Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 คนอื่นๆ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดิฉันเดินเข้าห้องเรียนบรรยายรวม 4 ขนาดจุ 1,000 ที่นั่งอย่างงงๆ ทุกเช้าวันอังคาร เพื่อเข้าไปฟังอาจารย์ตั้งคำถามว่า “อะไรคือความจริง” ในวัย 18 ปี ดิฉันยังไม่เข้าใจนักว่าเราจะตั้งคำถามกับความจริงไปทำไม ความจริงก็คือสิ่งที่ตาเราเห็นไม่ใช่หรือ? ผ่านไปอีกหลายปีท่ามกลางสังคมที่ไม่ได้ตั้งคำถามกับ “ความจริง” เท่าใดนัก ดิฉันเริ่มพยายามทำความเข้าใจกับ “ความจริง” หลายๆ อย่างในสังคม โดยอาศัยความทรงจำเกี่ยวกับวิชา TU110 ในการอธิบายเรื่องที่เกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยเป็นกรณีศึกษา

ในช่วงปีที่ผ่านมานี้ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ตกเป็นขี้ปากคนในสังคมหลายเรื่อง นับตั้งแต่เรื่องการก่อสร้างอาคารเรียนที่ท่าพระจันทร์ (เรียกกันเล่นๆ ว่า #ตึกตู้ปลา) และเรื่อง #อาจารย์หนุ่ม กับอดีตนักศึกษาสาวที่มีการรณรงค์ผ่านเว็บไซต์ change.org เรียกร้องให้มีกรรมการตรวจสอบจนเป็นประเด็นใหญ่โตในหน้าสื่อใหญ่หลายสำนัก แม้ผลการตรวจสอบจะปรากฎแล้วว่าเรื่อง #ตึกตู้ปลา ดังกล่าวผ่านกระบวนการที่ถูกต้อง แต่สังคมได้ตราหน้าผู้ถูกร้องเรียนว่าเป็น “คนขี้โกง” ไปเรียบร้อยแล้วเมื่อหลายเดือนก่อน โดยที่ผู้กล่าวหาก็ไม่ได้ออกมาขอโทษต่อการโจมตีเหตุการณ์และตัวบุคคลผู้เกี่ยวข้องในขณะนั้น ในขณะที่ดราม่า #อาจารย์หนุ่ม ยังอยู่ในกระบวนการตรวจสอบโดยมหาวิทยาลัย

กระแสสังคมที่เกิดขึ้นนี้มีผู้นำเสนอข้อมูลหลักเพียงฝ่ายเดียวคือเฟสบุ๊คแฟนเพจ “เหตุเกิด ณ ตึกตู้ปลา” ที่มียอดไลค์กว่า 4,000 ไลค์ (ยังไม่รวมคนที่เสพดราม่าอยู่เงียบๆ ไม่กดไลค์อย่างดิฉัน) ได้นำเสนอประเด็นเผ็ดร้อนด้วยฝีปากจัดจ้านจนบางครั้งเกินเลยถึงขั้นหยาบคาย ถูกจริตชาวบ้านร้านตลาดไปจนถึงผู้มีการศึกษาสูงจำนวนมากทั้งในและนอกรั้วธรรมศาสตร์ โดยสำนักข่าวใหญ่แห่งหนึ่งได้บอกใบ้ว่า “คนใน” หรืออาจารย์ภายในคณะนั่นเองคือแอดมินเพจ สร้างความน่าเชื่อถือว่าแอดมินพันตาจะรู้เบื้องลึกเบื้องหลังสิ่งที่เกิดขึ้นภายในองค์กรเป็นอย่างดี โดยอ้างถึง “แหล่งข่าว” และ “หลักฐาน” ที่จะเอาผิดผู้ถูกกล่าวหา

หลายครั้งที่เพจ “เหตุเกิด ณ ตึกตู้ปลา” อ้างถึงหลักฐานในการเอาผิดผู้กระทำการ แต่ผ่านมาหลายเดือนแล้ว เราก็ยังไม่เห็นแอดมินเพจนี้ นำหลักฐานที่สอดคล้องกับประเด็นหลักที่เพจเรียกร้องมานำเสนอต่อสังคมแต่อย่างใด มีเพียงแต่หลักฐานที่ดูเหมือนจะเกี่ยวข้อง ชักจูงผู้อ่านไปสู่ข้อสรุปที่แอดมินต้องการสร้างขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ดราม่า #อาจารย์หนุ่ม ในตอนต้นทางเพจได้กล่าวหาว่าอาจารย์ทำการ “ล่อลวง” นักศึกษา “หลายคน” พร้อมบอกใบ้อย่างละเอียด ชี้นำจนคนทั่วไปสามารถระบุผู้ถูกกล่าวหาได้ อย่างไรก็ตามจนถึงปัจจุบันเราเห็นการให้ข้อมูลของอดีตนักศึกษาเพียงคนเดียวเท่านั้น โดยทางเพจก็แถ-ลงว่า “คนเดียวหรือหลายคน” ก็ผิดทั้งนั้น อย่างไรก็ตาม “ชาวเน็ต” จำนวนมากได้ประทับตรา “อาจารย์หื่น” บนหน้าผากอาจารย์หนุ่มคนนั้นไปแล้ว

หากเราพิจารณาพฤติกรรมจากคำบอกเล่าของผู้กล่าวหา (อดีตนักศึกษา) ว่าเริ่มคบหากันตอนปีสอง (อายุ 19-20) จนมาเกิดเหตุร้องเรียนในปัจจุบัน (อายุ 25) มีการพาไปเที่ยวในประเทศและต่างประเทศ พาไปพบผู้ปกครอง คนมีสติสัมปชัญญะดีก็จะสามารถบอกได้ว่าพฤติกรรมนี้ไม่เข้าข่าย “ล่อลวง” แต่อย่างใด แน่นอนว่าหากพิจารณาตามตัวอักษร การมีความสัมพันธ์ทางเพศกับนักศึกษาเป็นข้อห้ามของมหาวิทยาลัยที่เขียนไว้ชัดเจน เนื่องจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เหนือกว่าจากฝ่ายอาจารย์ แต่ใช่ว่าจะไม่เคยมีกรณีอย่างนี้เกิดขึ้น ความรักของอาจารย์กับนักศึกษาหลายคู่เกิดขึ้นภายในรั้วมหาวิทยาลัยต่อเนื่องไปจนถึงแต่งงาน หากยึดถือตามตัวอักษรเช่นนี้เพื่อเอาผิด คงมีอาจารย์หลายท่านตกงานเป็นแน่ กรณีนี้หากเรามองว่าเป็นความรักที่ไม่สมหวัง แล้วฝ่ายอดีตนักศึกษาจะใช้ข้ออ้างจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจมาเรียกร้องให้เอาผิดย้อนหลังกับสิ่งที่ตัวเองได้เต็มใจร่วมกระทำผิดเช่นนั้นหรือ?

การชี้หน้าด่าภายใต้หน้ากากผู้ผดุงคุณธรรมของแอดมินเพจ (คนเดียวหรือหลายคน) ทำให้เราไม่สามารถมองเห็นความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่าง “ผู้กล่าวหา” และ “ผู้ถูกกล่าวหา” ได้เลย ว่าเขาเหล่านั้นมีข้อขัดแย้งส่วนตัวกันอย่างไร หรือทั้งหมดนี้เป็นเพียงการไล่บี้ศัตรูที่เป็นหนามทิ่มแทงใจกันมาก่อนไม่ให้มีที่ยืนในสังคม โดยยืมเอาเรื่องฉาวๆ คาวๆ ที่ถูกจริตชาวบ้านมาช่วยแต่งเติมป้ายสีดำเพื่อสร้างความชอบธรรมในการกล่าวหามากยิ่งขึ้น

ในระหว่างที่เรื่องนี้ยังอยู่ภายใต้กระบวนการตรวจสอบของมหาวิทยาลัย เราอาจจะสรุปได้คร่าวๆ ว่า เขายังไม่มีหลักฐานพิสูจน์ตัวเองว่าเขาไม่ผิด แต่ในขณะเดียวกัน คุณก็ไม่มีหลักฐานที่จะพิสูจน์ว่าเขาผิดเช่นกัน ดังนั้นการตัดสินโดยอคติ ตราหน้าและรุมประณามว่าใครคือ #คนขี้โกง #คนชั่ว #สันดานต่ำตม #สัตว์นรก #บ้ากาม ก่อนการตัดสินจะเกิดขึ้นจึงไม่ใช่วิสัยที่นักวิชาการที่มีจรรยาบรรณพึงกระทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากบุคลากรในสถาบันการศึกษาที่ยึดมั่นในหลักการและความถูกต้องอย่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การตรวจสอบและถ่วงดุลเป็นสิ่งที่พึงกระทำในทุกองค์กร อย่างไรก็ตามทั้งผู้ตรวจสอบ และผู้ถูกตรวจสอบก็พึงนำเสนอหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความจริงที่เกิดขึ้น แล้วอะไรที่คือ “ความจริง” ที่เพจ “เหตุเกิด ณ ตึกตู้ปลา” พยายามจะนำเสนอ ท่านผู้อ่านเท่านั้นที่จะสามารถตอบได้ 

 

ที่มาภาพ: https://www.one31.net/

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net