ข้อเสนอการจัดการเหตุการณ์ความรุนแรงในระดับท้องถิ่น

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

จากเหตุการณ์ที่มีกลุ่มคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงถล่มป้อมชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ม. 5 ต.ลำพะยา อ.เมือง จ.ยะลา ส่งผลให้ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน และประชาชน เสียชีวิตจำนวน 15 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 5 ราย

หลังจากเหตุการณ์ข้างต้น ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา มีการขยายผลทางข่าวสารอย่างหลากหลาย สร้างความสับสน ความกังวลแก่ผู้รับสารในหลากหลายประเด็น อีกทั้งข้อสงสัยถึงระบบความปลอดภัยในพื้นที่ ในการนี้ ผมจะนำเสนอจากการเฝ้ามองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผ่านข้อเสนอ 3 ประการ หรืออาจะเรียกว่า “การจัดการความรุนแรงในระดับท้องถิ่น (Localizing Violence incident management: LVIM) ดังนี้

ประการที่ 1 การจัดการข้อมูลข่าวสาร ในห้วงเวลาเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ ต้องมีผู้ที่ทำหน้าที่คอยรายงานสถานการณ์ที่ตรงกับความเป็นจริงในพื้นที่ให้มากที่สุด ไม่ควรตั้งธงผู้กระทำความผิดอย่างเร่งด่วน ควรหาหลักฐานให้ชัดเจน สื่อสารกับประชาชนตรงไปตรงมา เน้นข้อเท็จจริง (ไม่ควรปล่อยให้คนไม่เข้าใจสถานการณ์สื่อสารสร้างความสับสน) ข้อมูลใด ๆ ที่คิดว่าไม่ทราบก็ไม่ควรสื่อสารออกมา หน่วยงานที่เหมาะสมที่จะทำหน้าที่นี้มากที่สุด คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ระดับผู้บริหารท้องถิ่นต้องพยายามเป็นคนคอยรายงาน แถลงการณ์สถานการณ์ในพื้นที่เป็นระยะ ๆ ให้กับประชาชนในพื้นที่ และประชาชนทั้งประเทศ สื่อสารขั้นตอนตรวจสอบ สอบสวนต่าง ๆ ให้มากที่สุด โปร่งใสที่สุด เพื่อลดความปั่นป่วนของข่าวสาร ไม่สร้างความวิตกกังวลจนมากเกินไป ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุดกว่ารัฐบาลกลาง ต้องพยายามทำหน้าที่สื่อสารข้อเท็จจากพื้นที่ให้มาก

ประการที่ 2 แผนการรับมือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ต้องมีแผนในการรับมือกับสถานการณ์ความไม่สงบ ต้องมีแผนที่เป็นธรรมนูญของท้องถิ่น เมื่อเกิดเหตุควรรับมืออย่างไร ต้องมีการสื่อสารกับประชาชนในท้องถิ่น และประชาชนทั้งประเทศอย่างไร จะฟื้นฟูพื้นที่อย่างไรหลังเหตุการณ์ การเยียวยาผู้เปราะบาง จะช่วยให้เขายืนขึ้นได้อย่างไร (หลังสูญเสียคนในครอบครัว) ต้องพยายามคืนชีวิตปกติของเขาโดยเร็ว และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องมีการถอดบทเรียนสิ่งที่เกิดขึ้น ว่าเกิดจากอะไร จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก หรือถ้าเกิดเหตุอีกต้องรักษาชีวิตคนได้ ดังนั้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องมีการแผนรับมือ ทั้งก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ หลังเกิดเหตุ และให้ความรู้กับปนะชาชนในขั้นตอนตามแผน ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นวางไว้ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน การรับมือ และการปรับตัวของประชาชน และรักษาชีวิตของประชาชนได้ 

ประการที่ 3 พัฒนาเทคโนโลยีความปลอดภัย ต้องมีการสร้างระบบความปลอดภัยในท้องถิ่น (Local Security System) โดยใช้เทคโนโลยี ลดการใช้คนเป็นเป้าการโจมตี อย่างชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือ ชรบ. ถือเป็นกลุ่มที่เปราะบางทางสังคมพอสมควร เพราะเขาเป็นแค่ชาวบ้านอาสา ไม่มีเงินเดือนด้วยซ้ำ มีเพียงสวัสดิการเมื่อชีวิตในหน้าที่เท่านั้น เหตุดังกล่าวไม่ควรเปิดรับความเสี่ยงใด ๆ ต่อชาวบ้านอาสาเล่านี้ ควรหันมาลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูงในยุคสมัยนี้เพื่อสร้างประโยชน์ให้มากที่สุด จะใช้ระบบควบคุมทางไกล (ดาวเทียม เรดาร์) ติดตั้ง Sensor คอยตรวจจับ พร้อมติดตั้ง GPS บอกตำแหน่งพิกัด (X,Y,Z) ความเร็วและเวลา และประเมินผลผ่านระบบสารสนเทศ หรือ GIS และ เพื่อจับพิกัด อะไรก็ได้ในลักษณะนี้ เพื่อสร้างระบบความปลอดภัยแทนคน เมื่อเกิดเหตุมีระบบก็รายงาน แจ้งเตือนต่อเจ้าหน้าเข้าพื้นที่ได้ในเวลาอันรวดเร็ว ลดความเสี่ยงในการใช้คนเป็นเป้า ลดความเสี่ยงการเปิดรับต่อพื้นที่ เพื่อรักษาชีวิตคนในชุมชน ท้องถิ่น และการใช้เทคโนโลยีในการรักษาความปลอด ยังช่วยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีข้อมูลที่เพียงพอในข้อเท็จจริง และสามารถหาข้อผิดพลาดเพื่อแก้ไขระบบให้ดีกว่าเดิมได้

บทสรุป จากข้อเสนอข้างต้น หากมีการจัดการข่าวสาร การมีรับมือสถานการณ์ในท้องถิ่นตนเอง และหันมาใช้เทคโนโลยี จะช่วยลดความปั่นป่วน สับสนของข่าวสาร ที่จะนำไปสู่ความเข้าใจผิด แผนการจัดการก่อนเกิด ช่วงเกิดกับการรับมือทางกาย จิตใจ หลังเกิด ต้องฟื้นฟู เยียวยาที่นำความปกติในชีวิตผู้คนในท้องถิ่นกลับมาอย่างรวดเร็วและดีกว่าเดิม เพื่อลดการเปิดรับความเสี่ยต่อคนในชุมชน ท้องถิ่น

ข้อเสนอทั้ง 3 ประการ สิ่งที่ผมให้ความสำคัญต่อหน่วยงานอย่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อันเนื่องจากเป็นหน่วยงานที่ดูแลประชาชนในระดับพื้นที่ไม่ได้ใหญ่มาก และไม่ได้เล็กจนเกินไป และเพื่อตั้งมันในหลักการกระจายอำนาจ ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้มีความสามารถในการจัดการตนเอง และแก้ไขปัญหาของประชาชนในท้องถิ่นได้ทันท่วงที 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท