วันเมื่อกำแพงพังทลายในเยอรมัน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

9 พฤศจิกายนของปี 2019 คือวันที่เยอรมันจะได้มีการเฉลิมฉลองครบรอบ 30 ปีของการพังทลายของกำแพงเบอร์ลินซึ่งเป็นสัญลักษณ์การล่มสลายของพรรคและระบอบคอมมิวนิสต์ในยุโรปตะวันออก ผมรู้สึกดีใจกับความแก่ของตัวเองที่เคยเป็นประจักษ์พยานถึงประเทศเยอรมันถึง 2 ประเทศคือเยอรมันตะวันตก (Republic of Germany)และเยอรมันตะวันออก (German Democratic Republic)

เยอรมันตะวันตกนั้นเป็นประชาธิปไตยทุนนิยมที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐอเมริกาและตะวันตก ส่วนเยอรมันตะวันออกเป็นเผด็จการคอมมิวนิสต์ที่เป็นพันธมิตรกับสหภาพโซเวียตและยุโรปตะวันออก ด้วยความเป็นเด็ก ผมเข้าใจว่ากำแพงเบอร์ลินกั้นระหว่าง 2 รัฐดังกล่าว ทั้งที่ความจริงแล้วกำแพงเบอร์ลินตั้งอยู่ระหว่างกรุงเบอร์ลินตะวันตก (ซึ่งเป็นประชาธิปไตยและเป็นพันธมิตรกับเยอรมันตะวันตก) และกรุงเบอร์ลินตะวันออกซึ่งเป็นเมืองหลวงของเยอรมันตะวันออก ส่วนเยอรมันตะวันตกหันไปมีเมืองหลวงคือกรุงบอนน์ซึ่งเป็นบ้านเกิดของคีตกวีลุดวิก ฟาน เบโธเฟน

การเข้ายึดครองของฝ่ายสัมพันธมิตรและกองทัพแดงของสหภาพโซเวียตต่อกรุงเบอร์ลินหลังเยอรมันนาซีประกาศยอมแพ้เมื่อปี 1945 ทำให้มีการแบ่งพื้นที่ในการปกครองของกรุงเบอร์ลินออกเป็น 4 เขตโดยสหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส (ต่อมารวมกันเป็นเบอร์ลินตะวันตก) และโซเวียต สำหรับโซเวียตซึ่งบุกเข้าไปถึงกรุงเบอร์ลินก่อนใครได้ยึดครองกรุงเบอร์ลินตะวันออกซึ่งมีพื้นที่ขนาดใหญ่นอกเหนือจากเยอรมันตะวันออก ตามข้อตกลงจากการประชุมพอตส์ดัมในปี 1945 เยอรมันจะต้องพบกับการล้มล้างอิทธิพลของนาซี หรือ denazification เช่นเดียวกับลัทธิชาตินิยมและกองทัพนิยมให้หมดจด ก่อนจะรวมเยอรมันให้เป็นหนึ่งเดียว ในรูปแบบการปกครองประชาธิปไตยที่รักในสันติ แต่ด้วยความกลัวของสตาลินถึงการอาจกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งของเยอรมันและต้องการให้เยอรมันตะวันออกเป็นกันชนระหว่างโซเวียตกับโลกตะวันตก ทำให้เยอรมันไม่สามารถรวมกันได้สำเร็จ อันคล้ายคลึงกับเกาหลีเหนือ/ใต้ และเวียดนามเหนือ/ ใต้ ในขณะนั้น

กรุงเบอร์ลินจึงกลายเป็นจุดอันตรายในช่วงสงครามเย็นซึ่งเกือบทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 เมื่อกองทัพโซเวียตทำการปิดล้อมไม่ให้ฝ่ายสัมพันธมิตรเดินทางผ่านเยอรมันตะวันออกไปยังกรุงเบอร์ลินตะวันตกในช่วงระหว่างปี 1948 ถึง 1949 ดังที่เรียกว่า Berlin blockade แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ฝ่ายตะวันตกได้ทำการบินขนส่งเสบียงให้ชาวเบอร์ลินตะวันตกเป็นแสนๆ เที่ยว ก่อนโซเวียตจะถอนกองกำลังไป กระนั้นวิกฤตครั้งนี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นรัฐเยอรมันตะวันตกและตะวันออกอย่างเป็นทางการ หมดโอกาสที่จะรวมประเทศกัน กระนั้นในทศวรรษที่ 50 เยอรมันตะวันออกต้องประสบปัญหาสมองไหล แรงงานมีฝีมืออพยพไปยังเยอรมันและกรุงเบอร์ลินตะวันตกเป็นล้านๆ คน วอลเตอร์ อุลบริชเลขาธิการพรรคอมมิวนิสต์เยอรมันตะวันออกได้ร้องขอกึ่งกดดันให้ นิกิต้า ครุชชอฟ ผู้นำของโซเวียตอนุมัติให้เขาสร้างกำแพงเบอร์ลินเพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจของเยอรมันตะวันออกล่มจมจากสภาวะการขาดแคลนแรงงาน

ภายหลังจากการปิดพรมแดนระหว่างเยอรมันตะวันตกและตะวันออกเมื่อกลางทศวรรษที่ 50 ในปี1961 รัฐบาลคอมมิวนิสต์ก็ได้สร้างกำแพงซึ่งมีความยาวกว่า 155 กิโลเมตรกั้นพรมแดนของกรุงเบอร์ลินทั้ง 2 ฝั่งได้อย่างรวดเร็ว โดยชาวเบอร์ลินไม่ว่าฝั่งไหนไม่ทันได้ลุกฮือขึ้นต่อต้าน หรือหนีไปฝั่งตะวันตกทัน กำแพงสามารถลดจำนวนผู้อพยพได้ถึงร้อยละ 75 อย่างไรก็ตามด้วยชีวิตอันยากแค้นและกดขี่ในเยอรมันตะวันออกจึงมีความพยายามโดยชาวเยอรมันตะวันออกในการหลบหนีข้ามกำแพงเข้าสู่ฝั่งตะวันตกด้วยวิธีสารพัด ซึ่งประสบความสำเร็จบ้าง แต่ประชาชนจำนวนร้อยกว่าคนต้องเสียชีวิต บ้างจากการกราดยิงโดยทหารเยอรมันตะวันออก บ้างจากอุบัติเหตุหรือฆ่าตัวตาย กำแพงเบอร์ลินจึงเป็นสัญลักษณ์ของม่านเหล็กและความโหดร้ายของฝั่งคอมมิวนิสต์ (โดยชาวโลกลืมความจริงไปว่ามีคนตายน่าจะถึงหลักร้อยล้านจากทั้งความล้มเหลวในนโยบายเศรษฐกิจและความโหดร้ายของพรรคคอมมิวนิสต์ในโซเวียตและยุโรป ยิ่งถ้ารวมถึงเอเชียอย่างจีนและเกาหลีเหนือ จำนวนจะพุ่งไปกว่านี้อีกมาก) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ บางท่านใช้พื้นที่ใกล้ ๆ กำแพงอย่างหน้าประตูแบรนเดนเบิร์กในการท้าทายกรุงมอสโคว์อย่างเช่นจอห์น เอฟ เคนนาดีในปี 1963 ที่พูดว่า "ทุกวันนี้ คำโอ้อวดที่น่าภูมิใจที่สุดคือข้าพเจ้าเป็นชาวกรุงเบอร์ลิน" เพื่อยกย่องชาวเบอร์ลินทั้ง 2 ฝั่งแต่เป็นกลยุทธ์ในการเรียกคะแนนความนิยมจากฝั่งคอมมิวนิสต์ และโรนัลด์ เรแกนในปี 1987 ที่ร้องขอให้กอร์บาชอฟทำลายกำแพงนี้เสีย (tear down the wall) อันเป็นการตอกย้ำภาพของการเป็นนักรบสงครามเย็นของเขาและทำลายภาพพจน์ของคอมมิวนิสต์

ในที่สุด ในปี 1989 ด้วยปัญหาสารพัดที่รุมเร้าสหภาพโซเวียตโดยเฉพาะเศรษฐกิจ ทำให้มิคาอิล กอร์บาชอฟเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ต้องงัดเอาลัทธิที่มีลักษณะเหมือนเพลง My Way ของแฟรงค์ ซิเนตร้าโดยตั้งชื่อตลกๆ ว่า Sinatra Doctrine นั่นคือการปล่อยให้ยุโรปตะวันออกดำเนินไปตามทางของตัวเองโดยจะไม่เข้าไปแทรกแซงตามลัทธิเบรซเนฟที่โซเวียตเคยนำกองทัพแดงบุกเช็คโกสโลวาเกียเมื่อปี 1968 ปัจจัยดังกล่าวจวบกับการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชน ในปี 1989 จึงเป็นปีเริ่มต้นของการล่มสลายของพรรคคอมมิวนิสต์ไม่เว้นพรรคของเยอรมันตะวันออก อันนำไปสู่การที่ชาวเยอรมันหลายพันคนแห่กันไปทำลายกำแพงในวันที่ 9 พฤศจิกายน ผมได้รู้จักชาวเยอรมันตะวันตกในวัยเดียวกันซึ่งเข้าร่วมเหตุการณ์ในครั้งนี้จากฝั่งตะวันตก เขาเล่าว่าทุกคนแห่กันจากทุกสารทิศ จำนวนมากเบียดเสียดบนรถไฟกันมาที่ชายแดน ต่างมีความสุขและร่าเริง สนุกสนานจนน่าจะถึงขั้นบ้าคลั่งในการร่วมกันปีนป่ายและใช้อุปกรณ์สารพัดในการทุบกำแพง และทุกคนจากทั้ง 2 ฝั่งต่างกอด ทักทายกันประดุจดังพี่น้อง ถ้าถูกสร้างเป็นภาพยนต์ก็ต้องก้องกังวาลด้วยเพลงซิมโฟนีหมายเลข 9 ของเบโธเฟนที่มีท่อนสุดท้ายเป็นเพลงร้องประสานเสียงคือ Ode to Joy ซึ่งกล่าวถึงความรักกันฉันท์พี่น้องของมนุษยชาติ

(กระนั้นทุกคนก็ไม่มีใครนึกถึงเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองหรือเคจีบีของโซเวียตคนหนึ่งซึ่งประจำการอยู่ที่เมืองเดรสเดนของเยอรมันตะวันออก เขาต้องเสียความรู้สึกกับฝูงชนที่แห่กันเข้าทำลายและปล้นสะดมกองบัญชาการเคจีบี ช่วงหลังการทำลายกำแพงเบอร์ลิน ต่อมาชายหนุ่มคนนั้นก็ได้เป็นประธานาธิบดีรัสเซียคือวลาดิเมียร์ ปูตินผู้คิดว่าการล่มสลายของโซเวียตคือความหายนะ)

ในปี 1990 เยอรมันทั้ง 2 ประเทศก็ได้รวมเป็นประเทศเดียวกัน โดยใช้รูปแบบการปกครองและรัฐธรรมของเยอรมันตะวันตก เช่นเดียวกับผู้นำคนเดิมคือนายกรัฐมนตรีเฮลมุต โคห์ล มีเมืองหลวงเหมือนเดิมคือกรุงเบอร์ลิน กระนั้นผลที่ตามมาในระยะยาวกว่า 30 ปี ไม่ได้สวยงามอย่างที่คาด ความแตกต่างทางเศรษฐกิจระหว่างพื้นที่ซึ่งเคยเป็นทั้ง 2 ประเทศยังมีสูงมาก โดยฝั่งตะวันตกใช้เงินกว่าล้านล้านยูโรในการบูรณะฝั่งตะวันออกซึ่งได้ผลไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่คาดหวัง ประชากรฝั่งตะวันออกยังมีรายได้ต่ำกว่าตะวันตกและมีภาวะตกงานสูง เช่นเดียวกับคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ จนมีการกล่าวกันว่าเยอรมันยังถูกแบ่งเป็น 2 ส่วนเหมือนเดิมโดยกำแพงเบอร์ลินที่ไม่มีตัวตนอีกต่อไป (หากไม่นับซากบางส่วนซึ่งเป็นอนุสรณ์สถานในปัจจุบัน) เหตุการณ์นี้น่าจะเป็นบทเรียนสำหรับการรวมประเทศของเกาหลีเหนือและใต้ในอนาคต

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท