Skip to main content
sharethis

ชาวกัมพูชาที่ยากจนจำนวนมากต้องกู้หนี้ยืมสินเพื่อใช้เป็นค่ารักษาพยาบาลจากแหล่งกู้ยืมที่เสี่ยงจะมีดอกเบี้ยสูง ทำให้มีโอกาสล่มจมทางการเงินได้เมื่อเป็คคนจนที่ล้มป่วย จากการวิจัยล่าสุดที่ทำการสำรวจ 5,000 ครัวเรือนในกัมพูชา

ที่มาภาพ: wisegie (CC BY 2.0)

รายงานการวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ (UNSW) ระบุว่าชาวกัมพูชาร้อยละ 28.1 ต้องกู้ยืมเงินเพื่อใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล โดยที่มีคนในของภาคส่วนการเงินรายย่อยบอกว่ามันไม่ได้สะท้อนสภาพความเป็นจริงในภาคส่วนการเงินของกัมพูชา

งานวิจัยดังกล่าวทำการสำรวจจากชาวกัมพูชา 5,000 ครัวเรือน พวกเขาพบว่ากลุ่มประชากรที่ทำการกู้ยืมเพื่อมาเป็นค่ารักษาพยาบาลนั้นร้อยละ 55 ประสบปัญหาความยากแค้นทางการเงินจนไม่มีเงินใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาล

หนึ่งในหัวหน้าผู้ร่วมเขียนงานวิจัย ออกัสตีน อะซานเต จากวิทยาลัยด้านสาธารณสุขและการแพทย์ชุมชนของ UNSW ในซิดนีย์ กล่าวว่างานวิจัยชิ้นนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าระบบสวัสดิการสุขภาพของกัมพูชานั้นไม่เหมาะสมเพียงพอที่จะคุ้มครองครอบคลุมไปถึงทุกส่วน

อะซานเตกล่าวว่าในขณะที่กัมพูชามีพัฒนาการที่ดีในเรื่องการเสริมสร้างความเป็นธรรมในระบบการเงินสำหรับการรักษาพยาบาล แต่ก็ยังต้องแก้ไขปัญหาการที่คนจนและกลุ่มคนขาดโอกาสต้องกู้หนี้ยืมสินมาใช้จ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลตัวเอง

ผลการวิจัยยังระบุอีกว่าค่าเฉลี่ยของจำนวนเงินที่กู้ยืมแบบมีดอกเบี้ยอยู่ที่ระหว่าง 125 ดอลลาร์ถึง 200 ดอลลาร์ (ราว 3,800 บาท ถึง 6,000 บาท) ขณะที่การกู้ยืมแบบไม่มีดอกเบี้ยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 75 ดอลลาร์ (ราว 2,300 บาท) มีการกำหนดให้ต้องคืนเงินโดยเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 8 เดือนหลังจากการกู้ยืม โดยที่ครัวเรือนร้อยละ 78 ไม่สามารถคืนเงินที่พวกเขากู้ยืมมาช่วง 12 เดือนก่อนทำการสำรวจ

บุน โมนี ซีอีโอบริษัทไฟแนนซ์รายย่อยที่ชื่อวิเทย์จำกัดมหาชนกล่าวว่าชาวชนบทในกัมพูชามักจะกู้ยืมเงินก้อนเล็กๆ จากแหล่งกู้ยืมไม่เป็นทางการในยามฉุกเฉินซึ่งส่วนใหญ่เอาไปใช้ในการรักษาพยาบาล ทำให้คนเหล่านี้มีความเสี่ยงมากกว่าคนที่กู้ยืมจากสถาบันทางการเมืองที่ได้รับการรับรองเพราะมักจะต้องจ่ายดอกเบี้ยที่สูงกว่า

รายงานผลการวิจัยระบุว่าการที่ค่ารักษาพยาบาลทำให้คนล่มจมทางการเงินในกัมพูชานั้นเกิดขึ้นเยอะมากในกัมพูชาเพราะค่าใช้จ่ายจริงสูงกว่าเงินเบิกจ่ายจากสวัสดิการสุขภาพถึงร้อยละ 60 ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เคีย โบราน ประธานสมาคมไฟแนนซ์รายย่อยกัมพูชากล่าวว่าภาคส่วนการเงินของกัมพูชาไม่ยอมให้มีการกู้ยืมที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการรักษาพยาบาล ขณะที่ชาวกัมพูชาในชนบทมักจะเจียดเงินกู้ยืมจำนวนหนึ่งมาเป็นค่ารักษาพยาบาลเพราะไม่เช่นนั้นก็ได้แต่รอความตาย

อะซานเตกล่าวว่าสำหรับครอบครัวที่มีฐานะยากจนในกัมพูชาแล้ว เงินจำนวน 200 ดอลลาร์ (ราว 6,000 บาท) ถือเป็นเงินจำนวนมาก นอกจากนี้แล้วยิ่งยากจนเท่าไหร่ผู้คนก็ประสบปัญหาล่มจมทางการเงินเพราะปัญหาสุขภาพมากยิ่งขึ้นเพราะคนที่จนมากก็จะยิ่งมีโอกาสกู้ยืมจากแหล่งที่ดอกเบี้ยสูงมากขึ้นด้วย

เรียบเรียงจาก

Report: 28.1% of Cambodians take out loans for healthcare, The Phnom Penh Post, 06-11-2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net