สถานการณ์แบน 3 สารเคมี กระทบหลายอุตสาหกรรม จ่อดัน ‘เกษตรอินทรีย์’ วาระแห่งชาติ

ส่องสถานการณ์แบน 3 สารเคมี พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส คาดอุตสาหกรรมอ้อยสูญเงิน 300,000 ล้านบาท กระทบอุตสาหกรรมอาหารคน-สัตว์เป็นวงกว้าง 3 สมาคมต้านแบน 3 สารเคมี ตั้งข้อสังเกตเร่งทำลายสารเคมี ใครได้ประโยชน์ ด้านกมธ.เกษตรฯ เร่งหาสารอื่นทดแทน 3 สารเคมี กมธ.สารพิษจ่อชงข้อเสนอรัฐบาลผลักดัน ‘เกษตรอินทรีย์’ เป็นวาระแห่งชาติ

การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้แบน 3 สารเคมี พาราควอต ไกลโฟเซต และ คลอร์ไพริฟอส นั้นยืดเยื้อมาตั้งแต่ปี 2555 ผ่านสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ซึ่งออกมติครั้งที่ 5/2555 ว่าด้วยความปลอดภัยทางอาหารและการแก้ไขปัญหาจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยขอให้กรมวิชาการเกษตรทบทวนการอนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช และกำหนดหลักเกณฑ์ในการ “ยกเลิก” การใช้วัตถุอันตรายที่มีผลกระทบรุนแรงและหลายประเทศห้ามใช้ไปแล้ว  

แต่หลังจากนั้นปี 2561 แม้จะมีการศึกษาทางวิชาการจากกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงเกษตรฯ ที่พบว่า พาราควอตมีทั้งพิษเฉียบพลันถึงตายและพิษเรื้อรัง ตลอดจนส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อม และยังพบการตกค้างในสัตว์น้ำและมนุษย์ แต่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติไม่ยกเลิกการใช้สารเคมีทั้ง 3 ชนิด ซึ่งทำให้ภาคประชาชนหลายส่วนออกมาคัดค้าน

ต่อมาในปี 2562 เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรงยังคงผลักดันเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการเปลี่ยนรัฐบาลชุดใหม่ที่มาพร้อมนโยบายหาเสียงทางการเมือง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการแบน ‘พาราควอต’ ที่เป็นสารเคมีร้ายแรง ที่สุดแล้วเมื่อวันที่ 22 ต.ค. จึงมีมติจากคณะกรรมการวัตถุอันตรายเห็นควรให้ยกเลิกการใช้ 3 สารเคมีดังกล่าว

ขณะเดียวกันกลับไม่มีความชัดเจนเรื่องสารเคมีตัวใหม่ที่จะนำมาทดแทน พาราควอต ไกลโฟเสต คลอร์ไพริฟอส ทั้งในแง่ประสิทธิภาพกำจัดวัชพืชและราคาที่จะจำหน่าย จึงนำมาสู่ข้อเรียกร้องของเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเห็นว่ารัฐควรมีมาตรการรองรับที่ชัดเจนและชดเชยค่าเสียหายที่เกิดขึ้น

นำไปสู่การฟ้องศาลปกครอง ขอรับการคุ้มครองชั่วคราว และขอให้ศาลสั่งให้ยกเลิกมติสาธารณสุขที่ให้แบนสารเคมีก่อนที่จะถึงเส้นตายการห้ามใช้ ห้ามจำหน่าย ห้ามมีไว้ในครอบครอง ภายใน 1 ธ.ค. 2562 ซึ่งต่อมาศาลปกครองมีคำสั่งไม่รับฟ้อง เนื่องจากมติของคณะกรรมการวัตถุอันตรายยังไม่มีผลทางกฎหมายที่จะนำมาฟ้องขอให้ศาลปกครองได้

แต่นอกเหนือจากนั้นการแบนครั้งนี้ยังกลายเป็นประเด็นที่กระทบอุตสาหกรรมอาหารคนและสัตว์ กระทบการนำเข้า ที่กลายเป็นการเมืองระหว่างประเทศอีกด้วย

 

แบน 3 สารเคมีกระทบนำเข้าอุตสาหกรรมอาหารคน-สัตว์เป็นวงกว้าง

ประกาศกระทรวงสาธารณสุขเลขที่ 387 พ.ศ 2560 เรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้าง ข้อ 4 อาหารที่มีสารพิษตกค้างต้องมีมาตรฐาน โดยตรวจไม่พบวัตถุอันตรายทางการเกษตรชนิดที่ 4 ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551 ตามบัญชีหมายเลข 1 แนบท้ายประกาศนี้ โดยคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้มีมติในวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมาให้ “พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส” จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2562

นั่นหมายความว่า การเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 นอกเหนือจากห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองแล้ว ตามนัยของประกาศกระทรวงสาธารณสุขข้างต้นยังห้ามไม่ให้มีการตกค้าง ของ พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส อยู่ในอาหารโดยเด็ดขาด (หรือค่าตกค้างสูงสุด ที่เรียกว่า MRL ต้องเป็น 0) ส่งผลให้อาหารคนรวมไปถึงที่มีส่วนประกอบหรือส่วนผสมจากวัตถุดิบที่ใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชทั้ง 3 รายการไม่สามารถนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศ

พรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยนำเข้าวัตถุดิบถั่วเหลืองปีละ 5 ล้านตัน โดยมาจากบราซิลและสหรัฐอย่างละครึ่ง และทั้งสองประเทศนี้ยังมีการใช้ไกลโฟเซตอยู่ ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการนำเข้าข้าวสาลีที่นำเข้ามาใช้ผลิตอาหาร และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รวมถึงอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ซึ่งใช้ปีละ1 ล้านตัน โดยรวมแล้วมีผู้ใช้ไกลโฟเซตกว่า 161 ประเทศทั่วโลก

พรศิลป์ยังระบุว่า ธุรกิจอาหารสัตว์ ปศุสัตว์ และอุตสาหกรรมอาหารทั้งระบบจะเสียหายอย่างมหาศาล คิดเป็นมูลค่ากว่า 800,000 ล้านบาท โดยเป็นมูลค่าการส่งออกกว่า 200,000 ล้านบาท อีกทั้งจะทำให้เกิดปัญหาการเลิกจ้างงานและปัญหาสังคมอื่นๆ ตามมา โดยจากสต็อกวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ที่มีอยู่ในประเทศจะรองรับการเลี้ยงไก่เนื้อ ไก่ไข่ สุกร และกุ้งได้เพียง 2-3 เดือนเท่านั้น หากรัฐบาลไม่มีแผนรับมือ ธุรกิจเหล่านี้จะล่มสลาย จากที่เป็นผู้ผลิตเนื้อสุกร ไก่เนื้อ ไข่ไก่ และกุ้ง ไทยต้องเปลี่ยนเป็นผู้นำเข้า

ขณะที่ทูตเกษตรประจำสถานทูตบราซิลระบุว่า ไม่สามารถทำตามเงื่อนไขของสมาคมฯ ได้ เนื่องจากเมล็ดถั่วเหลืองของบราซิลมีปริมาณไกลโฟเซตตกค้างอยู่ที่ 10 ppb (ส่วนในพันล้านส่วน) ซึ่งต่ำกว่าค่าความปลอดภัยทางด้านอาหารตามคณะกรรมาธิการโครงการมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (Codex) กำหนดไว้ที่ 20 ppb ดังนั้นบราซิลจะนำเรื่องนี้ไปหารือในองค์การการค้าโลก (WTO) ว่า เป็นประเด็นกีดกันทางการค้าหรือไม่

“รัฐบาลควรหันไปใช้มติเดิมที่กำหนดให้ทยอยลด ละ เลิก ให้เวลาในการศึกษาอบรม ทำความเข้าใจ และหาสารเคมีมาทดแทน เพราะถ้าไม่ทำอย่างนี้ อุตสาหกรรมทั้งห่วงโซ่การผลิตจะได้รับความเสียหาย ทั้งตัวเกษตรกรและการจ้างงานพูดง่าย ๆ ก็คือเจ๊งหมด” พรศิลป์กล่าว

 

สหรัฐฯ ทำหนังสือถึงนายก คาดแบนไกลโฟเซตกระทบนำเข้า 51,000 ล้านบาท

ก่อนหน้านี้สถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทยยังได้แนบเอกสารจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐ ส่งถึงนายกรัฐมนตรีของไทยด้วยว่า การแบนสารไกลโฟเซต โดยไม่พิจารณาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างเต็มที่ อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการนำเข้าถั่วเหลืองและข้าวสาลีของไทย จึงหวังว่าประเทศไทยจะพิจารณาความกังวลนี้ เพราะไกลโฟเซทเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ยาฆ่าแมลงที่ใช้กันอย่างแพร่หลายและศึกษาอย่างจริงจังในโลก หน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา (EPA) ประเมินแล้วว่าไม่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์ สอดคล้องกับความคิดเห็นทางวิทยาศาสตร์ของหน่วยงานอื่นทั้งญี่ปุ่น สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย และองค์การเกษตรแห่งสหประชาชาติ  จึงขอให้ชะลอการตัดสินใจเกี่ยวกับไกลโฟเซต เพื่อหาทางออกสำหรับสหรัฐอเมริกา

คาดการณ์ว่าจะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นจากการห้าม 3 ประการ คือ 1.เกษตรกรไทยจะต้องเผชิญกับต้นทุนสารเคมีทดแทนสูงขึ้น 75,000-125,000 ล้านบาท ของราคาตลาดของไทยในปัจจุบัน  2.หากไม่พบสารเคมีทดแทนที่เหมาะสม (เนื่องจากกลูโคซิเนต มีแอมโมเนียมมีพิษมากกว่า ไกลโฟเซท แต่น้อยกว่าพาราควอต) ทำให้ต้นทุนแรงงานสูงขึ้นสำหรับการปราบวัชพืช ทำให้การควบคุมรวมกับการสูญเสียผลผลิตพืช คาดว่าจะสูงถึง 128,000 ล้านบาท 3.สิ่งที่สหรัฐกังวลมากที่สุด คือ จะมีผลกระทบต่อการนำเข้าถั่วเหลือง ข้าวสาลี กาแฟ แอปเปิ้ล และองุ่น  จากสหรัฐ มูลค่า 51,000ล้านบาท ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นยังไม่รวมถึงผลกระทบที่ตามมาของผู้ผลิตอาหาร เช่น อุตสาหกรรมเบเกอรี่และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่พึ่งพาข้าวสาลีที่นำเข้า 100% เพื่อมาดำเนินธุรกิจมูลค่า 40,000 ล้านบาท

 

คาดอุตสาหกรรมอ้อยสูญเงิน 300,000 ล้านบาท

กิตติ ชุณหวงศ์ นายกสมาคมนักวิชาการอ้อยและน้ำตาลแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า สมาคมฯกังวลว่าปี 2563 อุตสาหกรรมอ้อยจะสูญเม็ดเงินมากกว่า 300,000 ล้านบาท จากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากเหตุแบนสารเคมีเกษตร กำลังการผลิตลด โดยสมาคมฯวิเคราะห์ตัวเลขความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นหากยกเลิกพาราควอต ซึ่งเป็นสารเคมี ที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรมการผลิตอ้อย และยังไม่สามารถหาสารทดแทนได้

ดังนั้น การที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติแบนพาราควอต จึงส่งผลโดยตรงต่อภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในพื้นที่กว่า 10 ล้านไร่ และคิดเป็นมูลค่าความเสียหาย รวมทั้งห่วงโซ่ อุตสาหกรรมอ้อย อาจสูงถึง 500,000 ล้านบาท และยังต้องเสียศักยภาพความเป็นผู้นำในการส่งออกน้ำตาล

 

3 สมาคมต้านแบน 3 สารเคมี ถามเร่งทำลายสารเคมี ใครได้ประโยชน์

สมาคมเกี่ยวกับการทำเกษตร ได้แก่สมาคมอารักขาพืชไทย สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร และสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย ได้หารือเพื่อร่วมกันทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในวันที่ 6 พ.ย. ที่ผ่านมาเพื่อขอให้พิจารณาปลดล็อกการระงับการขึ้นทะเบียน วัตถุอันตราย สารเคมี ยาฆ่าแมลง หลังกรมวิชาการเกษตร สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร ของกรมวิชาการเกษตรไม่อนุญาตให้มีการส่งออก หรือนำเข้าสารเคมี

ทั้ง 3 สมาคมยังมองเรื่องของ การแบน 3 สารเคมี เป็นที่น่าสังเกตว่า ดำเนินการด้วยความรีบเร่ง แถมการทำลายสารเคมียังให้เป็นหน้าที่ของเอกชน เป็นผู้ทำลาย โดยค่าทำลายกำหนดไว้ประมาณ 100 บาท/กิโลกรัม ถือว่าสูงมาก และ บริษัทที่ทำลายสารเคมีที่ได้รับอนุญาต มีเพียงบริษัทเดียวในประเทศไทย คือ บริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) หากต้องทำลายสารเคมีใครจะได้ประโยชน์ ซึ่งการสั่งแบน 3 สารพร้อมกับการระงับ ทะเบียนสารเคมี ส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่สามารถส่งออกสารเคมี ไม่สามารถระบายสต๊อกไปยังประเทศต้นทาง และประเทศผู้ผลิตสารเคมีได้

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวได้สืบค้นรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท อัคคีปราการ จำกัด (มหาชน) พบว่า 10 อันดับแรก ได้แก่  

1.     บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน)               51.18%    
2.     YAMAZEN HOLDINGS COMPANY LIMITED         2.72%    
3.     นายสมเจตน์ ชำนาญท่องไพวัลห์                              1.91%    
4.     นายอดิศักดิ์ กนกศิลป์                                           1.72%    
5.     นายบุญส่ง เจียรไพศาลเจริญ                                   1.56%  
6.     นางสุภา ยั่งยืนสุนทร                                            1.41%    
7.     นางสุภาพร กิตติวรรณโชติ                                      1.04%    
8.     นายวินิจ หงนิพนธ์                                               1.00%    
9.     นายอดิเทพ ชนะสิทธิ์                                            0.78%   
10.    นายสฤษฎิ์ พัฒนโสภณ                                         0.71%    
 

กมธ.เกษตรฯ เร่งหาสารอื่นทดแทน 3 สารเคมี

เมื่อวันที่ 6 พ.ย. ที่ผ่านมา มีการประชุมคณะกรรมาธิการการเกษตรฯ  ศึกษาหารือถึงผลกระทบและแนวทางช่วยเหลือเกษตรกร จากการยกเลิกการใช้สารกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสียงสูงกรณีพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ซึ่งเชิญ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และสุนทร รักษ์รงค์ เลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย มาร่วมประชุม

เจเศรษฐ์ ไทยเศรษฐ์  โฆษกคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ภาพรวมได้ข้อมูลว่า การยกเลิกใช้ 3 สารเคมีเกษตรส่งผลต่อศักยภาพการผลิตลดลง โดยเฉพาะกลุ่มพืชอุตสาหกรรมหลัก อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ไม้ผล ปาล์มน้ำมัน และยางพารา ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกระดับต้น ๆ ของโลกซึ่งจะมีผลกระทบในช่วงแรก ๆ เพราะไม่มีสารหรือวิธีทดแทนที่ได้ประสิทธิภาพเหมือนสารดังกล่าวทั้ง 3 ชนิด หรือหากเลือกใช้สารอื่นหรือวิธีทางเลือกอื่นก็จะมีต้นทุนสูงและได้ประสิทธิภาพที่ต่ำกว่า

ส่วนแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรนั้น ทางกรมวิชาการเกษตร ได้เสนอไอเดียจากงานวิจัยต่าง ๆ โดยให้ใช้วัตถุอันตรายในกลุ่มสารควบคุมการงอกผสมผสานกับการใช้แรงงานคนและการใช้เครื่องจักรกลเกษตร โดยนำหลักการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานมาใช้การทดแทน ซึ่งเรื่องนี้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวทางช่วยเหลือกรณีดังกล่าวแล้ว

อย่างไรก็ตาม ทางคณะกรรมาธิการฯเห็นว่า ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควรมีมาตรการเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกใช้สารดังกล่าวรวมทั้งเร่งหาสารชีวภัณฑ์ทดแทนเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่เกษตรกร และควรกำหนดระยะเปลี่ยนผ่านอย่างเหมาะสมในการยกเลิกใช้สารเคมีเพื่อให้เกษตรกรปรับตัวได้ทัน

 

กมธ.สารพิษจ่อชงข้อเสนอรัฐบาลผลักดัน ‘เกษตรอินทรีย์’ เป็นวาระแห่งชาติ

ขณะที่วันนี้ (8 พ.ย. 62) ชวลิต วิชยสุทธิ์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาศึกษาแนวทางการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ข้อเสนอที่ กมธ. นำไปประกอบการจัดทำรายงานนั้น มี 8 ประเด็น ได้แก่

1. การแบน 3 สารพิษทางการเกษตร ได้แก่ พาราควอต คลอไพริฟอส และไกลโฟเสต

2. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาว่ามีสารเคมีทางการเกษตร ชนิดใดที่จำเป็นต้องแบนเพิ่มอีกหรือไม่

3. การส่งเสริมให้นำองค์ความรู้จากโครงการเกษตรแปลงใหญ่ และศูนย์ความรู้ทางการเกษตร มาเผยแพร่ให้เกษตรกรนำไปปรับใช้

4.การเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับเครื่องจักรกลทางการเกษตรในราคาประหยัดแก่เกษตรกร และยกเว้นการจัดเก็บภาษีเครื่องจักรกลทางการเกษตร

5. เสนอให้รัฐบาลกำหนดให้เกษตรอินทรีย์ เป็นวาระแห่งชาติ

6. ตั้งกองทุนเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกใช้สารเคมีทางการเกษตรทั้ง 3 ชนิด

7.การส่งเสริมให้เกษตรกรพัฒนาผลผลิตให้สามารถแข่งขันกับผักและผลไม้ ที่นำเข้าจากต่างประเทศได้

8. เสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อคุ้มครองเกษตรกร โดยเฉพาะการแก้กฎหมายเพื่อแยกคณะกรรมการวัตถุอันตราย ออกเป็น 2 ชุด คือ ชุดที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงอุตสาหกรรม และชุดที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้การพิจารณาอนุญาตหรือยกเลิกการใช้สารเคมีสามารถทำได้ง่ายมากขึ้น

ทั้งนี้คณะ กมธ. ชุดนี้ จะสิ้นสุดระยะเวลาการทำงานในวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้ จะนำข้อมูลจากการลงพื้นที่ไปประกอบการจัดทำรายงานเสนอต่อรัฐสภา และส่งให้รัฐบาลรับไปดำเนินการแก้ไขปัญหาต่อไป โดย กมธ.จะนัดประชุมวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้ เป็นนัดสุดท้าย เพื่อหารือถึงแนวทางในการขับเคลื่อนงานเกษตรอินทรีย์ ต่อไป

 

อ้างอิง:

https://www.bbc.com/thai/thailand-50134830

https://news.thaipbs.or.th/content/285743

https://www.matichonweekly.com/column/article_241252

https://www.prachachat.net/economy/news-384816

https://tna.mcot.net/view/gzZS_Tc

https://www.matichon.co.th/politics/news_1745358

https://www.banmuang.co.th/news/politic/169086

https://www.thairath.co.th/news/local/1696956

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท