Skip to main content
sharethis

รมว.แรงงานโต้ข่าวปิดโรงงาน ชี้โรงงานเปิดใหม่มากกว่าปิดถึง 2 เท่า ต้องการแรงงานกว่า 8 หมื่นอัตรา

หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่มีกระแสข่าวเรื่องสถานการณ์เลิกจ้างและการปิดกิจการโรงงานในปัจจุบัน ว่า ภาพรวมในปี 2562 ตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ย. 2562 จากข้อมูลของกระทรวงอุตสาหกรรม มีโรงงานปิดกิจการ 1,391 โรงงาน ขณะเดียวกันมีโรงงานเปิดกิจการใหม่ 2,889 โรงงาน โดยมีโรงงานเปิดใหม่สูงขึ้นกว่าปิดกิจการถึง 2 เท่าตัว นอกจากนี้ยังพบว่า มีการเลิกจ้าง 35,533 คน ขณะที่มีการจ้างงานในกิจการใหม่ 84,033 คนและจ้างงานจากการขยายกิจการ 84,704 คน โดยมีเงินลงทุนเพิ่มเติม 431,216 ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้วถึง 36.6% ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังเจริญเติบโต

ขณะที่ กระทรวงแรงงานมีตำแหน่งงานว่างรองรับกว่า 79,000 อัตรา สะท้อนว่าสถานประกอบการยังมีความต้องการแรงงานอยู่เป็นจำนวนมาก รวมทั้งยังได้เน้นฝึกทักษะแรงงานใหม่ให้สามารถมีทักษะที่จะทำงานได้ส่วนเรื่องอัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนกันยายน 2562 อยู่ที่ 64.73% ซึ่งต่ำสุดในรอบ 94 เดือน หรือนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2554 นั้น ยืนยันว่า อัตรากำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ 65% ยังถือว่าอยู่ในภาวะปกติ และเป็นอัตราที่กำลังพอดีพอเหมาะ ส่วนสถานการณ์ในอนาคต ยังต้องรอดูการเจรจาการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ซึ่งขณะนี้มีแนวโน้มที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าภายใน 1-2 ปี ผลจากการที่รัฐบาลพัฒนาประเทศ โดยเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะระบบขนส่ง ซึ่งไม่ใช่การสร้างอุตสาหกรรมและในตอนนี้โครงการดังกล่าวได้เริ่มไปแล้ว ด้วยโครงสร้างพื้นฐานจะทำให้มีเม็ดเงินเริ่มออกมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น 1.7 เท่า ส่วนโครงการอื่นๆ ที่กระตุ้นการใช้จ่ายก็มีความจำเป็นในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 16/11/2562

สนร.บรูไน ร้องทุกข์แทนแรงงาน-ถูกเบี้ยวค่าจ้าง

เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2562 นางนภวรรณ โกละกะ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานแรงงานในประเทศบรูไน ได้เดินทางไปยัง Department of Labour KB branch ที่เขต Belait เมือง Kuala Belait เพื่อยื่นเรื่องร้องทุกข์แทนลูกจ้างชาวไทย

กรณีนายกิจนฤเดช แสนรัง ภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดนครพนม ลูกจ้างบริษัท SPI Transportation & Lifting service ประกอบกิจการขนส่งโลจิสติกส์ ซึ่งลูกจ้างได้เดินทางกลับประเทศไทยไปแล้วตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน 2562 และนายจ้างค้างจ่ายค่าจ้างจำนวนประมาณ 3,800 ดอลลาร์บรูไน ซึ่งนายจ้างแจ้งว่าจะโอนเงินค่าจ้างเข้าบัญชีให้ แต่จนถึงปัจจุบันนายจ้างยังไม่ได้โอนเงิน

โดยเจ้าหน้าที่ Department of Labour KB branch ได้รับเรื่องไว้และจะดำเนินการให้ สำนักงานแรงงานในประเทศบรูไน จึงอยากจะประชาสัมพันธ์ให้แรงงานไทย ที่ไปทำงานในประเทศบรูไนทราบว่าหากมีปัญหาเกี่ยวกับการทำงานหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการจ้างงาน ในเบื้องต้นควรติดต่อร้องทุกข์ที่สำนักงานแรงงานในประเทศบรูไนก่อน เพื่อจะได้ติดตามสิทธิประโยชน์ได้ทันท่วงที กรณีที่ลูกจ้างเดินทางกลับประเทศไทยไปแล้ว การดำเนินคดีแก่นายจ้างอาจจะไม่ได้ผลเท่าที่ควร หลังจากยื่นเรื่องร้องทุกข์ดังกล่าวแล้ว

ทั้งนี้สำนักงานแรงงานในประเทศบรูไน ได้แวะเยี่ยมนายจ้างเจ้าของกิจการคนไทย ซึ่งเปิดร้านขายของชำที่เมือง Kuala Belait โดยเปิดร้านมาเป็นระยะเวลากว่า 20 ปีแล้ว ผลประกอบการเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจของประเทศบรูไน ซึ่งห้วงนี้ก็ยังไม่คึกคักเท่าที่ควร จากการพูดคุยกับเจ้าของร้านทราบว่า กำลังมีการก่อสร้างโรงงานผลิตปุ๋ยขนาดใหญ่ในเขต Belait ซึ่งน่าจะทำให้เศรษฐกิจในเขตดังกล่าวดีขึ้นต่อไป

ที่มา: ข่าวสด, 15/11/2562 

เผยแรงงานไทยดับในญี่ปุ่น นายจ้างรับผิดชอบจัดการศพและส่งอัฐิกลับบ้านแล้ว

นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ได้รับรายงานความคืบหน้าการช่วยเหลือกรณี นายสมศักดิ์ กรมไธสง แรงงานไทยที่เสียชีวิตในประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2562 เนื่องจากแพทย์ระบุว่ามีอาการกรวยไตอักเสบ โดยสำนักงานแรงงานในประเทศญี่ปุ่นแจ้งว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นายจ้างได้จัดให้มีพิธีฌาปนกิจศพนายสมศักดิ์ฯ แล้ว โดยมีญาติผู้เสียชีวิตและเพื่อนร่วมงานเข้าร่วมในพิธี และนายสายชล อกนิษฐวงศ์ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) ได้เข้าร่วมในพิธีดังกล่าวด้วย โดยนายจ้างรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดการศพทั้งหมด และจะดำเนินการจัดส่งอัฐิให้ญาติที่ประเทศไทย

นอกจากนี้ นายจ้างแจ้งว่าจะช่วยเหลือโดยจ่ายเงินค่ารักษานายสมศักดิ์ฯ ที่ค้างจ่ายกับโรงพยาบาลจำนวนประมาณ 100,000 เยน และจะคืนเงินค่าจ้างค้างจ่ายให้กับทายาทผู้เสียชีวิตจำนวน 250,000 เยน เต็มจำนวน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างประสานบุตรสาวของผู้เสียชีวิต เพื่อให้จัดทำเอกสารผู้ที่จะเป็นผู้รับเงินดังกล่าวส่งให้นายจ้าง เพื่อจัดส่งเงินให้

สำหรับแรงงานไทยที่เสียชีวิตดังกล่าว ชื่อ นายสมศักดิ์ กรมไธสง อายุ 49 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ที่ จ.บุรีรัมย์ เสียชีวิตด้วยอาการป่วยจากหัวใจล้มเหลว เนื่องจากแพทย์ระบุว่ามีอาการกรวยไตอักเสบ โดยนายสมศักดิ์ฯ ได้เดินทางมาทำงานโดยการแจ้งการเดินทางด้วยตนเอง ตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย.62 เป็นลูกจ้างของร้านอาหารไม่เป็นไร ตั้งอยู่ที่เมืองมาชิดะ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น มีนายจ้างชื่อ นายสาธิต คาซึมะ

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานแรงงานในประเทศญี่ปุ่นได้ประสานกับนายจ้างเพื่อให้ญาติได้รับสิทธิประโยชน์อันพึงได้ตามกฎหมาย รวมทั้งหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน จ.บุรีรัมย์ ได้ลงพื้นที่ไปดูแลให้กำลังใจครอบครัว และประสานกับหน่วยที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือตามขั้นตอนดังกล่าว

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 14/11/2562 

เตือนคนไทยในอิสราเอลเตรียมความพร้อม เหตุกลุ่ม PIJ ในฉนวนกาซายิงจรวดโจมตี

สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล ประกาศผ่านเฟสบุ๊ค ทุกเรื่องเมืองยิว แจ้งเตือนแรงงานไทยที่ทำงานและพำนักอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ของอิสราเอล เรื่องการเตรียมความพร้อมกรณีอิสราเอลถูกโจมตีด้วยจรวดจากฉนวนกาซา ระบุว่า จากเหตุการณ์ที่พื้นที่ทางภาคใต้ของอิสราเอลถูกโจมตีด้วยจรวดและกระสุนปืน ค. จากกลุ่มกองกำลังญิฮาดอิสลามปาเลสไตน์ (PIJ) ในฉนวนกาซา ตั้งแต่เช้าวันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 จนถึงขณะนี้

ฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ขอให้พี่น้องแรงงานไทยที่ทำงานและพำนักอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ของอิสราเอล ได้ติดตามสถานการณ์และเตรียมความพร้อม ให้มีการรวมกลุ่มกันเพื่อความสะดวกในการติดต่อสื่อสารหรือการเตรียมการเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่เสี่ยงภัย ทำการคัดเลือกตัวแทนกลุ่มเพื่อเป็นผู้ประสานงานกับฝ่ายแรงงานฯ และสถานเอกอัครราชทูตได้เมื่อมีเหตุการณ์ความไม่สงบ (ให้โทรมาแจ้งชื่อและหมายเลขโทรศัพท์กับฝ่ายแรงงานฯ ได้ทันที)

กรณีมีเหตุฉุกเฉิน ฝ่ายแรงงานฯ จะแจ้งข้อมูลผ่านสื่อออนไลน์และติดต่อผ่านตัวแทนกลุ่มตามที่ได้แจ้งไว้ และขอให้แรงงานไทยได้ศึกษาทบทวนแนวปฏิบัติตนในกรณีอิสราเอลถูกโจมตีด้วยจรวดหรือกระสุนปืน ค. และปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยท้องถิ่นของอิสราเอลอย่างเคร่งครัด

หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมหรือต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ หมายเลขโทรศัพท์ 09-9548431 หรือ 054-4693476

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 14/11/2562 

3 กิจการเสี่ยงเลิกจ้าง "รับเหมาก่อสร้าง-โรงแรม-ยานยนต์" กสร.สั่งจับตาทั่วประเทศ

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า ตามที่ปรากฏข่าวว่าในช่วงนี้ มีสถานประกอบกิจการหลายแห่งหยุดกิจการชั่วคราวโดยใช้มาตรา 75 ตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เลิกจ้างลูกจ้าง รวมทั้งปิดกิจการนั้น ซึ่งจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเบื้องต้นพบว่า บางข่าวเป็นข่าวไม่จริงสถานประกอบกิจการไม่ได้มีการเลิกจ้างแต่อย่างใด และบางข่าวเป็นข่าวเก่าที่เหตุการณ์เกิดขึ้นมานานแล้ว อย่างไรก็ตาม กสร. ไม่ได้นิ่งนอนใจกับประเด็นปัญหาดังกล่าว ได้สั่งการให้พนักงานตรวจแรงงานของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานที่มีอยู่ทั่วประเทศจับตา เฝ้าระวังสถานประกอบกิจการที่อาจสุ่มเสี่ยงเข้าข่ายปิดกิจการอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะประเภทกิจการกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ กิจการรับเหมาก่อสร้าง โรงแรม ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ หากมีสัญญาณว่าอาจมีปัญหาดังกล่าว ให้พนักงานตรวจแรงงานเข้าไปให้คำปรึกษา ชี้แจงแนวทางการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายแรงงานแก่นายจ้างลูกจ้าง และหากพบว่ามีการเลิกจ้างลูกจ้างในพื้นที่ให้เร่งดำเนินการ พร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือลูกจ้างในทันที

นายอภิญญา กล่าวต่อว่า สำหรับสถานประกอบกิจการที่มีผลกำไรลดลงหรือประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจ ขอให้นายจ้าง ลูกจ้างปรึกษาหารือร่วมกัน พูดคุยกันด้วยเหตุผล นายจ้างควรชี้แจงข้อเท็จจริงถึงผลประกอบกิจการ ในปีนั้น ๆ เพื่อทำความเข้าใจกับลูกจ้างอย่างตรงไปตรงมาโดยยึดหลักสุจริตใจ และขอให้ทั้งสองฝ่ายคำนึงถึงสิทธิ หน้าที่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ทั้งนี้ หากลูกจ้างถูกเลิกจ้างและนายจ้างไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ลูกจ้างสามารถ ยื่นคำร้องได้ที่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานคร 10 พื้นที่ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน 1506 กด 3

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 14/11/2562 

ก.แรงงาน เสริมมาตรฐานแรงงานไทย ติดเครื่องหมายการันตีคุณภาพผู้ประกอบการ

ก.แรงงาน ส่งเสริมมาตรฐานแรงงานไทย ติดเครื่องหมายมาตรฐานฝีมือแรงาน พร้อมมอบหนังสือรับรองมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ การันตีคุณภาพแรงงานในสถานฟประกอบกิจการกว่า 90 แห่งทั่วประเทศ นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงแรงงาน ตามแนวคิด Workforce Transformation ในการยกระดับทักษะฝีมือแรงงานไทย ให้ได้มาตรฐานและพัฒนาทักษะให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ผลักดันให้ทุกภาคส่วน ส่งเสริมและสนับสนุนให้แรงงานไทยพัฒนาทักษะฝีมือของตนเองให้ได้มาตรฐาน และทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว กพร.ได้จัดทำเครื่องหมายมาตรฐานฝีมือแรงงานให้กับสถานประกอบกิจการ เพื่อเป็นสัญลักษณ์และเครื่องหมายการันตีคุณภาพของสินค้าและบริการของผู้ประกอบกิจการ พร้อมทั้งเป็นการส่งเสริมให้สถานประกอบการตระหนักถึงความสำคัญในการแสวงหาแรงงานฝีมือที่ได้มาตรฐานอยู่ในสายการผลิตและบริการ เพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคว่าจะได้รับสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ ซึ่งเครื่องหมายดังกล่าว ผู้ประกอบกิจการสามารถนำไปติดไว้ในสำนักงาน หรือแสดงไว้ในที่ที่สังเกตเห็นได้ง่าย

นายธวัช กล่าวต่อไปว่า ปี 2562 สถาบันและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้มอบเครื่องหมายมาตรฐานฝีมือแรงงานให้กับสถานประกอบกิจการ รวมทั้งสิ้น 96 แห่ง เพื่อเป็นเครื่องหมายรับรองว่ามีผู้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติเข้าทำงานในสายการผลิตและบริการ สำหรับสถานประกอบกิจการที่มีสิทธิได้รับเครื่องหมายมาตรฐานฝีมือแรงงานนั้น จะต้องเป็นสถานประกอบการที่มีบุคลากรหรือพนักงานในสายการผลิตหรือบริการผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของพนักงานทั้งหมด โดยสถานประกอบกิจการจะต้องจดทะเบียนผู้ประกอบการค้าหรือกิจการตามกฎหมาย สถานที่มีความเหมาะสมและปลอดภัยต่อการปฏิบัติงาน รวมถึงใช้เครื่องมือ เครื่องจักรและอุปกรณ์ในการทำงานอย่างเหมาะสมมีวิธีและขั้นตอนการทำงานถูกต้องตามหลักวิชาการด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะเป็นผู้เข้าประเมินคุณสมบัติดังกล่าวก่อนจะมอบเครื่องหมายดังกล่าวให้กับสถานประกอบกิจการ

ด้านนายสุรวุฒิ เชิดชัย กรรมการผู้จัดการบริษัท เชิดชัย คอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ได้รับเครื่องหมายมาตรฐานฝีมือแรงงาน จากสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 5 นครราชสีมา โดยบริษัทฯ ได้จัดส่งพนักงานเข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาช่างเชื่อมแม็ก ระดับ 1 และผ่านการทดสอบฯ จำนวน 11 คน บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับผลิตรถโดยสาร มีพนักงานทั้งหมด 332 คน และมีพนักงานเกี่ยวกับงานเชื่อมจำนวน 34 คน ด้วยลักษณะของธุรกิจมีความจำเป็นที่ต้องมีพนักงานด้านงานเชื่อม เพื่อปฏิบัติงานในการเชื่อมโครงรถ ซึ่งมีส่วนประกอบเป็นเหล็ก เมื่อได้รับเครื่องหมายมาตรฐานมาติดที่สำนักงาน ก็เชื่อมั่นว่าลูกค้าที่ต้องการจัดซื้อรถโดยสารจากบริษัท มีความมั่นใจเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งช่วยเพิ่มความมั่นใจแก่พนักงานที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน และมีส่วนผลักดันให้พนักงานอีกส่วนหนึ่ง เร่งพัฒนาฝีมือตนเองให้สูงซึ่งช่วยลดการสูญเสีย เพิ่มผลิตภาพแรงงานขึ้นด้วย

"เครื่องหมายมาตรฐานฝีมือแรงงาน" จะเป็นสัญลักษณ์การันตีว่าสินค้าหรือบริการที่มีคุณภาพได้มาตรฐานมีความปลอดภัยอย่างแน่นอน สำหรับผู้สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สถาบันหรือสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ หรือสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4" อธิบดี กพร.กล่าว

ที่มา: กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน, 14/11/2562 

ครัวเรือน 'กทม.-ปริมณฑล' 8.5% ชี้มีสัญญาณเลิกจ้างในองค์กร

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ในเดือน ต.ค.2562 อยู่ที่ระดับ 41.9 ปรับตัวแย่ลงจากระดับ 42.3 ในเดือน ก.ย.2562 โดยครัวเรือนไทยที่ทำการสำรวจในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด มีความกังวลมากขึ้นต่อประเด็นเรื่องรายได้และการมีงานทำ ภาระค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้สิน) ระดับราคาสินค้าและบริการในประเทศ เงินออม รวมถึงรายได้และการมีงานทำ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ทำการสำรวจเพิ่มเติมในประเด็นเรื่องสถานการณ์การจ้างงานในองค์กร/บริษัท/หน่วยงานที่ครัวเรือนสังกัดหรือเป็นเจ้าของกิจการ พบว่าร้อยละ 8.5 ของครัวเรือนที่ทำการสำรวจในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ชี้ว่าสถานการณ์การจ้างงานในองค์กรของตนมีการส่งสัญญาณการเลิกจ้าง โดยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.8 ในการทำสำรวจช่วงเดือน ก.ค.2562

สอดคล้องไปกับข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ในเดือน ต.ค.2562 จำนวนผู้ว่างงานจากสาเหตุนายจ้างเลิก/หยุด/ปิดกิจการอยู่ที่ 26,100 คน เพิ่มขึ้น 5,000 คน จากเดือนก่อนหน้าและเพิ่มขึ้น 17,600 คน จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ อีกร้อยละ 17.4 ของครัวเรือนที่ทำการสำรวจในเดือน ต.ค.2562 ถูกลดชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา (OT) เพื่อประหยัดต้นทุนทางด้านแรงงานและควบคุมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในสถานประกอบการ/บริษัท

ขณะที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลง เป็นไปในทิศทางเดียวกับดัชนีภาวะเศรษฐกิจฯ ในปัจจุบัน จากระดับ 44.4 ในการสำรวจช่วงเดือน ก.ย.2562 สู่ระดับ 43.5 ในการสำรวจช่วงเดือน ต.ค.2562 โดยครัวเรือนไทยมีความกังวลเพิ่มขึ้นต่อประเด็นเรื่องภาระค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้สิน) เงินออม รวมถึงระดับราคาสินค้าและบริการภายในประเทศในช่วงระยะ 3 เดือนข้างหน้า (เดือน พ.ย.2562-เดือน ม.ค.2563) ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยฤดูกาลที่เข้าสู่ช่วงเทศกาล ทำให้ครัวเรือนมีการจับจ่ายใช้สอยในรายการพิเศษต่างๆ เช่น ท่องเที่ยว ซื้อหาของขวัญ เป็นต้น

นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา ยังมีประเด็นข่าวความคืบหน้าเรื่องการจัดเก็บภาษีความเค็มในอาหารแช่แข็ง อาหารกระป๋อง และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โดยกังวลว่าสินค้าที่ถูกจัดเก็บภาษีจะมีราคาสูงขึ้น ซึ่งกระทบต่อภาระค่าครองชีพของตนเอง

โดยสรุปแล้ว ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยในปัจจุบัน และในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลง แสดงให้เห็นถึงความกังวลของครัวเรือนต่อสภาวะเศรษฐกิจทั้งในปัจจุบันและในอีก 3 เดือนข้างหน้า (เดือน พ.ย.2562-เดือน ม.ค.2563) โดยในการสำรวจเดือน ต.ค.2562 พบสัญญาณการเลิกจ้างในองค์กร/บริษัทที่ครัวเรือนสังกัดหรือเป็นเจ้าของปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจในช่วงเดือน ก.ค.2562 ชี้ให้เห็นว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นระยะเวลาติดต่อกัน เริ่มส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและตลาดแรงงานในประเทศ

ที่มา: ThaiPBS, 13/11/2562 

ก.อุตสาหกรรมแจงโรงงานปิดกิจการไปแค่ 1,391 โรง แต่เปิดใหม่ 2,889 โรง มากกว่าเป็นเท่าตัว

ดร.กฤชนนท์ อัยยปัญญา รองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงกรณีกระแสข่าวเรื่องการปิดกิจการโรงงานและการเลิกจ้างงานในปัจจุบันว่า จากข้อมูลกระทรวงอุตสาหกรรมตั้งแต่ 1 ม.ค. – 12 พ.ย. 62 ถึงแม้ว่ามีการยื่นขอปิดกิจการโรงงานจำนวน 1,391 โรงงาน แต่เมื่อเทียบกับการขอยื่นประกอบกิจการโรงงานใหม่ซึ่งมีถึง 2,889 โรงงาน พบว่าโรงงานเปิดใหม่ยังมากกว่าปิดกิจการสูงถึง 107%

ส่วนของแรงงานถึงแม้ว่ามีการเลิกจ้างงานจากการปิดกิจการจำนวน 35,533 คน แต่มีการจ้างงานจากการประกอบกิจการใหม่สูงถึง 84,033 คน และมีการจ้างงานเพิ่มจากการขยายโรงงานอีกจำนวน 84,704 คน ซึ่งปัจจุบันพบว่ายังมีโรงงานหลายแห่งต้องการรับแรงงานเพิ่มเติมอีกจำนวนมาก ในส่วนการลงทุนใหม่จากการประกอบกิจการใหม่และการขยายกิจการโรงงานเดิม พบว่าในปี 2562 มีเงินลงทุนเพิ่มเติมในกิจการโรงงานถึง 431,216 ล้านบาท สูงกว่าปีที่แล้วถึง 36.6%

“ขอให้สังคมอย่าตื่นตระหนกกับข้อมูลด้านเดียว ภาพรวมการดำเนินกิจการโรงงานในปัจจุบันไม่ได้อยู่ในสภาพถดถอยแต่อย่างใด” รองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว

ที่มา: WorkpointNews, 13/11/2562 

นายกสั่ง 'ประกันสังคม-ก.คลัง-พม.' ศึกษาแนวทางปล่อยกู้เงินสะสมกองทุนประกันสังคม แก่ผู้ประกันตน-ผู้บริโภค เน้นเพื่อการลงทุน หรือเพื่อรายจ่ายจำเป็นอื่นๆ ย้ำให้ดูความเป็นไปได้

มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่าเมื่อเร็วๆ นี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เวียนหนังสือข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ถึงหัวหน้าส่วนราชการระดับสูง โดยสั่งการ ให้กระทรวงแรงงาน (สำนักงานประกันสังคม) เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พิจารณาความเป็นไปได้ในการกำหนดแนวทางและมาตรการในการบริหารจัดการเงินกองทุนประกันสังคมให้เกิดประโยชน์และตอบสนองแก่ความต้องการของผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น เช่น การกู้ยืมเพื่อการลงทุน หรือการกู้ยืมเพื่อรายจ่ายจำเป็นอื่น ๆ

ทั้งนี้ การกู้ยืมเพื่อการลงทุน หรือการกู้ยืมเพื่อรายจ่ายจำเป็นอื่น ๆ เป็นข้อเสนอของผู้ใช้แรงงานที่ประสบปัญหาความเดือดร้อน เรียกร้อง มายังรัฐบาล และ สปส. แต่ติด พ.ร.บ.ประกันสังคม ซึ่งการจัดตั้งกองทุนประกันสังคม มีเจตนารมณ์สร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตในกลุ่มของสมาชิกที่มีรายได้ และจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม รวมถึงรับผิดชอบในความเสี่ยง

"ประกอบกับ กฎหมายดังกล่าวไม่มีข้อบัญญัติให้ผู้ประกันตนกู้เงิน หากให้สปส.นำเงินสมทบ มาใช้หนี้นอกระบบหรือเรื่องอื่น ๆ จะทำให้ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายประกันสังคม"

ขณะที่ ผลการดำเนินงานการบริหารการลงทุนประกันสังคม กองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทน ล่าสุด ระบุว่า สถานะเงินลงทุนของกองทุนประกันสังคม ในปี 2562 มีเงินลงทุนรวมจำนวน 2,044,921 ล้านบาท แบ่งออกเป็นหลักทรัพย์มั่นคงสูงร้อยละ 79.42 หลักทรัพย์เสี่ยงร้อยละ 20.58 จำแนกตามแหล่งลงทุนในประเทศร้อยละ 89.86 ต่างประเทศร้อยละ 10.14 จำแนกตามประเภทหลักทรัพย์ แบ่งเป็นเงินฝากร้อยละ 4.62 ตราสารหนี้ร้อยละ 76.41 ตราสารทุนร้อยละ 14.15 หน่วยลงทุนอสังหาริมทรัพย์ร้อยละ 2.90 หน่วยลงทุนโครงสร้างพื้นฐานร้อยละ 1.07 หน่วยลงทุนทองคำร้อยละ 0.53 และโครงการลงทุนทางสังคมร้อยละ 0.32 สามารถสร้างผลตอบแทนการลงทุนกองทุนประกันสังคมได้จำนวน 5,976 ล้านบาท

ส่วนสถานะเงินลงทุนของกองทุนเงินทดแทน มีเงินลงทุนรวมจำนวน 64,972 ล้านบาท แบ่งออกเป็นหลักทรัพย์มั่นคงสูงร้อยละ 74.84 หลักทรัพย์เสี่ยงร้อยละ 25.16 จำแนกตามประเภทหลักทรัพย์แบ่งเป็นเงินฝากร้อยละ 1.96 ตราสารหนี้ร้อยละ 77.48 ตราสารทุน ร้อยละ 12.82 หน่วยลงทุนอสังหาริมทรัพย์ร้อยละ 5.65 หน่วยลงทุนโครงสร้างพื้นฐานร้อยละ 1.29 หน่วยลงทุนทองคำร้อยละ 0.81 สามารถสร้างผลตอบแทนการลงทุนกองทุนเงินทดแทนได้จำนวน 243 ล้านบาท และหากรวมสถานะเงินลงทุนกองทุนประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนในเดือนสิงหาคม 2562 สามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้สูงถึง 6,219 ล้านบาท

โดยปัจจุบันเงินกองทุนสะสมกองทุนประกันสังคม ตามงบการเงินมีจำนวน 1,882,399 ล้านบาท

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพิ่งจัดทำ "โครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน" วงเงินไม่เกิน 10,000 ล้านบาท ให้สถานประกอบการที่ขึ้นทะเบียน กู้เงินกับธนาคารที่เข้าร่วมโครงการนำไปเป็นทุนหมุนเวียนในกิจการ เพื่อเสริมสร้างสภาพคล่อง และเพิ่มผลผลิตแรงงาน โดยเป็นการกู้เพื่อ Refinance ได้ไม่เกินร้อยละ 50 ของวงเงินปล่อยกู้ของแต่ละธนาคาร ยื่นคำขอกู้ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึง 31 ธ.ค. 2562 หรือจนกว่าวงเงินโครงการจะหมด โดยมี 4 ธนาคาร เข้าร่วมโครงการ

ขณะที่ ปี 2553 สปส. มีโครงการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ประกันตนที่ต้องการซื้อบ้านและรีไฟแนนซ์ โดยมีธนาคาร 9 แห่งรวมอนุมัติวงเงิน 9,200 ล้านบาท

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 13/11/2562 

ก.แรงงาน รับฟังความเห็นกับบริษัทจัดหางานปรับระเบียบจัดส่งคนไทยทำงาน ตปท.

พลโทนันทเดช เมฆสวัสดิ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม ชั้น 4 โรงแรมปริ๊นซ์ตัน พาร์ค สวีท กรุงเทพมหานคร โดยมี นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน ให้การต้อนรับ นางสาวอรัญญา สกุลโกศล นายกสมาคมการจัดหางานไทยไปต่างประเทศ กล่าวรายงาน โดยนายกสมาคมฯ กล่าวว่า นับเป็นโอกาสดีที่เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดโอกาสให้มีการประชุมขึ้นเพื่อให้โอกาสสมาคมฯ ได้นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบของกระทรวงแรงงานที่เป็นอุปสรรคต่อการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ และแนวทางในการขยายตลาดแรงงาน เพื่อให้การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในครั้งนี้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น

สำหรับสมาคมการจัดหางานไทยไปต่างประเทศได้จดทะเบียนก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2546 ขณะนี้มีสมาชิกจำนวน 83 บริษัท จากจำนวน 134 บริษัทที่จดทะเบียน เนื่องจากหลายแห่งทยอยเลิกกิจการไป โดยนายกสมาคมการจัดหางานไทยไปต่างประเทศได้เสนอประเด็นปัญหาที่สมาคมฯ และสมาชิกได้หารือร่วมกัน ได้แก่ การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและระเบียบที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการจัดส่ง การขยายตลาดแรงงานไปต่างประเทศ การยกระดับฝีมือ และภาษา ให้แก่แรงงานไทย การกำหนดระเบียบการทำงานของสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศต่าง ๆ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันในการรับรองเอกสารขอนำเข้าแรงงานไทยของนายจ้าง ซึ่งปัจจุบันยังพบว่ามีการปฏิบัติที่แตกต่างกันอยู่ ควรมีบทลงโทษสำหรับคนหางานที่ไปทำงานในต่างประเทศแล้ว มีพฤติกรรมกระทำผิดกฎหมายของประเทศนั้น ๆ เช่น เสพ หรือค้ายาเสพติด ก่อความวุ่นวายต่าง ๆ เป็นต้น ควรจัดระเบียบความเข้มงวดการนำเข้าแรงงานต่างด้าวให้มีระเบียบปฏิบัติเช่นเดียวกับการจัดส่งแรงงานไทยไปต่างประเทศ และบริษัทส่งออกแรงงานควรจะได้รับอนุญาตให้นำเข้าแรงงานต่างด้าวได้ด้วย โดยใช้ใบอนุญาตและหลักทรัพย์ค้ำประกันเดียวกัน เพื่อให้ได้มืออาชีพเข้ามาทำงาน

ที่มา: PPTV36, 13/11/2562 

ปี 2563 ตั้งเป้าจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ 100,000 คน

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รมว.กระทรวงแรงงาน มีนโยบายการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ โดยส่งเสริมให้แรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศอย่างมีศักดิ์ศรีและมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยปี 2563 ตั้งเป้าหมายจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ 100,000 คนในประเทศที่มีศักยภาพ มีโอกาสได้รับการพัฒนาทักษะฝีมือ เพื่อนำกลับมาใช้ในประเทศโดยเฉพาะในสาขาที่มีความจำเป็นต่อการพัฒนาเสริมสร้างศักยภาพของประเทศ เช่น ไต้หวัน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และอิสราเอล ซึ่งหากประเทศไทยสามารถ ส่งแรงงานไทยได้ตามจำนวน จะมีรายได้ เข้าประเทศไม่น้อยกว่าปีละ 140,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือน มกราคม ถึง ตุลาคม 2562 ได้จัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศแล้ว 97,597 คน โดยจัดส่งไปทำงานไต้หวันมากที่สุด 27,226 คน

แรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งมี 5 วิธี ดังนี้

- บริษัทจัดหางานจัดส่ง
- กรมการจัดหางานจัดส่ง(รัฐจัดส่ง)
- นายจ้างพาลูกจ้างไปทำงานต่างประเทศ
- นายจ้างส่งลูกจ้างไปฝึกงานในต่างประเทศ
- คนหางานเดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยตนเอง

นอกจากนี้ กรมการจัดหางาน ยังมีบริการลงทะเบียนหางาน แจ้งการเดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยตนเองหรือแจ้งการเดินทางกลับเข้าไปทำงานต่างประเทศ (Re-entry) ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทางเว็บไซต์ http://toea.doe.go.th ซึ่งสะดวก รวดเร็ว ลดขั้นตอน ลดระยะเวลา ค่าใช้จ่ายและใช้บริการได้ทุกที่ ทุกเวลา

ที่มา: ThaiPBS, 12/11/2562 

10 เดือนปี 2562 มี 1,339 โรงงานแจ้งเลิกกิจการ

เว็บไซต์คมชัดลึกอ้างแหล่งข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมระบุว่าในช่วง 10 เดือนแรกปี 2562 มีผู้ประกอบการมาแจ้งจำหน่ายทะเบียนโรงงานหรือมาแจ้งเลิกกิจการแล้วจำนวนทั้งสิ้น 1,339 โรงงาน มีพนักงานรวมทั้งสิ้น 34,569 คน

และคิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนรวมราว 56,957 ล้านบาท ทั้งนี้กิจการที่มาแจ้งจำหน่ายทะเบียนโรงงานในช่วง 10 เดือน ปี 2562 จัดประเภทกลุ่มอุตสหกรรมไว้ทั้งสิ้น 21 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์จากพืช, อุตสาหกรรมอาหาร, อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม, สิ่งทอ ,เครื่องแต่งกายยกเว้นรองเท้า, ผลิตหนังสัตว์และผลิตภัณฑ์จากหนังสัตว์ ,แปรรูปไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ เครื่องเรือนหรือเครื่องตบแต่งในอาคารจากไม้ แก้ว ยาง หรือโลหะอื่นๆ, ผลิตกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ, การพิมพ์ การเย็บเล่ม ทำปกหรือการทำแม่พิมพ์,เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี, ผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม,ยางและผลิตภัณฑ์ยาง, ผลิตภัณฑ์พลาสติก, ผลิตภัณฑ์อโลหะ, ผลิตภัณฑ์เครื่องจักรและเครื่องกล,ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์, ผลิตภัณฑ์ยานพาหนะและอุปกรณ์รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ และการผลิตอื่นๆ

ก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการต่างแสดงความเห็นว่าเป็นห่วงภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2562 และต่อเนื่องไปถึงปี 2563 ที่ยังมีปัจจัยเสรี่ยงรุมเร้ารอบด้าน

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายธีระชัย ธีระรุจินนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยอุตสาหกรรมพลาสติก(1994) จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตถุงหูหิ้วตรา “หมากรุก” และผู้ผลิตฟิลม์ยืดห่อหุ้มอาหาร “Vow Wrap” กล่าวว่าตลอดปี 2562 มีข่าวออกมาเป็นระยะหลายโรงงานปิดกิจการ โรงงานที่ปิดก็มีคนตกงาน หรือบางบริษัทก็ออกมาประกาศลดคน ตรงนี้กำลังมองว่าความมั่นใจในอนาคตอยู่ตรงไหน เพราะไม่รู้ว่าอนาคตจะมีเงินใช้หรือไม่ พร้อมกับยอมรับว่าในแง่นักธุรกิจทำการค้าขายยังไม่มั่นใจ เพราะยังมีความเสี่ยงอยู่มากและที่น่าจับตาและน่าเป็นห่วงมากในระยะต่อไปคือเรื่องความมั่นคงด้านแรงงาน

