Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผมขอเรียก อ.อรรถจักร์ ว่า อ.อรรถ ตามที่นักศึกษาเรียกกัน อ.อรรถ เป็นนักวิชาการที่รู้จักกันดีในแวดวงมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ทั้งคอวิชาการและคอการเมืองต่างก็คุ้นกับชื่อนี้ นอกจากบทบาททางด้านวิชาการแล้ว งานจำนวนมากของอาจารย์ได้สนทนากับสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง ผลงาน อ.อรรถ ในหนังสือ และงานวิจัยต่างๆ ตั้งแต่ทศวรรษ 2530 ถึงปัจจุบัน รวมถึงบทความในหน้าหนังสือพิมพ์ที่ตีพิมพ์สม่ำเสมอในกรุงเทพธุรกิจ รายสัปดาห์ ด้วยความเชื่อมั่นในคนตัวเล็กตัวน้อย อ.อรรถยังมีบทบาทสนับสนุนความเคลื่อนไหวของการเมืองภาคประชาชน ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไม่น้อย พื้นที่ที่ อ.อรรถใส่ใจนอกจากมิติทางเศรษฐกิจและการเมืองแล้ว อีกส่วนสำคัญก็คือ การให้ความสำคัญกับการอธิบายความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ในที่นี้ผู้เขียนสนใจจะกล่าวถึง อ.อรรถในฐานะผู้ชี้ทางให้สนใจเรื่อง "พื้นที่ทางสังคม" (social space) สมัยทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท ด้วยการแนะนำให้อ่าน The production of space[2] ของ Henri Lefebvre ที่ชวนให้เราคิดถึงความสัมพันธ์ในพื้นที่เชิงสังคม พื้นที่มิได้เป็นเพียงภาชนะที่ว่างเปล่า หรือรูปทรงเรขาคณิตที่ไม่มีปฏิสัมพันธ์ภายใน

 

พื้นที่ทางสังคม กับ อ.อรรถ

หลังการต่อสู้ทางอุดมการณ์แบบเดิมจบลงกลางทศวรรษ 2520 คำอธิบายเชิงโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจแบบเดิมระหว่าง "โลกเสรี" กับ "ค่ายคอมมิวนิสต์" แบบเคร่งคัมภีร์ได้ทำให้สังคมที่หลากหลายถูกละเลยไปด้วย แนวโน้มการคืนเสียง คืนอำนาจให้กับสังคมขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ หลังทศวรรษ 2520 และแจ่มชัดขึ้นในทศวรรษ 2530 และมีหมุดหมายสำคัญอย่างยิ่งในสังคมไทยช่วงการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 การเมืองภาคประชาชนเป็นที่สนใจและรับรู้กันในวงกว้าง และค่อยๆ เข้ามาแทนที่การเมืองแบบชนชั้นนำ การเมืองที่ต้องติดตามข่าวว่าทหารจะทำการรัฐประหารหรือไม่


ใต้บริบทนี้เองที่ทำให้ตำแหน่งแห่งที่ของ อ.อรรถ ได้ผูกโยงตัวเองไปกับพื้นที่ทางสังคมชนิดนี้ไปด้วย งานเขียนของ อ.อรรถมีจุดยืนในการคืนอำนาจให้กับคนในพื้นที่ต่างๆ เช่น นิเวศประวัติศาสตร์ : พรมแดนความรู้[3], ภาพรวมงานพัฒนาขององค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ ทางเดินและทางเลือกขององค์กรประชาชน[4], วิวัฒนาการของชุมชนแออัดและองค์กรชุมชนแออัดในเมือง กรณีศึกษาเมืองเชียงใหม่[5], ประวัติศาสตร์เพื่อชุมชน : ทิศทางใหม่ของการศึกษาประวัติศาสตร์[6] แสดงให้เห็นจุดยืนของ อ.อรรถที่มีต่อแวดวงการต่อสู้ภาคประชาชนและคนตัวเล็กตัวน้อย ทั้งในเขตป่าเขา ชนบทและในเมืองที่เน้นการเสริมพลังให้กับผู้ไร้อำนาจที่ถูกเบียดเบียนด้วยโครงสร้างรัฐและทุน ขบวนความคิดเหล่านี้ อ.อรรถมิได้โดดเดี่ยว แต่เดินทางร่วมไปกับมิตรสหายอย่างเพื่อนพ้องอาจารย์ในกลุ่มมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนที่มี อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์เป็นหัวเรือใหญ่ในช่วงต้นทศวรรษ 2540    


