Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในการศึกษาเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์หรือ Science and Technology Studies (STS) ผู้ศึกษาพบว่ามีกลุ่มงาน STS ที่กล่าวถึงวิทยาศาสตร์ในฐานะที่เป็นศาสตร์เพื่อสร้างสร้างรัฐชาติสมัยใหม่ นักวิทยาศาสตร์เป็นบุคคลสำคัญในสังคม(State-making) เช่นเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและอำนาจรัฐในงาน Carroll(2006) ที่กล่าวถึงการสร้างรัฐชาติใหม่ของประเทศไอร์แลนด์ในฐานะพื้นที่ทดลองเพื่อการปกครองของประเทศอังกฤษ โครงการดังกล่าวเป็นการประสานความรู้ระหว่างเครื่องมือทางวิศวกรรมและการปกครองเข้าไว้ด้วยกัน เช่นเดียวกับงานของ Hodage(2007) ที่กล่าวถึงโครงการพัฒนาของอังกฤษในประเทศอาณานิคมแถบแอฟริกา อังกฤษได้ระดมกลุ่มนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคต่างๆ มีจุดมุ่งหมายของโครงการดังกล่าวเพื่อบริหารจัดการประเทศอาณานิคมให้กลายเป็นแหล่งผลผลิตทางเกษตรที่สำคัญของประเทศเจ้าอาณานิคม 

แต่ในปัจจุบันการศึกษาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไทยส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับกรอบคิดทางศาสนา เช่น ในงานของ Tambiah(1976) กล่าวถึงแนวคิดจักรวาลวิทยาแบบพุทธศาสนาที่เชื่อว่ากษัตริย์เป็นศูนย์กลางของมณฑล (mandala) และเป็นจักรพรรดิแห่งสากล (Universal Emperor) หรืองานของ Geertz (2001) อธิบายที่มาของอำนาจของผู้ปกครองในบาหลีช่วงก่อนยุคอาณานิคมนั้นมาจากศาสนาพราหมณ์เรียกรูปแบบรัฐดังกล่าวว่า รัฐนาฎกรรม (theater state) และกลุ่มคนที่มีบทบาทหรือกลุ่มเครือข่ายในการสนับสนุนสถาบันกษัตริย์ คือ นายทหาร(ทักษ์,2548 )และเทคโนแครส (ชนิดา,2554) แต่ในการศึกษาดังกล่าวยังขาดการพิจารณาการสร้างสถาบันกษัตริย์ไทยด้วยวิทยาศาสตร์(Monarchy-making) กล่าวคือ การพิจารณาความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ ผู้ชำนาญการและเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์มีสถานะเป็นผู้กระทำการ (actor) เพื่อหนุนเสริมพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์สมัยใหม่ 

ชนชั้นนำไทยถือเป็นกลุ่มที่เลือกรับหรือผู้รักษาประตู(Gatekeeper) นำวิทยาการต่างๆเข้ามาโดยที่สิ่งที่แรกรับเข้ามาต้องไม่ส่งผลกระทบกับกรอบคิดเดิม คือ พุทธศาสนาถือเป็นเสาหลักวิทยาการใหม่ต้องถูกตีความให้กลืนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยในลักษณะที่วิทยาการดังกล่าวเป็นเรื่องของทางโลก แต่การสอนทางศาสนาเป็นเรื่องทางธรรม ดังเช่นในสถานการณ์ดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกับประเทศญี่ปุ่นเช่นในงานของ Mizuno (2009) ที่กล่าวถึงสังคมญี่ปุ่นที่ช่วงยุคเมจิที่มีการแรกรับวิทยาศาสตร์เข้ามาพัฒนาประเทศ ความเป็นวิทยาศาสตร์แบบญี่ปุ่นได้ประสานแนวคิดแบบจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่และศาสนาแบบขงจื้อจนเป็นที่มาของคำกล่าวที่ว่า “Westerrn science and teachnology and Eastern ethic” (Mizuno, 2009 ,pp 77-78)

ความเป็นวิทยาศาสตร์ต้องต่อรองกับความคิดทางศาสนา ดั่งจะเห็นได้จากนักวิทยาศาสตร์ให้ความสำคัญกับศาสนา ในฐานะความรู้ที่อยู่เหนือกว่าวิทยาศาสตร์ เช่น ศ.ดร.ระวี ภาวิไล(2535)ราชบัณฑิตสาขาดาราศาสตร์ ที่กล่าวถึงพุทธศาสตร์เข้าถึงความจริงได้มากกว่าวิทยาศาสตร์ 

ความสำคัญของพุทธศาสนาที่ควรมีอยู่ควบคู่ภายในวิทยาศาสตร์ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องคาดคะเนว่าในปรากฏการณ์หลากหลายเรียกว่า ธรรมชาติ นั้นน่าจะมีหลักเกณฑ์อย่างไรบ้างที่พอจะยึดถือเป็นแนวทาง สำหรับปฏิบัติการในชีวิตและสังคมได้ด้วยความมั่นใจตามสมควร สมมติฐาน ทฤษฎีและกฎทางวิทยาศาสตร์อันเป็น องค์ประกอบของความรู้ทางวิทยาศาสตร์ย่อมมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับประสบการณ์ใหม่ได้เสมอจึงไม่ใช่สัจธรรมสุดท้าย แต่ก็มีประโยชน์ยิ่งเมื่อนำไปประยุกต์เป็นเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกสบายในการดำรงชีวิตโดยชอบธรรม ข้อจำกัดอีกประการหนึ่งของวิทยาศาสตร์ก็คือได้ละเลยที่จะขยายขอบเขตเข้าไปสู่ด้านนามธรรม คือ เรื่องของจิตใจซึ่งธรรมชาติ เช่น เดียวกับโลกแห่งสสารวัตถุหรือรูปธรรมความรู้ทางวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน ในเรื่องของชีวิตจิตใจจึงนับว่า ผิวเผินไม่เพียงพอที่จะยึดถือเป็น หลักปฏิบัติชี้นำทางชีวิตและสังคมได้พุทธธรรมเป็นระบบความรู้ความเข้าใจแจ้งในสรรพสิ่งอัน เนื่องมาจากความตรัสรู้ของพระสัมมาพุทธเจ้า ท่านผู้บรรลุความรู้เองโดยขอการประกาศความตรัสรู้ของพระตถาคตเป็นการ ประกาศศักยภาพของมนุษย์ที่จะหยั่งสัจธรรมหรือสภาพเป็นจริงของธรรมชาติทั้งหมดทั้งสิ้นโดยตรงไม่ใช่ทางระบบการคาดคะเน เช่นกับวิทยาศาสตร์ (ศ.ดร.ระวี ภาวิไล, 2535, น.3-4)

และเสน่ห์ จามริก กล่าวถึงวิทยาศาสตร์เป็นการล่าอาณานิคมอีกแบบหนึ่งของตะวันตก
 ที่มองวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีวัฒนธรรมอาณานิคมอีกแบบหนึ่งของต่างชาติที่เข้ามาตักตวงผลประโยชน์ของชาติ (เสน่ห์ จาริก, 2532, น.39-47) สิ่งที่เหมาะสมที่สุดในทัศนะของเสน่ห์ คือให้ความสำคัญกับ “วิทยาศาสตร์เชิงพุทธ” หมายถึงการนำพุทธศาสนาเข้ามาเป็นจุดเริ่มต้นของความรู้ที่เชื่อมโยงความเป็นมนุษย์และชีวิตซึ่งแตกต่างจากทฤษฎีความรู้ภายใต้อารยธรรมตะวันตกสมัยใหม่หรือวิทยาศาสตร์ได้ปฏิเสธคุณค่านี้ (เสน่ห์ จาริก, 2532,น.71-72)

เมื่อวิทยาศาสตร์ถูกปรับให้เข้ากับบริบทของสังคมไทยโดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ไทย กล่าวคือ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปยังพื้นที่ห่างไกลและนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ไปแก้ไขปัญหาให้พสกนิกร โครงการของสถาบันกษัตริย์เน้นในเรื่องดิน(แกล้งดิน) น้ำ(ฝนหลวง) ชลประทาน(แก้มลิง) ข้าว(พันธุ์) ส่วนหนึ่งภาพลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์มีความซ้อนทับระหว่างความเป็นกษัตริย์ตามคติความเชื่อแบบโลกตะวันออก คือ พระโพธิสัตว์ แนวคิดเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์ทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายานมีความหมายคล้ายคลึงกัน คือ บุคคลผู้ที่มีความมุ่งมั่นบำเพ็ญบารมีช่วยเหลือประชาชนเพื่อกลายเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตและคติแบบโลกตะวันตกที่ให้ความสำคัญกับความรู้และผู้ชำนาญการด้านวิทยาศาสตร์ในฐานะความหวังใหม่เพื่อสร้างการพัฒนาให้กับประเทศ เช่น ในงานของ Midgley(1993) ที่เห็นว่าความรู้วิทยาศาสตร์เข้ามาทำหน้าที่แทนศาสนาในฐานะผู้มาโปรดคนใหม่(Science as Salvation)

เริ่มต้นจากนักวิทยาศาสตร์ของไทยได้สร้างภาพลักษณ์และอัตชีวประวัติให้กับสถาบันกษัตริย์ผ่านกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่เคยทำงานร่วมกับพระมหากษัตริย์ของไทย อัตชีวประวัติของกษัตริย์ไทยมีความซ้อนทับระหว่างการเล่าเรื่องแบบมหาวีรบุรุษและอัจริยภาพทางวิทยาศาสตร์ กล่าวคือ ลักษณะการเขียนเกี่ยวกับอัตชีวประวัติของสถาบันกษัตริย์มีความเป็นตำนานของมหาวีรบุรุษที่ให้ความสำคัญแก่ชนชั้นนำในฐานะที่กำหนดความเป็นไปของสังคมโดยเฉพาะในด้านวิทยาศาสตร์ที่แสดงถึงอัจริยภาพของกษัตริย์ไทยตั้งแต่วัยเยาว์จนกระทั่งเริ่มต้นโครงการพระราชดำริ ลักษณะการนำเสนอภาพลักษณ์ดังกล่าววางอยู่บนพื้นฐานของหลักธรรมตามพระราชปณิธานและปฏิบัติให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ 

ตัวอย่างการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการสร้างภาพลักษณ์ให้กับสถาบันกษัตริย์ เช่น ในด้านน้ำในปี พ.ศ. 2499 ม.ล.เดช สนิทวงศ์ ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ และ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล สนองพระราชดำริ คิดค้นวิธีการทำฝนเทียม คณาจารย์ทั้งสามท่าน เริ่มต้นศึกษาและนำวิธีการทำฝนในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอิสราเอล มาประยุกต์ใช้กับสภาพอากาศของเมืองไทย ภายใต้การพระราชทานข้อแนะนำจากองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 เรื่องราวผ่านสื่อได้กล่าวการทำฝนเทียมครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ.2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสาธิตการทำฝนหลวงให้คณะทูต คณะผู้บริหารและนักวิทยาศาสตร์จากประเทศสิงคโปร์ได้ชมที่เขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี โดยใช้สนามบินบ่อฝ้ายอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นฐานปฏิบัติการ การสาธิตครั้งนั้นใช้เวลารวมทั้งหมด 5 ชั่วโมง ฝนจึงตกลงมาอย่างแม่นยำในบริเวณอ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน การค้นคว้าเกี่ยวกับการทำฝนหลวงพัฒนาต่อไปจนกระทั่ง พ.ศ.2525 ประเทศไทยได้จดทะเบียนฝนหลวงกับองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกแห่งสหประชาชาติเป็นครั้งแรก และเทคโนโลยีฝนหลวงได้ถูกเผยแพร่สู่ประเทศสมาชิกที่มีกิจกรรมแปรอากาศขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลกจำนวน 28 ประเทศ โดยประเทศไทยได้รับเป็นศูนย์กลางการคิดแปรสภาพอากาศในภูมิภาคเขตร้อนตั้งแต่ พ.ศ.2527 

นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐ์ภาพ “ตำราฝนหลวง” ด้วยคอมพิวเตอร์ เพื่อแสดงขั้นตอนและกรรมวิธีการดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดฝนจากเมฆอุ่นและเมฆเย็น พระราชทานแก่นักวิชาการฝนหลวงเพื่อถือปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2542 ตำราดังกล่าวเป็นขั้นตอนทำฝนเทียมที่ผสานความเป็นวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เข้ากับประเพณีการขอฝนแบบโบราณ เช่น เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ของสำนักงานอย่างมณีเมฆขลา เป็นส่วนหนึ่งของสำนักงานฝนหลวงเป็นหัวหน้าสำนักงานอุตุนิยมวิทยา แห่งเขาไกรลาสหรือเขาพระสุเมรุ “พระอินทร์ทรงเกวียน”พระอินทร์เป็นพระสักกะเทวราช เป็นราชาของเทวดาที่ลงมาช่วยทำฝน และ พิธีแห่นางแมว

งานในด้านดิน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับโครงการแกล้งดินอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2535 เริ่มดำเนินการทดลองภายในโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง จังหวัดนราธิวาส พระราชดำริโครงการดังกล่าวเพื่อแก้ไขดินเปรี้ยวจัดจนทำการเพาะปลูกไม่ได้ เนื่องจากมีกรดกำมะถันอยู่เป็นจำนวนมาก การแก้ไขดินเปรี้ยวตามแนวพระราชดำริด้วย การแกล้งดิน คือ การทำดินให้แห้งและเปียกสลับกันเพื่อเร่งปฏิกิริยา ทางเคมีของดินให้มีความเป็นกรดจัดมากขึ้นจนถึงขั้นสุด จากนั้นนักวิทยาศาสตร์ของโครงการจะทดลองปรับปรุงดินเปรี้ยวโดยวิธีต่างๆ การแกล้งดินตามแนวพระราชดำริ ทำให้พื้นดินที่เปล่าประโยชน์และไม่สามารถเพาะปลูกได้กลับฟื้นคืนสภาพและเพาะปลูกได้อีกครั้งหนึ่ง

งานในด้านพันธุ์ข้าว ส่วนหนึ่งพระมหากษัตริย์ของไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีส่วนร่วมในการทำนาเสี่ยงทาย คือ พิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ พิธีกรรมดังกล่าวได้รับการฟื้นฟูขึ้นในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรีและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรัชกาลที่ 9 เห็นถึงความสำคัญของการวิจัยและพัฒนาด้านการปลูกข้าว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มีการทดลองผลิตข้าวในพื้นที่โครงการหลวง โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และศูนย์ศึกษาการพัฒนาต่างๆทั่วประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ.2522 เป็นต้นมา เช่นที่ทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2531 ความว่า “ศูนย์ศึกษาการพัฒนานั้นแม้จะมีการปลูกข้าว ก็อาจมีการปลูกข้าวในลักษณะต่างๆกัน หรือดูว่าในภูมิประเทศอย่างนี้เราจะปลูกอย่างไร อาจจะไม่ถูกหลักวิชาการก็ได้ แต่ว่าชาวบ้านเขาทำอย่างนั้นเราก็ทดลองบ้าง หรือว่าถ้าปลูกข้าวไม่เกิดประโยชน์ก็ลองแก้ไขใช้วิธีอื่นบ้างจะเป็นชลประทานก็ได้หรือด้านพัฒนาที่ดินหรือด้านวิชาการเกษตรนำมาประยุกต์เพื่อที่จะให้ได้ผลมากขึ้น”(ชัชชัย ภูวิชยสัมฤทธิ์, 2552,น.127) โครงการดังล่าวได้รับความช่วยเหลือจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กรมการข้าวและมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์พัฒนาพันธุ์ข้าว 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงปรับเปลี่ยนประเพณีโบราณในส่วนของพระราชตำหนักส่วนพระองค์อย่างเช่น พระตำหนักจิตรลดารโหฐานถูกสร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 6 ที่ตั้งชื่อพระตำหนักตามชื่อสวนแห่งหนึ่งของพระอินทร์ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ที่เป็นดั่งตัวแทนที่พำนักสมมติเทพ ให้กลายเป็นสถานีทดลองโครงการส่วนพระองค์ด้านการเกษตร กล่าวคือ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2456 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ บริเวณทุ่งส้มป่อย ซึ่งเป็นทุ่งนาระหว่างพระราชวังสวนดุสิตกับวังพญาไท (ปัจจุบันคือโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า) โดยโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เสนาบดีกระทรวงนครบาลจัดสร้างพระตำหนักขึ้น โดยมีพระยาวิศุกรรมศิลปประสิทธิ์ (น้อย ศิลปี) เป็นผู้ควบคุมและดำเนินการก่อสร้าง เพื่อทรงใช้เป็นที่รโหฐานสำหรับทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ รวมทั้งราชเสวกจะได้มีโอกาสเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นการส่วนพระองค์ โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามทุ่งส้มป่อยว่า สวนจิตรลดา พระราชทานนามพระตำหนักว่า "พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน" บริเวณรอบพระตำหนักมีการขุดคูและทำกำแพงรั้วเหล็กโดยรอบ มีประตู 4 ทิศ พระราชทานชื่อประตูตามสวนจิตรลดาของพระอินทร์และท้าวโลกบาล คือ ด้านทิศตะวันออก ชื่อประตู “พระอินทร์อยู่ชม” ด้านทิศใต้ ชื่อประตู “พระยมอยู่คุ้น” ด้านทิศตะวันตก ชื่อประตู “พระวรุณอยู่เจน” และด้านทิศเหนือ ชื่อประตู “พระกุเวนอยู่เฝ้า” ในปัจจุบันเป็นทางเข้าออกได้เพียง 3 ทิศ เว้นทิศตะวันออก มีสะพาน 2 สะพาน มีประตูน้ำ 2 ประตู และมีซุ้มทหารยาม 30 ซุ้ม ความสำคัญของประตู “พระวรุณอยู่เจน” เป็นประตูสำหรับเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ( สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ.(2551)) กลายมาเป็นโครงการส่วนพระองค์ด้านวิทยาศาสตร์ในสวนจิตรลดา เช่น โครงการแบบไม่ใช่ธุรกิจ เป็นโครงการตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการต่างๆ พัฒนาด้านการเกษตรควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพทยากรธรรมชาติ อาทิเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการต่างๆ พัฒนาด้านการเกษตรควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพทยากรธรรมชาติ อาทิ ป่าสาธิต โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังเก็บเมล็ดไม้ยางนาจากป่าสองข้าง ถนนเพชรเกษม จังหวัดเพชรบุรี โดยเก็บในเดือนเมษายน พ.ศ. 2504 แล้วนำมาเพาะเลี้ยงไว้ใต้ร่มต้นแคบ้าน ในแปลงเพาะชำบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน รดน้ำให้ชุ่มอยู่เสมอ เมื่อเมล็ดงอกแล้วได้ย้ายลงปลูกในกระถางดิน และย้ายไปปลูกในแปลงทดลอง นาข้าวทดลอง นาข้าวทดลอง โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดาให้กรมการข้าวทดลองนำข้าวสายพันธุ์ต่างๆ จากทั่วประเทศมาทดลองปลูกในนาข้าวทดลอง ทั้งแบบนาดำและนาหว่าน โดยในปีแรก วันที่16 มกราคม 2504 พระองค์ทรงขับรถไถแบบสี่ล้อคันแรกของประเทศไทย เพื่อเตรียมแปลงปลูกข้าว ทรงหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว(พันธุ์นางมล) และทรงเกี่ยวข้าวด้วยตัวพระองค์เอง ส่วนหนึ่งนำไปใช้ในพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และส่วนหนึ่งนำไปแจกจ่ายให้กับเกษตรกร หรือผู้ที่ต้องทอดลองปลูก 

นอกจากนี้รัชกาลที่ 9 เปลี่ยนพระตำหนักตามหัวเมืองต่างๆ ที่แสดงถึงขอบขัณฑสีมาของพระราอำนาจ ให้กลายเป็นสถานีวิจัย ศูนย์ศึกษาและโรงงานแปรรูปผลผลิต เช่นที่ทรงพระราชดำรัสว่า “แล้วก็เลยถามผู้ที่ให้ที่นั้นนะ ถ้าหากไม่สร้างพระตำหนักแต่ว่าสร้างเป็นสถานที่ที่จะศึกษาเกี่ยวกับการเกษตรจะเอาไหม เขาก็บอกยินดี ก็เลยเริ่มทำในที่นั้น” (ชัชชัย ภูวิชยสัมฤทธิ์, 2552,น.184) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งศูนย์ศึกษาการ พัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ.2526 ความตอนหนึ่งว่า“ เป็นสาธิตการ พัฒนาเบ็ดเสร็จ หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกด้านของชีวิตประชาชนที่จะเลี้ยงชีพในท้องถิ่นที่จะทำอย่างไร และได้เห็นวิทยาการแผนใหม่สามารถที่จะหาดูวิธีจะทำมาหากินให้มีประสิทธิภาพ เช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา ดินจืดและกลายเป็นทราย ในฤดูแล้งจะมีการชะล้างเนื่องจากลมพัด ในฤดูฝนจะมีการชะล้างเนื่องจากน้ำเซาะ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส เนื่องจากเป็นสภาพป่าพรุเก่า ดินประกอบด้วยพืชที่ทับถมลงมาเป็นเวลานานผสมกับน้ำทะเล มีผลทำให้ดินที่มีแร่กำมะถัน เมื่อสัมผัสกับอากาศก็กลายเป็นออกไซด์ และเมื่อผสมกับน้ำก็กลายเป็นกรดกำมะถัน (Sulfuric Acid) ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี เกิดปัญหาดินเค็มเพราะน้ำทะเลขึ้นถึง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร ต้นเหตุจากการตัดไม้ทำลายป่า ทำให้ขาดน้ำในหน้าแล้ง ส่วนฤดูฝนน้ำไหลแรงจึงชะล้างหน้าดิน ดินผิวบางลงและเกิดเกลือในดิน

ในด้านหนึ่งจุดประสงค์ของศูนย์เป็นสถานที่สำหรับค้นคว้าวิจัยในท้องที่เพราะว่าแต่ละท้องที่มีสภาพฟ้า อากาศและประชาชนในท้องที่ต่างๆ กันก็มีลักษณะแตกต่างกันมากเหมือนกัน กรมกองต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประชาชนทุกด้านได้แลกเปลี่ยน” (มูลนิธิบัณฑิตยสภาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย, 2550, น.35-37) แน่นอนว่าพื้นที่ตั้งศูนย์การพัฒนาดังกล่าวสัมพันธ์กับบริบทของเวลาโดยเฉพาะในช่วงประมาณปี พ.ศ.2520 เกี่ยวข้องกับภัยความมั่นคง 

ในกลุ่มชนชั้นนำไทยเปรียบเทียบในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นดั่งพระมหาชนกดังเช่นการ อภิปายหัวข้อทฤษฎีพระมหาชนกกับการสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่เข้มแข็ง(2541) ในทัศนะของอานันท์ ปันยารชุน เกี่ยวกับพระมหาชนกกล่าวว่า “ทุกครั้งที่ผมอ่าน ผมไม่ได้มองเห็นพระมหาชนกองค์เดียว แต่ผมมองเห็นผู้พระราชนิพนธ์ฉบับนี้ ซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่ทรงรักมาก เพราะเป็นการจำลองชีวิตของพระองค์ท่าน ผมอ่านพระราชนิพนธ์ฉบับนี้แล้ว ผมเห็นพระราชกรณียกิจของพระองค์ท่าน” (ปริญญวัฒน์ วัชรอาภากร, 2549, น.29 ) ในงานเดียวกัน นายแพทย์ประเวศ วะสี แสดงทัศนะไปในแนวทางเดียวกันกับนายอานันท์โดยเชื่อมโยง พระมหาชนกกับเหตุกาณ์ในปัจจุบัน 

พระมหาชนกในที่นี้ก็คือ พระเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 9) ซึ่งเป็นพระมหาชนกของปวงชนชาวไทย ผมคิดว่าในยามที่เราวิกฤตอย่างนี้ทั้งในประเทศและในโลก เราน่าจะฟังคนๆหนึ่งที่ใช้เวลาครึ่งศตวรรษสัมผัสอยู่กับความเป็นจริงของประชาชน การเมือง ธรรมะ สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีโดยรอบด้านยิ่งกว่าคนอื่นๆ และพยายามมีพระราชอุตสาหะเพื่อเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตของประชาชน (ปริญญวัฒน์ วัชรอาภากร, 2549, น.28 )

อานันท์ ปันยารชุนและศาสตราจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก วิเคราะห์คำศัพท์ “มหาชนก” เพื่อเปรียบเทียบกับในหลวงรัชกาลที่ 9 “ถ้าพูดถึงเรื่องพระมหาชนกนั้น คำว่า ชนก นั้นแปลว่า พ่อ ที่ผมเข้าใจว่าในสมัยหนึ่งนั้น เวลาเราพูดถึงพระเจ้าแผ่นดินของเราอย่างพ่อขุนรามคำแหง และในประวัติศาสตร์ของไทยนั้น คำว่า พ่อหรือพระเจ้าแผ่นดินนั้นก็คงจะใช้ความหมายเดียวกันได้ ไปอ่านบทความที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ท่านเคยเขียนไว้และพูดอยู่ตอนหนึ่งว่ารากภาษาของไทย คือ บาลี สันสกฤต อันก็ใกล้เคียงกับรากภาษายุโรปคำว่า ชนก ซึ่งแปลว่า พ่อ แต่คำภาษาอังกฤษ คือ คำว่า King ภาษาเยรมัน Konig ซึ่งสำเนียงอาจจะคล้ายคลึงกันว่ามาจากรากฐานคำๆเดียวกัน” เช่นเดียวกับเสฐียรพงษ์ วรรณปก ได้อธิบายความหมายของคำว่า “มหาชนก” แปลว่า พ่อหลวง หรือพ่อผู้ยิ่งใหญ่ พ่อหลวงทรงมีพระราชภารกิจอันยิ่งใหญ่ คือ พัฒนาคุณภาพประชากร พัฒนาคนในประเทศของพระองค์ให้มีปัญญา รู้จักเสียสละเพื่อส่วนร่วม(ปริญญวัฒน์ วัชรอาภากร, 2549, น.21-22)

นอกจากนี้ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร หรืออ.ยักษ์ อดีตผู้อำนวยการกองประเมินผลงาน สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำนักนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียงและประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวถึง การฟื้นฟูต้นมะม่วงในพระมหาชนก หมายถึง การฟื้นฟูสังคม อ.ยักษ์เปรียบเทียบต้นมะม่วงในพระมหาชนก คือ สังคมไทยที่กำลังถูกทำลายและต้นมะม่วงจะกลับมามีชีวิตใหม่ได้ไม่เกิดขึ้นจากวิทยาการสมัยใหม่ แต่เป็นหน้าที่ทุกๆ คนในสังคม การฟื้นฟูต้นมะม่วงแต่ละวิธีมีนัยยะทางสังคม เช่น การทำชีวาณูสงเคราะห์ หมายถึง การเพาะเนื้อเยื่อและนำเอาเซลล์เนื้อเยื่อของต้นไม้ออกมาเพาะใหม่ซึ่งวิธีการนี้เราจะได้กล้าใหม่ในปริมาณทีละมากๆ อ.ยักษ์ตีความการทำชีวาณูสงเคราะห์ในทางสังคม หมายถึง การเปลี่ยนแปลง การสร้างใหม่ ที่สามารถก่อผลสะเทือนได้ทีละมากๆ หมายถึงการใช้ “สื่อสารมวลชน” เพื่อเปลี่ยนจิตสำนึกในระดับดีเอ็นเอ เสมือนการนำสมาชิกรุ่นเยาว์แต่ละคนมาอบรมบ่มเพาะให้การศึกษา ใส่ปัญญา ใส่ความรู้ คุณธรรมตั้งแต่เยาว์วัย ให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่รู้ผิดชอบชั่วดี สามารถยืนหยัดท่ามกลางกระแสมิจฉาทิฐิได้อย่างมั่นคง (วิวัฒน์ ศัลยกำธร, 2552)

 

หนังสือและบทความในหนังสือ

ชนิดา ชิตบัณฑิตย์. (2554). โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ: การสถาปนาพระราชอำนาจนำในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
ชัชชัย ภูวิชยสัมฤทธิ์. (2555). ผลสำเร็จโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ: 84 พรรษา ประโยชน์สุขสู่ปวงประชา. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ.
ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. (2009). การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ. กรุงเทพ: โครงการตำรา
สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
พระเทพเวที(ประยุทธ์ ปยตโต). (2535). พุทธศาสนาในฐานะเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์. กรุงเทพฯ: มูลนิธิพุทธธรรม.
ภูมิพลอดุลยเดช, พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว. (2539). พระมหาชนก. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้ง
แอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด.
เสน่ห์ จามริก. (2532). การแสดงปาฐกถาพิเศษ "ป๋วย อึ๊งภากรณ์" ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์. (2550). พระมหากษัตริย์
นักวิทยาศาสตร์ นักเทคโนโลยี และนักนวัตกรรม.
กรุงเทพฯ: สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย.

บทความวารสาร

รื่นฤทัย สัจจพันธุ์. (2550). พระชนก: คำสอนจากพ่อ. วารสารภาษาและหนังสือ. 38(1), 75-80.

วิทยานิพนธ์

ปริญญวัฒน์ วัชรอาภากร. (2549). พระมหาชนก: การพัฒนาประเทศในกระบวนทัศน์โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต).จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. บัณฑิตวิทยาลัย, สาขาการปกครอง 

สื่ออิเล็กทรอนิกส์
สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ.
(2551). ประวัติความเป็นมาพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน. สืบค้นจาก http://www.rspg.or.th/plants_data/palace/chitralada/cld2.htm
วิวัฒน์ ศัลยกำธร. (2552). พระมหาชนก. สืบค้นจาก http://www.agrinature.or.th/article/529

Book and Book Articles

Callon, M. (1991). Techno-economic networks and irreversibility’, In J. Law (ed.), A Sociology of Monsters: essays on power, technology and domination. London: Routledge.
Geertz, Clifford. (2001). Negara: The Theatre State in Nineteenth Century Bali. Princeton: Princeton University Press.
Hodge, Joseph Morgan. (2007). Triumph of the expert: Agrarian doctrines of development and the legacies of British colonialism. Athens: Ohio University Press.
Mizuno, Hiromi.(2009). Science for the empire: scientific nationalism in modern Japan. Stanford: Stanford University Press.
Tambiah, Stanley. (1976). World Conqueror and World Renouncer: A Study of Buddhism and Polity in Thailand against a Historical Background. Cambridge: Cambridge University Press.
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net