นิธิ เอียวศรีวงศ์: อนาคตประชาธิปัตย์ (1)  

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ก่อนการเลือกตั้งซ่อมที่นครปฐม นักวิเคราะห์การเมืองหลายคนคาดว่า คะแนนเสียงของประชาธิปัตย์น่าจะลดลงกว่าที่ได้รับในการเลือกตั้งทั่วไปเดือนมีนาคม เพราะตอนนั้นหัวหน้าพรรคประกาศจุดยืนไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นนายกฯ แต่ถึงเดือนตุลาคม ปชป.กลายเป็นส่วนหนึ่งในรัฐบาลผสมของประยุทธ์ไปเสียแล้ว คะแนนต่อต้านประยุทธ์จึงควรหายไป

แต่ผิดคาด ปชป.ก็ยังได้คะแนนเสียงจากชาวสามพรานแทบไม่ต่างจากการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม นักวิเคราะห์บางคนกล่าวว่า นี่คือเสียงของแฟนพันธุ์แท้ที่พร้อมจะเลือกเสาไฟฟ้า บางคนกล่าวว่าน่าจะเป็นแฟนพันธุ์แท้ของผู้สมัครมากกว่าของพรรค เพราะผู้สมัครทำงานในการเมืองท้องถิ่นมานานแล้ว

ผมขอแทงกั๊กว่า เป็นคะแนนเสียงจากทั้งสองอย่างแหละครับ เพียงแต่ไม่ทราบว่าอย่างไหนจะมากกว่าอย่างไหน

ถ้าคะแนนเสียงของ ปชป.ในการเลือกตั้งจะเหลือแต่แฟนพันธ์แท้ของพรรค+แฟนพันธุ์แท้ของผู้สมัคร เลือกตั้งแต่ละครั้ง ผู้-สมัคร ปชป.จะได้ที่ 3 หรือ 4 เสมอ ยกเว้นในเขตเลือกตั้งที่แฟนพันธุ์แท้ของผู้สมัครอุ่นหนาฝาคั่งจริง แม้กระนั้น หากรัฐธรรมนูญฉบับไม่น่ารักนี้ยังถูกบังคับใช้อยู่ ที่ 3 หรือ 4 ก็จะช่วยสะสมคะแนนให้ผู้สมัครตามบัญชีรายชื่อของพรรคได้รับเลือกเข้ามาจำนวนไม่น้อย

แล้วอนาคตของพรรค ปชป.จะเป็นอย่างไร?

ผมอยากทำนายอนาคตเป็น แต่ทำไม่เป็น จึงต้องอาศัยอดีตเพื่อชี้ว่าอนาคตจะเดินไปอย่างไร ไม่ใช่เพราะประวัติศาสตร์ซ้ำรอย แต่ความเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นเนื้อหาหลักของประวัติศาสตร์นั้น ไม่เกิดขึ้นรวดเดียวจบ หากเป็นกระแสต่อเนื่องยาวนาน จึงอาจครอบคลุมจากอดีตถึงอนาคตได้

ผมจึงอยากชวนให้ย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของพรรค ปชป. เพื่อพิจารณาว่าฐานเสียงของ ปชป.นั้นมาจากไหนและได้แปรเปลี่ยนไปอย่างไร เมื่อการเมืองไทยได้คลี่คลายผิดแปลกไปจากเมื่อเริ่มตั้งพรรคไปอย่างลิบลับแล้ว

แรงดึงดูดอันแรกของ ปชป.ที่เรียกคะแนนเสียงจากมหาชนได้ (แม้ไม่เคยทำให้ ปชป.ได้เสียงข้างมากในสภาเลย) ก็คืออุดมการณ์กษัตริย์นิยม ผมเรียกแนวคิดเรื่องนี้ของ ปชป.ว่า"อุดมการณ์"อาจทำให้ไขว้เขวได้ พรรค ปชป.ถือกำเนิดขึ้นจากการรวมตัวของเชื้อพระวงศ์ชั้นปลายแถว (เพราะชั้นหัวแถวที่ถือตามธรรมเนียมว่าเป็น"เจ้า"ถูกรัฐธรรมนูญสมัยนั้นห้ามมิให้เกี่ยวข้องกับการเมือง) เชื้อสายขุนนางในระบอบเก่า ทนายความและข้าราชการ โดยเฉพาะจากกระทรวงยุติธรรม จึงเป็นธรรมดาที่คนเหล่านี้จะโน้มเอียงไปทางเป็นคู่แข่งกับผู้นำคณะราษฎร

เท่าที่ผมเข้าใจ พวกเขาไม่เคยนั่งลงคุยกันให้ตกว่า บ้านเมืองจะไปได้ดีกว่าหากยึดมั่นใน"อุดมการณ์"อะไร และที่กลายเป็นอนุรักษ์นิยมนั้น ก็คงไม่เคยนั่งคุยกันให้ตกเหมือนกันว่าจะอนุรักษ์อะไร แต่พวกเขาก็ถูกอ้างจากคนอื่นอีกทั้งยอมรับสมอ้างด้วยว่าเป็นพวกนิยม"เจ้า"

ต้องเข้าใจด้วยว่า"เจ้า"ในสมัยก่อน 2500 ไม่ได้หมายถึงบุคคล เช่นพระเจ้าอยู่หัวหรือพระบรมวงศานุวงศ์เท่านั้น แต่หมายถึงระบบชนิดหนึ่งซึ่งกระจายอำนาจและผลประโยชน์ไว้กับคนกลุ่มหนึ่ง (ซึ่งมีทั้งเป็นและไม่เป็น"เจ้า") ดังนั้นหาก ปชป.จะนิยมเจ้า ก็หมายถึงนิยมระบบเช่นนั้น แต่ก็ไม่ได้หมายถึงให้ย้อนกลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะในระบบดังกล่าวก็มีการช่วงชิงอำนาจและผลประโยชน์ภายในอยู่ด้วย หากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยังอยู่ ก็ใช่ว่ากลุ่มบุคคลที่ก่อตั้งพรรค ปชป.จะก้าวไปไหนได้ไกลนัก

แม้กระนั้น ก็ต้องยอมรับว่า"กษัตริย์นิยม"ของ ปชป.ไม่ใช่จุดยืนที่ปลอดภัยและไม่ขาดทุนทางการเมืองเหมือนสมัยปัจจุบัน ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ ในสมัยนั้นค่อนข้างมีอันตรายและขาดทุนทางการเมืองอยู่บ้างเหมือนกัน เพราะเป็นธรรมดาที่ผู้นำคณะราษฎรโดยเฉพาะสายทหารซึ่งกุมอำนาจค่อนข้างเด็ดขาดอยู่ ย่อมระแวงว่ากลุ่ม"นิยมเจ้า"อาจใช้การเมืองในระบอบรัฐสภาเพื่อโต้กลับ หลัง-จากที่ปราชัยทางทหารมาอย่างราบคาบแล้วในกบฏบวรเดช

ผมขอสรุปว่า อุดมการณ์ทางการเมืองจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ ปชป.ถูกเงื่อนไขปัจจัยทางการเมืองผลักให้มายืนในฐานะพรรค"กษัตริย์นิยม"ที่กล้าหาญ ยอมเสี่ยงภัยยึดมั่นในอุดมการณ์ของตน

ในช่วงก่อน 2500 ภาพลักษณ์อันนี้ของ ปชป.จึงดูน่าเชื่อถือ (credible) ไม่เฉพาะในสายตาของผู้เลือกตั้งบางกลุ่มเท่านั้น แต่รวมไปถึงกลุ่มอำนาจทางการเมืองอื่นๆ ทั้งที่เปิดหน้าเล่นและไม่เปิดหน้าเล่น แต่เชื่อมั่นในอนุรักษนิยมจริงๆ จึงทำให้ ปชป.ถูกดึงเข้าไปเป็นพันธมิตร ในการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยด้วยการรัฐประหารในพ.ศ.2490

อย่างไรก็ตาม ความเป็น"กษัตริย์นิยม"หมดเสน่ห์ทางการเมืองไปหลัง 2500 ไม่ใช่เพราะคนเลิกนิยมกษัตริย์ แต่ตรงกันข้าม "ศัตรูสมมติ"ของกษัตริย์นิยมคือคณะราษฎรถูกกวาดล้างออกไปจากการเมืองโดยสิ้นเชิง ผู้ทำรัฐประหารดึงเอาสถาบันพระมหากษัตริย์มาสร้างความชอบธรรมให้แก่ตนเองแทนประชาธิปไตย จากนั้นมาใครจะมีบทบาททางการเมืองก็ต้องยืนยันความเป็น"กษัตริย์นิยม"ที่เข้มข้นของตน ทั้งฝ่ายที่เป็นมิตรและศัตรูของ ปชป.

ยิ่งไปกว่านี้ ความน่าเชื่อถือ (credibility) ของ ปชป.ในเรื่องกษัตริย์นิยมยังลดลงด้วย ในพ.ศ.2518 ท่ามกลาง prospect ที่ค่อนข้างมืดมนของไทย หลังจากการถอนตัวของสหรัฐออกไปจากภูมิภาคนี้ อุดมการณ์สังคมนิยมกำลังได้รับความสนใจว่าอาจเป็นคำตอบ หัวหน้าพรรค ปชป.ก็ประกาศว่า ปชป.เป็นสังคมนิยมอ่อนๆ ก็ศัตรูของ"กษัตริย์นิยม"ถูกสมมติให้เป็นสังคมนิยมแก่ๆ คือคอมมิวนิสม์ แล้ว ปชป.จะเป็นประเภทอ่อนๆ ได้อย่างไร

ในปัจจุบัน ถึง ปชป.จะประกาศถวายความจงรักภักดีอย่างสุดตัวเพียงไร ก็ไม่ทำให้ ปชป.แตกต่างจากพรรคการเมืองอื่น ซ้ำยังน่าเชื่อถือน้อยกว่าเขาเสียด้วย เพราะประวัติศาสตร์อันยาวนานของพรรค พิสูจน์ให้เห็นว่าไม่มีอุดมการณ์ใดที่พรรคจะยึดถืออย่างแน่วแน่มั่นคง น่าสังเกตด้วยว่า การรัฐประหารนับตั้งแต่ 14 ต.ค. มาจน 2557 ไม่มีสักครั้งเดียวที่ ปชป.จะได้มีส่วนร่วมกับชนชั้นนำกลุ่มอื่นซึ่งอยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร แตกต่างอย่างลิบลับจากการรัฐประหารในพ.ศ.2490 (ดังนั้น ผมจึงเชื่อว่าที่คุณพีรพันธุ์ สาลีรัฐวิภาคลุกขึ้นอภิปรายวันที่ พ.ร.ก.โอนกำลังฯ เข้าสภานั้น ไม่มีประโยชน์อะไรต่อพรรค ปชป. แต่อาจมีประโยชน์ต่อคุณพีรพันธุ์เอง)

ในอีกด้านหนึ่ง การที่แกนกลางของ ปชป.ในระยะแรกประกอบด้วยคนในระบบราชการทั้งในระบอบเก่าและใหม่ ทำให้ ปชป.ได้ภาพลักษณ์ทางการเมืองเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง นั่นคือความเชี่ยวชาญชำนัญการในด้านการบริหาร (คนละเรื่องกับซีอีโอและซาร์เศรษฐกิจในสมัยหลัง) เหตุเพราะระบบราชการอ้างความเชี่ยวชาญเป็นความชอบธรรมแก่อำนาจของตนมาตั้งแต่แรก ในช่วงแรกที่เกิดระบบราชการแบบใหม่ เจ้านายซึ่งได้รับมอบหมายให้กำกับควบคุมเป็นผู้อ้าง ในช่วงหลังเมื่อระบบราชการขยายตัวขึ้นมากแล้ว คนชั้นกลางซึ่งเป็นข้าราชการก็อ้างอย่างเดียวกัน เพื่อแย่งอำนาจจากเจ้านาย

การมีข้าราชการเป็นส่วนสำคัญหนึ่งของแกนกลางพรรค ทำให้ ปชป.ได้ภาพลักษณ์ความเชี่ยวชาญมาไว้กับตัว เมื่อคณะรัฐประหารจี้คุณควง อภัยวงศ์ให้ลงจากตำแหน่งนายกฯ จอมพล ป.พิบูลสงครามซึ่งจัดตั้งรัฐบาลขึ้นหลังจากนั้น ยังเชิญสมาชิกพรรค ปชป.มาร่วมรัฐบาล คือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ดำรงตำแหน่ง ร.ม.ต.คลัง (งูเห่าตัวแรกในการเมืองไทย) นอกจากเพื่อใช้เป็นตัวเชื่อมกับวุฒิสมาชิกซึ่งได้รับแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ (ตาม ร.ธ.น.2492) แล้ว ยังอาจใช้ชื่อของท่านเป็นพยานแห่ง"มืออาชีพ"ของรัฐบาลใหม่ด้วย

แต่"ความเชี่ยวชาญ"ในภาพลักษณ์ของ ปชป.ดังกล่าวนี้ กลายเป็นเรื่องตลกหลังนโยบายพัฒนาของสฤษฎิ์ ธนะรัชต์เริ่มทำงาน เพราะสฤษฎิ์ดึงเอาผู้ชำนัญการอีกกลุ่มหนึ่ง (นักเรียนนอกหลังสงคราม) เข้ามาร่วมวางนโยบายในองค์กรรัฐที่อยู่นอกระบบราชการ ในขณะที่องค์กรของระบบราชการถูกทิ้งให้อยู่กับงานประจำที่เรียกว่าเช้าชามเย็นชามต่อไป ภาพลักษณ์ความเชี่ยวชาญของ ปชป.มาจากชามที่กินเช้ากินเย็นของระบบราชการนี่แหละ ซึ่งถูกทำให้เป็นเรื่องชวนหัวในหมู่คนชั้นกลางเมืองซึ่งเคยเป็นฐานเสียงของประชาธิปัตย์

ยิ่งมาในช่วงทศวรรษ 1990 (หรือปลายทศวรรษ 2530) เมื่อ ปชป.ได้เป็นแกนกลางจัดตั้งรัฐบาลอีก การบริหารงานของนายกฯ ชวน หลีกภัย โดยเฉพาะท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ทำให้ความ"ชำนัญการ"ของ ปชป.กลายเป็นนิยายที่ไม่มีใครเชื่ออีกต่อไป แม้แต่ตัวนายกฯ เองยังถูกเรียกว่า"ปลัดประเทศ" ซึ่งสะท้อนความเสื่อมศรัทธาต่อระบบราชการไปพร้อมกันด้วย

หากจะมีอะไรเหลือในจุดยืนทางการเมืองของ ปชป. ก็เหลือเพียงข้ออ้างสองข้อ ซึ่งในช่วงนั้นดูจะไม่ค่อยมีความสำคัญในสำนึกของผู้เลือกตั้งไทยนัก นั่นคือประชาธิปไตยและการไม่มีประวัติด้านทุจริตสาธารณะ

แต่ทั้งสองเรื่องล้วนเป็นข้ออ้างที่ ปชป.ไม่สามารถอ้างอย่างน่าเชื่อถือได้ว่าเป็นจุดยืนอันแน่วแน่มั่นคงทางการเมืองของตน หลังร่วมกับคณะทหารก่อรัฐประหารล้มล้างระบอบประชาธิปไตยแล้ว ปชป.ได้อยู่ในอำนาจไม่ถึงปีก็ถูกคณะทหารชุดเดิมเอาปืนจี้ให้ลงจากอำนาจ จากนั้นมา ปชป.ก็ไม่เคยได้อำนาจอีกเลย (ติดต่อกัน 28 ปี ก่อนการเลือกตั้งใน 2519) ปชป.ยังคง"เล่น"การเมืองต่อไปภายใต้รัฐธรรมนูญทุกชนิด ทั้งที่ตัวชอบหรือไม่ชอบ (ร.ธ.น.2490, ร.ธ.น.2475 แก้ไขเพิ่มเติม 2494, ธรรมนูญการปกครองของสฤษฎิ์, และร.ธ.น.2511) ไม่เคยขยับตัวต่อสู้เพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ มีช่องอย่างไรก็เล่นไปตามนั้น

การที่เผด็จการทหารไม่เชิญให้ร่วมรัฐบาล แม้ได้เคยร่วมกันก่อรัฐประหารมาแล้ว จะอ้างว่าเป็นอัศวินประชาธิปไตยจึงฟังดูไม่น่าเชื่อถือแก่ใครได้มากนัก

เช่นเดียวกับที่ไม่มีประวัติการทุจริตสาธารณะ ตลอด 28 ปีที่ถูกกีดกันให้เป็นฝ่ายค้านตลอดมา ปชป.จะมีโอกาสทุจริตได้อย่างไร ความซื่อสัตย์ที่เกิดจากเจ้าทรัพย์ไม่ปล่อยทรัพย์ไว้ในมือ ปชป.สักครั้งเดียว จะเป็นคุณสมบัติทางการเมืองที่น่าเชื่อถือได้สักเท่าไร

และในท่ามกลางความกลวงโบ๋ด้านจุดยืนทางการเมืองที่เชื่อถือได้ของ ปชป.นี้เอง ที่เกิดการเลือกตั้งใน 2512 โดยไม่มีหลักฐานว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีการทุจริตมากเป็นพิเศษแต่อย่างใด พรรคสหประชาไทยของถนอม กิตติขจรก็ชนะทิ้งห่างพรรค ปชป.กว่าเท่าตัว

ถ้าถนอมไม่ทำรัฐประหารตัวเองใน 2514 การเลือกตั้งครั้งต่อไป ปชป.จะยังเหลือส.ส.อีกสักกี่ที่นั่งในสภา

แม้ว่าพ่ายแพ้อย่างย่อยยับ แต่การเลือกตั้ง 2512 เปิดฉากใหม่ให้ ปชป. เพราะเริ่มมีส.ส.หน้าใหม่จำนวนหนึ่ง ได้รับเลือกตั้งจากจังหวัดทางภาคใต้ ส.ส.เหล่านี้ไม่ได้"หน้าใหม่"แต่ในสภาเท่านั้น แต่"ใหม่"ในพรรคด้วย เนื่องจากไม่ได้อยู่ใต้การอุปถัมภ์ใกล้ชิดของแกนนำพรรค ถึงจะนับถือใกล้ชิดกันเป็นส่วนตัวบ้าง แต่แกนนำพรรคไม่มีบารมีในพื้นที่ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ได้รับเลือกตั้ง ฐานคะแนนเสียงของส.ส.หนุ่มหน้าใหม่เหล่านี้อยู่ในท้องถิ่น "เครื่องจักร"การเลือกตั้งเป็นสิ่งที่เขาสานและสร้างขึ้นเองในท้องถิ่นของตน

ส.ส."หน้าใหม่"เหล่านี้ จะเพิ่มจำนวนขึ้นในพรรคอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะหลัง 14 ตุลาซึ่งการเลือกตั้งเกิดขึ้นบ่อยกว่าที่ผ่านมา พวกเขาจะขยับเข้ามาแทนที่แกนกลางของพรรค นำเอาความน่าเชื่อถือ (credibity) กลับคืนมาได้ในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในหมู่ผู้เลือกตั้งในภาคใต้ แม้ยังพยายามจะยึดเอาจุดยืนทางการเมืองของพรรค ซึ่งได้มาโดยบังเอิญเหล่านั้นไว้ เพื่อรักษาฐานเสียงเดิมของพรรค แต่แกนนำพรรคเดิมซึ่งมีฐานคะแนนเสียงในกรุงเทพฯ กลับร่วงโรยลงเพราะอายุบ้าง หรือเพราะไม่อาจยอมรับนักการเมือง"หน้าใหม่"จากปักษ์ใต้ จึงแยกตัวออกจาก ปชป.ไป

(ยังมีต่อ)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท