Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ชรบ. ชายแดนใต้ถูกโจมตีต่อเนื่อง ล่าสุดที่ยะลา 15 ศพ

เกิดเหตุคนร้ายไม่ทราบจำนวนพร้อมอาวุธสงครามบุกยิงถล่มป้อมชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) อย่างน้อง 3 จุด ที่ อ.เมืองยะลา จ.ยะลา ซึ่งจุดที่หนักคือ จุดตรวจ ชรบ. ทางลุ่ม หมู่ 5 ต.ลำพะยา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตรวม 15 ราย และบาดเจ็บอีก 3 ราย นอกจากนี้ ยังมีการก่อเหตุเผายางรถยนต์รวม 3 จุด

ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อครอบครัวของเหยื่อปล้นอาวุธปืน 15 ศพที่ลำพะยา จ.ยะลา และขอประณามคนร้ายที่ลงมือกระทำต่อพลเรือนอย่างโหดเหี้ยมเช่นนี้

แต่ต้องกระตุกสติกันหน่อยครับว่า สิ่งที่พยายามสื่อสารกันมาตลอดคือการติดอาวุธให้พลเรือน มันส่งผลเสียมากกว่าผลดี ในความขัดแย้งที่เป็นสงครามอสมมาตร(คือคู่ขัดแย้งฝั่งหนึ่งรบแบบไม่เปิดเผยตัว ด้อยกว่าทางยุทโธปกรณ์ ขนาดกองกำลัง จึงใช้ยุทธวิธีหลากหลายในการสู้รบ) วิธีการจัดตั้งกองกำลังหมู่บ้านซึ่งเป็นพลเรือนไม่ได้ตอบโจทย์เลย

เพราะในห้วง 15 ปีปัญหาภาคใต้ การปล้นปืน ชรบ. เกิดขึ้นนับครั้งไม่ถ้วน บาดเจ็บล้มตายกันมาตั้งเท่าไหร่ เพียงแต่ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากในคราวเดียว เกิดความสะเทือนใจต่อสังคม แต่สิ่งหนึ่งที่ควรเกิดขึ้นหลังความสูญเสีย คือการตั้งคำถาม ไม่ใช่เอาความสูญเสียไปขยายปัญหาให้เกิดความเกลียดชังเพิ่มขึ้น มันไม่ส่งผลดีใดๆ ต่อการแก้ปัญหาชายแดนใต้

เมื่อเขียนเรื่อง ชรบ. กับอาวุธปืนก็อดย้อนไม่ได้ว่า เป็นชนวนเหตุใหญ่ร้ายแรงอย่างกรณีตากใบมาแล้ว เพราะเกิดจาก ชรบ.6 คนถูกตั้งข้อหาว่าพัวพันกับอาวุธปืนที่หายไป เมื่อนึกย้อนสมัยผมลงไปคุยกับ ชรบ.ในพื้นที่ ทั้งชุมชนพุทธ มลายู และที่ผสมๆ กัน ก็พบว่า รัฐ โดยหน่วยงานความมั่นคงเข้าไปมอบอาวุธ และฝึกอบรมการยิงปืน และยุทธวิธีพื้นฐานเท่านั้น แต่ชายแดนใต้เป็นพื้นที่เสี่ยง การคัดเลือกพลเรือนแม้โดยสมัครใจแต่ขาดความพร้อมทางร่างกายและจิตใจ โดยมากเป็นกลุ่มชายที่สูงอายุด้วยซ้ำ เพราะคนหนุ่มสาวส่วนใหญ่ไปเรียนหรือทำงานที่อื่น จึงมีข้อจำกัดในการฝึกซ้อมยุทธวิธีการรบ หรือการตั้งรับการโจมตี แผนเมื่อเผชิญเหตุปะทะ ฯลฯ กล่าวโดยสรุปคือการมอบอาวุธให้พลเรือนแม้หวังจะให้ป้องกันตนเองและเป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ กลับกลายเป็นเป้าหมายอ่อนแอที่กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบสามารถวางแผนโจมตีเพื่อปล้นชิงอาวุธปืนได้ง่าย

จำได้ว่าตอนปี 2548-2550 อาวุธปืนที่ถูกปล้นชิงหรือหายไปหลายสิบกรณี แต่ ชรบ.จากชุมชนมลายูมักถูกตั้งข้อสังสัยว่าเป็นแนวร่วมขบวนการก่อความไม่สงบแฝงตัวมาบ้าง และถูกมองอย่างหวาดระแวงจากรัฐเสมอ

ยังไม่นับเสียงกระซิบว่า การกระจายอาวุธปืนแต่ละชุมชนมีความแตกต่างกัน ทั้งปริมาณและชนิดของอาวุธ รวมทั้งการสนับสนุนอื่นๆ ขึ้นอยู่กับความไว้วางใจเป็นหลัก (แต่ประเด็นนี้ผมคงลงรายละเอียดไม่ได้มาก เพราะมีความละเอียดอ่อนค่อนข้างสูง)

ขอเรียกร้องให้หน่วยงานความมั่นคงโดย กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า และกองทัพภาคที่ 4 ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์เฝ้าระวังเป้าหมายอ่อนโดยการติดอาวุธให้พลเรือน เพราะมันไม่ได้สร้างความปลอดภัยต่อชุมชนอย่างแท้จริง ย้อนกลับไปดูข่าวเก่าก็ได้ว่าตั้งแต่ปี 2547-2562 เคยมีกรณีปล้นชิงอาวุธปืนจากกองกำลังพลเรือนมาแล้วกี่สิบกี่ร้อยครั้ง และทุกครั้งมักจบที่ความสูญเสีย จะมากหรือน้อยเท่านั้นเองครับ.

 

ที่มาภาพ: เพจ ฐาน.ปฏิบัติการชุดคุ้มครองตำบลโกตาบารู (ภาพ ชรบ. เข้าร่วม ร่วมเดินสวนสนาม ร่วมกับสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนของแต่ละอำเภอในจังหวัดยะลา เนื่องในวันครบรอบ ( 65 ปี ) วันคล้ายวันสถาปณากองอาสารักษาดินแดน ณ.บริเวณถนนพิพิธภักดี อำเภอเมือง จ.ยะลา เมื่อวันที ่10 ก.พ.ที่ผ่านมา)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net