ปธ.ศาลฎีกา ระบุงานวิจัยชี้คนที่ติดคุกส่วนใหญ่คือคนจน รับส่วนใหญ่ที่หนีคือ คนรวย

ประธานศาลฎีกา ระบุงานวิจัยไทยและต่างประเทศ ชี้คนที่ติดคุกส่วนใหญ่คือคนจน แต่น้อยมากที่รายงานให้คำนิยาม 'คนจน' หรือ 'คนรวย'  รับจับคนรวยยาก และเมื่อให้ประกันตัวมักจะหนี 

ไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา (ที่มาภาพ โปลิศนิวส์)

5 พ.ย.2562 วันนี้ เมื่อเวลา 10.30 น. ที่ห้องประชุม ประกอบ หุตะสังห์ ชั้น 3 ตึกอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา กล่าวปฐกถาพิเศษ เรื่อง “คุกมีไว้ขังคนจน…จริงหรือ?” ใน งานวันธรรมศาสตร์สามัคคี ครั้งที่ 20

ไสลเกษ กล่าวปฐกถาดังกล่าวตอนหนึ่งว่า วันที่เข้ารับตำแหน่ง ตนได้หารือกับทีมงานว่า ควรจะรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นๆ จึงเซ็นหนังสือถึงศาล กระบวนการยุติธรรม และประชาชนทั่วประเทศ ว่าเขาอยากให้ศาลเป็นอย่างไร ขอให้ส่งความคิดเห็นมา เมื่อลองทำดูก็ได้ผลเกินคาด โดยพบว่า 60% เป็นความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม อีก 40% เป็นประชาชนส่งมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ความรู้สึกของคนทั่วๆไป ยังมองว่า ศาลยุติธรรมยังมีปัญหาต้องแก้ไข และตนก็คิดว่า สิ่งเหล่าจะช่วยให้เรากำหนดนโยบาย และทำให้เลือกลำดับความสำคัญของปัญหาที่ต้องแก้ไขได้

ประธานศาลฎีกา กล่าวต่อว่า มีหลายคนบอกว่า ศาลปล่อยตัวคนน้อย ไม่ค่อยให้โอกาส เลยไปถึงคำที่ว่า คุกมีไว้ขังคนจน จริงหรือไม่ ตรงนี้ ตนไม่ทราบว่าประโยคดังกล่าวจริงหรือไม่ แต่จากรายงานการวิจัยทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ บอกว่า คนที่ติดคุกส่วนใหญ่คือคนจน แต่น้อยมากที่รายงานให้คำนิยามว่าคนจนคืออะไร หรือ อะไรคือคนรวย มีความแตกต่างหรือไม่ว่าคนจนคนรวยทำความผิดแตกต่างกัน ซึ่งเราสันนิษฐานจากสามัญสำนึกว่า ถ้าคนที่มีความรู้มีการศึกษา ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีฐานะ มีโอกาสที่จะเล่าเรียนศึกษาได้ เมื่อเขามีโอกาสเรียนก็เรียนรู้เข้าใจอะไรมากขึ้น คำถามคือ การศึกษาช่วยให้คนทำผิดน้อยลงจริงหรือไม่ เป็นข้อน่าคิด

ไสลเกษ กล่าวว่า ผู้ที่มีความรู้ มีการศึกษา ก็มีโอกาสเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น ทำให้การทำผิดน้อยลง แต่ก็มั่นใจว่า หลายคนเคยได้ยินคำว่า “ผมรวยแล้ว..ผมไม่โกง” แต่ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าไม่ได้ทำผิด เพราะก็ยังรวยได้จากทั้งการปั่นหุ้น หรือ การฟอกเงิน โดยใช้องค์ความรู้ และมีความซับซ้อนกว่าคนทั่วไป 

ประธานศาลฎีกา กล่าวต่อไปว่า ส่วนคนรวยกับคนจน ใครมีโอกาสผิดมากกว่ากัน คนจน คือ คนที่ด้อยโอกาส และกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ง่ายๆ ลักวิ่งชิงปล้น รับของโจร กรรโชกทรัพย์ คนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นคนมีความต้องการทางเศรษฐกิจ ส่วนคนรวย เป็นคนที่มีความรู้ จึงมีวิธีการในการกระทำความผิดโดยใช้องค์ความรู้ มีความเนียนกว่า ซับซ้อนกว่า ดังนั้น กระบวนการทำความผิด ส่วนหนึ่งจึงเกิดจากโอกาสและการสร้างโอกาสให้กับตัวเอง เลยเกิดคำถามว่า ในคุกมีคนจนคนรวยมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจากสถิติบอกว่า คนที่ต้องขังในปี 2561 มีคนต้องคำพิพากษาให้ลงโทษประมาณ 680,000 คน ในจำนวนนี้ ศาลจำคุกประมาณ 90,000 คน คิดเป็น 16.5% ที่เหลือศาลใช้วิธี เช่น รอการลงโทษจำคุก รอการกำหนดโทษ และปรับ กักขัง คุมความประพฤติ

ประธานศาลฎีกา ยอมรับว่าการจับคนรวยนั้น จับยาก เพราะเวลาศาลให้ประกันตัว คนส่วนใหญ่ที่หนีคือ คนรวย

คำถามต่อมาคือ แล้วในกลุ่มคนที่ติดคุกนั้น มีคนจนคนรวยกี่ % นั้น ประธานศาลฎีกา กว่าวว่า ตัวเลขนี้ไม่เคยมีรายงานวิจัยที่ไหนโดยเฉพาะในประเทศไทยยืนยัน คือ 1. ไม่ได้นิยามว่าคนจนคนรวยแตกต่างกันตรงไหน 2. ในเมื่อแยกไม่ออกระหว่างคนจนคนรวย ตรงนี้ เราจะสรุปได้หรือไม่ว่าคุกมีไว้ขังคนจน อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะคนจนหรือคนรวย ก็ต้องได้รับการปฏิบัติที่เหมือนกัน คือ การบังคับคดีตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ทั้งนี้ ที่กล่าวแบบนี้ ไม่ได้ปฏิเสธ หรือยืนยัน แต่อยากให้พูดกันด้วยตัวเลขและข้อมูลที่แท้จริง

ประธานศาลฎีกา ยืนยันว่า ภายในปีนี้ จะคุ้มรองสิทธิเสรีภาพประชาชน ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม ให้ได้รับการประกันตัวให้มากที่สุด แต่เชื่อว่า ศาลส่วนใหญ่ คงไม่พิจารณาปล่อยตัวนักโทษในคดีฆาตกรรม หรือข่มขืน จนเป็นอันตรายต่อสังคม

ที่มา : TNN และโปลิศนิวส์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท