Skip to main content
sharethis

ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านชายแดนใต้ถูกโจมตีต่อเนื่อง ล่าสุดที่ยะลา เสียชีวิตหลายราย ขณะที่กองกำลัง ปชช. รัฐจัดตั้งในพื้นที่ชายแดนใต้เกือบแสน 'อิศรา' ตั้ง 4 ประเด็นถูกโจมตี สัมพันธ์กับความเคลื่อนไหวเรื่องกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข

ภาพ ชรบ. เข้าร่วม ร่วมเดินสวนสนาม ร่วมกับสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนของแต่ละอำเภอในจังหวัดยะลา
เนื่องในวันครบรอบ ( 65 ปี ) วันคล้ายวันสถาปณากองอาสารักษาดินแดน ณ.บริเวณถนนพิพิธภักดี
อำเภอเมือง จ.ยะลา เมื่อวันที ่10 ก.พ.ที่ผ่านมา (ที่มาภาพ : เพจ
ฐาน.ปฏิบัติการชุดคุ้มครองตำบลโกตาบารู )

6 พ.ย.2562 จากกรณีเมื่อช่วงค่ำวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา เกิดเหตุคนร้ายไม่ทราบจำนวนพร้อมอาวุธสงครามบุกยิงถล่มป้อมชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) อย่างน้อง 3 จุด ที่ อ.เมืองยะลา จ.ยะลา ซึ่งจุดที่หนักคือ จุดตรวจ ชรบ. ทางลุ่ม หมู่ 5 ต.ลำพะยา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตรวม 15 ราย และบาดเจ็บอีก 3 ราย นอกจากนี้ ยังมีการก่อเหตุเผายางรถยนต์รวม 3 จุด 

ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา รายงานถึง สาเหตุที่การโจมตีของคนร้ายที่ ชรบ.ทางลุ่ม มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมากนั้น เพราะทุกวันอังคาร ชรบ.ของทั้ง ต.ลำพะยา มีข้อตกลงให้ไปรวมตัวกันเข้าเวรและประชุมกันที่จุดตรวจและฐานปฏิบัติการย่อยของ ชรบ.ทางลุ่ม ทำให้มีกองกำลังประชาชนไปรวมตัวอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อถูกโจมตีแบบปัจจุบันทันด่วนทำให้มีความสูญเสียจำนวนมาก และคนร้ายยังได้ชิงอาวุธปืนประจำกายของ ชรบ. ซึ่งเป็นปืนของทางราชการไปด้วย

รายชื่อผู้เสียชีวิตทั้ง 15 ราย ที่ข่าวสดรายงานล่าสุดเมื่อช่วงเที่ยงที่ผ่านมา ประกอบด้วย 1.นายธวัชชัย สุพงศ์ 2.นายสุนทร ยอดแก้ว เป็นชรบ. อดีตผู้ช่วยกํานัน 3.นายพูลสวัสดิ์ พูลแก้ว แพทย์ประจำตำบลและเป็นชรบ. 4.นายเนตร จอมทอง อายุ 52 ปี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 5.นายบรรจบ ทองกลิ่น ชรบ. 6.น.ส.นัยนา โพธิ์เตี่ยเทียม 7.นายฉลอง ทองงาม อดีตกำนันและเป็นชรบ. 8.นางรัชนก ยอดแก้ว อรบ. 9.นางวิรัตน์ เพชรปล่อง ผู้ช่วยกำนันคนปัจจุบัน 10.นาย ซัมซามี สามะ 11.ร.ต.อ.พยุง ขินขุนทศ รองสารวัตร(สืบสวน) จังหวัดชายแดนภาคใต้ 12.นายเนาวรัตน์ รัตนเสถียร ถูกยิงเข้าหลังทะลุท้อง อายุ 60 ปี 13.นายมะรอรี มะแซ อายุ 52 ปี ส่วนผู้เสียชีวิตอีก 2 รายยังไม่ทราบชื่อ

โดย 3 จุดที่มีการโจมตี ประกอบด้วย 1. ใช้อาวุธปืนสงครามยิงใส่จุดตรวจชุดคุ้มครองตำบล (ชคต.) ลำพะยา ตั้งอยู่ที่บ้านทุ่งสะเดา หมู่ 4 ต.ลำพะยา อ.เมืองยะลา จุดนี้ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต 2. คนร้ายลอบวางเพลิงเผายางรถยนต์ โปรยตะปูเรือใบ บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 409 ช่วงลำใหม่-นาประดู่ หน้าโรงเรียนพัฒนาอิสลามวิทยา หมู่ 3 ต.ลำใหม่ อ.เมือง จ.ยะลา ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และ 3. จุดใหญ้คนร้ายไม่ทราบจำนวนมีรถจักรยานยนต์เป็นพาหนะ ใช้อาวุธปืนสงครามยิงใส่จุดตรวจ ชรบ. ทางลุ่ม หมู่ 5 ตำบลลำพะยา อำเภอเมืองยะลา ทำให้ ชรบ.ซึ่งเป็นกองกำลังประชาชน มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

The Reporters รายงานด้วยว่า คนร้ายปล้นปืน 8 กระบอก

ชรบ. เมื่อไม่กี่วันก่อนเพิ่งถูกโจมตีไป โดยคืนวันที่ 31 ต.ค. 62 ต่อเนื่องวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา พ.ต.อ.มนตรี คงวัดใหม่ ผกก.สภ.สายบุรี รับแจ้งเหตุ คนร้ายไม่ทราบกลุ่มและจำนวน ยิงใส่ด่านตรวจ ชรบ. ม.ที่ 5 บ้านบาเลาะ ต. ปะเสยะวอ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ ประจำด่านตรวจได้ใช้อาวุธปืนยิงตอบโต้กลุ่มคนร้าย จนสามารถวิสามัญคนร้ายเสียชีวิต 2 ราย อยู่ระหว่างตรวจสอบรูปพรรณของคนร้ายว่าเป็นใครมาจากไหนมีแฟ้มประวัติของเจ้าหน้าที่ต้องการตัวหรือไม่อย่างไร ส่วนประเด็นและสาเหตุ เจ้าหน้าที่เชื่อว่าเป็นการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่

หรือย้อนไปไม่กี่เดือนเมื่อ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา ก็เกิดเหตุคนร้ายไม่ทราบกลุมเข้าโจมตีจุดตรวจร่วม 3 ฝ่าย บ้านกอและปิเละ ม.7 ต.ปะกาฮะรัง อ.เมือง จ.ปัตตานี จนมรผู้เสียชีวิตประกอบด้วย 1 นายอุสมาน ยาซารี เจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) 2 นายอับดุลฟาต๊ะ เสมเหรม เจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ทั้ง 2 ราย เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ สภาพศพถูกระเบิดเข้าที่ร่างกาย 3 .อส.อุสมาน ตาสาเมาะ และ 4 จ.ส.อ.ชูธวัช มาศศรี และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 2 ราย อาการสาหัส ทราบชื่อ 1 อส. ไพศาล มูซอดี และ .อส.นิอามิน มะซาแม 

กองกำลัง ปชช. รัฐจัดตั้งในพื้นที่เกือบแสน 'อิศรา' ตั้ง 4 ประเด็นถูกโจมตี

ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือ ชรบ. ตาม ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการช่วยเหลือเจ้าพนักงานของหน่วยกำลังคุ้มครองและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในหมู่บ้าน พ.ศ.2551 นั้น หมายความถึง ราษฎรอาสาสมัครในพื้นที่ ที่ผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตรชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากนายอำเภอให้ปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน และให้เป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน ตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ เรียกโดยย่อว่า “ชรบ.”

ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ชรบ. และกองกำลังภาคประชาชนที่ผ่านการฝึกอบรมจากหน่วยงานความมั่นคงอื่นๆ พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตเหตุโจมตี ชรบ. ไว้ 4 ประการ ดังนี้

ปัจจุบันพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา มีกองกำลังภาคประชาชนที่ผ่านการฝึกอบรมจากหน่วยงานความมั่นคงจำนวน 95,974 คน แยกเป็น ชรบ. (ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน) อรบ. (อาสาสมัครรักษาหมู่บ้าน) อรม. (อาสาสมัครรักษาเมือง) ทสปช. (สมาชิกไทยอาสาป้องกันชาติ) และ อปพร. (อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน) โดย ชรบ.มีจำนวนมากที่สุด

กองกำลังภาคประชาชนเหล่านี้ ทำงานและปฏิบัติภารกิจร่วมกับทหาร ตำรวจ และ อส. อีกจำนวน 39,465 นาย เพื่อดูแลพื้นที่ในภาพรวม และทยอยส่งมอบพื้นที่ให้ประชาชนดูแลกันเอง แยกเป็นทหารหลักและทหารพราน 24,004 นาย ตำรวจ 9,809 นาย และพลเรือน อส. 5,652 นาย (ข้อมูลปีงบประมาณ 2561)

สำหรับสาเหตุที่คนร้ายเลือกปฏิบัติการความรุนแรงเพื่อโจมตี ชรบ. จนก่อความสูญเสียอย่างมากมายครั้งนี้ ฝ่ายความมั่นคงประเมินและวิเคราะห์ในเบื้องต้นว่า มาจากปัจจัยอย่างน้อยๆ 4 ประการ คือ

1. ช่วงที่ผ่านมาฝ่ายความมั่นคงมุ่งคุมเข้มและสกัดกั้นความเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อความไม่สงบและผู้ไม่หวังดีจากพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง เพื่อป้องกันการก่อเหตุนอกพื้นที่ เช่น ในกรุงเทพฯ และแหล่งท่องเที่ยว โดยเฉพาะในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 35 ซึ่งรัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพในฐานะะประธานอาเซียนส่งท้ายปี ก่อนส่งมอบหน้าที่ให้เวียดนาม ทำให้มีการทุ่มกำลังไปเพื่อภารกิจนี้ ขณะที่ฝ่ายผู้ก่อความไมส่งบรอฉวยโอกาสอยู่แล้ว จึงเลือกปฏิบัติการโจมตีในพื้นที่แทน และเลือกกองกำลังภาคประชาชนที่มีมาตรการรับมือและทักษะการใช้อาวุธน้อยกว่าทหาร ตำรวจ

2. ตลอด 1-2 เดือนที่ผ่านมา มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นน้อยมาก แต่มีข่าวแจ้งเตือนว่าจะมีการก่อเหตุต่อชุมชนไทยพุทธ และกองกำลังภาคประชาชนมาโดยตลอด เหมือนคนร้ายรอจังหวะและโอกาส

3. ท่าทีของผู้นำมาเลเซีย ดร.มหาธีร์ โมฮาหมัด ที่พูดคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระหว่างร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่ยืนยันไม่สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน และจะเพิ่มความร่วมมือในการลาดตระเวนร่วมเพื่อป้องกันการเคลื่อนย้ายคนและยุทโธปกรณ์ตามแนวชายแดน อาจทำให้กลุ่มก่อความไม่สงบไม่พอใจ และต้องการก่อเหตุแสดงศักยภาพ

4. มีข่าวการเตรียมพบปะหารือระหว่างหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายรัฐบาลไทย พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ กับผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุยของรัฐบาลมาเลเซีย เพื่อเดินหน้ากระบวนการพูดคุยรอบใหม่ และมีข่าวการกดดันให้กลุ่มบีอาร์เอ็นสายฮาร์ดคอร์ หรือตัวแทนกลุ่มติดอาวุธเข้าร่วมโต๊ะพูดคุยด้วย อาจเป็นสาเหตุให้กลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงต้องสร้างสถานการณ์เพื่อแสดงศักยภาพ และเพิ่มอำนาจต่อรอง

มีการตั้งข้อสังเกตจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงว่า ช่วงหลายปีหลังมานี้ การก่อเหตุรุนแรงครั้งใหญ่มักมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับความเคลื่อนไหวเรื่องกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข และความเคลื่อนไหวของต่างประเทศ โดยเฉพาะมาเลเซีย ที่เกี่ยวกับแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net