Skip to main content
sharethis

การประท้วงรัฐบาลในอิรักยังคงดำเนินต่อไปท่ามกลางการถูกปราบปราม แม้มีผู้เสียชีวิตล่าสุดรวม 250 รายแล้ว แต่ผู้ประท้วงยังคงปักหลัก นัดหยุดงาน ปิดถนน ตั้งด่านกันเจ้าหน้าที่เข้าพื้นที่ ตั้งเคอร์ฟิว ยึดอาคารราชการและเขียนป้าย 'ปิดโดยคำสั่งประชาชน' โดยแรงจูงใจการชุมนุมนั้นเริ่มจากความไม่พอใจกับคุณภาพชีวิต และการเชื่อว่าอิหร่านเข้ามาแทรกแซงการเมืองภายใน

ภาพการชุมนุมในอิรัก (ที่มา:Youtube/VOA News)

6 พ.ย. 2562 ความคืบหน้าสถานการณ์การชุมนุม ล่าสุดมีผู้ชุมนุมบางส่วนที่บุกสถานกงสุลอิหร่านในเมืองคาร์บาลา เมืองศักดิ์สิทธิสำหรับอิสลามนิกายชีอะฮ์ ผู้ชุมนุมพากันแขวนธงอิรักและพ่นข้อความด้วยสีสเปรย์ว่า "คาร์บาลาเป็นอิสระ อิหร่านออกไป ออกไป!" เจ้าหน้าที่สังหารผู้ชุมนุมอย่างน้อย 3 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตโดยรวมตอนนี้อยู่ที่ 250 รายแล้ว (ตัวเลขเมื่อ 5 พ.ย. 2562)

ขณะที่สื่ออัลจาซีรารายงานว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในอิรักเปิดฉากยิงใส่ผู้ประท้วงที่พยายามข้ามแผงกั้นสะพานอาห์ราร์เมื่อวันที่ 4 พ.ย. ที่ผ่านมาในกรุงแบกแดดทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 5 ราย และมีคนบาดเจ็บราว 30 ราย จากแผลถูกยิงที่ศีรษะและใบหน้า แต่ทว่าโฆษกของนายกรัฐมนตรี อับเดล อับดุล มาห์ดี ก็โต้แย้งว่า "ไม่มีใครถูกยิงเสียชีวิตในเย็นวันนี้"

มีภาพวิดีโอแสดงให้เห็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของอิรักยิงใส่ผู้ชุมนุมรายหนึ่งจนเสียชีวิตด้วยกระสุนจริง  ช่างภาพข่าวรอยเตอร์ก็กล่าวยืนยันว่าพบเห็นคนอื่นๆ อย่างน้อยอีก 4 คนที่ถูกสังหาร เรื่องนี้ขัดกับข้อมูลจากหน่วยงานความมั่นคงและการแพทย์ของอิรักที่ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อว่ามีคนเสียชีวิตคนเดียวและบาดเจ็บ 22 ราย รวมถึงบอกว่ามีการใช้กระสุนยางกับแก๊สน้ำตาไม่ใช่กระสุนจริง พวกเขายังบอกอีกว่ามีเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 1 ราย

นอกจากนี้กลุ่มเฝ้าระวังด้านการปิดกั้นอินเทอร์เน็ต NetBlock ก็ตั้งข้อสังเกตว่ามีการตัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในกรุงแบกแดดและพื้นที่ส่วนใหญ่ของอิรัก ความสามารถในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของประเทศลดลงต่ำกว่าร้อยละ 19 ทั้งในแบกแดด บาสรา คาร์บาลา และพื้นที่ศูนย์กลางที่เป็นที่นิยมอื่นๆ

เหตุการณ์ความรุนแรงที่สะพานอาห์ราร์เกิดขึ้นหลังผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลข้ามสะพานและพยายามฝ่าเข้าไปใน "กรีนโซน" คือพื้นที่ตั้งที่ทำการรัฐบาลต่างๆ รวมถึงสำนักนายกรัฐมนตรี ฝ่ายผู้ชุมนุมปะทะกับเจ้าหน้าที่ด้วยการขว้างปาก้อนหินและเผายางรถยนต์กับถังขยะ มีเจ้าหน้าที่เข้ามาคุ้มกันพื้นที่และได้ยินเสียงปืนดังก้องบนท้องถนน จากเหตุรุนแรงที่สะพานอาห์ราร์และเหตุปราบปรามผู้ชุมนุมที่คาร์บาลาทำให้ตอนนี้มีตัวเลขผู้เสียชีวิตราว 250 รายแล้ว โดยที่ 150 รายที่เสียชีวิตในช่วงต้นเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการถูกยิงที่ศีรษะและหน้าอก

การประท้วงในอิรักมีต้นเหตุจากความไม่พอใจของประชาชนที่ดำเนินมาเป็นเวลายาวนานต่อการบริหารที่ย่ำแย่ของรัฐบาล มีการทุจริตคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้คนขาดโอกาสทางเศรษฐกิจ โดยความไม่พอใจเหล่านี้ในเวลาต่อมาก็ขยายยกระดับมาเป็นการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการเมืองของประเทศ จากระบบเดิมที่ก่อตั้งมาหลังจากการรุกรานที่นำโดยสหรัฐฯ ในปี 2546 

อัลจาซีรารายงานว่าผู้ประท้วงในอิรักเพ่งเล็งความไม่พอใจไปที่กลุ่มชนชั้นนำของประเทศ กล่าวหาว่าชนชั้นนำเหล่านี้ปล้นชิงเอาความมั่งคั่งจากทรัพยากรน้ำมันไปในขณะที่ประชากรของประเทศยากจนลง ขณะที่ผู้ประท้วงบางส่วนก็ไม่พอใจประเทศเพื่อนบ้านอย่างอิหร่านเพราะพวกเขามองว่ารัฐบาลอิหร่านและกลุ่มติดอาวุธนิกายชีอะฮ์แทรกแซงการเมืองในประเทศของพวกเขา

ถึงแม้จะเผชิญกับความรุนแรงมาก่อนหน้านี้ แต่ผู้ชุมนุมก็ยังคงใช้วิธีการอารยะขัดขืนในการชุมนุมไม่ว่าจะเป็นการปักหลักชุมนุม การปิดถนน หรือการนัดหยุดงาน โดยที่สหภาพครูแห่งชาตินัดหยุดทำการเรียนการสอนทั่วประเทศ ขณะที่สหภาพแรงงานอื่นๆ ร่วมหยุดงานตามมา สำนักงานราชการหลายแห่งในเมืองทางตอนใต้ของประเทศต้องหยุดทำการเพราะผู้ชุมนุมบุกเข้าไปหรือไม่ก็เพราะขาดคนทำงาน มีผู้ชุมนุมแขวนป้ายระบุว่า "ปิดโดยคำสั่งจากประชาชน" ที่หน้าอาคาร นอกจากนี้ยังมีการตั้งจุดตรวจของประชาชนเพื่อหยุดไม่ให้เจ้าหน้าที่ความมั่นคงเข้าไปในพื้นที่หรือสั่งใช้เคอร์ฟิวกับตำรวจ มีการปิดถนนทางหลวงบางสายเช่นทางหลวงที่ใช้ในการนำเข้าสินค้าสู่อิรัก

ฝ่ายทางการเรียกร้องให้ผู้ชุมนุมหยุดการปิดถนนทางนำไปสู่ท่าเรือเพราะ "ทำให้เกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงหลายพันล้านดอลลาร์" และไม่ได้พูดถึงเรื่องการลาออกจากตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้ประธานาธิบดี บาร์แฮม ซาลีห์ จะเคยพูดไว้ว่านายกฯ อับดุล มาห์ดี พร้อมที่จะลงจากตำแหน่งเมื่อมีการตกลงกันได้ว่าจะให้ใครมาแทนที่แล้ว นอกจากนี้ซาลีห์ยังเคยขอให้มีการตั้งกฎหมายการเลือกตั้งใหม่และเห็นชอบถ้าหากจะจัดให้มีการเลือกตั้งเร็วขึ้น มาห์ดีกล่าวในเรื่องนี้หลังจากที่ได้ประชุมหารือกับสหภาพแรงงาน

นอกจากในอิรักแล้วช่วงนี้ยังมีการประท้วงรัฐบาลต่อเนื่องในเลบานอน เรียกร้องให้ชนชั้นนำทางการเมืองออกจากตำแหน่ง ในแอลจีเรียก็มีผู้คนหลายหมื่นคนชุมนุมที่เมืองหลวงในวันที่ 2 พ.ย. วันเดียวกับวันครบรอบ 65 ปี สงครามปลดปล่อยจากฝรั่งเศส พวกเขาเรียกร้องให้มีการ "ปฏิวัติใหม่" แทนที่จะให้จัดการเลือกตั้งอีกครั้งเพราะกลัวว่าจะมีการโกงการเลือกตั้ง ที่อเมริกาใต้ก็มีประชาชนในชิลีออกมาประท้วงจากเหตุผลความตกต่ำด้านเศรษฐกิจที่กระทบกับการใช้ชีวิตของประชาชน

เรียบเรียงจาก

Iraq forces fire live rounds at protesters in Baghdad, Aljazeera, Nov. 5, 2019

Anti-Government Protests Continue to Sweep Iraq, Lebanon & Algeria, Democracy Now!, Nov. 4, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net