Skip to main content
sharethis

จากกรณี ‘ประยุทธ์’ ออกข้อสั่งการดูความเป็นไปได้ที่จะดึงเงิน 'กองทุนประกันสังคม' ปล่อยกู้เพื่อการลงทุน-เพื่อรายได้จำเป็นอื่นๆ ‘ษัษฐรัมย์’ นักวิชาการด้านรัฐสวัสดิการชี้ เงินประกันสังคมควรจัดเป็นสวัสดิการพื้นฐานให้ผู้ประกันตนอย่างถ้วนหน้ามากกว่าการนำมาให้กู้ เสี่ยง NPL แนะช่วยผู้ประกันตนด้วยการเพิ่มคือการสมทบของภาครัฐและนายจ้าง และเพิ่มสิทธิประโยชน์ ส่วนสิทธิประโยชน์เรื่องการกู้ยืม ควรดึงธนาคารพาณิชย์มาช่วยจัดการ

15 พ.ย. 2562 วันนี้ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีชี้แจงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีออกข้อสั่งการให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) หาแนวทางและมาตรการในการบริหารจัดการเงินกองทุนประกันสังคม ให้เกิดประโยชน์และตอบสนองความต้องการของผู้ประกันตน เช่นการกู้ยืมเพื่อการลงทุน หรือการกู้ยืมเพื่อรายจ่ายจำเป็นอื่นๆ ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นการปรารภของนายกฯ และแจ้งข้อสั่งการไปให้ทาง สปส.ตอบกลับมาว่าทำได้หรือไม่ได้ ไม่ใช่เป็นการสั่ง และที่ใช้คำว่า ข้อสั่งการคือ ไม่ได้อยู่ในระเบียบวาระการประชุมคณะรัฐมนตรี คล้ายกับเรื่องที่ประธานที่ประชุมยกขึ้นมาแจ้งเพื่อทราบ หรือหารือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องแจ้งกลับมาว่าทำได้หรือไม่ได้ ซึ่งมีหลายเรื่องที่นายกฯสั่งการเช่นนี้ และกระทรวงแจ้งกลับมาว่าไม่อยู่ในอำนาจ ก็จบ

ประชาไทได้สัมภาษณ์ ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐสวัสดิการต่อประเด็นเรื่องดังกล่าว หากกองทุนประกันสังคมจะมีมาตรการให้ผู้ประกันตนกู้ยืมนั้นจะมีปัญหาหรือไม่อย่างไร

ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า เป้าหมายหลักของกองทุนประกันสังคมคือการจัดสวัสดิการให้ผู้ประกันตนทั้ง 3 มาตรา คือ มาตรา 33 ลูกจ้างในระบบ มาตรา 39 ลูกจ้างที่ลาออกแล้ว และ มาตรา 40 ลูกจ้างนอกระบบ และมีเงินมาจาก 3 ส่วนหลักที่คือ รัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง มีการบริหารกองทุนร่วมกันของทั้ง 3 มาตรา ซึ่งโดยปกติแล้วเงินกองทุนประกันสังคมนั้นมีงบในการลงทุนอยู่แล้ว และปัจจุบันกองทุนประกันสังคมก็ลงทุนในหุ้นของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ซึ่งมีความมั่นคงพอสมควร

ษัษฐรัมย์ มองว่า การให้กู้ไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืนสำหรับเป็นแหล่งรายได้ของกองทุนประกันสังคม ประการแรกคือเงินประกันสังคมควรจัดให้เป็นสวัสดิการพื้นฐานให้ผู้ประกันตนอย่างถ้วนหน้ามากกว่าการนำมาให้กู้ซึ่งแม้ค่าตอบแทนอาจจะสูงขึ้น แต่ก็อาจก่อหนี้ที่ไม่เกิดรายได้ในอนาคต อาจได้ไม่คุ้มเสีย ประการที่สองสำนักงานประกันสังคมไม่ได้มีฟังก์ชั่นแบบธนาคารผู้ให้ปล่อยกู้

ดังนั้นข้อเสนอของ ษัษฐรัมย์ คือ หนึ่ง หากมองว่าตอนนี้ลูกจ้างหรือผู้ประกันตนเดือดร้อน และอยากให้เม็ดเงินไปสู่ผู้ประกันตนอย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งที่ต้องเพิ่มคือการสมทบของภาครัฐและนายจ้าง และเพิ่มสิทธิประโยชน์ เช่น การเพิ่มลาคลอดจาก 90 วัน เป็น 98 วัน 8 วัน ที่เพิ่มมากยังไม่มีคำสั่งออกมาว่าจะให้หน่วยงานไหนจ่าย หรือประกันการว่างงานให้ยาวขึ้น วงเงินมากขึ้น หรือการขยายสิทธิประโยชน์ของมาตรา 40 แรงงานนอกระบบ

สอง หากอยากให้มีสิทธิประโยชน์เรื่องการกู้ยืม ก็น่าจะออกมาตรการร่วมกับธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ที่มีความชำนาญและมีเงินทุนเหมาะกับการทำกิจกรรมพวกนี้โดยเฉพาะ เช่น ให้ผู้ประกันตนสามารถกู้ยืมวงเงินฉุกเฉินจากธนาคารพาณิชย์ โดยพิจารณาจากเงินบำนาญ เงินประกันการว่างงาน จำนวนปีในการจ่ายเงินประกันสังคม หรืออื่นๆ เป็นเครดิตที่ใช้เป็นหลักฐานในการกู้ยืมจากธนาคารได้

“ที่ผ่านมารัฐยังเป็นหนี้ประกันสังคมอยู่เยอะ หลายครั้งรัฐอ้างว่ามีปัญหาทางเศรษฐกิจ ขอยกเว้นการสมทบส่วนภาครัฐ และส่วนมากพอยกเว้นก็ไม่มีเงินส่วนไหนจ่ายกลับคืน รัฐไม่ควรมารบกวนกองทุนนี้ ถ้ารัฐอยากช่วยประชาชนจริงน่าจะทำเงื่อนไขกับธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ที่สามารถให้เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำมากกว่า” ษัษฐรัมย์กล่าว

สำหรับสถานะการบริหารเงินลงทุนกองทุนประกันสังคม รายงานจาก ไตรมาสที่ 3 ณ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา ระบุว่า เงินลงทุนกองทุนประกันสังคม มีจำนวน 2,055,040 ล้านบาท ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง จำนวน 1,633,592 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 79 ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยง จำนวน 421,448 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 21 ผลตอบแทนจากการลงทุนสะสม ตั้งแต่ปี 2534 – ปัจจุบัน จำนวน 646,220 ล้านบาท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net