ชรบ. เป้าโจมตีในสามจังหวัดชายแดนใต้ ปัญหาความก้ำกึ่งของพลเรือนพลรบ

จากเหตุโจมตีที่จังหวัดยะลา ผู้เสียชีวิต 15 คน 8 คนในนั้นคือ ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) และ อาสาสมัครรักษาหมู่บ้าน (อรบ.) นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พลเรือนติดอาวุธถูกโจมตีสังหาร ทำความเข้าใจความซับซ้อนเบื้องหลังที่ทำให้สถานะกึ่งพลเรือนกึ่งทหารของ ชรบ. ยังเป็นที่ถกเถียง และทำให้ตกเป็นเป้าโจมตี


ภาพ ชรบ. เข้าร่วม ร่วมเดินสวนสนาม ร่วมกับสมาชิกกองอาสารักษาดินแดนของแต่ละอำเภอในจังหวัดยะลา
เนื่องในวันครบรอบ ( 65 ปี ) วันคล้ายวันสถาปณากองอาสารักษาดินแดน ณ.บริเวณถนนพิพิธภักดี
อำเภอเมือง จ.ยะลา เมื่อวันที ่10 ก.พ.ที่ผ่านมา (ที่มาภาพ : เพจ 
ฐาน.ปฏิบัติการชุดคุ้มครองตำบลโกตาบารู )

 

จากเหตุเมื่อวันที่ 5 พ.ย. ที่ผ่านมา คนร้ายไม่ทราบจำนวนพร้อมอาวุธสงครามลอบโจมตีป้อมยามชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) พื้นที่จังหวัดยะลา จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตรวม 15 ราย และบาดเจ็บอีก 3 ราย จากรายงานพบว่าผู้เสียชีวิต 15 คน เป็น ชรบ. และ อาสาสมัครรักษาหมู่บ้าน หรือ อรบ. รวม 8 คน เจ้าหน้าที่ตำรวจ 1 คน และประชาชน 6 คน

แถลงการณ์จากหลายฝ่าย เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.), สมาคมสื่อมวลชนชายแดนภาคใต้, สำนักจุฬาราชมนตรี, องค์กรกิจกรรมนักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต ปัตตานี ต่างออกมาประณามผู้กระทำเหตุรุนแรงครั้งนี้ และขอให้เจ้าหน้าที่และหน่วยงานความมั่นคงที่เกี่ยวข้องเร่งติดตามกลุ่มผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้ยังขอให้รัฐบาลให้ความช่วยเหลือและเยียวยาแก่ครอบครัวของผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ และผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวโดยเร็วและทั่วถึง พร้อมทั้งเพิ่มมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยในพื้นที่สาธารณะให้แก่ประชาชน

ต่อมามีความคืบหน้าการจับกุมผู้ต้องสงสัย คือเช้าวันที่ 6 พ.ย. ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ 1 ราย และวันที่ 9 พ.ย. ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้อีก 6 ราย พร้อมหลักฐานชิ้นสำคัญ ที่คาดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจมตี ชรบ. เสียชีวิต 15 ราย แต่ยังรอผลพิสูจน์อีกหลายอย่างว่าผู้ต้องสงสัยทั้ง 7 รายมีส่วนร่วมในเหตุการณ์คืนนั้นจริงหรือไม่

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ ชรบ. ถูกโจมตีสังหาร จึงน่าทำความเข้าใจความซับซ้อนเบื้องหลังที่ทำให้สถานะกึ่งพลเรือนกึ่งทหารของ ชรบ. ยังเป็นที่ถกเถียง และทำให้ ชรบ. ตกเป็นเป้าโจมตี

 

ชรบ. พลเรือนติดอาวุธ

จากคู่มือแนวทางการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการช่วยเหลือเจ้าพนักงานของหน่วยกำลังคุ้มครองและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในหมู่บ้าน พ.ศ.2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 เขียนโดย ส่วนกิจการมวลชน สำนักกิจการความมั่นคงภายใน กรมการปกครอง เผยแพร่เมื่อ ต.ค.56 ระบุถึงความเป็นมาของ ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือ ชรบ. ว่า กรณีจัดตั้งในหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง (อพป.) ตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบบริหารหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง พ.ศ.2522 ม.18 เรียกหน่วยกำลังคุ้มครองและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในหมู่บ้านโดย ให้อำเภอพิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการกลางหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง ประกอบด้วย นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำทางศาสนา กรรมการหมู่บ้าน ร่วมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายตำรวจและทหารในพื้นที่เพื่อำหน้าที่คัดเลือกผู้เข้ารับการอบรมชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือ ชรบ. เฉลี่ยจำนวน 30 คน ต่อหมู่บ้าน ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีการจัดตั้ง ชรบ. เต็มพื้นที่ ทุกหมู่บ้าน

แต่ ชรบ. ดูจะมีความชัดเจนขึ้นจากระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการช่วยเหลือเจ้าพนักงานของหน่วยกำลังคุ้มครองและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในหมู่บ้าน พ.ศ.2551 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2554 คืออาสาสมัครติดอาวุธที่รัฐสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นมวลชนของรัฐในการต่อสู้กับกลุ่มก่อความไม่สงบหลังเหตุรุนแรงปะทุในปี 2547 เพื่อรองรับนโยบายถอนทหารหลักออกจากพื้นที่ และส่งมอบพื้นที่ให้ประชาชนดูแล

กองกำลังของ ชรบ. เป็นประชาชนในหมู่บ้านนั้นๆ โดยมีผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายรักษาความสงบ (ผรส.) เป็นแกนหลัก ร่วมกับสมาชิกองค์กรปกครองท้องถิ่น และประชาชนจิตอาสา ทั้งหมดได้รับการฝึกอบรม และการสนับสนุนด้านอาวุธจากภาครัฐ

ปัจจุบันพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา มีกองกำลังภาคประชาชนที่ผ่านการฝึกอบรมจากหน่วยงานความมั่นคงจำนวน 95,974 คน แยกเป็น ชรบ. (ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน) อรบ. (อาสาสมัครรักษาหมู่บ้าน) อรม. (อาสาสมัครรักษาเมือง) ทสปช. (สมาชิกไทยอาสาป้องกันชาติ) และ อปพร. (อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน) โดย ชรบ.มีจำนวนมากที่สุด

กองกำลังภาคประชาชนเหล่านี้ ทำงานและปฏิบัติภารกิจร่วมกับทหาร ตำรวจ และ อาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) อีกจำนวน 39,465 นาย เพื่อดูแลพื้นที่ในภาพรวม และทยอยส่งมอบพื้นที่ให้ประชาชนดูแลกันเอง แยกเป็นทหารหลักและทหารพราน 24,004 นาย ตำรวจ 9,809 นาย และพลเรือน อส. 5,652 นาย (ข้อมูลปีงบประมาณ 2561)

สิ่งกรมการปกครองจัดให้ ชรบ. มี 3 อย่างคือ 1) ให้งบหมู่บ้านละ 20,000 บาท/เดือน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดซื้ออุปกรณ์การอยู่เวรยาม 2) เครื่องแบบ ชรบ. เป็นเสื้อกั๊ก รองเท้าผ้าใบ และรองเท้าจังเกิ้ลบูท 3) อาวุธปืนลูกซอง ซึ่งปกติจัดจัดให้หมู่บ้านละ 15 กระบอก กระสุนปืนกระบอกละ 15 นัด แต่อาจมีรายละเอียดแตกต่างกันตามสภาพพื้นที่

นอกนั้นแล้ว ชรบ. ไม่มีเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง ค่าตอบแทน ค่าล่วงเวลาใด ๆ เว้นแต่ถูกสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่ตามแผนยุทธการ แล้วปะทะกับผู้ก่อความไม่สงบ จนเกิดกรณีบาดเจ็บหรือเสียชีวิตก็จะได้รับสวัสดิการ อาทิ กรณีเสียชีวิตได้รับเงินช่วยเหลือจาก 4 หน่วยงานสูงสุด 406,000 บาท ไม่รวมทุนการศึกษาและเงินยังชีพของบุตร กรณีทุพพลภาพได้รับเงินช่วยเหลือจาก 3 หน่วยงาน อย่างน้อย 310,000 บาท ไม่รวมเงินช่วยเหลือรายเดือนอื่น ๆ

 

ความอิหลักอิเหลื่อในสถานะของ ชรบ.

รอมฎอน ปันจอร์ ภัณฑารักษ์ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) กล่าวว่า ชรบ. ตกเป็นเป้าโจมตีมาโดยตลอด เพียงแต่ครั้งนี้สร้างผลสะเทือนได้สูง เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แต่แบบแผนการก่อเหตุแบบนี้ดำรงอยู่ตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมา สาเหตุที่กองกำลังชาวบ้านตกเป็นเป้าโจมตี ก็เนื่องจากการกระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่ และมีความหนาแน่นในพื้นที่สำคัญ มีอาวุธปืนซึ่งเป็นสิ่งที่กลุ่มผู้ก่อการมุ่งหวัง และขณะเดียวกัน ชรบ. อรบ. ก็มีความพร้อมในการต่อสู้น้อยกว่ากองกำลังทหารที่มีการฝึกและมีการจัดอาวุธที่ดีกว่า

แต่ปัญหาไม่ใช่เพียงแค่ทำไม ชรบ. จึงตกเป็นเป้าโจมตี แต่คือสถานะของ ชรบ. ที่มีความก้ำกึ่งระหว่างพลเรือนและกองกำลังทหาร

รอมฎอนอธิบายว่า ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งสูงเช่นนี้ ชรบ. มักมีความอิหลักอิเหลื่อทางสถานะ หากมองจากมุมนักสิทธิมนุษยชนบางกลุ่มและเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจะถือว่า ชรบ. คือพลเรือน คือผู้บริสุทธิ์ต้องถูกละเว้นจากการก่อเหตุรุนแรง

เหตุที่อธิบายแบบนี้เพราะถ้ามองจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง การกล่าวเช่นนี้ถือเป็นความพยายามลดทอนความชอบธรรมของผู้ก่อเหตุ ในทางการเมืองการสังหารพลเรือนโดยกองกำลังติดอาวุธฝ่ายต่อต้านรัฐ ย่อมทำลายรากฐานความชอบธรรมของการต่อสู้ของกองกำลัง เพราะขบวนการต่อสู้เช่นนี้มักอ้างความชอบธรรมในการต่อสู้เพื่อประชาชน การสังหารพลเรือนผู้บริสุทธิ์จึงเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรม

ขณะที่ก็มีความเห็นจากอีกด้านเสนอว่า ชรบ. เองก็ไม่ต่างกับกองกำลังของฝ่ายรัฐ พวกเขาถูกฝึกมาให้ติดอาวุธ มีอาวุธประจำกาย มีความพร้อมแม้จะไม่มากนัก พูดอีกแบบพวกเขามีฐานะเป็นพลรบ ในกฎหมายระหว่างประเทศ จึงถือเป็นเป้าหมายที่ชอบธรรม

ปัญหาอยู่ที่ว่าการที่รัฐเข้าไปติดอาวุธให้ต่างหากที่ทำให้ประชาชนได้สูญเสียสถานภาพการเป็นประชาชนไปสู่พลรบ ทำให้กลายเป็นฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง แม้ในกฎหมายระหว่างประเทศ International Humanitarian Law (IHL) จะระบุถึงการคุ้มครองพลเรือนอย่างชัดเจน แต่เมื่อเกิดสงคราม การคุ้มครองนี้จะจำกัดเฉพาะพลเรือนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสู้รบ ส่วนพลรบเองก็มีการคุ้มครองเช่นกัน แต่เป็นกรณีตกเป็นเชลยหรือได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบ

 

ความซับซ้อนของการเป็นพลเรือนติดอาวุธ

มากไปกว่านั้น รอมฎอน ยังชี้ว่า ลักษณะความขัดแย้งทางอาวุธจากเดิมที่มีลักษณะข้ามรัฐ ปัจจุบันกลายเป็นลักษณะที่เกิดขึ้นภายในรัฐมากขึ้น หรือคือสงครามที่สู้กันด้วยอาวุธภายในประเทศ

สงครามลักษณะนี้มีความซับซ้อนมากขึ้น เป็นการต่อสู้ในลักษณะอสมมาตร ระหว่างกองกำลังของรัฐและกองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐ กลยุทธ์สำคัญของฝ่ายแรกคือการป้องกันการก่อความไม่สงบ ฝ่ายหลังคือสงครามกองโจร แต่ผลของมันคือมีแนวโน้มที่ประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องจะบาดเจ็บล้มตายมากขึ้น

ประการต่อมา รอมฎอนอธิบายว่า ความขัดแย้งเช่นนี้ทำให้เกิดความซับซ้อนในการจะระบุว่าใครคือพลเรือนหรือพลรบมากขึ้น กองกำลังของฝ่ายกองโจรเองก็มีชีวิตหลายมิติ ทั้งชีวิตที่เป็นนักรบของกองโจรและชีวิตด้านที่เป็นพลเรือนในเวลาเดียวกัน

“การจะรับมือกับเรื่องนี้สิ่งที่รัฐทำนอกเหนือจากการใช้กฎหมายพิเศษแล้วรัฐเองก็ต้องใช้กลยุทธ์หลายแบบ ซึ่งรวมถึงการจัดตั้งกองกำลังที่เป็นประชาชนตัวเองในการโจมตีอีกฝ่าย เหตุผลหนึ่งเพื่อสร้างสมดุลภายในระดับพื้นที่ เพราะในระดับพื้นที่ก็มีทั้งฝ่ายหนุนและฝ่ายต้านรัฐ และอีกเหตุผลคือเป็นกองกำลังที่มีไว้ต่อสู้ระยะยาว ดังนั้นงบประมาณที่จะใช้หล่อเลี้ยงกองกำลังแบบนี้จึงต่ำกว่ากองกำลังประจำการ ขณะเดียวกันชาวบ้านเองก็มีเหตุผลเพียงพอในการจะต้องระวังภัย” รอมฎอนกล่าว

ประเด็นต่อมา รอมฎอนกล่าวว่า คือปัญหาเรื่องกรอบในการดำเนินการของรัฐไทยที่ไม่อาจยอมรับได้ว่าสถานการณ์ตอนนี้ถือเป็นความขัดแย้งทางอาวุธ ซึ่งถือเป็นนโยบายต่อเนื่องมาตลอด 10 กว่าปี เพราะสำหรับรัฐ นี่จะเป็นจุดเริ่มต้นในการเปิดโอกาสให้มีการแทรกแซงจากนานาชาติ ทำให้ฝ่ายรัฐจะสูญเสียอำนาจในการควบคุม บังคับบัญชา กำกับทิศทางสถานการณ์ ฝ่ายนโยบายของทางการไทยตลอดหลายรัฐบาลที่ผ่านมาถูกครอบงำด้วยแนวคิดแบบนี้

ด้วยเหตุนี้มีเหตุผลเพียงพอที่ฝ่ายรัฐบาลจะพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะไม่ระบุว่า ชรบ. หรือกองกำลังติดอาวุธเหล่านี้เป็นกองกำลังของตัวเอง แต่มักจะระบุว่าเป็นพลเรือน เพื่อจะทำลายความชอบธรรมของอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันก็มีความจำเป็นต้องใช้กองกำลังกึ่งทหารแบบนี้

เขาสรุปว่า นี่คือกลยุทธ์ที่ท้ายสุดได้ก่อให้เกิดคำถามของสถานภาพของกองกำลังกึ่งประชาชนกึ่งทหาร ซึ่งนี่เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป ไม่เฉพาะแค่ไทย

 

รัฐต้องดำเนินการเร่งด่วนทางการเมือง

กับคำถามที่ว่า ถ้าเช่นนั้นการยกเลิกกองกำลังพลเรือนเป็นทางออกที่ดีหรือไม่ รอมฎอนกล่าวว่า เป็นคำถามที่ตอบยาก เนื่องจากบางชุมชนการมีอาวุธอยู่ในมือก็ทำให้พวกเขามั่นใจมากกว่า นี่เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องมีการประเมินความจำเป็นในการใช้กำลังโดยพลเรือน

ขณะที่ในทัศนะของเขา เรื่องหลักที่จำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนคือรัฐบาลไทยจำเป็นต้องยอมรับความจริงและมีความจริงจังต่อการแก้ไขปัญหาด้วยแนวทางการเมือง และเพดานในทางยุทธศาสตร์ที่เคยวางไว้อาจจำเป็นต้องได้รับการทบทวนอย่างเร่งด่วนเพราะมาตรการทางด้านความมั่นคงต่างๆ การจัดกำลัง ให้อาวุธ แม้ผลสัมฤทธิ์เวลานี้จะถูกประเมินว่ามีเหตุการณ์น้อยลง แต่ความขัดแย้งทางการเมืองยังไม่มีสัญญาณว่าจะคลี่คลาย

“ปรากฎการณ์ที่ฝ่ายต่อต้านยังสามารถใช้อาวุธ และเลือกสรรเป้าโจมตีในลักษณะนี้ได้เป็นสัญญาณที่รัฐบาลไทย สังคมไทย จำเป็นต้องตระหนักว่าต้องหาทางออกทางการเมือง ในทางนโยบาย ในการเจรจาต่อรอง การส่งสัญญาณในเชิงบวกต่อผู้เห็นต่าง การมีปฏิสัมพันธ์ต่อประชาคมระหว่างประเทศในการโน้มน้าวให้ผู้ก่อการเข้าร่วมกระบวนการทางการเมืองมีหลักประกันที่มั่นใจว่ากระบวนการทางการเมืองเหล่านี้จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่สมประโยชน์ทั้งสองฝ่ายอย่างมากพอ”

“ความเสี่ยงที่สุดไม่ใช่เจ้าหน้าที่ แต่อยู่ที่ชาวบ้าน ความเสี่ยงที่ไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ในสถานะอะไร จะต้องเผชิญกับอะไร สำหรับ ชรบ. เขาไม่ได้มีอำนาจมากในการต่อรองกับรัฐบาล แต่เสียงสะท้อนของเขาก็ควรต้องถูกรับฟัง ทั้งฝ่ายที่ต้องการติดอาวุธให้กับตัวเอง และฝ่ายที่ไม่ต้องการ”

 

เสียงสะท้อนของชาวบ้านในพื้นที่มีผลต่อกลุ่มต่อต้าน

เมื่อถามว่ากลุ่มต่อต้านเองจะประเมินปฏิบัติการครั้งนี้ว่าทำให้เสียงสนับสนุนของประชาชนลดลงหรือไม่ รอมฎอนชี้ว่า จากกระแสที่ถกเถียงกันอยู่ตอนนี้ ตอบไม่ได้ง่ายๆ ว่าพวกเขาพลาดหรือสำเร็จ เพราะรากฐานที่สำคัญที่สุดของการต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดน กอบกู้เอกราช ต้องยึดโยงกับประชาชน ไม่ใช่แค่ประชาชนชาติพันธุ์ใด ศาสนาใดเพียงอย่างเดียว พูดง่ายๆ การปฏิบัติการของเขาจะต้องไม่สร้างความเดือดร้อนและสร้างความบาดหมางในพื้นที่ ดังนั้นการสังหารชาวบ้านลักษณะนี้ ก็ทำให้ศรัทธาประชาชนลดลงเหมือนกัน

“ที่ผ่านมาก็มีเสียงสะท้อนของมวลชนในพื้นที่ต่อปฏิบัติการทางการทหารที่เกินจะรับไหว เช่น การสังหารประชาชน การทำให้เงื่อนไขความขัดแยงระดับมวลชนบานปลาย และเท่าที่ผมทราบก็มีบางช่วงเวลาที่กลุ่มต่อต้านพยายามจะปรับตัว เรื่องแบบนี้เสียงสะท้อนของประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ มีผลต่อขบวนการปฏิวัติ เพียงแต่ประเด็นปัญหา ชรบ. มันไม่ได้เป็นประเด็นที่เป็นฉันทามติ แต่ยังเป็นประเด็นที่มีข้อถกเถียงกันอยู่” รอมฎอนกล่าวทิ้งท้าย

 

อ้างอิง:

https://www.bbc.com/thai/thailand-50329917

https://multi.dopa.go.th/mad/info_organ/about8/topic27

https://www.isranews.org/south-news/scoop/82220-foru.html

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท