อองซานซูจีถูกฟ้องในอาร์เจนตินากรณีปฏิบัติการกวาดล้างชาวโรฮิงญาในยะไข่

ชาวโรฮิงญา กลุ่มสิทธิในละตินอเมริกายื่นต่อศาลอาร์เจนตินา ฟ้องร้องทหารและเจ้าหน้าที่พลเรือนพม่าในกรณีอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ กรณีปฏิบัติการทางทหารต่อชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ในรายชื่อผู้ถูกฟ้องมีทั้งผู้บัญชาการทหารสูงสุด และมีชื่ออองซานซูจี ผู้นำพม่าในทางปฏิบัติอยู่ด้วย โดยขอให้คนเหล่านั้นได้รับการดำเนินการทางกฎหมายต่อสิ่งที่ทำลงไป ไม่นานมานี้ก็มีประเทศแกมเบียฟ้องศาลโลกในเรื่องเดียวกัน

อองซานซูจี ระหว่างร่วมเปิดงานคอนเสิร์ตระดมทุนช่วยเหลือกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่า ซึ่งจัดโดยพรรคเอ็นแอลดี เมื่อ 30 ธ.ค. 54 (ที่มา:แฟ้มภาพ)

14 พ.ย. 2562 อองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ รัฐมนตรีต่างประเทศพม่า ผู้นำประเทศในทางปฏิบัติ อยู่ในบัญชีรายชื่อผู้ถูกฟ้องในประเทศอาร์เจนตินาในข้อหาก่ออาชญากรรมต่อกลุ่มชาวโรฮิงญา ถือเป็นครั้งแรกที่เธอถูกดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายในประเด็นโรฮิงญา

ชาวโรฮิงญาและกลุ่มสิทธิมนุษยชนละตินอเมริการ่วมกันฟ้องร้องในอาร์เจนตินาซึ่งเป็นประเทศตามหลักการเขตอำนาจศาลสากล (universal jurisdiction) ที่ให้คดีความที่มีความสะเทือนขวัญมากอย่างอาชญากรรมสงครามหรืออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ สามารถนำไปขึ้นศาลที่ใดก็ได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญของอาร์เจนตินาเองก็รับรองหลักการนี้

ชื่อของอองซานซูจีอยู่ในลิสต์เดียวกับนายทหารและเจ้าหน้าที่พลเรือน ในรายชื่อยังมี พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดกองทัพพม่า โดยการฟ้องร้องนั้นอยากให้คนเหล่านั้นถูกดำเนินการทางกระบวนการยุติธรรมจาก “ภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่” ของชาวโรฮิงญา 

โทมัส โอเจีย ทนายความ กล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่าการฟ้องร้องครั้งนี้ต้องการให้เกิดการคว่ำบาตรในทางอาญาต่อผู้ก่อการและผู้เกี่ยวข้องกับการปกปิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา โดยสาเหตุที่มาฟ้องที่อาร์เจนตินาเพราะว่าไม่มีที่อื่นที่สามารถฟ้องได้

นอกจากการดำเนินคดีในอาร์เจนตินาแล้ว บีบีซียังรายงานว่า แกมเบีย ประเทศที่อยู่ทางตะวันตกของทวีปแอฟริกาได้ฟ้องร้องพม่าในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญากับศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice - ICJ) ณ กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (11 พ.ย.) ทั้งนี้ พม่าและแกมเบียได้เป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ค.ศ. 1948 ที่มีบทบัญญัติเรื่องการห้ามปรามและการลงโทษอาชญากรรมว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ 

ทางแกมเบียระบุในสำนวนฟ้อง ขอให้ศาลพิพากษาให้พม่า “หยุดความโหดร้ายทารุณและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่อชาวโรฮิงญาของพวกเขาเอง” อะบูบะการ์ เอ็ม ตัมบาดูว์ อัยการสูงสุดของแกมเบีย รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมที่เคยทำงานในศาลอาญาระหว่างประเทศกรณีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดาปี 2537 เป็นหัวหอกในการดำเนินคดีครั้งนี้

ตั้งแต่เดือน ส.ค. 2560 ชาวโรฮิงญามากกว่า 740,000 คนต้องอพยพออกจากพื้นที่รัฐยะไข่ตอนเหนือไปยังบังกลาเทศ หลังกองทัพพม่าใช้กำลังเข้าโจมตี เพื่อตอบโต้การลอบจู่โจมของกลุ่ม ARSA ปฏิบัติการของกองทัพพม่า ต่อมาได้รับการวิจารณ์และประณามจากนานาประเทศรวมทั้งองค์การสหประชาชาติในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายประการ หนักที่สุดคือรายงานของสหประชาชาติที่ระบุว่าการกระทำของกองทัพพม่าเข้าข่ายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ปัจจุบัน ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาในบังกลาเทศและรัฐบาลบังกลาเทศต่างสร้างแรงกดดันให้กันและกัน หลังจากความพยายามส่งผู้ลี้ภัยกลับพม่าประสบความล้มเหลวเป็นครั้งที่สองเมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากยังมีปัญหาเรื่องการหาผู้ลี้ภัยที่สมัครใจเดินทางกลับและคำถามเรื่องความปลอดภัยในรัฐยะไข่ เมื่อเดือน ส.ค. มีรายงานข่าวในดากาทริบูน สื่อบังกลาเทศว่ามีผู้ลี้ภัยโรฮิงญาเข้าสัมภาษณ์ในกระบวนการส่งกลับเพียง 100 คนจากทั้งหมดในรายชื่อ 3,540 คน

ประเด็นชาวโรฮิงญาถูกกล่าวถึงในแถลงการณ์สุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออกครั้งที่ 14 หนึ่งในเวทีประชุมในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 35 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อ 2-4 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยระบุว่าที่ประชุมสนับสนุนบทบาทอาเซียนในการแก้ปัญหาด้าน “มนุษยธรรม” กระบวนการนำคนกลับ และการพัฒนาที่ยั่งยืนในรัฐยะไข่ แต่ไม่มีการออกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์โรฮิงญาหรือที่ทางการพม่าพยายามให้เรียกว่า "เบงกาลี" แต่ประการใด

เมื่อปลายเดือน ต.ค. สำนักข่าวเกียวโดของญี่ปุ่นได้เผยแพร่ข่าวว่าไม่มีการพูดถึงประเด็นชาวโรฮิงญาเลยในร่างแถลงการณ์ของการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออกครั้งที่ 14 แหล่งข่าวระบุว่า ผู้แทนพม่าได้แสดงจุดยืนคัดค้านการบรรจุเรื่องชาวโรฮิงญาไว้ในแถลงการณ์ นอกจากนั้นพม่ายังมีท่าทีไม่พอใจกับมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ต่อผู้นำทหารพม่าที่มีส่วนกับการจู่โจมชาวโรฮิงญาอีกด้วย 

ที่ผ่านมาอาร์เจนตินาเคยเป็นพื้นที่ในการยื่นฟ้องดำเนินคดีในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนข้ามแดนมาแล้ว ศาลอาร์เจนตินาเคยรับคำร้องกรณีลัทธิฝ่าหลุนกงในจีน คดีเกี่ยวกับอดีตเผด็จการนายพลฟรานซิสโก ฟรังโกในสเปน นอกจากนั้นอัยการอาร์เจนตินายังเคยรับคำร้องขององค์กรสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอทช์ ให้พิจารณากรณีที่มีการกล่าวหาว่ามกุฏราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน แห่งซาอุดิอาระเบียมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารจามาล คาช็อกกี นักข่าวลี้ภัยชาวซาอุฯ ในสถานกงสุลซาอุฯ ประจำนครอิสตันบูล ประเทศตุรกีในปี 2561 ด้วย

อัยการอาร์เจนตินาเล็งพิจารณาดำเนินคดีเจ้าชายซาอุฯ ก่อนประชุม G20

แปลและเรียบเรียงจาก

Aung San Suu Kyi named in Argentine lawsuit over crimes against Rohingya, The Frontier Myanmar, Nov. 14, 2019

Rohingya crisis: The Gambia accuses Myanmar of genocide at top UN court, BBC, Nov. 11, 2019

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท