บันทึกจาก ลำพะยา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เมื่อวันที่ 8 พย.ที่ผ่านมา เราและพี่น้องภาคประชาสังคมทั้งพุทธและมุสลิมจำนวนหนึ่งได้ไปลำพะยา พวกเราไปวัดลำพะยาและไปบ้านมุสลิมที่เป็น ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ที่เสียชีวิต เพื่อมอบกำลังใจและความช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ ให้

ครั้งนี้เป็นครั้งที่สองของการไปลำพะยา ครั้งแรก (ก่อนเกิดเหตุการณ์) เราไปขนซื้อทุเรียนบ้านที่อร่อยและมีลักษณะพิเศษไม่เหมือนทุเรียนบ้านที่ไหน ไปนั่งกินมังคุดและทุเรียนในหมู่บ้านก่อนจะเอกเขนกโดยมีแมวขึ้นมานอนเกาะพุง

ลำพะยาสวย อุดมสมบูรณ์ ชุ่มชื้น ร่มรื่น ...มีต้นไม้ใหญ่ มีป่าธรรมชาติ มีน้ำตก ต้นน้ำธรรมชาติ 


ที่มาภาพ เฟสบุ๊ค น้ำตกบูตง ลำพะยา

หมู่บ้านในพื้นที่ลำพะยาเราไปในวันนั้น คือหมู่บ้านที่ทางการต้องการจะเวนคืนที่ดินเพื่อที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำ ชาวบ้านต่อสู้กันมาหลายสิบปีจากรุ่นแม่สู่รุ่นลูก จากคนหนุ่มจนกลายเป็นคนแก่ ชาวบ้านหวงแหนที่ดินทำกิน หวงแหนป่าที่ตนเองเติบโต ทุเรียนบ้านอายุร้อยปี ดินที่เป็นมวลสารพระเครื่องชื่อดัง

หมู่บ้านลำพะยาที่เราไปในครั้งนี้ เป็นหมู่บ้านที่อยู่ติดกัน เราเดินทางผ่านดงไม้สวยๆ ทิวทัศน์ธรรมชาติเขียวขจีสดชุ่มตา เราไปยังวัดที่มีโลงศพวางตั้งเรียงราย พวงหรีดมากมาย เต็นท์จัดเลี้ยงอาหารขนาดใหญ่ และหน้าตาหม่นหมองของคนหลายร้อยคนในงาน

เชิงตะกอนกำลังถูกประกอบสร้างขึ้นด้วยมือชาวบ้าน อิฐถูกก่อเป็นคอก เหล็กถูกสองสามเส้นถูกสอดพาดระหว่างกลาง มีโครงไม้หุ้มผ้าลายลูกไม้ขาวตกแต่งด้านบน เราฟังพี่คนหนึ่งที่มาช่วยสร้างเล่าว่า พี่อยากได้ทหารมาประจำการที่หมู่บ้าน ทุกหมู่อยากได้หมด ยกเว้นหมู่ 7 ที่เป็นมุสลิมล้วน และพี่ก็บอกว่า หมู่ 7 เป็นหมู่เดียวที่มีทหารประจำการ ขณะที่หมู่อื่นเป็น ชรบ.

เราฟังดูก็รู้สึกย้อนแย้ง หมู่บ้านที่ไม่อยากได้ทหาร แต่ได้ทหารมาประจำการ หมู่ที่อยากได้ทหารมาประจำการ กลับได้ ชรบ.มาประจำการแทน

กรณีนี้ก็มีความคล้ายในเรื่องกฏหมายพิเศษ ที่ความเห็นของคนในพื้นที่แบ่งออกได้เป็นสองทาง คนพุทธส่วนใหญ่สนับสนุนการใช้กฏหมายพิเศษและกองกำลังของรัฐเพื่อปกป้องตนเอง พวกเขามองว่า ‘ ยิ่งพิเศษยิ่งดี ‘ ในขณะที่คนมุสลิมพื้นที่จะเกรงกลัวกฏหมายพิเศษที่เป้าหมายคือ ผู้ก่อการร้ายมุสลิม แต่ข้อครหาเรื่องแพะ การใช้กฏหมายปิดล้อมตรวจค้นจับกุมอย่างไม่เป็นธรรม การซ้อมทรมานในระหว่างการสอบสวนได้ทำลายความชอบธรรมของการใช้กฏหมายพิเศษไปในสายตาชาวบ้านมุสลิม

เรานึกถึงที่ผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งในพื้นที่บอกเราว่า ‘เรา (ชาวบ้าน) พูดอะไรมากก็ไม่ได้ เราเป็นแตงโม พวกเขาทั้งสองด้านเป็นทุเรียน‘ 

จากวัดลำพะยา เราไปบ้านของอาสาสมัคร ชรบ.มุสลิมที่เสียชีวิต เราคุยกับญาติๆ ผู้เสียชีวิต เมื่อเราถามน้องสาวผู้เสียชีวิตว่ารู้จักคนเสียชีวิตที่อยู่ที่วัดตอนนี้ไหม (หมายถึงคนพุทธ) เธอน้ำตาไหลพรากแล้วบอกว่า ‘รู้จักทุกคน คนบ้านเดียวกัน เห็นกันตลอด’

เราคิดว่า คนนอกจำนวนมากไม่ได้เห็นความสัมพันธ์ในมิตินี้

คนจำนวนมากรวมทั้ง'ขบวนการ'เองไม่ได้เห็นความผูกพันระหว่างพุทธ-มุสลิม และไม่ได้เห็นว่า ไม่ว่าใครตายพวกเขาก็เจ็บปวด พวกเขาเป็นพี่น้อง เป็นครัวเรือนขยาย เป็นคนบ้านเดียวกัน พวกเขาไม่ใช่คนอื่นและไม่ใช่คนนอกที่กำลังเคาะแป้นพิมพ์อย่างเราในเวลานี้

เหตุการณ์ความรุนแรงที่ลำพะยาครั้งนี้ จะเปลี่ยนความสันติสุขของชาวลำพะยา ที่หลายสิบปีไม่เคยมีเหตุการณ์ เพิ่งมามีเหตุการณ์ในปีนี้ เหตุการณ์แรกดูเป็นเรื่องเล็กลง เมื่อมีเหตุการสังหาร ชรบ.เกิดขึ้นตามมา เหตุการณ์นี้ใหญ่มากในรอบหลายปี 

การรุกเข้ามาปฏิบัติการของ'ขบวนการ'ครั้งนี้ จะทำให้รัฐกระชับอำนาจมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ทหารจะลงมาในพื้นที่ ความขัดแย้งระหว่างพุทธมุสลิมในพื้นที่จะเกิดขึ้น การกระชับอำนาจรัฐจะไม่ใช่แค่เพื่อแก้ปัญหาความมั่นคง แต่จะปิดปากปิดหนทางการต่อสู้ของชาวบ้านที่คัดค้านอ่างเก็บน้ำลำพะยาอีกด้วย

ส่วน'ขบวนการ' เราไม่รู้จักพวกคุณ เราไม่รู้ว่าพวกคุณจะได้น้ำเลี้ยงเพิ่มขึ้นจากปฎิบัติการนี้หรือเปล่า ถ้าคุณทำเพื่อสิ่งนี้ คุณก็คงเป็น'โจรใต้' อย่างที่เค้าว่ากันจริงๆ กระมัง แถลงการณ์ล่าสุดของคุณที่บอกให้คนมลายูพุทธ ทำความเข้าใจศึกษารากเหง้าให้ถ่องแท้ว่าคือใคร เรียนรู้ว่าควรจะปฏิบัติตนเช่นไรในผืนแผ่นดินปาตานี เป็นความคิดที่มีปัญหา เป็นความคิดที่กดหัวคนพุทธไม่ต่างจากที่คุณมองว่ามลายูถูกกดขี่

คนมุสลิมที่ลำพะยาเขาไม่ได้เคยรู้สึกว่าตนเองถูกกดขี่ การต่อสู้ของพวกคุณไม่เป็นธรรมต่อคนลำพะยา

ต่อไปนี้ ชีวิตของพี่น้องมุสลิมที่ลำพะยาจะลำบากยิ่งขึ้น จะทุกข์ยากมากขึ้น ปฏิบัติการครั้งนี้แผ้วถางทางให้แก่กฏหมายความมั่นคงและกองกำลังของรัฐ

และเมื่อได้ถูกกล่าวแก่พวกเขาว่า พวกท่านจงอย่าก่อความเสียหาแก่แผ่นดิน ซิ พวกเขาก็กล่าวว่า ที่จริงนั้น เราเป็นผู้ปรับปรุงให้ดีต่างหาก ( 2:11 )

 

พึงรู้เถอะว่าแท้จริงพวกเขานั่นแหละ เป็นผู้ที่ก่อความเสียหาย แต่ทว่าพวกเขาไม่รู้สึก (2:12)

ในสถานการณ์เช่นนี้ คนทั่วๆ ไป ชาวบ้านอย่างเราๆ ไม่รู้หรอกว่าใครเป็นใคร จะเป็นหน่วยงานความมั่นคงของรัฐหรือ'ขบวนการ' ต่างเป็นสิ่งที่สร้างความยากลำบากให้แก่คนในพื้นที่ทั้งสิ้นในด้านมุมที่แตกต่างกันออกไป
ชรบ.คือ การติดอาวุธให้ชาวบ้าน ชรบ.ไม่ได้เป็นกองกำลังเต็มรูปแบบ ไม่ได้มีการฝึกหรือความพร้อมในการปฏิบัติการ 

การทำให้ชาวบ้านเป็น ชรบ.คือการทำให้ชาวบ้านกลายเป็นเป้าหมายอ่อนแอ (soft target) ของ'ขบวนการ'
ยิ่งในหมู่บ้านที่ไม่เคยมีเหตุการณ์ความรุนแรง งาน ชรบ. เป็นรายได้เสริม และชาวบ้าน ชรบ.ก็ใช้ชีวิตตามปกติ ไม่ได้คิดระแวงว่าตนเองจะต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ปกป้องหมู่บ้านขนาดนั้น

การจัดตั้ง ชรบ. ในพื้นที่สันติสุขแบบนี้ ยิ่งทำให้ชาวบ้าน ชรบ.ทำให้หมู่บ้านยิ่งเป็นเป้าหมายของขบวนการ ต่อไปนี้ พื้นที่นี้คงถูกจัดการอีกแบบ รัฐตรึงอำนาจกว่าเดิม ที่เพิ่มเติม คือ ความสันติสุขในพื้นที่คงหายไป

 

ภาพปกจาก: หน่วยเฉพาะกิจ สันติสุข จังหวัดชายแดนใต้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท