‘ไทยปิฎก’ เพราะศาสนาคือการเมือง

ภิญญพันธุ์ผู้เขียนหนังสือ ’ไทยปิฎก ประวัติศาสตร์การเมืองสังคมร่วมสมัยของพุทธศาสนาไทย’ กับศาสนาพุทธและคณะสงฆ์ที่ไม่เคยหลุดออกจากการเมืองและอำนาจรัฐ การเกิดขึ้นของ 5 สำนักคิดท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการสร้างเครือข่าย สุดท้ายแล้ว ศาสนาถูกใช้เป็นเครื่องมือเสมอมา

  • คณะสงฆ์และพุทธศาสนาเป็นเครื่องมือของรัฐในการเผยแพร่และกล่อมเกลาอุดมการณ์ไปยังประชาชน ตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์จนถึงปัจจุบัน
  • คณะสงฆ์ไม่เคยแยกขาดจากการเมืองและอำนาจรัฐ
  • การเกิดขึ้น มีอยู่ และความเปลี่ยนแปลงของสำนักคิดทางพุทธศาสนาอย่างสวนโมกข์ สันติอโศก วัดธรรมกาย ดำเนินไปพร้อมความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคม
  • พระป่ามีการสร้างเครือข่ายและการดูแลกันเอง
  • การเผยแผ่คำสอนเปลี่ยนจากการเทศน์ไปสู่การใช้สื่อในรูปแบบต่างๆ ทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มประชาชนได้อย่างกว้างขวางกว่าในอดีต

ดังที่รู้กันดีว่า ศาสนาพุทธถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดอุดมการณ์รัฐตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กระทั่งปัจจุบันมันก็ยังคงเป็นเช่นนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าพระสงฆ์มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการแพร่ขยายอุดมการณ์ของรัฐ ถึงกับถูกมองว่าพระก็คือข้าราชการประเภทหนึ่ง

เมื่อเป็นข้าราชการในร่มกาสาวพัสตร์ การถูกควบคุมโดยรัฐย่อมถือเป็นเรื่องปกติ ทำให้พระสงฆ์ การเมือง และรัฐเกี่ยวข้องกันเสมอมา ‘การเมืองไม่ใช่กิจของสงฆ์’ หรือ ‘พระไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง’ จึงเป็นแค่ภาพลวงตาอย่างหนึ่ง

 

ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์

วันที่ 7 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีงานเปิดตัวหนังสือ ‘ไทยปิฎก ประวัติศาสตร์การเมืองสังคมร่วมสมัยของพุทธศาสนาไทย’ โดย ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ สาขาวิชาสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ภายใต้งานเสวนาเรื่อง ‘ไตรปิฎก -​ไทยปิฎก: พุทธศาสนาไทยบนทางแพร่ง’ เป็นความพยายามในการมองภาพประวัติศาสตร์ของศาสนาพุทธในไทยที่ไม่เคยหลุดลอยจากการเมืองและสังคม

คณะสงฆ์กับรัฐ ความสัมพันธ์ที่ไม่เคยแยกขาดจากกัน

ภิญญพันธุ์เล่าถึงเป้าหมายของหนังสือเล่มนี้ว่า ต้องการชี้ให้เห็นภาพรวมว่าพลังทางศาสนามีบทบาทอย่างไรกับสังคมไทยนับตั้งแต่การปฏิวัติ 2475 และตั้งแต่รัฐประหาร 2549 เป็นต้นมามีสิ่งใดเกิดขึ้นบ้างในวงการศาสนา

“ศาสนาพุทธในบ้านเราเป็นส่วนหนึ่งขององคาพยพของระบบการปกครอง อุดมการณ์ หรือวิธีคิดต่างๆ ศาสนาพุทธจึงมีท่าทีหรือปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงต่อการปฏิวัติสยามไปด้วย ที่เห็นได้ชัดที่สุด ที่กระทบกับกลไกการจัดการการบริหารองค์กรสงฆ์ก็คือพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ถูกใช้เป็นกลไกของรัฐในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นการจัดความสัมพันธ์ระหว่างคณะสงฆ์ในเขตมณฑลต่างๆ จัดลำดับชั้นของพระสงฆ์ พูดอีกแบบก็ได้ว่า พ.ร.บ.คณะสงฆ์ได้ทำให้คณะสงฆ์กลายเป็นองคาพยพหนึ่งของรัฐ พระสงฆ์มีบทบาทประหนึ่งเป็นข้าราชการของรัฐ”

แต่ข้อสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติ 2475 ก็คือกลไกของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ปี 2484 ซึ่งเกิดหลังการปฏิวัติประมาณ 9 ปี หมายความว่ามันใช้เวลาในการสั่งสมผลักดันให้เกิดขึ้น แต่ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฉบับนี้มีอายุสั้นมาก กฎหมายดังกล่าวมีการแบ่งแยกอำนาจล้อกับระบอบประชาธิปไตย มีสังฆสภาเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ สังฆมนตรีเป็นฝ่ายบริหาร และคณะวินัยธรเป็นฝ่ายตุลาการ ขณะที่สมเด็จพระสังฆราชเป็นประมุขของสงฆ์ ซึ่งแตกต่างจากที่เคยมีมหาเถรสมาคมที่เหมือนเป็นสภาอาวุโสในการปกครองและออกระเบียบ จนมีการแก้ไขกฎหมายเป็น พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2505 กลไกเหล่านี้ก็ถูกกวาดทิ้งและเป็นจุดอ้างอิงมาถึง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ทุกวันนี้

ภิญญพันธุ์เสนอว่า พ.ร.บ.คณะสงฆ์ 2505 เป็นการลดความเป็นการเมืองในวงการสงฆ์ เพราะในกฎหมายปี 2484 พบว่ามีการฟาดฟันทางการเมืองกันพอสมควร ซึ่งรัฐบาลหรือผู้อาวุโสในวงการสงฆ์เห็นว่าเป็นภาพที่ไม่เหมาะสม เป็นการเอาการเมืองเข้าไปอยู่ในคณะสงฆ์

“แต่มันเป็นการเมืองในระบบ ผมเชื่อว่าพระสงฆ์หลายท่านเห็นว่าแม้จะไม่มีในรูปแบบ แต่หลังฉากก็มีการเมืองเช่นกัน เมื่อก่อนนั้นอำนาจทุกอย่างรวมเบ็ดเสร็จอยู่ที่มหาเถรสมาคม แต่สภานี้มีเพื่อตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจกัน โมเดลนี้ในปี 2484 จึงถือเป็นโมเดลที่ก้าวหน้ามาก แต่มันลดบทบาทของสมเด็จพระสังฆราชและมหาเถรสมาคมลง ซึ่งเป็นกลไกสำคัญมาตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ใน พ.ร.บ.ลักษณะปกครองสงฆ์ ร.ศ.121 ซึ่งนี่คือการเมือง

“ผมคิดว่าการแบ่งอำนาจแบบนี้ในมุมมองของอนุรักษ์นิยม เขาคิดว่านี่คือปัญหาที่เข้ามาอยู่ในคณะสงฆ์เหมือนกับพระสงฆ์เล่นการเมืองในรูปแบบแบบที่ ส.ส. รัฐมนตรีเล่น แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว หลังจากไม่มีตรงนี้ ถามว่าพระสงฆ์เล่นการเมืองไหมโดยเฉพาะพระสงฆ์ระดับสูง”

สวนโมกข์-ธรรมกาย-สันติอโศก หลังสงครามเย็น

ภิญญพันธุ์ยังได้ยกตัวอย่าง 3 สำนักที่เข้าไปสัมพันธ์กับอำนาจรัฐคือวัดธรรมกาย สันติอโศก และสวนโมกข์

“เราเห็นได้ชัดตอนที่วัดธรรมกายเฟื่องฟูมากๆ วัดธรรมกายใช้กลไกรัฐ ผ่านระบบการศึกษา โครงการต่างๆที่เกิดขึ้นไปจับกับกระทรวงศึกษาธิการ ลงไปถึงโรงเรียนต่างๆ ในระดับมหาวิทยาลัยก็มีการตั้งชมรมหรือสร้างเครือข่าย มีกลไกเชื่อมกับมหาเถรสมาคมด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นธรรมกายค่อนข้างไปกันได้กับอำนาจรัฐก่อนที่จะถูกปราบปราม”

ส่วนสันติอโศกตรงกันข้ามเพราะพยายามปฏิเสธอำนาจรัฐไม่ให้เข้ามาครอบงำตนเอง แต่ก็ผูกตนเองกับอุดมการณ์ชาตินิยม ซึ่งเห็นผ่านการร่วมต่อสู้กับกลุ่มการเมืองที่ชูธงเรื่องชาตินิยมและอนุรักษ์นิยม

ขณะที่สวนโมกข์หรือสำนักพุทธทาสต่างกับ 2 สำนักข้างต้นที่ไม่ได้มีลักษณะเป็นสำนักสงฆ์ที่ผลิตศิษยานุศิษย์แบบวัดธรรมกายหรือสันติอโศก แต่เป็นลักษณะคำสอนที่เรามักจะเห็นมีคนนำคำพูดของพุทธทาสมาใช้มากมาย โดยคำสอนของพุทธทาสมักถูกใช้เพื่ออธิบายความชอบธรรมทางการเมืองและที่ผ่านมามักจะใช้อธิบายให้กับรัฐเผด็จการ ดังที่เคยได้ยินคำว่าเผด็จการโดยธรรม

“ผมคงไม่ได้เน้นไปที่ความขัดแย้งเท่ากับเห็นว่ากลุ่มก้อนต่างๆ มีตำแหน่งแห่งที่อย่างไร เราอาจจะพูดถึง 3 สำนักคิดใหญ่ๆ คือพุทธทาส ธรรมกาย และสันติอโศก และเพิ่มสายหลวงปู่มั่นและหลวงปู่ชา ที่ผมยกทั้ง 5 สำนักนี้มา ทำให้เห็นว่าสำนักเหล่านี้สัมพันธ์และมีอิทธิพลต่อชนชั้นกลางและสื่อมวลชนค่อนข้างสูง ผมจะพูดถึง 5 กลุ่มนี้ในเชิงประวัติศาสตร์และเชื่อมโยงกับปัจจุบัน”

ภิญญพันธุ์กล่าวถึงสายสวนโมกข์ สายธรรมกาย และสายสันติอโศก ที่ถือว่าเป็น 3 สำนักใหม่ในสมัยก่อน ทั้ง 3 สายนี้ตัวชี้วัดที่สำคัญว่าเป็นสำนักในอุดมคติที่จะพาชนชั้นกลางก้าวไปสู่สังคมในอุดมคติได้ ในหนังสือของประเวศ วะสีในปี 2530 ที่ชื่อว่า สวนโมกข์ ธรรมกาย สันติอโศก ประเวศระบุว่าทั้ง 3 สายนี้มีความโดดเด่นที่แตกต่างกัน สายสวนโมกข์คือปัญญา สายธรรมกายคือสมาธิ และสายสันติอโศกคือศีล ซึ่งทำให้มองเห็นความหวังของแต่ละสายว่าจะพาสังคมไทยที่จะดำรงความเป็นไทยเอาไว้ได้

“ผมอยากเสนอว่าการเฟื่องฟูของศาสนาที่ปรับตัวเข้ากับชนชั้นกลางหลังจากการล่มสลายของการต่อสู้ทางอุดมการณ์ในสงครามเย็น สงครามคอมมิวนิสต์ระหว่างรัฐไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) จบลง พบว่ามีสหายไม่น้อยออกจากป่า แล้วย้ายมาอยู่สายวัดเพราะอุดมการณ์ไม่เหลือแล้ว จะไปสู้รัฐก็ไม่ได้แล้ว ผมคิดว่าการเติบโตของคนรุ่นนี้ทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนมากเข้าไปอุทิศตน อย่าลืมว่าคนที่เข้าไปอยู่ในสำนักต่างๆ ไม่ใช่คนที่อยากร่ำรวย อยากมีอำนาจตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ผมคิดว่าแต่ละคนมีจินตนาการถึงสังคมที่ดีงามแตกต่างกันไปและเห็นว่าศาสนาจะเป็นตัวที่ทำให้สังคมนำไปสู่ตรงนั้น

“ผมคิดว่าคนเหล่านี้เข้าไปถางทาง เข้าไปอุทิศตนให้กับสำนักต่างๆ เพื่อที่จะสร้างสังคมที่ดีงาม ทั้ง 3 สำนักตั้งแต่ต้นก็คงคิดอย่างนี้ แต่แน่นอนว่าเมื่อเติบโตไป บริบทเปลี่ยน รอบข้างเปลี่ยนไป เจออะไรต่างๆ มันก็แตกต่างไป แม้แต่ของพุทธทาสที่ผมพูดบ่อยๆ ว่าเผด็จการหรือเปล่า ทั้งที่จริงๆ แล้วการตั้งสวนโมกข์ก็อยู่ในบริบทที่เหลื่อมซ้อนกับการอภิวัฒน์สยาม 2475 เช่นกัน ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า 3 สำนักเหล่านี้เกิดขึ้นจากวิกฤตหลังอุดมการณ์ พคท. การขยายตัวของ 3 สำนักในช่วง 30 ที่ฟองสบู่ขยายตัวขึ้นและมาพร้อมกับความไม่แน่นอนในชีวิตและต้องการที่พึ่ง ศาสนาเป็นส่วนหนึ่งในนั้น แต่ละที่เลือกทางไปที่ต่างกัน”

แต่หลังจากเหตุการณ์ทางการเมืองหลัง 2549  ภิญญพันธุ์คิดว่าสำนักต่างๆ เริ่มหมดพลังในการจูงใจลูกค้าใหม่และไม่ได้เป็นทางเลือกอีกแล้ว

“น่าสนใจก็คือสังคมหลัง 2549 เกิดปฏิบัติการทางศาสนาที่น่าสนใจคือคนสอนศาสนาที่ไม่ใช่พระ มนุษย์ที่เป็นคนธรรมดาเริ่มมีบทบาทมากขึ้น แต่ในมุมมองของผม สำนักต่างๆ ที่ผมเห็นและตามอยู่บ้างอย่างน้อยก็มี 3 สายนี้ และอีก 2 สายก็คือพระป่าที่ยังคงมีความสำคัญ”

หน้าปกหนังสือ 'ไทยปิฎก'

เครือข่ายของพระป่า

เครือข่ายพระป่าซึ่งได้รับความนิยมและยกย่องอย่างสูงด้วยการยกระดับว่าเป็นพระอรหันต์ ซึ่งคนไทยมักถูกพร่ำสอนทางศาสนาว่าเราไม่ควรลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือวิจารณ์หรือพูดถึงในทางไม่ดี โดยเฉพาะความบริสุทธิ์สูงสุดในศาสนาพุทธก็คือพระอรหันต์ การสร้างความเป็นพระอรหันต์เกิดขึ้นอย่างมากในหมู่พระป่า สถานะของพระป่าจึงค่อนข้างสูงมากโดยเฉพาะสายของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต อาจกล่าวได้ว่าเครือข่ายหลวงปู่มั่นสามารถแตกยอด ชั้นลูกศิษย์ของหลวงปู่มั่นก็มีเครือข่ายจำนวนมาก ที่สำคัญและมีอิทธิพลมาจนถึงทุกวันนี้คือสายหลวงตามหาบัวและหลวงพ่อวิริยังค์

“หลวงตาบัวเราเห็นชัดเจนมาก ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจก็มีการทำผ้าป่าช่วยชาติ ซึ่งมีบทบาทอย่างสูงมากในแวดวงสังคมไทย คือหลวงตาบัวไม่ได้อยู่เฉพาะในป่าแต่มีบทบาทมากในทางการเมือง หลวงตาบัวมีตั้งแต่ยุคที่สนิทกับทักษิณ ชินวัตร จนถึงยุคไล่ทักษิณ ชินวัตร ที่จับมือกับสนธิ ลิ้มทองกุล เราจะเห็นว่าหลวงตาบัวมีบทบาทสำคัญมาก เครือข่ายหลวงตาบัวที่เราเห็นในข่าวหลายครั้งถ้าหลวงตาตัวไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาล ก็จะสามารถระดมเครือข่ายลูกศิษย์ที่มีอยู่มากเข้ามาเพื่อเรียกร้องความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น ผมคิดว่าเครือข่ายของหลวงปู่มั่นเองมีอิทธิพลบทบาททางสังคมการเมืองค่อนข้างสูงมากโดยเฉพาะหลวงตามหาบัวอย่างที่ผมบอกว่าไม่ใช่พลังของการเทศน์ตัวต่อตัวอีกต่อไป แต่เป็นพลังของการสร้างเครือข่าย

“สำหรับอีกส่วนหนึ่งหลวงพ่อวิริยังค์ ผมก็คิดว่ามีชื่อเสียงในระดับหนึ่ง แต่หลวงพ่อวิริยังค์มาสร้างโครงสร้างที่น่าสนใจมากๆ ในปี 2540 คือการสร้างสถาบันพลังจิตตานุภาพ ความน่าสนใจคือสถาบันพลังจิตตานุภาพไม่ได้สร้างเครือข่ายพระสงฆ์ แต่เป็นการสร้างเครือข่ายกับฆราวาสในแต่ละจังหวัด สร้างสิ่งที่เรียกว่าครูสมาธิสถาบันพลังจิตตานุภาพ ปัจจุบันมีสาขาอยู่ทั่วประเทศ 267 สาขาและคนที่เป็นเฮดของเครือข่ายเป็นฆราวาสทั้งสิ้น เราเห็นได้ว่าเครือข่ายของหลวงพ่อวิริยังค์ขยายตัวในอีกรูปแบบหนึ่ง ถ้านับปี 2540 เป็นปีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ มันก็อาจเป็นอีกความพยายามหนึ่งของโจทย์ในชีวิตมนุษย์ต้องการอะไรสักอย่าง ในกรณีครูสมาธิจะเห็นได้ชัดว่าไม่ได้ผลิตเพื่อเป็นลูกศิษย์อย่างเดียว แต่ผลิตเพื่อเป็นมิชชันนารีของหลวงพ่อวิริยังค์”

ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งเป็นสายแยกของหลวงปู่มั่นคือหลวงปู่ชาซึ่งบวชในมหานิกาย แต่ต้องการเป็นพระปฏิบัติแบบหลวงปู่มั่นจึงขอเปลี่ยนนิกาย ทว่า การเปลี่ยนนิกายไม่ใช่เรื่องง่ายและเมื่อเปลี่ยนแล้วต้องนับพรรษาใหม่ หลวงปู่มั่นจึงให้หลวงปู่ชาอยู่ในมหานิกาย แต่วัตรปฏิบัติและคำสอนต่างๆ ของหลวงปู่มั่นก็ถ่ายเทมามาสู่หลวงปู่ชา

ความน่าสนใจของสายหลวงปู่ชาหรือวัดนาป่าพงก็คือการสร้างเครือข่าย ข้อมูลปี 2554 มีวัดสาขาของวัดหนองป่าพง 241 สาขา มีการจัดระเบียบที่ซับซ้อนมาก มีทั้งวัดสาขา วัดสาขาสำรอง วัดสาขาสำรวจ หมายความว่าวัดแต่ละวัดจะถูกควบคุมโดยคณะสงฆ์ของวัดหนองป่าพงว่าพร้อมที่จะยกสถานะขึ้นมาเป็นวัดหลักของวัดหนองป่าพงหรือไม่ ที่น่าสนใจคือการควบคุมกันเองของวัดสาขาหลักกับวัดสาขารองลงไป

“ตั้งแต่ปี 52 เป็นต้นมาวัดหนองป่าพงขับวัดสาขาออกจากสมาชิกภาพ 3 วัดด้วยกัน วัดแรกในปี 52 คือวัดนาป่าพงของพระคึกฤทธิ์ สิ่งที่พระคึกฤทธิ์ทำขัดแย้งกับวัดหนองป่าพงแน่ๆ คือการสวดปาฏิโมกข์ 150 ข้อจากที่มี 227 ข้อ ในสายหลวงปู่ชาจากเคร่งครัดมากในการสวดปาฏิโมกข์ มันคือการท่องตัวบททั้ง 227 ข้อโดยใช้ความจำ วัดหนองป่าพงพิจารณาแล้วว่าไม่ใช่ก็ตัดออกไป วัดที่ 2 ที่โดนตัดคือปี 53 คือวัดป่าโพธิญาณที่ซิดนีย์ ออสเตรเลีย เป็นวัดของหลวงพ่อพรหมวังโส เป็นพระฝรั่งที่สอนธรรมง่ายๆ สไตล์คนต่างชาติ ปรากฏว่าสิ่งที่เขาละเมิดความเป็นเถรวาทที่สุดคือการบวชภิกษุณี ก็ถูกขับออกไป สุดท้ายที่ถูกขับออกคือวัดโพธิญาณรามที่ฝรั่งเศส เป็นวัดที่รับรองเณรคำว่าเป็นอรหันต์

“ในกรณีของวัดหนองป่าพงอาจมองได้สองมุม คือความสามารถในการสร้างประสิทธิภาพและกลไกในการดูแลเครือข่ายของตนเอง ในด้านหนึ่งสิ่งที่วัดหนองป่าพงทำ ไม่ใช่สิ่งที่วัดหนองป่าพงทำแล้วคุยกันเอง แต่มีการส่งผลไปยังมหาเถรสมาคมด้วย ถ้ามองในแบบที่ไม่เกี่ยวกับมหาเถรสมาคม ผมคิดว่าบรรทัดฐานแบบนี้คือการดูแลกันในเครือข่าย โมเดลแบบนี้จะเป็นไปได้ไหมในการดูแลศาสนาทั้งประเทศ ซึ่งแน่นอนมันจะนำไปสู่ secularize ที่ไม่ได้นำอำนาจรัฐไปจับ”

ภิญญพันธุ์กล่าวว่ายังมีสำนักย่อยๆ หรือแม้กระทั่งพระปัจเจกทั้งหลายที่ล้วนผูกกับอำนาจรัฐไม่โดยตรงก็โดยอ้อม ไม่ว่าจะผ่านสายบังคับบัญชา การสอบบาลีสนามหลวง การมีฐานานุศักดิ์ ฉะนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าอำนาจรัฐสัมพันธ์กับคณะสงฆ์และพระสงฆ์เป็นอย่างยิ่ง

มหาสมุทรแห่งคำสอน

“อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าศาสนาพุทธแบบไทยที่ส่งผลกระทบกับคนไทยมันอยู่ในชีวิตประจำวันด้วย นั่นก็คือคำสอนต่างๆ ผมใช้คำว่ามหาสมุทรของคำสอน ที่เป็นเกจิเป็นอาจารย์ต่างๆ ในสังคมไทย เรามีถ้อยคำจำนวนมาก ที่ถูกประดิษฐ์มาทั้งที่มีในพระไตรปิฎกและนำมาขยายความและประดิษฐ์คำใหม่ๆ รวมทั้งสื่อด้วย ผมคิดว่าภาพที่คลาสสิคมากก็คือภาพโรงเรียนอนุบาลในฝันวิทยาของวัดธรรมกายที่อธิบายอดีตชาติของสตีฟ จ๊อบส์ซึ่งเป็นการตีความชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งโดยใช้สื่อในการอธิบาย หมายความว่าเป็นการพยายามสร้างชุดการอธิบายโดยใช้ศาสนาเข้าไปอธิบายสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คน ปฏิเสธไม่ได้ว่าลูกศิษย์ของวัดธรรมกายเป็นชนชั้นกลางส่วนใหญ่ซึ่งเป็นคนที่ใช้ผลิตภัณฑ์ของแอปเปิ้ล”

ภิญญพันธุ์ตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันการแผยแผ่ศาสนาไม่ใช่การเทศน์ขณะตักบาตรหรือการนั่งบนอาสนะอีกแล้ว แต่เป็นการใช้สื่อในหลากหลายรูปแบบเพื่อสนทนากับผู้คนในวงกว้าง สื่อพวกนี้ทำให้มหาสมุทรของคำสอนกว้างมากขึ้น

“มหาสมุทรแห่งคำสอนนี้อาศัยเครือข่ายของผู้คนและการสื่อสารที่กว้างขวางมากๆ มันมีพื้นที่ที่เปิดกว้างมากๆในการสอนคำสอน ด้วยความที่เรื่องเล่าทางศาสนาไม่ใช่การสอนคำสอนแบบเป๊ะๆ ไม่ได้มาท่องบทสวดให้ฟังแต่ความมีเสน่ห์ของการเทศน์ก็คือการนำเรื่องมาเล่าให้ฟังในลักษณะนิทาน ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นพลังสำคัญมาก

“ผมว่าในห้องนี้อย่างน้อยต้องเคยได้ยินชื่อ ท.เลียงพิบูลย์หรือเรื่องจริงอิงนิทานพิเศษของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ผมใช้ชุดคำอธิบายที่ผมสร้างขึ้นเองว่าจิตนิยมประวัติศาสตร์ ยืมมาจากวัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์ที่เป็นแนวคิดของฝ่ายซ้าย ที่มองการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์เชื่อมโยงกับความเปลี่ยนแปลงของสิ่งที่จับต้องได้ แต่ผมคิดว่าจิตนิยมทางประวัติศาสตร์เป็นเรื่องเล่าที่เฟื่องฟูมากๆ ในตอนต่อสู้กับคอมมิวนิสต์หรือพูดอีกแบบคือเรื่องเล่าแบบนี้เป็นเรื่องเล่าที่ใช้เคาน์เตอร์กับวัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์ที่บอกว่าสังคมมีสเต็ปที่สุดท้ายจะปลดปล่อยผู้คนไปสู่สังคมที่ดีงามที่เรียกว่าคอมมิวนิสต์

“แต่ศาสนาพุทธไม่ใช่อย่างนั้น ศาสนาพุทธมีการใช้เรื่องเล่าที่เหนือธรรมชาติ สิ่งลี้ลับต่างๆ อย่างเช่นกฎแห่งกรรม การกลับชาติมาเกิดของคน การทำบุญอย่างไรได้บุญอย่างนั้น และเป็นบุญหรือกรรมแบบเฉียบพลันด้วย เรื่องเล่าเหล่านี้จึงเป็นการสถาปนาความจริงบนความเบลอ โดยเฉพาะของหลวงพ่อฤาษีลิงดำที่ใช้คำว่าเรื่องจริงอิงนิทาน ผมคิดว่าความเบลอของเรื่องเล่าในทางศาสนามีส่วนมากในการทำให้ผู้ฟังที่เป็นศิษยานุศิษย์หรือสังคมเข้าใจไปทางนั้น”

นอกจากนี้ยังพบว่ามีการประดิษฐ์ตัวบทถ้อยคำจำนวนมากในศาสนาพุทธที่มาจากพระไตรปิฎกหรือว่าแหวกแนวจากพระไตรปิฎก เห็นได้จากงานของพุทธทาสที่ดูเรียบง่าย ยอกย้อน มีกลิ่นอายของเซ็น พูดถึงเรื่องตัวกูของกู ตายก่อนตาย ขณะที่ธรรมกายใช้ภาษาอีกแบบหนึ่ง เน้นสื่อสารกับคนรุ่นใหม่วงกว้าง ผนวกกับความอลังการของการทำบุญ มีโครงการที่ดูรุ่นใหม่มากอย่างเด็กดีมีสตางค์ โครงการบวชอุบาสิกาแก้ว หรือกฐินบรมจักรพรรดิ สำหรับชนชั้นกลางมันเห็นภาพเลยว่าทรัพย์สินเงินทองของจักรพรรดิเป็นอย่างไร ขณะที่สันติอโศกจะมีแนวคิดต่อต้านการบริโภคนิยม พึ่งพาตนเอง ใช้ภาษาเด็ดขาด เพราะต้องการความแข็งกร้าวเพื่อสู้กับกิเลส มีแนวคิดการใช้บุญนิยมนำ แต่ละที่ก็ผลิตตัวบทที่สร้างความรับรู้หรือตอกย้ำอุดมการณ์

ศาสนาถูกใช้เพื่อลดทอนความเป็นมนุษย์

“เราพบว่าไม่ได้มีด้านเดียวที่ศาสนาถูกเผยแพร่ ยังมีฝั่งที่ต่อต้านหรือจะเรียกว่าปราบมาร โดยเฉพาะคนแรก พระอนันต์เสนาขันธ์ซึ่งเป็นตำรวจเก่า อันนี้ฮาร์ดคอร์มาก เขียนหนังสือโจมตีพุทธทาสใช้คำว่าคำสอนเดียรถีย์ ความจริงแล้วพระอนันต์โจมตีสันติอโศกด้วย หรือพระประยุทธ์ ปยุตฺโตก็เขียนเรื่องสันติอโศกและวัดพระธรรมกาย ว่าคำสอนต่างกับสิ่งที่ท่านยึดถืออย่างไร หรืออีกอันหนึ่งคือแนว journalist คือการโจมตีพระสงฆ์ที่ปฏิบัตินอกรีด เราจะเห็นชัดเจนมากว่าข่าวสดเป็นหนังสือพิมพ์ใหม่ที่เติบโตขึ้นมาด้วยการขายข่าวฉาวของพระ”

ในทางกลับกันศาสนายังถูกใช้ลดทอนความเป็นมนุษย์ ทำให้กลายเป็นอื่น ทำให้สามารถถูกปราบปรามได้ง่าย  กลายเป็นวัตถุที่สามารถถูกดูถูกเหยียดหยามได้ อย่างโน๊ต อุดมที่ล้อเลียนคนอื่น แต่ก็ถูกล้อเลียนกลับเมื่อรู้ว่าเป็นลูกศิษย์วัดธรรมกาย ธรรมกายถูกล้อเลียนผ่านหลายเรื่องมาก เช่นเจดีย์ที่ถูกบอกว่าเป็นจานบิน นัยยะของมันคือการบอกว่าเป็นเอเลี่ยนเป็นมนุษย์ต่างดาว ภิญญพันธุ์เห็นว่าตัวธรรมกายมีปัญหาแน่นอนในการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับโครงสร้างรัฐหรือการบริหารจัดการเงิน แต่ธรรมกายไม่ควรถูกเหยียดหยาม การลดทอนความเป็นมนุษย์ และการปราบปราม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท