Skip to main content
sharethis

LPN เปิดปฏิบัติการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมลูกเรือประมงติด เกาะตวล อินโดนีเซีย พบคนไทย พม่า ลาว ตกค้าง บางรายรอกลับบ้านเกือบ 20 ปี บ้างเสียชีวิตไปแล้ว เผยเหยื่ออีกหลายคนตกอยู่ในสภาพย่ำแย่ แนะรัฐบาลตั้งทีมช่วยเหลือ-กองทุนเยียวยา

มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) แถลงข่าว “การปฏิบัติการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ลูกเรือประมงไทย ลาว พม่า และกัมพูชา ณ เกาะตวล จังหวัดมาลูกู ประเทศอินโดนีเซีย ครั้งที่ 16”

5 พ.ย.2562 จากที่ มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) เปิดปฏิบัติการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมลูกเรือประมงที่ติดอยู่ที่ เกาะตวล ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่าง วันที่ 28 ต.ค.-3 พ.ย.ที่ผ่านมา 

The Reporters รายงานสิ่งที่ ผู้จัดการมูลนิธิ LPN คือ ปฏิมา ตั้งปรัชญากูล เปิดเผยว่า ลูกเรือประมงในเกาะตวล ถูกพามาตั้งแต่อายุไม่ถึง 15 ปี พวกเขายังไม่ทำบัตรประชาชน ทำให้ขาดโอกาสในการช่วยเหลือให้เดินทางกลับบ้าน ซึ่งมีลูกเรือคนไทย ถูกพามาจากหมอชิต จำนวน 8 คนที่ ทาง ตม.ตวล ได้ให้ข้อมูลกับ LPN และพบว่ามีลูกเรือชาวพม่า รอความช่วยเหลือกลับบ้านอีก 44 คน

มูลนิธิ LPN ระบุด้วยว่า เกาะตวลเป็นพื้นที่หนึ่งที่ลูกเรือประมงไทยมาเสียชีวิตจำนวนมาก โดยมีบ่อน้ำแห่งหนึ่งเป็นเหมือนสุสาน ซึ่งชาวบ้านเรียกว่าบ่อร้อยศพ เพราะเมื่อ 10 ปีก่อนสมัยที่มีลูกเรือถูกหลอกมาทำประมงจำนวนมาก เมื่อลูกเรือประมงไทยเสียชีวิตก็มักน้ำศพมาทิ้งที่นี่

ปฏิมา ระบุด้วยว่า ตม.เกาะตวลได้ให้ข้อมูลในการติดตามแรงงานประมงทั้งของไทยและพม่าอีก 44 คน ซึ่งสภาพเลวร้ายคือการลักพาตัวเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปีมาทำงานบนเรือในอินโดนีเซีย และเด็กบางคนได้เห็นการถูกฆ่าในเรือจึงหนีเอาชีวิตรอดมาอยู่ที่เกาะตวล ซึ่งทั้งหมดได้ข้อมูลจากลูกเรือประมงไทยที่ยังตกค้างอยู่ที่เกาะตวล จากที่ไปสัมภาษณ์ลูกเรือไทยที่ตกค้างบางคน เขาบอกว่าความทรงจำค่อนข้างเลือนรางเพราะเดินทางมาตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 15 ปี เวลานี้ผ่านมาแล้วนับสิบปี ช่วงแรกของการหนีขึ้นเกาะต้องขุดหาหัวมันกิน เพราะต้องแอบซ่อนอยู่ในป่า

มูลนิธิ LPN ยังได้เปิดเผยชีวิตของ วิเชียร ทรัพย์ประเสริฐ ซึ่งเป็น 1 ในเหยื่อที่เป็นลูกเรือประมง จากที่เคยเป็นเด็กในสถานสงเคราะห์แห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น จนถึง 18 ปี ออกมาทำงานข้างนอก และถูกหลอกให้ขึ้นเรือประมงไปทำงานในน่านน้ำอินโดนีเซียถูกบังคับให้ทำงานอยู่บนเรือหลายปี จนหนีออกมาได้และชาวบ้านช่วยเหลือ ตอนนี้อยู่ที่กรุงจาการ์ต้า

ในรายงานยังระบุด้วยว่า ทีม LPN ยังได้เดินทางไปยังหลุมฝังศพชายไทยคนหนึ่งชื่อ สมยน อายุราว 40 ปี ซึ่งเป็นชาวนครราชสีมา เขาถูกหลอกให้ทำงานบนเรือประมงตั้งแต่อายุ 15 ปี และถูกบังคับให้ทำงานด้วยการใช้ความรุนแรง จนหนีขึ้นฝั่งอยู่ในป่า 8 ปี ขอความช่วยเหลือจากชาวบ้านในหมู่บ้าน Ohoitel อินโด 7 ปี จนเสียชีวิต เมื่อปี 2017

สายน ได้ช่วยชาวบ้านทำสวนเพื่อแลกกับอาหาร แต่มีอาการหวาดระแวงการถูกตามล่าตลอดเวลา และเมื่อทางการไทยส่งเรือไปรับคนงานไทยเขา ไม่สามารถขึ้นเรือได้เพราะไม่มีหลักฐานแสดงตัวตน เนื่องจากเขาออกจากประเทศไทยมานาน ก่อน สมยนจะเสียชีวิต เขาเดินไม่ได้ ต้องคลานอยู่ในส่วนผัก ได้รับการดูแลจากลูกเรือประมงชาวลาว จนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต

แนะรัฐบาลตั้งทีมช่วยเหลือ-กองทุนเยียวยา

วันนี้ (5 พ.ย.62) ที่ห้องประชุมศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาฯ LPN จัดแถลงข่าว “การปฏิบัติการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ลูกเรือประมงไทย ลาว พม่า และกัมพูชา ณ เกาะตวล จังหวัดมาลูกู ประเทศอินโดนีเซีย ครั้งที่ 16” ซึ่ง สำนักข่าวชายขอบ รายงานการแถลงนี้ด้วย ผู้จัดการ LPN ระบุว่า  ได้รับการร้องเรียนจากลูกเรือประมงชาวลาวที่ชื่อ “แหล่” ที่ยังตกค้างอยู่บนเกาะตวลในประเทศอินโดนีเซีย และจากการลงพื้นที่ทางตำรวจตรวจคนเข้าเมืองเกาะตวลได้ให้ข้อมูลว่า มีลูกเรือประมงไทยที่ยังตกค้างอยู่ 8 ราย คนลาว 1 ราย คือ แหล่ และคนพม่าอีก 44 ราย ซึ่งจากการสอบถามคนไทยที่ตกค้างอยู่นั้น พบว่าบางคนถูกทิ้งอยู่บนเกาะแห่งนี้นานถึง 17 ปี กรณีของแหล่ซึ่งเป็นคนลาวนั้น ได้ประสานกับสถานทูตลาวและครอบครัวที่ประเทศลาวแล้ว

ผู้จัดการ LPN ระบุดว้ยว่า บริเวณทะเลเกาะตวลให้สัมปทานประมงกับนายทุนไทยเมื่อปี 2545 โดยตอนที่มีการสำรวจและช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยกลับมานั้น ไม่ได้เข้าไปสำรวจที่เกาะแห่งนี้ ซึ่งล่าสุดจากการลงพื้นที่พบว่ายังมีคนไทย 8 คนตกค้างอยู่โดยส่วนใหญ่ติดเกาะอยู่ 17 ปี และยังมีคนพม่า 44 คน คนลาว 1 คน เราใช้เวลาสำรวจ 3 วัน และทราบว่าเกาะใกล้ๆ ตวลยังมีคนไทยตกค้างอีก ส่วนใหญ่เขาถูกขายโดยถูกหลอกไปจากหมอชิตและหัวลำโพง เรายังพบเด็กในสถานสงเคราะห์ 2 คน และมีการทำร้ายทุบตี

สมัคร ทัพธานี ผู้ประสานงาน LPN เปิดเผยด้วยว่า เมื่อวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา LPN ลงพื้นที่ อ. เมือง จ. สุพรรณบุรีเพื่อหาข้อเท็จจริงตามที่ผู้เสียหายคือ ไพฑูรย์ กลิ่นสกุล ซึ่งถูกหลอกขึ้นเรือไปทำงานและยังติดอยู่ที่เกาะตวลให้ข้อมูลมา โดยไพฑูรย์เดินทางออกจากบ้านตั้งแต่ปี 2545 ก่อนถูกหลอกขึ้นเรือ ซึ่งครอบครัวและญาติพี่น้องได้ตามหา ทั้งนี้ตอนแรกไม่พบชื่อในทะเบียน แต่เมื่อเอารายชื่อผู้ใหญ่บ้านมาถาม พบว่ามีนามสกุลของไพฑูรย์จริง และทางฝ่ายปกครองยังตรวจพบว่าแม่ของไพฑูรย์เคยอยู่ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีจริง แต่ครอบครัวได้ย้ายไปอยู่ที่อื่นหมดแล้ว อย่างไรก็ตามได้พบอาของไพฑูรย์ซึ่งยืนยันว่าไพฑูรย์เป็นหลานจริง หลังจากนั้นทีมงานได้เดินทางต่อไปที่จังหวัดนครปฐมโดยได้พบกับพี่สาวและแม่ของไพฑูรย์ โดยแม่ได้เอารูปไพฑูรย์เมื่อตอนอายุ 15 ปีมาให้ดู พร้อมกับร้องไห้ ดังนั้นกรณีของไพฑูรย์จึงสามารถยืนยันความเป็นคนไทยได้และมีเลข 13 หลัก ขึ้นต่อไปคือส่งเรื่องให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการ ทั้งนี้ไพฑูรย์ถูกหลอกไปนานถึง 17 ปีและมีภริยาเป็นคนท้องถิ่นอินโดนีเซีย

ข้อเสนอต่อรัฐของ LPN นั้น ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยควรมีการสำรวจเพิ่มเติม เนื่องจากยังพบว่ามีคนไทยตกค้างอยู่ที่เกาะบาตั้มอีกด้วย ดังนั้นควรมีการวางแผนสำรวจ ซึ่งเท่าที่พบหลายคนยืนยันตัวเองด้วยการเขียนและพูดภาษาไทย และควรมีแผนความร่วมมือด้านสิทธิมนุษยธรรม และตั้งกองทุนฟื้นฟูเยียวยาคนเหล่านี้เพราะหลายคนที่กลับมาถึงเมืองไทยยังมีอาการทางจิต บางคนยังไม่มีอาชีพ

ธนาพร ศรียากูล ที่ปรึกษาสำนักงานประสานงานการต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมาย กล่าวว่า ขบวนการทำประมงผิดกฎหมายได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ โดยกลุ่มทุนเดิมเอาเรือไปเปลี่ยนธงต่างประเทศ และเข้าไปทำงานประมงผิดกฎหมายที่ประเทศโซมาเลียโดยเอาลูกเรือประมงไปจากประเทศไทย ภารกิจเหล่านี้ยังจำเป็นในประเทศไทยต้องแก้ไขปัญหาต่อไป หากเราไม่ดำเนินการเรื่องนี้จะถูกนำไปเป็นตัวประกันเหมือนกับกรณีถูกตัดสิทธิจีเอสพีเพราะปัญหาแรงงาน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net