Skip to main content
sharethis

ศาลจังหวัดลพบุรีนัดฟังคำพิพากษาคดีผู้สื่อข่าว Voice TV ถูกบริษัทฟาร์มไก่ฟ้องหมิ่นประมาทกรณีทวิตข้อความเกี่ยวกับแรงงานฟาร์มไก่ 14 คน ในวันที่ 24 ธ.ค.นี้

ภาพจาก เฟสบุ๊กแฟนเพจ 'Human Rights Lawyers Association'

7 พ.ย.2562 ความคืบหน้าคดีที่ บริษัท ธรรมเกษตร จำกัด เจ้าของฟาร์มเลี้ยงไก่ จ.ลพบุรี โดย ชาญชัย เพิ่มพล ผู้รับมอบอำนาจ ยื่นฟ้อง สุชาณี รุ่งเหมือนพร หรือสุชาณี คลัวเทรอ ผู้สื่อข่าว Voice TV เป็นคดีหมายเลขดำที่ อ.118/2562 กรณีทวิตข้อความเกี่ยวกับแรงงาน 14 คนในข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 และมาตรา 328 ซึ่งมีนัดสืบพยานระหว่างวันที่ 5-8 พ.ย.2562 นั้น

ล่าสุดวันนี้ (7 พ.ย.62) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน รายงานผ่านเฟสบุ๊กแฟนเพจ 'Human Rights Lawyers Association' ว่า ได้มีการสืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว โดยฝ่ายโจทก์นำพยานเข้าสืบ 1 ปาก คือ ชาญชัย เพิ่มพล ส่วนฝ่ายจำเลยนำพยานเข้าสืบ 4 ปาก คือ สุชาณี คลัวเทรอ จำเลย และยังมี Miss Archana Kotecha นักกฎหมายผู้เชี่ยวชาญในเรื่องทาสสมัยใหม่ ค้ามนุษย์ และแรงงานบังคับ ดร.พรรษาสิริ กุหลาบ รองคณบดีคณะนิเทศน์ศาสตร์ จุฬาลงการณ์มหาวิทยาลัย และ ประทีป คงสิบ อดีตผู้อำนวยการฝ่ายข่าวสถานีโทรทัศน์ช่อง Voice TV มาเบิกความสนับสนุนการต่อสู้คดีของจำเลยว่าเป็นการทำหน้าที่ในฐานะสื่อมวลชน เป็นการแสดงความคิดเห็น หรือข้อความโดยสุจริตในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรม

สำหรับคดีนี้ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มีมูลเหตุมาจากในระหว่างที่ สุชาณี เป็นผู้สื่อข่าวอยู่สำนักข่าว Voice TV และได้มีการติดตามรายงานข่าวการละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติในภาคการเกษตร และได้เผยแพร่ข้อความเพื่อประกาศข่าวสารในทวิตเตอร์ โดยเผยแพร่ข้อความต่อจาก อานดี้ ฮอลล์ อดีตที่ปรึกษาเครือข่ายด้านสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) ในวันที่ 14 ก.ย.2560 ว่า “ศาลสูงสุดมีคำสั่งให้เจ้าของฟาร์มเลี้ยงไก่ จ.ลพบุรี อดีตหนึ่งในฟาร์มส่งไก่ให้บริษัทเบทาโกร จ่ายเงินชดเชยคนงานพม่า 14 คน 1.7 ล้านบาท กรณีใช้แรงงานทาส” โดยโพสต์ประกอบกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ 597/2560 ซึ่งคดีนี้ในปัจจุบัน แรงงานชาวพม่าทั้ง 14 คน ก็ได้รับเงินชดเชยจากกรณี บริษัทธรรมเกษตรฯ ละเมิดสิทธิแรงงานเรียบร้อยตามคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว

ก่อนที่จะมีการฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดลพบุรี บริษัท ธรรมเกษตรฯ เคยแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน สภ.โคกตูม ให้ดำเนินคดีกับสุชาณีในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ แต่พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการจังหวัดลพบุรีมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าเป็นการแจ้งข่าวรายงานตามเนื้อหาของคำพิพากษา ประกอบกับเป็นการแสดงความคิดเห็น หรือข้อความโดยสุจริตในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยโดยศาล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(4) และไม่ปรากฏเจตนาโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวงนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ซึ่งจะมีลักษณะทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน จึงทำให้คดีดังกล่าวยุติตามคำสั่งไม่ฟ้องเลขที่ อส.0042(ลบ)/3727

สำหรับกรณีการนำเสนอประเด็นละเมิดสิทธิแรงงานของบริษัท ธรรมเกษตรฯ นั้น นอกจากนักข่าวแล้ว บริษัท ธรรมเกษตรฯ มีการฟ้องร้องหมิ่นประมาทกับ สุธารี วรรณศิริ อดีตนักวิจัยประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการโฆษณา เนื่องจาก สุธารี ได้เผยแพร่คลิปจากยูทูบซึ่งเป็นคลิปสัมภาษณ์อดีตลูกจ้างของบริษัท ธรรมเกษตรฯซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติ สัญชาติเมียนมาร์ในประเด็นเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิแรงงาน

ส่วนแรงงานข้ามชาติ 14 รายนั้น บริษัท ธรรมเกษตรฯ ยังฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาท แจ้งข้อความอันเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จากการไปร้องเรียนการละเมิดสิทธิฯ ต่อ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ด้วย โดยต่อมา ศาลแขวงดอนเมืองพิพากษา ยกฟ้องโจทก์เนื่องจากจำเลยใช้สิทธิโดยสุจริตในการร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตน เพื่อให้มีการตรวจสอบการละเมิดสิทธิอันเป็นไปตามกฎหมายและสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายอาญา มาตรา 329 (1)และพันธกรณีระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคีตามครรลองคลองธรรม 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net