สุรพศ ทวีศักดิ์: ปัญหาพื้นฐานของอนุรักษ์นิยมไทยๆ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

อ่านข้อเขียน ประชาธิปไตยมีไว้ทำไม? รื้อถอนความคิด "นิธิ เอียวศรีวงศ์" (ดู https://www.facebook.com/thaimoveinstitute/photos/a.114742956575693/146403013409687/?type=3&theater) ของเวทิน ชาติกุล นักวิชาการสถาบันทิศทางไทย ที่โต้แย้งบทความ “...มีไว้ทำไม” ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ (ดู https://prachatai.com/journal/2019/10/84959) แล้ว ผมมีบางประเด็นที่อยากแลกเปลี่ยน เริ่มจากประเด็นที่เวทินเขียนว่า

เสรีนิยม ก็คือ รัฐไม่มีขอบเขตอำนาจที่จะแทรกแซงพื้นที่ส่วนปัจเจก (สิทธิ, เสรีภาพ, การแสดงออก) ของบุคคลหรือพลเมืองในรัฐ (ตราบเท่าที่การกระทำของปัจเจกไม่ละเมิดปัจเจกด้วยกัน)

ประชาธิปไตย ก็คือ วิธีการได้มาซึ่งรัฐและตัดสินใจสาธารณะที่ให้อำนาจกับประชาชนและพลเมือง

โดยตรรกะทั้งสองอย่างไม่ได้สัมพันธ์กันอย่างจำเป็น กล่าวคือ รัฐประชาธิปไตยก็อาจจะละเมิดปัจเจก (ส่วนน้อย) ด้วยเผด็จการเสียงข้างมากได้ หรือ รัฐที่ไม่เป็นเสรีนิยมก็อาจจะสร้างกระบวนการประชาธิปไตยขึ้นได้(เช่น จีน) หรือ รัฐที่ไม่เป็นประชาธิปไตย (เช่น รัฐที่ปกครองโดยธรรมราชา) ก็อาจให้เสรีภาพกับประชาชนได้

แต่ส่วนมากแล้ว คนที่มีความคิดแบบเสรีนิยมจะค่อนข้างเห็นคล้อยว่ารูปแบบการปกครองหรือรัฐที่เหมาะสมที่สุด (เลวน้อยที่สุด) น่าจะเป็นประชาธิปไตย

ข้อความดังกล่าวแม้จะจริง แต่ก็ไม่ใช่ความจริงที่ครบถ้วน จริงอยู่ในทางตรรกะ (logical) ประชาธิปไตยกับเสรีนิยมไม่ได้มีความสัมพันธ์กันอย่างจำเป็น เช่น ประชาธิปไตยก่อนสมัยใหม่ของชาวเอเธนส์ย่อมไม่เกี่ยวกับเสรีนิยม (liberalism) และจึงไม่ใช่เสรีประชาธิปไตย แต่เมื่อเราพูดถึง “ประชาธิปไตยสมัยใหม่” (modern democracy) ย่อมหมายถึงเสรีประชาธิปไตย ที่เสรีนิยมกับประชาธิปไตยมีความสัมพันธ์ต่อกันอย่างจำเป็นในทางปฏิบัติ เช่น ประชาธิปไตยยืนยันอำนาจเสียงข้างมากแต่ยืนยันภายใต้เงื่อนไขที่ต้องการเคารพสิทธิของเสียงข้างน้อย กฎหมายที่ชอบธรรมต้องบัญญัติผ่านกระบวนการประชาธิปไตย แต่กระบวนการจะไม่เป็นประชาธิปไตยเลย หากไม่ยืนยันเสรีภาพในการแสดงความเห็นสนับสนุนหรือคัดค้านว่าทำไมกฎหมายนั้นๆ จึงควรหรือไม่ควรตราขึ้น การเลือกตั้งต้องแข่งขันทางนโยบาย ความคิด อุดมการณ์ภายใต้กติกาที่เสรีและเป็นธรรม เป็นต้น

ไอเดียเรื่องความเสมอภาคทางสิทธิ เสรีภาพ ศักดิ์ศรีของมนุษย์ โอกาส การเข้าถึงบริการสาธารณะและอื่นๆ ความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย หรือหลักการบัญญัติกฎหมายจะต้องชอบธรรมตามกระบวนการประชาธิปไตยและเนื้อหากฎหมายต้องพิทักษ์ปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน อันเป็นหลักการพื้นฐานของนิติรัฐ (rule of law) ก็คือไอเดียเสรีนิยม พูดกว้างๆ คือเสรีประชาธิปไตยคือการปกครองที่มุ่งปกป้องอำนาจของประชาชนและสิทธิมนุษยชนให้มั่นคงไปด้วยกัน  

ส่วนที่เวทินเขียนว่า “รัฐที่ไม่เป็นประชาธิปไตย (เช่น รัฐที่ปกครองโดยธรรมราชา) ก็อาจให้เสรีภาพกับประชาชนได้” นี่เป็นเทคนิคการพูดที่อาศัยประโยชน์จาก “ความคลุมเครือ” เพราะไม่พูดให้ชัดว่า “เสรีภาพของประชาชน” คืออะไร สำหรับเสรีนิยม (เช่นตามแนวคิดแบบคานท์, มิลล์, รอลส์ เป็นต้น) เสรีภาพของประชาชน ย่อมหมายถึงเสรีภาพส่วนบุคคลและเสรีภาพทางการเมืองด้วย รัฐที่ปกครองโดยธรรมราชาไม่เคยวางระบบประกันเสรีภาพทางการเมือง และถ้าจะให้เสรีภาพส่วนบุคคลก็เป็นเสรีภาพที่กำหนดขึ้นจากอำนาจเด็ดขาด (despotism), คุณธรรมและปัญญาของผู้ปกครอง คือแล้วแต่ผู้ปกครองจะอนุญาตให้มีเสรีภาพได้แค่ไหน อย่างไร แต่เสรีภาพส่วนบุคคลและเสรีภาพทางการเมืองในรัฐเสรีประชาธิปไตยกำหนดขึ้นจากการยืนยันอำนาจสูงสุดของประชาชน หรือจากการยืนยันหลักการพื้นฐานว่าประชาชนคือปัจเจกบุคคล (individual) ผู้มีอิสรภาพ สิทธิ และอำนาจเป็นของตนเอง

อย่างไรก็ตาม เสรีนิยมมีความซับซ้อน ปัจจุบันเสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) ถูกโจมตีในเรื่องเป็นรากฐานของเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี ซึ่งไม่ได้เสรีจริง เพราะคนรวยส่วนน้อยเป็นฝ่ายผูกขาดความมั่งคั่ง สหรัฐอเมริกามักถูกยกตัวอย่างในฐานะเป็นประเทศที่มีปัญหานี้ แต่ภายใต้ระบบเผด็จการแบบไทยที่ชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยมส่วนน้อยผูกขาดอำนาจทางการเมือง กลับไปกันได้ดีกับเสรีนิยมใหม่ที่เอื้อต่อ “อำนาจทุนกินรวบ” ยิ่งกว่าสหรัฐฯ เสียอีก

ขณะเดียวกันก็มีเสรีนิยมอีกแบบ เช่น เสรีนิยมแบบคานท์ (Immanuel Kant) และรอลส์ (John Rawls) ที่ยืนยันเสรีนิยมทางการเมือง แต่ไม่เสรีนิยมทางเศรษฐกิจ เพราะถือว่าสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ เป็น “สิทธิ” ที่รัฐมี “หน้าที่” ต้องจัดให้แก่พลเมือง เสรีนิยมสายเสมอภาคนี้โน้มเอียงไปในทางสนับสนุนรัฐสวัสดิการ แนวคิดเสรีนิยมสายนี้ต่างอย่างสิ้นเชิงกับแนวคิดธรรมราชาที่ถือว่าสวัสดิการเป็นเรื่องของ “ทาน” หรือ “การสงเคราะห์” จากผู้ปกปครอง เพื่อแสดงการบำเพ็ญบุญบารมีของชนชั้นบน

ขณะเดียวกัน ธรรมราชาเป็น “ลัทธิพ่อปกครองลูก” (paternalism) แบบหนึ่ง ที่ผู้ปกครองอาจใช้อำนาจเผด็จการโดยธรรมกับผู้ใต้ปกครองได้ แต่เสรีนิยมแบบคานท์และรอลส์มองว่าลัทธิพ่อปกครองลูกเป็นเผด็จการอาญาสิทธิ์ที่เลวร้ายมากที่สุดเท่าที่เราสามารถจะจินตนาการถึงได้ เพราะเป็นระบบการปกครองที่ชนชั้นปกครอง “คิดแทน” ประชาชนว่าอะไรดี ไม่ดี มีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์แก่ชีวิตของพวกเขา โดยมากแล้วการคิดแทนมักออกมาจากระดับสติปัญญาที่จำกัดของผู้ปกครองนั้นๆ จึงเป็นการไม่เคารพ “อิสรภาพในการเลือก” ของพลเมืองเสรีที่สามารถคิดเองได้ว่าอะไรดี ไม่ดี มีประโยชน์ ไม่มีประโยชน์สำหรับตนเอง

มาถึงประเด็นปัญหาที่ผมต้องการชี้ให้เห็นในข้อเขียนของเวทิน ผมคิดว่ามันคือ “ปัญหาพื้นฐานของฝ่ายอนุรักษ์นิยมไทยๆ” นี่ไม่ใช่คำประชด ในสังคมเสรีก็ย่อมมีคนจำนวนไม่น้อยที่มีความคิดอนุรักษ์นิยม แต่เขาเป็นอนุรักษ์นิยมที่เคารพ “เสรีภาพที่เท่าเทียม” (equal liberty) ของทุกคน อันที่จริงปัญญาชนอนุรักษ์นิยมในบ้านเราที่เคารพเสรีภาพที่เท่าเทียมของทุกคนก็มีอยู่บ้าง เช่น สุลักษณ์ ศิวรักษ์ที่ยืนยันเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจสอบสถาบันกษัตริย์ แต่ส่วนมากแล้วฝ่ายอนุรักษ์นิยมไทยๆ ไม่เคยเคารพเสรีภาพที่เท่าเทียม จึงมีปัญหาพื้นฐานดังนี้

1. ฝ่ายอนุรักษ์นิยมไทยๆ ตั้งคำถาม วิจารณ์ ตรวจสอบความคิด ข้อเสนอ การกระทำของฝ่ายที่คิดต่าง หรือแนวคิดทางการเมืองที่แตกต่างได้อย่างเต็มที่ แต่กลับไม่ยอมรับการตั้งคำถาม วิจารณ์ ตรวจสอบสถาบันกษัตริย์ใน “มาตรฐานเดียวกัน” กับที่ฝ่ายตนเองทำกับฝ่ายอื่นๆ

ดังนั้น การตั้งคำถาม วิจารณ์ ตรวจสอบแบบฝ่ายอนุรักษ์นิยมจึงไม่ใช่การตั้งคำถาม วิจารณ์ ตรวจสอบจากการใช้ “เหตุผล” อย่างแท้จริง เพราะคนที่มีเหตุผลจริงๆ ก็ย่อมจะยอมรับการใช้เหตุผลอย่างถึงที่สุดในการตั้งคำถาม วิจารณ์ตรวจสอบความเชื่อจารีตเดิมที่ตนเชื่อมั่นในแบบเดียวกับที่ตนทำกับความเชื่ออื่นๆ ด้วย เพราะนี่คือแนวทางเดียวที่ทำให้ความเชื่อของตนมีเหตุผล ทนต่อการพิสูจน์ ไม่ใช่เป็นเพียงเชื่อว่าถูกหรือดี แต่ห้ามสงสัย ห้ามถาม ห้ามวิจารณ์ตรวจสอบว่าถูกหรือดีตามที่เชื่อกันจริงๆ หรือไม่ อย่างไร

2. ฝ่ายอนุรักษ์นิยมไทยๆ มักยืนยันว่า พวกตนกำลังใช้เสรีภาพในการตั้งคำถาม วิจารณ์ ตรวจสอบความคิด ข้อเสนอของฝ่ายเห็นต่าง หรือระบบการเมืองแบบอื่นๆ แต่พวกเขาไม่เข้าใจ (หรือแสร้งไม่เข้าใจ) ว่า การใช้สิทธิและเสรีภาพต้องอยู่บนการเคารพสิทธิและเสรีภาพใน “แบบเดียวกัน” ของคนอื่นเสมอ ทว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมไทยๆ กลับปฏิเสธสิทธิและเสรีภาพในการวิจารณ์ตรวจ “ทุกสถาบัน” ที่ใช้อำนาจสาธารณะและภาษีของประชาชนในมาตรฐานเดียวกัน

3. จากปัญหาข้อ 1 และ 2 ทำให้การใช้เหตุผลของฝ่ายอนุรักษ์นิยมไม่ใช่การใช้เหตุผล แต่เป็นการใช้ “อคติ” บนการยืนยันว่าความเชื่อจารีตเดิมที่ฝ่ายตนยึดถือถูกหรือดีอย่างห้ามสงสัย ส่วนความเชื่อที่ตรงข้ามกับความเชื่อจารีตเดิมผิดเสมอ ไม่ใช่ผิดเพราะว่ามันไม่มีเหตุผลที่ดีกว่า แต่ผิดเพราะมันท้าทายต่อความเชื่อจารีตเดิมของฝ่ายอนุรักษ์นิยมเอง จึงทำให้การวิจารณ์ไม่ได้มีความหมายเป็นการวิจารณ์อย่างแท้จริง มักเป็นการกล่าวหาหรือใส่สี

หนักกว่านั้นคือ “ล่าแม่มด” ด้วยข้อหา “หมิ่นเบื้องสูง” “ชังชาติ” ไล่ออกนอกประเทศ เป็นต้น ขณะเดียวกันที่อ้างว่าตนเองกำลังใช้ “สิทธิ” ในการวิจารณ์ตรวจสอบฝ่ายคิดต่าง ก็เป็นเรื่องของการใช้ “อภิสิทธิ์” เสียมากกว่า เพราะไม่ยอมรับและเคารพสิทธิที่ฝ่ายเห็นต่างจะตั้งคำถาม วิจารณ์ตรวจสอบความเชื่อจารีตเดิมในมาตรฐานเดียวกับที่ตนเองทำกับความเชื่ออื่นๆ

4. ที่เป็นเช่นนั้น เพราะฝ่ายอนุรักษ์นิยมไทยๆ ไม่เคยเห็นคุณค่าของ “ความจริงทุกด้าน” ที่ต้องถูกพิสูจน์ด้วยเสรีภาพในการตั้งคำถาม วิจารณ์ ตรวจสอบ พวกเขายืนยันเพียง “ความจริงบางด้าน” คือความจริงด้านบวกของจารีตเดิม ปฏิเสธเสรีภาพในการนำเสนอความจริงด้านที่เป็นปัญหาของจารีตเดิม จึงทำให้พวกเขามองความจริงของเสรีนิยมเพียงในด้านลบเป็นหลักด้วยเช่นกัน เพราะหากพวกเขายอมรับความจริงด้านบวกของเสรีนิยม ย่อมจะทำให้พวกเขากลัวการใช้เสรีภาพและเหตุผลในการพิสูจน์ความจริงทุกด้านของระบบจารีตเดิมที่พวกตนยึดถือ

ดังนั้น ฝ่ายอนักษ์นิยมไทยๆ จึงอยู่ใน “โลกมายาคติ” หรือภาษานิยมในปัจจุบันเรียกว่า “กะลา” ที่พวกตนสร้างขึ้นมาครอบตัวเองไม่พอ ยังพยายามจะครอบคนอื่นๆ ที่อยู่นอกกะลาด้วย แต่พวกเขาย่อมล้มเหลว เพราะมนุษย์ที่อยู่นอกกะลาแล้ว ย่อมไม่มีใครอยากดักดานอยู่ในกะลาอีกต่อไป

พูดอย่างถึงที่สุด ความไม่สามารถที่จะเข้าใจความคิด เหตุผลของฝ่ายเห็นต่าง และความไม่สามารถจะเคารพสิทธิและเสรีภาพของฝ่ายเห็นต่างในการตั้งคำถาม วิจารณ์ตรวจสอบทุกสถาบันอำนาจในมาตรฐานเดียวกัน เกิดจากมายาคติหรือกะลาที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมสร้างขึ้นครอบตัวเอง โดยไม่ตระหนักเลยว่า นั่นเป็นการทำลายศักยภาพทางปัญญาและอิสรภาพของตนเองอย่างถึงแก่น

สรุปคือ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมไทยๆ มองคนอื่นก็ไม่เห็นความจริงของคนอื่น หมกมุ่นกับความเชื่อหรืออุดมการณ์หลักของตนเอง แต่ก็ไม่สามารถจะรู้หรือเข้าใจความเชื่อ อุดมการณ์หลักของตนเองได้ตามเป็นจริงและมีเหตุผล ที่น่าเศร้าคือ มายาคติที่พวกตนสร้างขึ้นทำให้มองไม่เห็นตนเองและคนคิดต่างเป็น “คนเท่ากัน” ในฐานะที่ทุกฝ่ายต่างเป็นเจ้าของอำนาจ สิทธิ และเสรีภาพเท่าเทียมกัน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท