Skip to main content
sharethis

อินเดียกำลังประสบปัญหามลภาวะหมอกควันใกล้รัฐเดลีและพื้นที่ตอนเหนือของประเทศ ซึ่งปัญหานี้มาจากการที่เกษตรกรในหลายพื้นที่ต้องเผาโคนต้นที่เหลือหลังการเก็บเกี่ยว ฝ่ายเกษตรกรบอกว่าจำเป็นต้องทำเพราะไม่มีทางเลือกอื่นที่ง่ายและราคาถูกกว่าการเผา โอด ถูกทำให้เป็นแพะรับบาป ทั้งที่โรงงานปล่อยมลพิษทุกวัน ส.ส. เสนอ ให้เงินสนับสนุนเกษตรกรที่ไม่ได้ทำการเผาแทนการลงโทษ

ภาพฝุ่นควันในเมืองมุมไบ (ที่มา:flickr/Jason Rogers)

13 พ.ย. 2562 ตั้งแต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อินเดียประสบปัญหาวิกฤตมลภาวะรุนแรงมากเป็นประวัติการณ์ ตัวเมืองถูกปกคลุมด้วยควันสีน้ำตาลหนาทึบ ระดับมลพิษสูงขึ้นเกินกว่าระดับที่ปลอดภัยต่อสุขภาพถึง 50 เท่า

สำนักงานด้านสิ่งแวดล้อมของอินเดียกล่าวโทษว่าปัญหามลภาวะส่วนใหญ่นี้มาจากการเผาเพื่อการเกษตรคิดเป็นร้อยละ 50 ในปัจจัยที่ทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศ โดยที่การเผาทางการเกษตรนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ต.ค. และมีทีท่าว่าจะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปตลอดเดือน พ.ย. นี้

สาทิส หนึ่งในเกษตรกรจากรัฐหรยาณาทางตอนเหนือของประเทศอินเดียก็บอกว่าการเผาเพื่อการเกษตรนี้เกิดขึ้นโดยทั่วไป ทุกคนเพิกเฉยต่อกฎหมายและทำกันหมด สาทิสยอมรับว่าพวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องทำเช่นนี้เพราะการเผาเป็นวิธีการเดียวที่พวกเขาจะเคลียร์พื้นที่เพื่อเพาะปลูกได้ พวกเขาไม่มีเงินมากพอจะเช่าเครื่องจักรถางไร่ซึ่งคิดเป็นเงิน 10,000 รูปี (ราว 4,200 บาท) ขณะที่การเผาใช้เงินเพียง 1,000 รูปี (ราว 420 บาท) และทำวันเดียวก็เสร็จ

การบังคับใช้กฎหมายต่อเรื่องนี้ในอินเดียมีความหละหลวมเพราะเกษตรกรเป็นฐานเสียงส่วนใหญ่ของนักการเมืองในรัฐที่มีการเผาเหล่านี้ ปริมาณการเผาไร่ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีจำนวนเกิน 10,000 กรณีแล้วในหรยาณาและปัญจาบ มีเกษตรกรเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่ถูกสั่งปรับในเรื่องนี้ ขณะที่บางส่วนก็ทำการเผาในช่วงมืด และก็ยังมีส่วนใหญ่ก็บอกว่าพวกเขาเผาได้โดยไม่มีใครมายุ่งเกี่ยวอะไร

อย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งของทางการอินเดียก็มองว่าการไปลงโทษเกษตรกรที่ยากจนอยู่แล้วนั้นไม่ใช่ทางแก้ไขปัญหาที่ดี แต่ควรจะสนับสนุนส่งเสริมทางการเงินให้กับคนที่ไม่ได้เผามากกว่า หัวหน้าผู้พิพากษาศาลสูงสุดของอินเดีย อรุณ มิชรา มีมาตรการออกมาในช่วงวันที่ 6 พ.ย. ที่ผ่านมากำหนดให้มีมาตรการส่งเสริมทางการเงินแก่เกษตรกรที่ไม่ได้ทำการเผา

เกษตรกรยอมรับว่าพวกเขามีปัญหาต้องกำจัดตอหรือโคนของพืชผลส่วนที่เหลือหลังการเก็บเกี่ยว แต่พวกเขาก็ถูกทำให้กลายเป็น "แพะรับบาป" เมื่อมีกรณีหมอกควัน พวกเขาถูกคาดหวังให้ใช้เครื่องจักรหรือวิธีกำจัดตอซังพืชที่มีค่าใช้จ่ายแพงกว่าแต่ที่ผ่านมาภาครัฐก็ไม่ได้สนับสนุนพวกเขาเลย

เกษตรกรรายหนึ่งที่ชื่อสุลต่าน ซิงห์ กล่าวว่าเขาจำเป็นต้องเผาตอพืชเพื่อทำให้พืชผลการเกษตรครั้งต่อไปให้ผลดีถ้าไม่ทำแล้วพืชผลของพวกเขาจะได้รับผลกระทบ นั่นทำให้เขายอมทำการเผาตอซังพืชมาเป็นเวลา 25 ปี แล้วแม้ว่าบางครั้งเขาจะถูกจับปรับก็ตาม และเมื่อรัฐบาลขอให้เขาซื้อเครื่องมือที่ทำหน้าที่กำจัดตอซังพืชหลังเก็บเกี่ยวแทนเขาก็บอกว่ามันมีราคาสูง ทำงานได้ช้าทำให้เกิดการสูญเสียโดยที่เขาก็ไม่ได้รับการสนับสนุนส่งเสริมทางการเงินใดๆ เลย

ซิงห์ได้ชี้ไปที่ปล่องควันโรงงานอุตสาหกรรมที่มีกลุ่มควันดำพวยพุ่งออกมา เขาพูดด้วยความโกรธเคืองว่า "เกษตรกรไม่ได้เป็นคนที่ทำให้เกิดปัญหานี้ (ปัญหามลภาวะหมอกควัน)" แต่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมเหล่านี้ที่พ่นควันออกมาทั้งวันทั้งคืนตลอดทั้งปีขณะที่พวกเขาเผาตอซังเพียงไม่กี่สัปดาห์ แต่ในเมื่อกลุ่มโรงงานเหล่านี้ไม่ยอมให้ถูกปิดโรงงานพวกเขาก็ต้องหาคนกล่าวโทษ

อย่างไรก็ตาม ราจินเดอร์ ซิงห์ ประธานกลุ่มเอ็นจีโอในหรยาณาที่ส่งเสริมเรื่องวิทยาศาสตร์การเกษตรก็บอกว่าการเผาตอซังเหล่านี้จะส่งผลเสียต่อพืชผลในระยะยาวเพราะจะเป็นการทำลายแร่ธาตุในดินและส่งผลต่อสุขภาพของเกษตรกรเองจึงอยากให้เกษตรกรหาวิธีใหม่ใการจัดการนอกจากการเผา

หนึ่งในเกษตรกรของอินเดียที่เปลี่ยนวิธีการคือ ชูบาช จันด์ คนที่เป็นเกษตรกรในหรยาณามาตลอดทั้งชีวิต เขาเลิกทำการเผาไร่นาตัวเองมาตั้งแต่สองปีที่แล้วหลังจากที่ถูกปรับ 14,000 รูปี (ราว 5,900 บาท) แต่ก็บอกว่าเขาต้องใช้วิธีการที่ยากลำบากขึ้นและใช้จ่ายแพงขึ้นกว่าเดิม

นักการเมืองรายหนึ่งในอินเดียก็มีความเข้าใจในปัญหาของเกษตรกรและผลักดันให้เกษตรกรเล็งเห็นถึงผลกระทบจากการเผาไปพร้อมๆ กัน คือ ริเทศ พันเดย์ ส.ส. แห่งอุตตรประเทศ เขาบอกว่าถึงแม้เกษตรกรต้องเผชิญกับการกล่าวถึงในแง่ลบอยู่มากแต่เขาก็เข้าใจว่าเกษตรกรมีเวลาที่จำกัดมากระหว่างช่วงฤดูเพาะปลูก ทำให้เขามองว่ารัฐบาลควรจะช่วยเหลือด้านการเงินสนับสนุนแก่เกษตรกรเหล่านี้เพื่อยับยั้งการเผา

เรียบเรียงจาก

Delhi’s smog blamed on crop fires – but farmers say they have little choice, The Guardian, Nov. 8. 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net