Skip to main content
sharethis

อธิบดีกรมป่าไม้เตรียมเรียก 'ปารีณา ไกรคุปต์' ชี้ขอบเขตที่ดินทับซ้อนป่าสงวนหรือไม่ ด้าน ผอ.สำนักจัดการป่าไม้ที่ 10 ระบุเนื่องจากเจ้าตัวแจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ว่าครอบครองที่ดิน ภบท.5 จำนวน 1,700 ไร่ ดังนั้นหากตรวจพบว่าที่ดินทับพื้นที่ป่าสงวนอยู่ด้วยต้องถูกดำเนินคดี โดยก่อนหน้านี้ช่วงต้นเดือนปารีณานำประชาชนร้องเรียน 'สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ' ถือครองที่ดินมิชอบ ก่อนถูก 'เรืองไกร' ย้อนศร - ขณะที่ 'สมพร' แก้เกมร่วมมือกับราชการพร้อมยกที่ดินทำป่าชุมชน

ปารีณา ไกรคุปต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.ราชบุรี (ที่มา: แฟ้มภาพ/ช่อง 3 SD 28)

12 พ.ย. 2562 กรณีที่ปารีณา ไกรคุปต์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.ราชบุรี เปิดเผยผ่านรายการ “รายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand เปิดความลับ” ทางช่อง 9 อสมท. เมื่อวันที่ 11 พ.ย. ยอมรับว่าเข้าไปทำประโยชน์ด้านเกษตรกรรมในที่ดินป่าไม้ โดยเสียภาษี ภบท.5 หรือภาษีดอกหญ้ามาเป็นเวลานับ 10 ปี และต่อมาเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติได้ร้องเรียน ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบการครอบครองของปารีณาเพราะปารีณายื่นแจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ในปี 2562 ว่ามีที่ดิน ภบท.5 อยู่ในครอบครอง 58 รายการ รวมเป็นเนื้อที่ 1,706 ไร่ อยู่ที่หมู่ 6 ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี เป็นการครอบครองถูกต้องหรือไม่ เพราะที่ ภบท.5 ตามกฎหมายไม่สามารถครอบครองได้นั้น

กรมป่าไม้เตรียมเรียกปารีณาชี้แนวเขตที่ดิน 1,700 ไร่ ทับป่าสงวนหรือไม่

ล่าสุด มติชนออนไลน์ รายงานวันนี้ (12 พ.ย.) ว่าอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยความคืบหน้ากรณีการตรวจสอบที่ดิน ภบท.5 ของปารีณาว่าเบื้องต้นได้มอบหมายให้ป่าไม้จังหวัดราชบุรีประสาน ส.ป.ก.ราชบุรี ร่วมพิจารณาและเตรียมพร้อมตรวจสอบ ทั้งนี้เจ้าของที่ดินทั้ง 85 แปลง จำนวน 1,706 ไร่ ทับซ้อนกันอยู่ ระหว่างที่ดินป่าสงวนแห่งชาติกับ ส.ป.ก. ต้องนำชี้ขอบเขตที่ดินเพื่อจะได้นำแนวเขตมาตรวจสอบกับแนวเขตที่ดินของรัฐเช่น ป่าสงวนฯ ปี 2527 หรือ ส.ป.ก.ปี 2554 เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ชัดเจนว่าที่ดินดังกล่าวมีสถานภาพเป็นอย่างไรและอยู่ในแนวเขตที่ดินของรัฐทั้งแปลงหรือเนื้อที่เท่าใดและจะเปิดโอกาสให้เจ้าของที่ดินหรือผู้ถือครองกรรมสิทธิ์นำเอกสารมาชี้แจงและนำชี้ด้วย

ทั้งนี้ผลการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นที่ดินพื้นที่หมู่ 6 ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี จำนวน 58 แปลง เนื้อที่ 1,706 ไร่ มีลักษณะการใช้ประโยชน์บางส่วนเป็นที่ตั้งฟาร์มเลี้ยงไก่ชื่อ “เขาสนฟาร์ม” จากการตรวจสอบภาพถ่ายทางอากาศบริเวณที่ตั้งโรงเลี้ยงไก่เกือบทั้งหมด เดิมอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี พ.ศ.2527 ปัจจุบันกรมป่าไม้ส่งมอบ ส.ป.ก.ประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดินเมื่อปี พ.ศ.2554 หลังจากนี้เป็นหน้าที่ของ ส.ป.ก.ที่จะเข้ามาตรวจสอบต่อ

ด้านสมชาย เปรมพาณิชย์นุกูล ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 10 ราชบุรี กล่าวว่าผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ส.ป.ก. เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เพื่อตรวจสอบที่ดินดังกล่าว ซึ่งการพิสูจน์ที่ดิน ภบท. 5 ต้องให้ผู้ถือครองสิทธิ์มาชี้ขอบเขต ขณะนี้ยังไม่รู้ว่าผู้ถือครอง ภบท. 5 เป็นชื่อปารีณาหรือชื่อคนอื่น ซึ่งเจ้าของต้องมาแสดงตัว ถ้าปารีณาเป็นเจ้าของจะต้องมาแสดงตัวเพื่อนำชี้แนวเขตทั้ง 85 แปลง เพื่อใช้พิกัดพิสูจน์ว่าพื้นที่ใดเป็น ส.ป.ก.หรือพื้นที่ใดเป็นป่าสงวนแห่งชาติ อย่างไรก็ตามเนื่องจากปารีณา ไปแจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.ว่าถือครองที่ดิน. ภบท. 5 ต่อ ป.ป.ช. จะใช่คนเดียวกับคนที่ไปเสียภาษีดอกหญ้าหรือไม่ ดังนั้นปารีณาจะต้องมาชี้แจ้งต่อจังหวัดและ ป.ป.ช. ซึ่งหากตรวจสอบพบว่าใน 85 แปลง มีพื้นที่ป่าสงวนรวมอยู่ด้วยก็ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

AREA เปิดแผนที่ดีเอสไอ-ระบุกรณี 'เขาสนฟาร์ม' หากใช้ประโยชน์ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ดิน ส.ป.ก. ก็ต้องคืน

วันเดียวกันนี้ โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ได้แถลงด้วยว่าเมื่อตรวจสอบด้วยแผนที่เบื้องต้นเกี่ยวกับแนวป่า ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (http://map.dsi.go.th) ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับ “เขาสนฟาร์ม” ได้แก่ (1) “เขาสนฟาร์ม” อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี (สีเขียวตามแผนที่แนบ) (2) “เขาสนฟาร์ม” อยู่ในแนวป่าไม้ถาวร ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี (สีม่วงตามแผนที่แนบ) และ “เขาสนฟาร์ม” อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (พื้นที่โปร่งแสง) ดังนั้นในกรณีที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมนั้น จึงไม่อาจซื้อขายได้ หากไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ ก็ต้องคืน ส.ป.ก.ไปนั่นเอง

แผนที่ 1 แผนที่ DSI แสดง "เขาสนฟาร์ม" อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี (สีเขียว)

แผนที่ 2 แผนที่ DSI แสดงพื้นที่ “เขาสนฟาร์ม” อยู่ในแนวป่าไม้ถาวร ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี (สีม่วง)

แผนที่ 3 แผนที่ DSI แสดงพื้นที่ “เขาสนฟาร์ม” อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (พื้นที่โปร่งแสง)

เคยร้องเรียน 'สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ' ครอบครองที่ดินมิชอบ ก่อนเจอเรืองไกรร้อง ป.ป.ช.

ปารีณา ไกรคุปต์ และเพื่อนสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ภาพถ่ายเดือนมิถุนายน 2562 (ที่มา: แฟ้มภาพ/ Facebook พรรคพลังประชารัฐ)

ก่อนหน้านี้เมื่อ 31 ต.ค. ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี และประชาชนจาก อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ยื่นหนังสือถึง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรณีขอที่ดิน 500 ไร่ คืนจาก สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดาของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ โดยร้องเรียนว่าเอกสารสิทธิที่ถือครองไม่ใช่ นส.3 ก หรือ นส.3 ปารีณาระบุว่าเป็นตัวแทนชาวบ้าน เนื่องจากที่ดังกล่าวไม่สามารถครอบครองเป็นเจ้าของได้ เพราะเข้าลักษณะป่าชุมชุน แต่กลับพบว่ามีผู้นำไปใช้เพื่อหาประโยชน์ ส่วนสมบูรณ์ ไทยทอง ผู้ใหญ่บ้าน กล่าวเพิ่มเติมว่า แต่เดิมที่ดินนี้เป็นของสหกรณ์ แต่พบว่าที่ผ่านมาทั้งบริษัทและบุคคลทั่วไปมาซื้อขายกันมาหลายครั้ง

โดยต่อมาเมื่อวันที่ 5 พ.ย. หลังผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรีมีคำสั่งจังหวัดราชบุรี ที่ 4351/2562 แต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาที่ดินเพื่อจัดสรรเป็นพื้นที่ป่าชุมชน กรณีที่ดินในหมู่บ้านหนองน้ำใส หมู่ 14 ต.รางบัว อ.จอมบึง ซึ่งสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ชี้แจงว่าซื้อต่อมาจากโรงงานน้ำตาลแห่งหนึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 โดยซื้อที่ดินมีเนื้อที่กว่า 3,000 ไร่ โดยมีหลักฐานเป็นโฉนดที่ดิน นส.3 ก, นส.3, นส.2 และ ภบท.5 โดยเอกสารสิทธิที่ดิน นส.3 ก กับ นส.3 มีอยู่ประมาณ 2,700-2,800 ไร่ นอกนั้นเป็น นส.2 กับ ภบท.5 ซึ่งเป็นเอกสารการจับจอง ประมาณ 300-500 ไร่

ซึ่งที่ประชุมของคณะทำงานมีมติให้ดำเนินการจัดตั้งป่าชุมชน ในส่วนของพื้นที่ที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี และที่ดินที่มิได้อยู่ในพื้นที่พระราชกฤษฎีกาประกาศเขตปฏิรูปที่ดิน ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ และให้ทางสำนักงานป่าไม้ไปจัดทำระวางรังวัดสอบเขตให้เป็นป่าชุมชนตามระเบียบ 300 ไร่ และให้ทำการตรวจสอบพื้นที่คาบเกี่ยวกับ ส.ป.ก. อีกประมาณ 700 ไร่เศษ เพื่อดำเนินการให้เป็นที่ดินของทางราชการ โดยตัวแทนของสมพรระบุว่ายินดีมอบที่ดิน ในส่วนที่ได้รับการตรวจสอบยืนยันว่าเป็นพื้นที่ของหลวงให้กับทางราชการและหมู่บ้านได้นำไปจัดทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net