น่าจะเป็นเพราะ อ.อรรถได้สัมพันธ์กับนักวิชาการญี่ปุ่นสายไทยศึกษาและมีโอกาสได้เรียนต่อระดับปริญญาเอกที่ญี่ปุ่น จึงพบว่า อ.อรรถยังได้ให้ความสำคัญกับการอธิบาย "สังคม" ญี่ปุ่นเพื่อความรู้และเข้าใจในฐานะกระจกส่องสังคมไทยไปด้วย ไม่แปลกว่างาน Japanization[7] นั้น ดูไม่เข้าพวกที่สุดกับงานเขียนทุกชนิดที่เกิดขึ้น แม้จะเป็นหนังสือเล่มเล็กๆ แต่ก็พบว่า อ.อรรถพยายามเข้าใจญี่ปุ่นอันเป็นสังคมชนชั้นกลางขนาดใหญ่ผ่านประวัติศาสตร์ เศรษฐกิจ การเมืองและสังคม โดยเฉพาะในบท "สังคมญี่ปุ่น" ที่ได้พยายายามอธิบายถึงสังคมแบบทุนนิยมที่มีลักษณะเฉพาะเพราะเน้นความสำคัญของ "กลุ่ม" ไม่ใช่ปัจเจก[8]


คอลัมน์ ใต้กระแส ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เป็นพื้นที่บทความขนาดสั้นของ อ.อรรถในรายสัปดาห์ ผู้เขียนเห็นว่าเป็นช่องทางในการนำเสนอเรื่องราวสังคมในชีวิตประจำวันจากความช่างสังเกตของ อ.อรรถ ที่พบเจอในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการสนทนากับผู้คนไม่ว่าจะเป็นนักศึกษา เด็กปั๊ม หรือเจอคอนเซ็ปต์น่าสนใจหนังสือต่างๆ  หรืออาจกล่าวได้ว่า ผลผลิตจากคอลัมน์ดังกล่าวมาจากความสัมพันธ์ทางสังคมของ อ.อรรถนั่นเอง เช่น ข้อคิดเกี่ยวกับโซเชียลมีเดียที่ได้จากการสนทนากับนักศึกษา


ความเปลี่ยนแปลงในงานเขียนของ อ.อรรถ ขยับเข้าสู่พื้นที่ใหม่ ในระยะสิบปีหลังมานี้ สัมพันธ์กับความเข้มข้นของการเมืองมวลชนที่ขยายตัวขึ้น และ ความเปลี่ยนแปลงของชนบทอย่างมหาศาล ก็ทำให้เกิดงานอย่างจะรักกันอย่างไรในเมื่อเรายังไม่เข้าใจกัน[9], "ประชาธิปไตย" คนไทยไม่เท่ากัน[10], ลืมตาอ้าปาก จาก "ชาวนา" สู่ "ผู้ประกอบการ"[11]  อย่างไรก็ตามทศวรรษที่ผ่านมานี้ นอกจากปฏิบัติการทางสังคมการเมืองและเศรษฐกิจที่เห็นกันอยู่ พบว่ามันมิได้มีพรมแดนอยู่ในพื้นที่สังคมแบบเดิมๆ ที่เห็นหน้าค่าตากันตัวเป็นๆ หรือรับสารผ่านสิ่งพิมพ์ตามขนบเท่านั้น แต่มันคือพื้นที่ทางสังคมแบบใหม่ นั่นคือ พื้นที่และตัวตนออนไลน์ ที่ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์แบบใหม่ระหว่างผู้ส่งสารกับผู้รับสาร

พื้นที่ทางสังคมแบบใหม่ พื้นที่และตัวตนออนไลน์

แม้ว่า ผลงานของ อ.อรรถ มิได้จำกัดตัวอยู่ในแพลตฟอร์มของหนังสือพิมพ์ และหนังสือ แต่กลายเป็นตัวบทในเว็บไซต์ ยูทูป หรือเฟสบุ๊คก็ตาม แต่ก็นับได้ว่าผลงานของ อ.อรรถ โดยตัว อ.อรรถเอง แทบทั้งหมดล้วนเป็นการสื่อสารแบบเดิมที่เน้นการสื่อสารทางเดียว หากไม่นับการสนทนาในที่ประชุมแล้ว พบว่า ลักษณะการสื่อสารของ อ.อรรถ มีลักษณะเป็นผู้นำการพูด องค์ปาฐก แถลงการณ์เป็นหลัก


จะว่าไปแล้วพื้นที่ทางสังคมแบบใหม่นี้เป็นที่ไม่ไว้วางใจของ อ.อรรถ ไม่น้อยดังที่เคยแสดงความเห็นไว้ในหลายวาระ ข้อสังเกตนี้นำมาสู่ความต้องการจะสำรวจความสัมพันธ์ระหว่าง อ.อรรถ กับ พื้นที่ทางสังคมแบบใหม่ ในโลกความจริงเสมือนอย่างโซเชียลมีเดีย


หากเข้าใจไม่ผิด ยังไม่พบว่ามี account ทางโซเชียลมีเดีย ของ อ.อรรถ ไม่พบ account ใน Facebook หรือ twitter แน่นอนว่า อาจารย์มีสมาร์ทโฟนและแท็บเบล็ตไว้ใช้งานดังที่เห็นกันโดยทั่วไป การใช้เครื่องมือสื่อสารชนิดนี้อาจครอบคลุมการส่งอีเมล์ และ Line ส่วนตัวที่อาจารย์ใช้ติดต่อสื่อสารเป็นหลักที่น่าจะทำงานร่วมกับโทรศัพท์ จึงอาจกล่าวได้ว่า อ.อรรถ ได้รักษาระยะห่างระหว่างพื้นที่ทางสังคมแบบเดิม กับ พื้นที่ทางสังคมแบบใหม่ไว้อย่างชัดเจน


ลักษณะดังกล่าวแตกต่างอย่างยิ่งกับอาจารย์ท่านอื่นที่กระโจนสู่โลกโซเชียลมีเดียและเป็นฐานที่มั่นสำคัญในการเผยแพร่แนวคิดทางวิชาการและการเมือง และใช้ในการประกาศจุดยืนและตอบโต้ทางวิชาการหรือการเมือง หรืออย่างน้อยก็ใช้เป็นช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูล เช่น อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, อ.เกษียร เตชะพีระ, อ.ธเนศ วงศ์ยานนาวา, อ.ยุกติ มุกดาวิจิตร, อ.พวงทอง ภวัครพันธุ์, อ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์, อ.บุญเลิศ วิเศษปรีชา ฯลฯ อนึ่งบทบาทของโซเชียลมีเดียมีบทบาทเป็นอย่างยิ่งในช่วงความตึงเครียดทางการเมือง


พื้นที่ทางสังคมแบบใหม่นี้สอดคล้องกับการอ่านแบบแบบ hypertext[12] ที่เป็นคุณสมบัติของโลกยุคดิจิตอลที่พร้อมจะทำให้เกิดการย้ายตัวบทไปสู่ตัวบทใหม่ๆ สถานะของ hypertext ไม่มีขั้นตอนว่าอะไรอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่า ไม่มีลำดับชั้น และมีลักษณะ "เสรีประชาธิปไตย" ในการอ่าน โดยเฉพาะช่วงหลังรัฐประหาร 2549 ที่เป็นรอยต่อสำคัญของการใช้แพลตฟอร์มแบบเดิม นั่นคือ เว็บบอร์ด ที่เห็นได้จากความคึกคักของผู้คนคอการเมืองในเว็บบอร์ดพันทิปห้องราชดำเนิน เว็บบอร์ดของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เรื่อยมาจนถึงเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกันที่ในเวลาต่อมาเปลี่ยนผ่านมาสู่ facebook ข้อจำกัดของเว็บบอร์ดคือมีลักษณะที่รวมศูนย์ข้อมูล หากถูกรัฐบาลสั่งปิดหรือบล็อกก็ไม่สามารถที่จะดำเนินการต่อได้ ยังไม่นับการเซ็นเซอร์ตัวเอง ขณะที่ facebook นั้นรัฐบาลยังไม่สามารถเข้าไปควบคุมได้ ปัจจัยสำคัญอีกด้านคือ ความนิยมการใช้ facebook ที่ก้าวกระโดดจากจำนวนผู้ใช้ราว 250,000 คนในเดือนมกราคม ปี 2552 ก้าวกระโดดมาแตะหลัก 2 ล้าน คนในปีถัดมา[13] จึงไม่แปลกอะไรที่ facebook จะเป็นแพลตฟอร์มสำคัญในการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างรัฐบาลและประชาชนในช่วงปี 2552 และปี 2553 ข้อเท็จจริง ความจริง ความลวงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือการเมืองอย่างเข้มข้นในแพลตฟอร์มนี้อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

อ.อรรถ กับ ท่าทีต่อโลกโซเชียลมีเดีย

ก่อนหน้านี้ ไม่มีหลักฐานระบุชัดว่า อ.อรรถมีมุมมองเช่นไรกับโซเชียลมีเดีย (อาจเป็นเพราะไม่มีหลักฐานมาระบุมากกว่าที่จะสรุปว่า อ.อรรถไม่มีความเห็นใด) แต่พบว่าอย่างช้าในปี 2559 อ.อรรถ ได้กล่าวถึงแง่มุมของโลกโซเชียลในบทความชื่อว่า "โลกโซเชียล” กับ 'โรคซึมเศร้า' "[14] โดยชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างโลกโซเชียลกับโรคซึมเศร้า โดยชี้ให้เห็นว่าโรคซึมเศร้ามิได้มีสาเหตุมาจากปัญหาทางชีววิทยาล้วนๆ แต่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม สังคมรอบตัว อ.อรรถชี้ว่า ความสัมพันธ์ทางสังคมเปราะบางมากขึ้น ชีวิตผู้คนถูกทำให้แยกห่างกัน จนไม่สามารถจะสื่อสารกัน หรือสร้างสายใยสัมพันธ์ "กันอย่างแท้จริง" โลกโซเชียล ได้เข้ามาทดแทนด้านนี้ ขณะเดียวกัน โลกโซเชียลยังเป็นการแสดงความเป็นส่วนตัว และตัวตนที่อยากให้คนอื่นรับรู้และชื่นชม เป็นเพียงการ "ตัดส่วนเสี้ยวของชีวิตมาขยายให้กลายเป็นภาพที่อยากให้คนอื่นเห็น" นำไปสู่การหมกมุ่นอยู่กับความต้องการแสดงตน หากไม่ได้รับการตอบสนองว่าได้รับรู้และชื่นชมก็จะกระทบถึงความเป็นตัวตน อ.อรรถนำความเปลี่ยนแปลงระบบอารมณ์ของผู้คนไปเทียบกับการชมโทรทัศน์ที่เคยวิเคราะห์ในปี 2538 ว่าการเปลี่ยนช่องโดยรีโมท ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ในชั่วครู จากตลกเป็นกลัว เป็นความรู้สึกอื่นๆ เมื่อเทียบกับโลกโซเชียล ความรู้สึกนี้กับเปลี่ยนแปลงมากกว่าหลายร้อยพันเท่า ซึ่งนำมาสู่ความไร้เสถียรภาพทางอารมณ์ และนั่นก็คือส่งผลต่อสิ่งที่เรียกว่าโรคซึมเศร้าไปด้วย แม้ว่าในสังคมเศรษฐกิจทุนนิยมจะทำให้ปัจเจกรู้สึกว่าตนเองไร้คา แต่ความรู้สึกนี้จะแรงมากขึ้นเมื่อโลกเสมือนจริงทำให้ความรู้สึก "ไร้ค่า" กับ "มีค่า" เกิดขึ้นสลับกันไปมาอย่างรวดเร็วจนเราไม่สามารถมีเสถียรภาพ เมื่อควบคุมอารมณ์ความรู้สึกได้น้อยลงก็ส่งผต่อความหมายของความเป็นเรา หรือตัวตนก็จะถูกทำลายลงไป ซึ่งนี่คือสภาวะของโรคซึมเศร้า


