เดินเล่น 4 พื้นที่เรียนรู้ย่านนางเลิ้ง หวังคนร่วมสื่อสารอัตลักษณ์ย่านเมืองเก่าสู่สังคม

โครงการ Urban Jam ชุมชนนางเลิ้ง ชุมชนวัดโสมนัสนำกลุ่มคนรุ่นใหม่ จาก Saturday School ร่วมเดินตามแหล่งพื้นที่เรียนรู้ในชุมชน เพื่อนำข้อมูล ความรู้และประสบการณ์ไปใช้ผลิตสื่อมีเดียในการถ่ายทอดสู่สังคมภายใต้การพัฒนาเมืองอย่างมีส่วนร่วม

กิจกรรมเรียนรู้บริเวณวัดญวนสะพานขาว

11 พ.ย. 2562 เมื่อวันที่ 27 ต.ค. ที่ผ่านมา กลุ่ม Urban Jam โครงการภายใต้โครงการ MIDL For Inclusiveness Cities 2019 โดยสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน จัดกิจกรรมร่วมกับ Saturday School นำกลุ่มนักเรียนกว่า 40 คนและพี่เลี้ยงอาสาคนรุ่นใหม่กว่า 20 คน ที่มีความสนใจอยากจะพัฒนาเมืองอย่างมีส่วนร่วม ผ่านการถ่ายทอดออกมาเป็นการทำสื่อสร้างสรรค์ เดินผ่านเส้นทางพื้นที่เรียนรู้ในชุมชนย่านนางเลิ้ง (ชุมชนศุภมิตร 1 ชุมชนศุภมิตร 2 ชุมชนวัดแคนางเลิ้ง) และชุมชนข้างเคียง คือชุมชนวัดญวนสะพานขาว และชุมชนวัดโสมนัส

การเดินทางเริ่มต้นที่วัดญวนสะพานขาว (วัดสมณานัมบริหาร) มีการเล่าความเป็นมาของประวัติศาสตร์ความเชื่อของชาติพันธุ์ชาวญวนโดยตัวแทนคณะสงฆ์อนัมนิกาย แล้วจึงพาไปชิมวัฒนธรรมอาหารชาวญวนและขนมจีนมะเหง่หรือขนมจีนญวน ก่อนที่ช่วงบ่ายจะแบ่งกลุ่มออกไปตามพื้นที่การเรียนรู้ทั้งหมด 4 เส้นทางการเรียนรู้ โดยการนำทางของ สมาชิกของโครงการ Urban Jam และเยาวชนจากชุมชนวัดโสมนัสในฐานะที่เคยเป็นผู้ศึกษาเส้นทางมาก่อน 

พื้นที่การเรียนรู้ช่วงบ่ายแบ่งออกเป็น 4 เส้นทางการเรียนรู้ เส้นทางการเรียนรู้แรกได้แก่ ญวนถึงแค: ชุมชนชาติพันธุ์ โดยเปิดพื้นที่เรียนรู้ผ่านการเล่าถึงประวัติศาสตร์วิถีชีวิตของผู้คนผ่าน ศาลเจ้า ตำนาน เรื่องเล่าชุมชนแออัด และสาธิตการทำบัวลอยญวนให้กับผู้ที่สนใจ 

เส้นทางที่สอง นางเลิ้งไม่เคยหลับ จากน้ำขึ้นบก: ความรุ่งเรืองของตลาดและวิถีชีวิตคนจีน ซึ่งเริ่มบอกเล่าตั้งแต่ประวัติศาสตร์วิถีชีวิตของคนจีนในสยามกับคลองผดุงกรุงเกษมผ่านการเป็นตลาดน้ำและตลาดบก จากนั้นชวนไปสำรวจสถานที่สำคัญชุมชนศุภมิตร 1 และ 2 เช่น โรงฝิ่นเก่า โรงแรมเก่า ตรอกโคมเขียว ศาลาเฉลิมธานี ผ่านการบอกเล่าของชาวชุมชนในพื้นที่ และร่วมเรียนรู้ในวัฒนธรรมอาหารอย่างซอสแดง ขนมผักกาดและขนมเทียน จากนั้นจึงไปที่หมายต่อไปที่วัดแคนางเลิ้งที่เป็นสถานที่บรรจุอัฐิมิตร ชัยบัญชา ดาราชื่อดังของไทยในสมัยก่อน

กิจกรรมเรียนรู้เส้นทางที่สอง ในชุมชนศุภมิตร1 และ 2 (ตลาดนางเลิ้ง)

เส้นทางการเรียนรู้ที่สาม ศิลปะ ศิลปิน ชุมชนศิลปะของย่าน เชื่อมภาพวัง วัด บ้านและศิลปะ เรียนรู้ประเด็นเรื่องชาติพันธุ์ ดนตรี เครื่องแต่งกายเต้นรำและละครชาตรี โดยให้ผู้ร่วมกิจกรรมทดลองเล่นละครชาตรี ทดลองนุ่งโจงกระเบนและตั้งวงขึ้นท่าร่ายรำ 

กิจกรรมเรียนรู้เส้นทางที่สาม ณ บ้านเต้นรำ ย่านนางเลิ้ง

เส้นทางการเรียนรู้ที่สี่ วัง วัด บ้าน ก่อร่างสร้างเมืองเก่า เลาะคลองผดุงกรุงเกษมเข้าวัดโสมนัส ชมประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรม อุโบสถแก้ว เจดีย์ใหญ่ เจดีย์มอญ สนามมวยราชดำเนิน และ เดินรัดเลาะเข้าตามตรอก ซอก ซอย ไปเยี่ยมชมบ้านเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต (ตรึก จินตยานนท์) และชวนร่วมกิจกรรมการตีกลองยาวกับกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ในชุมชน

เมื่อจบกระบวนการเรียนรู้ในแต่ละเส้นทาง ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากทาง Urban Jam และ Saturday School ทุกคนได้มารวมตัวกันที่บ้านเต้นรำ ย่านนางเลิ้ง เพื่อมาร่วมสะท้อนการเรียนรู้ที่ผ่านมาตลอดทั้งวันและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ได้รับก่อนที่จะจบกิจกรรม

ผู้ร่วมกิจกรรมร่วมกันสะท้อนความเห็นและสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเดินในครั้งนี้

พิมพิชา บุญอนันต์ ผู้ประสานงานของเครือข่าย Saturday School กล่าวว่า เนื่องจาก Saturday School เป็นพื้นที่ของการขยายโอกาสทางการศึกษาให้เด็กทุกคนสามารถที่จะเรียนรู้นอกห้องเรียนได้ โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนที่มาในวันนี้เป็นกลุ่มที่มีความสนใจต่อเรื่องที่เกี่ยวกับการทำวีดีโอและการทำเนื้อหาในสื่อ 

นอกจากกิจกรรมนี้จะเป็นการทำงานร่วมกับ Urban Jam ที่มีข้อมูลจำนวนหนึ่งอยู่แล้วและต้องการที่จะสื่อสารออกไปให้กับภายนอกในรูปแบบสื่อวีดีโอ หรือ infographic  ก็ยังมีอีกภาระกิจหนึ่งที่ทำงานภายใต้กรอบความคิดเรื่อง MIDL for Inclusive Cities 2019 ที่ขับเคลื่อนโดย สสย. ที่เน้นประเด็นเรื่องการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและสามารถที่จะวิเคราะห์ได้ รวมถึงการสร้างสรรค์ได้ก็จะสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ โดยมุ่งไปในมิติของความเป็นเมืองที่เป็นของผู้คนที่แท้จริง     

พิมพิชากล่าวว่า ความคาดหวังในกิจกรรมครั้งนี้ในฐานะผู้ประสานงาน เป็นเรื่องของเด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ได้เข้ามาร่วมกิจกรรมที่อยากพวกเขามีชุดความคิดที่ตระหนักถึง ความสำคัญของผู้คนที่อยู่ในเมืองที่ต่างก็มีสิทธิ์มีเสียงเท่าเทียมกัน ไม่ใช่การให้ใครหรือองค์กรใดมาผูกขาดในการกำหนดหรือการออกแบบเมือง แต่เราทุกคนที่จะสามารถลุกขึ้นมาและแสดงความต้องการว่าอยากจะได้เมืองแบบไหน ซึ่งเป็นความคาดหวังมากกว่าเรื่องของการมีทักษะ เรื่องการผลิตสื่อที่จะสื่อสารออกมา

จรกฤตย์ เชยมาลัย นักเรียนจากโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ผู้สมัครเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ในฐานะเยาวชนของ Saturday School กล่าวว่า การเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้จะถูกนำไปทำเป็นสื่อในรูปแบบวีดีโอ หรือ กราฟฟิกต่อไปโดย กลุ่มของตนเลือกที่จะสื่อสารออกมาในรูปแบบวีดีโอ 

จรกฤตย์ กล่าวว่า ในการที่ตนได้มาเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ โดยต้นได้ร่วมเดินไปในเส้นทางการเรียนรู้ที่สี่ คือชุมชนวัดโสมนัส ทำให้ตนได้เห็นและสัมผัสกับชุมชนและวัฒนธรรม รวมไปถึงสถาปัตยกรรมที่เก่าแก่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเสน่ห์ของชุมชนย่านเมืองเก่า 

จรกฤตย์ ได้มุมมองในฐานะของการเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ต่อวิถีของชุมชนว่า สำหรับชุมชนเมืองที่มีความเก่าแก่และกำลังได้รับผลกระทบจากการพัฒนาที่ไม่ตอบโจทย์วิถีชีวิตในชุมชน ควรที่จะต้องถูกสื่อสารออกไปแก่สังคมให้เป็นที่รู้จักว่า ชุมชนเหล่านี้ยังคงมีร่องรอยทางประวัติศาสตร์และมีวัฒนธรรมเฉพาะอยู่ ซึ่งตนมีความตั้งใจที่อยากจะถ่ายทอดออกไปว่าชุมชนย่านเมืองเก่าแห่งนี้ยังคงต้องมีความสำคัญและยังต้องไม่ถูกลืมเลื่อนไปกับกระแสของการพัฒนา

กฤษณ์มน แก้วจินดา สมาชิกโครงการ Urban Jam หนึ่งในผู้นำทางเส้นทางการเรียนรู้ครั้งนี้ กล่าวว่า ก่อนหน้าที่จะมีโครงการ Urban Jam ตนมีความสนใจในพื้นที่ชุมชนและวิถีชาวบ้านอยู่แล้ว และได้เข้าร่วมกิจกรรมเดินชุมชนนางเลิ้งมาหลายครั้ง และได้เห็นวิถีชีวิต การดำรงอยู่ของผู้คนกับความสัมพันธ์ต่อวัง วัด บ้าน และคุณค่าในตัวชุมชน ซึ่งจากการที่ได้ลงมาในชุมชนหลายครั้งทำให้ได้ทราบข้อมูลและความรู้ที่มาจากเสียงของชาวบ้านมากกว่าการรับรู้ข้อมูลจากที่อื่น

กฤษณ์มน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ที่มีการเดินสำรวจพื้นที่เรียนรู้และวิถีชีวิตในชุมชนก่อนเกิดโครงการ Urban Jam ข้อมูลและชุดความรู้ในชุมชนยังมีอยู่กระจัดกระจาย แต่เมื่อเกิดโครงการ Urban Jam ตนได้มีส่วนร่วมในการออกแบบเส้นทางการเรียนรู้ โดยนำเอาวิถีชีวิตที่เป็นสิ่งที่น่าสนใจของชุมชนแต่ยังไม่ได้ถูกพูดถึงมาทำเป็นพื้นที่การเรียนรู้ในครั้งนี้ 

กิจกรรมในครั้งนี้สำหรับ กฤษณ์มน ในฐานะผู้นำทางเปิดเส้นทางการเรียนรู้ มองว่าเป็นการร่วมแชร์ความรู้ที่ตนมีแกผู้อื่นในฐานะผู้ที่เข้ามาเรียนรู้และเป็นคนภายนอกเหมือนกัน แต่ผู้ที่จะเป็นคนสื่อสารจริงๆ คือชาวบ้านหรือผู้คนที่อาศัยอยู่ในชุมชนที่จะเป็นผู้บอกเล่าและส่งผ่านไปยังผู้ร่วมกิจกรรม

มุมมองของกฤษณ์มน ต่อเรื่องบทบาทของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีความพันธ์กับความเป็นชุมชนเมืองจากอดีต ปัจจุบัน และ อนาคตที่มีการพัฒนาเข้ามามีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตในชุมชน มองว่า ทุกอย่างต้องเริ่มจากความคิดตัวเราเองก่อน แล้วมองออกไปว่าเรากำลังละเลยต่อสิ่งไหนที่อยู่ใกล้ตัวเรามากที่สุด แล้วจึงค่อยๆขยับความวนใจออกไปสู่พื้นที่อื่น ดังนั้นการเริ่มจากตัวเราต่อการไม่ละเลยสิ่งใกล้ตัวจะเป็นจุดเริ่มต้น ต่อการตระหนักได้ถึงคุณค่าบางอย่างในแต่ละชุมชนที่เราเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ด้วย

กฤษณ์มน กล่าวว่า ความประทับใจต่อกิจกรรมครั้งนี้ คือการที่ได้เห็นความตั้งใจของผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนที่พยายามอยากจะเรียนรู้และเข้าใจวิถีชีวิตความเป็นอยู่ภายในชุมชน ซึ่งดูมีความสุขกับการได้ร่วมทำกิจกรรม อย่างเช่น การทำขนมเทียน ที่ดูจะเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับเด็กยุคปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้นคือได้เห็นความตั้งใจของพวกเขาที่อยากจะถ่ายทอดประสบการณ์เหล่านี้ออกไปสู่สาธารณะ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท