Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในตอนที่ 4 นี้ จะชวนพิจารณาเกี่ยวกับความหมายของพระพุทธรูปในแง่ที่สัมพันธ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์ คือพระพุทธรูปประจำพระชนมวารของพระมหากษัตริย์ และเรื่องการบูชาพระประจำวันเกิดของคนทั่วไป กรณีพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร คำถามที่จะชวนให้พิจารณาคือ เหตุใด พระมหากษัตริย์ไทยจึงนิยมสร้างพระพุทธรูปแทนพระองค์หรือพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร ส่วนกรณีพระพุทธรูประจำวันเกิดนั้น มีการกำหนดปางต่างๆ ขึ้นเพื่อให้ผู้เกิดวันต่างๆ ได้สักการะบูชา ดังที่เราจะพบเห็นได้ทั่วไปในวัดวาอารามต่างๆ คำถามที่ผู้เขียนสนใจอยู่ที่ว่าอะไรคือเป้าหมายของการกำหนดให้มีพระพุทธรูประจำวันเกิด และผู้กำหนดปางประจำวันเกิดใช้หลักการอะไรในการกำหนดว่าพระพุทธรูปปางนั้นควรจะเป็นพระประจำวันของผู้เกิดวันนี้วันนั้น 

พระชัยวัฒน์ รัชกาลที่ 1
เครดิตภาพ:
 https://i.pinimg.com/originals/
5c/35/f2/5c35f2c2604de4f4da7f54882e0554d5.jpg

พระพุทธรูปแทนองค์พระมหากษัตริย์

ในสังคมไทย ยังมีคติการสร้างพระพุทธรูปแทนบุคคลสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คติการสร้างพระพุทธรูปแทนองค์พระมหากษัตริย์ คติการสร้างรูปแทนบุคคลเท่าที่ปรากฏหลักฐานในประวัติศาสตร์มี 2 ลักษณะคือ การสร้างรูปเคารพเป็นเทพเจ้าในศาสนาฮินดูกับการสร้างรูปเคารพเป็นพระพุทธเจ้าในพุทธศาสนาเถรวาทและมหายาน คตินิยมนี้เกิดขึ้นในวัฒนธรรมเขมรมาก่อนและส่งอิทธิพลต่อราชอาณาจักรสยามตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา ดังเช่น หลักฐานเอกสารบางอย่างบ่งชี้ว่ารูปแทนบุคคลที่สร้างแทนพระนเรศวรเป็นเทวรูป ขณะที่รูปเคารพแทนบุคคลที่สร้างแทนพระเจ้าเอกทัศน์เป็นพระพุทธรูป[1] 

กล่าวเฉพาะรูปสมมติแทนบุคคลในสมัยรัตนโกสินทร์อันเป็นหลักฐานการสร้างรูปเคารพแทนบุคคลกลุ่มแรกในประวัติศาสตร์ไทยนั้น ล้วนสร้างเป็นพระพุทธรูปทั้งสิ้น ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มด้วยกันคือ พระพุทธรูปทรงเครื่องฉลองพระองค์ กับพระพุทธรูปแสดงปางต่างๆ ไม่ทรงเครื่อง ภาณิน เกษตรทัต อธิบายคตินิยมดังกล่าวนี้ไว้ว่า พระพุทธรูปทรงเครื่องฉลองพระองค์ นอกจากแสดงถึงคติที่ว่าพระมหากษัตริย์เปรียบเหมือนพระพุทธเจ้าแล้ว ยังแสดงให้เห็นอีกนัยหนึ่งว่ากษัตริย์มีฐานะเป็นจักรพรรดิราช คือผู้เป็นใหญ่ที่สุดในจักรวาล ส่วนพระพุทธรูปแทนบุคคลที่ไม่ได้ทรงเครื่องนั้นสร้างเป็นตัวแทนของอดีตกษัตริย์ แสดงแนวคิดเรื่องการบูชาบรรพบุรุษในรูปของพระพุทธเจ้า เหตุที่รูปแทนบุคคลในสมัยรัตนโกสินทร์สร้างเป็นพระพุทธรูปนั้นน่าจะสืบเนื่องมาจากสมัยดังกล่าวนี้พุทธศาสนามีความสำคัญและได้รับยกย่องเหนือศาสนาอื่นๆ กษัตริย์จึงทรงเลือกที่จะสร้างประติมากรรมแทนบุคคลเป็นพระพุทธรูปแทนเทวรูป[2] ตามคำอธิบายนี้ การสร้างพระพุทธรูปแทนองค์พระมหากษัตริย์ของสยามเกิดขึ้นโดยคติความคิดทางการเมือง เพื่อสร้างเสริมหรือประกาศสถานภาพของพระมหากษัตริย์ท่ามกลางสังคมพุทธศาสนา หรือในอีกแง่มุมหนึ่งคือการใช้พุทธศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมืองการปกครอง การแทนองค์พระมหากษัตริย์ในอดีตด้วยพระพุทธรูปน่าจะมีนัยแสดงคติที่ยกพระมหากษัตริย์เทียบเท่ากับพระพุทธเจ้าหรือเป็นพระพุทธเจ้านั่นเอง

พระพุทธรูปองค์สำคัญที่พระมหากษัตริย์ทรงโปรดให้สร้างขึ้น แต่เดิมนั้นเรียกว่า พระไชย หรือพระชัย ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 มีการเติมคำว่า วัฒน์ เป็นพระชัยวัฒน์ ส.พลายน้อย ผู้เขียน “ตำนานพระชัยวัฒน์” เขียนไว้ว่า ต้นเหตุเดิมที่สร้างพระพุทธรูปที่มีนามว่าพระชัยขึ้นนั้นไม่สามารถตรวจสอบกันได้ แต่เป็นที่รับรู้กันว่า ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้ทรงสร้าง “พระชยพุทธมหานาถ” 23 องค์เพื่อพระราชทานไปยังเมืองต่างๆ เช่น เมืองลโวทยปุระ (ละโว้) สุวรรณปุระ (สุพรรณบุรี) ชยราชปุรี (ราชบุรี) ศรีชยสิงหบุรี (เมืองสิงห์) ฯลฯ ดังที่ปรากฏในศิลาจารึกภาษาสันสกฤตที่ปราสาทพระขรรค์ว่า “ในวิหารแต่ละแห่งท้ง 23 วิหารเหล่านี้ พระราชาทรงสร้างพระชยพุทธมหานาถที่ทำให้เกิดความสุขขึ้น” แต่ ส.พลายน้อยไม่กล้าลงความเห็นว่า พระชยพุทธมหานาถ จะเกี่ยวข้องกับพระชัยของไทยหรือไม่ [3] น่าสังเกตว่า พระชยพุทธมหานาถ นั้นเป็นคำเรียกพระพุทธรูปที่มีพยางค์พ้องกับชื่อกษัตริย์ชัยวรมันที่ 7 ตรงที่มีคำว่า ชย เมื่ออ่านชื่อทั้งหมดและแปลความหมายออกมา ในแง่หนึ่งเราอาจแปลได้ว่า พระชยพุทธะผู้ทรงเป็นที่พึ่งอันยิ่งใหญ่ (มหานาถ) คำว่า ชยพุทธ อาจแปลว่าพระพุทธเจ้าผู้ทรงมีชัย หรือพระพุทธเจ้าพระนามว่า ชย ก็ได้ ข้อนี้กระมังที่ทำให้นักศึกษาประวัติศาสตร์ลงความเห็นว่า พระมหากษัตริย์คือพระชัยวรมัน ต้องการแสดงพระองค์ให้มีสถานะเทียบเท่ากับพระพุทธเจ้า ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็นแบบอย่างที่ปฏิบัติกันต่อมาในสยามนับแต่สมัยอยุธยาเป็นต้นมาจนถึงสมัยปัจจุบัน

พระชัยเป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะพิเศษกว่าพระพุทธรูปธรรมดาทั่วไปตรงที่พระหัตถ์ซ้ายจะทำให้อยู่ในลักษณะถือด้ามพัด (ตาลปัตร) และเป็นแบบนั่งขัดสมาธิเพชร เท่าที่พบเรื่องราวประมาณว่าจะเกิดมีขึ้นมาในสมัยอยุธยาเป็นอย่างต่ำ แต่จะเป็นพระพุทธรูปขนาดใดบ้างเป็นเรื่องไม่แน่ชัด ส.พลายน้อยกล่าวว่าเท่าที่พบหลักฐาน เข้าใจว่าจะเป็นพระพุทธรูปขนาดย่อม พอที่จะเคลื่อนย้ายไปในพิธีต่างๆ ได้สะดวก เช่นในพิธีถือน้ำพระพิพัฒสัตยา พระราชพิธีโสกันต์ พระราชพิธีเฉลิมพระชนพรรษา และในการเสด็จสงคราม และประพาศหัวเมือง [4] สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงมีพระมติว่า ที่เรียกว่าพระชัยนั้นน่าจะมาจากพระมารวิชัยนั่นเอง เพียงแต่ทำพระหัตถ์ซ้ายเป็นอาการทรงสมาธิให้ตะแคงเป็นถือตาลปัตร ตาลปัตรนั้นก็เป็นยศด้วยถ้าเป็นพระหลวงแล้วถือพัดแฉก ทรงสันนิษฐานว่าที่พระชยถือตาลปัตรนั้นก็เพื่อบังอาวุธ อย่างไรก็ตาม พระองค์ทรงรับว่าข้อนี้เป็นเพียงการสันนิษฐานส่วนพระองค์ [5] เกี่ยวกับชื่อพระนี้ ส.พลายน้อย สรุปว่า พระชัย นี้หมายถึง พระชัยชนะอย่างแน่นอน เพราะจุดมุ่งหมายเดิมเพื่อประโยชน์ในการเชิญไปในกองทัพ และที่สร้างรูปพระปางมารวิชัยนั้นก็มีความหมายว่าปราบมารได้ชัยชนะนั่นเอง แต่เมื่อนำไปใช้ในสงคราม คำว่า พระชัย ในที่นี้มุ่งหมายถึง ชัยชนะในสงคราม มิใช่ชนะมารอันเป็นความหมายเดิมของพระพุทธรูปางนั้นเท่านั้น [6] 

จากหนังสือ “ตำนานพระชัยวัฒน์และพระแก้วประจำรัชกาล” ของส.พลายน้อย เราได้เห็นจารีตอันต่อเนื่องกันมาของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยสมัยรัตนโกสินทร์คือ ทรงโปรดให้สร้างพระชัยขึ้นเพื่อใช้ในกิจการต่างๆ และใช้เป็นพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร พระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์ก็จะทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับแบบที่จะทรงสร้างในลักษณะแตกต่างกันไปบางเล็กน้อยโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับขนาดของพระพุทธรูป จำนวน และยันต์ที่จารึกไว้บนฐานของพระที่ทรงโปรดให้หล่อขึ้น เช่น พระชัยในสมัยรัชกาลที่ 4 มีขนาดเล็กลงกว่าพระชัยในสมัยรัชกาลที่ 3 เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงกะขนาดเอาหน้าตัก 5 นิ้ว เพราะวันประสูติเป็นวันพฤหัสบดี คือวันที่ 5 [7] ในปี พ.ศ.25436 สมัยรัชกาลที่ 5 มีการหล่อพระไชยเนาวโลหะองค์ใหญ่ 1 องค์ องค์เล็ก 1 องค์ พระชัยวัฒน์องค์เล็ก 25 องค์และพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา 1 องค์[8] พิธีหล่อพระพุทธรูปที่ทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินการนี้เป็นพิธีที่พระมหากษัตริย์ไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ทรงนิยมสืบทอดต่อกันมา ยกเว้นสมัยรัชกาลที่ 8 ซึ่งทรงขึ้นครองราชย์ในระยะเวลาอันสั้น ส่วนในสมัยรัชกาลที่ 9 นั้น ทรงมีพระราชดำริให้หล่อพระพุทธรูปประจำพระองค์ขึ้นหลายครั้ง พระพุทธรูปองค์สำคัญ เช่น พระพุทธนวราชบพิตรที่ทรงพระดำริให้สร้างขึ้นประดิษฐานในจังหวัดต่างๆ ทั่วราชอาณาจักร เมื่อ พ.ศ.2509 พระพุทธรูป ภ.ป.ร. สำหรับเป็นที่ระลึกกฐินต้น วัดเทวสังฆาราม จังหวัดกาญจนบุรี อันเป็นวัดที่สมเด็จพระสังฆราชเจ้า พระญาณสังวร เคยประทับขณะเป็นสามเณร

พระพุทธนวราชบพิตร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้ากว้าง 23 ซม. สูง 40 ซม. ที่ฐานบัวหงายของพระพุทธนวราชบพิตรนั้นได้บรรจุพระพุทธรูปพิมพ์ไว้ 1 องค์ คือ สมเด็จพระจิตรลดา ซึ่งพระพุทธรูปองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ทรงสร้างขึ้นด้วยพระหัตถ์ ประกอบด้วยผงศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ทั้งในส่วนพระองค์และจากจังหวัดต่างๆ ทุกจังหวัด ผงศักดิ์สิทธิ์ที่ประกอบขึ้นเป็นสมเด็จพระจิตรลดานั้น ได้แก่ (1) ดอกไม้แห้งจากพวงมาลัยที่ประชาชนได้ทูลเกล้าฯ ถวายในการเสด็จพระราชดำเนินเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธปฏิมากร (พระแก้วมรกต) (2) เส้นพระเจ้า (เส้นพระเกศา) ซึ่งพนักงานรวบรวมไว้หลังจากทรงเครื่องใหญ่ (ตัดผม) ทุกครั้ง (3) ดอกไม้แห้งจากมาลัยที่แขวนพระมหาเศวตฉัตร และด้านพระขรรค์ชัยศรีในพระราชพิธีฉัตรมงคล (4) สีซึ่งขูดจากเรือใบพระที่นั่ง ขณะทรงแต่งเรือพระที่นั่ง [9] 

พระพุทธนวราชบพิตรนี้นอกจากจะสร้างขึ้นเพื่อเป็นนิมิตรหมายแห่งคุณพระรัตนตรัยอันเป็นที่เคารพของพุทธศาสนิกชนทั่วไปแล้ว ยังต้องการให้พระพุทธรูปพระองค์นี้เป็นนิมิตหมายแห่งความผูกพันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระมหากษัตริย์และพสกนิกรของพระองค์ทั่วราชอาณาจักร โดยให้ประดิษฐานพระพุทธรูปนั้นไว้ ณ ที่อันควรในศาลากลางจังหวัด เป็นการ “พระราชทานความเป็นมิ่งขวัญและสิริมงคล” สร้างความอบอุ่นและแสดงความผูกพันของพระองค์ที่มีต่อพสกนิกร ดังพระกระแสรับสั่งของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถตรัสเมื่อครั้งเสด็จแทนพระองค์พระราชทานพระพุทธนวราชบพิตร ประจำกรุงเทพมหานาคร วันที่ 20 ตุลาคม 2525 ตอนหนึ่งว่า “ทั้งเป็นนิมิตหมายแห่งความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศไทยของคนไทยทั้งชาติจึงได้บรรจุพระพิมพ์ที่ทรงทำขึ้นด้วยผงอันศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าวไว้ให้เป็นพระพุทธรูปสำคัญ ทรงตั้งพระราชหฤทัยปิดทอง และทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมก่อนที่จะพระราชทานโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญโดยกระบวนพหยุหยาตราชลมารคพระราชทาน. . .” [10]

เมื่อพิจารณาจากประวัติการสร้างพระพุทธนวราชบพิตร เราได้เห็นแง่มุมสำคัญเกี่ยวกับพระพุทธรูปเมื่อพิจารณาในบริบทที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย พระพุทธรูปที่สร้างขึ้นนั้นเป็นพระพุทธปฏิมาที่ใช้สื่อถึงองค์พระมหากษัตริย์ กรณีการบรรจุ “สมเด็จพระจิตรลดา” ไว้ในฐานพระพุทธนวราชบพิตรที่ทรงพระราชทานเป็นพระพุทธรูปประจำจังหวัดต่างๆ นั้นเป็นกรณีที่มีนัยสำคัญมาก เพราะพระพุทธรูปพระพิมพ์ปางนั่งสมาธิราบที่บรรจุไว้ในพระพุทธรูปองค์ใหญ่นั้นเป็นหล่อหรือประกอบขึ้นจากสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับพระสรีระกาย (เส้นพระเจ้า) หยาดพระเสโท (สีที่ทรงขูดจากเรือพระที่นั่งขณะทรงซ่อมเรือ) และแรงงานของพระมหากษัตริย์ (ทรงลงมือกระทำด้วยพระองค์เอง) พระพุทธนวราชบิตรจึงเป็นพระพุทธรูปที่ทรงโปรดให้หล่อขึ้นโดยตั้งพระราชหฤทัยให้เป็นพระพุทธรูปแทนขององค์ ดังที่พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในการพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตร ประจำจังหวัดทั่วราชอาณาจักร ดังต่อไปนี้

“ข้าพเจ้ามาเยี่ยมท่านคราวนี้ได้นำพระพุทธนวราชบพิตรมามอบให้ท่านด้วย พระพุทธนวราชบพิตรองค์นี้ ข้าพเจ้าสร้างขึ้นเพื่อมอบให้เป็นพระพุทธรูปประจำจังหวัด ที่บัวฐาน ข้าพเจ้าบรรจุพระพิมพ์ (พระสมเด็จจิตรลดา) ไว้องค์หนึ่ง เป็นพระ (พระสมเด็จจิตรลดา) ที่ทำขึ้นด้วยผงศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งข้าพเจ้าได้มาจากทุกจังหวัดทั่วราชอาณาจักรมีผงจากองค์พระธาตุศรีสองรัก จังหวัดเลยนี้รวมอยู่ด้วย ข้าพเจ้าถือว่าพระพุทธนวราชบพิตร เป็นที่ตั้งแห่งคุณพระรัตนตรัยอันเป็นที่เคารพสูงสุดและเป็นที่หมายของความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของประเทศไทย และคนไทยทั้งชาติจึงได้บรรจุพระพิมพ์ (พระสมเด็จจิตรลดา) ที่ทำด้วยผงศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าว ให้เป็นพระพุทธรูปสำคัญ และนำมามอบให้ท่านด้วยตนเอง ท่านทั้งหลายจงรับพระพุทธนวราชบพิตรนี้ไว้ เพื่อเป็นสิริมงคลสำหรับจังหวัดและสำหรับตัว เป็นที่ยึดเหนี่ยวของจิตใจ ในการที่จะสมานสามัคคี ร่วมแรงร่วมใจกันประกอบความดี และขอให้ระลึกไว้เสมอเป็นนิตย์ด้วยว่า ในการกระทำการงานทั้งปวงนั้น ทุกคนต้องมีความตั้งใจจริงและขยันหมั่นเพียร ประกอบด้วยความอะลุ้มอล่วย ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน เมตตามุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน ยึดมั่นในความซื่อสัตย์สุจริต และความสามัคคี ถือเอาประโยชน์ร่วมกัน เป็นจุดประสงค์สำคัญ งานของท่านจึงจะสำเร็จผลได้โดยสมบูรณ์และจะช่วยให้ท่านสามารถรวมกำลังกัน รักษาความเป็นปึกแผ่นมั่นคงของจังหวัดของท่าน พร้อมกับพัฒนาให้เจริญรุดหน้าต่อไปในทุกๆ ทางได้ ขออานุภาพแห่งพระรัตนตรัย พระธาตุศรีสองรัก และพระพุทธนวราชบพิตร จงปกปักรักษาท่านทั้งปวง ให้แผ้วพ้นจากทุกข์และภัยทุกๆ ประการ บันดาลให้เกิดความสุขความสวัสดี และความสามัคคีอันมั่นคง ให้ทุกคนสามารถประกอบกรณียกิจน้อยใหญ่ในหน้าที่ สำเร็จลุล่วงได้ดังประสงค์ บังเกิดความเจริญรุ่งเรือง แก่จังหวัดเลย และแก่ประเทศชาติยิ่งสืบไป” [11]

พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงให้ความสำคัญต่อการสร้างพระพุทธรูปประจำรัชกาล หรือพระพุทธรูปประจำพระชนมวารตลอดมา นอกจากนี้แล้ว ยังมีการสร้างพระพุทธรูปปางต่างๆ เพื่ออุทิศพระราชกุศลแด่พระมหากษัตริย์ในอดีตอีกด้วย

การสร้างพระพุทธรูปปางต่างๆ เพื่ออุทิศพระราชกุศลแด่พระมหากษัตริย์ในอดีตครั้งใหญ่เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 - 4 สืบเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริถึงเรื่องการสร้างพระโพธิสัตว์ 550 ชาติประดิษฐานไว้ตามพระอารามหลวงในสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แต่พระองค์ทรงเห็นว่าการสร้างรูปพระโพธิสัตว์ซึ่งเป็นสัตว์บ้าง เป็นมนุษย์บ้าง เป็นเทวดาบ้าง ดูไม่ควรจะเป็นปูชนียวัตถุ จึงโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสตรวจพระอิริยาบถของพระพุทธเจ้าที่ปรากฏในคัมภีร์ต่างๆ ว่ามีสักกี่อย่างกี่ปาง เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯทรงตรวจคัมภีร์ต่างๆ สำรวจมาได้รวม 40 ปาง ประจวบกับช่วงเวลานั้นได้แร่ทองแดงมาจากเมืองจันทึก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯให้หล่อพระพุทธรูปปางต่างๆ ด้วยทองแดง ขนาดหน้าตักกว้าง 4 นิ้วเป็นพระพุทธรูป 37 องค์ แล้วโปรดตั้งไว้ในหอพระปริตรข้างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยด้านตะวันออก ในพระบรมมหาราชวัง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯให้หล่อฐานเขียงเติมขึ้นและให้กาไหล่ทองคำพระพุทธรูปทั้ง 37 ปาง เมื่อเสร็จแล้วให้โปรดจารึกอุทิศพระราชกุศลถวายพระเจ้าแผ่นดินในกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี 34 พระองค์ และพระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์อีก 3 พระองค์ ส่วนเหตุผลในการสร้างพระพุทธรูปอุทิศถวายนั้นไม่แจ้งชัดว่าเป็นด้วยเหตุใด[12] แต่จากพระบรมราชาธิบายของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น คล้ายว่า มีคติความเชื่อเชิงไสยศาสตร์เจือปนอยู่ คือในครั้งนั้นมีการสร้างพระพุทธรูปยืนอุทิศถวายพระมหากษัตริย์พระองค์ที่มีราชสมบัติน้อยหรือมีเหตุอันตรายหมดแผ่นดินไป และสร้างพระพุทธรูปประทับนั่งอุทิศถวายแด่พระมหากษัตริย์ที่อยู่ราชสมบัติยั่งยืนหรือเป็นต้นพระวงศ์เป็นทำนองแก้เคล็ด อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าที่มีกระแสมาเช่นนี้น่าจะเป็นการเล่าตามกันมาอย่างผิดๆ อันที่จริงน่าจะเพียงต้องการจัดเรียงลำดับพระพุทธรูปให้ดูงามเท่านั้น[13]

อย่างไรก็ตาม พระพุทธรูป 37 ปางนี้ พระมหากษัตริย์ไทยทรงนมัสการในการพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัจจาทุกครั้ง ในปัจจุบันทรงถวายเครื่องนมัสการในพระราชพิธีสงกรานต์ทุกปี ข้อนี้ย่อมแสดงคติการสร้างพระพุทธรูปเป็นรูปแทนองค์พระมหากษัตริย์ เช่นเดียวกันกับการสร้างพระพุทธนวราชบพิตรเป็นพระพุทธรูปประจำจังหวัดทั่วประเทศไทย แม้พระพุทธรูปองค์นี้จะเป็น “ปางมารวิชัย” อันมีนัยแห่งการปกป้องอันตรายและเอาชนะภยันตรายทั้งปวง แต่ชื่อของพระพุทธรูป “นวราชบพิตร” และการบรรจุพระพิมพ์ “พระสมเด็จจิตรลดา” ไว้ภายในฐานพระพุทธนวราชบพิตร ย่อมแสดงนัยว่าพระพุทธรูปพระองค์นี้เป็นเสมือนตัวแทนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 นั่นเอง

พระประจำวันเกิด

หัวข้อนี้จะแตกต่างออกไปจากหัวข้อข้างต้น ตรงที่จะกล่าวถึงการบูชาพระประจำวันเกิด ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นความสนใจส่วนตัวที่ต้องการหาคำตอบว่าอะไรคือหลักการในการกำหนดความหมายของพระพุทธรูปที่เกี่ยวข้องกับปัจเจกบุคคล หรือที่เกี่ยวข้องกับวันเกิดของผู้คน 

เมื่อเราเข้าวัด สิ่งที่เราอาจเห็นจนชินตาคือการทำบุญกับพระพุทธรูปประจำวันเกิด โดยทางวัดจะตั้งองค์พระประจำวันเกิดไว้บนโต๊ะขนาดยาว วางเรียงรายตามลำดับวัน อาจมีป้ายบอกกำลังของแต่ละวันใต้ฐานพระพุทธรูปแต่ละปาง ด้านหน้าพระพุทธรูปอาจมีตู้หรือบาตรสำหรับให้ผู้ทำบุญสอดธนบัตรลงไปตามวันเกิดของตนเอง การทำบุญกับพระประจำวันเกิดดูเหมือนจะเป็นนวัตกรรมอย่างหนึ่งของสังคมไทย ใน ตำราพระพุทธรูปปางต่างๆ ตามพระมติสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ได้กล่าวถึงพระพุทธรูปประจำวันเกิด ด้วยคำว่า“พระสำหรับบูชาพระเคราะห์” ไว้ดังนี้

  “พระสำหรับบูชาพระเคราะห์ พระเก้าองค์ สิ้นฉบับเท่านี้
พระอาทิตย์      พระถวายเนตร
พระจันทร์       พระห้ามสมุทร
พระอังคาร       พระไสยาสน์
พระพุทธ       พระอุ้มบาตร
พระพฤหัสบดี       พระสมาธิ
พระสุกร       พระรำพึง
พระเสาร์       พระนาคปรก
พระราหู      พระป่าเลไลย
พระเกษ       พระสมาธิเพชร”[14]

ตำราเกี่ยวกับพระพุทธรูปรุ่นหลังเรียกชื่อพระพุทธรูปปางประจำวันเกิดบางปางไม่ตรงกันเสียทีเดียว แต่กำหนดปางประจำวันไว้ตรงกัน ซึ่งน่าเชื่อว่าสืบทอดมาจากตำราหรือคติเดียวกัน เท่าที่ผู้เขียนสืบค้นได้ (ขณะเขียนเรื่องนี้) การกำหนดปางพระพุทธรูปประจำวันเกิดแต่ละวัน ผู้เขียนตำราต่างๆ ไม่ได้อธิบายหรือให้เหตุผลว่า เหตุใดจึงควรกำหนดให้ปางนั้นปางนี้เป็นพระพุทธรูปบูชาสำหรับผู้เกิดวันนั้นๆ พระพิมลธรรม ราชบัณฑิต (ชอบ อนุจารีมหาเถระ) อธิบายไว้ว่า “พระพุทธรูปปางต่างๆ ทั้งหมดนี้ ท่านพระโบราณาจารย์ได้คัดเลือกจัดสรรพระพุทธรูปปางต่างๆ ที่เห็นว่าเหมาะสมแก่เหตุการณ์และชีวิตของคน โดยเขียนเป็นรูปลงในแผ่นกระดาษหรือแผ่นผ้าบ้าง แกะด้วยไม้หรือหินบ้าง ปั้นด้วยปูนบ้าง หล่อด้วยโลหะต่างๆ บ้าง ที่มีทรัพย์ถึงหล่อด้วยเงินหรือทองก็มี ไว้เป็นพระประจำชีวิตสำหรับสักการบูชา เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต”[15] ผู้เรียบเรียงหนังสือ ประวัติพระพุทธรูปปางต่างๆ ที่จัดพิมพ์โดยกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการให้ข้อมูลเพิ่มเพียงเล็กน้อยว่า “นิยมสร้างตามกำลังวันทั่วๆ ไป”[16] 

เมื่อดูจุดประสงค์ที่เขียนไว้ในตำราพระพุทธรูปตามพระมติของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสที่ยกมาอ้างไว้ข้างต้นนั้น มีข้อความกำกับว่า “รูปพระสำหรับใช้บูชาพระเคราะห์” พระเคราะห์ที่ท่านแสดงไว้ในตำรานี้มี 9 องค์ด้วยกัน พระพุทธรูปปางต่างๆ ที่กำหนดขึ้นนั้นก็เพื่อใช้บูชาพระเคราะห์ ดูเหมือนว่า ความหมายเดิมของพระที่ใช้สำหรับบูชาประจำวันเกิดนั้นจะตรงกับความหมายที่ใช้กันในปัจจุบันเสียทีเดียว น่าสังเกตว่า ตำราพระพุทธรูปปางต่างๆ ตามมติของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เรียก อาทิตย์ จันทร์ อังคาร เป็นต้น ด้วยคำว่า พระ ซึ่งหมายถึงเทพเจ้า หรือ เทวดาประจำดาวเคราะห์ต่างๆ มากกว่าวันตามปฏิทินในรอบสัปดาห์ เนื่องจากพระเคราะห์ที่ว่านี้มีอิทธิพลทั้งบวกและลบต่อผู้ที่เกิดในวันต่างๆ เมื่อดาวเคราะห์โคจรเปลี่ยนตำแหน่ง ก็จะให้ผลต่อผู้เกิดในวันนั้นๆ แตกต่างกันไป การบูชาพระพุทธรูปประจำวันจึงเป็นเหมือนการอาศัยพระพุทธคุณให้เกิดพลังค้ำจุนแก่ชีวิตผู้ที่ตกอยู่ในเคราะห์ต่างๆ 

พระพุทธรูปเกิดขึ้นด้วยจุดประสงค์สำคัญคือ เพื่อให้เกิดการศึกษาพุทธศาสนาผ่านพุทธประวัติ หรือเมื่อเห็นพระพุทธรูปปางต่างๆ แล้วก็ให้ย้อนระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ เมื่อรำลึกถึงแล้วก็จะได้เกิดศรัทธาเลื่อมใสในพุทธศาสนายิ่งๆ ขึ้นไป แต่ดูเหมือนการคิดเรื่องพระพุทธรูปที่เหมาะกับแต่ละวันและการสักการะพระพุทธรูปประจำวันเกิดไม่ได้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นอุบายในการศึกษาโดยตรง ผู้เขียนสันนิษฐานเองว่าการกำหนดพระประจำวันเกิดส่วนหนึ่งอิงกับคติคำสอนของพุทธศาสนาเรื่อง “มงคลชีวิต” (คำสอนเรื่องมงคล 38 ประการ) ที่ว่า การบูชาผู้ที่ควรบูชา (ปูชา จ ปูชนียานํ) เป็นมงคลอย่างหนึ่งของชีวิต ผนวกเข้ากับคติทางโหราศาสตร์เรื่อง “การให้คุณให้โทษ” ของดาวพระเคราะห์

เนื่องจากยังไม่พบคำอธิบายเรื่องการบูชาพระประจำวันเกิดที่ชัดเจน ผู้เขียนเลยขอลองเสนอไว้ในที่นี้เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับผู้รู้ว่า ในเรื่องการกำหนดปางองค์พระพุทธรูปประจำวันเกิดนี้ ปราชญ์โบราณท่านถืออาคติทางพุทธศาสตร์กับคติทางโหราศาสตร์มาผสมกัน และจึงกำหนดให้ถือเอาพระพุทธรูปปางใดปางหนึ่งเป็นพระประจำวันต่างๆ ในแต่ละสัปดาห์ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ในเรื่องพระพุทธรูปประจำวันพฤหัสบดี ได้แก่ พระพุทธรูปปางสมาธิ

พระพุทธรูปปางสมาธิ ซึ่งตำราต่างๆ กำหนดให้เป็นพระประจำวันพฤหัสบดีนั้น เมื่อศึกษาตำนานพระพุทธรูปปางสมาธิ เราจะพบว่าพระพุทธรูปปางนี้เกี่ยวกับพุทธประวัติตอนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พระพุทธรูปปางนี้แสดงนัยแห่งการเข้าถึงความรู้หรือสัจธรรมและการบรรลุถึงความสงบสุขอันเป็นปรมัตถ์ (การเข้าถึงนิพพาน) เนื่องจากพระพุทธเจ้าทรงบรรลุถึงการตรัสรู้ได้ก็ด้วยการอาศัยการเจริญมหาสติปัฎฐานจนดวงจิตมั่นคงไม่หวั่นไหว แล้วโน้มจิตไปเพื่อความรู้ในระดับต่างๆ จนกระทั่งหมดสิ้นกิเลสอาสวะ

ตามตำราของอาจารย์เทพ สาริกบุตร นักโหราศาสตร์แบ่งดาวพระเคราะห์เป็น 2 ประเภทคือ (1) ประเภทที่ให้คุณมากกว่าให้โทษ เรียก สมเคราะห์ ได้แก่ จันทร์ พุธ ศุกร์ พฤหัสบดี (2) ประเภทที่ให้โทษมากกว่าให้คุณ เรียกว่า บาปเคราะห์ ได้แก่ อาทิตย์ อังคาร เสาร์ ราหู และเกตุ หลักโหราศาสตร์ทั่วไป มีข้อแม้เพิ่มเติมว่า สำหรับสมเคราะห์ จันทร์ และพุธ อาจแปรสภาพเป็นบาปเคราะห์ได้ โดยที่จันทร์นั้นเป็นจันทร์ในขณะไม่มีแสง คือตั้งแต่แรม 8 ค่ำจนถึงขึ้น 8 ค่ำโดยอาศัยเหตุที่ว่าจันทร์โคจรใกล้กับดวงอาทิตย์จึงทำให้สิ้นรัศมีไป ส่วนพุธนั้น ถ้าร่วมด้วยดาวบาปเคราะห์ก็จะแปรสภาพเป็นบาปเคราะห์ไปด้วย ดาวสมเคราะห์ที่แท้จริงมีเพียงพฤหัสดีกับศุกร์เท่านั้น[17] พฤหัสบดีมีกำลัง 19 สถิตใน 2 ราศี คือราศีธนูกับราศีมีน ดาวพฤหัสบดีที่ครองราศีธนูแสดงถึงคุณลักษณะทางศาสนา คุณธรรม ศรัทธา อุดมคติ ส่วนดาวพฤหัสบดีครองราศีมีน ซึ่งสัมพันธ์กับธาตุน้ำนั้น ย่อมแสดงถึงอารมณ์และเรื่องลึกลับที่เกี่ยวข้องกับจิตวิญญาณ บ่งชี้ไปถึงเรื่องจิตที่ต้องการเข้าถึงความหมดกิเลส หลุดพ้นจากวัฏสงสาร ดาวพฤหัสบดีที่ครองราศีมีนจึงมีลักษณะอาการไปทำนองที่เรียกว่า “ญาณ” คือมีธาตุแห่งปัญญาหยั่งรู้ในธรรมชาติ[18]

จะเห็นว่า การกำหนดให้พระพุทธรูปปางสมาธิหรือปางตรัสรู้เป็นปางบูชาสำหรับผู้เกิดวันพฤหัสบดีซึ่งโบราณาจารย์ถือว่าเหมาะสมนั้น ท่านถือเอาลักษณะสำคัญหรือความหมายทางธรรม หรือความหมายของเหตุการณ์ที่ซ่อนอยู่ในองค์พระพุทธรูปเป็นข้อพิจารณาหนึ่ง และถือเอาพระเคราะห์หรือคติความเชื่อเกี่ยวกับดาวนพเคราะห์ของวันที่กำหนดไว้ในตำราโหราศาสตร์เป็นอีกข้อพิจารณาหนึ่ง คุณลักษณะของพระพุทธรูปที่ใช้กับวันใดๆ ก็ตามจะต้องเสริมส่งให้เกิดเคราะห์ดีป้องกันเคราะห์ร้ายแก่ผู้ที่เกิดในวันนั้นๆ มองในแง่โหราศาสตร์ การบูชาพระประจำวันเกิดเป็นการป้องกันบาปเคราะห์และส่งเสริมคุณหรือพลังให้แก่สมเคราะห์ มีข้อที่น่าพิจารณาด้วยว่า คติเรื่องนพเคราะห์ตามหลักโหราศาสตร์นั้น สะท้อนแนวความคิดบางประการที่สอดคล้องกับคำสอนเกี่ยวกับความเป็นไปหรือความผันแปรของชีวิตและสรรพสิ่งของพุทธศาสนาด้วย กล่าวคือในทางโหราศาสตร์ ถือว่าดาวเคราะห์ต่างๆ อาจแปรเปลี่ยนจากดาวสมเคราะห์เป็นบาปเคราะห์ หรือจากบาปเคราะห์เป็นสมเคราะห์ได้ เมื่อดาวเคราะห์โคจรไปตกอยู่ในตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง ก็จะถูกกระทบโดยอิทธิพลจากดาวดวงอื่นที่โคจรเข้ามาใกล้หรือโครจรอยู่รอบๆ อันอาจให้คุณหรือโทษแก่ดาวเคราะห์ดวงนั้น 

ภายใต้ความไม่แน่นอนของชีวิตอันเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของดาวเคราะห์ สิ่งที่จะช่วยค้ำจุนชีวิตให้ดีงามหรือรอดพ้นจากสิ่งที่ไม่ดีงามในทัศนะของนักโหราศาสตร์ไทยคือการยึดมั่นศรัทธาในพระพุทธเจ้า โดยเชื่อว่า พระพุทธรูปอันเป็นพระรูปแทนองค์พระพุทธเจ้ามีอานุภาพปกป้องคุ้มครองชีวิตผู้ประสบเคราะห์หรือสนับสนุนให้ชีวิตประสบสิ่งที่ดีงามได้ เมื่อสักการะพระพุทธรูปปางประจำวันเกิดต่างๆ พระพุทธคุณจะช่วยให้เกิดพลังเพิ่มพูนเกื้อหนุนชีวิตให้ดีงามได้ 

โดยสรุป การบูชาพระประจำวันเกิดมาจากคติที่ว่า ดาวเคราะห์แต่ละดวงมีตำแหน่งแห่งที่ของตัวเองและย่อมได้รับอิทธิพลจากดาวเคราะห์อื่นๆ การเปลี่ยนตำแหน่งของดาวนพเคราะห์ย่อมก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแก่ผู้ที่มีวันเกิดในฤกษ์วันนั้นๆ เคราะห์หรือโชคขึ้นอยู่กับจุดที่ดาวเสวยฤกษ์นั้นสถิตอยู่ ณ เวลานั้น การเปลี่ยนแปลงของดวงดาวเป็นกฎธรรมชาติ (ไตรลักษณ์) เป็นสิ่งที่ไม่อาจขัดขืนได้ แต่อันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงนั้นป้องกันได้ด้วยอำนาจของพุทธคุณ การไหว้พระประจำวันเกิดจึงเป็นการน้อมนำพุทธคุณมาเป็นเครื่องปกป้องภยันตรายแก่ชีวิตหากว่าดวงของผู้เกิดในวันนั้นๆ ตกในบาปเคราะห์หรือสถานการณ์ที่ไม่น่ายินดี การสร้างพระพุทธรูปประจำวันเกิดของแต่ละคนจึงสร้างตามกำลังของพระเคราะห์ที่ประจำหรือสถิตในวันเกิด เช่น กรณีการหล่อพระชัยในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่ทรงโปรดลดขนาดพระพุทธรูปที่จะหล่อขึ้นลงตามกำลังวันที่ประสูติก็น่าจะเป็นกรณีหนึ่งที่สนับสนุนข้อเสนอดังกล่าวนี้

เราเรียนรู้อะไรจากกรณีพระพุทธรูปแทนพระองค์พระมหากษัตริย์กับเรื่องการบูชาพระประจำวันเกิด คติการเคารพนับถือพระพุทธรูปของชาวไทยตามที่กล่าวมานี้ต่างไปจากจุดมุ่งหมายการสร้างพระพุทธรูปในยุคเริ่มแรกซึ่งมุ่งหมายเพื่อการศึกษาเรียนรู้พุทธศาสนาและการสร้างศรัทธาต่อพระรัตนตรัย แต่การเคารพบูชาพระพุทธรูปในสังคมไทยตามที่กล่าวมา พระพุทธรูปอันเป็นสัญลักษณ์สำคัญของพุทธศาสนาถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการธำรงรักษาอำนาจของพระมหากษัตริย์ และเป็นเครื่องมือสร้างศรัทธาในพุทธศาสนาโดยอาศัยความกลัวต่อความไม่แน่นอนของชีวิตเป็นเครื่องปลุกเร้า กล่าวคือ

(1) การบูชาพระพุทธรูปประจำพระชนมวาร (พระชัย) เป็นการบูชาพระพุทธรูปโดยที่มุ่งหมายให้เกิดชัยชนะในศึกสงคราม และการมีชัยเหนืออริราชศัตรูของพระมหากษัตริย์ กรณีนี้รูปปฏิมาของพระพุทธเจ้าซึ่งปฏิเสธการสงคราม กลับถูกใช้เพื่อการสงคราม 

(2) พระพุทธรูปที่พระมหาษัตริย์ทรงสร้างและพระราชทานแก่พสกนิกรทั่วไป มีนัยแห่งการตักเตือนพสกนิกรให้ตระหนักในเรื่องสำคัญคือการมีอำนาจเหนือพสนิกรของพระมหากษัตริย์ เช่น เมื่อรัชกาลที่ 5 จะพระราชทานพระชัยแก่ผู้ได้รับตราจักรีนั้น จะมีโอวาทสำคัญ 3 ข้อ ข้อที่ 3 ผู้รับต้องมีความกตัญญูซื่อสัตย์ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ [19] หรือกรณีพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตรจะเป็นเครื่องเตือนใจให้พสกนิกรรำลึกถึงพระประมุขของชาติ คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในฐานะศูนย์รวมจิตใจของชาวไทย 

(3) การกราบไหว้พระพุทธรูปประจำวันเกิดมีจุดมุ่งหมายให้เกิดความสงบสุขและปราศจากอันตรายต่อชีวิต เป็นการเสริมเคราะห์หรือเกื้อหนุนดวงชะตาให้ดำเนินไปในทางที่แคล้วคลาดปลอดภัยจากเคราะห์ต่างๆ ซึ่งเป็นเครื่องที่สัมพันธ์กับความเชื่อทางไสยศาสตร์

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้น่าจะช่วยให้เราเห็นอีกบทบาทหนึ่งของพระพุทธรูปในสังคมไทย ในแง่การเมืองการปกครอง เราได้เห็นการใช้พระพุทธรูปเป็นองค์ประกอบสำคัญในการกำหนดนัยความสำคัญของผู้ปกครอง พระพุทธรูปเป็นสัญลักษณ์ที่ช่วยเชื่อมประสานสำนึกรู้ของประชาชนพลเมืองเข้ากับการดำรงอยู่ของผู้ปกครองประเทศที่อยู่ห่างใกลจากมวลประชาในแง่เทศะ พระพุทธรูปประจำจังหวัดไม่ได้เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้าในความหมายดั้งเดิมอีกต่อไป แต่มีความหมายแทนความรักความห่วงใยของผู้ปกครองที่มีต่อพลเมืองของพระองค์ การเห็นพระพุทธรูปและการจดจำชื่อของพระพุทธรูปที่ทรงพระราชทานย่อมเป็นเครื่องเตือนใจให้รำลึกถึงได้ว่ามีพระประมุขของชาติทรงมองดูด้วยพระกรุณา พระพุทธรูปทำหน้าที่กำหนดให้พลเมืองมองเห็นผู้ปกครองที่อยู่เบื้องบน พระพุทธรูปทำหน้าที่ตรึงอารมณ์ความรู้สึกให้อยู่กับองค์ประมุขของชาติไทย ไม่ว่าจะอยู่ห่างใกลเพียงใดก็ตาม พระพุทธรูปคือจุดเชื่อมร้อยที่สำคัญที่ขยับให้ห่างไกลในเชิงพื้นที่ระหว่างพลเมืองกับผู้ปกครองมีความใกล้ชิดกันในเชิงมิติอารมณ์ความรู้สึก

 

อ้างอิง

[1] ปภาณิน เกษตรทัต, เบื้องหลังรูปเคารพ คติความเชื่อรูปแทนบุคคลในสยาม (กรุงเทพฯ: มติชน, 2558), หน้า 45 - 46.
[2] เรื่องเดียวกัน, หน้า 46.
[3] ส.พลายน้อย, ตำนานพระชัยวัฒน์และพระแก้วประจำรัชกาล. (กรุงเทพฯ : ชมรมบำรุงบัณฑิต, 2528), หน้า 3-4
[4] เรื่องเดียวกัน, หน้า 4-5
[5] เรื่องเดียวกัน, หน้า 8
[6] เรื่องเดียวกัน, หน้า 9
[7] เรื่องเดียวกัน, หน้า 12
[8] เรื่องเดียวกัน, หน้า 20
[9] จันท์ เสวิกุล, พระเครื่องตำนานแผ่นดิน พระในหลวง รวมพระเครื่องในพระบารมีล้นเกล้า. (ไม่ปรากฏสถานที่พิมพ์. สำนักพิมพ์กรีน ลีฟ พลัส, ไม่มีปีที่พิมพ์), หน้า 6
[10] เรื่องเดียวกัน, หน้า 12-13
[11] แม้แหล่งข้อมูลคือวิกิพีเดียจะระบุว่า พระราชดำรัสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงพระราชทานแก่พสกนิกรในวโรกาสที่ทรงพระราชทานพระพุทธนวราชบพิตร ไว้เป็นพระพุทธรูปประจำจังหวัดทั่วราชอาณาจักร แต่การปรากฏคำว่า “จังหวัดเลยนี้รวมอยู่ด้วย” ทำให้เข้าใจว่าเพระราชดำรัสนี้จะตรัสแก่พสกนิกรจังหวัดเลยเป็นการเฉพาะ โปรดดู https://th.wikipedia.org/wiki/พระพุทธนวราชบพิตร (เข้าถึงวันที่ 19 ตุลาคม 2562) 
[12] อภิวัฒน์ โควินทรานนท์, “พระพุทธรูปตามพระมติสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส,” ใน ตำราพระพุทธรูปปางต่างๆ ตามพระมติสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส, บรรณาธิการโดย เสาวณิต วิงวอน, หน้า 2๐8.
[13] เรื่องเดียวกัน, หน้า 2๐9 - 2๑๐.

[14] เสาวณิต วิงวอน, บรรณาธิการ, ตำราพระพุทธรูปปางต่างๆ ตามพระมติสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส, หน้า 98. (การสะกดคำ ถือตามต้นฉบับ)
[15] พระพิมลธรรม ราชบัณฑิต (ชอบ อนุจารีมหาเถระ), ตำนานพระพุทธรูปปางต่างๆ, หน้า (8).
[16] กระทรวงศึกษาธิการ, กรมการศาสนา, ประวัติพระพุทธรูปปางต่างๆ, หน้า 2๑.
[17] เทพย์ สาริกบุตร, โหราศาสตร์ในวรรณคดี, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร, 2558), หน้า 97 - 98.
[18] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๑9 - ๑2๐.
[19] ส.พลายน้อย, ตำนานพระชัยวัฒน์และพระแก้วประจำรัชกาล. หน้า 54-55

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
ชาวพุทธกับพระพุทธปฏิมา 1: กำเนิดพระพุทธรูป 
ชาวพุทธกับพระพุทธปฏิมา 2: พระพุทธรูปในวัฒนธรรมไทย
ชาวพุทธกับพระพุทธปฏิมา 3 : การเมืองและความเป็นไทยในพระปฏิมา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net