"จะเป็นความกลัวในระยะกลาง 2-3 ปีนับจากนี้ไป เพราะทุกวันนี้เราอาศัยแรงงานต่างด้าวมาก ถือเป็นความเสี่ยงของประเทศไทย เพราะถ้าเศรษฐกิจในประเทศเพื่อนบ้านบูมแรงงานไหลกลับประเทศไปหมด ฐานการผลิตไทยจะทำอย่างไร ภาครัฐเตรียมแผนรับมือตรงนี้ไว้อย่างไร" นายธีระชัย กล่าว

ที่มา: คมชัดลึก, 11/11/2562 

กกจ. แนะนายจ้าง เร่งพาแรงงานต่างด้าวที่จะหมดอายุ 31 มี.ค. 2563 มาขอใบอนุญาตทำงาน

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า ตามที่ มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2562 เห็นชอบตามแนวทางการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว โดยให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) มาขอรับใบอนุญาตทำงานและการขออยู่ต่อในราชอาณาจักร นั้น

เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับนายจ้าง/สถานประกอบการ ได้รับบริการที่รวดเร็ว และทันตามระยะเวลาที่กำหนด กรมการจัดหางาน จึงขอเตือนให้ นายจ้าง/สถานประกอบการ ที่มีแรงงานต่างด้าว กลุ่มที่ใบอนุญาตทำงานจะหมดอายุวันที่ 31 มีนาคม 2563 รีบมาดำเนินการ ตามขั้นตอนดังนี้

1. นายจ้างยื่นความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว บัญชีรายชื่อแรงงานฯ (Name List) ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ในท้องที่ที่คนต่างด้าวทำงานอยู่หรือในท้องที่ที่สำนักงานใหญ่ของนายจ้าง/สถานประกอบการตั้งอยู่ 2. นำคนต่างด้าวไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาล โดยคนต่างด้าวที่เข้าระบบประกันสังคม ให้ตรวจสุขภาพ ณ สถานพยาบาลตามบัตร กรณีไม่เข้าประกันสังคมให้ตรวจสุขภาพ/ทำประกันสุขภาพ ณ โรงพยาบาลที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด 3. คนต่างด้าวยื่นขออนุญาตอยู่ต่อในราชอาณาจักร (ลงตรา VISA) ณ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง โดยมีเอกสารประกอบคือ บัญชีรายชื่อแรงงานฯ (Name List) และใบรับรองแพทย์ 4. ยื่นขออนุญาตทำงาน ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ที่ได้ยื่นแบบบัญชีรายชื่อความต้องการไว้ และ 5. แรงงานต่างด้าวปรับปรุงทะเบียนประวัติและจัดทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่มีใบอนุญาตทำงานอยู่ด้านหลัง ที่ ศูนย์บริหารการทะเบียนภาค สาขาจังหวัด ส่วนกรุงเทพมหานคร ดำเนินการที่สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร

“ขอให้นายจ้าง/สถานประกอบการที่มีแรงงานต่างด้าวที่การอนุญาตทำงานจะหมดอายุ วันที่ 31 มีนาคม 2563 นี้ รีบมาดำเนินการ เนื่องจากหากใกล้วันปิดรับ จะมีนายจ้างและแรงงานจำนวนมาก จึงขอให้เร่งมาดำเนินการแต่เนิ่นๆ
และ ขอให้นายจ้าง/สถานประกอบการดำเนินการตรวจสอบข้อมูลการจ้างแรงงานต่างด้าวที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ ในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ หากพบว่าข้อมูลยังไม่เป็นปัจจุบัน เช่น มีการรับแรงงานต่างด้าวเข้ามาใหม่หรือเพิ่งเลิกจ้างแรงงานต่างด้าว ก็ให้แจ้งเข้า-ออกจากงานของแรงงานต่างด้าวภายใน 15 วัน เป็นต้น นอกจากนี้ หากไม่พบข้อมูลการอนุญาตทำงานในฐานข้อมูล ขอให้นายจ้าง/สถานประกอบการประสานกับสำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่เพื่อดำเนินการแก้ไขต่อไป” นายสุชาติ กล่าว

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 11/11/2562 

วิกฤตลดพนักงาน กกจ.เตรียมงานว่าง 7.9 หมื่นอัตรา เผย 5 อันดับที่ต้องการมากสุด

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยต่อพนักงาน ที่อาจได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างองค์กรและลดจำนวนพนักงาน โดยได้สั่งการให้กรมการจัดหางานเฝ้าติดตามสถานการณ์การจ้างงาน พร้อมเตรียมตำแหน่งงานว่างรองรับ ซึ่งขณะนี้ กรมการจัดหางานได้จัดหาตำแหน่งงานว่างรองรับทั่วประเทศ จำนวน 79,247 อัตรา โดยตำแหน่งที่ต้องการมากที่สุด 5 อันดับแรกคือ 1. แรงงานด้านการผลิต 2. พนักงานขาย 3. เสมียน พนักงานทั่วไป พนักงานธุรการ 4. พนักงานบริการลูกค้า 5. เจ้าหน้าที่คลังสินค้า ตั้งแต่ระดับ ปวช.- ปวส. จนถึงปริญญาตรี

“ จากความต้องการแรงงานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การเรียนในสายอาชีพเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานเป็นอย่างมาก ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน และตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ จึงขอให้ปรับเปลี่ยนทัศนคติ มุมมองต่อการเลือกศึกษามาเลือกเรียนในสายอาชีพ ทั้งนี้ เพื่อจะได้มีงานทำเมื่อจบการศึกษา สามารถสร้างอาชีพและรายได้ให้กับตนเอง นำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี” นายสุชาติ กล่าว

นายสุชาติ กล่าวว่า กรมการจัดหางาน มีสำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 รับขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงาน รับขึ้นทะเบียนสมัครงานและจับคู่ตำแหน่งงานว่าง ตลอดจนให้คำปรึกษา แนะแนวอาชีพ และแนะนำการประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งมีช่องทางการให้บริการหลายช่องทางคือ ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย (Smart Job Center) รถบริการจัดหางานเคลื่อนที่ (Mobile Unit) หรือทางเว็บไซต์ www.doe.go.th/smartjob นอกจากนี้ ยังสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 10/11/2562 

กสร.แจง บ.นิตพอยน์เลิกจ้างเหตุขาดสภาพคล่องทนแบกไม่ไหว กสร.เตรียมเร่งรัดทวงค่าจ้าง 4.4 ล้าน ให้ผู้ที่ถูกเลิกจ้างทั้ง 230 คน

สื่อคมชัดลึกรายงานความคืบหน้าหลังเศรษฐกิจพ่นพิษ ส่งผลให้พนักงานบริษัทนิตพอยน์ จำกัด ซึ่งเป็นผลิตเสื้อผ้า สำเร็จรูป ยี่ห้อแบรนด์ดัง ส่งออกต่างประเทศ ผลิตเสื้อผ้าตามออเดอร์ ส่งออกอเมริกา ออสเตรเลีย ฮ่องกง ต้องเลิกจ้างพนักงานเกือบ 230 คน และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย. 2562 นั้น ได้สร้างความเดือดร้อนกับพนักงานเป้นอย่างยิ่ง เนื่องจากมีการค้างชำระค่าแรงนานร่วม 2 เดือน วงเงิน 4.4 ล้านบาท

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงานเปิดเผยว่าตนได้รับรายงานงานเรื่องนี้แล้ว และได้สั่งการให้กสร.จังหวัดนครปฐมรุดไปยังที่เกิดเหตุ เพื่ออำนวยความสะดวก และให้ความช่วยเหลือเยียวยาพนักงานบริษัทนิตพอยน์ จำกัด ที่ถูกเลิกจ้างทั้ง 230 คน

"กสร.จะเร่งติดตามทวงคืนค่าจ้าง ที่ค้างอยู่ 2 เดือน จำนวน 4.4 ล้านบาท ให้กับพนักงานบริษัทนิตพอยน์ จำกัด รวมทั้งเงินชดเชยอื่นๆ ที่ลูกจ้างควรจะได้รับ ขณะเดียวกันการใช้สวัสดิการด้านประกันสังคม พนักงานยังได้รับสิทธิ์คุ้มครองเหมือนเดิม รวมทั้งเงินเดือนชดเชยช่วงที่ตกงานเป็นเเวลา 6 เดือน จนกว่าจะหางานใหม่ได้" อธิบดี กสร. กล่าว

อธิบดี กสร. กล่าวอีกว่า พนักงานที่ต้องการหางานใหม่ทำ สามารถประสานกับกรมการจัดหางานจังหวัดนครปฐม หรือหากต้องการพัฒนาศักยภาพฝีมือแรงงาน ก็มีพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดนครปฐม พร้อมจัดอบรมให้ แต่ในเบื้องต้นขอให้พนักงานสะบายใจได้ ว่าจะได้รับสิทธิ์คุ้มครองเหมือนเดิม หากคลอดบุตร เจ็บป่วย ในระหว่างที่ตกงาน

ทั้งนี้อธิบดี กสร. กล่าวถึงสถานการณ์เลิกจ้างพนักงาน ของบริษัทนิตพอยน์ จำกัดว่า จากการสอบถามผู้ประกอบการ ได้ชี้แจงว่าบริษัทนิตพอยน์ จำกัด ประสบกับปัญหาขาดสภาพคล่องมาเป็นเวลานาน ประกอบกับขาดวัตถุดิบในการผลิตเสื้อผ้าแบรนดัง ทั้งนี้ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งตัว ทำให้การส่งออกได้รับผลกระทบโดยตรงและเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนานโดยไม่ได้รับการแก้ไข

“ประกอบตลาดโลกเผชิญปัญหาสงครามการค้าของประเทศมหาอำนาจ ทำให้ออเดอร์จากลูกค้าลดลงมาก ขณะเดียวกันการปรับตัวเข้าสู่ตลาดการแข่งขันในเวทีโลกไม่สามารถได้เต็มศักยภาพ เนื่องจากปรับตัวไม่ทันกับสถานการณ์การแข่งขันในตลาดโลกที่เปลี่ยนเป็นสนามของเทคโนโลยีและนวัตกรรม ทำให้บริษัทไม่สามาถประกอบกิจการได้ต่อไป” อธิบดี กสร.กล่าว

ทั้งนี้อธิบดี กสร.เผยถึงสถานการณ์เลิกจ้างในประเทศไทยว่าปีงบประมาณ 2562 น่าเป็นห่วงมาก เนื่องจากประเทศไทยได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่า และสงครามเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจอย่างจีนและอเมริกา ทำให้มีจำนวนแรงงานถูกเลิกจ้าง จำนวน 7,703 คน ขณะที่ปีงบประมาณ 2561 มีแรงงานถูกเลิกจ้างอยู่ที่ 5,619 คน

"แม้แรงงานถูกเลิกจ้างพุ่งสูงขึ้น สวนทางกับจำนวนแรงงานที่เข้าสู่ระบบประกันสังคม และในจำนวนนี้พบว่ามีแรงงานที่ถูกเลิกจ้างส่วนหนึ่ง กลับเข้ามาทำงานหรือมีงานทำแต่ไม่มีการแจ้งในระบบ เนื่องจากบางคนกลายเป็นผู้ค้ารายย่อยผ่านโลกออนไลน์ ตามโครงสร้างสังคมที่เปลี่ยนแปลงแปลงไป ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคต่างมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เข้าสู่สังคมดิจิทัจมากขึ้น" อธิบดี กสร. กล่าวในที่สุด

ที่มา: คมชัดลึก, 10/11/2562 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net