Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในปัจจุบันหากมองความเหลื่อมล้ำด้วยสายตาคนทั่วไป ไม่ใช่ปัญญาชนนักเศรษฐศาสตร์ที่มองผ่านข้อมูลเชิงปริมาณที่ใช้แสดงออกมาเป็นกราฟต่างๆ เราจะพบว่า ความเหลื่อมล้ำอยู่รอบตัวเราเต็มไปหมด คนจนมีโอกาสซื้อของได้แพงกว่าคนรวยเช่น สบู่ 12 ก้อน 1 โหล ราคา 120 บาท ใช้ได้ 1 เดือนตกก้อนละ 10 บาท แต่ถ้าขายปลีก ราคาก้อนละ 15 บาท โอกาสที่คนค่าแรง 300 จะซื้อสบู่ในราคา 15 ต่อก้อนมีแนวโน้มมากกว่าเพราะเงิน 120 บาท เท่ากับ 40 % ของค่าแรงที่พวกเขาได้รับในแต่ละวัน หรือแม้แต่การเลือกซื้อ เครื่องปรับอากาศปกติ กับ เครื่องปรับอากาศระบบอินเวอร์เตอร์ ก็มีการใช้ไฟที่ต่างกัน ยิ่งราคาสูงระบบดีขึ้นก็จะประหยัดไฟมากขึ้น คนรายได้ไม่มากนักที่ไม่สามารถซื้อ เครื่องปรับอากาศระบบดีๆ ได้ก็จะมีโอกาสเสียค่าไฟฟ้ามากกว่าคนที่สามารถซื้อได้ในกรณีที่เปิดเครื่องปรับอากาศในเวลาและสภาพแวดล้อมเดียวกัน

อีกหนึ่งความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจนและเป็นปัญหาใหญ่มานานแต่ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ผมยังไม่พบว่ามีพรรคการเมืองไหนเสนอทางแก้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำนี้ นั่นคือ การที่ในต่างจังหวัดยังไม่มีขนส่งสาธารณะทั่วถึงประชาชนในต่างจังหวัดต้องแบกรับภาระที่จะต้องซื้อรถดูแลรถและความเสี่ยงในการเข้าถึงรถที่ปลอดภัยด้วยตัวเอง ในขณะที่คนกรุงเทพมีทางเลือกในการเดินทางมากที่เป็นสาธารณะกว่าทั้ง รถไฟฟ้า รถมล์ ในปี 2018 จากรายงานของ WHO ไทยมีอัตราการเสียชีวิตสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อัตราการเสียชีวิต 32.7 คนต่อ 1 แสนคน แบ่งเป็นผู้ใช้จักรยานยนต์ 24.3 คนต่อ 1 แสนคน รถยนต์ 4 คนต่อ 1 แสนคน คนเดินเท้า 2.5 คนต่อ 1 แสนคน และผู้ใช้จักรยาน 1.1 คนต่อ 1 แสนคน [1]

จะเห็นได้ว่าจากรายงานผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในต่างจังหวัดมีโอกาสเสียชีวิตบนท้องถนนมากกว่าผู้ใช้รถยนต์นี่คือหนึ่งในความเหลื่อมล้ำของบริการสาธารณะภาครัฐที่สามารถมองเห็นและสัมผัสได้ด้วยตาเปล่า อีกทั้งข้อมูลจาก Melbourne Mercer Global Pensions Index 2019 ที่ศึกษาความพร้อมของระบบบำเหน็จบำนาญใน 37 ประเทศทั่วโลก ผ่านการประเมินด้วยเกณฑ์ต่างๆ กว่า 40 เกณฑ์ เช่น สิทธิประโยชน์ของวัยทำงาน การเก็บออมเงิน ความเป็นเจ้าของบ้าน การเติบโตของสินทรัพย์ ความครอบคลุมของระบบบำเหน็จบำนาญ ประชากรศาสตร์ การเติบโตของเศรษฐกิจ และอื่นๆ ไทยถูกจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีระบบบำนาญนอกระบบราชการที่แย่ [2]

การมีระบบบำนาญที่แย่นั้นไม่เพียงส่งผลแก่ผู้สูงอายุเท่านั้นแต่ยังส่งผลกระทบต่อ คนวัยทำงานที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้หลายคนต้องทำงานเพื่อเลี้ยงดูพ่อแม่ที่เป็นผู้สูงอายุจนต้องทำงานหนักจนไม่มีเวลาพัก ในกรณีการมีบุตรก็เช่นกันระบบสวัสดิการดูแลบุตรในสังคมไทยยังคงเป็นแบบสงเคราะห์อนาถาต้องพิสูจน์ความจนจึงจะได้มาความครอบคลุมของสวัสดิการจึงไม่ได้เป็นเหมือนบริการที่ภาครัฐช่วยดูแลลดภาระในส่วนนี้แต่เป็นการที่รัฐเวทนาสงเคราะห์ให้ประชาชนอย่างไม่ถ้วนหน้าเท่าเทียมกัน นี่เป็นอีกตัวอย่างความอนาถาของสังคมไทยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนแบบรัฐเป็นผู้สงเคราะห์ประชาชนเมื่อประชาชนใกล้จะตายเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ หาใช่รัฐเป็นผู้บริการดูแลประชาชนตั้งแต่เกิดจนตายแบบในประเทศรัฐสวัสดิการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ 

พรเทพ สุคนธ์วิมลมาลย์: เก็บภาษีความมั่งคั่งจากคน 1% ใช้สร้างรัฐสวัสดิการให้คนทุกคน ข้อเสนอเพื่อสร้างสังคมใหม่ที่เป็นธรรม (1)

จากบทความตอนแรก พรเทพ สุคนธ์วิมลมาลย์ ได้เสนอให้เก็บภาษีทรัพย์สินคนรวยได้เงินมา 3 แสนล้านบาทแล้ว ขั้นตอนในการลดความเหลื่อมล้ำขั้นต่อไปที่ควรทำควบคู่กันไป ผมอยากเสนอ รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า เพื่อกระจายรายได้ในส่วนนี้ให้กลายเป็น รัฐสวัสดิการโครงสร้างพื้นฐานแก่ทุกคนในสังคมให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน 3 แสนล้านบาทจากภาษีทรัพย์สินตามข้อเสนอของ Bernie Sanders สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในข้างต้น

พรเทพ ได้เคยเสนอการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงขนส่งสาธารณะโดยการที่รัฐส่วนกลางให้งบรายหัวเพื่อสร้างขนส่งสาธารณะถ้วนหน้าให้ทั่วถึงทุกจังหวัด 3,000 บาท / คน / ปี จะใช้งบประมาณปีละ 2.07 แสนล้านบาท/ปี จากนั้นออกกฎหมายเพื่อบังคับให้ท้องถิ่นต้องใช้งบในส่วนนี้เพื่อไปสร้างขนส่งสาธารณะในพื้นที่ของตนเองตามลักษณะพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนมีขนส่งสาธารณะใช้อย่างถ้วนหน้าเท่าเทียม ให้ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางอย่างเท่าเทียมไม่ต้องให้คนต่างจังหวัดต้องเสี่ยงเสียชีวิตด้วยรถจักรยานยนต์อย่างที่ผ่านมา

หรือหากอยากที่จะเพิ่มความมั่นคงให้ชีวิตประชาชน เงิน 3 แสนล้านยังสามารถนำไปใช้เป็นเงินบำนาญถ้วนหน้า ให้ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 9.1 ล้านคน ได้อีก 1,500 บาท/เดือน สวัสดิการเด็ก 0 – 6 ปี จำนวน 5 ล้านคน ได้อีก 1,500 บาท/เดือน สวัสดิการถ้วนหน้าตามช่วงอายุสองอย่างนี้ใช้เงินปีละประมาณ 2.6 แสนล้านบาท สวัสดิการสองอย่างนี้สามารถเพิ่มความมั่นคงสร้างระบบบำนาญถ้วนหน้าในเบื้องต้น สร้างสวัสดิการพื้นฐานสำหรับเด็กวัย 0 – 6 ปี ได้ เพราะสวัสดิการถ้วนหน้าในสองส่วนนี้มาช่วยแบ่งเบา อาจจะส่งผลให้คนวัยทำงานที่มีลูก มีพ่อแม่ ที่ต้องดูแล สามารถมีหลักประกันส่งให้พวกเขากล้าตัดสินใจหยุดงาน กล้าตัดสินใจพักผ่อน กล้าซื้อของมากขึ้น หรือแม้แต่กล้าที่จะตัดสินใจต่อรองผลประโยชน์กับที่ทำงานได้บ้าง 

การเก็บภาษีทรัพย์สินหาตามข้อเสนอของ Sanders มิได้ทำให้คนรวยจนลงหรือล้มละลายหายไป จากการสำรวจข้อมูลความร่ำรวยจาก Forbes ยังพบว่าในระยะเวลา 10 ปี จากปี 2551-2561 เศรษฐีไทยรวยขึ้นทุกปีเฉลี่ยปีละไม่ต่ำกว่า 15% [3] จนช่องว่างของความมั่งคั่งห่างถ่างออกเรื่อยๆ การสะสมทุนของเศรษฐี 1% บนของประเทศล้วนได้รับการสนับสนุนจากรัฐทั้งทางตรงและทางอ้อมครองค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (Rent) ใช้ทรัพยากรส่วนรวมของประเทศในการสะสมทุน จนกลายเป็นมหาเศรษฐี หากต้องการลดและป้องกันความเหลื่อมล้ำในอนาคตปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเราต้องเก็บภาษีความมั่งคั่งดังที่ Sanders ได้เสนอ

สุดท้ายนี้ทั้งข้อเสนอทางภาษีและข้อเสนอการนำภาษีในส่วนที่เก็บได้มาสร้าง รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ผมและมิตรสหายยืนยันว่า มันจะสามารถ ลดและป้องกันการถ่างกว้างของความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ช่วยสร้างความมั่นคงเพิ่มอำนาจให้ประชาชน และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนไปข้างหน้าได้

 

อ้างอิง: 

[1] WHO Global status report on road safety 2018
[2] Melbourne Mercer Global Pensions Index 2019
[3] โสภณ พรโชคชัย: 12 ข้อต้องรู้ คนรวยสุดขีดมันเป็นยังไง https://prachatai.com/journal/2019/02/81217
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net