Skip to main content
sharethis

อีโว โมราเลส ประธานาธิบดีโบลิเวียแถลงลาออก หลังเผชิญการชุมนุมต่อต้านในหลายเมืองใหญ่ด้วยข้อครหาโกงเลือกตั้งเดือนตุลาคม หลังเกิดเหตุหยุดนับคะแนนกระทันหัน ทั้งนี้นับเป็นการลงจากอำนาจของผู้นำโบลิเวียคนแรกที่มาจากชนพื้นเมือง โดยเขาเป็นประธานาธิบดีมายาวนานกว่า 13 ปี

แฟ้มภาพ ประธานาธิบดีอีโว โมราเลส เมื่อปี 2551 (ที่มา: Joel Alvarez/Wikipedia)

ประธานาธิบดีเอโว โมราเลส แห่งโบลิเวียประกาศลาออกจากประธานาธิบดี แล้วเมื่อวานนี้ (10 พ.ย.) หลังตำรวจหันไปเข้าร่วมกับฝ่ายผู้ประท้วง ขณะที่ผู้นำกองทัพประกาศจุดยืน “จะไม่เผชิญหน้ากับผู้ชุมนุม” ทั้งนี้การตัดสินใจลาออกของโมราเลส ตามมาด้วยการลาออกของคณะรัฐมนตรีหลายคน นับเป็นการลงจากอำนาจหลังเป็นโมราเลส เป็นผู้นำรัฐบาลของชนพื้นเมืองมานานมากกว่า 13 ปี

ก่อนหน้านี้เมื่อค่ำวานนี้ (10 พ.ย.) ยังคงเกิดเหตุปะทะขึ้นตามท้องถนนในกรุงลาปาซ และอาคารหลายแห่งถูกวางเพลิง หลังจากที่กองทัพโบลิเวียออกมาเรียกร้องให้ โมราเลส สละตำแหน่งเพื่อยุติเหตุจลาจลอันสืบเนื่องมาจากผลการเลือกตั้งเมื่อ 20 ตุลาคมที่ถูกครหาว่าเต็มไปด้วยการฉ้อโกง

ทั้งนี้การประท้วงต่อต้านอีโว โมราเลส และผลการเลือกตั้งในโบลิเวียดำเนินมาเป็นเวลามากกว่า 17 วันแล้ว หลังจากที่ก่อนหน้านี้ในเดือนตุลาคม มีการตั้งข้อสังเกตว่าฝ่ายโมราเลสอาจจะทำการเล่นตุกติกต่อผลการนับคะแนนเพื่อให้ตัวเองให้เป็นผู้นำต่อไปในสมัยที่ 4

ฝ่ายอีโว โมราเลส กล่าวหาว่าผู้ประท้วงเป็นคนที่พยายามโค่นล้มเขาและเป็นกลุ่มที่ "โจมตีหลักนิติธรรม" และถึงแม้ว่าล่าสุดจะมีกลุ่มตำรวจประกาศเข้าร่วมกับฝ่ายผู้ชุมนุม รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของโบลิเวียก็บอกว่าเขาไม่มีแผนการจะส่งกองทัพไปกำราบกลุ่มตำรวจที่ "ขัดขืนคำสั่ง" จาเวียร์ ซาบาเลตา รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมแถลงผ่านสื่อโทรทัศน์ช่องของรัฐบาลเรียกร้องให้อยู่ในความสงบและบอกว่าเขาเชื่อว่าตำรวจจะกลับไป "ทำงานตามกฎหมายเพื่อคุ้มครองประชาชนต่อไป"

มีรายงานว่าการประท้วงในวันศุกร์ที่ผ่านมา (8 พ.ย.) มีตำรวจเข้าร่วมจำนวนมากถึงแม้ว่าจะไม่มีจำนวนตัวเลขที่แน่ชัด เจ้าหน้าที่เข้าร่วมประท้วงในหลายเมืองไม่ว่าจะเป็น ลาปาซ, ซูเคร, โคชาบัมบา, ซานตาครูซ, โปโตซี และโอรุโร

เจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบหลายนายเรียกร้องให้ โมราเลส ลาออกจากตำแหน่งและบอกว่าพวกเขาจะหยุดยั้งไม่ให้โมราเลส "ทำให้โบลิเวียกลายเป็นเผด็จการแบบประเทศพันธมิตรของเขาอย่างคิวบากับเวเนซุเอลา"

การประท้วงครั้งล่าสุดนี้มาสาเหตุมาจากความไม่พอใจกระบวนการนับคะแนนในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 20 ต.ค. ซึ่งถูกมองว่ามีการโกงการนับคะแนน มีประชาชนเสียชีวิตจากการประท้วงต่อเนื่องนี้แล้วอย่างน้อย 3 ราย และเมื่อไม่นานนี้ก็มีเหตุการณ์ที่ผู้ประท้วงทำร้ายนายกเทศมนตรีของเมืองเล็กๆ แห่งหนึ่งโดยลากตัวเธอมาบนท้องถนนทั้งเท้าเปล่า เทสีแดงใส่ตัวเธอและใช้กำลังบังคับตัดผมของเธอ

สาเหตุที่การนับคะแนนในการเลือกตั้งดังกล่าวมีเงื่อนงำน่าสงสัยเพราะว่าในขณะที่มีการนับคะแนนอยู่นั้นก็มีการหยุดนับคะแนนกระทันหันโดยไม่บอกสาเหตุใดๆ เป็นระยะเวลา 24 ชั่วโมง ก่อนจะประกาศคะแนนใหม่ซึ่งผลออกมาว่าโมราเลสมีคะแนนผ่านเกณฑ์ที่จะได้รับชัยชนะอย่างเฉียดฉิว

องค์การรัฐอเมริกัน (OAS) ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติประกอบด้วยประเทศในทวีปอเมริกากำลังทำการรตวจสอบการนับคะแนนในครั้งนี้และน่าจะเปิดเผยผลการตรวจสอบภายในสัปดาห์นี้

เรียบเรียงจาก

Bolivian police join protests against President Morales, BBC, 10 November 2019

Political vacuum in Bolivia as Morales announces resignation, Aljazeera, 11 November 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net