Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ปะทุขึ้นมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “ค่ายปิเหล็ง” เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 ซึ่งถือเป็นปฐมบทหรือจุดเริ่มต้นของเชื้อไฟแห่งความรุนแรงและความไม่สงบที่ลุกโชนอยู่ในพื้นที่ปลายด้ามขวานแห่งนี้อย่างไม่มีทีท่าว่าจะมอดดับลง ตัวเลขความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินที่นับได้ในเชิงสถิติไม่อาจจะหยุดยั้งการก่อเหตุได้ ความสูญเสียด้านสภาพจิตใจของผู้คนในพื้นที่โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับผลกระทบ (โดยตรง) ก็ไม่อาจลบรอยบาดแผลแห่งความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ แม้จะมีความพยายามในแก้ไขปัญหาที่สื่อมักจะเรียกว่า “ปัญหาไฟใต้” ทั้งความพยายามจากภาครัฐที่ทุ่มงบประมาณอย่างมหาศาล ส่งกำลังพลเพื่อเสริมความมั่นคงทางกองทัพ เดินหน้าพูดคุยสันติสุขกับฝ่ายขบวนการที่มีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศที่ต่างพยายามเข้ามามีบทบาทคลี่คลายปมความขัดแย้งที่เรื้อรังนี้ แต่ความรุนแรงก็ยังคงมีให้เห็นไม่เว้นวัน 

ผ่านมา 15 ปีนับตั้งแต่วันนั้น นอกจากความสูญเสียจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว ในขณะเดียวกันความรุนแรงบนความขัดแย้งนี้ก็สร้างความตื่นตัวของประชาชนในพื้นที่ไม่ใช่น้อย ในอันที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาและหาทางออกจากวิกฤติบนความตระหนักอย่างมีจิตสำนึกต่อถิ่นฐานบ้านเกิดร่วมกัน การรวมกลุ่มของภาคประชาชนที่เรียกว่า “ภาคประชาสังคม” เกิดขึ้นเป็นกลุ่มองค์กรต่างๆ มากมายบนภารกิจและพันธกิจที่ต่างกัน แต่จุดมุ่งหมายปลายทางเดียวกัน นั่นก็คือ “การสร้างสันติสุข/สันติภาพ” ให้กลับคืนสู่พื้นที่แห่งนี้อย่างที่เคยมีมาแต่เดิมที

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ได้ให้ความหมายของคำว่า “ประชาสังคม” หรือ Civil Society ไว้ว่าเป็นแนวคิดที่มีเป้าหมายเพื่อการมีสังคมและชุมชนที่เข้มแข็ง ด้วยเป็นแนวคิดที่กว้างจึงมีผู้ให้คำนิยามไว้หลากหลาย โดยทั่วไป  ประชาสังคม หมายถึงพื้นที่หรือส่วนของสังคมที่มีประชาชนเป็นผู้แสดงบทบาทหลัก พื้นที่ดังกล่าวจึงไม่ใช่ภาครัฐซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยมีกฎหมายรองรับ และภาคธุรกิจเอกชนที่เน้นดำเนินงานโดยมุ่งแสวงหาผลกำไร ในพื้นที่ประชาสังคม ประชาชนทั่วไปเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการดำเนินการที่เป็นอิสระจากภาครัฐ และอยู่นอกบริบทการแข่งขันทางการเมือง นั่นจึงหมายถึงว่า “ภาคประชาสังคม หรือ CSO เป็นพื้นที่ทางสังคมซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับภาครัฐ”

เมื่อเป็นไปตามนิยามข้างต้น หากจะกล่าวถึง “บทบาทของภาคประชาสังคมในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” ควรเป็นอย่างไร ? เพื่อให้สามารถตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ที่เห็นผลลัพธ์เป็นรูปธรรม ตลอดจนการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธีอย่างแท้จริง

กว่า 10 ปีให้หลังมานี้ การเกิดขึ้นของ “องค์กรภาคประชาสังคม” ในพื้นที่ครอบคลุมการขับเคลื่อนงานในทุกมิติของปัญหา ไม่ว่าจะเป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ด้านกฎหมายและการอำนวยความยุติธรรม ด้านการศึกษา ด้านเด็ก เยาวชน และสตรี ตลอดจนด้านอื่นๆ ที่ต่างก่อตั้งขึ้นมาเพื่อสอดรับการทำงานเพื่อคืนความสงบสุขให้กับพื้นที่ โดยนับตั้งแต่ที่มีการจัดตั้ง “สภาประชาสังคมชายแดนใต้” ขึ้นมาเมื่อปี 2554 เพื่อเป็นพื้นที่ในการระดมความคิดเห็นจากภาคประชาชนในเรื่องการเพิ่มศักยภาพและพลังอำนาจของภาคประชาชน การกำหนดทิศทางในการแก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประสานงานและสนับสนุนกันระหว่างรัฐและเอกชน รวมทั้งสื่อสารและสร้างพื้นที่สาธารณะเพื่อการเปลี่ยนแปลงและสร้างสรรค์สังคมนั้น ความตื่นตัวของประชาชนในการที่จะมีส่วนร่วมต่อการแก้ปัญหาในพื้นที่ก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ มีการก่อตั้งองค์กรต่างๆ เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด ซึ่งจากข้อมูลของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) พบว่าปัจจุบันมีองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานในพื้นที่มากกว่า 500 องค์กร นับว่าเป็นเรื่องที่ดีที่เราเห็นความตื่นตัวและการผนึกกำลังร่วมกันของประชาชนในพื้นที่ที่หันมาให้ความสนใจต่อการแก้ปัญหาและสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้น บทบาทของภาคประชาสังคมที่มีประชาชนเป็นผู้แสดงบทบาทหลักจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการดำเนินการใดๆ ที่เป็นอิสระจากภาครัฐ

ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมาของผู้เขียนเองในฐานะผู้ทำงานประชาสังคมคิดว่า “บทบาท” ที่สำคัญอย่างยิ่งของกลุ่มคนหรือองค์กรที่ทำงานด้านประชาสังคมที่ดีนั้นจะต้องวางตนอยู่บนหลักการ 5 ประการดังนี้

1. เป็นโซ่ข้อกลางระหว่างรัฐกับประชาชน: ต้องยอมรับว่าสิ่งหนึ่งที่เป็นผลพวงจากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตลอดระยะเวลากว่า 15 ปีที่ผ่านมาก็คือ การขาดความไว้วางใจและความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ที่มีต่อการพยายามแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากภาครัฐทั้งในด้านนโยบาย การปฏิบัติการด้านความมั่นคง และการพัฒนาพื้นที่ให้กลับคืนสู่ความสงบสุขโดยเร็ว ซึ่งหากภาคประชาสังคมสามารถเชื่อมจุดตัดระหว่างรัฐกับประชาชนเข้าด้วยกันได้ผ่านการสร้างความเข้าใจที่ดีต่อกันและการสื่อสารที่ถูกต้องเพื่อแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งโดยสันติวิธี ก็จะถือเป็นกระบวนการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ที่ให้ผลลัพธ์ได้ดีที่สุด 

2. ปราศจากผลประโยชน์: ภาคประชาสังคมต้องตระหนักอยู่เสมอว่าเราคือ ส่วนของสังคมที่มีประชาชนเป็นผู้แสดงบทบาทหลักในการแก้ปัญหาสังคม ภาคประชาสังคมไม่ใช่ภาครัฐที่มุ่งแต่อำนาจ ไม่ใช่กลุ่มการเมืองที่สร้างแต่ฐานเสียง ไม่ใช่ภาคธุรกิจที่ลงทุนไปแล้วต้องได้กำไรกลับคืน หากแต่คือภาคประชาชนที่ลุกขึ้นมาแก้ปัญหาของประชาชนด้วยกันเอง การทำงานของภาคประชาสังคมบางครั้งลงทุนลงแรงไป 10 บางทีอาจจะได้คืนมาแค่ 5 บางครั้งลงทุนไป 10 ก็ไม่ได้กลับคืนมาสักบาท และหลายครั้งมี 10 ต้องลงทุนไป 15 ด้วยซ้ำ งานประชาสังคมจึงต้องการความเสียสละที่จริงใจ หากหวังแต่ผลประโยชน์คงไปกันไม่รอด ผลลัพธ์ก็คงเท่าเดิม

3. ทำในสิ่งที่รัฐทำไม่ได้: ข้อนี้สำคัญ องค์กรภาคประชาสังคมหลายองค์กรยังสับสนกับบทบาทที่แท้จริงของตนเอง ไปทำในสิ่งที่ซ้ำกับรัฐที่รัฐสามารถทำได้ บทบาทจึงไม่ต่างกับรัฐ บางครั้งทำหน้าที่เปรียบเสมือนองค์กรเงาของรัฐด้วยซ้ำ การทำหน้าที่ของภาคประชาสังคมที่ดีจึงควรจะเป็นการทำงานที่ทำได้ดีกว่ารัฐ อาจจะสวนทางกับแนวทางของรัฐแต่ไม่ใช่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ เช่น การเข้าถึงปัญหาของประชาชน ผู้ที่ทำงานประชาสังคมต้องเข้าถึงได้มากกว่ารัฐ เพราะประชาสังคมมาจากประชาชน การนำความต้องการของประชาชนสู่การปฏิบัติเพื่อประชาชน ไม่ใช่การแปลงนโยบายจากรัฐบาลสู่ประชาชน ซึ่งบางครั้งก็ไม่ตรงกับความต้องการที่แท้จริงของประชาชน เป็นต้น

4. ไม่โอนเอนต่ออำนาจ: การทำงานของภาคประชาสังคมมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การทำงานที่ตรงไปตรงมาทั้งในระดับพื้นที่และการขับเคลื่อนความเข้าใจที่ดีต่อนอกพื้น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สามารถสะท้อนเสียงของประชาชนได้จริง ไม่บิดเบือน โดยปราศจากการครอบงำของอำนาจโดยผู้มีอำนาจใดๆ ภาคประชาสังคมควรจะเน้นย้ำในจุดยืนของตนเองคือ ประชาสังคมคือองค์กรที่ไม่ใช่รัฐ ไม่ใช้อาวุธ และต้องปฏิเสธความรุนแรงทุกรูปแบบในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ดังนั้นสิ่งสำคัญคือภาคประชาสังคมต้องเข้ามาทำงานในพื้นที่สาธารณะที่ขับเคลื่อนด้วยงานความรู้เพื่อสร้างอิทธิพลเหนือคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย เพื่อสร้างอำนาจต่อรองที่เป็นประโยชน์กับคนในพื้นที่จริงๆ ไม่ใช่การโอนเอนต่ออำนาจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

5. เป็นมิตรที่ประชาชนไว้ใจได้: การลดเงื่อนไขที่จะนำไปสู่ความรุนแรงและความหวาดระแวงต่อกันของคนในพื้นที่ที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การสร้างความเข้าใจที่ดีและความไว้วางใจต่อกัน ไม่เฉพาะแต่ระหว่างประชาชนกับรัฐเพียงเท่านั้น แต่รวมถึงประชาชนกับกลุ่มคนทำงานประชาสังคมด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาประชาชนมีความหวาดกลัวและไม่กล้าที่จะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่รัฐเท่าที่ควรมากนัก ดังนั้น คนทำงานประชาสังคมจึงควรวางตัวด้วยการสร้างบทบาทให้เป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือ ประชาชนสามารถไว้ใจได้ สามารถเป็นตัวแทนของประชาชนที่สร้างการรับรู้ที่ดี เข้าใจปัญหาในพื้นที่ได้จริง และเข้าถึงประชาชนได้อย่างเป็นมิตรเพื่อเป็นตัวประสานและเชื่อมต่อประเด็นปัญหาต่างๆ ทั้งในระดับพื้นที่และนอกพื้นที่ได้

การเข้าใจบทบาทดังกล่าว ผู้เขียนเชื่อว่า “การขับเคลื่อน” งานของภาคประชาสังคมก็จะสามารถทำหน้าที่ในการเชื่อมต่อผู้คนในพื้นที่ในทุกระดับและทุกกลุ่ม ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน องค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงกลุ่มผู้เห็นต่างด้วย โดยใช้ความเป็นคนพื้นที่และองค์ความรู้ต่างๆ เป็นกลไกที่สามารถผลักดันเสียงของประชาชนและวาระของพื้นที่ไปสู่ข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายที่สามารถสร้างความชอบธรรมของผู้คนในพื้นที่ อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพได้ 

หากเป็นเช่นนี้แล้ว สิ่งที่ภาคประชาสังคมต่างมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะช่วยคลี่คลายความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกิดขึ้นด้วยความเสียสละมาตลอดระยะเวลากว่า 1 ทศวรรษ ก็จะผลิดอกออกผลแห่งสันติภาพและสันติสุขบนแผ่นดินปลายด้ามขวานแห่งนี้ในอีกไม่ช้าอย่างแน่นอน



เกี่ยวกับผู้เขียน: อับดุลปาตะ ยูโซะ เป็นประธานเครือข่ายเยาวชนพัฒนาบ้านเกิด (PPS) และประธานกลุ่มเยาวชนบ้านไทยสุข
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net