื่อนไฟฟ้าสามารถยื่นขอใช้ข้อสอบภาษาต่างประเทศได้ ปรากฏว่ามีแรงงานต่างชาติยื่นขอใช้ข้อสอบภาษาแม่ 293 คน ในจำนวนยื่นขอใช้ข้อสอบภาษาไทย 22 คน

ศูนย์ทดสอบฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงานไต้หวันเปิดเผยว่า การทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติครั้งที่ 3 ประจำปี 2562 มีผู้สมัครสอบจำนวน 75,250 คน ได้เพิ่มข้อสอบภาคทฤษฎีที่มีภาษาอินโดนีเซีย เวียดนาม อังกฤษและไทย ภาษาใดภาษาหนึ่งกำกับ หรือข้อสอบที่เป็นเสียงอ่านภาษาจีน ให้แรงงานต่างชาติได้เลือกสอบได้ตามแต่ความถนัด โดยต้องระบุในใบสมัครและเลือกได้วิธีเดียวเท่านั้น ปรากฏว่ามีแรงงานต่างชาติสมัครสอบและยื่นขอใช้ข้อสอบที่มีภาษาแม่กำกับจำนวน 293 คน ในจำนวนนี้ เป็นคนงานอินโดนีเซียสมัครเข้าร่วมการทดสอบควบคุมเครนรางเลื่อนไฟฟ้าและขอใช้ข้อสอบภาษาอินโดนีเซียจำนวน 22 คน ในส่วนการทดสอบขับรถยกหรือโฟล์คลิฟท์ ยื่นขอใช้ข้อสอบภาษาเวียดนาม 95 คน ภาษาอินโดนีเซีย 79 คน ภาษาอังกฤษ 75 คน และภาษาไทย 22 คน โดยแรงงานต่างชาติเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นเพราะนายจ้างส่งเข้าร่วมการทดสอบ

ที่มา: ที่มา: Radio Taiwan International, 25/10/2019

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท