เมื่อสื่อท้องถิ่นล้มหาย การแบ่งขั้วการเมืองก็หนักข้อขึ้นในสหรัฐอเมริกา

สื่อในสหรัฐอเมริกา "Roll Call" เสนอว่าการลดขนาดลงของสื่อมวลชนระดับท้องถิ่นทั้งจากการเลิกจ้างหรือถูกซื้อกิจการ ล้วนมีส่วนในการทำให้เกิดการแบ่งขั้วทางการเมืองในสหรัฐอเมริกาอย่างสุดโต่งมากขึ้น

หนังสือพิมพ์สหรัฐอเมริกาฉบับต่างๆ ภายหลังพิธีสาบานตนประธานาธิบดี ภาพถ่ายเมื่อ 23 มกราคม 2017 (ที่มา: แฟ้มภาพ/Lorie Shaull/Flickr (CC BY-SA 2.0)

12 พ.ย. 2562 - เว็บข่าวที่เน้นรายงานการประชุมสภาสหรัฐอเมริกาอย่าง "Roll Call" นำเสนอว่าการที่ในยุคสมัยปัจจุบันมีแหล่งข่าวจากสื่อในท้องถิ่นน้อยลงประกอบกับการที่ผู้คนสามารถเข้าถึงสื่อระดับประเทศและเว็บโซเชียลมีเดียได้มากขึ้นมีส่วนในการทำให้ผู้คนแบ่งขั้วทางการเมืองมากขึ้น เพราะอัลกอริทึมของโซเชียลมีเดียเหล่านี้เน้นไปที่ประเด็นการเมืองในระดับประเทศที่มีการแบ่งแยกกันชัดเจน

อย่างไรก็ตามสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่ความผิดของผู้ติดตามข่าวสารเสียทีเดียว แต่เป็นปัจจัยมาจากการที่สื่อหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นลดจำนวนลง การที่ข่าวโทรทัศน์ช่องเคเบิลทีวีมีลักษณะแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางการเมือง และการที่ในโลกออนไลน์มีการใช้ข้อมูลเท็จใส่ร้ายป้ายสีกันเพิ่มขึ้นอย่างอันตราย ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการแแบ่งขั้วทางการเมืองในประเทศมากขึ้นทั้งสิ้น

คริสตี รอชเก เป็นกรรมการผู้จัดการของนิวส์โค/แล็บ ประจำวิทยาลัยสื่อครองไคท์ของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแอริโซนา ซึ่งเป็นองค์กรที่เน้นเข้าถึงประเด็นเรื่องการปฏิสัมพันธ์์กับสื่อและการรู้เท่าทันสื่อ รอชเกบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลทำให้ผู้คนยากลำบากขึ้นในการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น พอไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับผู้สมัครระท้องถิ่นเหล่านี้แล้วก็ทำให้ผู้คนตัดสินใจเรื่องต่างๆ จากข้อมูลระดับประเทศที่พวกเขาพบเห็นในสื่อเคเบิลทีวี

Roll Call ยกตัวอย่างในเรื่องนี้เกี่ยวกับอดีตผู้แทนฯ พรรครีพับลิกันที่แตกแถวอย่าง เลโอนาร์ด แลนซ์ ผู้ที่ในปี 2560 เป็นคนที่ลงมติคัดค้านการยกเลิกระบบประกันสุขภาพซึ่งเป็นข้อเสนอที่ไม่เป็นที่นิยมในหมู่ประชาชนเขต 7 ของนิวเจอร์ซี ซึ่งเป็นเขตที่แลนซ์เป็นผู้แทนมานานราวเกือบ 10 ปีแล้ว

ปีต่อมาแลนซ์ก็ร่วมมือกับพรรคเดโมแครตในการต่อต้านกฎหมายของรีพับลิกันถึงแม้ว่าเขาจะสนับสนุนส่วนหนึ่งของกฎหมายและเจตนาโดยรวมของมัน Roll Call ระบุว่า แลนซ์แค่ทำหน้าที่เป็นผู้แทนผลประโยชน์ของกลุ่มคนที่เลือกเขาเข้ามา แต่ทั้งที่เขาเอาใจคนในท้องถิ่นแล้วเขาก็กลับแพ้การเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งต่อมา เขาเชื่อว่าน่าจะเป็นเพราะฐานเสียงเขาส่วนใหญ่ต่อต้านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เลยไม่เลือกเขาไปด้วย แลนซ์หวังว่าในอนาคตผู้ลงคะแนนในท้องถิ่นจะหันมาสนใจตัวผู้แทนในระดับปัจเจกบุคคลมากกว่านี้

เรื่องนี้อาจจะส่งผลไปถึงการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกาในปี 2563 ที่นักการเมืองท้องถิ่นอาจจะต้องเผชิญคำถามเกี่ยวกับประเด็นในระดับประเทศมากขึ้น ไรอัน เอ คอสเทลโล ผู้แทนฯ รีพับลิกันสายกลางเคยเปิดเผยว่าการทำหน้าที่ในสภาคองเกรสทุกวันนี้กลายเป็นว่าคุณสนับสนุนประธานาธิบดีคนปัจจุบันหรือไม่ คุณสนับสนุนการถอดถอนประธานาธิบดีหรือไม่ มันกลายเป็นสิ่งที่ถูกทำให้ดูง่ายเกินจริง จนสร้างความเสียหายต่อพลเมืองที่รับรู้เหตุการณ์บ้านเมืองได้ดี

Roll Call ระบุอีกว่าเคยมีงานวิจัยที่นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่การสูญหายของสื่อท้องถิ่นส่งผลเสียต่อชีวิตของชาวอเมริกันในแง่ที่ทำให้มีคนสมัครลงเลือกตั้งนายกเทศในตรีน้อยลง มีผู้สื่อข่าวที่คอยทำข่าวโดยสัมภาษณ์ผู้แทนฯ ท้องถิ่นจากสภาคองเกรสน้อยลง และผู้แทนฯ ท้องถิ่นเหล่านี้เองก็ขาดช่องทางในการสื่อสารกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งของพวกเขา นั่นทำให้ความคิดเห็นต่อผู้แทนฯ ในสายตาประชาชนขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาอยู่พวกใครและมีจุดยืนทางวัฒนธรรมในประเด็นระดับชาติแบบใด มากกว่าจะขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตัวหรือผลงานของคนนั้นๆ เอง

นอกจากนี้ยังมีปัญหาโดยรวมที่เกิดขึ้นกับสื่อในสหรัฐฯ มีคนทำงานสื่อเกือบ 3,000 รายถูกเลย์ออฟหรือไม่อย่างนั้นสื่อของพวกเขาก็ถูกซื้อกิจการ ถึงแม้ว่าการสูญเสียสื่อท้องถิ่นนี้ขัดกับความต้องการของประชาชนก็ตาม จากข้อมูลของศูนย์วิจัยพิวระบุว่าประชาชนในสหรัฐฯ เชื่อในสื่อท้องถิ่นมากกว่าสื่อระดับประเทศ จากผลสำรวจในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาระบุว่าชาวอเมริกันมากกว่า 2 ใน 3 มองว่าผู้สื่อข่าวท้องถิ่นทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลนักการเมืองได้ดีเมื่อเทียบกับสื่อระดับประเทศที่มีคนเชื่อถือร้อยละ 21 เท่านั้น

มีการตั้งข้อสังเกตอีกว่าในการเลือกตั้งปี 2559 นั้น เป็นครั้งแรกที่ผู้คนเลือก ส.ว. ตามความนิยมในตัวพรรคการเมืองของพื้นที่นั้นๆ โดยไม่มีเสียงแตกเลย เมื่อเทียบกับในปี 2534 ที่มีรัฐร้อยละ 37 รัฐ ที่เลือก ส.ว. แตกต่างออกไปจากความนิยมพรรคการเมืองในพื้นที่ เรื่องนี้แสดงให้เห็นการแบ่งขั้วกันหนักข้อมากขึ้น

จิม โมแรน อดีตผู้แทนฯ พรรคเดโมแครตจากเขตในนอร์ทเทิร์นเวอร์จิเนียกล่าวว่า การเลือกตั้งในสหรัฐฯนั้นกลายเป็นเรื่องของประเด็นวัฒนธรรมในระดับชาติ โมแรนมองว่า "ผู้แทนฯ พรรครีพับริกันที่เสรีนิยมที่สุด ก็ยังอนุรักษ์นิยมมากกว่าคนที่เป็นอนุรักษ์นิยมในเดโมแครตตอนนี้ และในทุกๆ ปีการแบ่งขั้วความคิดนี้ก็ถ่างออกไปมากขึ้น"

จากงานวิจัยของนักวิจัย โจชัวร์ ดารร์, แมทธิว ฮิตต์ และโจฮันนา ดันนาเวย์ จากสามมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ระบุว่ามีอยู่สองสาเหตุที่ทำให้ผู้คนมีการแบ่งขั้วทางความคิดหนักขึ้นเป็นเพราะว่า หนึ่งคือพวกเขาเข้าหาสื่อระดับประเทศมากขึ้น ซึ่งสื่อระดับประเทศเหล่านี้มักจะเน้นทำข่าวนักการเมือง การเลือกตั้ง กับประเด็นระดับชาติ และในสหรัฐฯ กลุ่มชนชั้นนำทางการเมืองก็มีการแบ่งขั้วกันอย่างหนัก สาเหตุที่สองคือ เพราะสื่อระดับประเทศเองก็มักจะนำเสนอสิ่งที่เป็นข้อถกเถียงกันมากที่สุดในระดับชาติขณะนั้น

คอสเทลโลบอกว่า เมื่อประชาชนเริ่มแสดงออกแบ่งขั้วชัดเจนแล้ว ก็จะส่งอิทธิพลให้สมาชิกสภาคองเกรสแสดงออกอย่างแบ่งขั้วมากขึ้นในสภาตามไปด้วย เพราะพวกเขาต้องการตอบสนองต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งในประเทศ

 

เรียบเรียงจาก

Decline of local journalism is likely increasing voter polarization, Roll Call, 05-11-2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท