รัฐประหารหรือไม่ แล้วไง ดูสาเหตุ-คำถามเชิงโครงสร้างในการเมืองโบลิเวียสีเทา

แม้ชะตากรรมทางการเมืองของอีโว โมราเลส อดีต ปธน. ยอดนิยมของโบลิเวียจะจบลงหลังถูกประท้วงในข้อหาโกงเลือกตั้ง ยื้ออำนาจการเมือง แต่ข้อถกเถียงถึงการโค่นล้มอำนาจครั้งนี้ว่าเป็น "รัฐประหาร" หรือไม่ยังคงดำเนินต่อไป ชวนดูสาเหตุของทั้งสองฝ่าย ต้นตอของความไม่พอใจ และคำถามทางโครงสร้างที่จำเป็นต้องได้รับการชี้แจงมากกว่าเหตุผลเฉพาะหน้าเรื่องใครถูก-ผิดในโลกสีเทาๆ

อีโว โมราเลส อดีตประธานาธิบดีโบลิเวีย (ที่มา:Kremlin.ru)

14 พ.ย. 2562 สถานการณ์ทางการเมืองในโบลิเวียดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ฉับพลัน หลังจากการประท้วงใหญ่อันมีผลจากความไม่พอใจในผลการเลือกตั้งทั่วไปและท่าทีการยื้ออำนาจของเขา นำมาซึ่งการประกาศลาออกของอีโว โมราเลส ประธานาธิบดีโบลิเวียเมื่อ 11 พ.ย. ที่ผ่านมา

เจนีน อันเยซ วุฒิสมาชิกฝ่ายค้านในโบลิเวียขึ้นเป็นรักษาการประธานาธิบดีหลังจากที่มีการลาออกของโมราเลส อันเยซกล่าวว่าเธอจะมีมาตรการทำให้ประเทศกลับสู่ความสงบ และการขึ้นดำรงตำแหน่งชั่วคราวของเธอจะเป็นการนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่

พรรค MAS ซึ่งเป็นพรรคของโมราเลสประณามว่าการขึ้นดำรงตำแหน่งของอันเยซผิดกฎหมาย รวมถึงประกาศคว่ำบาตรสภาจากผู้นำชั่วคราวคนนี้ นอกจากนี้ยังมีการเดินขบวนประท้วงของผู้สนับสนุนโมราเลสจำนวนมากด้วย ผู้ประท้วงรายหนึ่งชื่อ ฮูลิโอ ชิปานา ชี้ว่าอันเยซประกาศตัวเองเป็นรักษาการประธานาธิบดีโดยไม่มีองค์ประชุมในรัฐสภา และ "เธอไม่ได้เป็นตัวแทนของพวกเรา"

เกิดอะไรขึ้นในโบลิเวีย

วิกฤตทางการเมืองรอบล่าสุดในเริ่มต้นมาจากการประท้วงหลังจากที่ฝ่ายค้านในโบลิเวียกล่าวหาว่ามีการโกงการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ซึ่งในการเลือกตั้งเมื่อช่วงปลายเดือน ต.ค. ที่ผ่านมาก็มีพิรุธในช่วงการนับคะแนน โดยที่มีการหยุดการนับคะแนนอย่างกระทันหันทิ้งห่างไปหนึ่งวันก่อนที่จะกลับมาประกาศผลอีกครั้งโดยที่ไม่มีการชี้แจงว่าหยุดนับคะแนนด้วยเหตุใด ซึ่งผลคือพรรครัฐบาลชนะการเลือกตั้ง

หลังการประท้วงต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสัปดาห์ โมราเลสประกาศสละตำแหน่งภายใต้การกดดันของตำรวจและกองทัพ และได้ลี้ภัยไปยังเม็กซิโกในเวลาต่อมาหลังรัฐบาลเม็กซิโกประกาศพร้อมรับตัวเขาไว้  อีกด้านหนึ่ง ในเวลาต่อมา สหรัฐฯ ให้การรับรองสถานภาพรัฐบาลชั่วคราวที่นำโดยอันเยซ

โมราเลสขอบคุณเม็กซิโกที่ "ช่วยชีวิตเขาไว้" และกล่าวหาคู่แข่งของเขาว่าทำการบีบให้เขาออกจากตำแหน่งด้วยวิธีการ "รัฐประหาร" โมราเลสกล่าวเมื่อวันที่ 10 พ.ย. ที่ผ่านมาก่อนลาออกว่ามีสมาชิกของกองทัพตั้งค่าหัวเขาไว้ 50,000 ดอลลาร์ เขาประณามว่าคนเหล่านี้ "ไม่เคารพในชีวิตหรือกระทั่งไม่เคารพในบ้านเกิดของตัวเอง"

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ทำให้นักการเมืองเอียงซ้ายหลายคนจากหลายชาติกล่าวกล่าวประณามว่าเป็น "การรัฐประหาร" ไม่ว่าจะเป็นเจเรมี คอร์บิน หัวหน้าพรรคแรงงานอังกฤษ ลุลา ดา ซิลวา อดีตประธานาธิบดีบราซิลที่เพิ่งได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ และเบอร์นี แซนเดอร์ส หนึ่งในผู้แทนลงสมัครเลือกตั้งจากพรรคเดโมแครตในสหรัฐฯ

สื่อนิตยสาร GQ รายงานว่าโมราเลสเป็นประธานาธิบดีที่มีคุณูปการต่อประเทศโบลิเวียในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการลดปัญหาความยากจนได้ครึ่งหนึ่ง มีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำสามเท่า และมีโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่หลายโครงการ รวมถึงประสบความสำเร็จในด้านการสกัดกั้นไม่ให้มีกลุ่มอำนาจจักรวรรดินิยมเข้าไปควบคุมทรัพยากรธรรมชาติของโบลิเวียในขณะที่นักการเมืองสหรัฐฯ พยายามสร้างภาพให้โมราเลสดูเป็นคนที่มีภาพเหมารวมเดิมๆ ของนักสังคมนิยมคือเป็นคนทำลายเศรษฐกิจ

กระนั้น ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาผู้คนในโบลิเวียบางส่วนรวมถึงผู้สนับสนุนโมราเลสด้วยเริ่มไม่พอใจในตัวเขาจากความพยายามทำในสิ่งที่ไม่เป็นประชาธิปไตย พยายามยึดกุมอำนาจตัวเองไว้ เช่น ในปี 2559 เขาแพ้การเลือกตั้งด้วยคะแนนเฉียดฉิวแต่ก็ทำการการอุทธรณ์ต่อศาลซึ่งศาลก็ตัดสินในเชิงเข้าข้างเขาทำให้เขามีอำนาจได้ต่อไป นอกจากนั้น โมราเลสยังได้แก้ไขรัฐธรรมนูญในเรื่องการจำกัดวาระดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีเอาไว้มาแล้วถึงสองครั้ง

ในการเลือกตั้งครั้งหลังสุดก็มีสิ่งที่ทำให้เกิดข้อกังขาเรื่องอาจจะมีการโกงการเลือกตั้งทำให้องค์การรัฐอเมริกัน (OAS) ตรวจสอบในเรื่องนี้ รายงานของ OAS ทำให้เกิดการประท้วงทั่วโบลิเวียในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาและถูกนำมาขยายความต่อโดย ส.ว. สหรัฐฯ มาร์โค รูบิโอ โมราเลสพยายามเอาใจผู้ชุมนุมด้วยการจัดให้มีการเลือกตั้งอีกครั้ง แต่หน่วยงานตำรวจและทหารโดยเฉพาะนายพล วิลเลียม คาลิมาน ผู้บัญชาการเหล่าทัพของโบลิเวียก็ขัดขืน ทำให้เกิดสิ่งที่หลายคนเรียกว่าเป็นการรัฐประหารเกิดขึ้น ถึงแม้ว่าคาลิมานจะให้สัญญาว่าทหารจะไม่โจมตีผู้ชุมนุม แต่ก็มีคลิปวิดีโอจากสื่อเตลาซูร์เผยให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ทำการปราบปรามผู้ชุมนุมสนับสนุนโมราเลสจนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1 ราย

รัฐประหารหรือไม่ ดูเหตุผล 2 ฝั่งและปัญหาเชิงโครงสร้าง

องค์กรจับตามองสื่อสหรัฐฯ Fairness & Accuracy In Reporting (FAIR) ตั้งข้อสังเกตว่าสื่อสหรัฐฯ หลายแห่งไม่เน้นพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็น "การรัฐประหาร" แต่จะเน้นระบุว่าโมราเลส "ลาออก" เพราะข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการทุจริตการเลือกตั้งมากกว่า ทั้งนี้ยังตั้งข้อกังขาว่าองค์กร OAS ที่ตรวจสอบเรื่องการเลือกตั้งของโบลิเวียเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นในสมัยสงครามเย็นที่มีเป้าหมายพยายามสกัดกั้นการแผ่ขยายอิทธิพลของรัฐฝ่ายซ้ายในทวีปอเมริกา

อย่างไรก็ตามมีรายงานที่น่าสนใจจากนิวยอร์กไทม์ ที่นำเสนอว่ากรณีของโบลิเวียอาจจะไม่สามารถตีความออกมาได้ชัดเจนว่าเป็นการรัฐประหารหรือปฏิวัติของประชาชน เพราะว่าเมื่อพิจารณาแล้วพบว่ามีเรื่องเล่าหลักๆ สองแบบเวลาพูดถึงเหตุการณ์โบลิเวีย หนึ่ง คือเรื่องเล่าที่ประชาชนปฏิวัติต่อต้านประธานาธิบดีซึ่งมีท่าทีเข้าใกล้อำนาจนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และอีกแบบหนึ่งคือการเน้นพูดเรื่องวิธีการใช้กำลังทหารในการแทรกแซงกระบวนการ ซึ่งเรื่องเล่าทั้งสองเรื่องต่างมีหลักฐานมานำเสนอทั้งคู่

แน่นอนว่าตามหลักจริยธรรมของโลกสากลในปัจจุบันแล้ว การรัฐประหารจะต้องถูกประณาม ขณะที่การปฏิวัติของประชาชนจะต้องได้รับการพิทักษ์เชิดชู แต่ในกรณีของโบลิเวีย มีนักวิชาการที่เสนอว่าอย่ามัวไปยึดติดกับการตั้งปมว่ามันเป็นการรัฐประหารหรือการปฏิวัติประชาชนกันแน่ เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าคือผลลัพธ์ที่ตามมา

ผู้เสนอเรื่องดังกล่าวคือ เนานิฮาล ซิงห์ นักวิชาการชั้นนำที่เชี่ยวชาญประเด็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านทางอำนาจและการรัฐประหาร เขาบอกว่าปัญหาจริงๆ ก็คือคำถามที่ว่า จะเกิดขึ้นต่อไปในโบลิเวีย ซิงห์กล่าวว่าการเปลี่ยนผ่านในโบลิเวียมักจะเป็นไปอย่างลื่นไหลและคาดเดาไม่ได้ มุมมองเรื่องความชอบธรรมหรือการขาดความชอบธรรมอาจเป็นตัวปัจจัยที่ชี้ขาด

สำหรับในแง่ความชอบธรรมนั้น ภาพลักษณ์ของการปฏิวัติประชาชนตั้งแต่ยุคสมัยสงครามเย็นมักจะดูลักษณ์โรแมนติกกว่า แต่ซิงห์ก็ชี้ว่าการกล่าวหาว่าการประท้วงของชาวโบลิเวียขาดความชอบธรรมเพียงเพราะมีการใช้ความรุนแรงนั้นไม่ก็ไม่ได้มีความเชื่อมโยงกัน เพราะการปฏิวัติประชาชนจำนวนมากก็มีความรุนแรง

ซิงห์ยังโต้แย้งข้ออ้างของฝ่ายต่อต้านโมราเลสที่ใช้ข้อกล่าวหาว่าโมราเลสลุแก่อำนาจ หรือมีการใช้ความรุนแรงจากฝ่ายสนับสนุนของเขาเป็นข้ออ้างสร้างความชอบธรรมให้กองทัพแทรกแซง ว่าเป็นข้ออ้างที่เบาหวิวเช่นกัน ข้ออ้างของทั้งสองฝ่ายมีลักษณะตอบโต้กันไปมาเพื่อสร้างความชอบธรรมทางจริยธรรมก็เท่านั้น

นิวยอร์กไทม์ยังชวนให้มองเรื่องนี้ในแง่สีเทาๆ มากกว่าจะเป็นปัญหาของฝ่ายขวาหรือฝ่ายซ้าย เพราะในอดีตก็เคยมีการรัฐประหารที่กองทัพทำหน้าที่โค่นล้มฝ่ายขวาและสนับสนุนฝ่ายซ้ายมาก่อนเช่นในเอกวาดอร์ สำหรับนักรัฐศาสตร์แล้วเรื่องนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มาจากปัจจัยต่างๆ เช่น การที่ประธานาธิบดีมีอำนาจมากเกินไป กองทัพมีอำนาจมากเกินไป สังคมที่แบ่งขั้วและสถาบันทางการเมืองที่อ่อนแอ ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้เกิดปรากฏการณ์การตัดสินความขัดแย้งนอกกฎเกณฑ์กติกาได้อย่างที่เกิดขึ้นในโบลิเวีย

เรียบเรียงจาก

Bolivia: Jeanine Añez claims presidency after ousting of Evo Morales, The Guardian, Nov. 13, 2019

Is a Coup Happening in Bolivia?, GQ, Nov. 11, 2019

The Bolivian Coup Is Not a Coup—Because US Wanted It to Happen, FAIR, Nov. 11, 2019

Bolivia Crisis Shows the Blurry Line Between Coup and Uprising, New York Times, Nov. 13, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท