Skip to main content
sharethis

พนักงานจ้างเหมาบริการภาครัฐถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน เนื่องจากได้รับการปฏิบัติไม่เป็นธรรม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ขอให้รัฐทบทวนนโยบาย – เร่งเยียวยาให้สวัสดิการที่เสมอภาคและเหมาะสม

16 พ.ย. 2562 สืบเนื่องจากปี 2541 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเรื่องการปฏิรูประบบราชการ เพื่อปรับลดอัตรากำลังภาครัฐ ต่อมาเมื่อปี 2548 กรมบัญชีกลางได้มีหนังสือแจ้งเวียนหน่วยงานรัฐให้จ้างเอกชนดำเนินงาน โดยไม่ถือเป็นการจ้างลูกจ้างของส่วนราชการ ไม่ถือเป็นการจ้างแรงงาน และไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม ภายหลังหน่วยงานของรัฐได้ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวแล้ว ได้มีเรื่องร้องเรียนมายังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่าพนักงานจ้างเหมาบริการในหน่วยงานของรัฐไม่ได้รับความเป็นธรรมในการปฏิบัติงาน ตั้งแต่ปี 2549 โดยระบุว่าไม่ได้รับสวัสดิการต่างๆ ทั้งที่ทำงานเช่นเดียวกับข้าราชการและลูกจ้างชั่วคราว และไม่ได้รับการคุ้มครองตามสิทธิขั้นพื้นฐานหรือมาตรฐานขั้นต่ำที่ลูกจ้างทั่วไปพึงมีสิทธิได้รับ ซึ่ง กสม. เห็นว่าการกระทำของหน่วยงานภาครัฐต่อกลุ่มพนักงานจ้างเหมาบริการเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวไปยังรัฐบาลที่ผ่านมาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ปี 2553 แต่ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม และยังมีคำร้องกรณีดังกล่าวมายัง กสม. อย่างต่อเนื่อง

กสม. ชุดปัจจุบันจึงได้หยิบยกปัญหาเรื่องดังกล่าวมาพิจารณา โดยเห็นว่าลักษณะการปฏิบัติงานของพนักงานจ้างเหมาบริการเหมือนกันกับการปฏิบัติงานของข้าราชการและลูกจ้างชั่วคราว กล่าวคือพนักงานจ้างเหมาบริการต้องมาทำงานตามวันเวลาราชการ ต้องปฏิบัติงานอื่นตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย อันมีลักษณะการจ้างที่เป็นไปตามสัญญาจ้างแรงงาน ไม่ได้รับสิทธิในสวัสดิการต่างๆ ทั้งยังถูกหักเงินค่าจ้างในกรณีที่ไม่มาปฏิบัติงานด้วย การจัดจ้างพนักงานจ้างเหมาบริการในรูปแบบสัญญาจ้างทำของจึงเป็นการอำพรางสัญญาจ้างแรงงานอันเป็นนิติสัมพันธ์ที่แท้จริง ซึ่งสอดคล้องกับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่  อ.349/2556 ลงวันที่ 3 พ.ค. 2556 และคดีหมายเลขแดงที่ อ.531/2557 ลงวันที่ 20 ต.ค. 2557 ส่งผลให้พนักงานจ้างเหมาบริการไม่ได้รับการคุ้มครองในฐานะลูกจ้าง อันกระทบต่อสิทธิของบุคคลในเรื่องการประกอบอาชีพตามที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้ การดำเนินการจ้างพนักงานจ้างเหมาบริการในหน่วยงานรัฐ จึงเป็นการผลักภาระทำให้บุคคลมิได้รับสิทธิในสวัสดิการขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกับข้าราชการหรือลูกจ้างของรัฐ ซึ่งขัดกับหลักการว่าบุคคลควรได้รับค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกันในงานลักษณะเดียวกัน (equal pay for equal work) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม (ICESCR) ข้อ 7 ที่ให้การรับรองสิทธิของทุกคนที่จะมีสภาพการทำงานที่ยุติธรรมและน่าพึงพอใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องค่าตอบแทนที่เป็นธรรมและค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกันสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่ากัน โดยปราศจากความแตกต่างในเรื่องใด

ดังนั้น ในการประชุม กสม. ด้านคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2562 กสม. จึงมีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแก่กลุ่มพนักงานจ้างเหมาบริการในหน่วยงานรัฐ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนต่อรัฐบาล โดยขอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแนวทางหรือมาตรการในการคุ้มครองสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานของพนักงานจ้างเหมาบริการ ซึ่งอาจพิจารณาใช้ระบบพนักงานของรัฐ หรืออาจพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ที่ไม่ต่ำกว่ามาตรฐานของสิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เช่น ได้รับสิทธิในการลาป่วย ลาพักผ่อน โดยได้รับค่าตอบแทนระหว่างลา ได้รับการเลื่อนเงินเดือนหรือค่าตอบแทนการทำงานที่คุ้มค่า สิทธิในการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม สิทธิประกันสังคม หรือได้รับการคุ้มครองในลักษณะของลูกจ้างรับเหมาค่าแรง ทั้งนี้ในระยะยาวรัฐบาลควรศึกษาและพิจารณาทบทวนกรอบอัตรากำลังภาครัฐในปัจจุบันว่ามีความเหมาะสมสอดคล้องกับภาระหน้าที่ของส่วนราชการนั้นๆ เพียงใดด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net