ปลายปี 2560 อ.อรรถยังมีบทความที่ชื่อ "ความเปราะบางของผู้คน"[15] ชี้ให้เห็นความเสื่อมโทรมของสังคมไทยที่มีผลต่อการปะทะกันทางอารมณ์ทุกมิติของชีวิต ความใส่ใจกับสายสัมพันธ์ทางสังคมของ อ.อรรถ ทำให้เขาชี้ว่า "ระบบความสัมพันธ์ทางสังคมของสังคมไทยล้มเหลวโดยสิ้นเชิง" ที่เสียงว่าทุกคนพร้อมจะระเบิดอารมณ์ของตนสู่คนข้างเคียงและคนอื่นๆ ได้ง่าย อ.อรรถยังกล่าวต่อว่า สังคมไทยไม่สามารถรู้สึกได้ถึง "พื้นที่ทางสังคม" ที่มีกฎเกณฑ์กลางอันไม่ควรล่วงละเมิดนำมาสู่การใช้ "ตัวตน" อย่าง "เสรี" (ที่หมายถึง ไม่สนใจต่อการรับผิดชอบใดๆ) นำไปสู่การหมกมุ่นแต่ตนเอง นำไปสู่การโอ้อวดตัวตน การบริโภคเพื่อแสดงสถานะ พื้นที่ทางสังคมในมุมมอง อ.อรรถ คือ พื้นที่กลางที่ผู้คนยอมรับกฎระเบียบในพื้นที่ ลักษณะนี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงงานเขียน อ.อรรถเกี่ยวกับญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญกับพื้นที่ทางสังคมเช่นนี้อยู่ด้วย ด้วยเหตุที่สังคมไทยไร้ "พื้นที่ทางสังคม" ในนิยามของ อ.อรรถ ทำให้คนหมกมุ่นกับตัวเอง ส่งผลต่อความเปราะบางของผู้คน เพราะไม่มีอะไรผ่อนคลายความรู้สึกที่อยากตอบสนองอารมณ์ส่วนตัว และเข้าใจว่าส่งผลต่อ "โรคซึมเศร้า" ที่สถิติทวีสูงขึ้น


อาจกล่าวได้ว่า อ.อรรถมองสังคมไทยที่กำลังเปลี่ยนผ่านนี้คือ โลกดิสโทเปีย อันเนื่องมาจากความสัมพันธ์ทางสังคมที่แตกกระจายอันส่งผลกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึกและตัวตนของมนุษย์ที่เป็นเหยื่อในสังคมที่ไร้พื้นที่ทางสังคมที่มีระเบียบกฎเกณฑ์ ขณะที่พื้นที่ทางสังคมแบบใหม่-โลกโซเชียลกลับทำให้มนุษย์ถลำลึกกับความหมกมุ่นในตัวตน อันนำไปสู่โรคซึมเศร้าที่มากขึ้นเรื่อยๆ  แต่มุมมองเช่นนี้ จะเป็นการมองว่ามนุษย์เป็นเหยื่อมากไปหรือไม่ มนุษย์เองเปราะบางจนไม่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ได้จริงหรือ? อ.อรรถจักร์ อาจจะไม่เคยเห็น หรือติดตามชุมชนทางการเมืองใน Facebook, twitter ที่มีความคึกคักและความเปลี่ยนแปลงอย่างสูง ชุมชนการค้าออนไลน์ที่มีแพลตฟอร์มในโซเชียลมีเดีย ชุมชนอาสาสมัคร ชุมชนแฟนที่สร้างสรรค์วัฒนธรรมสมัยใหม่อีกหลากหลาย หรืออาจกล่าวได้ว่า ชุมชนในโลกโซเชียลมีเดียได้สร้าง "พื้นที่ทางสังคม" ชนิดใหม่ขึ้นมา


การบรรยายในหัวข้อ “คนเล็กในโลกที่แปรปรวน” 17 สิงหาคม 2562 ณ คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.พะเยา[16] ก็ได้ตอกย้ำข้อเสนอ อ.อรรถ ในเรื่องของการหมกมุ่นของตัวตน โลกโซเชียล และโรคซึมเศร้าอีกครั้ง เช่นเดียวกับล่าสุดที่ผู้เขียนมีโอกาสรับฟังผ่านวงเสวนา "ความเป็นภูมิภาค ความเป็นท้องถิ่น และตัวตนของมนุษย์ในโลกไร้พรมแดน" เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 13 วันที่ 6 กันยายน คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม การอธิบายเรื่องเดียวกันที่เปลี่ยนแปลงน้อยมากในรอบ 3 ปี จึงทำให้คำอธิบายของ อ.อรรถ เกี่ยวกับโลกโซเชียลมิได้ทันกับพลวัตนี้เท่าที่ควรจะเป็น  


อาจกล่าวได้ว่าในพื้นที่ทางสังคมแบบใหม่นี้ อ.อรรถ ได้มีระยะห่างในฐานะ user เช่นเดียวการห่างในเชิงประสบการณ์ตรงในการสนทนาสังสรรค์แบบ hypertext ชนบทที่เปลี่ยนไปตามนิยาม อ.อรรถ ก็มิได้เป็นชุมชนที่เคลื่อนไหวอยู่กับพื้นที่สังคมแบบเก่าแล้วปริมณฑลของ hypertext และโลกโซเชียลมีเดียอาจเป็นความท้าทายในพรมแดนใหม่ ในพื้นที่สังคมแบบใหม่ที่อาจต่อยอดออกไปก็ได้.

 

 

อ้างอิง 

[1]บทความสำหรับงานมุทิตาจิตเนื่องในงานเกษียณ ศาสตราจารย์ ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2 พฤศจิกายน 2562 เวลา 13:00-16:30 ที่ห้องประชุม 50 ปี คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

[2]Henri Lefebvre, The production of space (Oxford, OX, UK ; Cambridge, Mass., USA : Blackwell, 1991)

[3]อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, นิเวศประวัติศาสตร์ : พรมแดนความรู้ (กรุงเทพฯ : โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, 2545)

[4]อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, ภาพรวมงานพัฒนาขององค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ ทางเดินและทางเลือกขององค์กรประชาชน (เชียงใหม่ : ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2541)

[5]อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, วิวัฒนาการของชุมชนแออัดและองค์กรชุมชนแออัดในเมือง กรณีศึกษาเมืองเชียงใหม่ (เชียงใหม่ : ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2541)

[6]อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, ประวัติศาสตร์เพื่อชุมชน : ทิศทางใหม่ของการศึกษาประวัติศาสตร์ (กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย, 2548)

[7]อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, Japanization (กรุงเทพฯ : openbooks, 2548)

[8]อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, Japanization (กรุงเทพฯ : openbooks, 2548), หน้า 95-96

[9]อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, จะรักกันอย่างไรในเมื่อเรายังไม่เข้าใจกัน (กรุงเทพฯ : โอ้มายก้อด, 2553)

[10]อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, "ประชาธิปไตย" คนไทยไม่เท่ากัน (กรุงเทพฯ : มติชน, 2557)

[11]อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์, ลืมตาอ้าปาก จาก "ชาวนา" สู่ "ผู้ประกอบการ" (กรุงเทพฯ : มติชน, 2559)

[12] ดูใน ประชาไท. "ธเนศ วงศ์ยานนาวา: ว่าด้วยไฮเปอร์เท็กซ์ อำนาจของผู้ประพันธ์ และปลายทางของการอ่านยุคดิจิตอล". สืบค้นเมื่อ 9 ตุลาคม 2562. จาก https://prachatai.com/journal/2012/05/40381 (6 พฤษภาคม 2555)

[13] Marketing Oops!. "การเติบโต Facebook ของประเทศไทยขึ้นอันดับหนึ่ง Southeast Asia, อันดับสองโลก". สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2562. จาก https://www.marketingoops.com/reports/thailand-southeast-asia-lead-facebook-growth/ (7 มกราคม 2554)

[14]อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์. "โลกโซเชียล” กับ 'โรคซึมเศร้า' ". สืบค้นเมื่อ 9 ตุลาคม 2562. จาก https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/637547?fbclid=IwAR3njglwLfeFTaRkok72QKIe4dcFUGiCcd85IWDdem_ltteKI4RdJsnU6ps (22 เมษายน 2559)

[15]อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์. "ความเปราะบางของผู้คน ". สืบค้นเมื่อ 9 ตุลาคม 2562. จาก https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/643379 (15 ธันวาคม 2560)

[16]การบรรยายในหัวข้อ “คนเล็กในโลกที่แปรปรวน” 17 สิงหาคม 2562 ณ คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.พะเยา โดย ศาสตราจารย์ ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ สืบค้นเมื่อ 12 ตุลาคม 2562. จาก https://bit.ly/2IzZtSs (17 สิงหาคม 2562)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net